|0 คอมเมนต์
"โต้ง-ชัชชาติ" ยังไม่ฟันธงยุบ-ไม่ยุบแอร์พอร์ตลิงก์ ขอเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ เผยคนเริ่มใช้เยอะขึ้น เตรียมชงรัฐบาลปูเร่งซื้อรถเพิ่ม 7 ขบวน 5.2 พันล้านฟื้นสถานีมักกะสันรับไฮสปีดเทรนสาย "กทม.-ระยอง" ดีเดย์ 10 ส.ค.นี้ เปิดใช้ทางเชื่อมรถไฟใต้ดินดึงคนเข้าระบบ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ต้องรอข้อสรุปจากกระทรวงคมนาคมที่เสนอมา ประกอบการพิจารณาข้อเสนอของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ
ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการรถไฟฯ หรือหน่วยงานอื่น โดยต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบ และกระทรวงการคลัง
พร้อมให้ความสนับสนุน
นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน เนื่องจากต่อไปในอนาคตระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นรากฐานของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก จากกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ดังนั้น เส้นทางและแนวทางการดำเนินการจะต้องเริ่มต้นจากกรอบนี้ กล่าวคือพัฒนาสถานีมักกะสันมารองรับ คาดว่ารถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเป็นสายแรกที่มีการดำเนินการ ทางกระทรวงคมนาคมคงจะใช้เวลาอีกไม่นานในการพิจารณาเรื่องโครงสร้างงานโยธา
เปิดทางเชื่อม 10 ส.ค.นี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังไม่ตัดสินใจถึงแนวทางการดำเนินการของบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นแนวทางไหน ระหว่างทำตามผลการศึกษาของศศินทร์ฯที่ให้แยกบริษัทและการบริหารดำเนินการออกมาจากการรถไฟฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว หรือจะเป็นแนวทางของนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฯ ที่ต้องการให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟฯเหมือนเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
"เรื่องนี้ไม่เร่งรีบพิจารณาเพราะยังมีเวลาปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เริ่มดีขึ้น มีคนมาใช้บริการมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 3-4 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน"
ทั้งนี้ จะปรับปรุงเรื่องการเชื่อมต่อเพื่อให้การมาใช้บริการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จัดให้มีทางเดินเชื่อมกับรถไฟใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี เป็นรูปแบบ SKywalk ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว เตรียมเปิดใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 10 สิงหาคมนี้ มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิด ในอนาคตทำให้การเดินทางเข้าออกของ 2 รถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น
ปรับเวลาเอ็กซ์เพรสไลน์
นอกจากนี้ มีปรับปรุงพื้นที่จอดรถ ภูมิทัศน์ด้านหน้า งานที่เหลือคือเรื่องซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน 7 ขบวน วงเงินไม่เกิน 5,200 ล้านบาท การรถไฟฯเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว รอบรรจุเข้าสู่วาระประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
"สำหรับยี่ห้อรถไฟฟ้ายังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้ว่าจะใช้ผู้ผลิตรายเดิมคือบริษัทซีเมนส์ฯหรือไม่ขอดูรายละเอียดก่อน เพราะมีข้อเสนอมา 2 ทางเลือก ใช้เจ้าเดิมหรือจะเปลี่ยนใหม่ แต่จะให้ทางซีเมนส์ปลดล็อกระบบอาณัติสัญญาณให้รถไฟฟ้ายี่ห้อไหนมาวิ่งให้บริการก็ได้เหมือนบีทีเอส เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด"
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า อีกทั้งจะมีการปรับปรุงการเดินรถให้รวดเร็วขึ้น มีการปรับรถด่วน Express Line บางขบวน วิ่งให้บริการเฉพาะสถานีมักกะสัน-สุวรรณภูมิ เนื่องจากคนใช้น้อย จากเดิมมีบริการจากสถานีพญาไท เนื่องจากสถานีพญาไทจะมีรถธรรมดา City Line ให้บริการอยู่แล้ว และคนใช้บริการมาก ซึ่งจะต้องค่อย ๆ บริหารจัดการไประหว่างรอรถขบวนใหม่ผลิตเสร็จใช้เวลา 2 ปี
ศศินทร์ฯเสนอโมเดลแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาของศศินทร์ฯที่ออกมา ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) สั่งให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่มีภาระหนี้อยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยบริหารจัดการองค์กรใหม่ทั้งระบบ ปรับโครงสร้างทางการเงิน และการถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างการรถไฟฯซึ่งเป็นบริษัทแม่ และบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ในฐานะบริษัทลูก
โดยศศินทร์ฯศึกษาภายใต้โจทย์ที่กระทรวงการคลังให้มา คือแยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการบริหารจัดการของการรถไฟฯเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ดูความเหมาะสมในการถือหุ้นในบริษัทด้วยระหว่างการรถไฟฯกับกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ ทางศศินทร์ฯเสนอแนะให้โอนทรัพย์สินที่เป็นงานระบบ 15,094 ล้านบาท อยู่กับบริษัททั้งหมด ส่วนภาระหนี้ที่ได้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 18,318 ล้านบาท ให้รัฐบาลรับภาระแทน ส่วนที่ดินควรจะให้บริษัทเช่าในราคาถูกจึงจะอยู่ได้ เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ปีละ 600 ล้านบาท
วัดใจ "ที่ดินมักกะสัน" แลกหนี้
นอกจากนี้ จะต้องจัดหาเงินกู้ให้บริษัทในอนาคตสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,860 ล้านบาท และค่าซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวน วงเงิน 5,200 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จภายหลังการโอนทรัพย์สินและแยกองค์กรออกมาแล้ว บริษัทจะมีภาระหนี้ประมาณ 18,765 ล้านบาท ภายใน 20 ปีและจากประมาณการผลดำเนินงานยังขาดทุนกระแสเงินสดอยู่ 7-8 ปี แต่จะไม่เป็นภาระให้กับกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม ทางศศินทร์ฯได้จำลองโมเดลกรณีที่แอร์พอร์ตลิงก์เป็นบริษัทรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงอย่างเดียว โดยไม่รับภาระใด ๆ จะมีรายได้จากผลประกอบการจึงสามารถมีผลกำไรในปีแรกของการประกอบการ แต่มีข้อควรระวัง คือกรณียังไม่มีระบบต่าง ๆ ในการประกอบการบริษัทอาจจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อจัดหาระบบ ซึ่งหมายถึงจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทางศศินทร์ฯได้เสนอผลการศึกษาเบื้องต้นมาแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2556 โดยยังยึดหลักการเดียวกัน คือแยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการรถไฟฯ แต่เสนอวิธีการอื่นเป็นทางเลือกคู่ขนานไปด้วย คือให้แลกที่ดินมักกะสันกับหนี้สินของแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงการคลังนำที่ดินมักกะสันพื้นที่ 497 ไร่ ไปพัฒนาประโยชน์เพื่อหารายได้ในเชิงพาณิชย์ 30 ปี ประมาณการรายได้อยู่ที่ 30,000-64,000 ล้านบาท แต่การรถไฟฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีแผนจะนำที่ดินแปลงนี้มาประมูลหารายได้ระยะยาวเช่นกัน
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 1375705496
