เมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ครึ่งๆ กลางๆ มิติเศรษฐศาสตร์ที่ถูก

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ครึ่งๆ กลางๆ มิติเศรษฐศาสตร์ที่ถูก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ครึ่งๆ กลางๆ มิติเศรษฐศาสตร์ที่ถูกละเลย : การกระจายรายได้และบทบาทสร้างความเป็นธรรม

โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริภาษวิชาเศรษฐศาสตร์

ต้องยอมรับว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ถูกวิพากษ์จากนักวิชาการสาขาสังคมศาสตร์จำนวนมาก ทำนองว่าเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจริญเติบโตแต่ว่าละเลยมิติทางสังคม ทำให้วิถีสังคมและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของคนไทยและของคนเอเชียล่มสลาย ส่งเสริมสังคมบริโภคนิยมและทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคนรวยแต่ว่าซ้ำเติมกลุ่มคนยากจน ส่งเสริมให้ประเทศมหาอำนาจย่ำยีประเทศยากจนด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีเอฟทีเอ ฯลฯ

ผู้เขียนมีความรู้สึกอยู่ในใจว่า คำบริภาษเช่นนี้อาจจะไม่เป็นธรรมต่อวิชาเศรษฐศาสตร์นัก แต่ถึงอย่างไรก็เข้าใจ เห็นใจ ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนจนถึงกระทั่งต้องลุกขึ้นมาตอบโต้ให้แก่วงการเศรษฐศาสตร์

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าผู้วิจารณ์เศรษฐศาสตร์ในเชิงลบมองเห็น "ภาพลวงตา" ในโลกธุรกิจ ในองค์การระหว่างประเทศหรือการทำงานของภาครัฐที่บกพร่อง คิดว่าหน่วยงานหรือบุคคลเหล่านี้ใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์

ภาพลวงตานั้นเกิดจากวิชาเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาอ้างหรือนำมาใช้อย่างครึ่งๆ กลางๆ สุกๆ ดิบๆ ดังจะขยายความด้วยตัวอย่างดังต่อไปนี้

เมื่อหลักการเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาอ้าง"เพียงบางส่วน"

ตัวอย่างของ "ภาพลวงตา" ที่ชวนให้นักสังคมศาสตร์มองการทำงานของวิชาเศรษฐศาสตร์เชิงลบ ความจริงมีมากด้วยกันแต่ว่าสำหรับในที่นี้จะขอขยายความด้วย 2-3 ตัวอย่าง

ภาพลวงตาที่ 1 การประเมินโครงการพัฒนากับผลกระทบต่อคนท้องถิ่น  รัฐบาลและองค์การสินเชื่อระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย มักกำหนดให้วิเคราะห์ประเมินโครงการพัฒนา ซึ่งมีผลกระทบต่อสาขาเศรษฐกิจ ต่อผู้คน และต่อสภาพสิ่งแวดล้อม

ดังเช่นในบทความของ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (ดูบทความใน น.ส.พ.มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 25 มกราคม 2549) กล่าวถึงโครงการตัดถนนผ่านหมู่บ้าน ซึ่งจำนวนนี้มีหมู่บ้านปลูกไม้ไผ่ โดยที่สันนิษฐานว่าสภาพเป็นอยู่ของประชาชนในหมู่บ้านจะดีขึ้น เพราะว่าค่าขนส่งไม้ไผ่จะลดลง เศรษฐกิจของหมู่บ้านจะดีขึ้นเพราะว่าปลูกไม้ไผ่ได้มากขึ้น...แต่ความจริง-อาจจะไม่ใช่เช่นนั้น เช่น ปริมาณปลูกเพิ่มขึ้นแต่ว่าราคาลดลงและรายได้ลดลง คนในหมู่บ้านเปลี่ยนอาชีพอาจจะทิ้งอาชีพปลูกไผ่ และสูญเสียที่ดินเพราะขายที่ดินให้แก่เศรษฐกิจในเมือง ชาวบ้านร่ำรวยชั่วคราวแต่ว่าท้ายที่สุดหมดตัว เพราะบริโภคนิยม...ฯลฯ

ดังนั้น บทวิเคราะห์ที่ว่าเศรษฐกิจของหมู่บ้านว่าจะดีขึ้น จึงอาจจะไม่เป็นจริง ในแง่นี้เองคนจึงตำหนิว่าการวิเคราะห์โครงการ (ใช้ Project Analysis และใช้เศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือ) สนับสนุนให้รัฐตัดสินใจทำโครงการพัฒนานี้ อันเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความล่มสลายของสังคมหมู่บ้านดั้งเดิม

ภาพลวงตาที่ 2 การมุ่งความเจริญเติบโต ทุกๆ ปีนักธุรกิจ หน่วยราชการ และรัฐบาลต่างออกมาวิเคราะห์หรือให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละเท่าใด และอวดอ้างว่าทำให้เศรษฐกิจดีโดยพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของ GDP เข้าทำนองว่า อัตราการเติบโตยิ่งสูงยิ่งดี และเป็นฝีมือของรัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ภาพลักษณ์ของนักธุรกิจ-หน่วยราชการ-รัฐบาล ที่ประชาชนมีความเข้าใจ คือ บุคคลเหล่านี้คือนักเศรษฐศาสตร์ ใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ในการวางแผนและวิเคราะห์ อ้างอิงคำศัพท์และแนวคิดเศรษฐศาสตร์

ภาพลวงตาที่ 3 สัญญาการค้าที่เอาเปรียบประเทศยากจน ต้องยอมรับโดยดุษณีว่าโลกาภิวัตน์และนโยบายเสรีทางการค้า เป็นแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ได้ผลักดันให้เกิดองค์การแกตต์ ซึ่งต่อมากลายเป็นองค์กรการค้าโลก และสนับสนุนการทำสัญญาเสรีทางการค้าแบบทวิภาคี เช่น FTA พร้อมคำอธิบายว่า จะเกิดผลได้และผลเสีย แต่ว่าผลได้สุทธิโดยรวมนั้นมากกว่าผลเสีย ระบบการผลิตจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งสองฝ่าย เนื่องจากสองประเทศได้ใช้ความชำนาญการ และ "ของดี" (ทรัพยากร) ของแต่ละประเทศ และข้อตกลงนี้ตั้งบนพื้นฐานความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย

ความลวงตาทั้งสามตัวอย่างข้างต้นเกิดขึ้น เป็นเพราะว่าหน่วยงานที่ดูเสมือนว่าอ้างอิงหลักการเศรษฐศาสตร์หรือใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์นั้น ใช้ตำราเศรษฐศาสตร์เพียงครึ่งเดียว
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ครึ่งๆ กลางๆ มิติเศรษฐศาสตร์ที่ถูก

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ความจริงวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ครอบคลุมมิติประสิทธิภาพการผลิตเพียงแง่เดียว-ปรัชญาเมธีเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังได้ค้นคิดเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมิติความเป็นธรรม-มิติการกระจายรายได้-มิติการชดเชยให้กับคนกลุ่มน้อยที่สูญเสียประโยชน์จากโครงการการพัฒนา-และเสนอแนะบทบาทของภาครัฐที่จะต้องปรับรายได้ที่ไม่เป็นธรรมให้ดีขึ้นด้วยมาตรการภาษีหรืองบประมาณแผ่นดิน (Redistribution policy)

ดังนั้น เมื่อเพื่อนนักวิชาการสังคมศาสตร์วิพากษ์วิชาเศรษฐศาสตร์ในเชิงลบ หรือแม้แต่จะใช้คำรุนแรงอย่างบริภาษ ก็รับฟังได้--ถึงแม้ว่าลึกๆ แล้วผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวเช่นนั้น...เพราะการที่เขาด่าว่าหรือตำหนิเศรษฐศาสตร์ก็นับมีส่วนจริงอยู่ เพราะติดกับภาพลักษณ์ของหน่วยงานหรือบุคคลที่เขาตำหนินั้น ว่ามาจากผู้ใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่เป็นตัวแทนที่ดีของวิชาเศรษฐศาสตร์ หรืออุปโลกน์ตนเองว่าเป็น "นักเศรษฐศาสตร์กำมะลอ"

แต่ใครเล่าจะแยกแยะระหว่างภาพลักษณ์ลวงตา (เศรษฐศาสตร์ครึ่งๆ กลางๆ) กับ เศรษฐศาสตร์ของแท้และอย่างครบถ้วน ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

มิติที่ถูกละเลยในเศรษฐศาสตร์ การกระจายรายได้

ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงรู้สึกว่าควรจะหยิบยกมิติเศรษฐศาสตร์ที่มักถูกละเลยมาอภิปรายในเวทีสาธารณะบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ประเด็นสำคัญที่ประสงค์จะอภิปรายในบทความนี้ได้แก่

หนึ่ง ระบบการชดเชยให้ผู้สูญเสียประโยชน์ จากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ (เช่น กำไรมหาศาลจากการขายหุ้นก้อนโต) ก่อนที่จะสรุปว่า โครงการพัฒนานั้นทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น-ทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเป็นมิติความเป็นธรรมระดับโครงการ

สอง บทบาทของภาครัฐในการวิเคราะห์การทำสนธิสัญญา เช่น กรณีเอฟทีเอ-การวัดว่าสาขาใดได้ประโยชน์ สาขาใดเสียประโยชน์ และผลกระทบสุทธิโดยรวมเป็นบวกหรือลบ ยังไม่พอเพียง สังคมไทยพึงจะต้องวิเคราะห์ไปถึงว่าควรจะถ่ายโอนรายได้ของผู้ได้-ชดเชยให้กับผู้เสียอย่างไร? ด้วยมาตรการและนโยบายสาธารณะอย่างเอาจริงเอาจัง จึงจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และเป็นเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง (ในทรรศนะของกระผม)

สาม บทบาทของภาครัฐในสังคมปัจจุบัน-ซึ่งประสบปัญหากระจายรายได้เหลื่อมล้ำรุนแรง และการท้าทายจากโลกาภิวัตน์-การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้มาพร้อมกับ "ธงประสิทธิภาพ" เสมอไป หลายต่อกลายกรณีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาพร้อมกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม การนำเสนอข้อมูลด้านเดียว และกฎกติกาที่ไม่มีความเป็นธรรม ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการที่ภาคราชการไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนให้แก่ประชาชน

อีกครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าควรจะนำหลักการของพาเรโต (Vifredo Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน) มาเป็นกรอบความคิดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ หลักการนั้นคือ การสรุปว่าสังคมดีขึ้นขึ้น-จะต้องไม่มีคนได้สูญเสียประโยชน์ ไม่ใช่สภาพการณ์ที่ "คนส่วนใหญ่ได้-แต่ว่าส่วนน้อยสูญเสีญ" เพียงแค่นี้แล้วจะสรุปว่า "เป็นโครงการที่ดี" "ควรจะลงทุนและปล่อยกู้" "สมควรจะดำเนินการ"--แต่สังคมจะดีขึ้นและยอมรับได้ก็ต่อเมื่อมีการชดเชย (อย่างเป็นรูปธรรม) ปรับสภาพจาก win-lose ให้กลายเป็น win-win

ตัวอย่างเช่น กรณีเอฟทีเอที่ไทยทำข้อตกลงไปแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกหอม-กระเทียมของไทยได้รับผลกระทบทางลบอย่างแน่นอน ดังนั้น การประเมินว่า ทำข้อตกลงเอฟทีเอแล้วประเทศไทยดีขึ้นเพราะว่า "ส่วนรวมได้ประโยชน์-เพียงส่วนน้อยสูญเสีย" เป็นเรื่องยากจะยอมรับได้

และการตั้งข้อสมมุติว่า เกษตรกรผู้ปลูกหอม-กระเทียมหรืออาชีพอื่นๆ ก็จะต้องปรับตัวไปเอง เพื่อความอยู่รอดโดยเปลี่ยนอาชีพ ย้ายถิ่นฐานออกไปหางานทำในเมือง...ออกจะใจร้ายและไร้ความรับผิดชอบไปสักหน่อย

พร้อมกันนี้ขอเสนอว่า ภาครัฐควรจะกระทำบทบาท คือ การค้นคิดมาตรการการชดเชย (compensation measure) ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่สูญเสียผลประโยชน์ (อย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกลาง เป็นทางการ และใช้วิชาการ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง) โดยอาจจะชดเชยให้เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงิน (ช่วยการอบรมความรู้/และสร้างการจ้างงานและอาชีพเสริม)
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ครึ่งๆ กลางๆ มิติเศรษฐศาสตร์ที่ถูก

โพสต์ที่ 3

โพสต์

มิติที่ถูกละเลยเชิงนโยบาย บทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรม

บทบาทของภาครัฐและระบบราชการ ไม่ได้มีเพียงส่งเสริมการเจริญเติบโต และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้นแต่ยังควรจะกระทำบทบาทหน้าที่ด้านการกระจายรายได้ เช่น มาตรการถ่ายโอนรายได้ จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์ จากคนมั่งมีและโอกาสดี การทำให้สาขาที่เคยสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลง มาตรช่วยเหลือหรือสนับสนุนคนจนและด้อยโอกาสในสังคม สร้าง "มาตรการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข"

ความจริงภาครัฐมีเครื่องมือการกระจายรายได้ผ่านภาษีอากรและงบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้นำมาใช้ สิ่งที่จะนำเสนอคือมาตรการปรับแต่งการกระจายรายได้ในสังคมเสียใหม่ (redistribution policy) อย่าเพียงยอมรับหรือจำนนต่อสภาพว่า "การกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกัน-แต่เราจะทำอย่างไรได้"? เพราะว่าเป็นเรื่องยาก

จริงอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เฉพาะในเชิงวิชาการก็ซับซ้อนและต้องการการค้นคว้าวิจัย การจะขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายระดับชาติหรือนโยบายสาธารณท้องถิ่น ยิ่งจะต้องทำการบ้านอย่างเข้มข้น คือ การทำประเด็นให้กระจ่างชัด

ผู้เขียนไม่อาจหาญที่จะเสนอว่ามาตรการ Redistribution ควรจะเริ่มจากอะไร แล้วต่อจากนั้นจะเดินไปอย่างไร เกินกำลังและสติปัญญา เพียงอาจหาญที่จะเสนอว่า เราอาจจะต้องคิดและค้นคว้ามาตรการ Redistribution อย่างจริงจัง ขอสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลังให้ความสำคัญ ขอให้มีเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ร่วมกันค้นคิด จะเป็นคุณต่อบ้านเมืองไม่น้อย

และขอโอกาสให้ผู้เขียนร่วมวงไพบูลย์ด้วยสักคน

หน้า 6<
http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... 2006/03/08
ล็อคหัวข้อ