การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
-
toon
- Verified User
- โพสต์: 213
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
ฮูโก ชาเวซ : ประชานิยมของแท้ (1)
คอลัมน์ เดินคละฟาก
โดย กลม กลมตระกูล
ในการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ของประเทศเวเนซุเอลา ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง ประมาณ 5 ล้านคะแนน โดยได้รับคะแนนมากกว่าเมื่อครั้งที่เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2541 ถึง 1.2 ล้านคะแนน คิดเป็นร้อยละ 58
เส้นทางของประธานาธิบดีชาเวซไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ เขาได้รับการเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างขาวสะอาดด้วยการนำเสนอนโยบายประชานิยม (Populism) ในปี 2541 เมื่อท่านได้รับการเลือกตั้ง แทนที่จะลืมคำมั่นสัญญาเหมือนกับนักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ท่านกลับเดินหน้านำนโยบาย ประชานิยมมาใช้อย่างเต็มที่ โดยได้แต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรองรับนโยบายประชานิยมและสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญใหม่ที่มีมาตรามากถึง 350 มาตรา มากกว่ารัฐธรรมนูญเก่าถึง 98 มาตรา และมากกว่ารัฐธรรมนูญไทย 14 มาตรา โดยของเรามีอยู่ 336 มาตรา ซึ่งเคยเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมาตรามากที่สุดในโลก แต่บัดนี้ถูกแซงหน้าไปแล้ว
รัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลาได้รับการลงประชามติรับรองจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น จึงเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง และชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มปาก เช่น
ในมาตรา 1 สาธารณรัฐโบลิวาเรียนของเวเนซุเอลาเป็นประเทศเสรีที่มีอิสรภาพที่ละเมิดมิได้ ยึดถือในมรดกที่เป็นหลักการทางจริยธรรมในด้าน คุณค่าของอิสรภาพ ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมและสันติภาพโลก ของซิมอน โบลิวาร์ ผู้กู้อิสรภาพของประเทศ อิสรภาพ เสรีภาพ อธิปไตยของชาติ สิทธิในการปกป้องประเทศ ปกป้องอาณาเขต และสิทธิในการกำหนดตนเองของชาติเป็นสิทธิที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้
มาตรา 2 ประเทศเวเนซุเอลา เป็นรัฐที่ยึดถือเอาสังคม และประชาธิปไตยเป็นคุณค่าพื้นฐานของกฎหมาย ความยุติธรรม และการบังคับใช้ต่อชีวิต เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน จริยธรรม และความแตกต่างทางการเมือง
มาตรา 9 ระบุว่า ภาษาสเปน เป็นภาษาราชการ แต่การใช้ภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นถือว่าเป็นภาษาราชการสำหรับคนท้องถิ่นที่ต้องยอมรับในขอบเขตทั่วอาณาเขตในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติ
มาตรานี้เป็นการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการของชนกลุ่มน้อย และคนพื้นเมือง เช่น ชาวอินเดียน ที่มีอยู่จำนวนมากบนเทือกเขา ถ้ารัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ชัดเจนเช่นนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นๆ ที่ล้าหลังและขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ปัญหาไฟใต้ก็คงไม่ลุกลามมาถึงระดับนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
มาตรา 12 แร่ธาตุ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งปวงในอาณาเขตของชาติทั้งที่อยู่ใต้ดิน ใต้ทะเล ชายฝั่งทะเล และในอากาศเป็นทรัพย์สินของสาธารณชนดังนั้นจึงห้ามโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของเอกชนหรือชาวต่างชาติ
มาตรานี้เป็นการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลยในการห้ามการให้สัมปทานและแปรรูปรัฐวิสาหกิจทรัพยากรของแผ่นดินอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตรงกันข้ามกับของรัฐธรรมนูญไทยที่อ้างกันหนักหนาว่าดีที่สุดในโลก
มาตรา 13 กำหนดว่ากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เป็นของชาวเวเนซุเอลาเท่านั้น ห้ามโอนกรรมสิทธิ์ให้กับต่างชาติ ที่ดินว่างเปล่า เกาะแก่งในแม่น้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และห้ามออกเอกสารสิทธิให้กับเอกชน นอกจากการให้เช่าใช้ประโยชน์เท่านั้น
ประเทศเวเนซุเอลาเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ จึงห้ามต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพทางทหาร
มาตรา 21 ตำแหน่ง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อแสดงอภิสิทธิ์ หรือเรียกร้องการปฏิบัติ ที่แตกต่างจากคนทั่วไปได้
มาตรา 23 สนธิสัญญา อนุสัญญา และกติการะหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ที่มีผลบังคับใช้ และรัฐบาลเวเนซุเอลาได้ลงนาม หรือให้สัตยาบัน ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสถานะเท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจบังคับใช้เหนือกว่ากฎหมายภายในประเทศ ถ้าหากว่ากฎหมายระหว่างประเทศข้างต้นมีข้อความให้สิทธิและยอมรับการใช้สิทธิมากกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกฎหมายอื่น ก็ให้ถือว่ามีผลบังคับใช้ทันทีโดยศาลและหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย
มาตรานี้ แสดงความจริงใจของประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะการยอมรับสถานะของกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนให้มีผลบังคับใช้เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
มาตรา 29 รัฐมีพันธกรณี ต้องสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายฉบับอื่นๆ รวมทั้งการให้อภัยโทษ หรือการนิรโทษกรรม
มาตรา 30 รัฐมีพันธกรณีในการจ่ายชดเชยค่าเสียหายอย่างเต็มที่ให้กับผู้ที่เสียหาย หรือผู้ที่ได้รับฉันทะตามกฎหมายในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มาตรา 73 ระบุว่า การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อตกลง หรือการให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศ ที่อาจจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ หรือการโอนอำนาจให้กับองค์กรเหนือรัฐ (รัฐวิสาหกิจ และการแปรรูป) จะต้องผ่านการลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ
ตัวอย่างของมาตราบางมาตราที่ยกมาอ้างข้างต้น ในรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เป็นผู้ผลักดันให้ร่างและส่งให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติรับรองนี้เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายประชานิยมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นตัวตั้งในการดำเนินนโยบายโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นฐานรองรับ
นโยบายประชานิยม
แม้ว่าประเทศเวเนซุเอลาจะเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 5 ของโลก รายได้จากน้ำมันซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐถือหุ้นทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจีดีพี หรือผลผลิตรวมของชาติ คิดเป็นร้อยละ 80.20 ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และคิดเป็นรายได้ร้อยละ 45.6 ของ รายรับของรัฐ
กระนั้นก็ตาม ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งจำนวน 25 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลทหารและนักการเมืองในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้าเข้าได้รับการเลือกตั้ง ต่างฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างสะบั้นหั่นแหลก กิจการน้ำมันของรัฐที่มีชื่อว่า PDSVA (Petroleos de Venezuela) ถูกนักการเมืองเข้าควบคุม และส่งเงินเข้ารัฐน้อยมาก
กลุ่มนักการเมือง นักเทคนิคบริหาร และทหารเหล่านี้ที่สูญเสียผลประโยชน์เมื่อชาเวซได้รับการเลือกตั้ง จึงร่วมมือกับกลุ่มผูกขาดน้ำมันข้ามชาติอเมริกันทำการก่อกวนตั้งแต่การยุยงให้คนงานบริษัทน้ำมันหยุดงาน ทำลายเครื่องจักร ลอบส่งเงินออกนอกประเทศเพื่อทำลายเสถียร ภาพของค่าเงินมากถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญ และล่าลายเซ็นได้จำนวนมากพอให้มีการลงประชามติขับประธานาธิบดีฮูโกออกจากตำแหน่งหลังจากการเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 2 ปีเศษ
แต่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ก็ได้รับคะแนนเสียงยืนยันจากประชาชนทั้งชาติ มากถึงร้อยละ 58 ต่อ 42 ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป
การก่อกวนของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายยับเยินมากถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในภาคการผลิตน้ำมัน จีเอ็นพีลดลงร้อยละ 27.6 ในปี 2003 หรือร้อยละ 76.7 ของภาคการผลิตที่ไม่ใช่ภาคน้ำมันรัฐ และคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของภาคการผลิตน้ำมัน ของรัฐ
อัตราเงินเฟ้อซึ่งในระหว่างปี 1999-2001 รัฐบาลควบคุมไว้อยู่แล้ว ได้ถูกก่อกวนให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.7 หรือประมาณ ร้อยละ 1.56 ต่อเดือนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2003
อัตราว่างงานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ได้เพิ่มเป็น 20.7 จากแรงงานทั้งหมด จำนวน 2.4 ล้านคน
(ฉบับหน้าขอให้ติดตามว่าประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แก้เกมอย่างไรครับ)