เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

ล็อคหัวข้อ
Zionism
Verified User
โพสต์: 1260
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9650

อัลเบโต ฟูจิมูริ เป็นประธานาธิบดีของเปรู เมื่อทศวรรษ 1990 แต่ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่นเมื่อปี 2000 ด้วยเรื่องอื้อฉาวโยงกับปัญหาคอร์รัปชั่นระดับอภิมโหฬาร ที่คนสนิทของเขาเป็นหัวเรือใหญ่ และยังถูกข้อกล่าวหาค้ายาเสพติดและสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมอีกด้วย เรื่องราวของเขาน่าสนใจ เพราะเป็นบทเรียนให้กับขบวนการประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี

แม้ฟูจิมูริ จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่แต่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อปี 1990 หลังจากเปรูต้องผจญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เขาสัญญาจะทำให้เศรษฐกิจเปรูพื้น และเขาก็ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจประสบความสำเร็จตามสมควร เขามอบอำนาจให้วลาดิมิโร มองเตสซิโน หัวหน้าตำรวจสืบราชการลับเป็นผู้ดูแลการเมืองให้ "นิ่ง"

มองเตสซิโนได้รับงบประมาณจากรัฐบาลบวกกับรายได้จากหน่วยงานรัฐอื่นๆ แบบใต้โต๊ะอีกรวมแล้วเดือนละ 8-9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินเหล่านี้มองเตสซิโนสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องรายงานใคร

มองเตสซิโน บันทึกกิจกรรมทุกอย่างที่เขาทำอย่างละเอียดโดยบันทึกลงในวิดีโอ เขาให้ทุกคนที่เขาจ่ายเงินให้เซ็นรับ และเขาเก็บใบเสร็จเอาไว้ในไฟล์ เขาวีดีคือตัวเขาเองนับเงินสินบน "เอ้านี่ 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10 หนึ่งล้าน 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10 สองล้าน ของขวัญจากผมเอาไปเลย!" นอกจากนั้น ยังทำใบสัญญาแจกแจงอย่างละเอียด สิ่งที่ผู้รับเงินสินบนต้องทำตามข้อตกลง(แม้เขาจะรู้ว่านี่ไม่ใช่สัญญาที่จะเอาไปขึ้นศาลได้)

ทำไมเขาต้องบันทึกทุกอย่าง เป็นไปได้ว่า บันทึกเป็นสิ่งช่วยจำว่าเขาติดต่อกับใครบ้าง และเขาจะต้องติดตามผลงานอะไรบ้าง เพราะว่าเขาต้องให้สินบนกับคนถึงเกือบ 2,000 คน! เป็นไปได้ว่าเขาเก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้เพื่อแบล๊กเมล์ลูกค้าของเขาให้ทำตามข้อตกลง หรือเพื่อเอาไว้ป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลของฟูจิมูริล้มลงด้วยเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้แล้ว วิดีโอและเอกสารต่างๆ ที่มองเตสซิโนทำไว้ซึ่งมีจำนวนมากมายก็ถูกเปิดเผย นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนำมาวิเคราะห์และพบสิ่งน่าสนใจ "ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ของการเมืองนิ่ง"

บันทึกอย่างละเอียด บอกให้รู้ว่า จะต้องจ่ายเงินให้ใคร จ.น.เท่าไร? และบอกให้เห็นว่ากลุ่มไหนในสังคม มีพลังในการทำให้การเมืองกระเพื่อมได้มากที่สุด และจึงจะเป็นกลุ่มที่ต้องจ่ายจำนวนมากที่สุดด้วย

ต้องพูดถึงภูมิหลังของเปรูบ้างเล็กน้อย เปรูในขณะนั้น มีสถาบันประชาธิปไตยเต็มขั้นแล้ว คือมีรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านมีที่นั่งตามสมควร กระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารตามประเพณีของยุโรป สื่อสารมวลชนได้รับการการันตีด้านเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ทุกแห่งเป็นของเอกชน

มองเตสซิโนทำงานให้กับฟูจิมูริ โดยมีหน้าที่คุมสถาบันการเมืองต่างๆ ให้นิ่ง อย่าวิจารณ์รัฐบาลให้น้ำกระเพื่อม เขาทำอย่างไร?

เป้าหมายสำคัญของเขาคือคน 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ส.ส.ฝ่ายค้าน (2) ศาลสถิตยุติธรรม (3) สื่อสารมวลชน

เขาจ่าย ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยให้สินบนเป็นเงินก้อนเพื่อให้ออกเสียงสนับสนุนรัฐบาลเป็นครั้งเป็นคราวเมื่อจำเป็น

เขาจ่าย ส.ส.ฝ่ายค้านที่มักสร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาล โดยให้เงินเดือนประจำระหว่าง 5,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าความจงรักภักดี โดย ส.ส.เหล่านี้ต้องเซ็นเอกสารสัญญาที่จะ "รับฟังแต่คำสั่งจากเขาอย่างเคร่งครัด"

กลุ่มผู้พิพากษาได้รับน้อยกว่า ส.ส. คือระหว่าง 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่ถ้าหากจะให้ตัดสินคดีตามต้องการเป็นกรณีพิเศษ จะต้องจ่ายเป็นเงินก้อนอีกต่างหาก

สำหรับสื่อ ต้องจัดการเป็นพิเศษแตกต่างออกไป เพราะมีความสำคัญมาก เจ้าของหนังสือพิมพ์บางคนที่มีผู้อ่านมากได้รับสินบนเดือนละ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ บางแห่งได้รับตามผลงาน เช่น เท่านี้สำหรับจ่าหัวขึ้นหน้าปกตามที่ต้องการ เท่านั้นสำหรับบทความทั้งชิ้น บางรายได้รับประโยชน์ในรูปของค่าโฆษณาจากรัฐบาล

แต่สินบนก้อนใหญ่ที่สุดจ่ายให้กับเจ้าของสถานีโทรทัศน์ 5 แห่ง และเคเบิลทีวีอีก 1 แห่ง

โทรทัศน์ช่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้รับสินบนจากมองเตสซิโน เดือนละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่องสำคัญรองลงมาอีกได้รับลดหลั่นลงไป ช่องที่ไม่สำคัญมากได้รับประโยชน์ในรูปอื่นๆ เช่น คำพิพากษาที่ต้องการ หรือสัมปทานทำธุรกิจกับรัฐบาล ฯลฯ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ต้องทำสัญญา เช่น ยอมให้มองเตสซิโน ควบคุมเนื้อหาของข่าว โดยผู้จัดรายการจะต้องมาคุยกับมองเตสซิโนทุกเที่ยงเพื่อวางแผนเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวภาคค่ำว่าจะมีอะไรบ้าง และเขาจะจัดทีมงานดูแลให้สถานีโทรทัศน์ทำตามข้อตกลงด้วย

โดยรวมมองเตสซิโนจะจ่ายให้ ส.ส.ในกำกับทั้งหมดเดือนละ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผู้พิพากษาน้อยกว่านี้ และสำหรับเจ้าของสถานีโทรทัศน์ในกำกับทั้งหมดเดือนละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกเหนือจากนี้แล้วก็ยังจะมีของขวัญเป็นครั้งคราวในรูปของ รถหรู บ้านราคาแพง งานช่วยปลดหนี้ ค่าใช้จ่ายเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ และความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาส่วนตัว ปัญหาธุรกิจ ปัญหากับศาล

สถานีโทรทัศน์แห่งเดียวที่เขาไม่ได้จ่ายเงินคือ เคเบิลทีวีรายเล็กๆ 1 ราย(มีสมาชิกจำนวนไม่มาก) ที่ต้องผจญกับมรสุมธุรกิจ และเกือบเอาชีวิตตัวเองไม่รอด แต่ก็ยืนหยัดวิจารณ์รัฐบาลอย่างไม่ย่นย่อ

สำหรับนักเคลื่อนไหว และหัวหน้าชุมชนที่ต่อต้านรัฐบาล มองเตสซิโนจัดการด้วยวิธีอื่น เช่น ถูกยิงตาย มองเตสซิโนมีพรรคพวกในกลุ่มทหารและสามารถเข้าแทรกแซงการเลื่อนขั้นจนในท้ายที่สุด ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 17 คน เป็นคนของเขา รวมทั้งเขยของเขาคนหนึ่ง

มองเตสซิโนพูดเสมอว่า "ผมทำทุกอย่าง เพราะผมมีหน้าที่รับใช้ชาติ"

สิ่งที่น่าสังเกตคือ จำนวนเงินที่จ่ายให้สถานีโทรทัศน์มากกว่าที่จ่ายให้ ส.ส.หรือผู้พิพากษาถึง 100 เท่า ทั้งนี้เพราะมองเตสซิโนเชื่อว่า สื่อโทรทัศน์สามารถทำให้การเมืองกระเพื่อมได้มากที่สุด เพราะสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของผู้คนในวงกว้าง ไม่ใช่ ส.ส.หรือผู้พิพากษา

น.ส.พ.ก็ยังไม่สำคัญเท่าสื่อโทรทัศน์เพราะแต่ละ น.ส.พ.อาจมีคนอ่าน 2 แสน 3 แสน แต่สื่อทีวีสามารถเข้าถึงผู้คนได้ถึง 20-30 ล้าน เขากล่าวว่า "ถ้าเราไม่ควบคุมทีวี ก็ควบคุมอะไรไม่ได้เลย"

มองเตสซิโนปล่อยช่องว่างไว้อันหนึ่ง และนี่ทำให้ความลับของเขาถูกเปิดโปง และเขาต้องล่มไปพร้อมๆ กับฟูจิมูริ

เคเบิลทีวีเล็กๆ ที่เขาคิดว่าไม่สำคัญ เพราะเห็นว่าเล็กเกินไป และเจ้าของมีชื่อเสียงว่าเป็นคนตรงและมั่นในหลักการมาก ได้รับวิดีโอเทปอันหนึ่งของมองเตสซิโนและเอามาออกรายการทีวีหลังจากนั้น นักเคลื่อนไหวติดตั้งจอทีวีขนาดใหญ่กลางถนนและเปิดเทปให้ทุกคนดู สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นก็เอาอย่างบ้าง เรื่องจึงกระจายไปอย่างรวดเร็ว

จุดจบคือ มองเตสซิโนถูกจับและยังถูกขังคุกอยู่ ฟูจิมูริลี้ภัยไปญี่ปุ่นและยังอยู่ที่นั่น

ทั้งสองคนถูกข้อกล่าวหาหลายกระทง คอร์รัปชั่น ฆาตกรรม ทารุณกรรม จัดตั้งกลุ่มไล่ล่า ค้ายาเสพติด อัยการเปรูประเมินว่าพวกเขาฉ้อฉลเงินสาธารณะไปเป็นจำนวนมาก

เปรูและไทยแตกต่างกันมาก ในแง่รายละเอียดด้านวัฒนธรรม โครงสร้างทางการเมือง การเป็นเจ้าของสื่อ รูปแบบการหาเงินจากการเมือง และอื่นๆ

แต่เรื่องราวของมองเตสซิโน มีบทเรียน ซึ่งอาจใช้ได้ทั่วไป นั่นคือ

ประชาธิปไตยถูกซื้อได้ และศัตรูของอำนาจนิยมคือ ส.ส.อิสระ ผู้พิพากษาที่ซื่อตรงและสื่อเสรี

แต่จาก 3 กลุ่มนี้ สื่อเสรีเป็นภัยต่ออำนาจนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะสื่อทีวี

จากคุณ : อ่านขาด  - [ 18 พ.ย. 48 08:55:15 ]  


--------------------------------------------------------------------------------
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เอ....ถ้างั้น วิธีที่จะเสียเงินน้อยๆ ก็ต้องแต่งตั้งให้พรรคพวกและคนสนิทๆไปคุมจุดสำคัญๆไว้ก่อนสิครับ คนไหนไม่เข้าพวกแถมซื้อก็ไม่ได้ก็ต้องพยายามถอดถอนให้พ้นๆไป...จะได้ทำอะไรๆสะดวกๆหน่อย

แหม...ถ้ายิ่งเปลี่ยนกฎหมายได้ให้เอื้ออำนวยขึ้นไปอีกก็ยิ่งดีสิ.....โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการประมูลทั้งหลาย...ให้ทำได้สะดวก ตรวจสอบไม่ได้ และรวบรัดก่อนที่จะหมดสมัย ที่ใครๆก็ชมว่าทำงานเร็วดีจัง
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ถ้ากลัวว่าจะมีคนสงสัยว่าทำไมมาเปลี่ยนกฎระเบียบการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยกเหตุผลที่ดูดีเป็นประโยชน์ขึ้นมาอ้างก่อนเลย (แต่อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาให้นะ...และอย่าหวังว่าจะบอกข้อเสียที่มีมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าด้วย)ก็ของคราวก่อนยังแก้ตัวไม่ออกเลย แต่อาศัยพรรคพวกคุมไว้ทุกด่านก็เลยถูไถไปได้ จะเปลี่ยนคนตรวจสอบก็ดูจะลำบาก...งั้นตรูเปลี่ยนกฎระเบียบวิธีการมันซะเลย ให้ตรวจสอบไม่ได้ แถมร่นระยะเวลาการวางแผนการศึกษาการออกแบบมารวมเป็นงานเหมาTurukey ทั้งหมดเลย(ให้มันรู้ซะบ้างว่าตรูฉลาดขนาดไหน...มีที่ไหนกันงานใหญ่ๆใช้วิธีTurnkey...ตรูนี่หละจะทำให้ดู) จะได้เห็นยอดเงินก้อนทั้งหมดว่า ตรูจะส่งให้เองทำทั้งหมดเลย ไม่ต้องมาแบ่งส่วนให้วุ่นวายและขั้นตอนยุ่งยากช้าเกินไปเดี๋ยวไม่ทันเซ็นต์ชื่ออนุมัติในสมัยตรู...แมวคาบไปทานหมดพอดี

โปรดคอยติดตามชมตอน2ต่อไป ในชื่อตอน "เมกกะโปรเจ็ค"

ปีหน้าตรูคงขึ้นจากอันดับ14 ไปอยู่เลขตัวเดียวแน่ๆ อาจเข้าTOP5ของโลก ดังแน่ๆตรู....เอิ๊ก..เอิ๊ก
ภาพประจำตัวสมาชิก
คัดท้าย
Verified User
โพสต์: 2917
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การเมืองนิ่ง"

โพสต์ที่ 4

โพสต์

อัลเบโต ฟูจิมูริ ทำได้ขนาดนั้น ... แล้วทำไม เรื่องมันจึงแดงขึ้นมาได้ครับ

ถ้าคุมได้ขนาดนั้น น่าจะคุมได้นะ ใครได้ทราบข้อมูลมั่ง ว่า อัลเบโต ฟูจิมูริ ไปพลาดตรงจุดไหนครับ ?
The crowd, the world, and sometimes even the grave, step aside for the man who knows where he's going, but pushes the aimless drifter aside. -- Ancient Roman Saying
ล็อคหัวข้อ