ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มีนิสิตที่ผู้เขียนสอนมาบ่นกับผู้เขียนหลายคนว่า ไม่เข้าใจปรัชญาการเมืองของโสเครติส อ่านเท่าไรก็ไม่รู้เรื่อง แล้วจะทำอย่างไรดี?

ผู้เขียนต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การที่จะเข้าแนวคิดความของใครสักคนหนึ่งนั้นจำเป็นเข้าใจบริบท (context) ของเวลาด้วย พูดง่ายๆ คือ ต้องรู้ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้นด้วยจึง จะทำให้เข้าใจแนวความคิดของคนสมัยนั้นสะดวกขึ้น

อีทีนี้เมื่อผู้เขียนต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก (เหมือนแผ่นเสียงในยุคก่อนดิจิตอลตกร่อง) จนรำคาญตัวเอง เลยขออนุญาตเขียนเล่าในที่นี้ทีเดียวเลย จะได้หมดเรื่องหมดราวไปเสียที

แต่ขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายทราบเสียก่อนว่า เรื่องที่เล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้นเอง

โสเครติสเป็นชาวกรีกแห่งนครรัฐเอเธนส์ (เกิดเมื่อ พ.ศ.74 ตายเมื่อ พ.ศ.144) เป็นบุตรของช่างประติมากรรมกับหมอตำแย ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่นั้นเป็นช่วงของความโชติช่วงแห่งยุคของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ที่อุบัติขึ้นในโลกไล่เลี่ยกัน อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตอนเหนือของอินเดีย (ประสูติก่อนพุทธศักราช 80 ปี) เหลาจื่อ (เกิดก่อนพุทธศักราช 27 ปี ตายเมื่อ พ.ศ.53) และขงจื๊อ (เกิดเมื่อ พ.ศ.8 ตายเมื่อ พ.ศ.64) ในจีน

ในกรุงเอเธนส์สมัยนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยแบบทุนนิยม (ที่ยังมีทาสอยู่ และพวกที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงก็เยอะ เช่น สตรี เป็นต้น) บรรดาโรงเรียนแบบมหาวิทยาลัยก็อยู่ภายใต้อิทธิพลตามแนวทางของพวกโซฟิสท์ (Sophist) ซึ่งเป็นสำนักปรัชญาสำนักหนึ่งที่เน้นความสำคัญในการศึกษาที่วิชาวาทะวิทยา (Rhetoric) โดยใช้เหตุผลและหลักการแบบไดอะเล็กติก (dialectic)

ซึ่งพวกโซฟิสท์นี้เน้นหลักการว่ามนุษย์เป็นมาตรฐานวัดทุกสิ่ง ว่าง่ายๆ ก็คือ ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็เหมาะสมกับหลักการประชาธิปไตยดีทีเดียว เพราะประชาธิปไตยก็คือถือเอาเสียงของประชาชนข้างมากอยู่แล้ว

การศึกษาตามแนวพวกโซฟิสท์ที่เป็นที่นิยมของชาวเอเธนส์ในยุคนั้น เนื่องจากวาทะวิทยาว่าไปแล้วก็คือวิชาการตลาด (Marketing) ที่สอนกันอยู่ในยุคปัจจุบันนั่นแหละคือหลักการโน้มน้าวคนให้เห็นด้วยกับคำพูดของเรา

สำหรับหลักการใช้เหตุผลแบบไดอะเล็กติกนี่ ทั้งคาร์ล มาร์ก เลนิน และเหมา เจ๋อ ตุง ก็เอามาใช้อย่างได้ผลดีมาแล้ว เพราะการใช้เหตุผลแบบไดอะเล็กติกนั้น หากจะเล่นกันโดยไม่มีหลักการแล้วก็เหมือนกับการใช้วิธีสถิติในการโกหกนั่นแหละ แต่ว่าทางปรัชญาเขาเรียกว่า "fallacy" (ขออภัยที่ไม่ได้ใช้ศัพท์บัญญัติทางปรัชญา เนื่องจากเกรงว่าจะสับสนกันมากกว่านี้ เพราะศัพท์บัญญัตินั้นใช้ภาษาแขก จึงทำให้ต้องเพิ่มภาระการแปลขึ้นอีก 1 ภาษาโดยไม่จำเป็น)

หลักจริยธรรมของพวกโซฟิสท์นี่เขาถือเรื่องความถูกต้อง ความชั่วดีนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์แบบที่เรียกว่า Situation Ethic คือบางที บางที่ บางแห่ง นั้นความถูกต้อง ชั่วดีนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งมันก็สะดวกดี แต่การใช้มนุษย์เป็นมาตรฐานในการวัดว่าอะไรถูกต้อง ชั่วดี นั้นมีปัญหาเนื่องจากมนุษย์นั้นต่างจิตต่างใจกัน จึงเป็นการมั่วมากไป

พวกโซฟิสท์จึงพลิกลิ้นได้เสมอ การกระทำอย่างเดียวกันคนละวัน คนละสถานที่ก็อาจดีหรือชั่วได้ ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์เท่าไรนัก
วิชาที่ยอดฮิตในกรุงเอเธนส์สมัยนั้นอีก 2 สาขา คือ กฎหมาย กับ เอ็ม.บี.เอ. คล้ายๆ กับสมัยนี้นั่นเอง

โสเครติสเองก็คงจะงงกับเรื่องการศึกษาและเหตุผลแบบของพวกโซฟิสท์เต็มประดา แต่โสเครติสนั้นเป็นคนที่แปลกว่ามนุษย์ทั่วไปคือเมื่อสงสัย เมื่อไม่เข้าใจแล้วถาม (คนไทยทั่วไปเป็นคนปกติดีแล้วเนื่องจากเมื่อสงสัย ไม่เข้าใจแล้วไม่ถาม เพราะได้รับการอบรมอย่างดีมาตั้งแต่เด็ก คือถ้าถามแล้วจะถูกครูตี)

เมื่อถามมากๆ แล้ว โสเครติสก็เกิดความกระจ่างแจ้งเหมือนกับการได้เรียนรู้ความจริงแท้ของโลกข้อสำคัญข้อหนึ่ง คือ

"จงทำให้คำนิยาม (definition) หรือคำจำกัดความของคำแต่ละคำให้กระจ่างและเข้าใจตรงกันในมวลมนุษย์เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการปฏิบัติงาน และเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกเรื่อง"

ยกตัวอย่างทุกวันนี้ใครๆ ก็นิยมใช้ศัพท์คำว่า "บูรณาการ" ซึ่งถ้าถามว่า คำจำกัดความของคำ "บูรณาการ" นี้แล้วจะตอบกันไปคนละทางสองทาง แต่ส่วนใหญ่มักจะตอบไม่ได้เสียมากกว่า ครั้นเวลาเอาแผนแบบบูรณาการไปปฏิบัติจริง ก็เห็นว่าต่างคนก็ต่างทำไปตามที่ตัวเองต้องการจะทำแบบว่าทำกันไปคนละทิศคนละทาง

คนไทยทุกคนรักชาติ หากถามว่าชาติคืออะไร ก็คงจะตอบไม่ค่อยได้ หรือที่ตอบได้ก็ไม่ค่อยจะตรองกันสักเท่าไหร่ ที่ร้ายหนักคือเกิดขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเสียด้วย เพราะรักไม่เหมือนกันแถมยังไม่รู้ว่าที่รักๆ นะคืออะไร? ซ้ำร้ายสำหรับคำว่า "ไทย" ก็ยังงงอยู่เลยว่าทำไมจึงมี "ย.ยักษ์" ด้วย ไม่เคยมีใครให้ความกระจ่างสักที

โสเครติสใช้วิธีถามความหมายของคำศัพท์ที่คนชอบใช้แต่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรนั่นแหละ จนกระทั่งได้ความหมายที่แท้จริงของคำนิยามแต่ละคำ ซึ่งการถามแบบของโสเครติสนี้เรียกว่า "Socrates Method" ที่โรงเรียนกฎหมายในสหรัฐอเมริกาใช้วิธีกับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือล่วงหน้ามากในการเข้าเรียนแต่ละครั้ง เพราะว่าหากถูกถามจากผู้สอนแล้วตอบไม่ได้ก็จะขายหน้ามาก

วิธีสอนแบบโสเครติสนี้เอามาใช้ในเมืองไทยไม่ได้เนื่องจากนักศึกษาไทยไม่มีหนังสือตำราอะไรที่จะใช้เตรียมตัว เพราะต้องไปจดเล็คเชอร์ในห้องเรียนจากอาจารย์ผู้สอน หรือถึงหากมีหนังสือตำราก็เป็นการยากที่จะให้คนไทยอ่านล่วงหน้ามาก่อนเนื่องจากการกระทำแบบนี้ดูออกจะขัดกับวัฒนธรรมไทยยังไงชอบกลอยู่

โสเครติสเที่ยวไปถามใครต่อใครเรื่องคำจำกัดความนี่แหละจนกระทั่งบรรดาผู้ปกครองนครรัฐเอเธนส์กลุ้มใจและโกรธก็เลยรวมหัวกันใช้กฎหมายตัดสินประหารชีวิต โสเครติสเสียเลย เนื่องจากโสเครติสเที่ยวก่อความไม่สงบด้วยการถามหาคำจำกัดความเพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกันอยู่ไม่หยุดหย่อน เพราะถ้าประชาชนเข้าใจตรงกันแล้วทำให้ปกครองลำบาก

อีทีนี้ก็มีพรรคพวกของโสเครติสที่ตั้งใจที่จะช่วยกันจะพาโสเครติสหนีแต่โสเครติสกลับอธิบายว่า "กฎหมายนั้นมีทั้งกฎหมายที่ดีและกฎหมายที่ชั่วร้าย วิญญูชนควรปฏิบัติตามกฎหมายที่ดีและปฏิเสธกฎหมายที่ชั่วร้าย แต่วิญญูชนต้องยอมรับโทษทัณฑ์ของกฎหมายด้วยเพื่อรักษาจิตวิญญาณของกฎหมาย (Spirit of Law) ไว้"

โสเครติสจึงยอมดื่มยาพิษตายตามวิธีการประหารชีวิตสมัยนั้น (สมัยนี้ใช้วิธีฉีดยาพิษให้ตายเนื่องจากนักโทษไม่ยอมดื่มยาพิษแต่โดยดีอย่างโสเครติส)

นักการเมืองที่เอาตามโสเครติสก็เห็นมีอยู่ 2 คนที่ดังๆ เป็นที่รู้จักทั่วไปก็คือ มหาตมะคานธี แห่งอินเดียกับนายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ตายคล้ายๆ กับโสเครติสนั่นละ

เมื่อเข้าใจแนวคิดของโสเครติสแล้ว คงไม่มีใครอยากจะเอาอย่างเขาสักเท่าไรกระมัง?
ภาพประจำตัวสมาชิก
ครรชิต ไพศาล
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 4623
ผู้ติดตาม: 1

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ในยุคปัจจุบันเราก็มี  วีรชนคนกล้าที่สมควรยกย่อง เช่น โสเครติส ยุคโบราณ
ผู้ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับสังคม ที่ตัวเองคิดว่าไม่เป็นธรรม
อย่างเช่นคุณ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนผู้ซื่อสัตย์ต่อความคิด
ในอเมริกาใต้ก็ เชกูวารา นักศึกษาแพทย์ผู้ตรงเป็นไม้บรรทัด


แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่
ผู้ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับสังคม ที่ตัวเองคิดว่าไม่เป็นธรรม
ผมว่าต้องคนนี้ บิลราดิน
ความสุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบใจไม่มี นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ
หัดเล่น Facebook กะเขาบ้างแล้วนะครับ ใช้ชื่อ Kanchit Paisan ครับ
Facebook เพจ Eps16year Settrade Set ตลาดหลักทรัพย์ งบดุล ปันผล อัตราส่วนการเงิน กราฟ
Google เพจ kanchitpaisan
Google+ KANCHIT PAISAN
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 3

โพสต์

Rule of law & Due Process of Law

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ชื่อบทความนี้คือหัวใจของสังคมที่มีความสุขความเจริญและมีสันติสุข พูดง่ายๆ ก็คือการมีหลักของกฎหมายหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) กับ วิถีที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (Due Process of Law)

ความจริงการพูดอะไรหรืออธิบายอะไรตามแบบของวิชาการหรือแบบที่ประชดเรียกกันว่าอธิบายแบบอยู่บนหอคอยงาช้างนั้น มักจะไม่รู้เรื่องกัน และบ่อยครั้งคนที่อธิบายเองก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน (มีอยู่บ่อยไป)

กฎหมายนั้นไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ไหนในโลกเรานี้ก็มีลักษณะที่แจ่มแจ้งที่แบ่งออกเป็น 2 แบบ อย่างเห็นได้ชัดคือ

1.กฎหมายที่ก่อให้เกิดสิทธิ (Substantive Law) คือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันรับรองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ทางศัพท์กฎหมายไทยเรียกว่า "กฎหมายสารบัญญัติ"

2.กฎหมายที่กำหนดวิธีการคุ้มกันสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน (Procedural Law) คือกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นของตำรวจ อัยการ ศาล ตลอดจนถึงขั้นคุก ประหารชีวิตไปโน่นเลยละ เพื่อที่จะให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ตามศัพท์กฎหมายไทยเรียกว่า "กฎหมายวิธีสบัญญัติ" แต่มักจะถูกพูดถึงกันอย่างแคบๆ ว่า "กฎหมายวิธีพิจารณาความ"

ทั้งกฎหมายที่ก่อให้เกิดสิทธิและกฎหมายที่กำหนดวิธีการคุ้มกันสิทธินี้ เมื่อมีแล้วเราก็ว่าเรามี Rule of Law คือมีการอยู่ร่วมกันในสังคมตามหลักของกฎหมายนั่นเอง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ประเภทนี้คือเครื่องกำหนด "เสรีภาพ (Liberty)" เนื่องจากมนุษย์เราถ้าอยู่คนเดียวก็มีเสรีภาพ 100% จะแก้ผ้าไปไหนมาไหนก็ได้ หรืออยากจะเปิดเครื่องเสียงให้ดังขนาด 10,000 เดซิเบล ก็ย่อมทำได้ หรืออยากจะทิ้งขยะเรี่ยราดตรงไหนก็ได้ ฯลฯ

แต่เมื่อมนุษย์เราเข้ามาอยู่รวมกันในสังคมแล้วก็จำเป็นต้องมีการจำกัดเสรีภาพส่วนตนลงบ้าง เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติได้

ดังนั้น หากจะถือว่า หลักนิติธรรม (Rule of Law) นี้คือเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้วก็ได้

คราวนี้มาถึง Due Process of Law หมายถึงกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมาย หมายความว่า รัฐบาลจะบังคับหรือปฏิบัติต่อพลเมืองในเรื่องใดๆ ก็ตาม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วอย่างเคร่งครัด พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องว่ากันตามกฎหมายนั่นเอง

ทีนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าทำไมจึงต้องวิเคราะห์คำศัพท์ให้มันเป็นที่วุ่นวาย ทั้งๆ ที่อ่านดูแล้วก็ดูเหมือนว่าคล้ายๆ กันๆ นั่นแหละ ทั้งหลักนิติธรรม (Rule of Law) กับวิถีที่ถูกต้องของกฎหมาย (Due Process of Law)

ที่ต้องแยกให้เห็นออกจากกันเนื่องจากมันเป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับเรื่อง "ทำอย่างที่ฉันบอก แต่อย่าทำอย่างที่ฉันทำ" นั่นแหละ

เพราะว่าหลักนิติธรรมนั้น รัฐบาลเป็นผู้กำหนดออกมาเพื่อก่อให้เกิดสิทธิและกำหนดวิธีการคุ้มกันสิทธิเหล่านั้นอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ เป็นจำเลย หรือเป็นพยานรู้เห็นด้วย

ตรงนี้ต่างหากละที่สำคัญในแง่ของ Due Process of Law เพราะมีการเลือกปฏิบัติและการเลือกไม่ปฏิบัติกันอยู่เสมอโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเกิดสังคมที่ไม่เป็นธรรมขึ้น

เรื่อง Due Process of Law นี่ที่เมืองไทยที่รักยิ่งของเราดูจะยังไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไร เนื่องจากมีการเลือกปฏิบัติอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ตำรวจจราจรมักจะไม่กล้าจับรถยนต์นั่งที่มีเลขทะเบียนสวยๆ ตลอดจนเรื่องคนหาย หรือลูกใครยิงคนได้ เป็นต้น

คราวนี้ลองดูตัวอย่างเรื่อง Due Process of Law ของประเทศเจริญแล้วดูบ้าง เช่น ที่เมืองเลวิสทาวน์ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้เอง ที่นายวิลเลียม จินเกลน อดีตนาวิกโยธินวัย 64 ปี ได้ทำการปล้นธนาคารต่างๆ ในแถบอิลลินอยส์ตอนกลาง ตลอดช่วงเวลา 9 เดือน ได้เงินทั้งสิ้นหกหมื่นดอลลาร์ (2.5 ล้านบาท) เพื่อเอาเงินมาปรนเปรอแม่หม้ายลูกติดที่เป็นภรรยาลับของเขา ในขณะที่นายวิลเลียมคนนี้มีลูกชายที่โตและมีครอบครัวแล้ว 3 คน มีหลานอีก 7 คน

ลูกชายคนโตคือจาเรด เป็นตำรวจอยู่ที่เมืองพีออเรียซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอิลลินอยส์ จำพ่อของตัวเองได้จากกล้องวิดีโอที่ถ่ายภาพในการปล้นธนาคารครั้งหนึ่ง เขาจึงโทรศัพท์เรียกน้องชายอีก 2 คน คือแกร์เร็ท ผู้เป็นวิศวกรอายุ 41 ปี และเคล์ ผู้เป็นครูสอนดนตรีอายุ 36 ปี ไปประชุมกันที่สถานีดับเพลิงเมืองเลวิสทาวน์ที่แกร์เร็ทและเคล์เป็นพนักงานดับเพลิงอาสาสมัครอยู่ ซึ่งพี่น้อง 3 คน ตัดสินใจที่จะไปเผชิญหน้าพ่อของตัวเอง แต่เมื่อไปที่บ้านของพ่อแล้วไม่พบตัว แต่ได้พบเสื้อผ้าที่พ่อสวมตอนที่ไปปล้นธนาคารครั้งหนึ่ง สามพี่น้องจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ ซึ่งตำรวจก็ตามจับนายวิลเลียมได้ในวันรุ่งขึ้นที่บ้านภรรยาลับของเขานั่นเอง

นายวิลเลียมถูกฟ้องศาลในข้อหาปล้นธนาคาร 7 กระทง และใช้ปืนยิงในการปล้น 2 กระทง ก็ติดคุกนับตามกระทงแล้วก็กว่า 50 ปีนั่นแหละ ตอนนี้อยู่ในคุกของรัฐบาลสหรัฐที่เมืองสปริงฟิลด์ รัฐอิลลินอยส์นั่นเอง

ลูกชายทั้ง 3 คนของนายวิลเลียมได้ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาทำตามคำสั่งสอนของพ่อที่สอนให้พวกเขาทั้ง 3 คน เคารพต่อกฎหมายซึ่งเป็น Rule of Law และต้องปฏิบัติตาม Due Process of Law อย่างเคร่งครัด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก

คงอีกนานแหละที่คนไทยเราจะได้รู้จักคำว่า Due Process of Law
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 4

โพสต์

บทเรียนจากรัสเซีย : เยลซินกับปูติน

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เรื่องนี้ขอเสนอแบบละครก็แล้วกัน เพราะชื่อคนรัสเซีย คนไทยเราไม่ค่อยคุ้นเท่าไร จึงต้องเสนอชื่อตัวละครเสียก่อน พอสับสนหรือลืมชื่อคนรัสเซียก็จะได้หวนกลับมาทบทวนได้

1.นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียคนสุดท้าย

2.นายบอริส เยลซิน ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศรัสเซียใหม่

3.นายอนาโตลี ช้อบแซค นายกเทศมนตรีคนแรกของนครเซนต์ ปีเตอร์สเบอร์ก

4.นายวลาดิมีร์ ยาคอฟเลฟ นายกเทศมนตรีคนที่สองของนครเซนต์ ปีเตอร์สเบอร์ก

5.นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนที่สองของรัสเซียซึ่งเป็นคนปัจจุบัน

6.นายอนาโตลี ชูเบอีส อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียผู้มีบทบาทสำคัญในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็นธุรกิจเอกชน

ละครชีวิตต่างประเทศเริ่มขึ้นด้วยการปฏิวัติใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1917 จักรวรรดิรัสเซียก็ต้องเปลี่ยนระบอบเป็นคอมมิวนิสต์เรียกว่าสหภาพโซเวียตที่มีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เป็นทั้งผู้นำพรรคและเป็นผู้นำประเทศสหภาพโซเวียต

และในช่วง 74 ปีของประเทศสหภาพโซเวียตนี้ได้ก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งในสองของโลก แต่เนื่องจากสหภาพโซเวียตมีปัญหาทางโครงสร้างที่รัฐบาลทำกิจการค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งเริ่มต้นก็ไปได้รวดเร็วแต่การใช้จ่ายเรื่องการทหารและสงครามทั่วโลกนั้นใช้มากจนเกินกว่าที่จะหารายได้ได้ทันจนประเทศสหภาพโซเวียตต้องล้มละลายใน ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)

ประเทศสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายแตกออกเป็น 15 ประเทศ ผู้นำประเทศสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายคือนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ

นายบอริส เยลซิน ได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศรัสเซีย ที่สืบสิทธิสหภาพโซเวียตเก่า ส่วนนายอนาโตลี ช้อบแซค เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของนครเซนต์ ปีเตอร์สเบอร์ก (เป็นนครที่สำคัญระดับนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา หรือนครเซี่ยงไฮ้ของจีน) ซึ่งนายช้อบแซคนี่แกเอาลูกศิษย์ก้นกุฏิที่แกอบรมสั่งสอนมาและอุปถัมภ์ค้ำชูมาตลอดมาเป็นรองนายกเทศมนตรีคนที่สองชื่อนายวลาดิมีร์ ปูติน อดีต เคจีบี เก่าของสหภาพโซเวียตเดิม

ส่วนรองนายกเทศมนตรีคนที่หนึ่งคือนายวลาดิมีร์ ยาคอฟเลฟ ซึ่งก็คอยจ้องเลื่อยขาเก้าอี้นายช้อบแซคมาโดยตลอด จนกระทั่งหมดสมัยแรกการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก เมื่อ ค.ศ.1996 นายยาคอฟเลฟก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีแล้วก็เริ่มเช็คบิลกับเจ้านายเดิม (เรื่องธรรมดาในทางการเมือง เพราะว่าในทางการเมืองนั้น "ไม่มีมิตรแท้และไม่มีศัตรูถาวร") ทำเอานายช้อบแซคต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1997

ส่วนนายวลาดิมีร์ ปูติน ก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงมอสโคว์ นครหลวงของรัสเซียและได้ทำงานในสำนักงานประธานาธิบดีที่นายเยลซินเป็นประธานาธิบดีรัสเซียในขณะนั้นซึ่งการที่เขาได้งานนี้ก็ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนฝูงที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กมาด้วยกัน คือนายอนาโตลี ชูเบอีส ซึ่งต่อมานายชูเบอีสก็เคยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอยู่สมัยหนึ่ง

นายปูตินได้ทำงานที่มีผลงานโดดเด่นจนได้เลื่อนตำแหน่งสำคัญขึ้นจนขนาดมีอำนาจพอที่จะกดดันให้อัยการนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กถอนฟ้องเจ้านายเก่าของเขาจนนายช้อบแซคได้กลับมายังนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กได้อีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นประธานาธิบดีบอริส เยลซิน เริ่มมีสุขภาพย่ำแย่ลงอยากจะเลิกเล่นการเมืองแต่ก็เหมือนกับผู้นำทางการเมืองที่มีศัตรูมากมายนั้นเปรียบเสมือนขึ้นขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ การที่จะให้ใครมาเป็นประธานาธิบดีสืบต่อไปก็ต้องแน่ใจว่าต้องไม่เป็นคนที่หักหลังเช็คบิลเหมือนนายยาคอฟเลฟหักหลังนายช้อบแซคที่นครเซนต์ ปีเตอร์สเบอร์กนั่นแหละ

ประธานาธิบดีเยลซินต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีของรัสเซียซึ่งเป็นตำแหน่งอันดับสองรองจากตัวเขาถึง 5 คน ในเวลาเพียง 17 เดือน เพราะนายกรัฐมนตรี 4 คนนั้นแสดงทีท่าอย่างชัดเจนว่าอยากจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป จนกระทั่งเยลซินได้ทราบเรื่องของนายปูตินผู้ไม่ทอดทิ้งเจ้านายเก่าและหาทางช่วยเหลือปกป้องเจ้านายเก่าไม่รู้ลืม

ประธานาธิบดีเยลซินจึงเลือกเอานายปูตินเป็นนายกรัฐมนตรีและผลักดันให้นายปูตินได้เป็นประธานาธิบดีด้วยอายุเพียง 48 ปีจนทุกวันนี้ โดยนายเยลซินก็เกษียณอายุไปได้อย่างสบายใจ

น่าเห็นใจผู้นำที่หาคนอย่างนายปูตินมาสืบทอดต่อจากตัวเองไม่ได้นะ!

ขอจบละครเรื่องนี้ด้วยคำพูดของโหราจารย์ที่จูเลียส ซีซาร์ ไปหาก่อนที่จะถูกรุมสังหารหน้าวุฒิสภา ในกรุงโรมว่า

"Beware the ides of March" (Julius Caesar, by William Shakespeare)
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 5

โพสต์

มีบทความน่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของความคิดเห็นของผู้อ่าน หลากหลายดี น่าสนุกคับ...

**ศ.ดร.ธงชัย ถามพันธมิตรฯ จะเป็นประชาธิปไตยแบบเอียงขวา?

และของแถม โดยผู้เขียนคนเดียวกันคับ..



http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... 2006/04/10
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทำไมโสเครติสจึงต้องตาย

โพสต์ที่ 6

โพสต์

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ในฤดูร้อนของปี พ.ศ.2527 ที่ลานหน้าศูนย์การประชุมของนครดัลลัส มลรัฐเท็กซัส นายเกรเกอรี่ ลี จอห์นสัน ได้นำธงชาติอเมริกามาเผาต่อหน้าสาธารณชนเพื่อเป็นการประท้วงการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการแข่งขันในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินอยู่ในศูนย์การประชุมแห่งนครดัลลัสในขณะนั้น

นายเกรเกอรี่ ลี จอห์นสัน ถูกตำรวจจับในข้อหาว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นการก่อให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณชนโดยทั่วไป คดีต้องสู้กันถึงสามศาลของมลรัฐเท็กซัสแล้วก็นำเรื่องอุทธรณ์ไปยังศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศที่เป็นกฎหมายสูงสุดจึงต้องฟ้องร้องกันกินเวลาร่วม 6 ปี

ในที่สุดก็ศาลฎีกาแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วยได้พิพากษาเป็นเด็ดขาดใน พ.ศ.2532 ว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นการแสดงออกถึงสิทธิในการพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของสัญลักษณ์ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนชาวอเมริกาทุกคน โดยรัฐธรรมนูญมาตราที่หนึ่งของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1791 (พ.ศ. 2334 สมัย ร.1 ของไทยเรานี่เอง)

นายจอห์นสัน จึงไม่มีความผิด เนื่องจากการเผาธงชาติก็ไม่ใช่การก่อให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด

บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เนื้อความว่าอย่างนี้ "รัฐสภาจะบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนาประจำชาติ หรือห้ามการปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาโดยเสรี หรือตัดทอนเสรีภาพในการพูดหรือการพิมพ์โฆษณา หรือสิทธิของประชาชนที่จะร่วมชุมนุมกันโดยสงบ และการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาลไม่ได้"

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้โต้ตอบศาลฎีกาสหรัฐด้วยการออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อที่จะให้ถือว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุก ซึ่งกฎหมายผ่านทั้งผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาและประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ลงนามประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับทั่วประเทศแต่มีคนนำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นฟ้องศาลต่อศาลฎีกาสหรัฐว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลฎีกาสหรัฐได้พิจารณาแล้วพิพากษาว่ากฎหมายเรื่องการทำลายธงชาติแล้วมีความผิดทางอาญานั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริง คือขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่หนึ่งนั่นเอง ดังนั้นกฎหมายเรื่องธงชาติอันเป็นกฎหมายที่มีศักดิต่ำกว่า (ระดับพระราชบัญญัติ) จึงใช้บังคับไม่ได้ สรุปก็คือกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปเมื่อ พ.ศ.2533 ตามหลักการของกฎหมายเบื้องต้นคือกฎหมายเล็กจะบีบกฎหมายใหญ่ (รัฐธรรมนูญ) ไม่ได้

เหตุผลที่ศาลฎีกาอ้างไว้ในการพิพากษาว่ากฎหมายเกี่ยวกับธงชาตินี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้บังคับได้ก็คือ "หลักการพื้นฐานของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 นั้นก็คือ รัฐบาลไม่สามารถห้ามการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของผู้คนได้ด้วยเพียงเพราะว่าสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าความคิดเห็นนั้นก้าวร้าวและขัดแย้ง"

เรื่องนี้เป็นการชี้ชัดลงไปว่าหลักการของการปกครองสหรัฐอเมริกาคือ "มนุษย์สำคัญกว่าวัตถุ" และปรากฏการณ์นี้ได้พิสูจน์ถึงหลักการคานอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยอันมีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ที่อำนาจตุลาการสามารถลบล้างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างเห็นดีเห็นงามออกมาใช้บังคับประชาชนแล้วได้

อีทีนี้ก็มาถึงประเทศไทยในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 (ค.ศ. 2006) รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉีกบัตรเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ 62 เขตสวนหลวง กทม. เพื่อประท้วงการเลือกตั้งโดยระบุว่าเป็นการบังคับให้ลงมติรับรองผู้นำเผด็จการและพร้อมที่จะสู้คดีข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535 มาตรา 74 ที่ระบุว่า

"ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย"

ซึ่งบทลงโทษก็ระบุไว้ในมาตรา 83 ว่า

"จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 65 บัญญัติว่า

"บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ"

การกระทำของอาจารย์ไชยันต์นี่พิจารณาในแง่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วจะเห็นได้ว่าท่านได้ทำตามหน้าที่ปณิธานของมหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามหลักการสากล (ไม่ใช่มั่วเขียนกันอย่างที่อ่านไม่รู้เรื่อง แม้แต่คนเขียนเองยังไม่เข้าใจที่เห็นอยู่ทั่วไปในเมืองไทยปัจจุบันที่ต้องเริ่มตามแบบฟอร์ม จาก ปรัชญา วิสัยทัศน์ ภารกิจ ปณิธานอะไรทำนองนั้น) มีอยู่ 3 ข้อ คือ

1.วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ (body of knowledge)

2.นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาทดสอบความถูกต้อง

3.สอนและเผยแพร่องค์ความรู้นั้นเพื่อให้งอกงามต่อไป

อาจารย์ไชยันต์ท่านสอนวิชารัฐศาสตร์ ท่านจึงเอาตัวของท่านเข้าเสี่ยงคุก เสี่ยงตะรางเพื่อจะได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องมาสอนมาเผยแพร่ต่อไป ที่สำคัญคือท่านต้องการพิสูจน์หลักการที่ว่า "กฎหมายเล็กบีบกฎหมายใหญ่ไม่ได้" พวกเราคนไทยมาลองดูกันทีนี้แหละจะได้เห็นกันอย่างจะแจ้งว่ารัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติ นั้นกฎหมายไหนจะใหญ่กว่ากัน

ท่านอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอุดมคติจริงๆ!

ขอร้องเถอะเรื่องที่ท่านไว้ผมยาวนั้นก็เป็นเรื่องของท่าน ทำไมจึงต้องเดือดร้อนอะไรกันนักหนา! ผู้เขียนละงงจริงๆ
โพสต์โพสต์