สัปดาห์ก่อนเกิด “ปรากฏการณ์” ทางสังคมที่ “ประหลาด” ซึ่งทำให้เกิดความงงงวยโดยเฉพาะกับคน “รุ่นเก่า” ที่มักจะเป็นผู้สูงอายุ นั่นก็คือ เกิดกระแสในทวิตเตอร์ “#ย้ายประเทศกันเถอะ” เพราะมีคนตั้งกลุ่มในเฟซบุคในชื่อเดียวกัน และหลังจากนั้นภายในเวลาไม่กี่วันก็มีสมาชิกเกือบล้านคนแล้ว คนที่เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็น “คนรุ่นใหม่” อายุน่าจะประมาณ 24-30 ปี บางส่วนก็ยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมอายุ 15-18 ปี พวกเขาตั้งกลุ่มและเข้าเป็นสมาชิกเพื่อหาข้อมูลและให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแบบ “ถาวร” หรือ “ยาวนาน” ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศไทย “ไม่มีอนาคต” สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ที่อายุยังน้อยและต้องการสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเอง
ก่อนหน้านี้พวกเขาคือคนที่ประท้วงและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคและไม่ฟังเสียงของประชาชน พวกเขาเห็นว่า ด้วยระบบที่เป็นอยู่ ประเทศจะไม่พัฒนาและล้าหลังและคนที่จะรับผลอันนั้นในอนาคตก็คือพวกเขาเอง การเรียกร้องและ “ต่อสู้” ของพวกเขานั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบรับอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม กลับถูก “ปราบปราม” จนหลายคน “สิ้นหวัง” และถอดใจจนเกิดความคิดใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้น น่าจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นจะดีกว่า
การย้ายไปอยู่ต่างประเทศแบบถาวรหรือไม่มีกำหนดเรื่องระยะเวลากลับนั้น ไม่เหมือนกับการไปเรียนหรือการทำงานหาเงินและเก็บเงินเพื่อที่จะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างคนที่มีสถานะ มีเงิน และมีความก้าวหน้าขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตที่มีความสุข นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “ความฝัน” ซึ่งคน “ชั้นนำ” หรือคนที่ “มีศักยภาพสูง” ในสังคมไทยมีมาตลอดจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในคน “รุ่นเก่า” รวมถึงผมเองนั้น เราถูกปลูกฝังและเชื่อว่า “ไม่มีที่ไหนที่จะมีความสุขเท่าเมืองไทย” ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยไป “อยู่” ในประเทศอื่นเลย พอผมโตขึ้นและได้มีโอกาสไปเรียนหรือ “อยู่” ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 4 ปี ผมก็รู้สึกว่า ที่จริงการอยู่ในอเมริกาก็มีความสุขเหมือนกับการอยู่ในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม ผมก็กลับ “บ้าน” เมื่อเรียนจบเพราะความสามารถที่มีโดยเฉพาะด้านภาษาไม่ดีพอที่เขาจะจ้างให้ทำงานดี ๆ ได้ ผมไม่ดิ้นรนที่จะสู้เพื่อที่จะให้อยู่ในอเมริกาต่อไป ผมกลับบ้านเพราะคิดว่าประเทศไทยในปี 2528 หรือเมื่อประมาณ 36 ปีที่แล้วนั้น “มีอนาคต” และผมก็ “คิดถูก” เพราะผมเจริญก้าวหน้ามาตลอดตามการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าของประเทศที่ดีขึ้นจนเป็นเป็น “ดารา” และเป็น “แบบอย่าง” ให้แก่ประเทศ “ล้าหลัง” ทั้งหลาย และนี่ก็รวมไปถึงเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ที่แม้ว่าจะไม่เต็มร้อยแต่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ที่จริงหลังจากที่ผมกลับบ้านนั้น ประเทศไทยก็เริ่ม “เปิดประเทศ” โดยเฉพาะทางด้านการเงินและการลงทุนอย่างกว้างขวาง รวมถึงการ “เปิดเสรีทางการเงิน” ในปี 2533 ซึ่งทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างสะดวก ผลจากการนั้นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปกว่า 4 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่งคือจากประมาณ 200 จุดเป็น 1,100 จุด จากต้นปี 2530 –กลางปี 2533 ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทุกด้าน ในด้านการเมืองนั้น ในปี 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะ “นักการเมือง” และหัวหน้าพรรคการเมืองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่นายกมักจะต้องเป็นทหารหรือมาจากทหารเป็นหลัก นั่นเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตย
ในด้านของเศรษฐกิจนั้น GDP ของไทยเติบโตเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันถึง 3 ปี สุภาษิตของพลเอกชาติชายในช่วงนั้นก็คือ “จะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เพราะช่วงก่อนหน้านั้นเรามีปัญหาการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน อนาคตของไทยสดใสมากเสียจนเกิดความคิดและมีการรณรงค์ให้คนไทยที่ “ย้ายประเทศ” ไปอยู่ประเทศก้าวหน้าเช่นอเมริกาให้เดินทางกลับมาอยู่และทำงานในประเทศไทยในชื่อโครงการ “สมองไหลกลับ” อย่างไรก็ตาม หลังจากพวกเขาเดินทางกลับมา “ดูลาดเลา” และพบกับความเป็นจริงโดยเฉพาะระบบต่าง ๆ ของ “รัฐไทย” แล้ว พวกเขาก็เลิกล้มความตั้งใจ ทุกวันนี้ผมก็ยังเห็นเพื่อนที่เป็นอาจารย์ในสหรัฐบางคนกลับมาเยี่ยมเยือนและสอนคอร์สเป็นครั้ง ๆ แต่เขาไม่พูดเรื่องกลับมาอยู่ประเทศไทยอีกเลยแม้ว่าอายุจะใกล้ 70 ปีแล้ว
ประเทศไทยคงจะยังมีอนาคตและเป็นที่ ๆ “อยู่แล้วมีความสุขที่สุด” ในสายตาของคนไทยโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นนำหรือคนที่มีศักยภาพจนถึงอย่างน้อยปี 2549 หรือ 15 ปีมาแล้ว นั่นเพราะว่าปีนั้นเป็นปีที่หนังสือชื่อ “ความสุขของกะทิ” เขียนโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รับรางวัลซีไรต์ หนังสือพรรณนาถึงความสุขของเด็กหญิงอายุ 9 ขวบชื่อกะทิที่มีครอบครัวเป็น “คนชั้นนำ” แต่ได้ใช้ชีวิตในพื้นเพชนบทที่งดงาม “โรแมนติก” และทั้ง ๆ ที่มีแม่ที่เจ็บป่วยอย่างหนักจนเสียชีวิตแต่ก็มีความสุขแบบไทย ๆ ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวตั้งแต่ตายายพี่ป้าน้าอาทุกคนใช้ชีวิต “อย่างพอเพียง” และเต็มไปด้วยความรัก คนที่อายุไล่ ๆ กับผู้เขียนและเป็นคนชั้นนำหรือมีศักยภาพที่จะเป็น ถ้ามาอ่านและรำลึกถึงภาพเก่า ๆ แบบนี้ก็คงจะรู้สึกได้ถึง “ความสุข” ของการอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในชนบทมาก่อนจะรู้สึกแบบนั้นหรือไม่โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น คนชนบทโดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาวต่างก็ “ย้ายเข้าเมือง” แสวงหา “อนาคต” กันจนแทบจะทำให้ชนบทร้างเหลือแต่คนแก่และเด็กเล็กอย่างในปัจจุบัน
ความสุขและความฝันของคนไทยรุ่นใหม่หรือรุ่นหนุ่มสาวในวันนี้คงจะเปลี่ยนไปมากอานิสงค์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกไร้พรมแดนทำให้คนไทยได้เห็นและเรียนรู้จากคนอื่นทั่วโลก ความคิดและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่คนไทยรุ่นก่อนไม่เห็นด้วยไม่คุ้นเคยและไม่เคยถูกสอนให้รู้จักหรือถูกบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับสังคมไทย กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เห็นชอบสมาทาน ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษบุญบารมีชาติก่อนที่กำหนดให้คนแต่ละคนได้ดีมีอำนาจบารมีในชาตินี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ความ “งดงาม” ของสังคมที่มีชนชั้นลดหลั่นกันไปและทุกคนรู้ในบทบาทหน้าที่ของตนเองเสมือนดังร่างกายที่ต้องมีหัวใจมีสมองมีมือมีเท้ามีนิ้วหรือมีเส้นผมนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ คนรุ่นใหม่เชื่อว่าทุกคนควรที่จะสามารถมีความคิดและความเชื่อเป็นของตนเองและทำตามสิ่งนั้นได้โดยไม่ควรมีใครมาบังคับ สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและการตัดสินอะไรที่เกี่ยวกับส่วนรวมจะต้องเป็นแบบ “ประชาธิปไตย” คือ 1 คนก็มี 1 สิทธิในการโหวต เป็นต้น และด้วยวิธีการแบบนี้โลกหรือประเทศก็จะอยู่กันอย่างสงบและมีความก้าวหน้า คนที่อยู่ในสังคมก็จะ “มีอนาคต” ที่ดีและมีความสุข
“ความฝัน” ของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เป็น “คนชั้นนำ” หรือคนที่มีศักยภาพสูง ซึ่งผมอยากจะตั้งชื่อเลียนแบบ “ความสุขของกะทิ” ก็คือ “ความฝันของ(หัว)กะทิ” ก็คือ การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ตอบสนองกับ “โลกใหม่” ของพวกเขาเพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถอยู่ในประเทศที่ทำให้พวกเขาก้าวหน้าและมีความสุข พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่และที่กำลังจะเป็นต่อไปนั้น เป็นสิ่งที่ “กดขี่” เอารัดเอาเปรียบและฉ้อฉลโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ ครั้นพวกเขาพยายามที่จะทำก็ถูกปราบปรามลงโทษ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการย้ายไปจากสังคมแบบนี้ และด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ประเทศที่ก้าวหน้าขาดแคลนแรงงานเพราะคนเกิดน้อยลงและประชากรแก่ตัวลงจึงต้องการแรงงานโดยเฉพาะที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ นี่จึงทำให้กลุ่มเฟซบุคย้ายประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้คนที่มีหน้าที่บริหารประเทศรวมถึงนักลงทุนอย่างผมต้องจับตามอง เพราะนี่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในระยะยาวได้อย่างรุนแรง
สำหรับผมแล้ว ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่นั้น เป็นเพียงอีกอาการหนึ่งของปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 6-7 ปีก่อน เริ่มตั้งแต่การเกิดที่น้อยลงและคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำลง สิ่งนี้ประกอบกับระบบการปกครองประเทศที่ค่อนข้างจะล้าหลังทำให้ไม่สามารถปรับตัวเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ โควิด-19 ทำให้คนตกงานและทำให้ปัญหาเศรษฐกิจหนักขึ้นไปอีกและนี่ส่งผลกระทบกับคนรุ่นใหม่อย่างแรง “อนาคต” สำหรับพวกเขา “มืดมน” วิธีที่จะนำอนาคตของพวกเขากลับมาก็คือ “ต่อสู้” เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อที่จะได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือไม่ก็ “หนี” ไปหาอนาคตในประเทศใหม่ที่สดใสกว่า ผมเองก็ไม่รู้ว่าถ้าผมยังเป็นหนุ่มอยู่ ผมจะเลือกแบบไหน แต่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุน ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งผมเองได้เริ่ม “ย้ายประเทศลงทุน” กันไปแล้ว เพราะนักลงทุนนั้นเป็น “นักเลือก” ไม่ค่อยอยากเป็น “นักสู้” โดยเฉพาะถ้าคิดว่าจะแพ้
ความฝันของ(หัว)กะทิ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
ความฝันของ(หัว)กะทิ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
-
- Verified User
- โพสต์: 97
- ผู้ติดตาม: 1
Re: ความฝันของ(หัว)กะทิ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 2
เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมจริงๆครับ
- Tibular
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 522
- ผู้ติดตาม: 0
Re: ความฝันของ(หัว)กะทิ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 3
สิ่งมีชีวิตก็แสวงหาหนทางไปเรื่อยๆ แต่ทางไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด?
เมื่อมนุษย์อพยพออกจากแอฟริกาเพื่อความอยู่รอด ทำให้มนุษย์กระจายไปทั่วโลก
ร่างกาย สีผิว มีการปรับตัวแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ ปรับชีวิตความเป็นอยู่
ให้เหมาะสมตามแต่พื้นที่ที่อพยพไป มีการแลกเปลี่ยนสินค้า-บริการ
เพื่อความอยู่รอด เกิดผู้นำ-ผู้ตาม เกิดการปกครอง เกิดการเอารัดเอาเปรียบ
เกิดสงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง ไม่มีใครฟังใคร
จนผู้คนล้มตายจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจว่าการต่อสู้ใช้กำลัง
นำมาซึ่งความเสียหายในวงกว้าง ไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไป
ส่วนร่างกายมนุษย์ที่อวัยวะต่างๆทำงานร่วมกัน ก็มีเซลล์ที่ทำตัวเป็นอิสระขึ้นมา
จนกลายเป็นเนื้อร้าย ขยายตัวไปตามส่วนต่างๆของร่างกายอย่างรวดเร็ว
ทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลลงไป จนอวัยวะทุกส่วนล้มเหลว และเสียชีวิตลง
เพราะเนื้อร้ายเติบโตเร็วเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้
การพัฒนาการของร่างกายนั้นใช้เวลายาวนาน ว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น
สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนต้องทำก่อน สิ่งไหนต้องทำหลัง
การแบ่งตัวของเซลล์เมื่อถือกำเนิดนั้น มีการสร้างและสลายเซลล์
สร้างอวัยวะบางส่วนและสลายอวัยวะบางส่วน กว่าจะกำเนิดเป็นทารกมีชีวิต
เมื่อมนุษย์อพยพออกจากแอฟริกาเพื่อความอยู่รอด ทำให้มนุษย์กระจายไปทั่วโลก
ร่างกาย สีผิว มีการปรับตัวแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ ปรับชีวิตความเป็นอยู่
ให้เหมาะสมตามแต่พื้นที่ที่อพยพไป มีการแลกเปลี่ยนสินค้า-บริการ
เพื่อความอยู่รอด เกิดผู้นำ-ผู้ตาม เกิดการปกครอง เกิดการเอารัดเอาเปรียบ
เกิดสงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง ไม่มีใครฟังใคร
จนผู้คนล้มตายจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจว่าการต่อสู้ใช้กำลัง
นำมาซึ่งความเสียหายในวงกว้าง ไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไป
ส่วนร่างกายมนุษย์ที่อวัยวะต่างๆทำงานร่วมกัน ก็มีเซลล์ที่ทำตัวเป็นอิสระขึ้นมา
จนกลายเป็นเนื้อร้าย ขยายตัวไปตามส่วนต่างๆของร่างกายอย่างรวดเร็ว
ทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลลงไป จนอวัยวะทุกส่วนล้มเหลว และเสียชีวิตลง
เพราะเนื้อร้ายเติบโตเร็วเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้
การพัฒนาการของร่างกายนั้นใช้เวลายาวนาน ว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น
สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนต้องทำก่อน สิ่งไหนต้องทำหลัง
การแบ่งตัวของเซลล์เมื่อถือกำเนิดนั้น มีการสร้างและสลายเซลล์
สร้างอวัยวะบางส่วนและสลายอวัยวะบางส่วน กว่าจะกำเนิดเป็นทารกมีชีวิต