ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน มือโพสต์ข่าวลือทุบหุ้นปี 52-ฐานผิด พ.ร.บ.คอมพ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มีนาคม 2557 16:39 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน มือโพสต์ข่าวลือทุบหุ้นปี 52-ฐานผิด พ.ร.บ.คอมพ์
ภาพจากแฟ้ม - นายคธา ปาจริยพงศ์ เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555
ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกอดีตโบรกเกอร์โพสต์ข่าวลือไม่เป็นมงคลทำหุ้นตกปี 52 ผิด ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ย้ำหลักฐานอีเมลมัดจำเลยโพสต์ข้อความจริง และส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น แต่ลดโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นตัดสินไว้ 4 ปี เหลือ 2 ปี 8 เดือน ด้านจำเลยยื่นหลักทรัพย์ 5 แสนบาทขอประกันตัวชั้นฎีกา แต่ศาลไม่อนุมัติ เกรงจะหลบหนี
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดาฯ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนายคธา ปาจริยพงศ์ อายุ 37 ปี อดีตโบรกเกอร์ เจ้าหน้าที่บริษัท เคที-ซิมิโก้ จำกัด ตั้งอยู่ในอาคารสินธร ถนนวิทยุ ภายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยการกระจาย หรือปล่อยข่าวอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และสถาบันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชน กรณีที่นายคธาโพสต์ข้อความไม่เป็นมงคล ทำให้หุ้นตก เมื่อเดือนตุลาคมปี 2552 และในช่วงมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น จากจำคุก 4 ปี เหลือ 2 ปี 8 เดือน
ต่อมาวันนี้ (11 มี.ค.) จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมมูลค่า 500,000 บาทเป็นหลักประกัน อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาพิจารณาได้แล้วไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่มีผู้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ประชาไท และ เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เมื่อปี 2552 เรื่องข่าวลือที่ทำให้หุ้นตกอย่างหนัก และซึ่งเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างละ 1 ข้อความ รวมเป็นความผิด 2 กรรม
นายคธา ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2552 แต่ได้รับการประกันตัว ในช่วงเวลาเดียวกันตำรวจยังได้จับกุมตัวผู้ต้องหาอีกรวมอย่างน้อย 5 คน รวมถึงผู้ที่แปลข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งวิเคราะห์เรื่องหุ้นตกแล้วนำไปโพสต์ในเว็บบอร์ดด้วยแต่แยกดำเนินคดี
ต่อมา 25 ธ.ค.2555 ศาลชั้นต้นตัดสินว่า นายคธา มีความผิด ตามมาตรา 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 2 กรรมรวม 6 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี
ศาลอุทธรณ์ระบุว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ นายอารีย์ จิวรรักษ์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทียืนยันว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันโดยใช้อีเมล xxx และจำเลยนำสืบว่าอีเมลดังกล่าวเป็นของจำเลย นอกจากนี้จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ที่บริษัทของจำเลยพบว่าปรากฏร่องรอยการเข้าใช้งานเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน 214 ครั้ง พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าใช้นามแฝงดังกล่าวและโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง
ดังนั้นการที่จำเลยต่อสู้ว่าคอมพิวเตอร์ที่บริษัทมีพนักงานคนอื่นใช้ร่วมด้วย และจำเลยรับสารภาพโดยไม่มีโอกาสปรึกษาทนายความ เพราะถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญหลอกลวงว่าหากรับสารภาพจะให้ประกันตัวนั้น ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง นอกจากนี้พนักงานสอบสวนนั้นก็ทำการสอบถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันหลายเดือน ขณะให้การครั้งที่สามจำเลยได้ประกันตัวแล้ว จึงย่อมอยู่ในภาวะให้การปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ
กรณีที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของบริษัทก็ไม่พบข้อความตามฟ้องนั้น เห็นว่า ผลการตรวจสอบคอมพิวเตอร์พบอีเมล xxx ของจำเลย บ่งชี้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ส่วนข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้นสามารถล้างหรือ format ได้ อุทธรณ์ไม่ส่งผลให้หลักฐานของโจทก์มีพิรุธ แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยข้อความตามฟ้องว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนเบิกความว่าเมื่ออ่านข้อความที่หนึ่งแล้วพบว่าเป็นการกล่าวหาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเป็นความเท็จ นอกจากนี้พยานจำเลย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ก็เห็นว่าข้อความที่สองเรื่องข่าวลืออันไม่เป็นมงคลนั้นก็มีผลทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นในช่วงเวลาเกิดเหตุด้วย ศาลจึงเห็นว่าน่าจะเป็นข้อความที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไป เห็นสมควรแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลยกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
ขณะที่ พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8) ขณะเป็นรอง ผบช.ก.ยังสอบสวนพบว่า นายสมเจตน์ อิทธิวรกุล ผู้ต้องหาคนล่าสุด เป็นกุญแจดอกสำคัญที่สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้ที่ปล่อยข่าวไม่เป็นมงคลนี้ ซึ่งเชื่อว่ามีเจตนาทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วน ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมทั้ง 3 คน ไม่มีความเชื่อมโยงกัน เป็นเพียงสมาชิกในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ที่เข้าไปโพสต์ความคิดเห็นไว้ และใช้โต้ตอบผ่านเว็บไซต์
**ย้อนคดีโพสต์หมิ่น-ทุบหุ้นร่วง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น มีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก.เป็นผู้รับผิดชอบในคดี มีพล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ในคดีปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนทำให้ตลาดหุ้นร่วงไม่เป็นท่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2552 โดยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ราย ได้แก่ น.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน อายุ 43 ปี อดีตหัวหน้าเทรดเดอร์ บริษัท ยูบีเอส จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นรายใหญ่ในประเทศไทย บริษัทตั้งอยู่ติดกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายคธา ปาจริยพงศ์ อายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่บริษัท เคที-ซิมิโก้ จำกัด ตั้งอยู่ในอาคารสินธร ถนนวิทยุ ภายในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย โดยสามารถ จับกุม น.ส.ธีรนันต์ ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ
ตามประวัติ น.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน เป็นอดีตหัวหน้าเทรดเดอร์ บริษัท ยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในประเทศไทย มีที่ทำการอยู่อาคารยูบีเอฟ ติดกับอาคารสินธร ถนนวิทยุ ที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นรายใหญ่ของต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์
ส่วน นายคธา ปาจริยพงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท เคที-ซิมิโก้ จำกัด บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในอาคารสินธรเช่นเดียวกัน
ชุดสืบสวนได้ข้อมูลการโพสต์ข้อความจาก น.ส.ธีรนันต์ ส่งต่อไปที่สำนักงานข่าวบลูมเบิร์ก แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญแม่นยำในการรายงานข่าวด้านเศรษฐกิจ เป็นที่ยอมรับของนักธุรกิจในแวดวงตลาดหุ้น ซึ่งแนวทางสืบสวนพบว่าเป็นต้นตอของการนำข้อความข่าวลือไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต จนทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
ต่อมาชุดสืบสวน บช.ก.ได้บุกเข้าจับกุมตัวนายคธา ปาจริยพงษ์ อายุ 37 ปี พนักงานบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เคที-ซีมิโก้ จำกัด ได้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทอาคารลิเบอร์ตี้ ย่านสีลม พร้อมกับควบคุมตัวไปตรวจค้นหาเอกสารและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บริษัท เคที-ซิมิโก้ ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 2 อาคารสินธร
หลังจากนั้น พล.ต.ท.ไถง และ พล.ต.ต.ปัญญา แถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สรุปว่า ทั้ง 2 คน เป็นผู้ต้องหาตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ผู้ใดกระทำความผิด ต้องโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 2 ยอมรับว่าเป็นคนโพสต์ข้อความลงไปในเว็บไซต์ดังกล่าวจริง
** 2 วันดัชนีร่วง 53.95 จุด
ในส่วนของ ตลาดหลักทรัพย์ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งขณะนั้นว่า นับตั้งแต่วันที่ 13-14-15 ต.ค.2552 มีการสร้างความปั่นป่วนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กระทั่งทำให้การซื้อขายหุ้นในวันที่ 15 ต.ค.ร่วงลงอย่างรุนแรงถึง 60.75 จุด ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 692.72 จุด ปรับลดลงไป 38.75 จุด หรือลดลง 5.30% ด้วยมูลค่าซื้อขาย53,773.90 ล้านบาท
“ข่าวลือในทางที่ไม่ดีกับประเทศชาติมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.และหุ้นเริ่มร่วงลงเล็กน้อย กระทั่งดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องในวันที่ 14 ต.ค. หรือลดลง 15.20 จุด และวันที่ 15 ต.ค. ลดลงอีก 38.75 จุด ซึ่งก็พบว่าในช่วง 2 วันทำการ คือวันที่ 14 และ 15 ต.ค. ดัชนีหุ้นร่วงลงไปเฉลี่ย 53.95 จุด ขณะที่มูลค่าตลาดหายไปประมาณ 420,000 ล้านบาท”
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต.ช่วงนั้น ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส ฮ่องกง และบริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เข้าชี้แจงกรณีที่มีการตรวจพบว่า ในวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส ได้เทขายหุ้นออกมามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถึง 3,000 ล้านบาท ขณะที่ ยูบีเอส สิงคโปร์ เทขายหุ้นออกมา 1,300 ล้านบาท ส่วนบุคคลธรรมดาที่เป็นคนไทย ขายหุ้นออกมามากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ในมูลค่า 218 ล้านบาท
ส่วนวันที่ 15 ต.ค.พบว่า ยูบีเอส สิงคโปร์ได้กลับมาซื้อหุ้นคืน มูลค่า 1,300 ล้านบาท และพบว่ามีบุคคลธรรมดาที่เป็นคนไทยเข้ามาซื้อหุ้นสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 มูลค่า 145 ล้านบาท แต่บุคคลทั้ง 2 รายดังกล่าว เป็นคนละคนกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีบุคคลธรรมดาอีกรายที่ทำช็อตเซลล์ คือยืมหุ้นออกมาขายล่วงหน้า เพื่อทำกำไรในช่วงราคาหุ้นสูง ก่อนจะกลับไปช้อนซื้อหุ้นในราคาต่ำอีกครั้งเมื่อหุ้นร่วงลง เพื่อนำหุ้นไปคืน เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่า หุ้นจะต้องปรับตัวลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีต่างๆ เหล่านี้ จะนำต้องนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ตำรวจสันติบาล และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มาว่าตรงกันหรือเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ด้วย
ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 2 รายที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยข่าวลืออันเป็นเท็จและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ได้แก่ น.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน และนายสมเจตน์ อิทธิวรกุล ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี
http://manager.co.th/lite/ViewNews.aspx ... 0000027889