3 เสาหลัก 'มะกัน-ยุโรป-จีน' อาการน่าเป็นห่วง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
INDEPENDENT82
Verified User
โพสต์: 292
ผู้ติดตาม: 0

3 เสาหลัก 'มะกัน-ยุโรป-จีน' อาการน่าเป็นห่วง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ไม่เพียงวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ส่อเค้าบานปลาย แต่สหรัฐและจีนที่ออกอาการซึมๆ อาจฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้ย่ำแย่ลงไปอีก
ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งเปรียบเหมือน 3 เสาหลักของโลก ออกอาการไม่สู้ดีในเวลาพร้อมๆ กัน สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ อาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะมืดมน

ล่าสุด สหรัฐเพิ่งรายงานว่า ภาคธุรกิจกำลังชะลอคำสั่งซื้อสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ อากาศยาน เครื่องจักร และสินค้าคงทน เช่นเดียวกับมาตรวัดภาวะธุรกิจในยุโรปที่ย่ำแย่ลง ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ทั่วโลกที่ลดลง และเศรษฐกิจจีนที่ดัชนีภาคการผลิตสำคัญๆ หดตัวลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนภัยคุกคามใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจชะลอตัวในเวลาเดียวกันทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่แค่บางตลาดที่มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง

แม้ว่ายุโรปกำลังดิ้นรนกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากกรีซถอนตัวจากยูโรโซน รวมถึงปัญหาขาดดุลงบประมาณที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็พบเค้าลางของปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั้งจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล และอื่นๆ
ในยามที่เศรษฐกิจโลกไปได้สวย การเติบโตไปพร้อมๆ กันมีส่วนช่วยเสริมและขยายความมั่งคั่งให้กว้างและไกลขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็สามารถเชื่อมโยงกันหมด และระบาดถึงเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551

องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เพิ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วประจำปีนี้ เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่าประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประเมินเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากปี 2554

ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ทำให้นักลงทุนคิดหนัก ดูจากดัชนีเอ็มเอสซีไอ เวิลด์ ซึ่งสะท้อนภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก กลับปรับตัวลดลงกว่า 9% นับจากกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงราคาน้ำมันดิบ ซึ่งสะท้อนความต้องการบริโภคทั่วโลก ก็ปรับลดลง 15% ในเดือนนี้

การที่ประเทศขนาดใหญ่ออกอาการน่าเป็นห่วงพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดแรงกดดันใหม่ต่อผู้กำหนดนโยบายที่จะรับมือด้วยมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ไม่ผูกมัดตัวเองว่าจะออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ส่วนยุโรปก็เผชิญแรงกดดันอย่างหนักในการจะหลีกหนีมาตรการรัดเข็มขัด ขณะที่จีนก็มองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโต

บริษัทหลายแห่งเริ่มสัมผัสถึงปัญหาในตลาดนอกบ้าน ดูอย่าง "วัลสปาร์ คอร์ป" บริษัทสีรายใหญ่ของโลก ยอมรับว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในจีนกำลังชะลอตัว ส่วน "อินฟอร์มาติกา คอร์ป" ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รวบรวมข้อมูล เริ่มมองเห็นยอดขายที่ย่ำแย่ลงในยุโรป โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐที่มีสัดส่วนแค่ 1% ของรายได้ในไตรมาสแรก ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนราว 3-5%

"เดวิด เรสเลอร์" นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ ซิเคียวริตี้ส์ มองว่า อันตรายจากการชะลอตัวในยุโรปจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แม้เราไม่ได้คิดว่าจะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกไม่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ก็เผชิญปัญหาของตัวเอง อย่างกรณีภาคอุตสาหกรรมในบราซิลที่ต้องดิ้นรนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจากค่าแรง ค่าเช่า และวัตถุดิบ จนทำให้แดนแซมบ้ากลายเป็นสถานที่ที่มีราคาแพงสำหรับทำธุรกิจ และนี่อาจเกี่ยวพันถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าและผู้บริโภคแร่เหล็ก ถั่วเหลือง และสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของบราซิล

ส่วนที่แอฟริกาใต้ ได้รับผลกระทบจากความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง "ลอนมิน" ผู้ผลิตแพลตินั่มรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก เตือนว่าอาจลดกำลังการผลิตที่เหมืองในแอฟริกาใต้ลง เนื่องจากความต้องการโลหะทั่วโลกลดลง

ด้านพี่เบิ้มสหรัฐ คำสั่งซื้อสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 0.6% ในเดือนเมษายน เช่นเดียวกับคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่สะท้อนแผนใช้จ่ายของภาคธุรกิจก็ลดลง 1.9% แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการจ้างงาน

น่าสังเกตว่า หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่จีน ซึ่งเอชเอสบีซีแนะให้จับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ที่ลดลงสู่ระดับ 48.7 ในเดือนพฤษภาคม จาก 49.3 ในเดือนเมษายน สะท้อนถึงกิจกรรมการผลิตในแดนมังกรที่ลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมีความอ่อนแอเกิดขึ้น ทั้งการค้าระหว่างประเทศไปจนถึงการปล่อยกู้ของธนาคาร

ทีมา http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%87.html
โพสต์โพสต์