https://storylog.co/story/569033f92dbac5714edd1ed8
นักลงทุนหลายคนชอบอ่านข่าว ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ
เพราะถ้าใช้คำว่า “ลงทุน” แล้วเราก็ต้องมีความรอบคอบและต้องคอยเก็บข้อมูลต่าง ๆ
แต่บางทีการหาข่าวนั้น เราก็ต้องมีความระมัดระวังอยู่เหมือนกัน
เพราะในข่าวหลาย ๆ ข่าวนั้นมันมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “กระแส”
“กระแส” คือสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะว่ามันถูกพูดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
และหลายครั้งมันก็เกิดจาก ผู้บริหาร หรือ นักข่าวนี่แหละครับ
เราเรียกสิ่งนี้ว่า Availability cascade
ในปี 1977 นั้น Hasher Goldstein และ Toppino ได้ทำการทดลอง โดยให้ข้อความจำนวน 60 ข้อความที่เหมือนจะเป็น “ข้อเท็จจริง” แต่มีคนส่วนน้อยที่จะทราบ
เช่นข้อความดังต่อไปนี้
“ฐานทัพอากาศแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในรัฐนิวเม็กซิโก”
“กีฬาบาสเกตบอลเข้ามาแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1925”
หลังจากนั้น ก็ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ตอบว่าเขาคิดว่าข้อความนี้เป็นจริงในระดับใด โดยให้เลือกใน Scale 1-7 (ถ้าให้คะแนนเท่ากับ 7 คือเชื่อว่าข้อความนี้เป็นจริงแน่นอน)
การศึกษานี้ทำทั้งหมด 3 รอบ โดยแต่ละรอบจะมีข้อความเดิมซ้ำอยู่ 1 ใน 3 หรือ 20 ข้อความ
ผลปรากฏว่า ยิ่งในรอบหลัง ๆ ข้อความที่ถูกกล่าวซ้ำเหล่านี้ยิ่งได้รับการเชื่อว่าเป็นจริงมากขึ้น
เรื่อย ๆ
โดยคะแนนความเชื่อรอบแรกของข้อความนั้นเป็น 4.2 และกลายเป็น 4.6 ในรอบที่ 2 และสุดท้ายพุ่งสูงขึ้นเป็น 4.7
แสดงว่ายิ่งพูดหรืออ่านข้อความนั้นซ้ำมากเท่าไรมันยิ่งน่าเชื่อถือเท่านั้น !!!
อาการของ Availability cascade นั้น มันเกิดจากการมีบางคน ซึ่งอาจจะเป็นนักข่าวหรือ
ใครก็ตามที่เริ่มจุดประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาและหลังจากนั้นเรื่องนั้นก็กลายเป็น “กระแส”
และพอพูดไปเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่ก็จะเชื่อว่ามันเป็นความจริง !!!
บางครั้งคนจุดประเด็นนั้น อาจจะมีจุดประสงค์ดี แต่บางทีก็มีวาระแอบแฝงอยู่
สิ่งที่นักลงทุนควรระวังคือข่าวที่เป็นกระแสที่เกิดจากผู้มีจุดประสงค์แอบแฝงนี่แหละครับ
บางที เขาอาจจะปล่อยข่าวร้ายให้กับบริษัทเพียงเพื่อที่จะหวังว่า คนจะตื่นตกใจ กลายเป็นกระแส
และพอพูดกันบ่อย ๆ เข้า ทุกคนก็เชื่อว่าจริงหลังจากนั้นราคาหุ้นจะได้ตกมาก ๆ เขาจะได้ช้อนซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำซึ่งเป็นประโยชน์กับเขา
เคยมีคำกล่าวว่า
“A simple lie told once may not be well received. But tell the lie a thousand times and it will be believed” “
โกหกครั้งเดียว คนคงไม่เชื่อ แต่ถ้าโกหกซ้ำ ๆ กันเป็นพันครั้ง คนจะเชื่อ”
ดังนั้นอ่านข่าวแล้ว ชั่งใจซะหน่อยนะครับว่ามันน่าเชื่อถือ เพียงเพราะว่ามันถูกพูดซ้ำ ๆ หรือเปล่า
จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังนะครับ