“บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้ ตอนที่ 1

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
Verified User
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

“บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้ ตอนที่ 1

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
“บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้ ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

ทางชมรมนักลงทุนซีเอสไอ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดงานสัมมนาภาพยนตร์เรื่อง “The Rise and rise of Bitcoin” โดยทางชมรมฯ ได้เรียนเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านบิทคอยน์ดังนี้
- ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์ (ผมเอง) บรรยายก่อนฉาย เกี่ยวกับความเป็นมาของ “บิทคอยน์”
- ดร.ภูมิ ภูมิรัตน หนึ่งในกูรูด้านบิทคอยน์ และ ที่ปรึกษา กลต.
- คุณท็อป จิรายุส กรรมการผู้จัดการเว็บไซต์บิทคอยน์ http://www.coins.co.th
- คุณจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CSI รุ่นที่ 9)
ดำเนินรายการโดย คุณจิรัฐิติ ขันติพะโล MJ.ปั๊บ จากมันนี่แชนแนล (CSI รุ่นที่ 10)
เนื่องจากเนื้อหาในการสัมมนาครั้งนี้มีเป็นจำนวนมาก ผมจึงขอสรุปประเด็นสำคัญๆของการสัมมนา ดังนี้ครับ

หนึ่ง “บิทคอยน์” คืออะไร?
บิทคอยน์ เป็นสกุลเงินดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า Cryptocurrency ซึ่งถูกประดิษฐ์โดยโปรแกรมเมอร์อัจฉริยะที่มีชื่อสมมติว่า Satoshi Nakamoto ฟังชื่อก็คิดว่าเป็นคนญี่ปุ่น แต่เขาสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างดีมาก จึงไม่น่าจะใช่คนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า เขาคนนี้เป็นใคร? ในระบบที่เขาคิดค้นขึ้นมานั้น บิทคอยน์จะทำหน้าที่เป็นระบบการจ่ายเงินหรือเป็นเงินดิจิตอล และมีระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่คอยทำหน้าที่บันทึกรายการโอนเงินดิจิตอลและยืนยันว่า รายการนั้นๆเกิดขึ้นจริงและถูกต้อง พูดมาถึงตอนนี้แล้ว คนผู้อ่านหลายท่านอาจจะเริ่มเวียนหัวเล็กๆ ผมจึงอยากพาคุณผู้อ่านไปดูมูลค่าของบิทคอยน์กันซักหน่อยว่า มูลค่าของบิทคอยน์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่วันที่มันปรากฏขึ้นมาบนโลกใบนี้
ช่วงเริ่มแรกในปี 2552 ประมาณเดือนตุลาคมพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนคือ 1,309 บิทคอยน์แลกได้ 1 ดอลลาร์เท่านั้น (1 บิทคอยน์แลกได้ 2.67 สตางค์..ไม่ใช่บาท) ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ราคาบิทคอยน์อยู่ที่ 906.23 ดอลลาร์ หรือ 31,718 บาทต่อหนึ่งบิทคอยน์ คิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านเท่าภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี อ่านมาถึงตรงนี้...คนผู้อ่านเริ่มสนใจบิทคอยน์บ้างหรือยังครับ?

สอง “บิทคอยน์” มีโอกาสที่จะอยู่รอดไหม?
ปัจจุบันนี้ บิทคอยน์มีอายุกว่า 7 ปีแล้ว บิทคอยน์ได้ไต่ระดับราคาตั้งแต่แทบจะไม่มีค่า (เกือบเป็นศูนย์ดอลลาร์) จนไต่ระดับไปสูงถึง 1,216.73 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 แต่ใช่ว่าทางเดินของราคาบิทคอยน์จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบมาโดยตลอด ปีต่อมาราคาก็ตกลงมาเหลือเพียง 400 ดอลลาร์ และในเวลานี้ก็อยู่ที่ประมาณ 900 ดอลลาร์ ดังกราฟที่แสดงด้านล่างนี้
11.jpg
กราฟแสดงราคาเป็นดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 ถึง 26 ธันวาคม 2559
นอกจากนี้ผมยังอยากพาคุณผู้อ่านไปดูคู่แข่งขันของบิทคอยน์กันหน่อย ในปัจจุบันน่าจะมีเงินสกุลดิจิตอลอยู่มากกว่า 1,000 สกุล โดยมีบิทคอยน์มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดดังตารางด้านล่างนี้
13.jpg
ตาราง 10 สกุลเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าสูงสุด ซึ่งมีบิทคอยน์นำมาเป็นอันดับหนึ่ง
จากตารางจะเห็นได้ว่า บิทคอยน์มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุดที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่อันดับสองคือ Ethereum มีมูลค่าเพียง 600 กว่าล้านดอลลาร์ ห่างกันมากกว่ายี่สิบเท่า และถ้าหากเอายอดมูลค่าการตลาดรวมของเงินสกุลดิจิตอลอันดับที่ 2-9 รวมกันจะได้ประมาณ 1,490 ล้านดอลลาร์ ก็เท่ากับประมาณ 10% ของมูลค่าการตลาดของบิทคอยน์เอง จึงอาจกล่าวได้ว่ามูลค่าการตลาดของบิทคอยน์เพียงสกุลเดียวก็มากกว่ามูลค่าการตลาดของทุกสกุลเงินดิจิตอลรวมกันแล้ว
ดังนั้นด้วยความนิยมที่มีอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นแนวโน้มที่จะให้ความมั่นใจได้ว่า “บิทคอยน์” น่าจะเป็นเงินสกุลดิจิตอลที่จะมีโอกาสในการอยู่รอดได้มากที่สุด

สาม “ราคาบิทคอยน์” ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
Nakamoto ได้สร้างสถาปัตยกรรมของ “บิทคอยน์” ไว้อย่างรอบคอบ โดยกำหนดให้จำนวนของบิทคอยน์ทั้งหมดจะต้องมีจำนวนสูงสุดเพียง 21 ล้านบิทคอยน์ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการปล่อยบิทคอยน์ออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 16 ล้านบิทคอยน์
ในขณะที่ปริมาณเงินทั่วโลกมีเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing – QE) หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 เพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เข้าขั้นโคม่า พูดง่ายๆก็คือ การพิมพ์แบงก์ออกมามากขึ้นๆ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตน และต่อมาก็สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ จึงทำให้บรรดาประเทศอื่นๆที่มีปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน ต่างพากันคิดว่า QE เป็น “ยาวิเศษ” และต่างก็พากันทำตามเป็นทิวแถว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และอีกหลายๆประเทศ จึงทำให้เกิดภาวะ “เงินล้นโลก” เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณขึ้นไปอีก
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เงินบิทคอยน์ที่อย่างไรก็ตามจะมีจำนวนสูงสุดได้แค่ 21 ล้านบิทคอยน์ ในระยะยาวเงินบิทคอยน์จึงมีแนวโน้มที่จะมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินหลายๆสกุลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จากแนวทางในการแก้ไขปัญหาของหลายๆรัฐบาลในหลายๆประเทศในปัจจุบัน
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือ ข้อสรุป 3 ข้อ ที่เกี่ยวกับ “บิทคอยน์” ในฐานะหนึ่งในการลงทุนที่คุณผู้อ่านควรจะศึกษาไว้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะนำเสนอในตอนจบ จึงขอเชิญคุณผู้อ่านกรุณาอ่าน “บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้ ตอนจบ ได้ในวันพรุ่งนี้นะครับ ...แล้วพบกันครับ

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้
โพสต์โพสต์