การเรียนรู้ที่ดีจาก การศึกษาเหตุการณ์ในอดีตของบุคคลสำคัญ ว่าท่านเหล่านั้นผ่านประสบการณ์ช่วงชีวิตนั้นมาได้อย่างไร มีการปรับตัวแบบไหนทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ อยากจะขอยกตัวอย่างของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ครับ
ท่านผ่าน วิกฤติ ปี 2530 Black Monday ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงอย่างมาก
ผ่าน วิกฤติ ปี 2540 ต้มยำกุ้ง วิกฤติทางการเงินที่ ประเทศไทย ได้รับผลกระทบแสนสาหัส
ผ่าน วิกฤติ ปี 2551 ซับไพร์ม ปี 2008 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ของอเมริกา
บทความนี้เป็นบทความที่พี่(User Thai VI Article)ในเวบบอร์ดthaivi เคยได้นำมาลง ซึ่งเป็นบทความที่สามารถส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความเข้มแข็งที่ต้องมีทั้งสติและปัญญาเพื่อที่จะผ่านวิกฤติเศรษฐกิจรวมถึงปัญหาอื่นๆที่เข้ามากระทบจิตใจ
ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า
ผมเริ่ม “ลงทุน” หรือว่าที่จริงน่าจะเรียกว่า “เล่นหุ้น” มาตั้งแต่ปี 2529-30 ซึ่งเป็นเวลาที่ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาและกลับมาทำงานทางด้านการเงินที่อดีต “บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เงินทุนระยะยาวให้กับโครงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย
และ “สนับสนุน” ให้เกิด “เงินทุนระยะยาว” ขึ้นในประเทศ เพื่อที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ยังเป็นประเทศ “เกษตรกรรม” ในช่วง 40-50 ปีก่อน
การทำงานที่บรรษัทนั้นได้ทำให้ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างไม่ตั้งใจเริ่มตั้งแต่การได้เข้าไป “แก้ไข” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ เข้าไป “รับรู้” ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดในปี 2530
ที่เกิดเหตุการณ์ “Black Monday” หรือ “วันจันทร์ทมิฬ” ในวันที่ 19 ตุลาคม 2530 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงมาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ในหนึ่งวัน
โดยที่ดัชนีดาวโจนส์ลดลงไปถึง 508 จุดเหลือ 1738.74 จุดหรือลดลงถึง 22.61% เหตุการณ์แบล็คมันเดย์นั้น ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากการซื้อขายของ “Program Trading” หรือการซื้อขายโดยอาศัยคอมพิวเตอร์สั่งซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็ว
โดยอิงกับเรื่องของราคาหุ้นที่ขึ้นลง โดยที่โปรแกรมนั้นทำขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันพอร์ตของเทรดเดอร์ไม่ให้เสียหายหนักถ้าหุ้นมีความผันผวนหรือตกลงมาแรงที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “Portfolio Insurance”
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนก็เถียงว่ามันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดก่อนหน้านั้นขึ้นมาแรงเกินไป โปรแกรมเทรดดิ้งแค่ทำให้มันปรับตัวลงมาอย่างรวดเร็วมาก
ช่วง 10 ปีแรก ของการลงทุน
การลงทุนในตลาดหุ้นของผมในช่วง 10 ปีแรกนั้น เริ่มตั้งแต่การซื้อหุ้นจองหรือ IPO โดยเฉพาะที่บรรษัทเป็นผู้รับประกันการจำหน่ายซึ่งก็ได้มาในระดับร้อยหุ้นเท่านั้น
ต่อมาผมก็เริ่มซื้อขายหุ้นเองบ้าง และก็เริ่มมากขึ้นเมื่อผมย้ายงานมาอยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยทำหน้าที่ทางด้านวานิชธนกิจหรือ IB ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาการระดมเงินแก่บริษัทจดทะเบียนและการรับประกันการจำหน่ายหุ้น
รวมถึงการลงทุนโดยพอร์ตของบริษัทเองที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ป็อปเทรด” อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” แต่เนื่องจากเป็นคนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมและกลัวความเสี่ยง
ผมจึงลงเงินเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะเกิน 10% ของเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ผมไม่เคยนับและบันทึกผลงานการลงทุน แต่ถ้าจะเดาก็คือคง “เสมอตัว” ไม่ได้กำไรหรือขาดทุนแม้ว่าช่วง 10 ปีนั้นตลาดหุ้นจะขึ้นมามหาศาล
ปี 2540
สิบปีหลังจากวิกฤติตลาดหุ้นแบล็คมันเดย์คือในปี 2540 ผมก็พบกับวิกฤติตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่อไทยประกาศลดค่าเงินบาทลงและคนขาดความมั่นใจส่งผลให้ค่าเงินบาทตกลงมาอย่างหนักจาก 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์กลายเป็น 50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์
ซึ่งส่งผลให้บริษัทจำนวนมากล้มละลาย ตลาดหุ้นตกลงมากว่า 50% ในปี 2540 และอนาคตของประเทศดูมืดมนเนื่องจากบริษัทเกือบทั้งประเทศต่างก็เป็นหนี้มากมายและไม่มีใครมี “เงินสด” ที่จะนำมาลงทุนได้เป็นเรื่องเป็นราว
ผู้คนจำนวนมากรวมทั้งตัวผมเองต้อง “ตกงาน” และไม่รู้ว่าจะยังหางานอื่นที่ดีหรือมีรายได้พอเลี้ยงชีพหรือดำรงสถานะความเป็นอยู่แบบเดิมได้หรือไม่ แต่ก็อย่างที่ปราชญ์บางคนกล่าวไว้ “ในวิกฤติมีโอกาส”
เริ่มการลงทุน “เพื่อชีวิต”
ผมเริ่มต้นชีวิตการลงทุน “เพื่อชีวิต” เพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงแล้วมีเงินพอดำรงชีพแบบเดิมได้
ผมเห็นโอกาสที่จะลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดีเยี่ยม เป็นผู้นำที่ขายสินค้าที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น มีหนี้น้อย และที่สำคัญราคาหุ้นถูกมาก ค่า PE ไม่ถึง 10 เท่า ปันผลอย่างน้อย 5% ต่อปี บางบริษัทอาจจะถึง 10%
ผมคำนวณดูแล้ว เงินออมของผมทั้งหมดที่มีอยู่ ถ้านำไปลงในหุ้นพวกนี้ ผมจะได้รับปันผลเพียงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ผมค่อย ๆ ลงจนเงินออมทั้งหมดอยู่ในตลาดหุ้น
ผมลงโดยไม่คิดว่าจะขายหุ้น ผมคิดว่าผมกำลังลงทุนทำธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่ดีเยี่ยม มีกำไรและจ่ายปันผลดี
ผมจะอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ ตลอดไป เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถึงผมอยากจะขาย ผมก็ขายไม่ได้ ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครมีเงินซื้อหุ้น มีแต่คนอยากขาย ผมประกาศตัวเป็น Value Investor หรือ VI ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร
Value Investor
หลังจากการเป็น VI และความคิดด้าน VI กลายเป็นกระแสใหม่ มีคนที่เรียกตัวเองว่า VI จำนวนมาก การลงทุนแบบ VI ประสบความสำเร็จอย่างสูงส่วนหนึ่งจากภาวะตลาดหุ้นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2551 หรือ 10 ปีเต็ม
นับจากวิกฤติปี 40 ตลาดหุ้นไทยก็ประสบกับวิกฤติอีกครั้งหนึ่งตามวิกฤติที่เกิดขึ้นจากกรณี “ซับไพร์ม” หรือวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ
ดัชนีหุ้นไทยตกลงไปถึงเกือบ 50% ตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะซบเซาและหลายคนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะคล้ายหรือหนักกว่าภาวะวิกฤติในปี 2540 อย่างไรก็ตาม
ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม ภายในเวลาเพียงปีสองปี ทุกอย่างกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับตลาดหุ้นที่คึกคักกว่าเดิม เกือบ 10 ปีที่ผ่านมามันกลายเป็นยุคทองหรือทศวรรษทองของตลาดหุ้นและ VI โดยที่ปีที่เลวร้ายมีน้อยมาก และถ้าปีนี้ตลาดก็ยังดีอยู่ ทศวรรษนี้ก็จะเป็นทศวรรษที่ดีและไม่เกิดวิกฤติตลาดเลย
ถ้าจะมองย้อนหลังไปช่วงที่ตลาดเปิดใหม่ๆ ในปี 2518 พอถึงปี 2522 ตลาดไทยก็เกิดวิกฤติ “ราชาเงินทุน” ที่บริษัทหลักทรัพย์ราชาเงินทุนที่เข้ามาเล่นหุ้นตนเองล้มละลาย
ก่อให้เกิดวิกฤติ ดัชนีหุ้นลดลงถึงกว่า 40% ก็จะพบว่า ประมาณทุก 10 ปี เป็นเวลา 4 ครั้งคือประมาณปี 2520 2530 2540 และ 2550 ที่ตลาดเกิดวิกฤติ แต่เกือบ 10 ปีสุดท้ายนี้ กลับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดและตลาดไม่เกิดวิกฤติเลย
ว่าที่จริงสิบปีสุดท้ายนี้เป็นช่วงเวลาที่เราแทบไม่เคยเจอช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นตกรุนแรงด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนมากมองภาพของตลาดหุ้นที่ดีและอาจจะมี “ความเสี่ยงต่ำ”
คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นจำนวนมากนำเงินเข้ามาลงทุนราวกับว่าเงินนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่นี่สำหรับผมแล้วกลับเป็นเรื่องที่น่าห่วง ผมเองนั้นก็ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤติในปี 2560
ผมไม่เชื่อเรื่องดวง ว่าที่จริงถ้าจะเกิดวิกฤติจริงผมก็ไม่กลัวเนื่องจากผมผ่านมันมาหลายครั้งแล้ว
ผมเพียงแต่คิดว่าผมต้องหาหุ้นที่ปลอดภัยพอสมควรแม้ว่าจะเกิดวิกฤติ ซึ่งมันก็จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเพราะมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์
ตลาดหุ้นก็เป็นอย่างนั้น นักลงทุนที่ดีก็คือจะต้องผ่านวิกฤติให้ได้ทุกครั้ง
ขอขอบคุณที่มาบทความเก่าอันทรงคุณค่าในบอร์ดครับ https://board.thaivi.org/viewtopic.php? ... 01&t=60681