“วิชัย ทองแตง” สยายปีกสู่ท่อส่งน้ำมัน! โชว์วิธีปั้นธุรกิจ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
sak007
Verified User
โพสต์: 819
ผู้ติดตาม: 0

“วิชัย ทองแตง” สยายปีกสู่ท่อส่งน้ำมัน! โชว์วิธีปั้นธุรกิจ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

“วิชัย ทองแตง” สยายปีกสู่ท่อส่งน้ำมัน! โชว์วิธีปั้นธุรกิจขึ้นชั้นเศรษฐีแซงหน้า “ทักษิณ”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กันยายน 2555 16:57 น.

เจาะใจ ‘วิชัย ทองแตง’ จากอดีตทนายความคดีซุกหุ้น ผ่านมาเพียง 10 ปี วันนี้เขาติดอันดับความร่ำรวยแซงหน้า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ไปแล้ว! พบปรัชญาในการทำธุรกิจต้องกล้า ‘คิดใหญ่’ แล้วไปให้ถึง ประกาศวันใดสังคมเชื่อมั่นว่าเขาไม่ใช่ ‘นอมินี’ ของ ‘แม้ว’ จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจสัมปทานรัฐ ปัจจุบันขอแค่เดินตามนโยบายของรัฐ ก็ทำให้ ‘ธุรกิจบริการสุขภาพ-เคเบิล’ ล้วนแต่เป็นเบอร์ 1 ของประเทศ จับตา ‘วิชัย’ เตรียมโดดเข้าสู่ธุรกิจลอจิสติกส์-ท่อส่งน้ำมัน ครอบคลุมตลาด AEC

พูดถึง “วิชัย ทองแตง” ไม่มีใครไม่นึกถึง “ทักษิณ ชินวัตร” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชื่อของวิชัย ทองแตง โดดเด่นขึ้นมาในสังคม และเป็นไฮไลต์ให้สังคมจับตามองคือเหตุการณ์ที่เขาเข้าไปช่วยว่าความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีซุกหุ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยข้อแก้ต่างที่เรียกว่า “บกพร่องโดยสุจริต” และเป็นการปลดล็อกสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวไปสู่จุดสูงสุดด้านการเมืองในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้สำเร็จ

และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นไปอีก เมื่อข้อบังคับของนายกรัฐมนตรีและภรรยา จะต้องห้ามการดำเนินการทางธุรกิจ นั่นทำให้การก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลของเขา ถูกมองว่าเป็น “นอมินี” ให้กับตระกูลชินวัตร

ผ่านมาแล้ว 10 ปี วันนี้ “วิชัย ทองแตง” ประกาศชัดว่า “ผมไม่ใช่นอมินี”!

ชื่อของ วิชัย ทองแตง วันนี้จึงไม่ใช่แค่ “ทนายคนเก่ง” แต่เป็นนักบริหารที่ได้รับการยอมรับในฐานะ เศรษฐีหุ้นท็อปโฟร์ คือได้รับการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี พ.ศ. 2554 โดยวารสารการเงินการธนาคาร ร่วมกับอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ วิชัย ทองแตง ติดอันดับ 4 ถือครองหุ้นสูงสุดที่มูลค่า 11,804.14 ล้านบาท และทำให้ตระกูลทองแตงติดอันดับตระกูลเศรษฐีหุ้นในอันดับ 5 ด้วยการถือครองหุ้นรวมมูลค่า 15,328.38 ล้านบาท ที่ก้าวกระโดดจากอันดับที่ 297 เพียงระยะเวลาแค่ 1 ปี

นอกจาก วิชัย ทองแตง จะถูกกล่าวขานเป็น “พ่อมดตลาดหุ้น” แล้ว ยังได้รับการยอมรับในการบริหารธุรกิจ “เฮลท์แคร์” โดยเฉพาะธุรกิจเครือโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อีกทั้งยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 1 ปีที่ผ่านมาเขาได้ก้าวสู่การทำธุรกิจเคเบิลทีวี และเริ่มมองหาธุรกิจไลน์ใหม่ที่มีอนาคตเข้ามาบริหารเพิ่มอีก

ที่สำคัญวันนี้นิตยสารฟอร์บส์ ฉบับเดือนกันยายน เผยแพร่ผลการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุด 40 อันดับแรกในประเทศไทย โดย วิชัย ทองแตง ติดอันดับมหาเศรษฐีอันดับ 20 ของไทย ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวติดอันดับที่ 23

เส้นทางการทำธุรกิจของ “วิชัย ทองแตง” วันนี้จึงเรียกว่าไม่ธรรมดา แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนต้องจับตา!

‘วิชัย’ ชี้กลยุทธ์การทำธุรกิจต้องโต-ยั่งยืน

วิชัย ทองแตง เล่ากับ ‘ASTV ผู้จัดการรายวัน’ ถึงยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของเขาว่าอันดับแรกคือ ซื้อของเน่า แต่เห็นว่ามีอนาคตมาบริหารจัดการใหม่ให้กลายเป็นธุรกิจที่ดี เขาเรียกว่า “ของถูก ที่มีอนาคต” ที่สำคัญต้องเป็นธุรกิจที่ turn around สูงด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายสำคัญของการทำธุรกิจของเขาจะต้องมีปลายทางของทุกธุรกิจที่จะนำเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้ และทุกธุรกิจของเขาจะต้องมี market cap หรือมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

“ผมจะไม่ละทิ้งสไตล์การทำธุรกิจของผม เพราะผมถนัดธุรกิจ turn around คือเลือกธุรกิจดีแต่อ่อนแอ เข้าไปช่วยแก้ไขพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ธุรกิจนั้นๆ กลับมายืนอยู่ได้อย่างมั่นคง และเติบโตต่อไป”

แต่แม้ว่าเขาจะมีความชำนาญด้านตลาดหุ้นและฝีมือการทำธุรกิจ turn around จนสำเร็จด้วยการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่การที่เขาถูกเชื่อมโยงว่าเป็นนอมินีทักษิณ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจของเขา โดยเฉพาะเป็นสาเหตุหลักที่เขาตัดสินใจไม่ลงทุนในธุรกิจสัมปทานภาครัฐเด็ดขาด
วิชัยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจ 2 ประเภท คือธุรกิจที่กำลังเป็น SUNSET และธุรกิจที่จะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะธุรกิจสัมปทาน

“เมื่อไรที่สังคมเข้าใจและเชื่อว่าผมไม่ใช่นอมินีคุณทักษิณ ผมถึงจะมาสนใจหรือลงทุนธุรกิจสัมปทาน ซึ่งวันนี้และขณะนี้ผมไม่ยุ่งธุรกิจสัมปทานรัฐแน่นอน ”

ดังนั้น ด้วยปรัชญาและโมเดลในการทำธุรกิจของวิชัย ที่เป็นแบบคิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก และต้องเป็นคิดใหญ่แบบที่ได้ประโยชน์กลับมาสูงสุดและมองเห็นอนาคตแบบยั่งยืน ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในแทบทุกธุรกิจที่โดดเข้าไป และประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเพียงไม่กี่ปี ชื่อของ วิชัย ทองแตง จึงติดทำเนียบเศรษฐี แถมยังรวยแซงหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว

ไม่เน้นสัมปทาน-เดินหน้าธุรกิจตามนโยบายรัฐ

วิชัยพูดด้วยน้ำเสียงตัดพ้อว่า “คนในประเทศไทยมีเยอะที่ชอบทำธุรกิจ turn around และประสบความสำเร็จ แต่ไม่โดนเขม่น เป็นโชคไม่ดีของผม ที่เพียงแค่ไปว่าความให้คุณทักษิณ ทำให้คนมองว่าเป็นนอมินี มันไม่ใช่ ผมก็ลงทุนไปตามชีวิตปกติ และลงทุนก่อนที่จะไปว่าความให้ พ.ต.ท.ทักษิณเสียอีก”

โดย วิชัย เริ่มเข้าไปช่วยแก้วิกฤตตลาดหุ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ตั้งแต่นั้นก็ลงทุนอยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมาตลอด จนมาปี พ.ศ. 2542 ที่ได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลศิครินทร์ เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล ในปี พ.ศ. 2543 และเข้าซื้อหุ้นในโรงพยาบาลพญาไท ในปี พ.ศ. 2544

การเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไทในปีเดียวกับที่ว่าความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ทำให้คนมองว่า เขาคือนอมินีให้ตระกูลชินวัตร

“ผมทำธุรกิจมานานแล้ว แต่คนไม่รู้จัก พอคนเริ่มรู้จักและคิดว่าผมคือนอมินี ตั้งแต่นั้นมา หุ้นที่ผมเคยซื้อได้ในราคาไม่แพงนัก ก็ราคาขึ้นสูงหลายเท่าตัว อย่างโรงพยาบาลพญาไท การซื้อหุ้นงวดสุดท้าย ผมต้องซื้อในราคาที่สูงมาก แต่ไม่เป็นไร”

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาต้องการหนีให้ห่างจากภาคการเมือง

ดังนั้น สไตล์ในการเลือกธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจ turn around ที่เขาถนัดคือต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง และเป็นธุรกิจที่ต้องมีอนาคต

นั่นหมายความว่า วิชัย ทองแตง จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวกับการทำสัมปทานกับภาครัฐอย่างเด็ดขาด เพียงแต่จับตาดูว่านโยบายของแต่ละรัฐบาลไปทางใด และนั่นหมายถึงอนาคตของธุรกิจเขาด้วย

และสิ่งที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือธุรกิจโรงพยาบาล ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีตและพรรคเพื่อไทยที่บริหารโดย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” 2 พี่น้องชินวัตร มีนโยบายชัดเจนจะทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hup และวันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลของเขาก็ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในการเป็น Medical Hup สมบูรณ์แบบที่สุด

‘วิชัย’ สบช่อง รัฐบาลชินวัตรปั้น Medical Hup

วิชัยบอกว่าการทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ในเวลานั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล ทั้งความสามารถของแพทย์ และการดูแลเอาใจใส่ในการบริการที่ดีมากของพยาบาลไทย เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ และสถานที่

ดังนั้นการจะทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub จึงเป็นอนาคตที่จับต้องได้!

“ตอนแรกที่เข้ามาลงทุนธุรกิจโรงพยาบาล เพราะว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับศีลธรรม หรือ moral business คือความที่เป็นครอบครัวพุทธศาสนิกชน ที่ยึดมั่นการดูแลช่วยชีวิตผู้คนนั้นจะเป็นความภูมิใจ ประกอบกับการเติบโตมากับครอบครัวที่เป็นแพทย์แผนไทยของคุณพ่อ และพี่ชาย พี่สะใภ้วันนี้ก็เป็นแพทย์ จึงทำให้ความคุ้นเคยในธุรกิจโรงพยาบาลมีมาก ครอบครัวทุกคนก็สนับสนุน จึงก้าวเข้ามาทำธุรกิจโรงพยาบาล”

วิชัยย้ำว่าเมื่อเข้าไปศึกษาอย่างละเอียด ก็พบว่าธุรกิจโรงพยาบาลมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างมาก ทั้งเรื่องของการป่วย การเจ็บ ที่เป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องมีการมารักษาพยาบาลไม่เว้นแม้แต่คนเดียว จึงเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์

อีกทั้งเมื่อศึกษาลึกเข้าไปอีกก็พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากในการรักษาพยาบาล จึงเชื่อว่าจะขยายความเชื่อมั่นไปในประเทศต่างๆ ได้ด้วย

“ครั้งแรกที่ผมโดดมาทำธุรกิจนี้ มีข่าวผู้นำสวีเดนจะมารักษาที่โรงพยาบาล
ศิริราช จากการที่มีคนระดับพระราชามาใช้บริการการรักษาพยาบาลในประเทศไทย เป็นการบ่งบอกว่าภายนอกประเทศมีความเชื่อมั่นระบบการรักษาพยาบาลของไทย อีกทั้งแพทย์ไทยมีความเก่งจริง สามารถรักษาท่านได้จนได้รับความพึงพอใจ เหตุการณ์นี้จึงเป็นการจุดประกายที่ดีมาก จากนั้นจะเห็นว่าชาวต่างประเทศที่มารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

วิชัยยอมรับว่า ขณะที่รัฐบาลทักษิณประกาศให้ไทยเป็น Medical Hub เขาได้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลไปแล้ว โดยเริ่มเข้าทดลองลงทุนในธุรกิจนี้ในการซื้อหุ้นโรงพยาบาลเล็กๆ ในจังหวัดราชบุรี ในปี 2538 และพอดีมีการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลหลายตัวประสบภาวะวิกฤตหนัก และทำให้เขาสนใจเข้ามาลงทุนเริ่มตั้งแต่โรงพยาบาลศิครินทร์ เปาโล และโรงพยาบาลพญาไท

“ตอนนั้นผมก็ยังไม่แข็งแรงเท่าไรในการทำธุรกิจนี้ แต่เชื่อมั่นว่านโยบาย Medical Hub มีความเป็นไปได้”

หลังจากปี พ.ศ. 2540 กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนจึงได้มีการโฟกัสว่าจะต้องทำให้ไทยเป็น Medical Hub ให้ได้ ด้วยปัจจัยที่มีอยู่แล้ว จึงต้องทำโรงพยาบาลให้ไปสู่มาตรฐานสากล รองรับชาวต่างประเทศให้ได้ แม้จะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ก็เชื่อมั่นว่าเป็นการลงทุนเพื่อไปสู่อนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 ปี แต่จะต้องมุ่งมั่นอย่างมาก และต้องมองอนาคตไปอีก 10 ปีข้างหน้า

“ตอนนี้ประเทศไทยเป็น Medical Hub แล้ว เมื่อดูจากจำนวนคนต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ เม็ดเงินในการเข้ามาใช้บริการ หรือ billing ที่เพิ่มขึ้น รวมกับเสียงสะท้อนความพึงพอใจในการเข้ารับบริการของชาวต่างชาติ ที่มีการจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในคุณภาพการรักษามาตลอดในระดับเอเชียด้วยกัน”

ขณะเดียวกัน วิทยาการทางการแพทย์ไทยก้าวหน้า มีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล จนกล่าวได้ว่าทัดเทียมระดับสากล หรือระดับโลกได้ โดยเฉพาะการรักษาโรคยาก ประเทศไทยทำได้หมดแล้ว ทั้งโรคหัวใจ, โรคเกี่ยวกับสมอง, หลอดเลือด, การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ฯลฯ

ส่วนในเรื่องของคุณภาพนั้น ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในประเทศไทยถึง 24 แห่ง ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน JCIA (Joint Commission International Accreditation USA) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของทั่วโลก

“โรคยากทั้งหลายเราทำได้หมด ไม่เกินขีดความสามารถของหมอไทย ธุรกิจ Medical Hub จึงถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยอย่างมาก”

วันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลในมือวิชัยมีเครือข่ายแล้ว 30 โรงพยาบาล มีเตียงรองรับคนไข้ 5,000 เตียง และยังทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลด้วยสไตล์ turn around ของ วิชัย ทองแตง ประสบความสำเร็จได้ด้วย

เหตุจับมือ BGH เสริมแกร่งมุ่ง Medical Hup

วิชัยบอกว่าการจะทำให้ธุรกิจ turn around ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะต้องมีความมุ่งมั่นเข้าไปแก้สถานการณ์วิกฤตที่ธุรกิจนั้นๆ ประสบอยู่ อย่างช่วงที่เขาซื้อโรงพยาบาลศิครินทร์นั้น โรงพยาบาลศิครินทร์อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเปาโล ขณะที่โรงพยาบาลพญาไทอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟู

“มันไม่ง่าย ต้องมีจิตวิทยาในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (manage change) เพราะเวลาก้าวเข้าไปมีปัญหาจำนวนมากรอให้แก้ไข จึงต้องใช้ทั้งความอดทน ใช้ทั้งจิตวิทยา และศิลปะเข้าไปช่วยในการบริหารอย่างมาก”

เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจโรงพยาบาลแบบซื้อกิจการที่มีปัญหาเข้ามาบริหารเองแล้ว วิชัยได้พัฒนารูปแบบการบริหารงานมากขึ้นไปอีกระดับด้วยแนวคิด “ทำใหญ่ ไม่ทำเล็ก”
“ทำใหญ่แล้วต้องได้ผลด้วย คือต้องได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำให้ใหญ่ก็ต้องทำให้ได้ประโยชน์”

ดังนั้น วิชัยจึงได้ก้าวสู่การทำธุรกิจแบบที่เรียกว่า holding company ในการเข้ามารวบรวมกิจการประเภทเดียวกัน และให้มีบริษัทแม่ในการวางยุทธศาสตร์การทำงาน ด้วยแนวความคิดว่าต้องมีระบบ consolidate หรือควบรวมให้เกิดความเป็นหนึ่ง

นี่เป็นเหตุต่อมาให้ วิชัย ได้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล โดยตั้งบริษัทเฮลท์ เน็ตเวิร์คจำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็น holding company ดำเนินงานเกี่ยวกับบริษัทด้านสุขภาพทั้งหมดที่จะมีการขยายไลน์ในอนาคตไปสู่การบริการด้านสุขภาพต่างๆ

ล่าสุดยังได้ร่วมกิจการกับ บริษัทกรุงเทพดุลิต เวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BGH เพราะมองว่าการรวมกิจการของบริษัทประเภทเดียวกันจะยิ่งทำให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเฉพาะเพื่อเตรียมรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ที่วิชัยมองว่า ทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศจะเข้ามา และต้องรีบสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจไทย

“ในเอเชียธุรกิจบริการสุขภาพกลุ่ม BGH มีมาร์เกตแคปอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท มีเตียงประมาณ 5,000 เตียง จึงเป็นรองแค่กลุ่ม Integrated Healthcare (IHH) ของมาเลเซียที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และมาเลเซียมีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท และมีเตียงประมาณ 8,000-9,000เตียง ซึ่ง IHH ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลในสิงคโปร์ มาเลเซีย ตุรกี อินเดีย รวมทั้งจีน ขณะนี้เราก็ต้องเฝ้าดูว่าเขาจะขยายเข้ามาซื้อกิจการโรงพยาบาลในไทยหรือเปล่า"

วิชัยจึงมั่นใจว่าการ consolidate หรือการควบรวมกิจการให้เป็นหนึ่งเท่านั้น จึงจะเป็นทางรอดของธุรกิจไทย!


รวมเคเบิลทีวี-ปั้นไทยสู่ Smart Thailand

จากความยิ่งใหญ่ของธุรกิจสุขภาพที่ประสบความสำเร็จและก้าวสู่ความเป็น Medical Hub ได้แล้วนั่นจึงใช้หลักการเดียวกันในการเข้ามาบริหารงานในธุรกิจเคเบิลทีวีในปัจจุบันนี้

“ตอนแรกที่มาทำธุรกิจเคเบิลทีวีนั้น มาเป็นแค่ที่ปรึกษาให้ญาติ แต่ตอนหลังเห็นว่าต้องเข้ามาทำเอง ต้องมาศึกษาให้ละเอียด ถึงจะแก้ปัญหาขาดทุนได้ จึงเริ่มเข้ามาบริหารได้ 1 ปีแล้ว”

วิชัยบอกว่า โมเดลของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ จะมีโมเดลคล้ายกัน คือต้องรวมกันและมี holding company ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีมีแนวความคิดนี้อยู่แล้ว จากการพูดคุยกันในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกผู้ประกอบการ 350 ราย ใน 77 จังหวัด โดยมีความคิดว่าจะต้องมีบริษัทกลางในการทำหน้าที่ในการเข้ามาช่วยบริหารต้นทุน

โดยเฉพาะการซื้อคอนเทนต์ร่วมกัน เพื่อเสียค่าลิขสิทธิ์ในจำนวนที่ถูกลง จึงมีการตั้งบริษัท CTH หรือบริษัทเคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด ขึ้นมาเป็นบริษัทกลาง แต่ที่ผ่านมาการแข่งขันสูงมาก ทำให้แนวความคิดนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ

“พอไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็เริ่มมองหาคนมาช่วยแก้สถานการณ์ ชื่อเสียงผมเด่นด้าน turn around อยู่แล้ว รวมกับเป้าหมายที่เขาอยากให้ CTH เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย จึงมีคนมาชวนไปช่วย”

วิชัยจึงเข้ามาศึกษาธุรกิจเคเบิลทีวีอย่างจริงจัง โดยมีการจ้างบริษัทมืออาชีพมาเขียนแผนธุรกิจให้กับ CTH ให้เป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับสมาชิก และดำเนินธุรกิจยั่งยืน ส่งต่อถึงลูกหลานได้

“1 ปีที่มาศึกษา พบว่า เคเบิลทั่วประเทศไทยมันมีเสน่ห์ แต่ทุกวันนี้กระจัดกระจาย ขาดความเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ถ้าลงไปดูดีๆ ในแต่ละจังหวัดจะพบเลยว่า มีวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดที่มีค่ามาก แต่ทุกวันนี้ถ้าอยู่คนละจังหวัดจะไม่มีทางได้ดู”

เพราะฉะนั้นขุมทองของเคเบิลทีวีคือ คอนเทนต์ ที่เมื่อสามารถเอามา cross culture หรือสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้เมื่อไร เมื่อนั้นธุรกิจเคเบิลจะมีความเข้มแข็งมาก

แน่นอนว่า ในสายตาของวิชัยแล้ว เขาจะต้องมองนโยบายรัฐ และทิศทางการพัฒนาของภาครัฐประกอบในการทำธุรกิจนั้นๆ ด้วย และเคเบิลทีวีก็เป็นธุรกิจดาวรุ่ง ในส่วนของนโยบายภาครัฐที่อยากให้ประเทศไทยเป็น Smart Thailand

“เมื่อเกิด กสทช.และนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลพอดี ตรงนี้ธุรกิจเคเบิลทีวีที่มีเครือข่ายอยู่แล้วแต่ขาดแค่โครงข่าย หากมีโครงข่ายขึ้นมาเชื่อมโยงกันทั้ง 77 จังหวัดเป็นใยแมงมุมได้เมื่อไร ธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคต”

คิดใหญ่ของวิชัย คือ นอกจากรวมผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเข้าด้วยกันให้ได้แล้ว ยังต้องหาผู้ร่วมทุน ที่จะมาช่วยทำให้ภาคธุรกิจนี้แข็งแรง

“ฟรีทีวีที่ไหนส่งคนไปอยู่ทุกจังหวัด ไม่มี เราได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มีคุณค่าจากผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดทั้งนั้น ตรงนี้จะยั่งยืนมาก จะต้องส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางวัฒนธรรมของประเทศให้ได้ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายจะแข็งแรงหมด ไม่ต้องกลัวถูกกลืน ถูกฮุบ ส่วนผู้ใช้บริการก็มีโอกาสเข้าถึงคอนเทนต์ และเข้าถึงเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ไปพร้อมกัน”

โดยในส่วนของคอนเทนต์ วันนี้วิชัยนำ CTH จับมือร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มีจุดเด่นเรื่องการบริหารคอนเทนต์ให้ถึงมือประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อขยายความสามารถในการบริหารคอนเทนต์เรียบร้อย

แผนต่อมาคือ เวลาลงทุนธุรกิจ ต้องคิดว่าจะลงทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จให้มากที่สุดด้วย ดังนั้นเมื่อมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเขียนแผนธุรกิจให้ CTH จึงพบว่า นอกจากการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมจากธุรกิจเคเบิลทีวีแล้ว จะต้องดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่จะใช้ internet wi-fi หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้บริการเพิ่มเข้าไปให้ผู้บริโภคเลือกได้ด้วย
และนี่คือจุดสำคัญของการเป็น Smart Thailand ตามนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปัจจุบันนี้

การลงทุนโครงข่ายจึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของแผนการดำเนินงาน CTH นี้ ทว่าการลงทุนต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นวิชัยตัดสินใจเช่าโครงข่ายของ TOT เพื่อตอบสนองแนวความคิดในการบริหารให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

หากดิวนี้สำเร็จ CTH จะไปข้างหน้าได้เร็วมาก โดยวิชัยมองว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 จะเริ่มเดินหน้าแผนงานที่ศึกษาไว้ได้ และได้ประกาศไปกับพี่น้องเคเบิลทีวีว่า อีก 3 ปี CTH จะเข้าตลาดหลักทรัพย์

โดยโครงสร้างหุ้น CTH ขณะนี้มีผู้ประกอบการเดิมถือหุ้น 30% วิชัยถือ 25% ไทยรัฐถือ 25% และอีก 20% สำรองไว้สำหรับพันธมิตรรายใหม่ โดยทุนจดทะเบียนที่ตั้งไว้คือ 1 พันล้านบาท ขณะนี้มีเงินทุนแล้ว 800 ล้านบาท เมื่อได้พันธมิตรใหม่ก็จะครบ 1 พันล้านบาทพอดี โดยสมาชิกเคเบิลทีวีวันนี้มีอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน ในอีก 3 ปี มีเป้าหมายว่าสมาชิกจะต้องอยู่ที่ระดับ 7 ล้านคน

วิชัยยืนยันว่าทุกแผนจะต้องเร่งทำให้สำเร็จเช่นกัน

“อย่าลืมว่า AEC จะทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เป็นรายใหญ่ เงินทุนเยอะ ต้องแข่งขันสูงมาก อย่างวันนี้ google และ Microsoft ก็เริ่มหันมาเล่นในตลาดนี้แล้ว มาเลเซียที่แข็งแรงกว่าไทยก็เริ่มที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ถ้าผู้ประกอบการไทยไม่รวมตัวให้เข้มแข็ง ตรงนี้นอกจากธุรกิจจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังมองว่ามีโอกาสสูงมากที่ประเทศไทยจะถูกกลืนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นหน้าที่คนไทยที่ต้องปกป้อง”

ทั้งนี้ ยืนยันว่าผู้ประกอบการเคเบิลทีวีมีความเห็นตรงกันว่า จะไม่ใช้เคเบิลทีวีนี้ในเชิงการเมืองด้วย เพราะมองว่าจะทำให้ธุรกิจนี้ไม่แข็งแรงทั้งระบบ หากใครจะลงเล่นการเมืองท้องถิ่นก็ลงได้ แต่อย่าเอาช่อง หรือเคเบิลทีวีไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองให้ตัวเอง


ธุรกิจอสังหาฯ เล็งหาพันธมิตรเสริม

ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วิชัยถือว่าตัวเขาเองมีส่วนกำเนิดมาจากธุรกิจนี้ โดยได้เริ่มลงทุนในช่วงก่อนปี 2530 และประสบความสำเร็จมากในยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ยอมรับว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นมีการเติบโตทางตัวเลขทางการเงินน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลที่มีการเติบโตหลายเท่าตัวตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากวิชัยลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่มากนัก มีแค่บริษัท แกรนด์ แอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND แต่ถ้าธุรกิจที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ วิชัยยอมรับว่ามีอยู่หลายโครงการทั้งหมู่บ้าน และคอนโด

โดยแผนการปั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังยึดโมเดล consolidate คือต้องเติบโตแบบควบรวมเพื่อสร้างความเข้มแข็งเป็นจุดหลักเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเขามีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งเขามองว่ายังไม่เพียงพอ ต้องทำให้ถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาท

“ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในประเภทที่มีคนสนใจลงทุนมาก มาร์เกตแคปจึงไม่ควรต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะไซส์มันจะใหญ่พอสำหรับให้กองทุนต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศมีความมั่นใจเข้ามาลงทุน โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาตินี้ก็จะทำให้มูลค่าของหุ้นเราสูงขึ้น เพราะมีประสบการณ์จากตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างมูลค่าที่เขาให้สิงคโปร์ซึ่งสูงกว่าเมืองไทยมาก ดังนั้นจึงมีช่องที่จะเติบโตได้อยู่ แต่เราต้องสร้างมาร์เกตแคปขึ้นไป”

เตรียมโดดเล่น “ลอจิสติกส์” ท่อส่งน้ำมัน

อย่างไรก็ดี นโยบายภาครัฐไม่ได้มีเพียงหนึ่ง นโยบายที่วิชัยกำลังมองเห็นว่าเป็นดาวรุ่ง และคิดใหญ่กว่าธุรกิจที่เขาดำเนินอยู่ในขณะนี้ คือ นโยบายลอจิสติกส์

ลอจิสติกส์ จะเป็นภาคธุรกิจใหม่ที่วิชัยอยากจะโดดเข้าไปเล่น!

“ผมสนใจเรื่องลอจิสติกส์มาก ยังไม่ได้ทำ แต่มองว่าเป็นธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอนาคต คิดบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ถ้าคิดถึงต้นทุนลอจิสติกส์รวมๆ วันนี้ต้นทุนเราสูงมาก แล้วส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงด้วย ทั้งที่เราเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เราสามารถทำให้ลดลงได้ เพราะมีเทคนิค อย่าง เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่รวมเอาลอจิสติกส์รวมกับสินค้าคอนซูเมอร์ ตั้งบริษัท เบอร์ลี ยุคเกอร์ โลจิสติกส์ (BJC Logistics)เข้าดำเนินการ หรือทาง CP (ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ) ที่ใช้ CP retail รวมกับลอจิสติกส์”

ทุกวันนี้แต่ละธุรกิจมีลอจิสติกส์ของตัวเอง ถ้าเอามารวมกัน ต้นทุนลอจิสติกส์จะลดลงอย่างมาก ยิ่งต้นทุนต่ำลงเท่าไร ความสามารถในการแข่งขันก็จะสูงขึ้นมาก

ดังนั้น การร่วมมือระหว่างธุรกิจ โดยมีบริษัทเป็นแกนกลาง เป็น holding company เข้ามาจัดการด้านลอจิสติกส์ของประเทศ เป็นเรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างมาก

“และผมไม่ได้มองเล็กๆ holding company นี้จะต้องทำในระดับภูมิภาค คือเชื่อมลอจิสติกส์ทั้งภูมิภาคอาเซียนให้ได้ จะมีประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งได้มาก”

วิชัยยอมรับว่า วันนี้มีบริษัทที่มาติดต่อขอให้ วิชัย ทำลอจิสติกส์ในเรื่องท่อขนส่งน้ำมันแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

วันใดที่ “วิชัย” มือ “turn around” ลงไปเล่นธุรกิจลอจิสติกส์เต็มตัวเมื่อไร คอยจับตาอันดับเศรษฐีของ “วิชัย ทองแตง” ที่จะขยับขึ้นมาเป็นชั้นแนวหน้าของประเทศไทยมากขึ้นไปอีกแน่นอน

เพียงแต่ งานยากของ “วิชัย ทองแตง” มีประการเดียว คือจะพิสูจน์ตัวเองหนีภาพลักษณ์ “นอมินี” ตระกูลชินวัตร ได้พ้นหรือไม่?
TLSS
Verified User
โพสต์: 616
ผู้ติดตาม: 0

Re: “วิชัย ทองแตง” สยายปีกสู่ท่อส่งน้ำมัน! โชว์วิธีปั้นธุรกิ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ :)
sak007
Verified User
โพสต์: 819
ผู้ติดตาม: 0

Re: “วิชัย ทองแตง” สยายปีกสู่ท่อส่งน้ำมัน! โชว์วิธีปั้นธุรกิ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

คุณวิชัย มองไปถึงเรื่องธุรกิจลอจิสติกส์ ในเรื่องท่อขนส่งน้ำมัน
หุ้นตัวไหนมีเอี่ยว
โพสต์โพสต์