มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
murder_doll
Verified User
โพสต์: 1608
ผู้ติดตาม: 0

มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

http://www.se-ed.com/eshop/Products/Det ... 6167150000

มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์
อิงจากอมตะนิยายเรื่อง "มิยาโมโต้ มูซาชิ" ของยอดนักเขียนชาวญี่ปุ่น โยชิคาวา เอญิ
ผู้เขียน Suvinai Pornavalai (สุวินัย ภรณวลัย)
ราคาปกติ 320.00 บาท
ส่วนลด 16.00 บาท
ราคาพิเศษ 304.00 บาท

เล่มหนาดีครัับ แต่อ่านเพลิน เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในแนวเซน ครับ
เงินทองเป็นของมายา
ข้าวปลาคือของจริง
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เคยอ่านเมื่อเกือบสักสิบกว่าปีก่อนครับ อ่านสนุกไม่แพ้นิยายกำลังภายในแปลของจีนครับ

ฉากการบรรยายที่ มุซาชิ ต้องการปีนภูเขาสูงด้วยสองมือเปล่า เพื่อเอาชนะใจตัวเองและสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง เขียนได้ดีทีเดียวครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
murder_doll
Verified User
โพสต์: 1608
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

:shock: ผมเพิ่งมาอ่านจบ รุ้สึกชื่นชม ท่านทากุอัน พระเซนมากเลยครับ
กระบี่อยู่ที่ใจ
เงินทองเป็นของมายา
ข้าวปลาคือของจริง
o-bo-ja-ma
Verified User
โพสต์: 1601
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

สนุกดีครับ อ่านไปเมื่อสักสองสามปีก่อน
monsoon
Verified User
โพสต์: 535
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ผมก็อ่านมาเมื่อสิบปีที่แล้วเหมือนกันครับ ได้ข้อคิดดีๆหลายอย่าง พวกที่ชอบแนวปรัชญา ความคิด การเรียนรู้ ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง^^
เรียนรู้และเข้าใจ คุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่ง...
ซากทัพ
Verified User
โพสต์: 393
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

อ.สุวินัยเขียนได้ดีมากครับ คำคมเยอะดี
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

แนะนำเพิ่มเติมว่า อ่านจบแล้ว ลองหา คัมภีร์ห้าห่วง ( The Five Ring ) มาอ่านเพิ่มเติมครับ

เป็นปรัชญาของ มิยาโมโต้ มุซาชิ ครับ
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

"คัมภีร์ 5 ห่วง"

บทนำ

ต้นเดือนสิบ ปีที่ 20 แห่งราชวงศ์ "คาเนอิ" (ค.ศ.1645) "ชินเมน มุซาชิ โน คามิ ฟูจิวารา โน เก็นชิ" ในวัย 60 ปี ได้ขึ้นสู่ยอดเขา อิวาโตะ ในคิวชู เพื่อสักการะต่อฟ้าและสวดมนต์ระลึกถึงคุณแห่งพุทธองค์และเจ้าแม่กวนอิม ก่อนจะจรดพู่กันเขียน "คัมภีร์ 5 ห่วง" อันเป็นแนวทางที่จะบรรลุถึงวิถีแห่ง "กลยุทธ์" (เฮอิโฮ) ที่เขาเรียกว่า "นิ เตน อิจิ ริว" และได้หมั่นฝึกฝนมาเป็นเวลาหลายสิบปี


"มุซาชิ" กล่าวถึงความเป็นมาของตนเองว่า ได้อุทิศตนให้กับวิถีแห่งกลยุทธ์ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย เพียงอายุ 13 ปีก็ได้โค่น "อะริมา คิเฮอิ" จากสำนักชินโต พออายุได้ 16 ปี ก็มีชัยเหนือ "ทาตาชิม่า อากิยาม่า" หลังจากนั้น 5 ปี จึงมุ่งหน้าสู่เกียวโต เมืองหลวงที่ชุมนุมยอดฝีมือคับคั่ง เพื่อปะดาบกับผู้มีฝีมือที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ และไม่เคยมีครั้งใดเลยที่จะปราชัย หลังจากนั้นจึงท่องตระเวนไปทั่วทั้งแผ่นดิน เพื่อหาคู่มือเปรียบติด


น่าเสียดายว่า ตลอดการประลองกว่า 60 ครั้ง ในช่วงอายุ 13 ถึง 29 ปี "มุซาชิ" ไม่เคยหยิบยื่นชัยชนะให้กับผู้ใด เมื่ออายุล่วงเข้า 30 จึงพิจารณาไตร่ตรองถึงการประลองที่ผ่านมาในอดีต และพบว่าที่ตนสามารถมีชัยเหนือคู่ต่อสู้ นอกจากจะอาศัยโครงสร้างร่างกายอันแข็งแกร่งบวกกับพรสวรรค์แล้ว บางครั้งก็เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของคู่ต่อสู้เอง เหนืออื่นใดคือ ตนเองมีกลยุทธ์ที่จะเป็นผู้พิชิต


"มุซาชิ" ใช้เวลากว่า 20 ปีในการฝึกฝนและศึกษาถึงกลยุทธ์นี้


จวบจนอายุล่วงเข้า 50 ปี จึงสามารถกล่าวได้ว่าค้นพบ "วิถีแห่งกลยุทธ์"


เมื่อบรรลุถึงวิถีแห่งกลยุทธ์ "มุซาชิ" ก็พลันเจนจบสรรพ "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ทั้งปวงได้ โดยไม่ต้องมีผู้ฝึกสอน แม้แต่ "คัมภีร์ 5 ห่วง" เล่มนี้ ก็เขียนขึ้นโดยไม่ได้อ้างอิงถึงคำสอนหรือตำราใดๆ ที่เคยมีมาในอดีต โดยที่โครงร่างของ "คัมภีร์ 5 ห่วง" นี้ แบ่งออกเป็น 5 บท คือ "ภาคดิน" "ภาคน้ำ" "ภาคไฟ" "ภาคลม" และ "ภาคความว่าง"

ที่มา : ขอขอบคุณ

http://www.oknation.net/blog/bai-tong/2 ... 23/entry-9
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 9

โพสต์

บทแห่ง “ดิน”

เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจถึง “วิถีแห่งกลยุทธ์” และกล่าวถึงแนวทางของสำนัก ที่ไม่ได้เน้นเพียงการฝึกฝนเพลงดาบ หากแต่จะสำเร็จวิถีแห่งยุทธ์ จำต้องรู้ถึงสรรพสิ่งทั้งในแนวกว้างและในเชิงลึก

“มุซาชิ” อธิบายว่า “กลยุทธ์” คือวิถีแห่งนักสู้ไม่ว่านายทัพหรือพลทหารล้วนแล้วแต่ต้องรู้ถึงวิถีแห่งกลยุทธ์ แต่น่าเสียดายว่ากลับไม่มีนักสู้ใดที่เข้าใจถึง “วิถีแห่งกลยุทธ์” อย่างถ่องแท้

สรรพสิ่งล้วนมีวิถี พุทธคือวิถีแห่งความพ้นภัย


การศึกษาคือวิถีแห่งนักปราชญ์และการแพทย์คือวิถีแห่งการรักษาเยียวยา


แม้แต่กวีนิพนธ์ การชงชา การจัดดอกไม้ ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ ล้วนแล้วแต่มี ”วิถี” ของมันให้ฝึกฝน


สำหรับ “วิถี” ของนักสู้ก็คือ “ความพยายามยอมรับในความตาย”


แม้ความตายจะเป็นสิ่งที่ทุกผู้คนต้องพบพาน แต่สำหรับชนชั้นนักสู้แล้ว การเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีคุณค่า คือการตายในหน้าที่ โดยปราศจากความอับอาย นักสู้จะบรรลุถึงวิถีนี้ได้จึงต้องแจ่มแจ้งใน “วิถีแห่งกลยุทธ์” เพื่อพิชิตชัยในทุกศึกที่จะนำมาซึ่งศักดิ์ศรีและเยรติแห่งนักสู้และผู้เป็นนาย


วิถีแห่งกลยุทธ์“มุซาชิ” มีความเห็นว่า การเปิดสอน “เพลงดาบ” โดยทั่วไป เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น หาใช่วิถีแห่งกลยุทธ์ที่จริงไม่ เพราะตั้งแต่อดีตกาล “เพลงดาบ” ถูกจัดอยู่ในหนึ่งวิชาช่างสิบหมู่และศิลปะเจ็ดแขนง อันสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเช่นเดียวกับงานศิลปะที่เสนอขายอยู่ทั่วไป ซึ่งเปรียบได้กับการนำเสนอ “กาก” แต่ไม่ได้แจกแจงถึง “แก่น”


แนวทางเช่นนี้อาจเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ที่มักจะให้ความสำคัญกับดอกไม้มากกว่าเมล็ดพันธุ์


หากแต่เป็นแนวความคิดที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เป็นหลัก จึงนำไปสู่การแสดงโอ้อวดโดยปราศจากกลยุทธ์ที่เที่ยงแท้ และย่อมเป็นต้นเหตุแห่งความพินาศในที่สุด


“มุซาชิ” กล่าวว่า แม้แต่คนในชนชั้นทั้งสี่ก็ยังต้องมี “วิถี” ของตนเอง (สังคมญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น แบ่งชนชั้นทางสังคมออกเป็น 4 กลุ่มคือ นักสู้ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า)


ชาวนาย่อมต้องรู้จักใช้จอบเสียมและเครื่องมือในการเพาะปลูก


อีกทั้งเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่มีผลต่อพืชสวนไร่นา


พ่อค้าย่อมต้องรู้จักใช้ส่วนประกอบในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายสร้างกำไรหาเลี้ยงชีพ


สำหรับนักสู้ ความเชี่ยวชาญในอาวุธคู่มือคือวิถีแห่งตน


และหากปราศจากซึ่งกลยุทธ์แล้ว ย่อมแสดงถึงความรู้อันอ่อนด้อย


ช่างฝีมือก็ต้องรู้จักใช้เครื่องไม้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ต้องมีการวางแบบที่ถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน และสร้างงานตามแบบที่กำหนดไว้



“มุซาชิ” ยังขยายความของ “กลยุทธ์” โดยเปรียบเทียบกับ “วิถีแห่งช่างไม้” งานของช่างไม้คือการสร้างบ้าน บ้านก็มีหลากหลายลักษณะที่แตกต่างกันออกไป


ทั้งบ้านของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ บ้านของนักสู้ หรือบ้านของชนชั้นต่างๆ


ช่างจึงจะต้องเข้าใจถึงบ้านที่ตนเองจะสร้างว่าเป็นแบบใด สำหรับชนชั้นใด จึงจะสามารถสร้างบ้านขึ้นจากแบบที่ร่างไว้


นายช่างใหญ่ต้องเข้าใจถึงบ้านในรูปแบบต่างๆ ซึ่งครอบคลุมถึงอาคารและวัดวาอาราม ตลอดจนพระราชวัง


เข้าใจถึงหลักโครงสร้างสถาปัตยกรรม และรูปแบบของอาคารสถานที่ต่างๆ


ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น แต่ละชนชั้น


เพื่อที่จะสามารถควบคุมใช้งานช่างไม้ให้สร้างบ้านได้ตามแบบแผนที่วางไว้


เช่นเดียวกับนายทัพที่รู้จักใช้กำลังพล


งานบ้านเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกและแยกแยะไม้


ไม้ตรงเรียบสวยงามเข็งแรงเหมาะกับงานเสาด้านอก


ไม้ตรงเรียบแต่มีตำหนิเล็กน้อยสามารถใช้เป็นเสาภายในและขื่อคาน


สำหรับไม้เนื้ออ่อนที่ไม่แข็งแรงนักแต่เรียบงาม สามารถใช้ทำเป็นผนังและกรอบประตู


ไม้ที่แข็งแรงแต่ไม่สวยงามก็สามารถใช้ผูกเป็นนั่งร้านเพื่อการก่อสร้าง


แม้แต่ไม้ที่ดูไม่สวยงามและเปราะบางก็สามารถใช้เป็นเชื้อฟืน


นายช่างใหญ่จะต้องรู้ถึงขีดความสามารถของช่างลูกมือที่มีอยู่


เพื่อที่จะมอบหมายงานที่เหมาะสมและตรงกับงานที่ถนัดช่างบางคนอาจถนัดในการทำห้องโถง


บ้างอาจถนัดการทำประตู บานเลื่อน บ้างอาจถนัดทำผนังเพดาน


ช่างฝีมือรองลงมาก็จะรับมอบหมายงานถากเหลา และตบแต่งไม้ถือเป็นการฝึกฝนฝีมือให้มีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น


ในขณะสร้างงานนานช่างใหญ่ก็จะต้องสามารถควบคุมงานต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนลดความสับสนอลหม่าน เข้าใจถึงข้อจำกัดของช่างลูกมือแต่ละคน


รู้จักการกระตุ้นสร้างขวัญและกำลังใจเมื่อถึงยามที่จำเป็น


วิถีแห่ง “กลยุทธ์” สำหรับนายทัพก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน นั่นคือ ความรู้ในการศึกในแต่ละรูปแบบ


ตลอดจนเข้าใจถึงขีดความสามารถของกองทัพตัวเอง


วิถีแห่งกลยุทธ์ของพลทหารก็เป็นเช่นเดียวกับช่างไม้


ที่ต้องพกพากล่องเครื่องมือติดตัวไปทุกที่


ทำงานตามคำสั่งของนายช่างใหญ่ สร้างงานได้อย่างเที่ยงตรงสวยงาม


ความสำเร็จของช่างไม้วัดจากผลงานที่ประณีตบรรจง


รอยต่อเรียบสม่ำเสมอไม่บิดเบี้ยว


ขัดเงาอย่างเรียบง่ายสวยงามไม่ใช่เพียงเพื่อปกปิดความบกพร่อง


เมื่อสั่งสมประสบการณ์จนเกิดความเชี่ยวชาญในทุกแขนงแห่งงานไม้ ก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นเป็นนายช่างใหญ่


ช่างไม้จะต้องหมั่นรักษาเครื่องไม้เครื่องมือให้คมกริบอยู่ตลอดเวลา


แม้ในยามว่างก็ต้องหมั่นสร้างงานชิ้นเล็กๆ อันเป็นหนทางการฝึกฝนฝีมือ


และสร้างความคุ้นเคยเชี่ยวชาญกับเครื่องมือแต่ละอย่าง


ดังเช่นการปฏิบัติตนของนักสู้ หรือนักวางกลยุทธ์ วิถีแห่งกลยุทธ์


จึงครอบคลุมไปถึงการมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี มีนาวทางการปกครองที่ดี


ใช้คนอย่างฉลาด รู้จักอุปถัมภ์ค้ำจุน


และมีการรักษากฎระเบียบวินัยที่เคร่งครัด


ว่าด้วย “อิจิ ริว นิโตะ”


“อิจิ ริว นิโตะ” คือแนวทางดาบของ “มุซาชิ”


นับตั้งแต่อดีตกาลนักสู้ล้วนคาดดาบ 2 เล่ม หนึ่งเป็นดาบยาว


อีกหนึ่งเป็นดาบสั้น โดยทั่วไปวิธีการใช้ดาบของสำนักอื่น


คือการกุมดาบด้วยสองมือ เช่นเดียวกับการใช้หอกหรือขวาน นั่นหมายความว่า


เป็นการใช้ดาบเพียงเล่มเดียว ในขณะที่ดาบอีกเล่มหนึ่งยังประดับไว้ในฝัก


ไม่อาจเปล่งพลานุภาพของดาบถึงขีดสุด


การกุมดาบด้วยสองมือทำให้การกวัดแกว่งดาบเป็นไปอย่างเชื่องช้า


และติดขัดและไม่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ขณะอยู่บนหลังม้า


การต่อสู้บนพื้นที่ขรุขระ หรือการวิ่งท่ามกลางฝูงชน แนวทางของ “มุซาชิ”


จึงฝึกฝนให้ใช้ดาบด้วยมือเดียว


ผู้ฝึกฝนจึงสามารถใช้ดาบทั้งสองเล่มได้พร้อมกันทั้งซ้ายและขวา


ในขณะใช้ดาบเพียงเล่มเดียว สามารถใช้อีกมือที่ว่าง


เพื่อช่วยในการทรงตัว กุมบังเ*หหยน ตลอดจนการจับถืออาวุธอื่น


ประโยชน์ของการใช้ดาบทั้งสองเล่มยังมีอีกมาก


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องต่อสู้กับคนหมู่มาก


สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยการกุมดาบด้วยมือเดียวจะต้องใช้กำลังมาก


และยากต่อการกวัดแกว่ง แต่เมื่อผ่านการฝึกฝน


ความคล่องแคล่วก็จะทวีขึ้นตามพละกำลังที่เพิ่มพูน ที่สำคัญ แนวทางของ




“มุซาชิ” นั้น ปัจจัยในการเอาชัยคือ จังหวะในการวาดดาบ ไม่ใช่ความเร็วของเพลงดาบ


ถึงแม้ว่า “ดาบ” จะได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สุดแห่งศาสตราวุธ


และเชื่อวันว่าผู้บรรลุในวิถีแห่งดาบ เป็นผู้ที่บรรลุวิถีแห่งกลยุทธ์


และจะมีชัยเหนือคู่ต่อสู้ทั้งปวง


แต่จิตวิญญาณของวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริงคือการเอาชัย


ดังนั้นถ้าผู้ฝึกฝนสามารถเรียนรู้วิถีแห่งศาสตร์อื่น


และแผ้วทางจนได้รับชัยชนะก็กล่าวได้ว่า ค้นพบวิถีแห่งกลยุทธ์ของตนเอง


อาวุธกับกลยุทธ์


ในบทแห่งดินนี้ “มุซาชิ” ยังกล่าวถึง การเลือกใช้อาวุธว่า


ต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และช่วงเวลา


ในขณะที่ดาบยาวใช้ได้กับทุกสถานการณ์


ดาบสั้นเหมาะที่จะใช้ในพื้นที่จำกัดหรือในระยะประชิดคู่ต่อสู้


ส่วนขวานศึกและหอกนั้นใช้ในการรบพุ่ง


โดยที่หอกจะเข้มแข็งและเหมาะกับการรุก


ส่วนขวานศึกนั้นเหมาะกับการตั้งรับ


ส่วนธนูเหมาะสำหรับการยิงสนับสนุนเพื่อการโจมตี


หรือสกัดกั้นในขณะล่าถอย ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดเลย


ในการต่อสู้แบบตะลุมบอนหรือการยิงระยะไกล เช่นเดียวกับปืนไฟ


ที่ใช้งานได้ดีเฉพาะในป้อมค่าย แต่ไม่สามารถหาญหักกับดาบในระยะประชิดใกล้


การเลือกใช้อาวุธจึงต้องขึ้นกับสถานการณ์


ถึงแม้โดยทั่วไปนักสู้จะมีอาวุธคู่มือ


แต่การเลือกใช้อาวุธไปตามความถนัดและความชอบพอของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม


นับเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อันจะนำไปสู่ความหายนะได้


“มุซาชิ” มีความเห็นว่า อาวุธที่ดีมีไว้ใช้งาน


ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับ ม้าศึกก็จัดเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่ง


จะต้องมีความเข็มแข็งอดทน ไม่มีข้อบกพร่อง เช่นเดียวกับดาบต้องคมกล้า


หอกทวนต้องตั้งตรงแข็งแรง


ธนูและปืนไฟต้องมีความแม่นยำและคงทนต่อการใช้งาน


“จังหวะ”


“มุซาชิ” ให้ความสำคัญกับ “จังหวะ” เป็นอย่างยิ่ง


โดยกล่าวว่าความรู้สำคัญที่กล่าวถึงในคัมภีร์ทั้งห้าบทคือเรื่องราวของ


“จังหวะ” ที่พึงเรียนรู้นั่นเอง เพราะนักสู้ที่จะสามารถช่วงชิงได้


ต้องอาศัยการหยั่งรู้ถึงจังหวะของคู่ต่อสู้


และช่วงชิงลงมือในจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจคาดถึง


ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือศาสตร์และศิลป์ใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย


“จังหวะ” ในการสร้างความสมบูรณ์งดงาม


เช่นเดียวกับที่นักสู้จะสามารถมีชัยได้


ก็ต้องใช้อาวุธอย่างถูกต้องสอดคล้องกับ “จังหวะ” ในการต่อสู้ช่วงชิง


สรรพสิ่งล้วนมีจังหวะ แม้แต่ “ความว่าง” ก็ยังมีจังหวะ


การดำเนินชีวิตของคนทุกชนชั้นก็ยังมีจังหวะของชีวิต


นักสู้มีจังหวะแห่งการเติบโตและล่มสลาย


พ่อค้ามีจังหวะของการร่ำรวยและล้มละลาย


สรรพสิ่งจึงมีทั้งจังหวะและการรุ่งเรืองและเสื่อมโทรม


กลยุทธ์ก็เป็นเช่นสิ่งอื่นที่มีจังหวะอันหลากหลาย


นักสู้พึงแยกแยะจังหวะที่เหมาะสมออกจากจังหวะที่ไม่เหมาะสม


โดยเรียนรู้จากขนาดเล็กใหญ่ ความเร็วช้า และลำดับก่อนหลัง


ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อจังหวะของกลยุทธ์


หากไม่เรียนรู้ถึงจังหวะย่อมไม่อาจบรรลุถึงกลยุทธ์


และที่สำคัญมีเพียงการฝึกฝนเท่านั้น ที่เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ถึง


“จังหวะ” ของกลยุทธ์


ที่มา : ขอขอบคุณ

http://www.oknation.net/blog/bai-tong/2 ... 23/entry-9
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ใน ภาคดิน กล่าวถึง วิถีแห่งกลยุทธ

พวกเรา นักลงทุน น่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับ การลงทุน ได้นะครับ
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 11

โพสต์

“มุซาชิ” นั้น ปัจจัยในการเอาชัยคือ จังหวะในการวาดดาบ ไม่ใช่ความเร็วของเพลงดาบ

จังหวะในการลงทุน ก็เป็น สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราเหล่า นักลงทุน นะครับ
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 12

โพสต์

บทแห่ง “น้ำ”

กล่าวถึงจิตวิญญาณที่เปรียบได้ทั่ง “น้ำ”

อันสามารถแปรเปลี่ยนรูปร่างได้ตลอดเวลา บางครั้งเล็กน้อย เพียงหยดเดียว

บางครายิ่งใหญ่ดั่งห้วงมหรรณพ

แนวทางของสำนักจะถูกอธิบายอย่างแจ่มแจ้งดุจความใสกระจ่างของน้ำในบทนี้


“มุซาชิ” กล่าวว่า ถึงแม้คัมภีร์เล่มนี้จะอรรถาธิบายถึงการยุทธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง หากแต่สามารถพิจารณาเปรียบเทียบในแง่ของการทำสงครามระดับกองทัพได้เช่นเดียวกัน

ผู้ฝึกฝนจะต้องทำความเข้าใจถึงพื้นฐานได้อย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยนในระดับบั้นปลาย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ฝึกฝนบรรลุถึงวิถีแห่งกลยุทธ์ได้ ต้องอาศัยความมานะฝึกฝนอย่างหนัก โดยไม่ย่อท้อ เพราะการบรรลุที่แท้นั้น จะเกิดขึ้นจากการค้นพบภายใน ไม่ใช่เกิดจากการอ่านและลอกเลียนเพียงอย่างเดียว

สภาวะของ “สมาธิ” และ “จิตใจ”

“มุซาชิ” ให้ความสำคัญกับเรื่องของสมาธิและจิตใจเป็นอันดับแรก

ผู้ที่จะบรรลุวิถีแห่งกลยุทธ์ได้ ต้องรักษาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ศูนย์กลางเสมอ ไม่ตึงเครียดหรือปลดปล่อยจนเกินไป พึงรักษาความสงบไว้อย่างมั่นคง

หากแต่ต้องยืดหยุ่นอิสระและเปิดกว้าง แม้ร่างกายจะหยุดนิ่งหรือเคลื่อนไหว ก็ต้องรักษาสภาพจิตใจนี้ไว้ในทุกช่วงยามสมาธิและจิตใจต้องสงบเยือกเย็นอยู่เสมอ จิตใจจะต้องไม่ถูกร่างกายชักจูงไป ต้องรวบรวมสมาธิมั่นต่อจิตใจและเพิกเฉยต่อร่างกาย


การฝึกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะสร้างความแข้งแกร่งให้กับจิตใจ ไม่เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายตรงข้าม ในขณะเดียวกัน กลับรับรู้ถึงสภาวะและแนวทางความคิดของฝ่ายตรงข้าม สามารถประเมินรูปแบบของคู่ต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง


การจะบรรลุถึงเส้นทางดังกล่าวจะต้องมีจิตใจที่แจ่มในเปิดกว้าง พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรอบด้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงความรู้ใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขยายจิตใจออกไปอย่างไม่จำกัด

จุดแห่งสมาธิก็คือ การระวังระไวในการต่อสู้ จะต้องมีการตรวจสอบแก่นแท้ของสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริงอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจถึงปรากฏการณ์เปลือกนอก ที่ฝ่ายตรงข้ามจงใจเปิดเผยให้เห็น

เล็งเห็นถึงสภาพของระยะไกล และสามารถฉกฉวยความมีเปรียบจากระยะใกล้ หยั่งรู้ถึงแนวทางเพลงดาบที่แท้ของฝ่ายตรงข้าม โดยไม่หลงกลต่อรูปแบบการเคลื่อนไหวภายนอกของคู่ต่อสู้ เพื่อชัยชนะเหนือผู้อื่น

การต่อสู้ทุกครั้งจึงจะต้องมีการคิดคำนวณและวางแผนไว้เป็นอย่างดี โดยไม่ถูกเบี่ยงเบนไปจากสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดสร้างขึ้น


เมื่อสมาธิและจิตใจ คือรากฐานของกระบวนท่าทั้งปวง “มุซาชิ” จึงกำหนดการตั้งท่าในการต่อสู้ให้อยู่ในสภาวะพร้อม


ด้วยร่างกายที่ตั้งตรงไม่เอนเอียง สายตาแน่วแน่ไม่วอกแวก ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับแนวทางการจับดาบของ “มุซาชิ” นั้นเน้นที่ความยืดหยุ่น ไม่แข็งเกร็ง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ เพื่อเปลี่ยนถ่ายการเน้นย้ำให้น้ำหนักของการกดดาบได้ตามสถานการณ์

เช่นเดียวกับจังหวะของการเคลื่อนเท้า ที่จะต้องมีความสมดุลทั้งซ้ายขวาอย่างปรกติ โดยไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวย่างก้าวด้วยการเน้นย้ำความถนัดของเท้าข้างใดข้างหนึ่ง


“ไร้กระบวนท่า”

“มุซาชิ” มีความเห็นว่า หากผ่านการฝึกฝนเรียนรู้จรคล่องแคล่วก็จะสามารถใช้ดาบได้อย่างคล่องแคล่ว อิสระอย่างเป็นธรรมชาติ จนเป็นเสมือนกับส่วนหนึ่งของร่างกาย

สำหรับท่วงท่าการจรดดาบตามแนวทางของ “มุซาชิ” นั้น มีเพียง 5 ท่วงท่าที่เรียกกันว่าจรด 5 ทิศ อันประกอบด้วย

โจดาน (ท่าบน)

จูดาน (ท่ากลาง)

เกดาน (ท่าต่ำ)

มิกิโนะวากิ (ปิดขวา) และ

ฮิดาริ โนะวากิ (ปิดซ้าย)

ซึ่งการจรดท่าทั้ง 5 นี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ออกในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแนวทางการฟาดฟันดาบของฝ่ายตรงข้าม

โดยกล่าวไว้ว่า ท่าบน ท่ากลาง และท่าต่ำนั้น เป็นการใช้ออกจากแง่มุมที่มั่นคงแข็งแรง ในขณะที่ปิดขวาและปิดซ้ายเป็นการใช้ออกจากแง่มุมที่เลื่อนไหล เพื่อขจัดสิ่งกีดขวางที่มีอยู่ในด้านใดด้านหนึ่ง

สำหรับท่าจรดดาบที่ “มุซาชิ” ให้ความสำคัญที่สุดคือ ท่าจรดกลาง ซึ่งเปรียบได้กับตำแหน่งของนายทัพที่จะทำให้อีกสี่ตำแหน่งที่เหลือติดตามการเคลื่อนไหวไปได้อย่างเป็นจังหวะจะโคน

อย่างไรก็ตาม “มุซาชิ” เห็นว่าการจรดดาบเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการฟาดฟันเท่านั้น


แม้แต่การตั้งรับและปิดป้องก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่จะบรรลุถึงการฟาดฟันฝ่ายตรงข้าม


ผู้ถือดาบจึงควรมุ่งมั่นในการฟาดฟันศัตรู มากกว่าพะวักพะวนถึงท่วงท่าทิศทางในการจรดดาบ


เพราะหากกล่าวถึงที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวดาบเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นการเปลี่ยนท่าจรดดาบจากกระบวนท่าหนึ่งไปยังอีกกระบวนท่าหนึ่ง


แนวทางที่คิดค้นขึ้น จึงเป็นทั้ง “มีกระบวนท่า” และ “ไร้กระบวนท่า”

เพราะที่สำคัญคือการค้นพบตำแหน่งแง่มุมที่เหมาะสมที่จะใช้ฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามอันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการมีชัยเหนือคู่ต่อสู้


ว่าด้วยการใช้ดาบ

“มุซาชิ” ให้ความสำคัญกับการเอาชัยในดาบเดียว ซึ่งเป็นการฟาดฟันดาบออกในท่วงท่าที่สงบอย่างเป็นธรรมชาติ


เป็นเพียงจังหวะเดียวก่อนที่คู่ต่อสู้จะตัดสินใจปิดป้องหรือถดถอยตั้งรับ


ในขณะที่เป็นฝ่ายรุกไล่อาจใช้การฟันหลอกล่อ เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียจังหวะก่อนที่จะฟาดฟันกระบวนที่แท้จริงออก


ในขณะที่ฟาดฟันพร้อมกัน จะต้องฟาดฟันออกอย่างรวดเร็ว รุนแรง


ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามหลบหลีกปิดป้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็ว หากแต่ให้ทดแทนด้วยความหนักหน่วงลึกล้ำ


การฟาดดาบในแต่ละครั้งคราก็มีจุดประสงค์เป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป


การฟาดฟันอย่างว่องไวโดยขยับดาบแต่เล็กน้อยเป็นการจู่โจมรบกวนสมาธิของฝ่ายตรงข้าม


การฟาดฟันไปยังดาบยาวของคู่ต่อสู้โดยการกดต่ำหรือกระแทกให้หลุดจากมือ เป็นการจู่โจมทำลายอาวุธของฝ่ายตรงข้าม


และที่หวังผลรุนแรงคือการฟาดฟันแบบกวาดรวมไปยังส่วนหัว แขน และขา ของคู่ต่อสู้ในกระบวนท่าเดียว

สำหรับท่าร่างในการฟาดฟันดาบ “มุซาชิ” มุ่งการฝึกปรือสู่ขั้นร่างกายกับดาบรวมเป็นหนึ่ง


ซึ่งโดยทั่วไปร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวก่อนเพียงเล็กน้อยก่อนที่ดาบจะฟาดฟันออกไป


โดยมีทั้งรูปแบบของการฟันใส่แขนขา เพื่อเข้าประชิดคู่ต่อสู้


และรูปแบของการฟันที่ออกไปตามจิตสำนึก เพื่อพิชิตชัยในฉับพลัน


เมื่อคู่ต่อสู้เงื้อดาบจะฟาดฟันแทนที่จะยื่นดาบหรือเหยียดมืออกไปก็จะใช้กลยุทธ์การหระชิดเข้าพิงกับคู่ต่อสู้แทน


เป็นการทำลายจังหวะและป้องกันการปัดป้องของคู่ต่อสู้และเปลี่ยนสภาพจากการหดห่อร่างกาย


เป็นการยื่นขยายมือเท้าออกไปครอบงำฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุด


หากคู่ต่อสู้สามารถสกัดการฟาดฟันได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นการแนบดาบเข้ากับฝ่ายตรงข้าม โดยอาศัยการเกาะเกี่ยวที่เน้นการใช้กำลังอย่างแกร่งกร้าว และการพัวพันที่ใช้กำลังอย่างอ่อนหยุ่น เพื่อช่วงชิงช่องว่างและแง่มุมที่เหมาะสมในการโถมฟาดฟันใส่ทรวงอกร่างกายของฝ่ายตรงข้าม

ดาบยังสามารถทิ่มแทงโดยเฉพาะในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีช่องว่างให้ฟาดฟันหรือเมื่อความคมของดาบเริ่มลดทอนลง

ในยามรุกนั้นเป้าหมายของการทิ่มแทงหัวใจ ในขณะตั้งรับ การทิ่มแทงก็สมารถใช้ออกเพื่อยับยั้งการรุกของคู่ต่อสู้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ใบหน้าและตวงตาของฝ่ายตรงข้าม

การบีบบังคับให้คู่ต่อสู้หนีออกจากเส้นทาง นับเป็นสัญญาณแห่งชัยชนะของเรา


การทิ่มแทงยังสามารถใช้ออกในกรณีที่เราเพลี่ยงพล้ำเสียจังหวะจากการรุกจนฝ่ายตรงข้ามฟาดฟันเข้ามา


หลักการคือจะต้องตบดาบของฝ่ายตรงข้ามออก และพลิกแพลงเปลี่ยนจากการตบออกเป็นทิ่มแทง


หากฝึกฝนจนจังหวะของการทิ่มแทงรวดเร็วกว่าการตบออก ก็จะมีชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้ ไม่เพียงแต่รูปแบบของการฟาดฟันทิ่มแทง และการเคลื่อนไหวท่าร่าง การใช้ดาบยังครอบคลุมถึงการใช้เสียงตวาด


เพราะนอกจากจะเป็นการข่มขวัญคู่ต่อสู้แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างจังหวะการใช้ดาบของตนเองอีกด้วย


“มุซาชิ” ยังได้กล่าวถึงกรณีของการต่อสู้กับพวกมากกว่า จะต้องสังเกตทุกความเคลื่อนไหวของศัตรู พึงใช้ดาบทั้งสองเล่มเพื่อกวาดต้อนให้ศัตรูที่รายล้อมอยู่รอบด้าน ให้รวมตัวกันอยู่ในด้านเดียว จะได้พ้นจากสภาวะที่ต้องรับมือจากการจู่โจมรอบด้าน


จะต้องวางแผนการรับมืออย่างเป็นขั้นตอน โดยการลำดับก่อนหลังในการเข้าถึงของคู่ต่อสู้แต่ละคน


การผลักดันให้ศัตรูถอยกลับไปในลักษณะที่ยังเป็นรูปขบวนอยู่นั้น ไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ เลย


การฟาดฟันจึงต้องมุ่งมั่นที่จะทำลายขบวนของศัตรูให้กระเจิดกระเจิงสับสนรวนเร


การจะบรรลุได้ถึงชัยชนะจะต้องผ่านการฝึกฝนจนร่างกายกับดาบหลอมรวมเป็นหนึ่ง


การเคลื่อนร่างเป็นไปตามธรรมชาติปรุโปร่งถึงจังหวะแห่งจิตวิญญาณ


เมื่อถึงขอบเขตนี้แล้ว วิถีแห่งการพิชิตศัตรูทั้งกองทัพ


กับการเอาชัยเหนือศัตรูหนึ่งเดียว ก็ไม่มีความแตกต่างกัน


ที่มา : ขอขอบคุณ

http://www.oknation.net/blog/bai-tong/2 ... 23/entry-9
ภาพประจำตัวสมาชิก
Outliers
Verified User
โพสต์: 527
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 13

โพสต์

รอไปซื้อในงานสัปดาห์หนังสือครับ
The Miracle of 10,000 hrs
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 14

โพสต์

บทแห่ง “ไฟ”

ธรรมชาติของไฟนั้น เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แปรเปลี่ยนขาดได้ตลอดเวลา และเปี่ยมไปด้วยอันตราย บทนี้จึงว่าด้วยการต่อสู้ทั้งแบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือการโรมรันทั้งกองทัพ การต่อสู้ก็เปรียบเสมือนกับ “ไฟ”


ดังนั้นยุทธวิธีต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ จะถูกนำมาอธิบายไว้ในบทนี้ โดยทั่วไปมีความเชื่อว่า


เคล็ดลับของชัยชนะคือความรวดเร็ว หลายสำนักเน้นฝึกฝนความรวดเร็วของร่างกาย เพราะเชื่อว่าความเร็วเพียงน้อยนิดจะนำมาซึ่งชัยชนะแต่วิถีแห่งกลยุทธ์


“มุซาชิ” มุ่งเน้นว่า การเล็งเห็นถึงยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม อย่างรู้แจ้งแทงตลอด เข้าใจถึงจุดเด่น จุดด้อย ของกลยุทธ์ที่ฝ่ายตรงข้ามใช้ จึงเป็นหนทางที่แท้จริงสู่ชัยชนะ


ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการพิชิตชัย คือการเลือกทำเลสถานที่ จะต้องเลือกตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าของฝ่ายตรงข้ามเป็นการข่มขวัญ ให้แสงสว่างอยู่ด้านหลังเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสายตา และเป็นทิศทางที่แสงจะรบกวนคู่ต่อสู้ในขณะที่เราจู่โจม


ในขณะที่ต่อสู้จู่โจม จะต้องไม่เปิดโอกาสให้ศัตรูเห็นตำแหน่งทิศทางตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่ก้าวผ่าน และบีบคั้นฝ่ายตรงข้ามเข้าสู่จุดอับ

แม้แต่การต่อสู้ในห้องหับก็ต้องคำนึงถึงข้างของเครื่องใช้ในห้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการกีดขวงคู่ต่อสู้

“มุชาชิ” กล่าวถึงการเคลื่อนไหวแรกว่า มีเพียง 3 กรณีเท่านั้นคือ

หนึ่ง จู่โจมเพื่อมุ่งเป็นฝ่ายรุก

สอง ตั้งรับการจู่โจมจากฝ่ายตรงข้าม และ

สาม การจู่โจมพร้อมกับฝ่ายตรงข้าม

ในรูปแบบที่หนึ่ง ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งแง่มุมที่จะลงมือ แล้วลงมือทันทีโดยปราศจากการลังเล ด้วยพลังและความเร็วที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม หากแต่ต้องออมรั้งพลังสำรองไว้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ควรทุ่มเทพลังทั้งหมดลงไปกับการโจมตีครั้งแรก เพียงครั้งเดียว

ในรูปแบบที่สอง เมื่อตั้งรับให้อยู่ในสภาวะว่างเปล่าผ่อนคลายเหมือนไร้กำลัง แต่เมื่อฝ่ายตรงข้ามโถมเข้าใส่ ให้ถอยหลังเพิ่มระยะห่างอย่างรวดเร็ว และเมื่อสภาวะจู่โจมของคู่ต่อสู้ถึงที่สุด ก็จะเป็นจังหวะรุกไล่กลับเพื่อเอาชัย

ในรูปแบบที่สาม จะต้องอาศัยการตอบโต้ที่สงบเยือกเย็น ประกอบกับการเคลื่อนไหวหลอกล่อ และเมื่อคู่ต่อสู้อยู่ในระยะหวังผลจึงฉกฉวยโอกาสจู่โจมพิชิตศึกอย่างรวดเร็ว

การจะบรรลุถึงผลของการเคลื่อนไหวแรก จะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจกับฝ่ายตรงข้าม ทั้งในแง่ของบุคลิกภาพและการเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ที่จะสะท้อนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนออกมา

ในแง่ของการศึกสงครามก็คือ ศึกษาถึงรูปแบบการเดินทัพ ขวัญและกำลังใจไพร่พล ตลอดจนหลักจิตวิทยาของฝ่ายตรงข้าม และพื้นที่ในการทำสงครามเพื่อสืบค้นถึงจังหวะและช่องว่างในการจู่โจม

เมื่อเรียนรู้ถึงฝ่ายตรงข้ามก็จะสามารถหยุดยั้งความคิดที่จะจู่โจม จนอยู่ในสถานะที่ชักนำคู่ต่อสู้ แทนที่จะถูกชักนำ ต้องล่วงหน้าก่อนการกระทำของฝ่ายตรงข้ามเสมอเพื่อก่อกวนสิ่งที่คู่ต่อสู้จะดำเนินการให้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์


เช่นในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามโถมเข้าประชิด ให้หยุดยั้งการจู่โจมด้วยการฉากหนี กล่าวคือไม่ยอมให้คู่ต่อสู้อยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบแม้แต่น้อย

ในกรณีของการศึกสงคราม หากฝ่ายตรงข้ามจู่โจมจากระยะใกล้ด้วยธนูหรือปืนไฟ เราก็จะต้องบุกจู่โจมเข้าใกล้ เพื่อทำลายระยะที่มีเปรียบของฝ่ายตรงข้าม และใช้ดาบด้วยจิตใจที่แข็งแกร่ง ในการเข้าต่อสู้โรมรัน

แน่นอนว่า การฝ่าข้ามไปในลักษณะนี้ จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก

หากแต่เมื่อฝ่าข้ามไปได้ก็จะล่วงรู้ถึงจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ จึงต้องอาศัยความบากบั่นอดทน เช่นเดียวกับการล่องเรือข้ามมหาสมุทรจนถึงฝั่ง ต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดจนเหมือนกับจะกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม

เมื่อบรรลุถึงขอบเขตนี้ ก็จะสามารถคาดการณ์ถึงดาบต่อไปของฝ่ายตรงข้ามได้ นำมาซึ่งความมีเปรียบอย่างต่อเนื่อง

แม้เมื่อคู่ต่อสู้เข้าสู่ภาวะพังพินาศ เราก็สามารถที่จะรับรู้และฉกฉวยจังหวะเข้าพิชิตชัยได้ในที่สุด

หากเมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าสู่ภาวะของการค้ำยัน เราจะต้องเปลี่ยนแผนที่วางไว้ทันที่ เพราะเป็นสัญญาณว่าฝ่ายตรงข้ามอาจล่วงรู้ถึงสภาวะของเรา หากยังดื้อดึงยืนกรานก็รังแต่จะสูญเสียกำลัง

การสร้างภาวะผ่อนคลาย ก็สามารถแพร่ระบาดสู่ฝ่ายตรงข้าม หากเราสามารถสร้างภาวะผ่อนคลายขึ้นจนมอมเมาให้ฝ่ายตรงข้ามย่อหย่อน เราก็จะโจมตีเข้าไปได้ เหมาะสำหรับใช้ออกในยามที่เผชิญกับการศึกที่ยืดเยื้อ จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการแทรกซึมเข้าไปยังฝ่ายตรงข้าม

ในกรณีที่ไม่อาจคาดการณ์ถึงแผนการ หรือจิตเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายตรงข้ามได้ กลยุทธ์ที่ควรจะใช้ออกเรียกว่า “การเคลื่อนเงา” อันเป็นรูปแบบการแสร้งโจมตี แบบดุเดือนดรุนแรง เพื่อบีบบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเผยแผนการที่แท้จริงออกมา


เมื่อสามารถล่วงรู้แผนการของฝ่ายตรงข้ามได้ หากฝ่ายตรงข้ามเริ่มดำเนินกลยุทธ์ เราก็จะต้องชักจูงเปลี่ยนแปลงทิศทางของฝ่ายตรงข้าม ให้อยู่ในทิศทางและแง่มุมที่เราสามารถควบคุมไว้ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เรียกว่ากลยุทธ์ “การพรางเงา”


แนวทางหนึ่งในการมีชัยเหนือคู่ต่อสู้คือ การทำให้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ในสภาวะที่เสียสมดุล ปราศจากขวัญและกำลังใจ โดยมีแนวทางหลักๆ สามประการ คือ

หนึ่ง สร้างความวิตกหวาดกลัวให้เกิดกับฝ่ายตรงข้าม

สอง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าเราสามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และ

สาม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ที่แท้จริงได้

กลยุทธ์การขู่ขวัญมักถูกใช้ออกเพื่อทำลายความคิดต่อสู้ของฝ่ายตรงข้าม

สามารถทำได้ทั้งจากรูปแบบของการจัดทัพให้ดูยิ่งใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีไพร่พลอยู่ไม่มากนัก

การจัดแบ่งกองทัพออกจู่โจมกระหนาบข้าง เพื่อตัดกำลังและสร้างความหวาดกลัวตลอดจนการใช้ฝุ่นควันในการพรางตาฝ่ายตรงข้าม หรือการใช้เสียงในการทำลายขวัญ

ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามมีความแข็งแกร่ง ไม่อาจเอาชัยได้ในการโจมตีทั้งหมด เราก็จะต้องศึกษาถึงแง่มุมสำคัญของคู่ต่อสู้อันเป็นจุดยุทธ์ศาสตร์หลัก เพื่อโถมกำลังเข้าจู่โจมทำลาย

เพราะหากสามารถควบคุมจุดยุทธ์ศาสตร์ได้ ก็จะมีชัยในขั้นสุดท้าย เช่นเดียวกับหลักการที่ว่า “จับโจรให้จับหัวหน้า” เราจะต้องสร้างความสับสนให้กับฝ่ายตรงข้ามด้วย เพื่อไม่ให้ล่วงรู้ถึงเส้นทางการเดินทัพและแง่มุมในการโจมตีที่แท้จริง

ซึ่งสามารถทำได้จากการล่อหลอกด้วยเส้นทางการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่ไม่แน่นอนตลอดจนการเปลี่ยนระดับความเร็ว


ในกรณีพบกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งหรือมีกำลังพลที่มากกว่า จะต้องทำให้กระบวนทัพของฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิง


โดยการโจมตีเข้าไปยังจุดต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้ามเมื่อฝ่ายตรงข้ามทุ่มเทกำลังเข้ามารับมือ เราก็จะถอนกำลังไปโจมตียังจุดอื่นแทน รูปแบบเช่นนี้จะสร้างความปั่นป่วนรวนเรให้กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่แท้จริงคือการเข้าประชิดเพื่อพิชิตชัยขั้นท้ายสุด


เมื่อเราพบว่าคู่ต่อสู้อยู่ในสภาวะเพลี่ยงพล้ำ แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีไพร่พลมากกว่า แต่ก็ขาดซึ่งขวัญและกำลังใจ ก็นับเป็นโอกาสอันดีในการเข้าบดขยี้ทำลายล้างให้ย่อยยับ ไม่เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้ถอยหนี และจะไม่วกกลับมาได้อีก

การจะให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายแพ้นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงความพ่ายแพ้ภายนอก หากแต่จะต้องเป็นการยอมรับทั้งกายและใจ เพราะจิตใจที่ไม่พ่ายแพ้ ย่อมสามารถรวบรวมกำลังขึ้นต่อสู้ใหม่อยู่เสมอ


ในทางตรงกันข้ามหากเราต้องตกอยู่ในจุดอับ ที่สภาพเป็นเบี้ยล่าง จนไม่อาจแก้ไขสถานการณ์ได้ ควรที่จะเลิกล้มแผนที่ได้ วางไว้ทั้งหมดทิ้งไปเสีย และเข้าสู่ภาวะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

เพราะการแก้ไขปัญหานั้น ในบางสถานการณ์ยังยากยิ่งกว่าการเริ่มสร้างใหม่เสียอีก

จะต้องดำเนินการในสิ่งที่ตรงข้ามกับความคาดหวังของฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ควรที่จะใช้กลยุทธ์เดิม ๆ ซ้ำสอง

และควรที่จะมุ่งให้ความสนใจกับหลักใหญ่ใจความ เพราะการให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยจนมากเกินไป อาจนำไปสู่ความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริงอย่างผิดเพี้ยน


แนวทางของ “มุซาชิ” คือเน้นให้ความสำคัญกับ การรุก ต้องสร้างโอกาสให้อยู่ในสภาวะรุกเสมอ

ผู้ที่มีชัยได้จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง จนมีความแข็งแกร่งดุจหินผา สามารถรับมือกับการจู่โจมได้ในทุกรูปแบบ

แก่นแท้ของชัยชนะ คือ การเรียนรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายตรงข้าม

ในแง่ของการทำศึก ต้องเข้าใจไพร่พลของฝ่ายตรงข้ามดุจประหนึ่งว่าเป็นไพร่พลของตนเอง


เมื่อบรรลุถึงขอบเขตนี้แล้ว “มีดาบ” กับ “ไร้ดาบ” ก็ไม่มีความแตกต่างกัน ผู้มีชัยไม่จำเป็นจะต้องมีดาบเสมอไป


ที่มา : ขอขอบคุณ

http://www.oknation.net/blog/bai-tong/2 ... 23/entry-9
dr1
Verified User
โพสต์: 842
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 15

โพสต์

-ขอบคุณที่แนะนำ และย่อความให้นะครับ
เพราะอ่านมาเป็นสิบปี ลืมจะหมดแล้ว

ไม่ทราบว่า มีตำราพิชัยสงครามของซุนวู
มาสรุปความให้พวกเราได้อ่านด้วยมั้ย

สารภาพว่า มีหนังสือ แต่ยังไม่ได้อ่านเลย อิ อิ

อ.สุวินัย ตั้งแต่มีเรื่องกะอ.กู้ แล้วหายไปเลยนะครับ
น่าเสียดาย เพราะมีหนังสือสไตล์เซน แปลมาให้อ่าน
หลายเล่มมาก ดีๆทั้งนั้น
samatah
ซากทัพ
Verified User
โพสต์: 393
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 16

โพสต์

ผมชอบที่เขาใช้ทุกรูปแบบในการต่อสู้
รู้ว่าต่อสู้แล้วจะชนะจึงจะสู้ ถ้าไม่แน่ใจก็จะหลบเลี่ยง
ตอนท้ายเล่ม ที่เขาประลองกับมือหนึ่งด้วยไม้พายเรือที่เหลาขึ้นมา
เป็นสภาวะที่คู่ต่อสู้ขาดสติเพราะความโกรธ ที่ต้องทนรอทั้งวัน แถมมาแบบไม่พกดาบคู่
จนลืมไปว่าตนเองอยู่ในน้ำ ทำให้ไหวตัวลำบาก และไม่รู้ว่าไม้พายที่มูซาชิถือยาวกว่าดาบตน

อยากได้อ่านถ้อยคำสระสรวยของอ.สุวินัยแบบนี้อีก
แต่หลายหลายเล่มตอนหลังค่อนข้างจะอ่านและเข้าใจยากจังครับ
กูรูขอบสนาม
Verified User
โพสต์: 987
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 17

โพสต์

ว่าจะแชร์บ้าง แต่เห็นที่ท่าน Tigerroad นำมาให้อ่าน
รู้สึก เพียบ จริงๆ

เคยอ่านมูซาชิ นานแสนนานมาแล้ว
ขณะลงพิมพ์เป็นตอนๆในมติชนฉบับวันอาทิตย์
แต่เนื่องจากไม่ได้อ่านต่อเนื่องจึงลืมไปหมด
กลับมาอ่านใหม่ในหนังสือเล่มเดียวจบ ครบอรรถรสกว่า
เลยตะลุยอ่านตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำคืนอย่างสนุกสนาน

โรนินไร้สังกัด

ต่ำต้อยเทียมต้นหญ้า

เสรีดุจปุยเมฆ


อ่านเรื่องราวของโรนินนามมูซาชิไป

ก็ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของซามูไรและลัทธิบูชิโด ว่ามีวิถีปุถุชนเช่นไร

โรนิน คือซามูไรไร้สังกัด
ก่อนหน้านีอาจจะมีเจ้านายคอยรับใช้อยู่ก็ได้
หากเมื่อเจ้านายสูญสิ้น
ด้วยเกียรติยศของนักรบผู้ซื่อสัตย์ไม่ยอมมีนายคนที่สอง
ก็ขอลาขาดจากฐานันดรกลายเป็นนักรบเร่ร่อน

ในกรณีของมูซาชิ เป็นโรนินแต่เริ่มต้นต้น
แม้ในช่วงแรกจะสังกัดตระกูลซามูไรหนึ่ง
หากนั่นเป็นช่วงที่ยังไม่แกร่งกล้าอาจหา
เป็นเพียงแค่ ทหารเดินเท้า หรือที่เรียกว่า ทหารเลว

ต่อเมื่อมูซาซิได้พัฒนาฝีมือการประลองด้วยตัวเอง
ปราศจากครูฝึกสำนักใดๆ
นั่นแหล่ะคือจุดเริ่มต้นของ วิถีโรนิน ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง
มีแต่ฟ้า ดิน เป็นผู้อุ้มพา

ในเนื้อเรื่องที่แปลมา มูซาชิ
ได้ประลองฝีมือกับสำนักดาบต่างๆตามประเพณี
ไม่เคยแพ้แม้แต่สักครั้ง กลายเป็นโรนินฝีมือนามระบือ
โดยเฉพาะเพลงดาบคู่ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
หากสำหรับมูซาชิ กลับเป็นเรื่องแสนสามัญมาก

ดาบคู่ติดตัว

หนึ่งดาบถือมั่น

หนึ่งดาบยึดใจ


อ่านเรื่องนี้ไปพร้อมกับการเดินทางลึกเข้าไปในจิตใจของนักรบ
ความสนุกสนานไม่ใช่อยู่ที่การประลองสับประยุทธ์แต่ล่ะครั้ง
กับบรรดาเจ้าสำนักชื่อดังทั้งหลาย
แต่อิ่มปิติไปกับการค้นหาตัวตนของมูซาชิ
ที่เริ่มจากติดลบ แล้วตีตื้นขึนมาเรื่อยๆ
จากนายทหารเลว แสนเกเร ใจหุนหัน รังแต่จะใช้กำลังห้ำหั่นคู่ต่อสู้
กลายเป็นนักประดาบผู้นุ่มลึก สุขุม เพ่งพินิจ พิจารณาพิจารณา
เปิดใจกว้างมองโลกด้วยทัศนะสงบนิ่ง ถ่อมตนและไม่ยอมแพ้
ความพยายามที่ประสานความกลมเกลียวระหว่างเพลงดาบ
กับจิตวิญญาณให้เป็นหนึ่งเดียว


โรนินไร้สังกัดเช่นมูซาชิ
ใช่ว่าจะยึดเพลงดาบเป็นสรณะในการดำเนินย่างเท้าท่องอาณาจักร
ศิลปะการชงชา วาดภาพและปั้นเครื่องถ้วยชาม
ก็ได้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเพลงดาบ

ในการประลองเพลงดาบครั้งสุดท้ายกับนักดาบนามอุโฆษ
แทนที่จะฝึกปรือฝีมือเตรียมตัวล่วงหน้า
มูซาชิใช้เวลารวบรวมสมาธิด้วยการเขียนภาพพู่กันอย่างเย็นใจ
ก่อนจะขึ้นเรือไปตามคำท้าดวล และก้อชนะอีกครั้ง

ในความโชคร้ายของมูซาชิที่เป็นโรนินไร้สังกัด
ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ
มูซาชิโชคดีที่ได้มีโอกาสพบปะปิยะมิตรที่เกื้อหนุน
มีลูกศิษย์ที่เคารพนบนอบ
มีหลวงพี่เซ็นที่คอยกล่อมเกลาราคะ โมหะและโทสะจริต

เหนืออื่นใดคือหญิงสาวที่รอการกลับมาของเขา
ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่

ทอดสายตาจนจบตัวอักษรสุดท้ายในเล่มแล้ว
ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นว่า
การเป็นคนไร้สังกัด ก็ใช่ว่าจะหมดอนาคตดับหรี่เสียเมื่อไหร่ไหร่
ตราบใดที่มุมานะ ฝึกปรนฝีมือตน
สร้างความประจักษ์ตาให้เห็นได้ในที่สุด

โดดเดี่ยวในจักรวาล

แต่อบอุ่นเพราะแสงดาว

ใบไม้ร่วงเป็นเพื่อนเดินทาง
ชีวิตเกิดและตายเพียงอย่างละหน ส่วนที่เหลือตรงกลางต้องค้นพบเอง
ภาพประจำตัวสมาชิก
murder_doll
Verified User
โพสต์: 1608
ผู้ติดตาม: 0

Re: มุซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ แนะนำหนังสือ

โพสต์ที่ 18

โพสต์

วิถีของความเด็ดเดี่ยว แม้โดดเดี่ยว ครับ
เงินทองเป็นของมายา
ข้าวปลาคือของจริง
โพสต์โพสต์