
คิดอยู่นานว่าผมจะเอาอะไรมาแชร์ดี บางเรื่องก็อวิชา เกรงว่าเอามาพูด ใครเกิดนำไปใช้อาจจะมีอาการ "ธาตุไฟเข้าแทรก" ได้
ตอนนี้คิดว่า จะเอา "เคล็ดวิชา 4 กระบวนท่า" ส่วนตัว มาเล่าใหม่ดีกว่า แต่ภาคนี้ คงต้องเพิ่มกระบวนท่าที่ 5 เข้ามาด้วย เพราะคิดมานานแล้วว่า มันควรจะอัพเป็นกระบวนท่าที่ 5 นานแล้ว แต่ยังดูอยู่ว่ามันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน พอช่วงตลาดหุ้นไซด์เวย์เลยมองว่า เราน่าจะอัพระดับกระบวนท่านี้ขึ้นมาเทียบเท่ากับ 4 ท่าแรก
เคล็ดวิชานี้ เป็นวิธีส่วนตัวของผมนะครับ ใครไม่เห็นด้วยไม่ว่ากัน เพราะไม่ได้ต้องการจะไปเปรียบเทียบอะไรกับใครทั้งนั้น ไม่ได้ต้องการจะไปคลัฟว่า ของเราดีของคนอื่นไม่ดี ใครอ่านแล้วว่าดีอยากเอาไปใช้ก็ใช้ ไม่สนใจก็ไม่ว่ากันครับ
ผมออกตัวก่อนนะ ว่าที่มาของกระบวนท่าและลำดับความสำคัญนี้ มาจากการที่ผมเอง เป็นคนไม่ชอบเล่นกับความเสี่ยง ประเภทหุ้นกำลังมีโมเมนตัม วิ่งเหนือเส้นค่าเฉลี่ยแล้วมองว่าจะไปต่อแบบนั้น ผมไม่ค่อยยุ่งเลย
ฉะนั้นหลักการของผมก็คือ "ไม่ขาดทุนไว้ก่อน" เพราะตัวผมเองมีนิสัยไม่ชอบการคัทลอส ฉะนั้นจึงไม่พยายามเอาตัวเองไปเสี่ยงกับหุ้นที่มีโอกาสคัทลอสสูงตั้งแต่แรก ตรงข้ามกับแบบที่บางคนเค้าอาจจะยอมรับแบบพลาดคัทลอสเสีย 5% แต่ถ้าได้ก็ไปเอาคืนกับ "คำใหญ่"
ผมชอบดูฟุตบอลนะ ฉะนั้นหลักการของผมมันจึงไม่ต่างกับหลักการที่โค้ชบางคนเชื่อ นั่นก็คือ "ถ้าเราไม่เสียประตูก่อน เราก็ไม่มีทางแพ้" ฉะนั้น ไม่ชนะไม่เป็นไรแต่อย่าแพ้ เพราะการแพ้หรือขาดทุน ทุนเราจะหายไปครับ
5 กระบวนท่า ประกอบด้วย
1) downside
2) catalyst
3) upside
4) timing
5) weight
ทุกอย่างมีความหมายในตัวของมัน แม้แต่ลำดับการเรียง
1) Downside ผมให้ความสำคัญกับข้อนี้เป็นอันดับแรกครับ เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าซื้อของได้ถูกแต่แรก โอกาสที่จะขาดทุนก็จะต่ำลงตามกันไป หุ้นที่ราคาลงมาแรง ๆ แต่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำ มักจะมีสาเหตุใหญ่ ๆ ไม่กี่สาเหตุ
1. ตลาดแย่ยาวนานหรือเกิดแพนิคที่รุนแรง ตรงนี้แม้แต่หุ้นที่เป็นหุ้นชั้นดี ก็สามารถลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ โดยที่พื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลง
2. เกิดปัญหาบางอย่างกับบ. ส่วนใหญ่ที่ผมมักจะสนใจดูคือหุ้นในกลุ่มนี้ เน้นพวกที่มีปัญหาชั่วคราว ทั้งจากตัวบ.เอง และจากภาพรวม เช่นอาจจะมียอดขายลดลงต่ำกว่าปกติที่เป็นแค่เหตุชั่วคราว และประเมินแล้วสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ปัญหาคือ เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดมันเป็นเรื่อง "ชั่วคราว"
ทีนี้ผมจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความเสี่ยงตรงนี้มันต่ำพอ ถ้าไปอ่านหนังสือที่พูดถึงเรื่องความเสี่ยง ไม่เคยมีใครเขียนเอาไว้เลยนะครับ ว่า มันควรจะเป็นเท่าไหร่ วัดจากอะไร เค้าจะอธิบายเพียงแค่ มันคืออะไร สภาวะแบบไหน ตอนไหนที่เราต้องระวัง แนว ๆ นี้น่ะครับ ฉะนั้น ผมจึงสรุปเอาเองว่า "เอาที่เราสบายใจ" อย่างหุ้นบางตัว สมมติราคา 20 บาท บางคนบอก 15 ก็ถูกแล้ว บางคนบอก 10 บาท บางคนบอกต้อง 5 บาท ไม่มีหลักการตายตัวครับ
แต่อันนึงที่ผมจะใช้เป็นตัวช่วยก็คือ "stress test" ถ้าใครเคยอ่านหน้าที่ผมเคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ อันนี้ผมบัญญัติขึ้นเองนะ น่าจะอิงมาจากการตรวจทางหัวใจที่เค้าเอาคนไข้ไปเดินสายพานเพื่อกระตุ้นให้ทำงานหนักแล้วดูว่าหัวใจทนการขาดเลือดไหวหรือเปล่า ที่เรียกกันว่า exercise stress test

จากการสังเกตของผมนะ ถ้าหุ้นลงมาหนัก การซื้อขายมันจะน้อยจนแทบจะไม่ค่อยมีการซื้อขาย มันน่าจะเกิดจากรายย่อย "ยอมมอบตัว" ขายจนหมดแรงขาย บางทีเราจะเห็น bid offer บางหรือข้ามช่อง บางครั้งราคาอาจจะลงมาได้อีก แต่ก็ลงแบบเหมือนคนตกใจทิ้งแรง ๆ พอแรงรับไม่มีมันก็ลงได้มาก ๆ แต่ถ้าหุ้นกลับขึ้นไปก็ขึ้นได้มาก ๆ เช่นกัน
stress test อาจจะเอามาดูได้สองแบบ เช่น ถ้าตลาดแพนิคสุด ๆ หุ้นยังยืนอยู่ได้ ลงนิดหน่อยหรือแทบไม่ลงเลย ถือว่า "ผ่าน"
แบบที่สอง งบออกมาติดลบหรือยังแย่ แต่หุ้นกลับไม่ลง เหมือนเกิดอาการ "ตายด้าน" แบบนี้ถือว่า "ผ่าน"
พูดง่าย ๆ ว่าถ้ามีสภาวะการที่แย่ขั้นรุนแรงจากอะไรก็ตาม หุ้นยังยืนอยู่ได้ อย่างน้อยโอกาสที่จะลงโดยกลุ่มที่มองแบบ "นอนวีไอ"มันก็จะน้อยลงมาก หน้าที่ของเราก็ต้องประเมินต่อล่ะ ว่าในแง่พื้นฐานจริง ๆ แล้วมันโอเคไหม ถ้าตัวเลขทางการเงินยังดูดี ปัญหาน่าจะแก้ไขได้ อันนี้ก็น่าสนใจ เราก็ไปขั้นต่อไป
2) Catalyst อันนี้จากการสังเกตเช่นกันว่า "หุ้นที่ไม่มี catalyst ยากที่จะขึ้น" หรือถ้าขึ้นได้ก็ตามสภาวะตลาด หรือมือที่มองไม่เห็น ถ้าผมเจอหุ้นที่ความเสี่ยงต่ำ ราคาลงมาเยอะ ผมจะดูต่อว่ามันมีเรื่องราวอะไรให้มันกลับไปได้บ้าง ตรงนี้สารพัดครับ ตั้งแต่เศรษฐกิจดีขึ้น ค่าเงินอ่อนแข็ง โรงงานใหม่ M&A เปลี่ยนผบห. ลูกค้ารายใหม่ ปรับปรุงต้นทุนการผลิต บางทีผมไม่เน้น catalyst ที่แรงมากนะครับ อย่างบางบ.ขอแค่ให้กลับไปเป็นปกติของเค้า ราคาหุ้นก็กลับขึ้นไปได้มากแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดโตกระจายอะไรครับ
3) Upside ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสมมติฐาน เราก็ต้องประเมินคร่าว ๆ ล่ะครับ ว่าราคาหุ้นมันจะวิ่งขึ้นไปได้เต็มที่ซักเท่าไหร่ ส่วนจะขายเมื่อไหร่ จะเอากราฟมาจับตอนขายเพื่อป้องกันการขายหมูก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนล่ะครับ แต่ผมจะบอกอย่างหนึ่งว่าพวกนี้มีความไม่ตรงไปตรงมาสูงมากนะครับ ยกตัวอย่างเช่น พวกหุ้นเทิร์น บางครั้งกำไรดูดีขึ้นไม่มาก แต่ขอแค่พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร หุ้นกลับวิ่งเป็นม้าแบบไม่สมเหตุสมผลครับ
4) Timing ข้อนี้น่าจะคาดการณ์ได้ยากที่สุดครับ ตรงนี้หมายถึง "เข้าจู่โจมในเวลาที่เหมาะสม" ยกตัวอย่าง สมมติหุ้น A มีแผนจะสร้างโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิต มีลูกค้ารองรับแน่นอน แต่ใช้เวลาสร้าง 2 ปี พอออกข่าว หุ้นก็จะขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแค่การเล่นข่าวของตลาด หลังจากนั้นกว่ากำไรจะเข้ามาจริง กว่าโรงงานจะรันได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจจะกินเวลาไปถึง 3 ปี ถ้าเราซื้อหุ้นตั้งแต่ตอนนี้อาจจะเสียเวลาถือแบบไม่ได้อะไรก็ได้ครับ ยกเว้นราคาหุ้นจะลงไปต่ำมาก ๆ คุ้มพอที่จะถือ หรือจะเสี่ยงไปซื้อตอนใกล้ ๆ รายได้ใหม่จะเข้า แต่ก็ต้องเสี่ยงกับราคาหุ้นที่อาจจะขึ้นไปรับข่าว ตรงนี้ต้องประเมินกันเอาครับว่าจะให้น้ำหนักมากน้อยแค่ไหน
ปกติแล้วพวกข่าวของบ.ในตลาดที่น่าสนใจ ผมจะจำ ๆ ไว้นะครับ อันไหนเป็นตัวเร่งและน่าจะเห็นผลเมื่อไหร่ ผมจะจำไว้คร่าว ๆ พอใกล้ถึงเวลาก็จะไปดูอีกครั้งว่ายังน่าสนใจไหม
5) Weight ข้อนี้คือกระบวนท่าใหม่ เดิมผมยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเราควรจะให้น้ำหนักกับหุ้นแต่ละตัวเท่าไหร่ เคยคิดเอาง่าย ๆ ว่าถ้าเราคิดว่าตัวไหนน่าจะทำกำไรได้มากก็ให้น้ำหนักมาก ๆ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นแบบนี้ครับ
1. หุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีมาก หลายตัวเราไม่ได้หวังว่ามันจะดีขนาดนั้น หุ้นบางตัวเราประเมินดูแล้ว ไม่ได้ดีมาก ๆ แต่พอถือไปมัน "ดีขึ้นเรื่อย ๆ"
2. "หุ้นเกร็งหมัด กะน๊อคคู่ต่อสู้ มักจะทำให้เราเสียเองที่ "เกร็งจนทำอะไรไม่ถูก" ตรงนี้เน้นเลยนะครับ จากที่ตัวเองประสบมา การเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นทำให้เราไม่เสียเวลา หุ้นประเภทนี้มักจะเป็นหุ้นประเภทที่เราคิดว่า "มาแน่" "ขายบ้านรถเข้ารวยกันล่ะทีนี้" บางคนอาจจะจัดหนักถึงกับลงตัวเดียวหรือแค่ 1-2 ตัว ยิ่งถ้ากลัวเสียวไม่พอก็เพิ่ม "ตัวเร่งความเสียว" คือมาร์จิ้นเข้าไป บางคนไปอ่านเรื่องราว "เซียนหุ้นในตำนาน" ว่าเค้าทำแบบนี้ล่ะ จากล้านเป็นพันล้าน "ง่ายถ้าใจกล้า ๆ หน่อย"
แต่อย่าลืมครับ อย่าลืมข้อนึงว่า แท้จริงแล้ว คนตายอาจจะมีมากกว่า แต่ไม่มีโอกาสมาเขียน "ตำนานอันหน้าทึ่ง" ครับ
นอกจากนั้นการถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในสัดส่วนที่มาก มันจะทำให้เราเกิดความ bias ผมเองก็ไม่เคยถึอหุ้น 1-2 ตัวนะครับ แต่เคยถือหุ้นบางตัวในสัดส่วนที่มาก ความ bias มันเกิดขึ้นจากความคาดหวัง ทำให้การตัดสินใจมันไม่เป็นไปตามสภาวะที่ปกติ เช่น พองบออกมาไม่ดี ราคาหุ้นลง มูลค่าในพอร์ตจะลดลงมาก ทำให้เกิดความเครียดหรือไม่สบายใจ นำมาซึ่งการตัดสินใจขายหุ้นก่อนเวลาอันควรทั้ง ๆ ที่เราคิดถูกหรือ ในกรณีที่เราคิดผิด เราอาจจะพยายามเข้าข้างตัวเองว่า "เดี๋ยวมันอาจจะกำลังดีขึ้น" บ้าง
"ต่อเวลาให้มันอีกหน่อย" บ้าง บางทีความผิดพลาดตรงนี้ทำให้มองข้ามพื้นฐานของหุ้นที่แท้จริง ซึ่งถ้าหุ้นแย่อย่างถาวรก็เจ็บหนักครับ
ข้อนี้ผมสรุปเอาง่าย ๆ ว่าไม่ควรถือหุ้นตัวไหนมากจนเกินไปครับ