กำเนิด"องคมนตรี" ที่ปรึกษาสูงสุดพระมหากษัตริย์
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล http://www.prince-damrong.moi.go.th
เป็นประเด็นทางสังคมให้ถกเถียงและเกิดปฏิกิริยาร้อนแรงเมื่อสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับเรื่องของ "องคมนตรี"
ในฐานะประธานหอสมุด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และผู้เป็นเหลนสืบตราจุลจอมเกล้าของเสด็จในกรม จึงได้นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อความไม่รู้จัก "สิ่งใดควรหรือมิควร" ของใครบางคนที่ออกมากล่าววาจาไม่เหมาะสมต่อประธานองคมนตรีและองคมนตรี หากจะเกิดความกระจ่างหรือซึมซับได้บ้าง
เกี่ยวกับจุดกำเนิดของสถาบันองคมนตรีนี้ มีเรื่องราวจุดที่น่าสนใจยิ่ง ดังนี้
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในหลักรัฐศาสตร์การปกครองของสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เป็นที่ยิ่ง และได้โปรดให้นำวิธีตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในยุคสยามใหม่นั้นมาใช้ โดยทรงใช้คำว่า "คณะอภิรัฐมนตรี" หรือ "Supreme Council of the State" เป็นชื่อเรียกแต่แรกเริ่ม อันเป็นวิวัฒนาการที่ได้นำมาสู่คำว่า
"คณะองคมนตรี" หรือ "Privy Council" ในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชดำริที่จะให้เป็น "คณะที่ปรึกษาในพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน" เพื่อทรงปรึกษาข้อราชการงานเมืองในทุกๆ เรื่องที่สูงกว่าระดับกระทรวงเสนาบดี (หรือรูปแบบ รมต.ในปัจจุบัน)
โดยทรงเลือกเฉพาะบุคคลที่ทรงรู้จักคุ้นเคยและมีความไว้วางพระราชหฤทัย ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ทางการบริหารราชการงานเมืองมาอย่างไพศาล
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายกับพระโอรสองค์ใหญ่ หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล
ปฐมบทแห่งคณะอภิรัฐมนตรี หรือคณะองคมนตรี จึงกอปรด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เคยทรงงานสำคัญๆ เพื่อประเทศชาติมาแล้วทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ *สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช* *สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต* *สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์* *สมเด็จฯ กรมพระจันทบุรีนฤนาท* และ *สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ*
แนวพระราชดำริทรงตั้งคณะองคมนตรีขึ้นอีกวาระหนึ่งนี้ ได้ปรากฏเป็นรากเหง้าของการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังก็ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง *หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล* นายทหารม้าราชองครักษ์พิเศษ ในรัชกาลที่ 7 (ท่านปู่ของ ม.ล.ปนัดดา) พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองคมนตรีด้วยอีกพระองค์หนึ่ง โดยทรงมีพระราชปรารภว่า "สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้ากรุงสยาม โปรดเกล้าฯ ตั้งหม่อมเจ้าจุลดิศฯ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ไว้วางใจของเราเป็นองคมนตรี รับปรึกษาราชการในตัวเรา เพื่อจะได้ช่วยเราคิดทำนุบำรุงสยามแผ่นดินให้เป็นคุณเป็นประโยชน์มีความเจริญสมบูรณ์ และราษฎรทั้งปวงให้มีความสุขความเจริญ" (พระราชทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อ 4 เมษายน 2469)
นับเป็นข้อเท็จจริงมาแต่ครั้งอดีตกาลในประการที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทุกรัชกาลมีพระราชประสงค์ที่จะเสริมสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่สังคมของคนในชาติ เฉกเช่นนานาอารยประเทศที่มีความเจริญแล้ว กล่าวคือ เลิกล้างการกดขี่ และลดศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าลงมา เช่น การทรงมีพระราชดำริแก่คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือคณะองคมนตรี ว่า
1.ให้เลิกใช้คำว่า "เจ้าเมือง" เพราะฟังดูแล้วห่างไกลประชาราษฎร ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีทางการปกครอง เพราะดุจประหนึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงความเป็นเจ้าคนนายคน แต่โปรดให้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า "ผู้ว่าราชการเมือง" ที่ทรงเห็นคำว่า "ราชการ" ก็คือความสำนึกและภาคภูมิใจในความเป็น "ข้าราชการของในหลวง"
2.ให้เลิกการหมอบคลานในพระราชพิธี หรือรัฐพิธี อันมีบุคคลมากหน้าหลายตา รวมถึงผู้แทนทางฝ่ายทูตและการกงสุล เพราะเขาจะมองว่าสยามยังด้อยความเจริญ ข้อนี้ต้องเร่งรีบปรับปรุงแก้ไข มิให้รอช้า
3.ให้มองความทุกข์ของพสกนิกรเป็นทุกข์ของพระองค์เองที่ข้าราชการทุกคนจะต้องช่วยกันเยียวยาแก้ไข เพราะความเศร้าโศกเสียใจของปวงประชาราษฎร์ คือความโศกเศร้าเสียพระราชหฤทัยฉันนั้น ฯลฯ
พระบรมราชวินิจฉัยจากกรณีข้างต้นนี้ ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็นทิศทางการปรับปรุงจารีตประเพณีของสยาม พร้อมกับทรงโปรดให้คณะองคมนตรีถวายข้อคิดเห็นเพื่อเป็นฉันทามติในฐานะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นอาทิ
ก็ด้วยทรงเล็งเห็นว่า คณะองคมนตรีถือกำเนิดขึ้นเพื่อการนี้ และการที่พระองค์จะทรงจัดการบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว ภารกิจใดๆ นั้นคงจะปราศจากผลสำเร็จ เข้าลักษณะคิดเอง ทำเอง และล่มสลายเองไปในที่สุด แต่การใดจะสัมฤทธิผลได้ จึงควรมีที่มาจากผู้ช่วยคิด ช่วยทำ และร่วมรับผิดชอบ ดังนั้น ความเจริญแบบร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหา ย่อมที่จะนำความเจริญแบบยั่งยืนมาสู่ชาติบ้านเมืองได้
*และนี่เป็นความหมายโดยแท้จริงของคณะองคมนตรี ที่ได้ปฏิบัติสืบสานกันมาเป็นเวลาช้านาน*
คณะองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และคณะองคมนตรี ได้แก่ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์, นพ.เกษม วัฒนชัย, นายจำรัส เขมะจารุ, นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์, นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์, หม่อม-หลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์, หม่อมราชวงศ์เทพ เทวกุล, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์, นายศักดา โมกขมรรคกุล, นายสวัสดิ์ วัฒนายากร, นายสันติ ทักราล, พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา, พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, พลเรือตรีหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช, นายอำพล เสนาณรงค์ และนายพลากร สุวรรณรัฐ
คณะองคมนตรีในทุกรัชสมัยได้ดำรงภาระหน้าที่สำคัญถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาด้วยความจงรักภักดี สมดั่งพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ว่า "คณะองคมนตรี" คือ คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ด้วยทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งตามพระราชอัธยาศัย
*และต่างเป็นที่เคารพนับถือของคนในชาติ*