SME คลีนิค ร่วมคิดฝ่าวิกฤต โดย เจ้าสัวธนินท์ และ คุณหนุ่ย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
amornkowa
Verified User
โพสต์: 2195
ผู้ติดตาม: 0

SME คลีนิค ร่วมคิดฝ่าวิกฤต โดย เจ้าสัวธนินท์ และ คุณหนุ่ย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)กล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์ ในหัวข้อ SME Clinic ร่วมคิดฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ในธุรกิจจะช่วยทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่แม้จะมีข้อดีแต่ก็ล้าสมัยและที่สำคัญต้องบริหารคนจำนวนมาก ซึ่งขอเรียกว่า “ตัวหนัก”จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจในเครือ ดังนั้นจะต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่

ตอนนี้คือยุค4.0 ที่การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 จะยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดเร็วขึ้นจากเดิมไม่เข้าใจยุคใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องรีบเข้าใจ ดังนั้น แม้โควิด จะเป็นวิกฤติแต่ในวิกฤติก็ตามมาด้วยโอกาส
ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 รุนแรงกว่าหลายวิกฤติที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤติทางการเงินอย่างต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นที่ไทยและเอเชีย ที่เศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่มากผลกระทบจึงไม่เกิดไปถึง ยุโรป หรือ สหรัฐ ตอนนั้น กลายเป็นโอกาสให้เกิดการซื้อของถูก ซึ่งไทยก็ได้นำของดีมีค่าไปขายในราคาถูกๆ เพราะบริหารไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจวิกฤติการเงิน ว่าควรจัดการอย่างไร ไม่ได้ตัดไฟแต่ต้นลม
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า กลับมาที่สตาร์ทอัพ พบว่า สตาร์ทอัพจากทั่วโลกต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยต้องการเข้ามาลงทุนโดยผลสำรวจชี้ว่า นักลงทุน อยากมาอยู่เมืองไทย เมืองไทยน่าอยู่ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราทำงานจากที่ไหนก็ได้ จะที่บ้านหรือสำนักงานก็ไม่ต่างกัน แต่ไทยไม่ค่อยส่งเสริมให้มามีการกำหนดเงื่อนไข เช่นต้องรายงานตัวเข้าเมืองทุก 3 เดือน เพราะมองว่าคนเหล่านี้จะมาแย่งงาน แต่ที่จริงแล้วเขาก็ทำงานของเขาและจะช่วยดึงเราให้เป็นคนเก่งเหมือนเขา
“ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส แต่รัฐบาลต้องเข้าใจและส่งเสริมอย่างตรงจุด”

ชี้จุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย

สำหรับสตาร์ทอัพเมืองไทยขาดอยู่อย่างหนึ่งคือขาดการเมืองสนับสนุน รัฐบาลไม่ได้เอื้อ แม้บอกว่าจะส่งเสริม ทำให้สตาร์ทอัพต้องไปจดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะรัฐบาลไทยจะเก็บภาษีรายได้สตาร์ทอัพ แต่ถามว่าถ้าลงทุนไปแล้วขาดทุนใครจะช่วยรับผิดชอบ ประเทศไทย 4.0 คนเก่งๆอยากอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายไทยไม่ต้อนรับ เพราะต้องการแค่แรงงานราคาถูกมาทำงานเท่านั้น

ตอนนี้เป็นยุคเถ้าแก่เกิดใหม่ มหาวิทยาลัยจากเดิมสร้างคนไปรับใช้บริษัทใหญ่ๆ ตอนนี้ สร้างคนไปเป็นเถ้าแก่มีธุรกิจของตัวเอง จากนี้ไปไม่มีคำว่าแรงงาน มีแต่วิศวกร มีแต่คนมาคุมเทคโนโลยี ยกตัวอย่างถ้าจะหาซื้อวัตถุดิบ จากเดิมต้องให้คนไปหาที่ไหนดี ที่ไหนถูก แต่ตอนนี้เข้าเวบไซด์ ก็รู้หมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การสร้างธุรกิจก็ดี แต่เมื่อสร้างแล้วธุรกิจประสบกับวิกฤติอย่างโควิด-19 ก่อนอื่นต้องศึกษาว่า ในธุรกิจที่มีอยู่นั้นสามารถต่อยอดหรือปรับให้เป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการได้อย่างไร แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนธุรกิจไปทำอย่างอื่นที่ไม่ถนัดเพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเลี้ยงธุรกิจที่แม้จะประสบปัญหาเหล่านี้ ให้อยู่ได้ เช่นให้เงินกู้ ซึ่งไม่ใช่ให้แค่ 3ปี แต่ต้องนานเป็น 5 ปี เพราะเมื่อโควิดหายไปแล้วโอกาสต่างๆจะกลับมา เช่น ธุรกิจกระเป๋าเดินทางตอนนี้ ไม่มีคนเดินทาง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การเดินทางจะเกิดขึ้นอย่างมากชนิดที่เรียกว่ารับกันไม่ทันเลยทีเดียว

ปั้นกองทุนพันล้านเป็นกองหนุนสตาร์ทอัพ

สำหรับกลุ่มซีพี ได้ตั้งกองทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและเป็นธุรกิจใหม่ เพราะ ธุรกิจแบบเดิมตัวหนักก็ให้คนเก่าๆทำไปส่วนธุรกิจใหม่ต้องตัวเบาเเละให้คนรุ่นใหม่ทำ ซึ่งพบว่า ธุรกิจใหม่ยังขาดเงินซึ่งกองทุนนี้ก็ไม่ได้จะให้เงินเพียงอย่างเดียวจะต้องให้ความรู้ด้วย
“ก่อนจะเริ่มธุรกิจต้องหาข้อมูล ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ตลาดจะทำอะไร มีคนเลือกทำหรือไม่ หรือไปต่อยอดได้หรือไม่ ขาดคนก็ไปเชิญคนเก่งๆจากทั่วโลกมาช่วย เพราะธุรกิจเทคโนโลยี จะไม่มี one man show แต่จะต้องเป็นเรื่องของการตลาดและเทคโนโลยีเป็นหลัก”
สำหรับการทำงานต้องตั้งเป้าหมาย ซึ่งซีพีจะยึดหลักให้ลองผิดลองถูกให้อำนาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่ไปห้ามเพราะคิดว่าจะต้องผิด แต่จะปล่อยให้ทำ ผิดวันนี้พรุ่งนี้แก้ไข แต่ถ้าผิดอีกแก้ไขไม่ได้อันนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องเป็นแค่การชี้แนะไม่ใช่ชี้นำ
“ผมอาจมีกองทุนใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนก้บธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว อย่างสำเร็จสัก 80-90% แล้วเราก็เข้าไปช่วยให้ขยายธุรกิจเพิ่มไปได้ด้วยเงินทุนของเรา”

8พันคนฟังธนินท์สอนมวยธุรกิจแน่นคลับเฮ้าส์
ทั้งนี้ ในการเปิดห้อง คลับเฮ้าส์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟัง 8,000 คน ได้มีการเปิดโอกาสให้เปิดการซักถาม จากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีในสาขาต่างๆ โดยนายธนินท์ได้สอบถามรายละเอียดธุรกิจพร้อมชี้แนะและให้กำลังใจ และย้ำว่าหลังโควิด-19 จะมีโอกาสต่างๆเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากทั่วโลก
โดยนายธนินท์ กล่าวถึง แอพพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์ สาเหตุที่สนใจเข้าร่วมแม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้สนใจโซเชียลมีเดียลักษณะเข้าร่วมด้วยตัวเองมาก่อนเพราะมองว่าคนที่เข้ามาฟังในคลับเฮ้าส์คือคนที่มีความตั้งใจจริงๆที่จะเข้ามาฟังและน่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจยุคใหม่ไม่เหมือนแบบเก่า ต้องเรียนรู้กับสิ่งใหม่และคนรุ่นใหม่แม้ส่วนตัวจะมีประสบการณ์มามากก็ตาม

เสียดายเคยปฎิเสธแจ๊คหม่า

โดยหนึ่งในคำถามจากผู้ฟังถามถึงสาเหตุที่นายธนินท์เคยปฎิเสธที่จะร่วมก่อตั้งและทำธุรกิจกับนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา อีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ในจีน นายธนินท์ กล่าวว่า “ผมยังคิดถึงวันนั้น และยอมรับว่าตอนนั้นฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไปเข้าคอร์สเรื่องอีคอมเมิร์ชถึงฮ่องกง ถ้าตอนนั้นผมเข้าใจป่านนี้คงรวยไม่รู้เรื่อง นั่นแหละทำไมผมถึงบอกว่า สตาร์ทอัพต้องหาความรู้มองหาสิ่งใหม่เลือกใช้เทคโนโลยี ดึงคนเก่งมาช่วยงาน เพราะโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ”

Cr:กรุงเทพธุรกิจ
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้
โพสต์โพสต์