กลยุทธ์ธุรกิจ VS กลยุทธ์การลงทุน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
หมอวิ
Verified User
โพสต์: 272
ผู้ติดตาม: 0

กลยุทธ์ธุรกิจ VS กลยุทธ์การลงทุน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กลยุทธ์ธุรกิจ VS กลยุทธ์การลงทุน
.
ปรมาจารย์ด้านการลงทุนหลายท่านได้กล่าวไว้ว่า “จงลงทุนในหุ้นให้เหมือนกับทำธุรกิจ” ซึ่งหมายถึง ให้มุ่งจับจ้องไปที่พื้นฐานและมูลค่าของกิจการ มากกว่าที่จะจดจ่ออยู่กับราคาหุ้น
.
โดยสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจในตลาดเสรี คือเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน
.
เมื่อพูดเรื่องการแข่งขัน ก็ต้องกล่าวถึงเรื่องของกลยุทธ์ในการแข่งขัน
.
และเมื่อกล่าวถึงกลยุทธ์ในการแข่งขัน ก็ต้องอ้างอิงแนวคิดของ ศาสตราจารย์ Michael E. Porter ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ ที่ได้แบ่งแยก “ประเภท” ของกลยุทธ์โดยทั่วไป ซึ่งกิจการสามารถเลือกใช้เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดี ออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
.
1. กลยุทธ์การเน้นต้นทุนต่ำ (Cost Leadership)
.
2. กลยุทธ์ที่เน้นการสร้างความแตกต่าง (Product Differentiation)
.
3. กลยุทธ์การเจาะกลุ่มเป้าหมาย (Focus or Niche)
3.1 การเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นต้นทุนต่ำ
3.2 การเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นการสร้างความแตกต่าง
.
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง “องค์ประกอบ” ของกลยุทธ์ ทั้ง 3 ส่วน คือ
.
1. ตำแหน่งทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning) คือการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับ
1.1 สินค้า/บริการหลัก
1.2 ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
1.3 วิธีและช่องทางการส่งมอบ
.
2. การเลือกว่าจะทำและไม่ทำอะไร (Do & Don’t หรือ Strategic Trade off)
.
3. ความสอดคล้องลงตัวของกลยุทธ์ (Strategic Fit)
.
(อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือ “คู่มือวีไอ” หน้าที่ 35-36)
.
มาดูกันครับว่าเราจะสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดนี้อย่างไร เพื่อที่จะได้ “ลงทุนอย่างมีกลยุทธ์” เช่นเดียวกับเวลาที่ทำธุรกิจ
.
การเลือก “ประเภท” ของกลยุทธ์โดยทั่วไป
.
1. กลยุทธ์การเน้นต้นทุนต่ำ
เปรียบได้กับการลงทุนแบบ Value Oriented หรือเน้นหุ้นราคาถูกเป็นหลัก
.
2. กลยุทธ์ที่เน้นการสร้างความแตกต่าง
เปรียบได้กับการลงทุนแบบ Quality / Growth Oriented
คือเน้นลงทุนในกิจการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องของการเติบโตในระยะยาว
.
3. กลยุทธ์การเจาะกลุ่มเป้าหมาย
เปรียบได้กับการลงทุนแบบ Focus หรือมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นน้อยตัว
.
3.1 การเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นต้นทุนต่ำ
เปรียบได้กับการลงทุนแบบ Focus โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูก
.
3.2 การเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นการสร้างความแตกต่าง
เปรียบได้กับการลงทุนแบบ Focus โดยเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ/หุ้นเติบโต
.
ทีนี้ก็มาวิเคราะห์ “องค์ประกอบ” ของกลยุทธ์ ทั้ง 3 ส่วนกันครับ
.
1. ตำแหน่งทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning)
.
1.1 สินค้า/บริการหลัก
เปรียบได้กับการมี Criteria หรือเกณฑ์ในการเลือกหุ้น
ว่าหุ้นประเภทไหน ลักษณะอย่างไรที่เข้าข่ายสามารถลงทุนได้
.
1.2 ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
เปรียบได้กับการระบุหุ้นที่น่าสนใจที่สุด น่าลงทุนที่สุดออกมา เช่น 3-5 อันดับแรก
(เหมือนเวลาทำธุรกิจ ที่เราต้องระบุให้ได้ว่าลูกค้าที่มีคุณค่าต่อเรามากที่สุดคือใคร)
.
1.3 วิธีและช่องทางการส่งมอบ
เปรียบได้กับจังหวะเวลา และกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้น
.
2. การเลือกว่าจะทำและไม่ทำอะไร (Strategic Trade off)
หลังจากที่มีความชัดเจนในข้อที่ 1.1-1.3 แล้ว เราก็จะมีหลักในการพิจารณาว่า อะไรควรทำ/อะไรไม่ควร ซึ่งข้อที่ว่าอะไรไม่ควรทำนี่ (Don’t) ในหลายครั้งกลับจะเป็นปัญหามากกว่าเสียอีก เช่น หุ้นประเภทไหนที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งตั้งแต่แรก ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าการลงทุนของผมง่ายขึ้นมาก ใช้เวลาและเหนื่อยน้อยลงมาก ตั้งแต่ที่สามารถตัดหุ้นที่ไม่ตรงกับแนวทางออกไปได้
หรือหุ้นที่เข้าข่ายลงทุนได้ แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจที่สุด หรือยังไม่ถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน ผมก็จะยังไม่ทำอะไร (Don’t) แต่จะติดตามไปเรื่อยๆ จนเมื่อปัจจัยสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงหรือถึงจังหวะเวลาเหมาะสมจึงพิจารณาเข้าลงทุน (Do) เป็นต้น
.
3. ความสอดคล้องลงตัวของกลยุทธ์ (Strategic Fit)
นี่เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย กล่าวคือ เราต้องแน่ใจว่าทุกกิจกรรมที่ทำ (รวมทั้งสิ่งที่เราเลือกที่จะไม่ทำด้วย) จะเป็นปัจจัยผลักดันเราไปในทิศทางเดียวกัน คือทั้งสอดคล้องลงตัวและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
กล่าวคือ หากเป้าหมายการลงทุนของเราเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของพอร์ตและการบริหารความเสี่ยง วิธีการและแนวทางในการลงทุน (เช่น ลักษณะของหุ้นที่จะเข้าลงทุน จังหวะและระยะเวลาในการถือครองหุ้น การกระจายการลงทุน etc.) ก็ย่อมที่จะแตกต่างกับคนที่มีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยรับความเสี่ยงได้มาก และก็แตกต่างกับคนที่ต้องการให้พอร์ตเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ต้องการความผันผวนมาก เป็นต้น
.
การลงทุนก็เป็นเช่นเดียวกับการทำธุรกิจในแง่ที่ว่า หากเราไม่มีกลยุทธ์หรือแนวทางในการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง และหรือไม่สอดคล้องกับบริบท (ปัจจัยภายนอก) ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
.
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านได้ค้นพบแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ลงทุนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในเร็ววันครับ
.
ด้วยความปรารถนาดี
.
#Dr.Vi. #หมอวิ (9 กุมภาพันธ์ 2561)
https://www.facebook.com/Dr.Vichian/
[email protected]
"อย่ากลัวตกรถ" ...ถึงจะดี ถ้าไม่ถูก ก็ไม่ซื้อ
"อย่ากลัวติดดอย" ...ถ้าถูกพอ ก็ซื้อ ไม่รอราคาต่ำสุด
โพสต์โพสต์