เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน

โดย สมบัติ จันทรวงศ์ 5 ธันวาคม 2548


      ในปี ค.ศ. 1795 ประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งอีกเป็นสมัยที่สาม และจอห์น แอดัมส์ จากพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ได้สืบทอดตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแทน โดยได้รับชัยชนะเหนือโอมาส เจฟเฟอร์สัน จากพรรครีพับลิกันเพียง 3 คะแนน (71 ต่อ 68) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แอดัมส์พยายามที่จะสานต่อนโยบายต่างประเทศที่วอชิงตันได้ฝากฝังไว้เมื่อครั้งอำลาตำแหน่ง นั่นคือ นโยบายที่จะเป็นกลางในทิศทางการเมืองระหว่างประเทศ
     

       แต่ขณะนั้น กระแสความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา กำลังขึ้นสูง เพราะฝรั่งเศสมองว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้วางตัวเป็นกลางอย่างแท้จริง เนื่องจากในสนธิสัญญาที่สหรัฐอเมริกาทำกับอังกฤษก่อนหน้านั้น สหรัฐอเมริกายินยอมให้อังกฤษยึดสินค้าฝรั่งเศสบนเรืออเมริกันได้ เรือสินค้าอเมริกันจำนวนมากที่เดินทางไปยุโรป จึงถูกกองเรือฝรั่งเศสจมหรือยึด
     
       ในความพยายามที่จะรักษาสันติภาพระหว่างสองประเทศไว้ ประธานาธิบดีแอดัมส์ได้ส่งคณะทูตพิเศษ ไปเจรจาความที่กรุงปารีส แต่แทนที่จะได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส คณะทูตอเมริกันกลับถูกเรียกเงินสินบนจำนวน 250,000 ดอลลาร์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสเจรจาความเมือง เมื่อคณะทูตอเมริกันปฏิเสธที่จะจ่ายเงินสินบน ก็ถูกข่มขู่โดยตัวแทนลับของฝรั่งเศสว่า สหรัฐอเมริกากำลังเสี่ยงกับสงคราม
     
       เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า กรณี X Y Z นี้นำไปสู่ความหมางใจกันอย่างร้ายแรง ระหว่างประเทศทั้งสอง และได้เกิดกระแสต่อต้านฝรั่งเศสอย่างรุนแรงขึ้นในสหรัฐอเมริกา แม้พลพรรคเฟเดอรัลลิสต์จะไม่ประสบผลสำเร็จ ในการผลักดันให้แอดัมส์ นำอเมริกันเข้าสู่สงคราม แต่ในช่วงนี้เอง พวกเขาได้ฉวยโอกาสถือเอาการคุกคามของฝรั่งเศสเป็นข้ออ้างในการกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมืองภายใน คือพรรครีพับลิกันไปด้วย
     
       พรรคเฟเดอรัลลิสต์ได้ผลักดันให้รัฐสภาอเมริกัน ผ่านกฎหมายสี่ฉบับ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า Alien and Sedition Acts กฎหมายฉบับแรกคือ กฎหมายว่าด้วยการแปลงสัญชาตินั้น ได้ขยายเวลาก่อนที่คนต่างด้าวจะขอแปลงสัญชาติได้ จากเดิมห้าปีเป็นสิบสี่ปี ซึ่งแท้จริงแล้วมุ่งจะทำให้พรรครีพับลิกันอ่อนแอลง เพราะผู้อพยพมาสู่สหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ เมื่อได้สิทธิเป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว มักจะเข้าสังกัดพรรครีพับลิกัน
     
       ส่วนกฎหมายว่าด้วยคนต่างด้าว ก็ให้อำนาจประธานาธิบดีเนรเทศบุคคลซึ่งเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อสันติสุขและความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาได้ และกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ก็ให้อำนาจประธานาธิบดีในยามสงคราม หรือเมื่อถูกรุกราน ก็จะสั่งจำคุกหรือเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวได้อย่างถูกกฎหมาย
     
       เป็นไปได้ว่า กฎหมายว่าด้วยคนต่างด้าวทั้งสองฉบับนี้ มีเจตนาที่จะทำให้ชาวฝรั่งเศสที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันกลัว และออกนอกประเทศไป ส่วนกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ Sedition Act (กฎหมายอัยการขบถ) นั้น เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาจะปรามการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่มีบรรณาธิการมีพลพรรครีพับลิกัน และบรรณาธิการเหล่านี้บางคนยังไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันอย่างสมบูรณ์
     
       สิ่งที่กฎหมายฉบับนี้ถือเอาเป็นความผิดได้แก่ การที่จะคัดค้าน ขัดขวางหรือแทรกแซงมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาล และถือเป็นความผิดที่จะโจมตี หรือตีพิมพ์ข้อความใดๆ อันเป็นการโจมตีรัฐบาล รัฐสภา หรือประธานาธิบดีที่เป็นเท็จใส่ร้ายและมุ่งร้าย โดยผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งจำและปรับ
     
       ในปี ค.ศ. 1798 นั้น แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านกฎหมายทั้งสี่ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุผลว่า กฎหมายเหล่านี้ละเมิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของพลเมืองไว้แล้วอย่างชัดแจ้ง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ และในทางปฏิบัติ แม้กฎหมายว่าด้วยคนต่างด้าว จะไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่กฎหมายอัยการขบถ กลับมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางหนังสือพิมพ์ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เสมอ
     
       ผลก็คือ ในที่สุดแล้ว กฎหมายฉบับนี้ทำให้มีการฟ้องร้องผู้ต้องหารวม 15 คน ในจำนวนนี้ 10 คน ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดจริง และในจำนวนนี้เป็นพลพรรครีพับลิกันทั้งหมด และส่วนใหญ่แล้วเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
     
       ในจำนวนนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกนำตัวมาขึ้นศาลฟ้องร้องนี้ มีที่น่าสนใจอยู่หลายคน เช่น โอมาส คูเปอร์ ซึ่งถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเขียนข้อความโจมตีประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ ส่วนแมทธิว ลีออน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐเวอร์มอนต์อยู่ด้วยนั้น ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปอีกวาระหนึ่ง ในขณะที่กำลังติดคุกอยู่
     
       แต่ที่น่าอื้อฉาวที่สุด เห็นจะเป็นการพิจารณาคดีของเจมส์ ทอมสัน คาลเลนเดอร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นนักข่าวจอมขุดคุ้ยแห่งยุค อันที่จริงแล้ว โดยบุคลิกส่วนตัว คาลเลนเดอร์อาจจะไม่เป็นที่น่าชื่นชมของมหาชนนัก แต่ในการพิจารณาคดีของเขา ปรากฏว่าผู้พิพากษาแซมมวลเซส ซึ่งเข้าข้างพรรคเฟเดอรัลลิสต์ และสนับสนุนกฎหมายอัยการขบถอย่างแข็งขันได้ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมด้วยประการทั้งปวง และอย่างออกนอกหน้า เพื่อที่จะเอาผิดกับคาลเลนเดอร์ให้ได้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกโดยทั่วไปว่า กลไกทั้งหมดของรัฐบาลกลาง กำลังถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง และเป็นเครื่องมือในการกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
     
       นักประวัติศาสตร์อเมริกันบางท่านถึงกับกล่าวว่า ไม่มีความพยายามที่จะกำจัดสิทธิทางการเมือง และทำลายฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองครั้งใดจะเสมอเหมือนได้กับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อเมริกันครั้งนี้
     
       แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 1800 โชคชะตาทางการเมืองก็ผันเปลี่ยนโธนาส เจฟเฟอร์สัน จากพรรครีพับลิกันหรือ Democratic-Republican เฉือนเอาชนะแอดัมส์ และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา และพรรคเฟเดอรัลลิสต์ก็ดำเนินมาถึงจุดจบเอาในสมัยนี้เอง ในทางประวัติศาสตร์อาจเป็นที่ถกเถียงกันได้ว่า เป็นโชคดีหรือโชคร้ายของสหรัฐอเมริกากันแน่ ที่อวสานของพรรคเฟเดอรัลลิสต์มาถึงอย่างค่อนข้างจะรวดเร็วเกินคาด
     
       นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า แม้จะประสบผลสำเร็จในหลายๆ ด้าน แต่พรรคเฟเดอรัลลิสต์ก็ไปไม่รอดเพราะแกนนำของพรรค ล้วนแต่เป็นนักธุรกิจ เป็นพ่อค้า ที่มองไม่เห็นความจริงว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรซึ่งหากินกับผืนดิน ทั้งยังไม่ยอมรับว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น จำเป็นต้องรับฟังเสียงของมวลมหาชนตัวจริง
     
       แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารงานของพรรคเฟเดอรัลลิสต์ได้สร้างประวัติศาสตร์ตอนสำคัญของสื่อมวลชนอเมริกันขึ้นแล้ว ได้เกิดมีผู้กล้าที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อเสรีขึ้น และได้รับการยอมรับ ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ในท้ายที่สุด คนอย่างเจมส์ ทอมสัน คาลเลนเดอร์ ซึ่งเคย "พ่นพิษ" ใส่นักการเมืองพรรคเฟเดอรัลลิสต์มาแล้ว ก็คือคนเดียวกันที่พ่นพิษใส่เจฟเฟอร์สันในกาลต่อมาด้วย
     
       คงเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้สัมพันธภาพระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองกับสื่อมวลชน ไม่ว่าจะในสังคมใด สมัยใด เป็นไปในลักษณะที่ราบรื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ระหว่างสองฝ่ายนี้ไม่ว่าจะเมื่อร่วม 200 ปีมาแล้ว หรือในยุคปัจจุบัน ใครจะต้องข่มใจหรือทำใจให้ได้มากกว่ากันนั้น ชัดเจนแน่นอน เพราะในจดหมายที่มีไปถึง บารอน วอน ฮัมโบลดัท ในปี ค.ศ. 1807 เจฟเฟอร์สันได้เขียนว่า "เมื่อใครสักคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบอันเป็นสาธารณะมา เขาควรจะต้องถือว่าตนเองนั้นเป็นทรัพย์สินของสาธารณะด้วย"
     
       ผู้มีอำนาจทางการเมืองไทย หลายต่อหลายคน ในปัจจุบันสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และมักถือตนว่าเป็นผู้มีความรู้ ในยามนี้ผู้เขียนซึ่งไม่มีอำนาจใดๆ เลย ขอฝากเรื่องราวในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ท่านน่าจะรู้และควรรู้ แต่อาจไม่มีโอกาสได้คิด ฝากมาเป็นบทเรียน ด้วยความหวังว่า จะยังคงไม่สายจนเกินไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ถ้ามีโอกาส น่าจะมีข้อความแนะนำเกี่ยวกับผู้เขียน คือ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ให้ทุกท่านที่ยังไม่รู้จัก ได้ทราบที่มาและผลงานของอ.สมบัติในโอกาสต่อไปคับ..
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 3

โพสต์

มีผู้เขียนถึงอ.สมบัติอย่างละเอียด เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่นี่ จะขอทำ link เพื่อท่านจะตามไปศึกษาได้สะดวกคับ...

-แซยิด 3 ส. : ศ.ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ (1)

-เส้นทางแห่งผู้รักในปัญญา : ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ (2)

-"ผมเป็นเพียงแค่หลานศิษย์ : ลีโอ สเตราส์...สมบัติ จันทรวงศ์ (3)

-สมบัติ จันทรวงศ์ : ผู้วางรากฐานการศึกษาปรัชญาการเมือง ในวงวิชาการไทย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 4

โพสต์

บทความประกอบ :


-ปรากฏการณ์ "สนธิ ลิ้มทองกุล" (2) สู่วารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่?

-ปรากฏการณ์ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ในฐานะที่เป็น "ข่าว"

โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา อดีตคณบดีคณะวารศารศาสตร์

เป็นบทความกึ่งวิชาการที่น่าสนใจดีคับ...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 5

โพสต์

การชุมนุม 4 กุมภาและ 11 กุมภา ...กรณีผู้ดำเนินรายการคุณสมัคร-ดุสิต  และคุณบุญยอด ทำให้นึกถึงบทความนี้ขึ้นมา ฝากให้ได้อ่านกันคับ ...

โทรทัศน์กับการเมืองภาคประชาชน

โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา 9 กุมภาพันธ์ 2549 18:35 น.


             ก็ตามความคาดหมาย สถานีโทรทัศน์ต่างๆ บรรดามีต่างก็นำเสนอเรื่องราวของขบวนการกู้ชาติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธุ์แบบกะปริดกะปรอยอย่างเสียมิได้กันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเอาอกเอาใจรัฐบาลอย่างทื่อๆ โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ทางวิชาชีพข่าวของตนเลย
     
       ซ้ำร้าย ในบางกรณีถึงกับมีการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงง่ายๆ เช่นเกี่ยวกับจำนวนคนที่เข้าร่วม โดยไม่มีการรายงานสดในช่วงที่มีคนเข้าร่วมมากๆ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึง iTv ซึ่งได้แต่งตั้งตนเองเป็นประชาสัมพันธ์ประจำตัวนายกรัฐมนตรี ด้วยการเดินทางติดตามบุคคลดังกล่าวไปทุกหนทุกแห่งในภาคเหนือในวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นยุทธการตอบโต้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ข่าว แล้ว iTv ก็นำเสนอรายงานเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ สารพัดประเภท "คนเมืองฮักกัน" เพื่อต่อสู้รบกับ "คนง่าว" แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อกลบเกลื่อนเหตุการณ์ที่พระบรมรูปทรงม้า
     
       จะยกเว้นก็แต่ ASTV และ Nation Channel เท่านั้นที่ได้เกาะติดสถานการณ์ โดยนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทว่าความที่สัญญาณของโทรทัศน์ทั้งสองแห่งนี้มีข้อจำกัดทางเทคนิคอย่างสำคัญ อีกทั้งในกรณีของ ASTV นั้นยังโดนกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นเวลาหลายเดือน ลงท้ายแล้ว จำนวนคนดูทั้งหมดจึงคงไม่มากนัก
     
       สำหรับนักข่าวโทรทัศน์ต่างประเทศที่ได้เดินทางมาทำข่าวนี้ไม่ใช่น้อยๆ ด้วยนั้น ความที่นักข่าวกลุ่มนี้มักจะเข้ามาทำงานแบบด่วนๆ รายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในข่าวจริงๆ คงจะค่อนข้างคลาดเคลื่อน เพราะบ่อยๆ นักข่าวพวกนี้มักจะมีความรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยไม่เพียงพอที่จะประเมินคุณค่าและนำหนักของข่าวที่มีความสลับซับซ้อนขนาดนี้
     
       "อคติ" ของระบบโทรทัศน์ดูฟรีอย่างช่อง 3 5 7 9 11 และ iTv ต่อเหตุการณ์ 4 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะนี่คือการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งในวัฒนธรรมการเมืองไทยมักจะถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทว่า "อคติ" ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทว่ามีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน
     
       ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว โทรทัศน์ได้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด ทั้งในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปฏิรูปโทรทัศน์กันทีไร ก็มักจะมีอันเป็นไปเสียทุกครั้ง ทั้งนี้ ก็เพราะผลประโยชน์มากมายที่มากับโทรทัศน์นั้นไม่เคยอนุญาตให้การปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นได้สักที
     
       มิหนำซ้ำ มาบัดนี้ สถานการณ์ประเภทความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก ก็เกิดขึ้น การปฏิรูปโทรทัศน์ในอนาคตก็จะกลายเป็นงานที่สลับซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะสมบัติของการเมืองภาคประชาชนอย่าง iTv ได้ถูกโจรกรรมถึงสองชั้น นั่นก็คือ ครั้งแรกเมื่อถูกแปรสภาพให้กลายเป็นของบรรษัทของนายกรัฐมนตรี และอีกครั้งหนึ่งเมื่อบรรษัทที่ว่านั้นได้นำไปงุบงิบขายจนกลายเป็นสมบัติของรัฐบาลสิงคโปร์ไปเสียแล้ว เรื่องราวอันพิลึกกึกกือขนาดนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นในยุคใดได้นอกจากในยุคนี้
     
       กระนั้นก็ตาม iTv เป็นเสมือนสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเสียสละชีวิตของคนจำนวนมากในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ฉะนั้น ผู้รู้ทั้งหลายคงไม่มีใครยอมให้สิงคโปร์มาชุบมือเปิบไปได้ง่ายๆ ดอก แม้กระทั่ง Shin Corp ก็เถอะ ลงท้ายแล้ว น่าจะกลายเป็นประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยมใหม่ในเมืองไทยในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
     
       ในขณะที่เราคงจะต้องรอดูว่าอนาคตของ iTv จะเป็นอย่างไรต่อไป ในตอนนี้ เราควรจะทำความเข้าใจที่มาที่ไปของโทรทัศน์ไทยให้ชัดเจนขึ้นไปพลางๆ ก่อน


นับตั้งแต่กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2498 นั่นก็คือกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยความริเริ่มของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดูเหมือนว่าโทรทัศน์จะแปรสภาพจาก "ของเล่น" ของชนชั้นสูงที่กระจุกอยู่ในเมืองหลวง จนกระทั่งกลายเป็นอะไรที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือบรรดามวลชนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงได้กว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ ตกถึงวันนี้ โทรทัศน์ก็คือ กลไกอันขาดไม่ได้สำหรับขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองตามแรงกดดันของอุดมการณ์กระแสหลักของสังคมในแต่ละยุค
     
       เนื่องจากมนต์สะกดของโทรทัศน์ที่มากับเทคโนโลยีสูงขึ้นเรื่อยๆ และความแพร่หลายที่เกิดขึ้นจากภาวะที่ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ถูกลงตลอดเวลา จนกระทั่งเกือบจะเรียกได้ว่าใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของโทรทัศน์ส่วนตัวได้ ว่ากันว่าในเวลานี้เมืองไทยมีเครื่องรับโทรทัศน์จำนวนมากกว่า 15 ล้านเครื่องตั้งอยู่ในแทบทุกครัวเรือนของประเทศ ความที่เมืองไทยมีประชากรหกสิบกว่าล้านคน นี่หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ในทุกๆ 4 คนจะมีโทรทัศน์ 1 เครื่อง ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงโทรทัศน์เคลื่อนที่สำหรับติดรถยนต์ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
     
       ความที่การถือครองโทรทัศน์ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน การคิดตามนับจำนวนจึงกระทำได้ยาก ทว่าแนวโน้มก็คืออัตราการถือครองต่อประชากรมีศักยภาพที่จะพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะขนาดของครัวเรือนจะเล็กลงและลัทธิปัจเจกชนนิยมจะมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ
     
       ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ความฝันของนักการตลาดและนักการเมืองในยุคปัจจุบันก็คือ การเป็นผู้จัดการธุรกิจโทรทัศน์ ในส่วนหนึ่งก็เพราะโอกาสในการพัฒนาตลาดของโทรทัศน์ยังสามารถขยายตัวไปได้อีกนานทั้งในแง่ของจำนวนเวลาในการถ่ายทอด รวมทั้งในเชิงปริมาณและประเภทคนดู เช่น หากอยากจะเพิ่มขนาดตลาด ก็กด "ระดับวัฒนธรรม" ของโทรทัศน์ลงไปเรื่อยๆ เพื่อเอาใจมวลชนที่ยังเข้าไม่ถึง หรือหากอยากจะเจาะตลาดเฉพาะจุด ก็ผลิตรายการที่มุ่งเอาใจกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ เป็นการเฉพาะไปเลย เป็นต้น
     
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 6

โพสต์

เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมากๆ นี้เอง ทำให้โทรทัศน์ได้เปรียบสื่อประเภทอื่นๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการการโฆษณาทางการพาณิชย์ เกือบตลอดเวลาที่โทรทัศน์ปรากฏตัวขึ้น (นอกจากในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งที่เครื่องรับโทรทัศน์มีอยู่ในประเทศไม่มากนัก) กล่าวได้ว่าโทรทัศน์คือสื่อที่สามารถแก่งแย่งรายได้จากงบประมาณการโฆษณาทางการพาณิชย์ต่างๆ เป็นอันดับหนึ่งเสมอ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโอกาสการพัฒนาสื่อประเภทอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง
     
       ในขณะที่ในทศวรรษที่ 1970 โทรทัศน์มีรายได้ประเภทนี้อยู่ในระดับเพียงพันล้านบาทต่อปี ในปัจจุบัน รายได้ประเภทนี้ของโทรทัศน์มีนับได้นับได้เป็นหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี ทว่าคุณภาพของรายการต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมาโดยผู้ผลิตรายการเพียงไม่กี่เจ้าภายใต้ระบบทุนนิยมแบบอุปถัมภ์ที่ไม่รู้จักการแสวงหาความเป็นเลิศใดๆ ทั้งสิ้น ทว่ากลับเต็มไปด้วยความมักง่ายและความซ้ำซาก ในแต่ละวัน คนดูโทรทัศน์มากมายหลายช่องจะเห็นหน้าคนทำรายการเพียงไม่กี่คนเดินสายหมุนเวียนไปๆ มาๆ ในทำนองแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ โดยแต่ละคนจะเดินสายไปทำรายการประเภทเดียวกันหรือคล้ายๆ กันจากช่องนั้นไปช่องนี้แบบผ่านๆ ลวกๆ
     
       ทั้งนี้ โดยไม่มีความพยายามอย่างเป็นระบบใดๆ ในการขยายระบบการผลิตให้ใหญ่และหลากหลายขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในการสร้างคุณภาพอย่างแท้จริงใดๆ ฉะนั้น หากจะมีรายการโทรทัศน์สักสี่หรือห้ารายการ ที่พอจะจัดได้ว่าพอจะมีคุณค่าบางด้านถึงขั้นดีมากหรือดีอยู่บ้าง ก็เป็นผลที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ผลิตรายการนั้นๆ ล้วนๆ
     
       ด้วยอำนาจในการเข้าถึงตลาดและการผลิตรายได้เช่นนี้เอง ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาหน่วยงานของรัฐจึงต่างพากันแย่งชิงการถือครองโทรทัศน์เอาไว้ในมือของตนในนามของอะไรต่างๆ และในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีบทบังคับให้ปฏิรูปโทรทัศน์โดยคณะกรรมการอิสระฯ การก่อตั้งคณะกรรมการนี้จึงถูกแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นเวลาหลายปีอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด จนกระทั่งศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เป็นโฆษะ จักต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว
     
       ความที่โทรทัศน์เป็นศูนย์รวมของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองจำนวนมหาศาล ทั้งนี้โดยมีอำนาจในการกำหนดทิศทางวัฒนธรรมสารพัดชนิดพ่วงมาอีกต่างหาก อาทิ ในแง่ของการกำหนดมาตรฐานในการบริโภคและวิสัยทัศน์ทางการเมือง ตัวอย่างเช่น หากเพียงโทรทัศน์ทั้งระบบจงใจให้ความสำคัญกับเรื่องราวบางประเภทเป็นพิเศษ หรือในทางตรงกันข้าม ละเลยหรือบิดเบือนเรื่องราวอีกบางประเภท เพียงเท่านี้ โทรทัศน์ก็สามารถพาสังคมเข้ารกเข้าพงได้แล้ว
     
       ด้วยอำนาจในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของคนดูโทรทัศน์เช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดูโทรทัศน์ที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ผลการสำรวจประชามติต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยจึงมีอะไรโง่ๆ ให้เราได้รับรู้กันอยู่อย่างไม่เคยขาด
     
       พูดง่ายๆ หากเราอยากจะได้เมืองไทยชนิดใด เราก็ต้องวางระบบจัดการให้โทรทัศน์ทั้งระบบทำหน้าที่จนก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างนั้นให้ได้ ไม่เช่นนั้น โทรทัศน์ก็จะกลายเป็นพลังที่คอยขัดขวางวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตามที่ขัดกับสิ่งที่มากับโทรทัศน์
     
       ปริศนาที่น่าพิศวงก็คือ ทำไมโทรทัศน์จึงเป็นปฏิปักษ์กับการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เมืองไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองแต่ละครั้ง โทรทัศน์จะวางตัวเป็นฝ่ายของรัฐและทุนเสมอ ทั้งนี้ อาจจะกระทำแบบซื่อๆ ตรงไปตรงมาเช่นในทศวรรษที่ 1970 และ 1990 หรือกระทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ โดยมีการวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้าเช่นในกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และน่าจะเป็นในวันพรุ่งนี้คือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ด้วย
     
       ในประการแรก โทรทัศน์มี "อคติ" ต่อการเมืองภาคประชาชนก็เพราะในแง่ของการถือครองกรรมสิทธิ์ สัมปทาน หรือที่มาของผู้บริหาร รัฐบาลยังคงเป็นใหญ่อยู่อย่างสมบูรณ์แบบ และเนื่องจากรัฐบาลแบบไทยๆ มักจะนิยมความคิดล้าหลัง ทั้งนี้ ด้วยความเข้าใจว่าการปิดหูปิดตาประชาชนคือสิทธิของตน มิหนำซ้ำ ถือว่าเป็นความเฉลียวฉลาด ฉะนั้น ผู้จัดการที่ได้รับการคัดเลือกมาบริหารกิจการโทรทัศน์จึงมักจะยอมอนุโลมตามอย่างเซื่องๆ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยคิดให้เสียเองว่า การนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประเด็นสำคัญของการเมืองภาคประชาชนนั้นจะต้องไม่มีเลย หรือมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และในบางกรณี ก็ถึงขนาดที่ให้ความร่วมมือในการบิดเบือนเรื่องราวให้สอดคล้องกับความคาดหมายของรัฐบาลเสียเลย
     
       ในเงื่อนไขอย่างนี้ โทรทัศน์จึงไม่เคยสนใจที่จะแสวงหาความเป็นเลิศในการทำข่าว งานข่าวในโทรทัศน์ก็คืองานการเมืองโดยตรง หรือไม่ก็เป็นธุรกิจที่ทำเพื่อเงินล้วนๆ ไปเลย ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าโลกใกล้จะแตก สึนามิจะมาถึง หรืออธิปไตยของเมืองไทยกำลังถูกนำแอบไปขายให้ต่างชาติโดยมีคนได้ผลประโยชน์ร่วมด้วยเพียงไม่กี่คน โทรทัศน์จึงมีความสามารถที่จะทำเป็นหูหนวกตาบอดได้ด้วยความสบายใจเป็นอย่างยิ่ง
     
       บุคคลที่มักจะได้รับการคัดเลือกมาทำข่าวในโทรทัศน์จึงต้องเป็นคนประเภทเข้าทำนองใครจะฉิบหายก็ช่าง ขอให้ฉันอยู่ได้ไปวันๆ หนึ่งก็พอ ครั้นเมื่อมีคนข่าวที่เคารพงานของตนอย่างคุณสรรพศิริ วิริยะศิริ ซึ่งเป็นอำนวยการข่าวของสถานีโทรทัศน์ของรัฐแห่งหนึ่งผู้ตัดสินใจเผยแพร่ภาพความรุนแรงต่อนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาก็ถูกปลดออกจากงาน กว่าที่เกียรติยศด้านข่าวของบุคคลผู้นี้จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เขาเมื่อเกินกว่าหนึ่งทศวรรษให้หลังแล้ว
     
       ยิ่งในสถานการณ์ที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลในระยะห้าปีมานี้ "อคติ" ของโทรทัศน์ต่อการเมืองภาคประชาชนยิ่งรุ่งเรืองไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำรัฐบาลได้ส่งสัญญาณตลอดเวลาว่าตนเองไม่ต้องการความคิดเห็นใดๆ ที่สวนทางกับความต้องการของตนเองเลย ซ้ำร้าย ยังได้ดำเนินการให้บรรษัทของตนเข้าซื้อหุ้นใหญ่ใน iTv ในแบบฉบับที่เต็มไปด้วยเรื่องค้างคาใจผู้คนเป็นจำนวนมากมาจนบัดนี้
     
       ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงการใช้ iTv เป็นเครื่องมือทางการเมืองส่วนตัวด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งกรณีที่พันธมิตรทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลอย่างแกรมมี่ได้พยายามเข้ายึดครองกิจการของหนังสือพิมพ์มติชนและบางกอกโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้
     
       "อคติ" ในอีกระดับหนึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากการที่โทรทัศน์ไม่ให้ความสำคัญกับงานข่าวอย่างที่ควรเป็น ในขณะที่ไม่ค่อยยอมลงทุนกับการผลิตข่าวด้วยตนเองอย่างจริงจัง โทรทัศน์กลับชอบที่จะนำข่าวต่างๆ ที่หนังสือพิมพ์ได้มาด้วยความยากลำบากมา "ตกแต่ง" ขายต่ออย่างไม่มีความละอายใจใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ โทรทัศน์จึงไม่จำเป็นต้องมีการจ้างนักข่าวขนานแท้และดั้งเดิมมาประจำการเลย มีแต่คนประเภทครึ่งสุกครึ่งดิบที่ชอบทำอะไร "คล้ายๆ กับข่าว" เท่านั้นเอง
     
       ความหมายในที่นี้ก็คือ โทรทัศน์มองเห็นว่าข่าวเป็นเพียงสินค้าเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการขาย ไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ผิดๆ ถูกๆ ขาดๆ วิ่นๆ ก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่ขายได้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แทนที่จะมองเห็นว่าการแสวงหาความเป็นเลิศในการทำข่าวคือ "หน้าที่" ของตนเองในการขุดคุ้ยหา "ความจริง" สำคัญๆ มาให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเพื่อที่เขาจะเตรียมตัวอยู่ในโลกได้อย่างดีที่สุด
     
       ด้วยประการฉะนี้ นอกจากข่าวเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนจะทำให้บุคคลในรัฐบาลรำคาญแล้ว มันยังไม่สามารถผลิตผลตอบแทนทางการเงิน หรือตอบสนองความเป็นเลิศทางวิชาชีพของคนโทรทัศน์อีกด้วย
     
       ไม่ว่าเหตุการณ์วันที่ 4 และ 11 กุมภาพันธุ์จะปรากฏในโทรทัศน์อย่างไรก็ตาม สิบกว่าปีของการต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปโทรทัศน์กำลังลงเอยด้วยความตระหนักว่า การต่อสู้ที่ว่านั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง
     
       ความหวังก็คืออย่างน้อยๆ การต่อสู้เพื่อการปฏิรูปโทรทัศน์คราวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นจากความตระหนักอย่างแท้จริงว่าความพยายามดังกล่าวนั้น จะประสบความสำเร็จไม่ได้โดยปราศจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง อันแตกต่างไปจากกระแสการปฏิรูปโทรทัศน์ในครั้งที่ผ่านมาที่บังเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่เต็มไปด้วยความไร้เดียงสา
     
       บางทีภาวะที่ iTv กำลังตกไปอยู่ในมือของทุนต่างชาติคงจะเป็นชนวนที่ทำให้การต่อสู้เพื่อการปฏิรูปโทรทัศน์รอบนี้สนุกขึ้นกว่าเดิมมากก็ได้
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 7

โพสต์

คุณบุญยอด สุขถิ่นไทย ไปสังเกตการณ์แล้วโดนปลด

คุณศรัณยู วงศ์กระจ่างจะเป็นเช่นไร เพราะมีการแสดงออกทางการเมืองชัดเจนกว่า

เพราะอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย...

ทีวีต้นสังกัดจะตักเตือนอย่างไร

ทางกันตนาจะถูกกดดันหรือไม่

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป...
ภาพประจำตัวสมาชิก
สามัญชน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 5162
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณ คุณมหาชนที่นำบทความดีๆมาให้ได้อ่านเรื่อยๆครับ

อ่านแล้วได้ความคิดว่า

1. สื่อมวลชนกับรัฐบาลคงเป็นขั้วตรงข้ามกันตลอดไปแม้บางช่วงบางเวลาอาจจะมีช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจัรทร์หวานแหววต่อกัน แต่ในอนาคตอันยาวนานก็คงจะเป็นคู่กัดอมตะนิรันด์กาล เพราะข่าวสารที่จะขายได้ดี คงไม่มีอะไรเกินเรื่องอื้อฉาวของรัฐ  และรัฐคงไม่ชอบใจที่สื่อจะมาขุดคุ้ยอันจะนำไปสู่การหมดอำนาจของตัวเอง

2. สื่อเองนับวันจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นฐานันดรศักดิ์ใหม่ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ จำได้ว่าเมืองไทยเองเมื่อสักสิบปีที่แล้ว ก็มีการตั้งรัฐบาลโดยสื่อมวลชน  สื่อเชียร์ใครคนนั้นก็มักจะชนะอย่างที่เราเห็นๆกันมาแล้ว

3.ทั้งสื่อทั้งรัฐล้วนแต่มีข้อบกพร่องด้วยกัน รัฐโกงกิน สื่อขาดจรรยาบรรณ แต่ถ้าวัดอิทธิพลและอำนาจกันจริงๆ สื่อมักจะสู้ไม่ได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต  

4. จึงเกิดแนวคิดที่รัฐจะยึดสื่อมาเป็นของตัวเอง(ด้วยอำนาจเงิน)เสียเลย  และช่วงที่สื่อตกต่ำแรงต้านจากประชาชนคนกลางก็มักจะลดน้อยลงตามไปด้วย ที่จริงสื่อน่าจะนำไปเป็นบทเรียนแก้ปัญหาให้ตัวเองในระยะยาว

5. แต่ช่วงที่รัฐอ่อนแอแรงต้านจากประชาชนก็จะเยอะ บทเรียนที่เคยมีก็มักจะทำเป็นลืมๆ แล้วก็วนไปสู่วงจรเก่าๆ

6. สื่อควรจะมีการคัดกรองข่าวให้ได้มาตรฐาน มีจรรยาบรรณและวิชาชีพในการเสนอข่าว แต่โดยลักษณะงานที่ต้องรีบกันเสนอข่าว คงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติที่จะคัดกรองให้ถูกต้องและรวดเร็วพร้อมๆกัน  ความหวังในเรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก

7. สื่อเองก็ต้องมีนายทุนหนุนหลัง มีแหล่งเงินหนุนหลัง  การนำเสนอข่าวไม่ให้ลำเอียงเลยย่อมเป็นไปได้ยาก

8. รัฐเองย่อมไม่ปรารถนาจะให้สื่อตามจิกตามขุดและที่รุนแรงที่สุดคือตกเป็นเครื่องมือฝ่ายตรงข้ามแบบเห็นๆและลำเอียง เมื่อรัฐมีทั้งเงินและอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ คงไม่มีใครโง่ที่จะไม่ใช้อำนาจที่ว่าแล้วปล่อยให้ตัวเองพัง

9.วงจรแบบนี้เป็นมานานแล้วและคงจะเป็นไปอีกอย่างยาวนาน ถ้าตัดวงจรใดวงจรหนึ่งออกได้ ปัญหาอาจจะดีขึ้น  เช่นถ้าสื่อเป็นกลางจริงๆ รัฐคงไม่อยากยึดมาเป็นของตัวเองเพราะได้ไม่คุ้มเสียและไม่รู้จะยึดมาให้เขาด่าทำไม  หรือรัฐไม่คิดจะคุกคามสื่อและรัฐไม่คิดจะโกง สื่อก็ไม่ต้องระแวงและไม่จำเป็นต้องขุดคุ้ย  แต่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ่อนข้อให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนหรือตัดวงจรฝ่ายตัวเองก่อนคงเป็นไปได้ยากมาก

ทางออกคงอยู่ที่ทุกฝ่ายอยู่ในกติกาไม่ละเมิดกติกาและเคารพกติกามั้งครับ  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดกติกาบ้านเมืองก่อน(แม้อีกฝ่ายจะมีอำนาจออกกฏหมาย)อย่างไม่ชอบธรรมก็ค่อยช่วยกันประนาม น่าจะพอไปได้
ทุกความเห็นย่อมเปลี่ยนไปตามความรู้ การเรียนรู้ย่อมไม่มีจุดสิ้นสุด
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 9

โพสต์

มหาชนคนรู้น้อย..ได้รับความรู้และข้อมูลหุ้นจากทุกท่านในที่นี้...

พิมพ์ก็ช้า จิ้มเอา...ทีละตัวๆ

ก็ไม่ทราบจะทดแทนอย่างไรดี  แสดงความเห็นก็ไม่เก่ง...

จึงเห็นว่า การนำบทความที่น่าสนใจที่ไม่เป็นวิชาการมากนักมาลงให้เพื่อนๆได้อ่านกัน

จะเป็นประโยชน์และสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆได้ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น..

หวังและตั้งใจเช่นนั้น....มีเหลือ ..เผื่อแผ่....แบ่งปัน...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 10

โพสต์

เมื่อได้ทราบว่า ยังมีเพื่อนบางท่านอ่านกันบ้าง ก็คงมีมาให้อ่านเรื่อยๆ ตามโอกาสและเวลาคับ..
ส.ส.ม.ท.เรียกร้องบทบาท"วิทยุ-ทีวี"

สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) เรื่อง ขอเรียกร้องให้ตระหนักและทบทวนการทำหน้าที่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์

สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศ (ส.ส.ม.ท.) ได้ติดตามการทำหน้าที่ของสื่อวิทยุกระจายเสียง และสื่อโทรทัศน์ ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้อง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และประชาชนจากหลากหลายอาชีพที่มาสนับสนุนและร่วมชุมนุมภายใต้การนำของสายสนธิ ลิ้มทองกุล ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จนกระทั่งได้สลายการชุมนุมลงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น

ส.ส.ม.ท.มีความไม่สบายใจที่เห็นว่า การทำหน้าที่ของสื่อทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ ต่างก็นำเสนอข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวค่อนข้างน้อยมาก จนดูเสมือนเป็นการละเว้น หลีกเลี่ยง และไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งสื่อควรจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของสังคม และสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบโดยทั่วกัน

ส.ส.ม.ท.จึงขอเรียกร้องต่อสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์ ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะฐานันดรที่สี่ ดังนี้

1.ได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่นำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ รอบด้านและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายตามกรอบจรรยาบรรณของสื่อมวลชน

2.ทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้ายาม "Watch Dog" ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยส่วนรวม

(รองศาตราจารย์ ดร.สุรัตน์ เมธีกุล)

ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.)

6 กุมภาพันธ์ 2549
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 11

โพสต์

เก่าแต่ไม่นานเกินไป...
ชำแหละสื่อยุค "ทักษิณาธิปไตย" เสริมอำนาจเผด็จการ

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
18 พฤษภาคม 2548

รังสรรค์ ชำแหละสื่อภายใต้ระบบแม็ก เจอร์นัลลิซึม หนุน ทักษิณาธิปไตย คุมสื่อเบ็ดเสร็จก้าวสู่เผด็จการเต็มขั้น เน้นข่าวแดกด่วนมากกว่าคุณภาพ พร้อมรุกคืบครอบงำทุกวงการแบบ ครบวงจร ปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ ออกแบบยี่ห้อไทยรักไทย-เมนูประชานิยมครอบงำตลาดการเมือง

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงปาฐกถาในวาระครบรอบมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ในหัวข้อ "Mc Journalism ภายใต้ระบบทักษิณาธิปไตย" โดยแบ่งประเด็นในการปาฐกถา3ส่วนคือ 1.Mc Journalism 2.ระบอบทักษิณาธิปไตย และ 3.Mc Journalism ภายใต้ระบบทักษิณาธิปไตย

ศาสตราจารย์รังสรรค์กล่าวว่า สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็น Mc Journalism หนังสือพิมพ์ไทยกำลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวได้ถูกแปรสภาพเป็นสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพลังทุนนิยม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กลุ่มทุนซึ่งครอบคลุมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ตลอดจน Information technology อื่นๆ รวมทั้งภาพยนตร์ และดนตรี กลายเป็นกลุ่มทุนที่มีบทบาทยิ่งในสังคมประเทศที่พัฒนาแล้ว และในสังคมเศรษฐกิจโลก โดยที่กลุ่มทุนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มทุนทางวัฒนธรรม

การเติบใหญ่ของกระบวนการแปรสภาพข่าวเป็นสินค้า ประกอบกับการเติบใหญ่ของกลุ่มทุนสื่อสารมวลชนมีผลต่อการจัดระเบียบสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศ ในทางระเบียบที่เป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นแนวความคิดนี้มาจาก The McDonaldization of Society ของยอร์จ ริตเซอร์ (George Ritzer) ซึ่งนำมาจากแนวความคิดของ Max Weber ได้บอกว่า กระบวนการ Modernization หรือกระบวนการที่ทำให้ทันสมัย คือ กระบวนการที่ทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล และยอร์จ ริตเซอร์ นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน เขียนในงานหนังสือ The McDonaldization of Society บอกว่าสังคมมนุษย์ถูกครอบงำโดยกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล (Rationalization) และต่อมาได้เรียกชื่อใหม่เป็น McDonaldization

ศาสตราจารย์รังสรรค์กล่าวอีกว่า หากมีการแปลโดยไม่คิดถึง "บาลี" เรียกว่า แม็กโดนัลดานุวัตร กล่าวโดยย่อ คือ หลักการบริหารจัดการ Fast food restaurant กำลังครอบงำสังคมเศรษฐกิจโลก อะไรคือสาระสำคัญของหลักการ Fast food restaurant ซึ่ง ริตเซอร์ ระบุว่า มีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1.หลักประสิทธิภาพ 2.หลักการคำนวณได้ 3.หลักการคาดการณ์ได้ 4. หลักการควบคุม

ถ้าพูดถึงหลักการประสิทธิภาพจะเห็นว่า McDonald มีหลักการบริหารจัดการที่เรียกว่า การบริหารแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เป้าประสงค์ของธุรกิจอยู่ที่การผลิตอาหารอย่างรวดเร็ว ทันความต้องการของผู้บริโภคโดยเสียต้นทุนต่ำที่สุด คำโฆษณาของ McDonald ก็คือ ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภคที่หิวโหยได้รับการสนองตอบจนท้องอิ่ม สื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ไทยให้ความสำคัญกับหลักการประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การบริการจัดการธุรกิจสื่อมวลชนโดยเฉพาะธุรกิจหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปมาก การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจทำให้ธุรกิจสื่อมวลชนไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นประสิทธิภาพ และถูกผลักดันด้วยกลไกการตลาด สื่อมวลชนจึงต้องสนองตอบทำให้มีผลต่อการจัดองค์กรในการผลิต มีผลต่อการหาและการผลิตข่าว การนำเสนอข่าว พลังตลาดทำให้การบริหารจัดการสื่อมวลชน มีลักษณะเป็นธุรกิจมากขึ้น

ระบบการบริหารจัดการหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน แตกต่างจากทศวรรษ 2490 อันเป็นยุคสมัยของคุณอิศรา อมันตกุล โดยสิ้นเชิง การลงขันเพื่อผลิตหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับไม่อาจจะกระทำได้โดยง่ายในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับทศวรรษ 2490 เพราะทุนและเทคโนโลยีกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ด้วยเหตุนั้น หากการกระจุกตัวของทุนในธุรกิจสื่อมวลชนจะมีมากขึ้นในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจของสื่อมวลชน และธุรกิจหนังสือพิมพ์ กลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มทุน และรอคอยการลงทุนของกลุ่มทุน ซึ่งอิศรา อมันตกุล ที่เรียกว่า "ธนบดีชน" ศัพท์นี้อยู่ในเรื่องสั้นชื่อ "X-Y = ?" (เอ็กซ์ ลบ วาย เท่ากับเท่าไหร่) โครงสร้างการเป็นเจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ในทศวรรษ 2490 สังคมไทยมีนายทุนหนังสือพิมพ์ที่มีจิตวิญญาณรับใช้ประโยชน์สาธารณะ ในปัจจุบันกลุ่มทุนสื่อสารมวลชน, มี Animal spirit อย่างชัดเจน

ในปี 2490-2500 ผู้ทรงอำนาจทางการเมือง และพรรคการเมือง ให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองจนเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใดเป็นของพรรคการเมือง หรือผู้ทรงอำนาจคนใด อิศรา อมันตกุล กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์รับเงินอุดหนุนจากพรรคการเมืองในเรื่องสั้นชื่อ แกะดำแห่งชนาธิปไตย (ชนาธิปไตยเป็นชื่อพรรคการเมือง) ในปัจจุบันเราไม่ทราบแน่ชัดว่าหนังสือพิมพ์ฉบับใดรับเงินอุดหนุนจากผู้ทรงอำนาจทางการเมืองคนใด หรือพรรคการเมืองใด แต่เราพอทราบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับใดสนับสนุนรัฐบาล และฉบับใดวิพากษ์รัฐบาล

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวต่อว่า ข่าวแปรสภาพเป็นสินค้า และหนังสือพิมพ์ต้องผลิตสินค้าเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้หนังสือพิมพ์ในปัจจุบันจึงมีลักษณะเป็น Consumer Journalism โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ที่เป็น National Newspaper ซึ่งต้องพึ่งผู้บริโภคในตลาดล่าง จึงไม่น่าประหลาดใจที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ให้ความสำคัญกับข่าวไลฟ์สไตล์ และผู้มีชื่อเสียง ไฮโซ ขณะที่ข่าวนอกกระแสตลาดจะมีพื้นที่ให้น้อย ทำให้เกิดสำนักข่าวทางเลือก เช่น สำนักข่าวประชาธรรม

น่าสังเกตว่า อิศรา อมันตกุล กล่าวถึงข่าวนอกกระแสตั้งแต่ปี 2490 ในเรื่องสั้นที่ชื่อ ข่าวที่บรรณาธิการขว้างทิ้ง เมื่อนักข่าวรายงานข่าวเกี่ยวกับประชาชนในระดับรากหญ้า เด็กผู้หญิงกอดหมาตายกลางห่าระเบิด บรรณาธิการขว้างข่าวชิ้นนั้นทิ้งโดยอ้างว่าไม่มีคนอ่าน ในปี 2540 พื้นที่ของประชาชนในระดับรากหญ้าในหน้าหนังสือพิมพ์มีอยู่ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บางฉบับพยายามรักษาพื้นที่เอาไว้รวมถึงข่าวภูมิภาคด้วย ไม่ต้องพูดถึงการพึ่งพิงข่าวต่างประเทศของ International News Agency โดยไม่ได้ตระหนักว่าสำนักข่าวต่างประเทศเหล่านี้มีอุดมการณ์ทางการเมือง และอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้น พลังตลาดไม่เพียงมีผลต่อการหาข่าวและการผลิตข่าวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการนำเสนอข่าวอีกด้วย พาดหัวข่าวต้องหวือหวาสร้างอารมณ์ดึงดูดความสนใจ ภาพประกอบข่าวที่มีขนาดใหญ่ มีสีสดงดงาม รายงานข่าวต้องสั้นเพราะผู้บริโภคไม่ต้องการอ่านข่าวยาวๆ

พลังตลาดยังมีผลต่อการใช้ภาษาในการรายงานข่าวด้วย รายงานข่าวจะต้องใช้ Simple Sentence และลดทอน Complex Sentence ข่าวหน้าหนึ่งต้องจบภายในหน้า ไม่ต้องอ่านหน้าสอง เช่น USA TODAY ได้ชื่อว่าเป็น Mcpaper ลักษณะในการนำเสนอข่าวที่กล่าวมา คือการเขียนข่าวให้อ่านง่ายมีประโยคสั้นๆ ข่าวไม่ต้องยาว นอกจากนี้จะเห็นได้จากนิตยสาร TIME เราจะเห็นได้ว่า กระบวนการที่สื่อมวลชนกำลังเปลี่ยนเป็น Mc Journalism ไม่ได้เกิดกับหนังสือพิมพ์อย่างเดียว แต่เกิดกับสื่ออื่นๆ รวมทั้งโทรทัศน์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดองค์กร ในการสื่อข่าวการหา และการนำเสนอข่าว

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักการที่ 2 ของ McDonaldization คือ ความสามารถที่จะประเมินเป็นตัวเลขได้ การให้ความสำคัญกับสิ่งที่นับและประเมินเชิงปริมาณได้เป็นหลักการที่สำคัญ ผลของหลักการนี้ คือ ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ McDonald เน้นเรื่อง Big Mac แต่ไม่ได้เน้นความอร่อย เวลาที่ fast food เหล่านี้โฆษณาไม่ได้มีการพูดถึงรสชาติ หนังสือพิมพ์ไทยให้เริ่มความสำคัญกับปริมาณ คือ ยอดพิมพ์จะกลายเป็นดัชนีวัดความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับจำนวนหน้า มีหลายเซกชันมากขึ้น มีโฆษณาหนาเป็นปึกๆ แม้จะไม่ได้มีรายได้เข้ามาชัดเจนก็ตาม

ส่วนหลักการที่ 3 การคาดการณ์หรือทำให้เกิดความคาดหวัง ซึ่ง McDonald พยายามสร้างลักษณะนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคคาดหวังได้ เช่น ร้านแมคโดนัลด์จะมีการตกแต่งเหมือนกันทุกร้าน เพื่อให้ผู้บริโภคคาดหวังได้ว่ารสชาติอาหารจะเป็นเช่นไร พนักงานมีพฤติกรรมอย่างไร เป็นการทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) : ซึ่งถูกควบคุมโดยเทคโนโลยีในสังคมตะวันตก สื่อมวลชนได้มีการเปลี่ยนโฉมจากหนังสือพิมพ์แบบบรอดชีต เป็นแท็บลอยด์ เรียกว่ากระบวนการ Tabloidization ซึ่งมีความชัดเจนในสื่อมวลชนในอังกฤษ และอเมริกา ในอังกฤษ ได้แก่ หนังสือพิมพ์เดอะซัน ส่วนในอเมริกาก็มีวอลล์สตรีทเจอร์นัล กระบวนการนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หลายฉบับมีการพิมพ์ฉบับแทบลอยด์เป็นฉบับแทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์แบบบรอดชีต หนังสือพิมพ์ไทย เช่น หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ สำหรับหนังสือพิมพ์แบบแท็บลอยด์จะทำให้ผู้บริโภคคาดได้ว่า Agenda ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นเรื่องอะไร เช่น เรื่องเกี่ยวกับดารา, กีฬา, สังคม กระบวนการทำข่าวให้เป็นเรื่องเซ็กซ์มีอย่างแพร่หลาย

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวถึงหลักการที่ 4 ของแมคโดนัลด์ว่ามีการควบคุมกำลังพนักงาน และผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยี รูเพิร์ต เมอร์ด็อกใช้เทคโนโลยีในการจัดการกับสหภาพแรงงานได้ แต่หนังสือพิมพ์ไทยในเรื่องนี้ยังไม่มีปรากฏ แต่ Mc Journalism กำลังปรากฏในสังคมไทย สื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กำลังเปลี่ยนจากแรงกดดันของทุนนิยม โชคดีที่ยังไม่เป็น Junk journalism

Mc Journalism ถูกกำกับโดยตลาด การผลิตข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคจะเป็นเป้าหมายหลัก ข่าวไม่ได้ผลิตเพื่อสนองตอบประโยชน์สาธารณะ ความหลากหลายของข่าวมีน้อยลง และโครงสร้างข่าวของหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับมีแนวโน้มที่จะเหมือนกันมากขึ้น การนำเสนอข่าวมีลักษณะป้อนเข้าปาก เพราะตลาดไม่ต้องการข่าวที่เขียนละเอียด ซับซ้อน แต่ต้องการข่าวที่อ่านง่ายในเวลาอันสั้น

อาจารย์ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงระบอบทักษิณาธิปไตย ว่า มีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย ระบอบทักษิณาธิปไตย ก่อเกิดได้อย่างไร 2.ระบอบทักษิณาธิปไตย เติบโตได้อย่างไร 3. มีผลต่อการเมืองไทยอย่างไร และ 4.มีผลต่อสื่อมวลชนอย่างไร

รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตั้งความหวังที่จะพัฒนาระบอบการเมืองการปกครองของไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าเดิม แต่การเมืองการปกครองหลังปี 2540 แทนที่จะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กลับพัฒนาไปสู่ระบอบทักษิณาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการเมืองการปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ

ระบอบทักษิณาธิปไตย ก่อเกิดจากปัจจัยที่ประกอบกัน 3 อย่าง คือ 1.การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี Strong Government (รัฐบาลเข้มแข็ง) และ Strong Prime Minister (นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง) และเพื่อให้ระบบการเมืองการปกครองแปรเปลี่ยนจากระบบพหุพรรค เป็นทวิพรรค 2.ความอ่อนแอของกลุ่มทุนการเมืองเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2540 ที่มีผลในการทำลายกลุ่มทุนทางการเงินและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และ 3.ฐานการเงินอันมั่นคงของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า ระบอบทักษิณาธิปไตยเติบโตจากยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1.การสร้างและขยายฐานการเมือง โดยเริ่มต้นด้วยการสถาปนาพรรคไทยรักไทย ตามมาด้วยกระบวนการ M&A คือ กระบวนการควบและครอบกลุ่มการเมือง และฐานพรรคการเมืองซึ่งเป็นสิ่งจูงใจที่แฝงเร้นอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และในรัฐธรรมนูญยังมีสิ่งจูงใจในการลงโทษพรรคการเมืองขนาดเล็ก เกื้อกูลการเติบโตของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โครงสร้างสิ่งจูงใจเหล่านี้ได้เสริมส่งให้พรรคการเมือง เลือกเส้นทางการเติบโตจากภายนอก มากกว่าเลือกการเติบโตจากภายในการสร้าง และการขยายฐานการเมืองยังอาศัยวิธีการตลาดทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างยี่ห้อทางการเมือง การสร้างทักษิณ และไทยรักไทยเป็นยี่ห้อการเมือง การสร้างทักษิโณมิกส์ให้เป็นยี่ห้อการเมืองและพยายามอาศัยวิธีการตลาดในการทำให้ประชาชนมีความภักดีต่อยี่ห้อ รวมทั้งการหมั่นตรวจสอบคะแนนนิยมของประชาชนด้วยการทำโพล และการประชาสัมพันธ์ทางการเมือง

สำหรับ ข้อ 2.การนำเสนอเมนูนโยบายประชานิยม ซึ่งมีผลในการเพิ่มพูนคะแนนนิยมในทางการเมืองและมีผลในการขยายฐานทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย 3. เกิดจากการเกื้อหนุนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีบทบาท ในการเสริมส่ง การเติบโตของระบบทักษิณาธิปไตย โดยมีส่วนส่งเสริม 3 ส่วนคือ ประการแรก คือ การบังคับให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ประการที่สอง มีอคติเกี่ยวกับขนาดของพรรค รัฐธรรมนูญปี 2540 มีอคติในการเกื้อกูลพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และลงโทษพรรคการเมืองขนาดเล็ก และ ประการสุดท้ายส่งเสริมให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรี เป็น Strong Prime Minister

ข้อ 4.การครอบงำตลาดการเมืองทั้งตลาดพรรคการเมือง และนักการเมือง ครอบงำวุฒิสภา และครอบงำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการครอบงำตลาดนักการเมืองส่วนหนึ่งเกิดจาก รัฐธรรมนูญบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค จึงทำให้ตลาดนักการเมือง เป็นตลาดของผู้ซื้อไม่ใช่ตลาดของผู้ขายหรือไม่ใช่ตลาดของตัวนักการเมืองเอง และการที่พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการสร้างยี่ห้อพรรคไทยรักไทย และสามารถทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ ก็มีส่วนทำให้นักการเมืองมีความต้องการที่จะตบเท้าเข้าพรรคไทยรักไทย ด้วยเหตุนี้ พรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีอำนาจครอบงำตลาดนักการเมือง ส่วนในตลาดพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทยได้อาศัยยุทธวิธีให้การเข้าควบและครอบกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ จนทำให้พรรคการเมืองที่มีชีวิตลดน้อยลง

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จในการครอบงำตลาดนักการเมืองและตลาดพรรคการเมือง และยังรุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่ของวุฒิสภาและพยายามยึดพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้จากการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทักษิณเปิดเสรีให้ผู้สมัครสามารถใช้ยี่ห้อของพรรคไทยรักไทยได้ คนที่ชนะในที่สุดก็เป็นคนของพรรคไทยรักไทยที่แท้จริง

5.การครอบงำองค์กรรัฐธรรมนูญาภิบาล เป็นการรุกคืบเข้าไปครอบงำองค์กรที่กำกับสังคมการเมืองไทย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช., ปปง., สตง., กกต., กทช. และการครอบงำกระบวนการนโยบาย

พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการครอบงำกระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งเดิมผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการครอบงำคือ กลุ่มขุนนางนักวิชาการ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 บทบาทของเทคโนแครตก็เสื่อมสลายลดน้อยลง เทคโนแครตซึ่งมีภาพของความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นภาพของขุนนางข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถถูกทำลายไปโดยวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ภาพของความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกบั่นทอนไปเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และเทคโนแครตเข้าไปหาประโยชน์จากการเก็งกำไรซื้อขายหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 ประชาสังคมไทยเริ่มตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความสามารถในทางวิชาการของเทคโนแครตไทย ความจริงบทบาทของเทคโนแครตไทย ถูกบั่นทอนตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แต่พอมาถึงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เทคโนแครตไม่รู้หายไปไหน"

สำหรับข้อ 6.ระบอบทักษิณาธิปไตย นายรังสรรค์กล่าวว่า มีผลต่อสังคมการเมืองไทยอย่างไร สังคมการเมืองไทยไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยั่งยืน และถาวรได้ หากแต่จะพัฒนาไปสู่ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเสมอไป การเลือกตั้งเป็นเพียงมรรควิถี ของการขึ้นสู่อำนาจระบบประชาธิปไตยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการขึ้นสู่อำนาจเพียงส่วนเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้อำนาจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของราษฎร แต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พวกพ้องและบริวาร รัฐบาลนั้นมิอาจได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

ระบอบทักษิณาธิปไตย เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่ปราศจาก Check & Balance (ตรวจสอบและถ่วงดุล) โอกาสที่จะใช้อำนาจในการฉ้อฉลและฉ้อราษฎร์บังหลวงมีมาก การแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายมีปรากฏทั่วไป การกำหนดนโยบายในทางเกื้อกูลผลประโยชน์ทั้งธุรกิจ และการเมืองของตนเองและพวกพ้องเป็นสามัญกรณี ในฐานะที่เป็น Democratic Oligarchy (การปกครองระบอบคณาธิปไตย) ผู้ทรงอำนาจภายใต้ระบอบนี้จึงไม่ต้องการความเป็นธรรมาภิบาล

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวต่อว่า ระบอบทักษิณาธิปไตยจะมีผลต่อสื่อมวลชนอย่างไร ผู้ทรงอำนาจภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตยไม่ต้องการให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองมีความเห็นต่างจากผู้ปกครอง หากผู้ปกครองชี้นำว่าระบบเศรษฐกิจต้องโต 7 เปอร์เซ็นต์ ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องยอมรับตัวเลข 7 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ที่อยู่ใต้การปกครองมีความเห็นเป็นอย่างอื่นผู้ปกครอง จะหาวิธีการทำให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองหุบปากและจงอย่าได้เอื้อนเอ่ยถึงการหลุดพ้นจากกับดักจีดีพี หรือหากผู้ปกครองชี้นำว่าไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองได้มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าให้สินบนมายืนยันว่าไม่ได้ให้สินบนแต่ประการใด

ระบอบทักษิณาธิปไตย มีวิธีการควบคุมกำกับและตรวจสอบสื่อได้หลายวิธี ประการที่ 1.คือกลุ่มทุนทักษิณาธิปไตย รุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่ในธุรกิจสื่อสารมวลชน 2.กลุ่มทุนทักษิณาธิปไตย ผนึกกำลังไม่ใช้จ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อที่มีความคิดเป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย 3. ผู้ทรงอำนาจในระบอบทักษิณาธิปไตย ควบคุมและกำกับการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการให้เฉพาะแต่สื่อที่เป็นเด็กดี และไม่ให้งบประชาสัมพันธ์กับสื่อที่เกเร 4.กลุ่มทุนสื่อสารมวลชน และนักหนังสือพิมพ์ต้องถูกตรวจสอบการเสียภาษีและการฟอกเงิน 5.ผู้ทรงอำนาจในระบอบทักษิณาธิปไตย ใช้กลไกการประชาสัมพันธ์ของรัฐตอบโต้สื่อที่มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไทยรักไทย 6.การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือ

ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า ในประการสุดท้าย คือ Mc Journalism ภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย หาก Mc Journalism ยังคงขยายตัวภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย สิ่งที่จะเกิดกับสังคมไทยคือจะไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับสาธารณประโยชน์ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ให้เป็น Mc Journalism 2.การขยายตัวของ Mc Journalism จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบอบเผด็จการจากการเลือกตั้งในนามระบอบทักษิณาธิปไตย

"เมื่ออิศรา อมันตกุล เขียนเรื่องสั้นเรื่อง เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี ในทศวรรษ 2490 ท่านให้คำตอบว่าเสียงตะโกนนั้นไร้ความหมาย ภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย เสียงตะโกนถามนายกรัฐมนตรี ยิ่งไร้ความหมายได้จริง เพราะแม้จะได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง" นายรังสรรค์กล่าว

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 12

โพสต์

แบบตัดตอน...

สื่อมวลชน "ของแสลงใจ" ระบอบ "อำนาจนิยม"
คอลัมน์ เดินหน้าชน  โดย นงนุช สิงหเดชะ  
มติชนรายวัน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10056

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์มติชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะมีผู้คนให้ความเมตตาให้กำลังใจและช่วยปกป้องเรามากขนาดนี้

โดยปกติแล้วสื่อมวลชนมักถูกมองว่าเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเห็นได้ชัดว่าประชาชน ผู้อ่านและสังคมต่างหาก ที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นพลังค้ำจุนเราในยามวิกฤต เมื่อเห็นพลังมวลชนที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้แล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองนั้น "ตัวเล็ก" ขนาดไหน ทำให้เรารู้สึกว่าต้อง "ถ่อมตน" ลงอีกด้วยความซาบซึ้งใจในพลังช่วยเหลือนี้

สิ่งนี้เองยิ่งทำให้เราตระหนักว่า เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไม่อาจแยกออกได้ และนี่ยิ่งจะทำให้เราต้องตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม

......

สื่อมวลชนเกิดขึ้นมากว่า 200 ปีแล้วในโลกนี้ ถือเป็นอาชีพเก่าแก่คู่โลก เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะในโลกประชาธิปไตย

โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา กล่าวต่อที่ประชุมของนักหนังสือพิมพ์กว่า 30 ฉบับ เมื่อ ค.ศ.1787 ว่า "ถ้าให้ผมต้องตัดสินใจเลือกสองสิ่ง ระหว่างการมีรัฐบาลโดยปราศจากหนังสือพิมพ์ กับการมีหนังสือพิมพ์โดยปราศจากรัฐบาล ผมไม่ลังเลเลยที่จะเลือกอย่างหลัง(มีหนังสือพิมพ์โดยไม่ต้องมีรัฐบาล)"

โทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดี ที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย ขณะที่บรรดาผู้ก่อตั้งและร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ก็เห็นว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้คนในสังคมผ่านสื่อ มีความสำคัญและจำเป็นต่อประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐจึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อ ทำให้ปัจจุบัน "สื่อสารมวลชน" เป็นอุตสาหกรรมใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ

แล้วทำไมนักการเมืองหลายคนในโลกนี้ รวมทั้ง "นักการเมืองบางคน" ในประเทศนี้ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงอยาก "ควบคุมสื่อ" ไว้ในมือให้ได้ทั้งหมด

ทำไมนักการเมืองบางคนของประเทศนี้จึงไม่พอใจ ในเมื่อเขาได้ควบคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อทรงอานุภาพที่สุดเพราะสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศได้คราวเดียวพร้อมกันทั้ง 63 ล้านคนเอาไว้แล้ว(ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาไม่ค่อยยินดีจะสนับสนุนการปฏิรูปสื่อ โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ หรือ กสช. มาทำหน้าที่แทน ก็เพราะคนไทย 80% บริโภคสื่อทีวีและวิทยุเป็นหลัก)

ทำไมเขาจึงยังรุกคืบหวังฮุบหนังสือพิมพ์อีก

คำตอบก็คือ "นักการเมือง" คนนั้น แม้เขาจะอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เขาไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตย เพราะแม้เขาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่วิธีการปกครองของเขานั้นโน้มเอียงไปทาง "อำนาจนิยม" ดังที่มีผู้พูดผู้วิจารณ์เขาอยู่บ่อยๆ

ดร.ลอเรนซ์ บริทท์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการเมือง ได้รวบรวม 14 ลักษณะ ของผู้ปกครองที่นิยมระบอบ "อำนาจนิยม" เอาไว้ เช่น 1.คลั่งชาติ มักใช้มอตโตหรือสโลแกนเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองรักชาติ(คนอื่นไม่รักเท่าตัวเอง) 2.รังเกียจเรื่องสิทธิมนุษยชน 3.ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณด้านทหารมากกว่าปัญหาปากท้องประชาชน 4.หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องความมั่นคงของประเทศ

5.ปกป้องผลประโยชน์ภาคธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจนี้เองที่เป็นกำลังหนุนส่งให้เขาได้ขึ้นปกครองประเทศ 6.รังเกียจปัญญาชนและศิลปะ 7.กดขี่แรงงาน 8.เล่นพรรคเล่นพวกและเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์พวกพ้อง(ดังนั้นเขาจึงเห็นสื่อเป็นศัตรูว่าจะมาแฉเขา) 8.โกงเลือกตั้ง และสุดท้าย "ควบคุมสื่อ"

ลองนึกว่าลักษณะเช่นนี้เข้ากับผู้นำประเทศไหน!!
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 13

โพสต์

องค์กรสื่อสากล" ชี้วิกฤติสื่อไทย คุกคามเสรีภาพ-หลุดอันดับ 100
เกาะกระแสฯ : กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2548

การที่นายกรัฐมนตรีไทยฟ้องสื่อ รวมถึงมีญาติฟ้องสื่อ ถือเป็นการบั่นทอนการทำหน้าที่ของสื่อชัดเจน ทำให้สื่อเกิดความกลัวในการนำเสนอข่าว

หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหาการเข้าซื้อหุ้น "มติชน-บางกอกโพสต์" รวมทั้งการดำเนินคดีฟ้องร้องสื่อชนิดที่เรียกค่าเสียหายเกินกว่าควรจะเป็น จนเกิดวิกฤติว่ากำลังมีความพยายามที่จะแทรกแซง และคุกคามสื่อด้วยวิธีการหลายรูปแบบเพื่อปิดกั้นการทำหน้าที่

โดยวานนี้ (12 ต.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เครือข่ายสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน และสหพันธ์สื่อสากล (ไอเอฟเจ) ร่วมกันเสวนาถึงสถานการณ์ และได้ออกแถลงการณ์เรื่อง สถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชนไทยในยุคทักษิณ 2 แนวโน้มแห่งความถดถอย

นายวินเซนต์ บรอสเซล ตัวแทนองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าทางองค์กรจะประกาศจัดอันดับสื่อในโลก คาดว่าประเทศไทยจะถูกจัดอันดับลดลง จากที่ปีก่อนมีอันดับ 80 ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซีย แต่ปี 2548 น่าจะอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าอันดับ 100 หรืออันดับลดลงประมาณ 20 อันดับ

ทั้งนี้ ในอดีตไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสรีภาพของสื่อ เพราะนักข่าวในประเทศเพื่อนบ้านต่างมาใช้ประเทศไทยในการทำหน้าที่สื่อสารเสรีภาพ และเดิมสื่อต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวของไทย แต่ขณะนี้ต้องมาสนใจเรื่องเสรีภาพสื่อในไทย หลังจากมีการฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส.และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เพราะมีคำถามว่าสื่อไทยกำลังถดถอยหรือไม่

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมคดีหมิ่นประมาทในไทยจึงเป็นคดีอาญา เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ที่ประเทศอื่นไม่มีการฟ้องลักษณะนี้ การที่นายกฯไทยฟ้องสื่อ รวมถึงมีญาติฟ้องสื่อ ถือเป็นความเลวร้ายของสื่อ แต่ที่น่าแปลกคือ กรณีฟ้องรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ฟ้องตัวพิธีกร ไม่ฟ้องช่อง 9 กรณีนสพ.ผู้จัดการฟ้องหนังสือพิมพ์แต่ไม่ฟ้องพระที่เป็นคนพูด แต่กรณีน.ส.สุภิญญาฟ้องทั้งคนพูดและคนส่งสาร ถือเป็นการบั่นทอนการทำหน้าที่ของสื่อชัดเจน ทำให้สื่อเกิดความกลัวในการนำเสนอข่าว นายบรอสเซล ระบุ

นอกจากนี้ ตัวแทนองค์กรสื่อไร้พรมแดน ตั้งข้อสังเกตุว่า ก่อนนี้เชื่อว่าไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เมื่อหลายเดือนมานี้กลับเห็นว่ามีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่ว่าการปิดวิทยุชุมชน บล็อกเวบไซต์ ใช้ตัวแทนซื้อสื่อ รวมถึงการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในภาคใต้ คุมการนำเสนอข่าวของสื่อ ทำให้รู้สึกวิตกกังวลว่าเสรีภาพของสื่อไทยกำลังลดลง

การมาแถลงข่าวที่เมืองไทยครั้งแรกและหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ต้องมาพูดเรื่องสถานการณ์สื่อในไทยอีก หวังว่าเสรีภาพสื่อไทยจะดีขึ้น มีการยกเลิกการใช้อำนาจในทางที่ผิด เลิกฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา

นายบรอสเซล กล่าวถึงเหตุผลที่ระบุว่าไม่ควรฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดเห็นของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวไว้เมื่อปี 2544 ว่าการหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นเหตุผลในการฟ้องเป็นคดีอาญาและการฟ้องลักษณะนี้ควรเลิก เว้นแต่ทำได้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะผลักดันให้นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รองนายกฯ ได้เป็นเลขาธิการสหประชาชาติก็ควรทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ให้สื่อมีเสรีภาพมากขึ้นเพื่อให้นานาประเทศสนับสนุน

ขณะที่นายโรบี้ อะลัมพาย ตัวแทนซีป้า กล่าวว่า ซีป้าไม่อยากเห็นไทยถอยหลังเรื่องเสรีภาพสื่อ เพราะจะทำให้เสรีภาพสื่อในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหา กรณีคดีฟ้องน.ส.สุภิญญาและไทยโพสต์จะเป็นกรณีตัวอย่างว่าศาลได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ แต่การมองเรื่องหมิ่นประมาทนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะมองในมุมกว้างหรือมุมแคบ เพราะแต่ละประเทศมองต่างกัน บางประเทศวิจารณ์บุคคลสาธารณะได้ในทุกกรณี บางประเทศก็วิจารณ์ได้เฉพาะเรื่องบริหารงาน หากบริษัทชินฯแพ้คดีก็จะทำให้เห็นว่าการวิจารณ์รัฐบาลในไทยเป็นสิ่งที่ทำได้

เขามองว่า การฟ้องสื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนกรณีลีกวนยูฟ้องสื่อ ซึ่งกฎหมายสิงคโปร์นั้นจะพิสูจน์การหมิ่นประมาทได้ง่ายหรือเตรียมติดคุกได้เลย แต่ในฟิลิปปินส์แม้แต่ประธานาธิบดีอาคีโนฟ้องสื่อ สื่อยังชนะคดี ดังนั้นกรณีเกิดเหตุการณ์การคุกคามสื่อไม่ว่ากรณีมติชน เครือโพสต์ หรือที่อื่นๆจึงเป็นที่สนใจขององค์กรสื่อระหว่างประเทศมาก

เราสงสัยว่าทำไมกล่าวหาว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงวิจารณ์ไม่ได้ ทั้งที่การวิจารณ์บุคคลสาธารณะน่าจะทำได้ โรบี้ ระบุ

น.ส.ลอร่า ฮุค ตัวแทนไอเอฟเจ กล่าวว่าสื่อไทยมีความเป็นมืออาชีพและหลากหลาย รู้สึกประทับใจที่สื่อไทยมีการรวมตัวกันต่อสู้ได้ดี เช่น กรณีมติชนและเครือบางกอกโพสต์ หากสื่อไทยรวมตัวกันเองและร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศจะเป็นทางออกได้

เธอระบุว่า สิ่งที่สื่อไทยกำลังเผชิญไม่ได้เกิดเฉพาะที่เมืองไทยแต่เกิดในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เช่น มีเจ้าของสื่อคนเดียวเป็นเจ้าของหลายแขนง หรือสื่อทั่วโลกตกอยู่ในมือเจ้าของไม่กี่คน ถือว่าต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ ที่กฎเกณฑ์เปลี่ยนตลอด สื่อจึงต้องติดตามความคิดใหม่ๆ ขอสนับสนุนหากสื่อไทยจะต่อสู้เพื่อให้มีสหภาพนักข่าว

ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า การที่นายกฯฟ้องสื่อด้วยตัวเอง เป็นนัยสำคัญเพราะถือเป็นบุคคลสาธารณะ การอ้างว่าเพื่อป้องสิทธินั้นจริงๆ เป็นเพราะหมดความอดทนเพราะอยู่ในช่วงขาลงมากกว่า แต่กังวลว่าข้อมูลจะออกไปสู่ประชาชนมากขึ้นและในที่สุดจะกระทบต่ออำนาจตัวเอง

ดังนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้สื่อต้องต่อสู้กับอำนาจทางการเมือง ถือเป็นการเดิมพันระยะยาวว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะไปทิศทางไหน เพราะหนังสือพิมพ์เป็นด่านสุดท้ายที่คานอำนาจรัฐบาลได้
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 14

โพสต์

บทบาทสื่อมวลชน ภายใต้สงครามข้อมูลข่าวสาร

โดย คมสรรค์ เมธีกุล
สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


คําสั่งปลดนายบุญยอด สุขถิ่นไทย จากการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่ามีสาเหตุจากการทำงานหน้าที่สื่ออย่างตรงไปตรงมาภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านนายกรัฐมนตรีทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับนั้น มีนัยยะสำคัญยิ่งต่อสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองไว้

เพราะหากสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวและแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 ถูกละเมิดได้มากเพียงใด กระบวนการแทรกแซงและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารก็ย่อมเกิดขึ้นได้มากเพียงนั้น

ผลที่ตามมาคือ ประชาชนยากที่จะแยกแยะได้ว่าข่าวสารที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ มีการบิดเบือนหรือปนความเท็จอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารสาธารณะของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การชุมนุมโดยสงบของฝ่ายต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวและภาพไปทั่วโลกว่ามีจำนวนหลายหมื่น กลับถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนไทยบางแห่งมีคนเข้าร่วมเพียงเรือนหมื่นต้นๆ

ซ้ำยังเป็นการรายงานข่าวที่มีลักษณะกะปริดกะปรอยอย่างเสียไม่ได้ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงถือเป็นชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 เป็นต้นมา

ในทางกลับกัน ภาพและข่าวประชาชนจำนวนหนึ่งเข้ามอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจแก่นายกรัฐมนตรีได้ถูกเผยแพร่ทางสื่อของรัฐทุกแขนงอย่างคึกคักและพร้อมเพรียงกันราวกับมิได้นัดหมาย

มิติของการต่อสู้ด้านข้อมูลข่าวสารยังปรากฏในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น การคุกคามเสรีภาพของสื่ออินเตอร์เน็ตหรือสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือวิทยุชุมชนบางรายที่เสนอข่าวการต่อต้านนายกรัฐมนตรี หรือข่าวม็อบชนม็อบที่ชวนสงสัยว่ามีใครฝ่ายไหนยืนทะมึนอยู่เบื้องหลังหรือไม่

หรือการแถลงข่าวห้ามมิให้ใช้พื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นที่ชุมนุม ด้วยเหตุผลที่เคลือบคลุม หรือการให้สัมภาษณ์ตำหนิการรายงานข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เผยแพร่ข่าวด้านลบของนายกรัฐมนตรี รวมถึงการให้หน่วยงานรัฐหลายแห่งออกมาแถลงข่าวชี้แจงรับรองความสุจริตในด้านต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีและครอบครัว ท่ามกลางความเห็นแย้งของนักวิชาการอิสระ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าขณะนี้ความขัดแย้งทางการเมืองได้บรรลุสู่ภาวะสงครามข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มรูปแบบ โดยแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายใช้ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตนโฆษณาช่วงชิงมวลชนให้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันในชัยชนะและความชอบธรรมทางการเมือง

หากการเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นไปโดยสุจริตก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะประชาชนจะเป็นผู้ประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดแล้วตัดสินใจเองว่าจะเลือกเชื่อไปในทางใด อันเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่พึงจะเป็นตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังเช่นที่เคยบังเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่หากข้อมูลข่าวสารที่ถูกเสนอต่อสาธารณะไม่ว่าจากฝ่ายใดเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนโดยมีการปกปิดความจริงหรือแต่งเติมเพิ่มความเท็จเพื่อหวังผลในการครอบงำให้ประชาชนหลงเชื่ออย่างผิดๆ ก็อาจนำไปสู่วิกฤตความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้ ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อครั้ง 6 ตุลาคม 2519

สงครามข้อมูลข่าวสารจึงน่ากลัวกว่าที่หลายคนคิด เพราะไม่เพียงแต่มีการใช้อำนาจที่เหนือกว่าเข้าบดขยี้สื่อมวลชนที่ไม่ยอมสยบเป็นรายบุคคลเท่านั้น ยังมีการปิดหูปิดตาและปิดปากประชาชนด้วยการพยายามสั่งปิดหรือใช้กฎเหล็กกับสื่อมวลชนบางแห่ง และมีการเข้าครอบงำสื่อเพื่อกำหนดวาระและเนื้อหาข่าวให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน

ซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคข่าวสารตกอยู่ในภาวะสับสนแตกแยกและอาจตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ดังนั้น ก่อนที่สงครามข้อมูลข่าวสารจะบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างประชาชนด้วยกันเอง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวังปัญหาเรื่องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารสาธารณะอย่างใกล้ชิด และสิ่งที่ทำได้โดยไม่ยากก็คือ จะต้องไม่ทำตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง

เช่น ต้องละเว้นการเข้าไปแทรกแซงหรือครอบงำสื่อมวลชน หรือต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา หรือต้องไม่สนับสนุนให้มีการจัดทำและเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

รัฐบาลพึงตระหนักว่า การสนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง จะส่งผลให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะอย่างถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองที่มีคุณภาพของปวงชนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งย่อมหมายถึงความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติในท้ายที่สุด

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนก็ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างเป็นรูปธรรมในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ อย่างน้อยในสภาวะที่สื่อมวลชนถูกแทรกแซงและครอบงำอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นโดยลำดับ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนก็ควรทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่

และสำหรับปรากฏการณ์ที่มีสื่อมวลชนบางคนหรือบางสำนักออกอาการยอมรับการถูกครอบงำหรือแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนก็ควรพิจารณากำหนดมาตรการรณรงค์ให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมาด้วย อย่าปล่อยให้อำนาจทุนหรืออำนาจอิทธิพลใดรุกคืบเข้ามากลืนกินสถาบันสื่อมวลชนโดยง่าย

ทั้งนี้เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าเจตนารมณ์ของสื่อมวลชนซึ่งประกาศในคำปรารภของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 ความว่า "สภาการหนังสือพิมพ์เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ควบคุมกันเองเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อการรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 15

โพสต์

เปิดใจ บุญยอด สุขถิ่นไทย "ทำสื่อวันนี้ไม่ต่างจากยุค รสช."

15 กุมภาพันธ์ 2549 12:38 น.

รูปภาพ

"..อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมา17 ปี การทำงานในช่วงนี้ โดยเฉพาะข่าวการเมือง มีสภาพไม่แตกต่างจากช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แม้วันนี้เราจะมีรัฐธรรมนูญมาตรา40 แต่เราก็ยังต้องทำงานอย่างกล้ำกลืน ไม่เคยได้เสรีภาพที่แท้จริงเลย"

*ปกรณ์ พึ่งเนตร : สัมภาษณ์

การคุกคามเสรีภาพสื่อ เป็นปัญหาที่พูดกันมาเนิ่นนาน และหนาหูยิ่งขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนรับรองเสรีภาพของสื่อสารมวลชนไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 40

และยิ่งรัฐบาลกำลังเผชิญสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานดังเช่นปัจจุบัน ดูเหมือนปัญหาดังกล่าวจะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นไปอีก

โดยเหยื่อรายล่าสุดคือ บุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้ดำเนินรายการ"ข่าววันใหม่" ไทยทีวีสีช่อง 3

บุญยอด เล่าให้ฟังว่า รายการ "ข่าววันใหม่" ออกอากาศทุกวัน เวลา 00.40-01.40 น. เป็นรายการเชิงวิเคราะห์ข่าว เอาข่าวมาพูดคุยกัน ไม่ใช่นั่งอ่านข่าวธรรมดา โดยตัวเขารับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินรายการ 4 วันใน 1 สัปดาห์ เริ่มงานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 กระทั่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เขาถูกปลดออกจากรายการโดยไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ

"เมื่อวันที่ 9 กุมภาฯ ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้ประสานงานรายการว่า ผู้ใหญ่ขอให้มาดำเนินรายการในคืนวันพฤหัสบดีเป็นคืนสุดท้าย จากนั้นตั้งแต่วันศุกร์ไม่ต้องมาแล้ว เหตุผลก็คือต้องการปรับปรุงรายการ" บุญยอด เล่า และว่า

"..เมื่อได้ฟังเหตุผล ผมจึงถามผู้ประสานงานรายการไปว่า ผมถูกปรับออกคนเดียวใช่หรือไม่ เพราะมีผู้จัดถึง 4 คน และช่วยถามให้หน่อยว่าทำไมต้องหยุดจัดในวันที่ 10 กุมภาฯ ทำไมไม่เป็นวันที่ 15 หรือ 1 มีนาฯไปเลย ผู้ประสานงานหายไป 15 นาที ก็กลับมาตอบผมว่า จะแจ้งเหตุผลให้ฟังอีกครั้งหนึ่งทางจดหมาย แต่กระทั่งถึงวันนี้ยังไม่มีจดหมายเลยแม้แต่ฉบับเดียว"

บุญยอด ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เขาถูกปลดจากรายการ น่าจะมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเขาไม่เคยมีความขัดแย้งกับทีมงานหรือผู้บริหารของช่อง 3 มาก่อนเลย

"แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับผมคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า มีคนในทำเนียบรัฐบาลถามมาทางช่อง3 ว่า ได้เปิดไฟเขียวให้นักจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยหรือ จากนั้นทางช่อง3 ก็มีการประชุมกัน ผู้บริหารบอกว่า ไม่อยากให้ภาพออกมาในลักษณะช่อง3 ไม่เอื้อรัฐบาล และขอให้ระมัดระวังการรายงานข่าวม็อบวันที่ 11 กุมภาพันธ์ด้วย"

บุญยอด ยังมั่นใจด้วยว่า การปลดเขาออกจากรายการในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องความผิดพลาดจากการทำงาน เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยถูกทางสถานีตักเตือนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะเขาทำงานอยู่ที่ช่องนิวส์วัน ในเครือผู้จัดการ

"ผมทำงานอยู่ที่นิวส์วัน ซึ่งออกอากาศทางเอเอสทีวีของผู้จัดการมา2 ปีกว่าแล้ว ก่อนหน้าที่จะไปทำช่อง3 ด้วยซ้ำ และเมื่อวันที่ 4 กุมภาฯ ก็ไปจัดรายการที่สถานีตามปกติ ตกเย็นก็ไปที่ม็อบ เพื่อทำหน้าที่นักข่าวคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าการไปม็อบในวันนั้น น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญในการปลดผม"

ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่อยากทราบความจริงก็คือ คนในทำเนียบรัฐบาลพูดอย่างที่แหล่งข่าวของเขาบอกมาจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาล น่าจะเป็นคนตอบได้ดีที่สุด นอกจากนั้นควรชี้แจงด้วยว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อจะเป็นเช่นไร

"ล่าสุด ผมได้ทำหนังสือไปที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแล้ว ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ และช่วยปกป้องการครอบงำทางการเมืองที่มีต่อสื่อสารมวลชนด้วย"

บุญยอด ยังเผยความรู้สึกว่า อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมา 17 ปี การทำงานในช่วงนี้ โดยเฉพาะข่าวการเมือง ยังมีสภาพไม่แตกต่างจากช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แม้วันนี้เราจะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 40 แล้ว แต่เราก็ยังต้องทำงานอย่างกล้ำกลืน และไม่เคยได้เสรีภาพที่แท้จริงเลย

"บรรยากาศไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการ รสช."

เขาสรุป พร้อมกล่าวด้วยว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาของวิชาชีพ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันสร้างให้วิชาชีพสื่อสารมวลชนมีความแข็งแกร่ง เพื่อปิดช่องไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเราได้อีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 16

โพสต์

การพัฒนาข่าวโทรทัศน์ บทเรียนจากกรณีสมัคร สุนทรเวช

โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา 16 กุมภาพันธ์ 2549 18:03 น.

กรณีคุณสมัคร สุนทรเวชใช้รายการโทรทัศน์ของตนที่ช่อง 5 "เช้าวันนี้ที่เมืองไทย" พูดจาจาบจ้วงต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เกี่ยวกับปาฐกถาของท่านว่าด้วยแนวพระราชดำริด้านการปกครอง จนกระทั่งเขาและคู่หูคือคุณดุสิต ศิริวรรณ ถูกตอบโต้อย่างกว้างขวางจากหลายๆ ฝ่าย จนต้องตัดสินใจอำลาจากการจัดรายการที่ช่อง 5 รวมทั้งรายการวิทยุในสื่อเครือเดียวกัน และรายการโทรทัศน์ที่ช่อง 9 ด้วย ทั้งนี้ ข่าวล่าสุดยังระบุว่าจะไม่มีการขอขมา ทั้งๆ ที่มีแรงกดดันไม่ใช่น้อยๆ นั้น
     
       นอกจากจะเป็นอีกอาการหนึ่งของความเร่าร้อนของการเมืองยุคทักษิณ ชินวัตรที่ชักจะลามปามไปมากขึ้นทุกทีแล้ว นี่ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงวิกฤตการณ์ของรายการประเภทข่าวๆ ในโทรทัศน์ไทยด้วย

รูปภาพ

ก่อนหน้านี้ คอลัมน์นี้ได้กล่าวถึงข่าวโทรทัศน์มาหลายครั้ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายการของคุณสมัคร สุนทรเวชและคุณดุสิต ศิริวรรณนั้น บทความชื่อ ที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์" ข้อความบางส่วนกล่าวไว้ดังนี้ :
     
       "ข้อสังเกตก็คือทิศทางของรายการพวกนี้ การสนทนาเกี่ยวกับข่าวที่เชิญบุคคลภายนอกไปทำ มักจะเป็นไปตามพื้นเพของผู้ทำรายการ เช่น ถ้าเป็นคุณสมัคร สุนทรเวชกับคุณดุสิต ศิริวรรณ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาให้ความสำคัญกับการเข้าข้างกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้ว อีกทั้งยังตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่มีอุดมการณ์ ความคิดเห็น และผลประโยชน์ไม่เหมือนกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้วอย่างเป็นตุเป็นตะ ทั้งนี้ โดยการทำรายการมีลักษณะเป็นการใช้วาทศิลป์สั้นๆ ประเภท "กระบี่ประโยคเดียว" เพื่อยกย่องคนที่ตนชอบ หรือเสียดสีคนที่ตนไม่ชอบแบบง่ายๆ ไม่ปะติดปะต่อ และบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่แสดงอารมณ์ โดยไม่ค่อยมีการนำเสนอเหตุผลและข้อมูลที่เป็นกลางประกอบเท่าที่ควร
     
       กล่าวได้ว่า นี่คือรายการ "ความคิดเห็น" ล้วนๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการทำรายการแบบวิพากษ์วิจารณ์ข่าวทางวิทยุที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนที่มักจะเน้นข่าวชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกัน ทว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีขอบเขตการแพร่กระจายกว้างขวางทั่วประเทศ การนำวัฒนธรรมการพูดแบบผ่านๆ ที่เป็นความคิดเห็นล้วนๆ และค่อนข้างด้านเดียวมาเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองระดับสูง ทั้งระดับชาติและระหว่างชาตินั้น ดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย
     
       นักศึกษาในโครงการบัณฑิตศึกษาต่างๆ น่าจะนำรายการอย่างนี้ไปวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์โดยละเอียดว่า รายการเช่นนี้ผลิตเนื้อหาอะไรและด้วยวิธีการอย่างไร จะส่งผลกระทบอะไรอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งป้อมเป็นนักสรรเสริญ หรือแม้กระทั่งเป็นนักขอโทษแทนรัฐบาลตลอดเวลานั้น ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างเป็นกลางและรอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับสาร เพราะสื่อที่ดีในสังคมเปิดใดๆ คงไม่ใช่โฆษกของรัฐบาลที่หาความเพลิดเพลินจากการยกย่องหรือด่าทอใครๆ เป็นกิจวัตร วันละหลายเวลาเช่นนี้"
     
       ด้วยเหตุนี้ การที่รายการต่างๆ ของบุคคลทั้งสองหายไปจากโทรทัศน์และวิทยุจึงไม่ส่งผลอะไรกับเรื่องราวของข่าวเลย มิหนำซ้ำ ถือเป็นความก้าวหน้าด้วย เพราะพื้นที่นั้นๆ จะได้ถูกนำไปใช้อย่างอื่น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
     
       ข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งในกรณีที่คุณสมัครจาบจ้วงพลเอกเปรม ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ในทางปกป้องคุณสมัครโดยคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ หรือข้อเขียนของคุณโสภณ สุภาพงษ์เกี่ยวกับเรื่องราวอันสัมพันธ์กันนั้น ดูจะส่อไปในทิศทางที่ว่า รายการของคุณสมัครและคุณดุสิตนั้นได้รับการสนับสนุนจากบุคคลระดับสูงในรัฐบาลทั้งสิ้น
     
       เนื่องจากความล้าหลังของรายการที่จัดโดยบุคคลทั้งสองจนกระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไดโนเสาร์แห่งวงการ ประกอบกับสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองนี่เอง ทำให้นักสังเกตการณ์ที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลจำนวนมากรู้สึกเสียดายที่รายการของคนเหล่านี้จะขาดหายไปจากตลาด เพราะรายการพวกนี้มีพลังแอบแฝงที่สร้างศัตรูให้กับรัฐบาลได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว
     
       พูดง่ายๆ ใครๆ เขาก็พูดกันว่า รายการในสื่อของคุณสมัครกับคุณดุสิตนี่มีฐานะเป็นฝ่ายการตลาดของปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลเลยทีเดียว
     
       เรื่องราวจากความขัดแย้งในกรณีการจาบจ้วงท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งอย่างชัดเจนว่า รายการข่าวของโทรทัศน์ถูกแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยความร่วมมือของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ ทั้งนี้ คงจะเป็นอะไรที่มีการวางระบบเอาไว้อย่างเป็นขั้นตอน นับตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานข่าว การคัดเลือกบุคคลที่มาทำงานข่าว และกลยุทธ์ในการทำงานเป็นช่วงๆ หรือแม้กระทั่งข่าววันต่อวัน
     
       ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความประสงค์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลในระดับนโยบายของสถานีโทรทัศน์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐไปบางลักษณะนั้น ก็มักจะยึดนโยบายปลอดภัยเอาไว้ก่อน นั่นก็คือ ไม่แตะต้องอะไรที่ไม่แน่ใจอยู่แล้ว
     
       ลงท้าย ในแง่ของข่าวโทรทัศน์จึงกลายเป็นพลังอนุรักษนิยมไปโดยปริยาย นั่นก็คือ การพยายามทำให้คนดูยอมรับสภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างไม่ตั้งคำถาม ทว่าเป้าหมายที่ว่านี้จะได้ผลหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าระดับทางความคิดของรายการข่าวโทรทัศน์กับของคนดูนั้นถี่ห่างจากกันอย่างไรบ้างนั่นเอง
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 17

โพสต์

หากข้อสรุปเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับรายการข่าวโทรทัศน์ดังที่กล่าวข้างต้นใกล้เคียงกับความเป็นจริง ก็หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์นั้นก็คือส่วนหนึ่งของระบบงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ทั้งในแง่ของการชักชวนให้รับรู้เฉพาะแต่เรื่องราวบางประเภทจากบางมุมมอง ตลอดทั้งการขัดขวางไม่ให้ได้รับรู้เรื่องราวบางประเภทจากบางมุมมองด้วย
     
       ด้วยเหตุผลในทำนองนี้เองละกระมังที่ทำให้คุณสมัครและคุณดุสิต ซึ่งมีประวัติทางการเมืองที่ค่อนข้างพิเศษ นั่นก็คือ ชอบเกาะเกี่ยวกับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายเหยี่ยว ทั้งนี้ โดยไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเมืองภาคประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตย จึงได้รับการเชื้อเชิญเข้าไปทำรายการโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ อย่างมากมาย
     
       ทั้งนี้ แต่ละรายการก็เหมือนๆ กันไปหมด นั่นก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยมุมมองของผู้มีอำนาจล้วนๆ แบบสบายๆ ง่ายๆ ผ่านๆ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีการทำงานอย่างจริงจังเพื่อการเตรียมตัวอะไรมาก่อนเลย เพราะรายการพวกนี้มีลักษณะแบบอยากพูดอะไรก็พุดไปเรื่อยๆ อยากจบเมื่อไรก็จบเอาดื้อๆ และไม่มีการนำเสนออะไรใหม่ๆ นอกจากการตอดนิดตอดหน่อย หรือไม่ก็ถึงขนาดด่าทอด้วยคำพูดที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น เป็นต้น
     
       ไม่มีอะไรจากรายการแบบนี้ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานการทำการบ้านด้านข่าวอย่างจริงจัง หรือจากการค้นคว้าด้วยหลักวิชาการอะไรทั้งสิ้น เพื่อความเป็นธรรม รายการสนทนาข่าวที่คล้ายๆ กันกับรายการของคุณสมัครกับคุณดุสิตนั้นก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าไรนัก ความแตกต่างที่พอจะมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของการเล่นกลเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งเป็นคราว ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้รายการนั้นๆ ดูดีขึ้นมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ มากกว่า
     
       ความที่รายการประเภทข่าวคำนึงถึงข้อพิจารณาของฝ่ายการเมืองมากเกินไป การพัฒนาสายงานข่าวของโทรทัศน์จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ ผลกำไรต่อปีมากมายของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งจำนวนนับได้เป็นพันๆ ล้านคงไปไม่ค่อยถึงสายงานข่าวเท่าไรนัก
     
       ลงท้าย สายงานข่าวในโทรทัศน์จึงพิกลพิการ ไม่ค่อยมีนักข่าวที่เอาจริงเอาจังอยากไปร่วมงานด้วย ส่วนนักข่าวที่ทำงานในโทรทัศน์โดยตรงมาโดยตลอด ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานข่าวให้สมศักดิ์ศรีนัก ใครมีข้อเสนออะไรใหม่ๆ ก็คงตกไปหมด ไม่ด้วยผลทางการเมือง ก็ด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป สู้การลอกข่าวจากหนังสือพิมพ์ไม่ได้
     
       บ่อยๆ รายการประเภทข่าวของโทรทัศน์จึงเป็นอะไรที่ทำๆ กันไปอย่างเสียไม่ได้ ทำๆ กันไปพอเป็นพิธีเพราะกลัวจะเสียหน้าว่าตนเองไม่มีอะไรขาย นอกจากละครน้ำเน่ามากน้อยบ้าง หรือรายการอื่นๆ ที่น้ำเน่าไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น ข่าวซุบซิบพวกดาราว่าใครไปนอนกับใครมาบ้าง ผลลัพธ์เป็นอย่างไร หรือรายการกีฬานำเข้าหรือรายการการสนทนาเรื่องบ้าๆ บอๆ ที่ไปคัดเลือกเรื่องราวมาจากข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ชาวบ้านๆ เท่านั้น
     
       ทำไปทำมา รายการประเภทข่าวต่างๆ ในโทรทัศน์ก็เลยต้องไปเชื้อเชิญให้คนนอกมาทำ โดยไม่สนใจกับการสร้างบุคลากรของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ข่าวของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งมีบุคลิกประจำตัว ไม่มีใครเหมือน เป็นการแสดงความเคารพงานข่าวมากขึ้น
     
       ความเชื่อลึกๆ ที่ว่าสถานีแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาสายงานข่าวของตนเองให้เต็มที่จึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้ว ข่าวเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตมากกว่าที่สื่อต่างๆ ได้ค้นพบแล้วเท่านั้น หากสื่อแต่ละแห่งมีความพร้อมทั้งในแง่วิสัยทัศน์ ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และงบประมาณ การทำงานข่าวยังสามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด
     
       สิ่งที่เรียกว่าข่าวดังที่ปรากฏขึ้นในแต่ละวันในสื่อทั้งหมดของเมืองไทยนั้น จริงๆ แล้วยังเป็นเพียงอะไรที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดๆ อันเป็นกระผีกเดียวของโลกของข่าวเท่านั้น ยังไม่ใช่อะไรทั้งหมด หรือแม้กระทั่งไม่ใช่อะไรอย่างที่พึงเกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยซ้ำ
     
       หากเราเชื่อว่าการรับรู้ข่าวที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ คืออะไรที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาคนและสังคมของเรามากขึ้น การลงทุนกับงานข่าวจะต้องมีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อที่มีความมั่งคั่งทางการเงินที่สุดอย่างโทรทัศน์
     
       การสักแต่คิดว่าการไปจ้างนักข่าวจากภายนอกมาทำงานเป็นครั้งเป็นคราวไป หรือการหยิบข่าวมาจากหนังสือพิมพ์จากการลงทุนเพียงวันละร้อยสองร้อยบาท จึงเป็นความมักง่ายที่ให้อภัยไม่ได้ เพราะนี่เท่ากับว่าโทรทัศน์ไม่ยอมลงทุนทำงานข่าวของตนเองอย่างเพียงพอ ศักดิ์ศรีในฐานะของการเป็นสื่อมวลชนจึงถือได้ว่าไม่มี
     
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาขายเป็นสินค้าโดยตรงด้วยการ "ตกแต่ง" ให้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เป็นการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ ใดๆ เลยอย่างที่ทำๆ กันอยู่ทุกๆ วันนั้น คงถือได้ว่าเป็นอะไรที่แย่ที่สุดเท่าที่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว
     
       หากจะพูดกันอย่างถึงที่สุดแล้ว การพัฒนางานโทรทัศน์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานข่าวที่อ่อนไหวกับการถูกแทรกแซงทางการเมืองมากที่สุด คงจะขึ้นอยู่กับการจัดวางระบบอุตสาหกรรมทั้งหมดเสียใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นอิสระจากการเมืองมากขึ้น ให้มีความสำนึกในความเป็นเลิศในวิชาชีพมากขึ้น ให้มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ให้มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมโดยส่วนรวมมากขึ้น และให้มีความตระหนักต่อความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ มากมายในระดับโลกมากขึ้น คงจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูประบบทั้งหมดอย่างจริงจังขึ้น ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
     
       ทว่าในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ข่าวโทรทัศน์ของเมืองไทยก็ไม่น่าจะอยู่ในสภาพสมยอมกับรัฐบาลง่ายๆ แบบคนสิ้นคิด การริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์นั้นคงยังพอทำได้อยู่บ้าง อย่าให้ถึงกับสิ้นหวังไปเสียทั้งหมดจนกระทั่งรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็แล้วกัน
     
       ฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะเลิกแทรกแซงงานข่าวของโทรทัศน์เสียที เพราะกรณีของคุณสมัครกับคุณดุสิตนั้นเป็นบทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบีบบังคับให้ผู้บริโภคข่าวสมัยใหม่ที่ฉลาดขึ้นมากและมี "ทางเลือก" มากมายให้อดทนกับความล้าหลังต่างๆ เพราะผลลัพธ์สุดท้ายย่อมเป็นลบกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า
     
       บทบาทง่ายๆ ที่รัฐบาลควรดำเนินการได้ทันทีก็คือ การสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทั้งระบบว่าอยู่ในสภาพอย่างไรบ้างในทุกๆ ด้าน และทางเลือกในการวางระบบการจัดการชนิดใดบ้างจะสามารถเกื้อกูลให้โทรทัศน์สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้ หากมีความจริงใจที่จะพัฒนาโทรทัศน์จริงๆ ก็ไม่เห็นจะจำเป็นต้องทำเป็นรีๆ รอๆ คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติที่ลากกันไปลากกันมาจนโดนล้มกระดานอะไรนั่นเลย
     
       ในส่วนของผู้จัดการระบบโทรทัศน์ ก็น่าจะพยายามยกเลิกการสมยอมกับความต้องการผิดๆ ของฝ่ายรัฐบาลเสียที ทว่าพยายามทำงานอย่างมืออาชีพมากขึ้นด้วยการพัฒนาวาทกรรมในการต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นให้ได้ว่า ระบบการผลิตข่าวโทรทัศน์ที่ดีนั้นมีประโยชน์ นอกจากจะทำให้คนและสังคมเจริญขึ้นแล้ว การรอบรู้ข่าวที่ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้นยังทำให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย สุดท้ายแล้ว แนวทางเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและส่วนรวมมากกว่า
     
       สำหรับระดับผู้ปฏิบัติการข่าวโทรทัศน์ก็เหมือนกัน การสำรวจการทำงานของตนเองอย่างที่ทำๆ กันอยู่นั้นคงไม่ใช่วิธีเดียวที่สามารถทำได้ โอกาสในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้อะไรต่างๆ ดีขึ้นนั้นยังทำได้เสมอ มากบ้างน้อยบ้างสุดแต่เงื่อนไขเฉพาะต่างๆ ลงท้ายแล้ว ข่าวโทรทัศน์จะต้องมีมากขึ้นและดีขึ้น
     
       ด้านผู้บริโภคข่าวโทรทัศน์เช่นกัน บทบาทในการช่วยพัฒนาข่าวโทรทัศน์นั้นยังทำได้มาก เช่น พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจจะส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องข่าวเกี่ยวกับข่าวโทรทัศน์มากขึ้น แล้วก็นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งเป็นคราว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณอีกชนิดหนึ่งแก่ฝ่ายรัฐบาลว่าตนเองมีความรอบรู้อย่างเพียงพออะไร เป็นอะไร ไม่ใช่การพูดลอยๆ เหมือนกับที่ชอบทำๆ กันอยู่
     
       สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระของรัฐ บริษัทขนาดต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งของรัฐและเอกชน และองค์กรอื่นๆ ของภาคประชาชน ก็สามารถรวบรวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่างๆ ว่าข่าวโทรทัศน์เป็นอยู่อย่างไรและควรจะทำอะไรต่อไปได้ ทั้งนี้ โดยอาจจะนำเสนอต่อสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เพื่อส่งสัญญาณไปถึงผู้ที่มีอำนาจกำหนดความเป็นไปของโทรทัศน์ แทนที่จะสมยอมเป็นผู้บริโภคที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ ไม่ว่าโทรทัศน์จะทำอะไรกับตน เป็นต้น
     
       ประเด็นในที่นี้ก็คือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นจะต้องยอมรับสิ่งที่เรียกๆ กันง่ายๆ เกินไปในนามของ "ข่าว" โทรทัศน์ว่าเป็นอะไรที่ดีเพียงพอแล้ว หรือแม้ไม่ดี เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แล้วก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ทนๆ กันไปวันๆ หนึ่ง จนกระทั่งความชั่วร้ายที่ซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์สามารถมีโอกาสได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่ก่อให้เกิดความตายหรือความเสียหายอื่นๆ ขึ้นได้ เช่น ในกรณีพฤษภาทมิฬ หรือกรณีสึนามิ เป็นต้น
     
       ในโลกที่ดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัด โอกาสในการแก้ไขมากบ้างน้อยบ้างก็ยังคงมีอยู่เสมอ หากว่าเรามีความขยันขันแข็งและจินตนาการที่จะเสาะหาช่องทาง โดยไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 18

โพสต์

ความถูกต้องโดยบังเอิญ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในที่สุดรายการของคุณสมัคร สุนทรเวช และคุณดุสิต ศิริวรรณ ก็หลุดไปจากจอโทรทัศน์เสียที ทั้งๆ ที่น่าจะหลุดไปตั้งนานแล้ว

สาเหตุที่รายการต้องยุติลงก็เพราะแรงบีบจากทหาร เนื่องจากนักจัดรายการทั้งสองวิพากษ์-วิจารณ์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อย่างไม่เหมาะสม แรงบีบดังกล่าวเป็นอันตรายทั้งต่อบุคคลทั้งสอง และต่ออำนาจที่สนับสนุนรายการของคุณสมัคร-ดุสิต ฉะนั้นการขอถอนตัวออกไปเอง จึงเป็นการลดแรงบีบที่สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่ว่าการขอถอนตัวนี้จะมาจากความสมัครใจหรือเสียงกระซิบ (เพราะทั้งสองถอนตัวจากรายการช่อง 9 ด้วย)

ขอให้สังเกตแรงบีบจากทหารครั้งนี้ให้ดีว่า ไม่ได้เริ่มจากระดับนำของกองทัพ อย่างที่เคยมีแรงบีบทำนองนี้ต่อคุณเฉลิม อยู่บำรุง ในสมัยน้าชาติ แต่เริ่มจากกลุ่มที่เป็น "ลูกป๋า" ก่อน และแม้ว่าท่าทีของระดับนำของกองทัพจะค่อนข้างโน้มเอียงไปสู่การเจรจาหลังฉาก แต่แรงกระเพื่อมของการแสดงความไม่พอใจของทหาร "ลูกป๋า" กลับแสดงต่อสาธารณชนกว้างขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการเคลื่อนไหวของประชาชนจากสงขลา (ซึ่งไม่มี ส.ส.ทรท.เลย) อาการ "หยุดไม่ได้" นี่แหละที่เป็นอันตรายต่ออำนาจที่สนับสนุนรายการสมัคร-ดุสิต

อันตรายก็เพราะความไม่พอใจนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คุณสมัคร-ดุสิต แต่ทำท่าจะเลยไปถึงอำนาจที่หนุนหลังรายการด้วย

ความกระตือรือร้นของทหารซึ่ง "หยุดไม่ได้" ดังกล่าวนี้ มาจากการที่บุคคลอันเป็นที่เคารพของตนถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางทีวีอย่างเปิดเผย หรือมาจากความขุ่นใจกับอำนาจที่นอนเนื่องอยู่ในความรู้สึกมานานแล้ว (เพราะการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างน่าเกลียด) หรือทั้งสองอย่างผสมอยู่ด้วยกันจนแยกไม่ออก

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า การเอานายทหารที่ "ไว้ใจได้" ไปคุมกองทัพก็ตาม การสนับสนุนให้พรรคพวกได้คุมหน่วยกำลังก็ตาม หรือการ "สงบ" ผู้นำกองทัพก็ตาม อันเป็นแบบปฏิบัติที่ทำกันมานานแล้วนั้น ไม่เป็นหลักประกันแน่นอนนักว่าจะทำให้คุมทหารได้อยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่อาจเป็นธรรมชาติใหม่ของกองทัพในยุคข่าวสารข้อมูล ที่ยากจะสร้างความคิดเห็นอันเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริงขึ้นในองค์กรอะไรทั้งสิ้น

อันที่จริงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้เป็นบุคคลแรกที่ถูกรายการสมัคร-ดุสิตนำมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือ "ด่าแหลก" จนแทบไม่เหลือชิ้นดี คนที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางไม่แพ้พลเอกเปรม เช่นคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็โดนอยู่บ่อยๆ แต่เนื่องจากผู้ที่นับถือคุณอานันท์สวมรองเท้าธรรมดา จึง "ตบเท้า" ไม่ดัง ในขณะที่ตัวคุณอานันท์เองก็ไม่แสดงอาการใดๆ ตอบโต้ทั้งสิ้น เพราะคุณอานันท์คงเห็นว่าไม่ควรใช้ "ไม้สั้น"

(พลเอกเปรมเองก็คงเห็นอย่างเดียวกันว่าไม่ควรใช้ "ไม้สั้น" แต่เพราะท่านมี "ไม้ยาว" จึงไม่จำเป็นต้องใช้ "ไม้สั้น" ไปทำอะไรที่โบราณห้ามเอาไว้)

รายการสมัคร-ดุสิตนั้น ไม่ใช่รายการข่าว แต่เป็นรายการความเห็น แม้จะมีการนำเอารายงานข่าวจากสื่อหนังสือพิมพ์มาบอกเล่าเหมือนกับอีกหลายรายการ แต่เล่าเพื่อแสดงความเห็น และเน้นความเห็นเป็นจุดขายของรายการมากกว่าข่าว

รายการความเห็นไม่ใช่รายการที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด น่าจะมีรายการอย่างนี้ในทีวีอย่างสม่ำเสมอด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่ความเห็นของคนคนเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีกชั่วนาตาปี

โทรทัศน์ไทยนับตั้งแต่สมัยช่องสี่บางขุนพรหม คุณจำนง รังสิกุล ก็เคยทำรายการความเห็นมาแล้ว โดยจัดการอภิปรายในหัวเรื่องที่คาดว่าจะเป็นที่สนใจ แล้วเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งมาอภิปรายประเด็นดังกล่าวกันหน้าจอโทรทัศน์ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ฯลฯ เป็นต้น เวทีอภิปรายหน้าจอของคุณจำนงเปลี่ยนตัวบุคคลไปเรื่อยๆ ไม่มีหน้าเก่า ฉะนั้นผู้ชมจึงได้รับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย บางครั้งในรายการเดียวกันผู้อภิปรายยังขัดแย้งกันเองให้เห็นอยู่บ่อยๆ

รายการแสดงความเห็นเช่นนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยหลัง รายการของ ส.ว.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และของคุณสุทธิชัย หยุ่น ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผู้ได้รับเชิญให้มาแสดงความเห็นต่อปัญหาต่างๆ ก็กว้างขวางขึ้น ตรงกับความถนัดและความสนใจของผู้อภิปรายมากกว่าสมัยบางขุนพรหม (เช่นเดียวกับรายการ "ถึงลูกถึงคน" ของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในปัจจุบันด้วย)

ไม่เคยมีในสมัยใด นอกจากในช่วงปลุกระดมให้ฆ่าคนอย่างเหี้ยมโหดก่อนการฆาตกรรมกลางเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น ที่ทีวีจะเสนอรายการความเห็นแบบพูดข้างเดียว โดยคนกลุ่มเดียว เหมือนจงใจที่จะกำกับควบคุมความคิดของคนทั้งเมือง

เพราะขัดกับหลักการของสื่ออิสระอย่างโจ่งแจ้ง หากมืออาชีพของสื่ออยากทำก็ต้องทำให้แนบเนียนกว่านี้มาก (แต่มืออาชีพโทรทัศน์ไทย ไม่ได้หมายถึงเก่งเรื่องสื่อ แต่หมายถึงทำกำไรเก่ง)

รายการสมัคร-ดุสิตเป็นรายการความเห็นประเภทนี้ คือความเห็นแบบพูดข้างเดียว และลงจะหาผู้จัดรายการประเภทนี้ที่ดีที่สุดแล้ว ก็คงจะหาใครมาจัดให้ดีไปกว่าสองคนนี้ได้ยาก เพราะทั้งสองคนสร้างสถานะทั้งทางสังคมและการเมืองของตน (น่าจะรวมเศรษฐกิจด้วย) ขึ้นมาจากการพูดข้างเดียวนี่แหละ

เพียงแต่ว่าสถานีโทรทัศน์ที่มีรายการเช่นนี้ไม่รู้สึกละอายต่อท่าทีครอบงำความคิดผู้ชมบ้างเลยหรือ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ความเห็นของคุณสมัคร สุนทรเวช ต่อประเด็นต่างๆ ในสังคมไม่ควรรับฟังเลย ตรงกันข้าม ทีวีควรเสนอความเห็นของคนขนาดคุณสมัคร ซึ่งมีผู้ให้ความเชื่อถืออย่างกว้างขวาง (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเลือก ส.ส.ประชากรไทยและเลือกคุณสมัครเป็นผู้ว่าฯ มาอย่างท่วมท้น) แต่วิธีเสนอความเห็นของบุคคลโดยไม่ปล่อยให้เป็นการพูดข้างเดียว ก็คือการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันในรายการข่าว หรือรายการความเห็นอื่นๆ

ความเห็นแบบคุณสมัครก็เป็นกระแสหนึ่งที่ผู้ชมโทรทัศน์ควรฟัง แต่สังคมไทยไม่ได้มีความเห็นแบบคุณสมัครอยู่กระแสเดียว ผู้ชมโทรทัศน์ก็ควรฟังและรับรู้ถึงความหลากหลายของความคิดเห็น โดยไม่ปล่อยให้ใครใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องมือผูกขาดความถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว (โดยเฉพาะ หลังจาก 5 ปีภายใต้คุณทักษิณ ชินวัตร)

ถ้าไม่นับความพิกลพิการทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ไม่เคยมีคนมีชื่อเสียงคนใดที่อยู่นอกรัฐบาลจะสามารถใช้ทีวีเป็นสื่อพูดข้างเดียวให้แก่สาธารณชนได้เหมือนสมัคร-ดุสิตในครั้งนี้ และคงไม่มีทีวีที่มีความรับผิดชอบในสังคมประชาธิปไตยที่ไหนปล่อยให้มีรายการอย่างนี้ได้ ว่ากันที่จริง ไม่ควรมีสังคมประชาธิปไตยที่ไหนยอมให้ทีวีทำอย่างนี้ได้ด้วยซ้ำ ยกเว้นแต่สังคมที่ถูกรัฐครอบงำและควบคุมเสียจนหายใจหายคอแทบไม่ออก อย่างที่เราคนไทยเผชิญอยู่เวลานี้

ฉะนั้นจึงเหมาะสมแล้วที่รายการสมัคร-ดุสิตควรจะยุติไป และไม่ควรที่ทีวีไทยจะปล่อยให้เกิดรายการความเห็นแบบพูดข้างเดียวเช่นนี้อีก

เราควรจะยินดี แต่ก็ยินดีได้ไม่เต็มที่ เพราะรายการถูกยกเลิกไปไม่ใช่เพราะสถานีโทรทัศน์ หรือผู้สนับสนุนรายการอยู่เบื้องหลัง สำนึกได้ในหลักการของสื่อที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจากแรงบีบของสังคมด้วยซ้ำ แต่เพราะบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ปูชนียะ" ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้เกิดแรงเสียดทานที่แรงเกินกว่าสถานี, สมัคร-ดุสิต, หรือผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังจะรับได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คาดได้เลยสองประการว่า หนึ่ง แล้วรายการแบบพูดข้างเดียวเช่นนี้ก็จะกลับมาสู่จอทีวีอีก และสอง เส้นแบ่งที่ไม่เคยชัดเจนในสังคมไทยว่าอะไรวิจารณ์ได้ และอะไรวิจารณ์ไม่ได้ ก็ยังคงคลุมเครือเหมือนเดิม หรืออาจจะคลุมเครือยิ่งกว่าเดิม เพราะในกรณีนี้ รายการสมัคร-ดุสิตต้องยุติลงไม่ใช่เพราะกฎหมาย, หรือคำสั่งอันมีผู้รับผิดชอบของรัฐ, หรือการฟ้องร้องคดีทางแพ่ง แต่เพราะทำให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มคนที่มีความสำคัญทางการเมืองต่างหาก จึงไม่ชัดนักว่า บุคคลบางคนอยู่เหนือคำวิจารณ์ หรือเนื้อหาบางอย่างเป็นเรื่องที่วิจารณ์ไม่ได้กันแน่

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 19

โพสต์

ลองมาอ่านอีกฟากหนึ่งบ้างคับ จะได้หลากหลาย

แต่จะขอทำลิงให้ท่านตามไปอ่าน

เพราะด้านล่างมีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายดี มีประโยชน์ เผื่อจะสนใจน่ะคับ....

**สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ขอปกป้อง สมัคร ครั้งเดียวในชีวิต


ไปชมวิวข้างนอกก็ดีเหมือนกัน...
MisterK
Verified User
โพสต์: 857
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 20

โพสต์

ขอบคุณท่าน bsk มากครับที่รวบรวมเรื่องพวกนี้ไว้ให้อ่าน    โดยเฉพาะมานั่งพิมพ์เองนี่    :bow:


แต่ส่วนใหญ่ประเด็นเรื่องเสรีภาพของสื่อและกฏหมายต่าง ๆ จะออกไปแนวสื่อชนกับรัฐนะครับ        เราต้องไม่ลืมว่ากฏต่าง ๆ ไม่ได้คำนึงแค่สื่อกับรัฐเท่านั้น   ต้องเผื่อสื่อกับคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอาวุธ  เงินทอง  อำนาจด้วย    ซึ่งถ้าเอื้อเสรีภาพสื่ออย่างมากมาย   คนธรรมดาโดนสื่อเล่นงานจะเอาอะไรไปสู้     เท่าที่ผ่านมาเวลาลงข่าวหน้าหนึ่งผิดพลาดไม่เคยเห็นสื่อขอโทษหน้าหนึ่งมั่ง    อย่างเก่งถูกฟ้องก็ลงคอลัมภ์เล็ก ๆ หน้าใน ๆ    ถ้าไม่มีปัญญาฟ้องสื่อก็เฉย ๆ ไม่สนใจแก้ข่าว     :oops:
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 21

โพสต์

จริงๆก็เป็นการรวมเรื่องของสื่อมวลชนกับรัฐในฐานะฐานันดรน่ะคับ

เพราะเข้ากับสถานการณ์พอดี...

......เห็นด้วยว่าสื่อก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน

ในแง่ของการเสนอข่าว ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรคือทัศนะหรือคอลัมน์

หลังๆก็จึงได้เห็นส่วนที่ควรจะเป็นคอลัมน์หรือทัศนะไปปรากฏแทนส่วนที่ควรเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือการรายงานตามจริง

ก็ต้องอาศัยวิวัฒนาการกันเป็นลำดับไป

นอกจากองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณของสื่ออย่างสภาการหนังสือพิมพ์

หรือสมาคมสื่อต่างๆแล้ว

ภาคประชาชนก็ควรต้องช่วยตรวจสอบ ท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ หรือลงโทษ

เช่นเดียวกับที่กระทำต่อรัฐด้วย

สิ่งนี้เชื่อว่าจะทำให้สื่อตระหนัก มีความรับผิดชอบต่อสังคมยิ่งขึ้น

และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในที่สุด...

ก็หวังไว้เช่นนั้นคับ...


ขอบคุณคับท่าน MisterK

ผมจิ้มได้ช้ามากๆ ขออภัยจริงๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 22

โพสต์

จดหมายเปิดผนึก กรณีถูกไอทีวีฟ้อง 80 ล้าน

6 มีนาคม 2549 17:19 น.
ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

จดหมายเปิดผนึกเรื่อง
 บทความ หยุดซื้อสินค้าในไอทีวี กับการถูกฟ้อง 80 ล้านบาท
และโปรดอย่าเกลียดชังคนทำงาน ไอทีวี เลย
 

เรียน อาจารย์ มิตรสหาย สื่อมวลชน

               ผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์สอนวิชาการเมืองไทย ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบัน ลาศึกษาต่อปริญญาเอกประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
               เมื่อเริ่มเรียนต่อปริญญาเอก ก็ได้รับการทาบทามจาก นสพ.จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ ให้เขียนบทความลงคอลัมน์ 108 วิถีทัศน์  คือเขียนเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้เข้าใจปัจจุบันสมัยของสังคมไทยในมุมมองแบบนักประวัติศาสตร์
               และแล้ว บทความเรื่อง หยุดซื้อสินค้าในไอทีวี ในกรณีปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวี ที่ชาติไทยและประชาชนต้องเสียประโยชน์ทั้งเงินและเสรีภาพ ที่ตีพิมพ์เมื่อ 20 เมษายน 2547 ก็ทำให้ผมตกเป็น จำเลย ที่ 1 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 80 ล้านบาท ฐานเป็นบทความที่ทำให้บริษัทไอทีวีเสียภาพพจน์เสียประโยชน์และต้องฟื้นฟูภาพลักษณ์
               ในกระบวนการของการเป็น จำเลย ของบริษัทไอทีวีมาเป็นเวลา 2 ปีแล้วนั้น ได้ทำให้ผมได้เรียนรู้ ความจริง ที่ว่า กรรม ของคนที่กระทำเลวร้ายปล้นชาติบ้านเมืองมีจริง และปรากฏจริงทันทีในชาติปัจจุบัน
               อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ของผม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดว่า ผมเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกที่ถูกฟ้องในประวัติศาสตร์การเมืองระบอบประชาธิปไตยไทย ตอนแรกผมรู้สึกดีใจ ที่ได้เป็น คนแรก ที่แสนจะเจ็บปวดนี้ แต่ต่อมา ผมก็ตระหนักว่า มันน่าเศร้าต่างหาก เมื่อผมเป็นลูกศิษย์คนแรกที่ต้องพาอาจารย์ของตนขึ้นโรงขึ้นศาล
               เมื่อผมอ้างพยาน 3 คนในศาลแพ่ง คือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย นักรัฐศาสตร์และเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักนิติศาสตร์แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาลถามผมอย่างแปลกใจว่า ทำไมพยานทั้งสามของผมจึงดูจะไม่ค่อยเข้ากับเรื่องเศรษฐกิจการเงินการทองที่กำลังฟ้องร้องกันเลย แต่ศาลก็อนุมัติ
               ผมขออนุญาตศาลแพ่งอธิบายเรื่องนี้ว่า ผมถือว่า ไอทีวี เป็น ทรัพย์ของแผ่นดิน เป็นของชาติไทย ดังนั้น ผมจึงตระหนักถึงความเป็นเจ้าของทรัพย์นี้ ผมจึงต้องเขียนเพื่อปกป้องทรัพย์มรดกของชาติไทย รวมทั้งในฐานะนักวิชาการตามหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ผมหาได้พูดถึง บริษัท หนึ่งใดไม่
               ไอทีวี หรือ ในชื่อภาษาอังกฤษว่า ITV คือ คำที่ย่อมาจากคำว่า Independent Television อันแปลว่า สถานีโทรทัศน์แห่งเอกราชและเสรีภาพ เป็นชื่อที่ตั้งในแบบวันประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา คือ Independence Day 4 กรกฎาคม ซึ่งนี้คือที่มาของระบอบประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  ดังนั้น ชื่อของสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นจากบทเรียนการปิดกั้นและครอบงำสื่อมวลชนทุกทางเมื่อครั้งพฤษภาทมิฬ 2535 นั้น ก็มีวัตถุประสงค์ให้สถานีไอทีวีนี้ได้เป็นสถานีข่าวสาร สารประโยชน์ สารคดี ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน มิได้ปรารถนาให้เป็น My TV หรือ โทรทัศน์ของไอ ในแบบที่ถูกกล่าวหากัน
               ในศาล ผมขออนุญาตศาลอธิบายว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องอดีตที่ถูกตัดตอนออกจากปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์ คือศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันอย่างลึกซึ้งรอบด้าน อันเป็นฐานที่เราจะกำหนดอนาคตได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพราะการศึกษาแบบประวัติศาสตร์นั้นเป็นการทำความเข้าใจทั้งกระบวนการของเรื่อง คือศึกษาจากจุดเริ่มต้นเรื่อยมาถึงพัฒนาการ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องนั้นจะยังไม่ถึงจุดจบ แต่ประวัติศาสตร์ก็ทำให้มองเห็นอย่างค่อนข้างแจ่มชัดว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และอันไกล
               ผมขออนุญาตศาลอธิบายว่า ทำไม ไทยเราจึงให้นักเรียนชั้นต่างๆ เรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปี พ.ศ.2310? ซึ่งศาลก็อนุญาต
               ผมอธิบายว่า คนไทยทั่วไปมักเชื่อว่า อยุธยาแตกครั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยภายนอก คือ จากการทำสงครามกับกองทัพพม่า แต่งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ในรอบกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า การที่อยุธยาแตกครั้งนี้ ปัจจัยภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่เกาะกินและทำร้ายรากฐานของสังคม ดังนั้น  กองทัพพม่าจึงอาจเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อยุธยาต้องพังลง ปัจจัยภายในที่ว่าก็คือ พวกขุนนางและพ่อค้าต่างทำการแสวงหาประโยชน์อย่างละโมบโลภมาก ดังนั้น ประชาราษฎรจึงหมดสิ้นศรัทธา และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องลงแรงเพื่อรักษารัฐในแบบนี้ไว้อีกต่อไป นี้คือจุดจบของอยุธยาที่แท้จริง  
               ประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองที่เราให้นักเรียนนักศึกษาเรียนกันนั้น ก็เพื่อทำให้พวกเขาในฐานะประชาชนเจ้าของแผ่นดิน ได้ตระหนักถึงการเป็นเจ้าของประเทศชาติ ได้ตระหนักถึงการเป็นเจ้าของทรัพยากรของแผ่นดินนี้ร่วมกัน มิใช่ให้คิดว่าประเทศไทยนี้เป็นของคนหนึ่งคนใดแล้วก็จะขายทรัพย์ของแผ่นดินนี้ให้กับชาติอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้พวกเขาเติบโตและเข้าร่วมเพื่อปกป้องไทยไม่ให้พังทลายลงไปเช่นอดีตของอยุธยา
               แม้ศาลอาญาจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ส่วนศาลแพ่งนั้นยกฟ้องในศาลชั้นต้น แต่เมื่อปลายปี 2548 ผมก็ได้หมายฟ้องชั้นอุทธรณ์ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง
               แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เมื่อบริษัทชินคอร์ปเจ้าของใหญ่ไอทีวี ถูกขายให้กับชาติสิงคโปร์ไปแล้วนั้น คำถามที่ผมขอเรียนปรึกษากับทุกท่าน คือ ขณะนี้ผมตกเป็นจำเลยของต่างชาติสิงคโปร์ในแผ่นดินมาตุภูมิชาติไทยของเราเองแล้วใช่หรือไม่?

               แต่ในสถานการณ์ของการชุมนุมเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี มีข่าวว่า ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ของไอทีวีอาจได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากผู้ชุมนุมบางคนที่เลือดร้อนรักชาติ ผมในฐานะที่เห็นและต่อสู้กับความจริงเรื่อง ไอทีวี นี้ ขอเรียกร้องว่า โปรดอย่ากระทำหรือแสดงความจงเกลียดจงชังต่อพี่น้องของเราที่ทำงานในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เลย ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวภาคสนาม ผู้อ่านข่าวที่สถานี หรือผู้ผลิตและผู้แสดงในรายการต่างๆ ของสถานีไอทีวี เพราะนี้เป็นเพียงการทำให้คนในประเทศหันมาห้ำหั่นทำร้ายกันเองในระดับรากหญ้า ขณะที่ผู้ที่บงการและได้ประโยชน์เสวยสุขอยู่เบื้องหลังยังลอยนวล

               ดังนั้น คนในสังคมไทยพึงกลับเข้ามาสมัครสมานกัน และช่วยกันร่วมสืบค้นหาว่า ใคร ผู้ใด คือผู้บงการและได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลังอดีตสถานีแห่งเอกราชและเสรีภาพของชาติไทย เพื่อที่เราจะได้แก้ไขอย่างตรงประเด็น และสร้างแนวทางให้สังคมไทยเป็นสังคมสื่อเสรี โดยเฉพาะต่อทีวีและวิทยุ อันจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยไทยที่แท้จริงต่อไป

             ขอแสดงความนับถือ
               ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
          อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ
          นิสิตปริญญาเอกประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.bangkokbiznews.com/2006/03/0 ... s_id=83798
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 23

โพสต์

สู้เพื่ออะไร

7 มีนาคม 2549 15:07 น.
๐ สุภิญญา กลางณรงค์ [email protected]


    ในที่สุดการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนในนาม 'ม็อบกู้ชาติ' หรือ 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ก็ได้เคลื่อนตัวสู่ท้องถนนราชดำเนินอย่างเต็มรูปแบบในค่ำคืนวันที่ 5 มีนาคม 2549 ซึ่งถือเป็นวันนักข่าวด้วย ทำให้เราให้เห็นภาพฝูงชนยึดท้องถนนแห่งประวัติศาสตร์กันอีกครั้งแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม

ระหว่างนี้แนวคิดของกลุ่มพันธมิตรที่จะยึดถนนราชดำเนินเป็นที่ปักหลักการชุมนุมอย่างยืดเยื้อนั้นคงเกิดขึ้นในใจ แต่ตัวชี้วัดสำคัญอยู่ที่อารมณ์ร่วมและพันธะผูกพันของผู้ชุมนุม ว่าจะไปได้ถึงไหน

ความไม่แน่นอน อารมณ์ยืดเยื้อของการชุมนุม อาจทำให้หลายฝ่ายอึดอัด ไม่ได้ดังใจ เพราะอยากเห็นการแตกหักหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน แต่บทเรียนในอดีต บอกเราไว้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบทันใจ พร้อมมายาภาพมอมเมาประชาชนว่าเราได้รับชัยชนะแล้ว เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว เรามีสิทธิเสรีภาพแล้ว แต่ท้ายที่สุดในเวลาไม่นานนักเราก็ต้องมาลงเอยด้วยการเดินขบวนเพื่อประชาธิปไตยกันอีกครั้ง

อันที่จริงการเดินขบวนครั้งนี้ วาทกรรมการกู้ชาตินั้นโดดเด่นมากกว่าเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อาจเป็นเพราะประชาชนถูกทำให้คิดและเชื่อไปแล้วว่า เราได้มาแล้วซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่ปัญหาคราวนี้มันอยู่ที่ตัวจริยธรรมผู้นำ และการสูญเสียผลประโยชน์ของชาติเพราะจุดแตกหักที่รุนแรงที่สุดจนนำไปสู่ตัวเร่งให้เกิดแนวร่วมขับไล่คุณทักษิณ ชินวัตร อย่างเข้มข้น คือเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งทำให้กิจการสัมปทานทรัพยากรการสื่อสารของชาติตกเป็นของสิงคโปร์

ในมุมมองลึกๆ ของผู้เขียน ถือว่าเรื่องนี้มีด้านดีเพราะอันที่จริง แม้ว่าบริษัทชินคอร์ป จะไม่ถูกขายทอดตลาดให้กับต่างชาติ คนไทยก็ไม่เคยได้รู้สึกว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวนั้นเป็นการทำมาหากินอยู่บนทรัพยากรสาธารณะซึ่งควรถือเป็นสมบัติส่วนรวมของประชาชนเป็นหลัก

มีคนเดินมาคุยกับผู้เขียนว่า หลังจากฟังการปราศรัยว่า ไม่เคยคิดเลยนะว่าคลื่นความถี่ที่อยู่บนฟ้านั้นเป็นของพวกเราทุกคน

ใช่ เพราะมันอยู่สูงและไกลเกินไป กว่าเราจะรู้ตัวทรัพยากรอันมีมูลค่าเหล่านั้นก็ได้ถูกใช้ไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งอันมหาศาลให้กลุ่มคนเพียงหยิบมือแล้วเปิดช่องให้เกิดการเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ  

ถือว่าแง่ลบของการขายชินคอร์ป ก็สามารถสร้างผลบวกที่ทำให้คนได้ตื่นตัวและเท่าทันมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างกติกาที่เป็นธรรมและเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นหลักแล้ว ไม่ว่าผู้ถือหุ้นจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือชาติใดก็ตาม ท้ายที่สุด ประชาชนคนธรรมดาก็จะไม่ได้อะไร นอกจากการเป็นเพียงผู้บริโภคที่มีเสรีภาพตามกำลังทุนที่มีอยู่

ไม่ว่าการต่อสู้กับเผด็จการรัฐสภา ทุนนิยมผูกขาด การครอบงำความคิดการสื่อสาร ภายใต้ระบอบทักษิณ ด้วยแนวทางแห่งสันติจะต้องใช้เวลายาวนานสักเพียงไหน เราคงต้องพร้อมเผชิญ

มีคนบอกผู้เขียนว่า การต่อสู้กับระบอบทักษิณครั้งนี้ไม่ใช่การทำสงครามที่ต้องประหัตประหารให้เห็นชัยชนะกันชั่วข้ามคืน แต่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยได้หยั่งรากลงลึกในสำนึกของพลเมือง มิใช่เพียงการโยกย้ายอำนาจของชนชั้นนำ
และเรามีเวลากันทั้งชีวิตที่จะต่อสู้กับอำนาจการเมืองอันเลวร้าย      

เพราะฉะนั้น แม้จะต้องใช้เวลาอย่างยืดเยื้อ อึดอัด อ่อนล้า เหนื่อยยากกันข้ามเดือนข้ามปี แต่ถ้าสามารถขยายการเรียนรู้และสร้างความเป็นภราดรภาพในการขับไล่ระบอบทักษิณ แล้วไม่ถอยหลังด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีใครต้องเสียน้ำตาสักหยดให้กับวงจรเลวร้ายทางการเมือง ก็จะถือได้ว่าเป็นการเสียสละร่วมกันอันยิ่งใหญ่ของชนชั้นกลางและปัญญาชน ในการที่จะธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตย

เพื่อจะนำไปสู่การปลดปล่อยความทุกข์ทนของผู้ยากไร้ ได้อย่างแท้จริง

การตัดสินรางวัลดีเด่น ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2549 จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม

1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับรางวัลนี้...

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชน เกาะติดนโยบายที่ไม่ชอบมาพากลของผู้กุมอำนาจรัฐในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร กระทั่งถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา จากบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่สุดท้ายคดีก็ได้รับการถอนฟ้องหลังต่อสู้กว่า 2 ปี


คงจำคดีฟ้อง 500 ล้านได้..
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 24

โพสต์

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

สื่อในวิกฤตการเมือง สามยุคสามอย่าง

โพสต์ที่ 25

โพสต์

สื่อในวิกฤตการเมือง สามยุคสามอย่าง

โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา 9 มีนาคม 2549 23:35 น.


             เนื่องจากติดงานอื่นๆ สองสามเดือนที่ผ่านมาผมจึงไม่ได้เขียนคอลัมน์นี้สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังไม่มีเวลาที่จะให้ข้อคิดเห็นกับสื่อหลายๆ ประเภทที่ติดต่อมาเพื่อขอความคิดเห็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในวิกฤตการเมืองยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทว่าก็มีใครๆ ฝากให้ได้ช่วยคิดว่าบทบาทที่เหมาะสมของสื่อในช่วงที่มีวิกฤตการเมืองคืออะไร ในวันนี้ แม้จะยังไม่ใช่โอกาสที่จะตอบคำถามนี้ตรงๆ แต่ผมก็จะขอตอบแบบอ้อมๆ ก็แล้วกัน
     
      โจทย์วันนี้ก็คือ ในช่วงที่เมืองไทยมีวิกฤตการเมืองสามช่วงคือในทศวรรษที่ 1970 และ 1990 จวบจนปัจจุบันนั้น สื่อมีบทบาทอย่างไรและเพราะอะไร เรื่องราวชนิดนี้อาจจะน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับนักข่าวที่อยู่ในรุ่นอายุ 20-30 ที่ไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงกับวิกฤตการเมืองในยุคก่อนๆ ทว่าอยู่ๆ ก็ต้องมาเจอกับวิกฤตการเมืองยุคนี้เลย

     
      ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นั้น เมืองไทยมีวิกฤตการเมืองอย่างชัดเจนสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อนักศึกษาและประชาชนได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องหารัฐธรรมนูญและรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้ ก็เพราะในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาอยู่ในระหว่างการถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ฉะนั้น เมื่อระหว่างที่ ช่องว่างแห่งอำนาจ กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลทหารไทยที่ได้รับการคุ้มครองโดยตรงจากความสัมพันธ์ทางการทหารกับอเมริกาจึงถูกท้าทายจากปัญญาชนรุ่นใหม่ในการนำของคนอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและธีรยุทธ บุญมี รวมทั้งคนอื่นๆ อีกมากมาย
     
      เนื่องจาก การปฏิวัติ ครั้งนั้นเกิดขึ้นในขณะที่ชีวิตการเมืองไทยยังล้าหลังอยู่มาก สื่อต่างๆ ส่วนมากจึงไม่ค่อยรู้อีโหน่อีเหน่นักว่าตนเองควรจะวางตัวในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนั้นอย่างไรดี ความที่สื่อในยุคนั้นมักจะมีความสัมพันธ์กับทหารและนายธนาคารอย่างใกล้ชิด รวมๆ แล้ว สื่อทั้งหลายจึงยึดถือนโยบายปลอดภัยเอาไว้ก่อน นั่นก็คือ เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนมาก ฉะนั้น จึงมีการรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนไม่ค่อยมากนัก และบ่อยๆ เป็นไปในทางลบว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวาย แม้กระทั่งหลังจากการปะทะกันบนท้องถนนจนก่อให้เกิดความูญเสียชีวิตแล้ว สื่อส่วนมากก็ยังเข้ากับฝ่ายรัฐบาลเสียเป็นส่วนมาก
     
      ฉะนั้น กว่าที่สื่อต่างๆ จะสามารถปรับตัวให้ทำหน้าที่สอดคล้องกับการก่อรูปของ ความจริงใหม่ ก็ต่อเมื่อนักศึกษาและประชาชนได้รับ ชัยชนะ จนกระทั่งผู้นำทหารในรัฐบาลต้องลี้ภัยทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วนั่นแหละ
     
      พูดง่ายๆ สื่อส่วนมากในช่วงนั้นมีอันเป็นไปขนาด ตกกระแส จนถูกขนานนามให้เป็น ไดโนเสาร์ กันเป็นแถวๆ ไปก็คราวนั้นแหละ จะมีนักหนังสือพิมพ์ไม่กี่มากน้อยคนเท่านั้นที่ปรับตัวให้ ทันกระแส ได้โดยหน้าไม่แตก
     
      อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2514 แล้ว เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของการเมืองเมืองใหม่ กิจกรรมด้านวารสารศาสตร์ในเมืองไทยได้แตกหน่อใหม่ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง จนสามารถพูดถึงวารสารศาสตร์แบบซ้ายๆ ขวาๆ และกลางๆ ได้อย่างมีความหมายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งวารสารศาสตร์ของประเทศ
     

      พูดอีกวิธีหนึ่งก็คือ นี่เป็นช่วงเวลาที่สื่อต่างๆ ถูกฝ่ายต่างๆ นำออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างจงใจและเผ็ดร้อนยิ่งกว่าที่เคยได้รู้ได้เห็นกันมาในประวัติศาสตร์ก่อนหน้าทั้งหมด ในสมัยนั้น หากใครจะคุยกับใครก็มักจะมี อคติ ในใจเสียก่อนแล้วใครคนนั้นเป็นฝ่ายไหน ดังนั้น จึงไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการพูดกันเรื่องลัทธิบ้าๆ บอๆ ทั้งหลาย
     
      จากมุมมองของสื่อฝ่ายขวา ผู้นำนักศึกษาควรที่จะถูกจิกหัวด่าเป็นว่าเล่น และในทางกลับกัน จากมุมมองของสื่อฝ่ายซ้าย นักการเมืองรุ่นเก่าๆ ที่แก่ทั้งกายและใจ ก็ควรจะถูกประณามด้วยฉายาต่างๆ ไม่น้อยไปกว่ากัน ส่วนสื่อฝ่ายกลางๆ ก็โดนกระแทกจากทุกทิศทางแบบอีรุงตุงนัง
     

      ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า สามปีระหว่างเดือนตุลาคม 2516-ตุลาคม 2519 เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ทว่าดูเหมือนว่าความตื้นลึกหนาบางต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ยังไม่ได้รับการสำรวจจากนักวิชาการอย่างเพียงพอนักคนรุ่นหลังๆ จึงไม่ค่อยมีหนังสือดีๆ เกี่ยวกับยุคนั้นให้เลือกอ่านสักเท่าไรนัก    
 
      ทว่าความเร่าร้อนของการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในช่วงเพียงสามปีหลังจากนั้น ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้วางระบบปฏิบัติการขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 จนทำให้ฝ่ายปัญญาชน นักศึกษา และประชาชนผู้ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามต้องเป็นฝ่ายหนีภัยการเมืองบ้าง ยังผลให้ชีวิตการเมืองไทยต้องหวนกลับไปเชื่อมโยงกับการเมืองโลกยุคสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่งในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1970 ทั้งๆ ที่ทหารอเมริกันได้ถอนตัวจากอินโดจีนและเมืองไทยไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 แล้ว
     
      จุดที่น่าสนใจมากก็คือ ในขณะที่วิทยุโทรทัศน์มีบทบาทไม่มากนักในเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเหตุการณ์สามปีต่อมา วิทยุและโทรทัศน์กลับมีบทบาทพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นการเล่นบทบาทเข้ากับฝ่ายขวา
     
      ข้อยกเว้นสำคัญก็คือโอกาสที่คุณสรรพศิริ วิริยศิริ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ได้ตัดสินใจนำเสนอภาพสดการปราบปรามนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามความเป็นจริง (โดยแทบจะไม่มีคำบรรยายใดๆ) จนกระทั่งท่านต้องถูกกดดันให้ลาออกจากงานข่าวที่ท่านรักมากหลังจากวิกฤตการเมืองนั้น
     


      เคราะห์ดี กว่าหนึ่งทศวรรษต่อมา ในต้นทศวรรษที่ 1990 บทบาทอันกล้าหาญในครั้งนั้นได้ส่งผลให้ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านวารสารศาสตร์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นเกียรติยศต่อตัวท่านเองแล้ว ยังเป็นเกียรติยศต่อนักสื่อสารมวลชนใดๆ ที่ให้ความสำคัญแก่การนำเสนอ ความจริง โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างด้วย
     
      นักข่าวและนักเขียนหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ในเมืองไทยยุคปัจจุบันที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 55-65 ปีในวันนี้ล้วนเป็นผู้คนที่ได้ผ่านยุคแห่งการเผชิญหน้าระหว่างสื่อกับฝ่ายการเมือง และสื่อกับสื่อด้วยกัน มาแล้วทั้งนั้น

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 26

โพสต์

สำหรับในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ ขึ้นนั้น ความที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ๆ ส่วนมากมีประสบการณ์มาจากทศวรรษที่ 1970 ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เมื่อฝ่ายทหารเข้ามาทำการรัฐประหารนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ล้าหลังกว่ายุคสมัยอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลประการหนึ่งก็เป็นเพราะ เศรษฐกิจฟองสบู่ กำลังแตกฟองเต็มที่ ยังผลให้สื่อต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ฉะนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์จึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากพอสมควรในการปกป้องระบบการเมืองแบบเปิด ซึ่งมีค่าไม่น้อยไปกว่าการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองด้วย หลังจากเกิดวิกฤตการเมืองคราวนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์จึงใช้เวลาเพียงไม่กี่มากน้อย ก็สามารถรวมหัวกันนำเสนอข่าว และความคิดเห็นในทิศทางที่นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลทหารได้สำเร็จ
     
      ทว่าเหตุการณ์เดียวกันนั้นกลับสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่สวยงามให้แก่วงการวิทยุและโทรทัศน์ เพราะสื่อทั้งสองนี้ได้ทำหน้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการเมืองแบบเปิด ด้วยการนำเสนอข่าวและความคิดเห็นเข้าข้างรัฐบาลทหารของพลเอกสุจินดา คราประยูร จนกระทั่งนักข่าวในสื่อเหล่านี้ต้องออกมาขอโทษขอโพยประชาชนหลังจากวิกฤตการเมืองครั้งนั้นสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชน ที่ยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับลูกกระสุนอย่างอาจหาญ
     
      ในการเผชิญหน้าทางการเมืองที่มีการสาดกระสุนกลางวันแสกๆ ครั้งนั้น หนังสือพิมพ์อยู่ในสถานภาพที่ถือได้ว่าเป็นผู้ต่อสู้กับรัฐบาลทหารร่วมกับประชาชนบนท้องถนนโดยตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ หลังจากเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ หนังสือพิมพ์จึงมีความภาคภูมิใจในบทบาททางการเมืองของตนในระดับสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

     
      ส่วนวิทยุและโทรทัศน์ก็ปิดประวัติศาสตร์ส่วนนี้ของตนด้วยความละอายใจ ทั้งๆ ที่มีกระแสทางสังคมที่ต้องการการปฏิรูปสื่อไฟฟ้าทั้งสองแขนงนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลงท้าย ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นสักเท่าไรนัก นอกจาก itv ซึ่งมีผลงานด้านข่าวดีเด่นในระยะแรกๆ ก่อนที่จะประสบปัญหาทางการเงินอย่างใหญ่หลวง
     
      หลังจากนั้นนับได้ราวๆ สิบปี รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็ให้กำเนิดแก่รัฐบาลในการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงสามปีแห่งความรุ่งโรจน์ รัฐบาลนี้ก็เข้าสู่ยุคแห่งความตกต่ำลงเรื่อยๆ จากการที่หัวหน้ารัฐบาลเริ่มถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและหมู่คณะในลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งในกรณี itv ซึ่งถูกซื้อโดยชินคอร์ปด้วยเงื่อนไขที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่ว่ากันว่าเข้าข่ายเข้าพกเข้าห่อ
     
      ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว วิกฤตการเมืองคราวล่าสุดนี้จะเกิดขึ้นจากความไม่พอใจเกี่ยวกับผลประโชน์ทับซ้อนและข้อกล่าวหาที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในรัฐบาล ทว่าความแข็งแกร่งทางการเมืองของรัฐบาล รวมทั้งการอาศัยกลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองแบบด่าดะและชนดะแบบไม่เกรงใจใครได้ทำให้การต่อกับรัฐบาลนี้เกิดขึ้นค่อนข้างช้า และต้องอาศัยวิธีการที่ออกจะพิสดารขึ้นเรื่อยๆ จึงจะพัฒนามาได้ไกลอย่างที่ได้รู้ได้เห็นกันในวันนี้
     
      นับตั้งแต่การเปิดโปงในจอโทรทัศน์ของสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งในตัวมันเองก็ถือว่า ใหม่ มากสำหรับสื่อโทรทัศน์ (จนกระทั่งต้องถูกยกเลิกในที่สุด) ทว่าการตัดสินใจของช่อง 9 โดยการสนับสนุนของคนในรัฐบาลในครั้งนั้น อันนำไปสู่การนำรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจรไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีกลายเป็นต้นมานั้น ได้ยังผลให้ การประท้วง รัฐบาลกลายเป็น ของจริง เพราะมีคนจริงๆ มานั่งๆ ยืนๆ ตบไม้ตบมือและเป่าปากให้ แทนที่จะเป็น ของปลอม ที่อยู่ในจอโทรทัศน์ที่ประเมินปฏิกิริยาของคนดูได้ยาก และคนดูก็มองไม่ค่อยเห็น ความจำเป็น ว่าตนเองจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะมีคนด่าให้แทนเรียบร้อยแล้ว
     
      ลงท้าย สิ่งที่ผมขนานนามเอาไว้กว่า ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล จึงกลายเป็น ข่าว ใหญ่ขึ้นทุกที ในแง่หนึ่งก็เพราะสิ่งที่หัวหน้ารัฐบาลทำๆ เอาไว้นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบๆ ซ่อนๆ นำเอาชินคอร์ปไปขายให้กองทุนรัฐบาลต่างชาติ (ทั้งๆ ที่กิจการบางอย่างที่บริษัทนี้ถือครองอยู่ถือเป็นกิจการของชาติแท้ๆ โดยชินคอร์ปเป็นผู้ ถือแทน ในนามเท่านั้น หาใช่ เจ้าของ ที่สมบูรณ์แบบไม่) นั้นถือได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย
     

      นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนธิ ลิ้มทองกุลสามารถทำตลาดการเมืองได้ จนภายในสี่ห้าเดือนต่อมาได้กลายเป็น พันธมิตรประชาธิปไตย ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกวันในการระดมใครๆ มาช่วยกันตรวจสอบและด่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกันอย่างสนุกสนาน คงไม่มียุคไหนสมัยไหนอีกแล้วที่นายกรัฐมนตรีถูกขนานนามว่าเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องประเภทกรรมตามสนอง เพราะตนเองได้เป็นผู้ริเริ่มด่าคนอื่นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (รวมทั้งเป็นลิงเป็นค่าง) เอาไว้มานานนั่นเอง
     
      ครั้นเมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมืองประกาศเข้าร่วม พันธมิตร รัฐบาลก็เลือกที่จะประกาศยุบสภาในเกือบทันใดทันควัน เพราะนี่คือสัญญาณว่าการต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากท่านผู้นี้คืออะไรที่ไม่มากไม่น้อยไปกว่าแกนนำผู้สร้างเอกภาพและความสำเร็จให้แก่การเมืองภาคประชาชนจากเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ
     
      จุดที่น่าสนใจมากในวิกฤตการเมืองคราวปัจจุบันก็คือ ฝ่ายรัฐบาลได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิข่าวอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ความพยายามที่จะฟ้องร้อง วานคนให้ซื้อ และควบคุมสื่อต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ มาวันนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้วิธีก่นด่าสื่อว่าไม่ให้ ความเป็นธรรม กับฝ่ายตนแล้ว นอกจากข่าวที่เกิดจากฝ่าย พันธมิตร จะมีมากกว่าและน่าสนใจกว่า จนกระทั่งยึดครองพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ส่วนมากได้สำเร็จอย่างง่ายดายแล้ว ในระยะเร็วๆ นี้ สื่อวิทยุก็นำเสนอข่าวของฝ่าย พันธมิตร มากขึ้นด้วย
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 27

โพสต์

สำหรับโทรทัศน์ พัฒนาการที่น่าสนใจมากก็คือ ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ สถานีโทรทัศน์บางแห่งได้ริเริ่มที่จะนำเสนอข่าวคราวของฝ่าย พันธมิตร มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตนเอง นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลข้างเคียงจากการที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตได้นำเสนอความเคลื่อนไหวของฝ่าย พันธมิตร มากขึ้นทุกวัน
     
      มากจนกระทั่งเรื่องราวของฝ่าย พันธมิตร กลายเป็น ความจริง ที่ยากแก่การที่โทรทัศน์จะปฏิเสธ หากปฏิเสธ โทรทัศน์ก็ไม่เพียงจะโดนข้อหาว่า ตกข่าว เท่านั้น ทว่าจะมีข้อหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งระหว่างและหลังจากวิกฤตการเมืองคราวนี้สิ้นสุดลง
     
      พูดกันตามจริง โทรทัศน์เองก็มีประสบการณ์อันเจ็บปวดมามากจาก พฤษภาทมิฬ เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนจำเป็นแสนๆ ล้านๆ ออกมาช่วยกันชี้หน้าด่าโทรทัศน์ต่างๆ นานา การที่โทรทัศน์เริ่มปรับตัวในระยะหลังๆ มานี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ อันเป็น สัญญาณ ว่าระบอบทักษิณ ชินวัตรได้ถึงจุดตกต่ำในอีกระดับหนึ่งแล้ว
     
      ปรากฏการณ์เช่นนี้ในวงการโทรทัศน์ก็ถือได้ว่าใหม่เอี่ยมอ่อง ทว่าจะใหม่จริงหรือปลอมขนาดไหน ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไปแบบไม่ละสายตา เพราะในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมมีเหตุผลและขั้นตอนของมัน
 
   
      ก็จะไม่ตกต่ำได้อย่างไรเล่า เมื่อการท้าทายรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากสนธิ ลิ้มทองกุลอีกต่อไปแล้ว ทว่ามาจากมิตรสหายเก่าแก่ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองหลายๆ คน มาจากราชนิกูล วุฒิสมาชิก ปัญญาชนอิสระ และข้าราชการระดับสูงจำนวนไม่น้อย มาจากผู้นำการศึกษาระดับสูงอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาจากครูบาอาจารย์และนักศึกษาอีกหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศ มาจากนักเรียนโรงเรียนมัธยม มาจากคนพิการ ฯลฯ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ เสื้อคอกลม ผ้าพันคอ เสียงเพลงและริงโทน การปิดๆ เปิดๆ ไฟหน้ารถยนต์ หรือแม้กระทั่งการตะโกนด่าเล่นในศูนย์การค้า ฯลฯ
     
      เมื่อผสมผสานเข้ากับคำซุบซิบนินทา คำด่าทอบนเวที เสียงตะโกนไล่ในรูปแบบต่างๆ คำประกาศเจตนารมณ์ การเดินขบวนและยืนล้อมทำเนียบ และอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ดูเหมือนว่าเมืองไทยกำลังหายใจเป็น ทักษิณ...ออกไป มากขึ้นทุกวัน
     
      รออีกสักหน่อย ก็แทบไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์กันเลยก็ได้ เพราะเรื่องราวในสื่อเหล่านี้จะเหมือนๆ กันไปหมด นี่ก็คงจะเป็นเรื่องของเวรของเวรกรรมที่ทำเองอีกเหมือนกัน ไม่รู้จะหยุดได้อย่างไร
     
      หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปอีกเรื่อยๆ แม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ด้วยพลิกผันตนเองให้กลายเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ อย่างที่พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้แนะนำเอาไว้ ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
     
      เพราะสงครามทางวัฒนธรรมที่ใหญ่โตขนาดนี้คงเอาชนะไม่ได้ด้วยเงิน
     
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 28

โพสต์

เมื่อไหร่ทีวีทั้งหลายจะทำข่าวเจาะแบบย้อนรอยของไอทีวี หรืออะไรก็ตามแต่ เกี่ยวกับดีลชินบ้างคับ

จะเป็นแค่ความฝันหรือเปล่า...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เสรีภาพสื่อมวลชน : บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกัน (บทความ)

โพสต์ที่ 29

โพสต์

บทบรรณาธิการร่วมของน.ส.พ.ทุกฉบับวันนี้คับ...
บทบรรณาธิการร่วม: คุกคามสื่อ คือคุกคามประชาชน

10 เมษายน 2549

หลักการสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ จักต้องดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา เพราะหากปราศจากเสรีภาพเหล่านี้แล้ว การทำหน้าที่ในการทำความจริงให้ปรากฏย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นจริงได้เลยแม้แต่น้อย

กว่าหนึ่งศตวรรษที่วิชาชีพสื่อมวลชนได้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2378  โดยหมอบรัดเลย์ ผู้ริเริ่มทำหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ แต่ในที่สุดต้องประสบภาวะล้มละลายเพราะถูกฟ้องเนื่องจากเปิดโปงกรณีกงสุลฝรั่งเศสหลีกเลี่ยงภาษีอากร

ต่อมา ในยุคเผด็จการทหารครองเมือง สื่อมวลชนที่นำเสนอความจริงและวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน กลับถูกลอบสังหาร จับกุมคุมขัง ถูกนำตัวไปปล่อยเกาะ แท่นพิมพ์ถูกทุบทำลาย สำนักงานถูกขว้างระเบิด ฯลฯ

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  สื่อมวลชนในประเทศนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่ย่อท้อ เพราะต่างตระหนักกันดีว่าภาระหน้าที่ที่ดำเนินอยู่ เป็นภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความไว้วางใจจากประชาชนผู้บริโภคสื่อทั้งมวล

ดังนั้น หนทางเดียวที่สื่อมวลชนจะสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มกำลัง จักต้องธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพและเสรีภาพ หากปราศจากเสียซึ่งสิ่งนี้แล้ว ข่าวสารที่ถูกนำเสนอออกมาก็ย่อมไม่ต่างจากกระดาษเปื้อนหมึก หรือมลพิษทางเสียงและสายตาที่พร้อมจะทำลายคุณค่าแห่งความจริงที่ประชาชนจะต้องมีสิทธิได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกันจนหมดสิ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะระบุถึงการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน แต่กลับเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจรัฐผนวกกับอำนาจทุนข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนทุกรูปแบบและทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา  แต่ที่ร้ายที่สุดคือการใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งหน้าและใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือน ใส่ไคล้ ให้ร้าย เพื่อแยกสื่อออกจากประชาชน และแยกประชาชนออกจากสื่อ

วันที่ 5 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา บรรณาธิการและนักข่าวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ สถานีข่าววิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานี จึงได้มารวมตัวกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า พวกเราจะต่อต้านการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ เพราะเราเชื่อว่าการที่สื่อถูกคุกคามก็เท่ากับประชาชนถูกคุกคามด้วย และหากสื่อปราศจากเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นแล้ว  สังคมนั้น ก็ย่อมจะตกอยู่ในภาวะแห่งความมืดบอดทางปัญญา  
สื่อมวลชนทั้งหลาย จึงพร้อมที่จะรวมพลังกันต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน บนหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนและความถูกต้อง โดยยินดีน้อมรับการตรวจสอบจากสังคม และกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรมทุกด้าน แต่เราจะไม่ยอมรับการตรวจสอบโดยการใช้กำลังและด้วยวิธีการนอกกฎหมาย

เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและร่วมกันแปรเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ สิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของประชาชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพทางวิชาการอื่นๆ ให้เป็นจริงทั้งทางอุดมการณ์และทางปฏิบัติ

เราขอให้คำมั่นว่า เราจะใช้เสรีภาพที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อจริยธรรมทางวิชาชีพ เพื่อทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนในการชูประทีปแห่งความจริงไล่ความมืดบอดให้หมดไปจากสังคมนี้


                        หยุดคุกคามสื่อ
                โดย: เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์



สังคมนี้มีคนสองชนชั้น
คือหนึ่งนั้นผู้ได้เปรียบกดขี่ข่ม
สองคือผู้เสียเปรียบถูกเหยียบจม
เราอยู่ในสังคมแห่งชนชั้น

ชนชั้นผู้ได้เปรียบกับเสียเปรียบ
ฝ่ายหนึ่งเหยียบอีกฝ่ายไปเป็นขั้น
จนเห็นเป็นธรรมดาเป็นสามัญ
ต่างแย่งชิงแข่งขันเหยียบกันไป

สื่อต้องเป็นตาที่สามของสังคม
เห็นสามานย์โสมมแห่งยุคสมัย
สื่อต้องเป็นปากเสียงอันเกรียงไกร
ร่วมขับไล่คัดค้านพาลภารา

เมื่อโลกเงียบด้วยอธรรมคุกคามเข่น
สื่อต้องเป็นปากเสียงตะโกนกล้า
เมื่อโลกมืดมัวมนด้วยมายา
สื่อต้องเป็นดวงตาประชาชน

กันดารแดนก็จะดั้นกันดารแดน
ระส่ำแสนฝนห่าจะฝ่าหน
ที่เถื่อนถ่อยจะท้าทับทุกมณฑล
จะไม่ยอมจำนนความต่ำทราม

เสรีสื่อคือเสรีแห่งประชา
อันใดฤๅจักกล้ามาหยาบหยาม
ทั้งฟ้าดินจะจารึกผนึกประณาม
คุกคามสื่อคือคุกคามประชาชน!
โพสต์โพสต์