เม่ากลับใจ สัมภาษณ์ อาจารย์มี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์
ตอนที่ 3: การลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
“การคาดการณ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือ เติบโตได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว”
เมื่อถามพี่มี่เกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าก็ได้ภาพที่ค่อนข้างตรงกับมุมมองของคนส่วนใหญ่
คือ เศรษฐกิจข้างหน้าดูแล้วน่าจะชะลอตัวลง ภาคการบริโภคก็น่าจะกระทบพอสมควร ดูแล้วน่าจะมีอุตสาหกรรมน้อยมากที่น่าจะทรงตัว หรือ เติบโตได้
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลายๆกลุ่มอาจจะได้ประโยชน์จาก Covid-19
เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ Work from Home ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็ขึ้นมาพอสมควรแล้ว
ดังนั้นกลุ่มที่พี่มี่คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่อาจจะได้รับความสนใจ คือ กลุ่มที่ปีหน้า (ปี 2021) ที่มีโอกาสที่รายได้และกำไรจะกลับมาสู่ฐานของปีที่แล้ว (ปี 2019)
โดยพี่มี่คิดว่ากลุ่มที่มีโอกาสฟื้น หรือ มีโอกาสเติบโตกว่าปี 2019 ก็คือ "หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล"
โดยกลุ่มการแพทย์อาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มที่มีรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ
2. กลุ่มที่เน้นรายได้จากผู้ป่วยในประเทศ
ด้วยปีนี้ทั่วทั้งโลกประสบกับผลกระทบจาก Covid-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศนั้นหดตัวลงมากทั้งโลก
ดังนั้นฐานรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติน่าจะหายไปพอสมควร
จึงทำให้ฐานกำไรของโรงพยาบาลที่มีรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาตินั้นต่ำมาก หรือ อาจจะขาดทุนได้ในบางโรงพยาบาล
แต่ด้วยการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเป็นจำนวนมาก
และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกเรื่องการรักษาพยาบาล และมีค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าประเทศอื่นๆอยู่มาก
ดังนั้นพี่มี่จึงเชื่อว่าภาพในระยะยาวของกลุ่มโรงพยาบาลน่าจะกลับมาสู่ปกติได้หากสถานการณ์ Covid-19 กลับมาสู่สภาวะปกติ
ซึ่งหากปีหน้าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลฟื้นกลับมาจากฐานที่ต่ำ ก็อาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนรายย่อย และ นักลงทุนสถาบัน
แต่ด้วยการที่กลุ่มโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยชาวต่างชาตินั้นซื้อขายกันที่ PE Ratio ในระดับที่สูงมาก
แต่รายได้และกำไรนั้นกลับลดลง สวนทางกับกลุ่มที่รับผู้ป่วยในประเทศที่การฟื้นตัวน่าจะทำได้ดีกว่าและเร็วกว่า
ดังนั้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยในประเทศที่เทรดที่ PE ที่ต่ำกว่า อาจจะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุน
โดยโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยในประเทศก็ยังมีโอกาสเติบโตได้จากหลายๆปัจจัย ได้แก่
1. การที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ ทำให้ปริมาณผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
เช่น เบาหวาน, โรคกระดูกและไขข้อ, โรคหัวใจ และ โรคทางสมอง นั้นมีประมาณมากขึ้น
ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีการพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการก็จะเป็นกรายได้ที่สม่ำเสมอของโรงพยาบาล
และ รายได้จากโรคเรื้อรังเหล่านี้จะเป็นรายได้ต่อใบเสร็จที่ค่อนข้างสูง
และ เครื่องมือในการรักษานั้นก็เป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้นเมื่อถึงจุดคุ้มทุนเมื่อไรกำไรจะมีอัตราการเติบโตที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้
2. รายได้จากกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นรายได้ที่สม่ำเสมอทำให้รายได้ของโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่ประกันตนจะมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน
และยังมีการปรับเพิ่มทุก 2 ปี (โดยรอบที่จะทำการปรับค่าบริการในส่วนของผู้ป่วยประกันสังคมเพิ่มในรอบถัดไป คือ พ.ศ. 2565)
ซึ่งรายได้ส่วนที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นจะเป็นถูกบันทึกเป็นกำไรทันที เนื่องจากต้นทุนในการรักษานั้นไม่เพิ่ม (หรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย)
หุ้นที่มีรายได้จากประกันสังคมน่าจะดูปลอดภัยในการลงทุนในสภาวะที่เศรษฐกิจข้างหน้าชะลอตัวกว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่รับเฉพาะผู้ป่วยเงินสดเพียงอย่างเดียว
เพราะ กลุ่มผู้ป่วยเงินสดอาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งอาจจะเลือกไปใช้บริการจากโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ถูกกว่า
และหากโรงพยาบาลที่น่าสนใจที่จะลงทุนนั้นรับผู้ป่วยประกันสังคมก็ต้องมั่นใจได้ว่ากลุ่มผู้ประกันตนนั้นจะไม่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ
แล้วส่งผลให้ปริมาณผู้ประกันตนที่ลดลงซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงของรายได้, กำไร และ การจ่ายเงินปันผลลดลง
3. ปัจจัยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับโรค Covid-19 ที่อาจจะเป็นรายได้ที่อาจจะเป็นรายได้ที่เป็น Recurring Income
เช่น การตรวจ Covid-19 ที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการคล้ายเป็นหวัด
หากตรวจฟรีทางโรงพยาบาลก็จะทำการตรวจให้แล้วไปเบิกกับทางหน่วยงานราชการ,
การฉีดวัคซีน Covid-19 ซึ่งอาจจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องจากต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเมื่อเปิดประเทศ
และ ภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ต้องการสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยว
หรือ โรงงานต่างๆก็ต้องการลดความเสี่ยงจากการปิดโรงงานจากการที่พนักงานติด Covid-19
ก็ต้องให้พนักงานฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกปิดโรงงาน
ซึ่งรายได้จากการตรวจ Covid-19 นั้นอาจจะเกิดอย่างสม่ำเสมอเพราะอาการของ Covid-19 นั้นเริ่มต้นมีความคล้ายของโรคหวัด
ซึ่งรัฐบาลก็ต้องการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจึงสนับสนุนการตรวจฟรี
และ การฉีดวัคซีนอาจจะเป็นรายได้ที่เป็น Recurring ตัวใหม่ของกลุ่มโรงพยาบาลจากการที่วัคซีน Covid-19
อาจจะเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกปีคล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
เมื่อเราเข้าใจปัจจัยสนับสนุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลแล้ว
การเลือกโรงพยาบาลที่จะลงทุนที่พี่มี่คิดว่าน่าสนใจในการลงทุนก็คือ
โรงพยาบาลที่มีความสามารถในการแข่งขัน และ เป็นโรงพยาบาลที่มีระดับ PE ที่ต่ำ
และ มีโอกาสที่เงินปันผลในอนาคตมีโอกาสที่จะจ่ายเงินปันผลระดับ 4-5%
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลแม้ว่าดูว่าน่าจะทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในอนาคต
แต่ก็ไม่ได้น่าลงทุนไปทุกตัว ต้องดูกลุ่มผู้ป่วยที่มาใช้บริการ, แนวโน้มของปริมาณผู้ป่วย,
และ แนวโน้มรายได้ในอนาคต ดังนั้นหากนักลงทุนที่สนใจที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลก็น่าจะลองศึกษาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่มเติม
เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในอนาคตครับ
การลงทุนมีความเสี่ยง เม่ากลับใจ เพียงให้ข้อมูลและแนวทางการลงทุนจากพี่มี่เพื่อแบ่งปันมุมมอง,
ประสบการณ์ และแนวทางการวิเคราะห์ ของพี่มี่เพื่อเป็นไอเดียในการลงทุนเท่านั้นนะครับ
และ ขอย้ำอีกทีว่าไม่ใช่การชี้นำให้ลงทุนตามนะครับ เพราะ การลงทุนต้องเข้าใจในหลักเหตุและผลเสมอครับ
ชอบกด like ใช่กด Share
ฝากเพจการลงทุน เม่ากลับใจ
ไว้ในอ้อมใจนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ
#เซียนมี่
#เม่ากลับใจ
เม่ากลับใจ สัมภาษณ์ อาจารย์มี่ (ตอนที่ 3: การลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล)
- เม่ากลับใจ
- Thai VI Partner
- โพสต์: 55
- ผู้ติดตาม: 0
เม่ากลับใจ สัมภาษณ์ อาจารย์มี่ (ตอนที่ 3: การลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล)
โพสต์ที่ 1
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้