โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 3 มีนาคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การเคลื่อนไหวหรือการซื้อหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น ตกเป็นข่าวใหญ่เสมอ เหตุผลคงเป็นเพราะนักลงทุนต่างก็สนใจและเชื่อว่าหุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อจะต้องเป็นหุ้นที่มีคุณค่ามากและราคาถูกคุ้มค่า ดังนั้น พวกเขาจึงอาจจะมีโอกาส “ซื้อหุ้นตามเซียน” และทำกำไรจากมันได้ง่าย ๆ ผมเองก็สนใจติดตามข่าวการลงทุนของบัฟเฟตต์อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อที่จะซื้อหุ้นตาม แต่อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงซื้อหุ้นตัวนั้น ความหมายของมันคืออะไร เพื่อที่ว่าผมจะได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับการลงทุนของตนเอง ผมคิดว่า การเรียนรู้จากคนระดับบัฟเฟตต์ ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกลกันคนระดับในแง่ของการลงทุน จะช่วยให้ผมไม่ต้องลองผิดลองถูกได้ในระดับหนึ่ง และต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นแนวทางของบัฟเฟตต์ในช่วงหลัง ๆ นี้
ข้อแรก การลงทุนของบัฟเฟตต์ก็ยังเกาะติดอยู่กับธุรกิจหลัก ๆ ที่เขาทำมายาวนาน นั่นก็คือ เขาชอบลงทุนในกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงช้า ๆ เป็นกิจการที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่สามารถทำลายมันได้ง่าย ๆ เช่น อาหารการกินซึ่งถึงยังไงคนก็ยังต้องกินและต้องการกินอาหารที่อร่อยมียี่ห้อระดับโลก ตัวอย่างของหุ้นก็เช่น บริษัทคราฟท์ฟูด กลุ่มต่อมาก็คือกลุ่มของใช้ประจำวันเช่นสบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม และเครื่องประทินผิว ที่ไม่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อะไรนักยกเว้นการโฆษณาและการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างของหุ้นก็เช่น หุ้นของพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิลและหุ้นจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และกลุ่มสุดท้ายก็คือ หุ้นของบริษัทค้าปลีกที่บัฟเฟตต์เพิ่งจะลงทุนไม่นานมากนักทั้ง ๆ ที่มันน่าจะเป็นหุ้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เขาสนใจลงทุน แต่เขาอาจจะเคยเกี่ยงว่ามันเป็นหุ้นที่ “ไม่เคยถูก” ตัวอย่างเช่นหุ้นของวอลมาร์ท เป็นต้น
ข้อสอง หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ลงทุนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งตั้งแต่อดีตและก็ยังลงทุนอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมีโอกาสก็คือ หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นของบริษัทประกันภัยและธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ นี่คือหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมาตลอดขณะที่ VI เมืองไทย รวมถึงตัวผมเองไม่ใคร่สนใจลงทุนเลยทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็ดูเหมือนกับว่าเป็นหุ้นที่ “ไม่แพง” และหลาย ๆ ครั้งอาจจะเป็นหุ้น “VI” ได้ ตัวอย่างหุ้นการเงินที่บัฟเฟตต์ลงทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เช่นหุ้นของแบงค์อเมริกาและบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำอีกหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาหุ้นตกลงมาต่ำมาก อย่างไรก็ตาม หุ้นหรือตราสารการเงินเหล่านี้บัฟเฟตต์มักจะลงทุนในเวลาสั้น ๆ อาจจะเพียง 2-3 ปีก็จะถอนออก ยกเว้นหุ้นสถาบันการเงินที่เน้นรายย่อยหรือเน้นลูกค้ามากรายที่สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี เช่นหุ้นประกันภัย หุ้นอเมริกันเอ็กเพรส และหุ้นแบงค์ที่บริหารได้ดีอย่างเวลฟาร์โก้เท่านั้นที่เขาจะถือหุ้นยาวนาน
ข้อสาม หุ้นไฮเท็คนั้น บัฟเฟตต์ยังคงหลีกเลี่ยงเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตที่เขามองว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น เขาก็ยังไม่ซื้อหุ้นทั้งแอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ หรือ เฟซบุค อย่างไรก็ตาม เขาได้เข้าซื้อหุ้นของไอบีเอ็ม จำนวนมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ เหตุผลก็คือ ไอบีเอ็มในตอนหลังได้ปรับตัวเองกลายเป็น “ผู้ให้บริการ” เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูลแก่บริษัทต่าง ๆ เช่น ไอบีเอ็มจะเข้าไปทำหน้าที่คล้าย ๆ “แผนกคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูล” ของธนาคารต่าง ๆ ทำให้ไอบีเอ็มมีรายได้ที่แน่นอน ในขณะที่แบงค์ก็ประหยัดรายจ่ายที่ไม่ต้องทำระบบต่าง ๆ เช่นระบบสำรองและการดูแลให้คอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเป็นต้น นอกจากนั้น บัฟเฟตต์เองดูเหมือนว่าจะลงทุนในหุ้น “ไฮเท็ค” ประเภทที่เป็นผู้ผลิตที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นที่คู่แข่งตามได้ยาก ตัวอย่างเช่น หุ้นอินเทล หุ้นของบริษัทผลิตเครื่องมือของอิสราเอล หุ้นบริษัทผลิตยาซาโนฟี เหล่านี้เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หุ้นไฮเท็คเหล่านี้ บัฟเฟตต์ซื้อในปริมาณไม่มากนัก
ข้อสี่ หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือ หุ้นที่เกี่ยวกับพลังงานและการขนส่ง นี่เป็นกลุ่มที่ในอดีตบัฟเฟตต์แทบไม่สนใจเลยเพราะภาพที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่บัฟเฟตต์ไม่ชอบ หุ้นในกลุ่มนี้ที่บัฟเฟตต์ลงทุนไปมากที่สุดตัวหนึ่งก็คือ หุ้นของบริษัทรถไฟในอเมริกาซึ่งบัฟเฟตต์มองว่าจะเริ่มได้เปรียบเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ได้เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันหลายบริษัทรวมถึงปิโตรไชน่าของจีน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นโภคภัณฑ์ล้วน ๆ เช่นน้ำมันนั้น ก็ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์อาจจะเข้ามาซื้อขายแบบเก็งกำไรมากกว่าจะเป็นการถือยาว
ข้อห้า หุ้น “ตะวันตกดิน” หรือหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะไม่โตเท่าไรนักแต่บริษัทเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและมีเงินสดเหลือเฟือนั้น ถ้าดูกันจริง ๆ เป็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนอยู่เหมือนกันในอดีต นี่อาจจะเรียกว่าหุ้นแนวก้นบุหรี่หรือแนวของเกรแฮม บัฟเฟตต์ห่างเหินจากหุ้นแนวนี้มานาน อาจจะตั้งแต่หุ้นเบอร์กไชร์และหุ้นประเภทขายรองเท้าหรือทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ที่น่าแปลกก็คือ บัฟเฟตต์เองก็เพิ่งไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนว่ากิจการกำลังตกลงมาอย่างช้า ๆ แต่แน่นอน เนื่องจากการเข้ามาของสื่อทางอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย เขาคงมองว่า ยังไงซะ Content หรือเนื้อหาที่เป็นข่าวสารก็ยังมีค่า และถึงวันหนึ่ง ผู้ผลิตข่าวสารก็อาจจะไม่ยอมให้คนอื่นเอาข่าวไปใช้แบบฟรี ๆ ในอินเตอร์เน็ต
ข้อหก สิ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนก็คือ บัฟเฟตต์ซึ่งในอดีตไม่ใคร่สนใจลงทุนหุ้นในต่างประเทศเลยเพราะเขาอาจจะคิดว่าเขาสามารถเข้าถึงตลาดและลูกค้าต่างประเทศได้ผ่านการส่งออกของบริษัทที่เขาลงทุนในอเมริกา บัดนี้ บัฟเฟตต์ได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและน่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มต้นจากจีนที่เขาได้เดินทางไปเยี่ยมเป็นประเทศแรก ๆ ยุโรป ต่อมาเข้าใจว่ามีเกาหลี ไม่ต้องพูดถึงอิสราเอลที่เขาดูว่ามีบริษัทที่สุดยอดระดับโลกทางด้านไฮเท็คอยู่ เขาคงมองเห็นแล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป อเมริกาอาจจะยังโดดเด่นอยู่ แต่ประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียนั้นโตเร็วมาก
ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ บัฟเฟตต์ยังคงรักษาคุณสมบัติของการเป็นนักลงทุนที่ผมอยากเรียกว่า “กล้าและเย็นที่สุดในโลก” นั่นคือ เขาพร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้นหรือลงทุนในกิจการที่ยอดเยี่ยมในภาวะวิกฤติที่สุดที่ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนัก เขาเพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นที่ “ดีที่สุด” 8-9 บริษัทในยุโรปในยามที่ยุโรปกำลังอยู่ในภาวะที่จะ “ตายหรือจะรอด” นี่ก็เหมือนกับช่วงที่เขาเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากรวมถึงหุ้นสถาบันการเงินในอเมริกาในช่วงซับไพร์มที่ทำให้เขาได้กำไรมหาศาล
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าบัฟเฟตต์เองนั้น แม่ว่าจะมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ก็ยังมี “วิวัฒนาการ” เขาอาจจะเป็นคน “โลว์เท็ค” ที่ไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ความคิดหรือจิตใจของเขานั้นผมเชื่อว่ายังทันสมัยอยู่เสมอ เขาไม่ลงทุนในหุ้น “ไฮเท็ค” ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจเท็คโนโลยี เขาอาจจะใช้มันไม่เป็นแต่เขารู้ว่าธุรกิจมัน “หากินยังไง” ผมเองเชื่อว่า ถ้าบริษัท “ไฮเท็ค” ตัวไหนที่สามารถรักษากำไรของตนเองได้ในระยะยาว ด้วยความเสี่ยงต่ำที่จะมีสิ่งอื่นมาทดแทน และด้วยราคาหุ้นที่ยุติธรรม บัฟเฟตต์ก็คงจะสนใจ เพียงแต่ว่า ในโลกของข้อมูลข่าวสารและอินเตอร์เน็ต หุ้นแบบนั้นอาจจะยังไม่มีในสายตาของบัฟเฟตต์