|0 คอมเมนต์
เจอก็มาแปะ เกาะติดสถานการณ์เวียดนามอยู่ค่ะ
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน และวาณิชธนกิจชั้นนำในต่างประเทศ พากันนำเสนอบทวิเคราะห์ที่เตือนถึงสัญญาณอันตราย ที่พบในตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนาม ทั้งในแง่ของอัตราเงินเฟ้อ ที่ทะยานขึ้นถึง 25.2% ในเดือนพฤษภาคม จนถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขาดดุลการค้าทั้งสิ้น 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าขาดดุลการค้า 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ ตลอดทั้งปี 2550
คำเตือน และตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่ออาการไม่น่าวางใจ ได้สร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อค่าเงินด่อง ของเวียดนาม จนธนาคารกลางเวียดนาม ต้องประกาศปรับมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ โดยลดค่าลงมาประมาณ 2% และขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 2% เป็น 14%
อย่างไรก็ตาม มุมมองด้านลบ ไม่สามารถบั่นทอนเสน่ห์ของเวียดนาม ในฐานะปลายทางการลงทุนทางเลือกลงไปมากนัก แนวโน้มเงินลงทุนจากต่างประเทศ ยังคงส่งสัญญาณไหลเข้าอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ทางการฮานอยคาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในครึ่งปีแรก ของปี 2551 จะสูงถึง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เวียดนามสามารถดึงดูดมาได้ตลอดทั้งปี 2550
ภาพที่ขัดแย้งดังกล่าว นำมาซึ่งความสับสน และไม่ชัดเจนในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ว่า แท้จริงแล้ว เวียดนามเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทิศทางการลงทุนของบริษัทที่ไปลงทุนที่นั่น หรือ อยู่ระหว่างวางแผนไปปักหลักลงทุนในอนาคตอันใกล้
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ รองประธานกลุ่มธุรกิจทั่วไป ไอบีเอ็มภาคพื้นอาเซียน ได้ให้มุมมองในฐานะนักธุรกิจไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำธุรกิจในเวียดนามทั้งในแง่ภาพรวมทั่วไปของธุรกิจ การลงทุน และการบริหารจัดการแก้ปัญหาของรัฐบาลเวียดนาม โดยได้ถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งที่ได้ไปพบปะในเวียดนามถึงข้อมูลต่างๆ ว่า
"อมตะ" มองเวียดนาม
"รัฐบาลรับมือปัญหาได้ดี"
จากภาวะฟองสบู่แตก เงินเฟ้อสูง และเงินด่องอ่อนค่าลง ส่อเค้าการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรง นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ทำธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยมีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง และนิคมอุตสากรรม อมตะนคร ที่จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังได้ขยายการลงทุนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามด้วย อยู่ที่จังหวัดดองนัยจำนวน 700 เฮกตาร์ หรือประมาณ 4,550 ไร่ โดยใช้ชื่อว่า "นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว" เป็นลงทุนร่วมกับรัฐบาลเวียดนามสัดส่วนการถือหุ้น 60:40 กล่าวว่า สถานการณ์ของเวียดนามในขณะนี้จะคล้ายกับประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ก่อนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเศรษฐกิจร้อนแรงมาก มีการเก็งกำไรกันอย่างมหาศาล เงินเฟ้อสูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรง ฟองสบู่แตก มีการลดค่าเงินบาท บริษัทในตลาดตลาดหลักทรัพย์รับผลกระทบไปเต็มๆก่อนเพื่อน
อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน แต่ถ้าพูดถึงความแข่งแกร่งแล้วระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามแล้ว ประเทศเวียดนามดีกว่า การตัดสินใจ ผู้นำประเทศเขาเข้มแข็ง กล้าคิด กล้าทำ มีการศูนย์รวมอำนาจ
ที่มองข้ามไม่ได้คือ เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ "น้ำมัน" ปีหน้า (2552) โรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางในเวียดนามจะเริ่มดำเนินการผลิต หมายความว่า "เงิน" มหาศาลจะเข้าสู่เวียดนาม อุตสาหกรรมต่อเนื่องใหญ่ เช่น ปิโตรเคมี จะตามเข้าไปอีกมาก เหมือนกับที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง ของไทยที่มีโรงกลั่น และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นอกจากนั้นยังมีทรัพยากรถ่านหิน แร่เหล็ก ที่ตัวเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรม ดึงเงินเข้าประเทศเวียดนามอีกจำนวนมาก ดังนั้นเวียดนามไม่จำเป็นต้องกู้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าเวียดนามสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
ในมุมกลับกัน คนที่เข้าไปลงทุนผลิตเพื่อส่งออก ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเวียดนามนั้น การลดค่าเงินทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้เขายิ่งชอบ เพราะสามารถเข้าไปใช้วัตถุดิบราคาถูก ค่าแรงก็ยังไม่แพงมาก ในขณะที่การส่งออกยังไปได้ดี เพราะค่าเงินอ่อนนั่นเอง
อีกทั้งเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาพยายามทำทุกวิถีทางที่จะดึงนักลงทุนเข้าไปในประเทศ ตัวอย่างเช่น การออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ประเทศไทยใช้เวลา 2 วัน เวียดนามใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง เขาไม่มาเปรียบเทียบกับประเทศไทย แต่เอาสิงคโปร์เป็น Role Model เป็นตัวเปรียบเทียบในการทำเบนช์มาร์ก ซึ่งก็จะเป็นแรงขับให้เวียดนามเร่งการพัฒนา
ภาพรวมที่มองว่าเวียดนามมีปัญหาเศรษฐกิจ ลึกๆ เชื่อว่าเวียดนามแก้ไขได้ และมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ อาจจะมองได้ว่าเวียดนามเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่ได้นาน และเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ซึ่งกรณีนี้อาจจะปรับไม่ทัน เป็นภาวะแทรกซ้อนชั่วคราว เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% โตแบบมีพื้นฐานแน่น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ เหมือนกับเป็นการเหยียบเบรก เพื่อหันกลับมาดูแลประเทศมากขึ้น กลับมาสร้างโครงการพื้นฐานให้แน่นขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศเวียดนามต่อไป
นายวิบูลย์กล่าวว่าสำหรับที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว ตอนนี้ก็ขายได้เรื่อยๆ จากพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมด 700 เฮกตาร์ ตอนนี้เหลืออยู่ 200 เฮกตาร์ ก็คาดว่าจะมีการลงทุนขยายพื้นที่เพิ่ม แต่ก็ต้องมีการเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม ว่าให้พื้นที่ และราคาเท่าใด ต้องยอมรับสถานการณ์จากในอดีตถึงปัจจุบัน เวียดนามต่อรองเก่งมาก ขอซื้อพื้นที่ได้ยากขึ้น ดังนั้นเราทำอะไรไม่ได้มาก
นโยบายบริษัทกับพื้นที่เหลืออยู่ 200 เฮกตาร์ จะไม่พัฒนาขายเป็นที่ดินอย่างเดียวแล้ว แต่พัฒนาเป็นโรงงานให้เช่า รองรับได้ได้ประมาณ 20 โรงงาน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่า ได้ราคาดีกว่าขายเฉพาะพื้นที่ ซึ่งขณะนี้โรงงานชิเซโด ก็ได้ประเดิมเช่าชื้อโครงการ ดังกล่าวแล้ว อายุสัญญา 30 ปี
อย่างไรก็ตามแม้เวียดนามจะเกิดปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความนักลงทุนจะหลั่งไหลมาประเทศไทย เพราะประเทศไทยก็ยังมีปัญหาการเมืองอยู่ ยังถือว่าไม่มีเสถียรภาพ
ด้าน นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าที่พัฒนาธุรกิจ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เวียดนาม ลดค่าเงินด่อง 2% กระทบไม่มาก เพราะบริษัทขายที่ดินเป็นเงินเหรียญ แม้จะขายเป็นเงินด่องแต่ก็เทียบค่าเงินเหรียญเป็นหลัก ส่วนค่าจ้าง ค่าแรงจ่ายเป็นเงินด่อง
ดังนั้น ผลกระทบของบริษัท อมตะเวียดนามน้อยมาก ที่กระทบคือค่าจ้าง กระทบเงินเฟ้อ ต้องปรับเพิ่มขึ้น แต่เราก็สามารถชดเชยโดยการปรับราคาจำหน่ายที่ดิน และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนสูง ทำให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในเวียดนามน้อยลง
![รูปภาพ](http://www.matichon.co.th/news-photo/prachachat/2008/07/edi01030751p2.jpg)
มุมมอง "เวียดนาม" ของไอบีเอ็ม
"ศุภจี สุธรรมพันธุ์" รองประธานกลุ่มธุรกิจทั่วไป ไอบีเอ็ม ภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่าเวียดนามถือเป็นประเทศไฮไลต์ในการลงทุนของไอบีเอ็มในภูมิภาคอาเซียน เพราะเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตสูงมาก ทำให้ต้องเดินทางไปเป็นประจำเฉลี่ยทุกๆ 2 สัปดาห์
กับกรณีปัญหาเงินเฟ้อเวียดนาม "ศุภจี" ยอมรับว่า น่าเป็นห่วงมาก เพราะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แต่รัฐบาลเวียดนามก็ตั้งตัวได้ค่อนข้างเร็ว ไม่ได้ปล่อยให้แย่เกินไป พอเริ่มมีปัญหาเวียดนามก็ประกาศลดค่าเงิน รวมถึงการที่รัฐบาลชะลอการใช้งบประมาณถือว่ามีการแอคชั่นค่อนข้างเร็ว และสัญญาณได้ส่งผ่านตลาดหุ้นที่เริ่มซบเซาลง
จากเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเยอะมาก แต่ขนาดประเทศก็ไม่ได้ใหญ่มากเท่าจีน พอเงินลงทุนต่างประเทศเข้าไปมากๆมันก็สวิง เหมือนประเทศไทย เงิน 2 ล้านเหรียญก็ทำอะไรได้มาก เช่น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นลงรวดเร็วเพราะตลาดหุ้นเวียดนามก็ยังมีขนาดเล็กกว่าตลาดหุ้นไทย
นอกจากนี้ด้วยความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่มีนักลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไป ทำให้ราคาอสังหาฯในเวียดนามสูงมาก
ศุภจีกล่าวว่า "อย่าง 10 ประเทศอาเซียนที่ดูแลอยู่ ดูเหมือนว่าราคาอสังหาฯสิงคโปร์แพงสุด แต่ไปที่เวียดนาม ฮานอยแพงกว่าอีก เพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย เนื่องจากตึกเก่าหมดแล้ว ตึกใหม่กำลังขึ้นแต่ยังไม่ทันกับดีมานด์เพราะคนเข้ามาเยอะ อพาร์ตเมนต์จะแพงเพราะหาดีๆ ไม่ค่อยได้ มีแต่ตึกเกรดดี เกรดซี แต่ต่อไปถ้าโครงการต่างๆ สร้างเสร็จราคาก็คงจะลดลง"
อย่างไรก็ตามรัฐบาลค่อนข้างตื่นตัวและใส่ใจแก้ปัญหาค่อนข้างเร็ว อย่างผังเมืองฮานอยที่มีอายุประมาณ 100 ปี ตอนนี้ก็มีการ รีบราวน์ผังเมืองให้กว้างขึ้น ทำให้เมืองใหญ่ขึ้น ทำให้ลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐานได้ครบมาก ผังเมืองค่อนข้างพร้อม เห็นทิศทาง ค่อนข้างดี
ในแง่ของตลาดไอทีเวียดนามก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมการผลิตต่างย้ายฐาน การผลิตเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพราะแรงงานถูก มีประสิทธิภาพในแง่ภาษาและทักษะ ก็ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนด้านไอทีด้วย
และหนึ่งในยุทธศาสตร์อาเซียนของไอบีเอ็มก็คือการโฟกัสการลงทุนและการเติบโตในเวียดนาม
วันนี้เวียดนามกำลังอยู่ในสเตตของจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือเมื่อ 10 ปีก่อน ไอบีเอ็มในจีนมีรายได้ 50 ล้านเหรียญ และ 10 ปีต่อมามีรายได้เพิ่มเป็น 1.5 พันล้านเหรียญ
ดังนั้นจึงต้องวางยุทธศาสตร์ของเวียดนามโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะในเรื่องของการวางกลยุทธ์ตลาด รวมถึงการลงทุนสร้างcompetency center ด้านแบงกิ้งที่เวียดนาม หรือการสร้างเวียดนามให้เป็นฮับในการส่งออก skill ในเรื่องโพรเคียวเมนต์ โปรเซส เอาต์ซอร์ซ ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีการลงทุนที่ ค่อนข้างเยอะ
http://www.matichon.co.th/prachachat/pr ... ionid=0212
..สักวันจะเก่งเหมือนพี่บ้าง..