สัญญาณเตือนภัยในงบการเงิน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
ziannoom
Verified User
โพสต์: 1041
ผู้ติดตาม: 0

สัญญาณเตือนภัยในงบการเงิน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

                                                                      สัญญาณเตือนภัยในงบการเงิน   

 

ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ผลประกอบการมีแนวโน้มถดถอย การหมุนเวียนของสินทรัพย์เพื่อทำรายได้เฉื่อยลง บริษัทใช้เวลานานขึ้นในการขายสินค้าและเก็บเงิน ลูกหนี้ผัดผ่อน ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บัญชีลูกหนี้เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดไม่คล่องตัว ส่งผลทางลบในงบการเงิน มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

อาการทั้งหลายเหล่านี้ จะปรากฏให้เห็นในงบการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของบริษัท ว่า มีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอเพียงไหน

การตบแต่งงบการเงินที่พบเห็นกันทั่วไป จะมีทั้งการใช้วิธีการทางบัญชีที่สร้างภาพในงบการเงิน การสร้างภาพอาจมีทั้งการจูงใจให้เกิดภาพทางบวก และอาจมีการจูงใจให้เกิดภาพทางลบ (ถ้ากรณีที่หวังผลการ Short selling โดยการขายหุ้นก่อนที่ข่าวร้ายจะออก และกลับมาซื้อหุ้นภายหลัง และกินกำไรส่วนต่างไป)

โดยปกติผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนต่างๆ จะมีแรงกดดันในการสร้างผลกำไร เพื่อเพิ่มกำไรต่อหุ้น และเพื่อให้ราคาหุ้นตอบสนองในทางบวก การใช้หลักการบัญชีสามารถเปลี่ยนไปตามที่ผู้บริหารอยากจะให้ผลออกมาเป็นสิ่งที่ต้องการ หรือ Earnings management

เช่น การใช้หลักการบัญชีที่มักไม่สอดคล้องกับหลักความระมัดระวัง หรืออาจจะอนุรักษนิยมเกินไป (conservative) เช่น การเลือกใช้วิธีการบัญชีที่แสดงกำไรเร็ว หรือการตั้งสำรองเผื่อความเสียหายแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยอาศัยจุดอ่อนของหลักประมาณการช่วย หรืออีกวิธีหนึ่งที่เราพบอยู่เสมอๆ คือ การดำเนินการโดยการสร้างรายการธุรกิจ ให้มีภาพลักษณ์ของการประกอบการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย

โดยรายการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ทำให้มีรายการซื้อขายกัน เพื่อให้เห็นว่า สินค้ามีการเคลื่อนไหว ซื้อง่ายขายคล่อง ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สร้างรายได้เทียม หรืออาจดำเนินธุรกรรมโดยการสร้างมูลค่าหรือราคา ของรายการธุรกิจระหว่างกัน เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยราคาที่แตกต่างจากราคาตามปกติธุรกิจ เช่น ในกรณีบริษัทผู้บรรจุก๊าซที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ เร็วๆ นี้

ถึงแม้ว่ารายการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน ในหลักบัญชีมีการเปิดเผยรายละเอียดในงบการเงินให้ทราบถึงกิจกรรมธุรกิจที่มีต่อกัน รวมทั้งเงื่อนไขการคิดราคาระหว่างกัน โดยให้จัดทำงบการเงินรวมของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน เหล่านี้ทำให้รายการระหว่างกัน ต้องถูกหักล้างกันออกไป เสมือนหนึ่งไม่มีรายการดังกล่าวเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติเงื่อนไขของการจัดทำงบการเงินรวมของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันนั้น มิได้อยู่ที่ปัจจัยในเชิงตัวเลข (Form) เช่น อัตราร้อยละของการถือหุ้นในระหว่างกันเท่านั้น

แต่จะรวมไปถึงปัจจัยที่เป็นสาระแก่นสาร (Substances) ซึ่งได้แก่ การมีอิทธิพลต่อกัน หรือมีอำนาจควบคุม (Influence) กัน ทั้งในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจ แต่การวัดสาระแก่นสารต่างๆ ในทางปฏิบัติมักจะทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีบริษัทลูก (Subsidiaries) หรือบริษัทร่วม (Associates) และการทำธุรกรรมต่างๆ หรือหนี้สินมักทำผ่านบริษัทลูก หรือบริษัทร่วมนั้นๆ สัก 3-4 ชั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการหักล้างกันในรายการระหว่างกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมงบการเงิน

บริษัทที่มีโอกาส หรือมีแนวโน้มในการบกพร่อง หรือทุจริตของการบันทึกบัญชี (Accounting Fraudulent) ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว ในต่างประเทศปรากฏการณ์ของการบกพร่องของการบันทึกบัญชี ได้พบแม้กระทั่งบริษัทที่ถือว่าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง และเป็น Blue chips เช่น American Insurance Group (AIG), ENRON, XEROX, World com

บริษัทชื่อดังเหล่านี้เคยเป็นบริษัทที่อยู่ใน Port การลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งสิ้น การบกพร่องทางบัญชีสามารถทำได้ โดยทางการบันทึกรายได้ล่วงหน้า สร้างรายได้และกำไรเทียม สร้างกำไรที่ไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงาน (Non-core operating profit) หรือกำไรพิเศษ ปิดบังหนี้สินผ่านงบนอกงบดุล (Off-balance sheet items) ซ่อนเร้นหนี้สินหรือทำธุรกรรมผ่านบริษัทเครือข่าย หรือบริษัทลูก หรือชะลอค่าใช้จ่าย ผ่องถ่ายเงินจากกระเป๋าผู้ถือหุ้นเข้ากระเป๋าผู้บริหาร ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการถดถอยของคุณภาพกำไร ในปัจจุบันกลตัวเลข และกลบัญชีได้พัฒนาถึงขั้นการตบแต่งงบกระแสเงินสดเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคที่พัฒนามากทีเดียว

                  

เนื่องจากการที่การค้นพบการทุจริตด้านการเงิน หรือด้านบริหาร มักจะทำได้ยากและอาจไม่ทันการ กว่าจะค้นพบราคาหุ้นได้ตกลงไปมากแล้ว เนื่องจากนักลงทุนจะรู้ตัวเลขหรืองบการเงินช้ากว่าผู้บริหาร เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ และค้นหาสัญญาณเตือนภัย ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกิจการที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีการสะท้อนเข้าไปในราคาหลักทรัพย์ของกิจการนั้น หรืออาจจะไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากตัววัดผลการดำเนินงาน หรือตัววัดฐานะการเงินที่สำคัญๆ

การวัดสัญญาณเตือนภัยพิจารณาจากหลักการของพฤติกรรมผู้บริหาร หรือพฤติกรรมมนุษย์โดยปกติทั่วๆ ไป (Behavior finance) ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก

1.รายงานของผู้สอบบัญชีที่ยาวผิดปกติ มีการกล่าวถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีสาระสำคัญ มีการออกรายงานที่ล่าช้ากว่าปกติ หรือมีการชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้สอบบัญชี สัญญาณเตือนภัยเหล่านี้อาจเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับรายการบางรายการ โดยทั่วไปความเห็นที่ขัดแย้งกันนี้มักจะเกี่ยวข้องกับรายการที่มีความเสี่ยงสูง และค่อนข้างไว (Sensitive) ต่อราคาหุ้น

2.การลดลงในค่าใช้จ่ายที่อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งสำรองสินทรัพย์ด้วยค่าเผื่อหนี้สูญ ฝ่ายบริหารจะทำการลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลง เพื่อช่วยให้กิจการทำกำไรได้เข้าเป้า เนื่องจากผลประโยชน์ของผู้บริหารจะอิงกับผลประโยชน์บางอย่าง เช่น โบนัสอิงกับกำไร

3.การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการบัญชีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคา เพื่อนำไปสู่ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่กระแสเงินสดกลับลดลง

4.การเพิ่มขึ้นของบัญชีลูกหนี้ หรือรายได้ค้างรับที่แตกต่างไปจากยอดที่กิจการประสบอยู่ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นตัวบ่งบอกว่ากิจการได้มีการให้สินเชื่อทางการค้า เพื่อกระตุ้นยอดขายเพื่อทำกำไรให้เข้าเป้า อาจนำไปสู่การขายให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชำระหนี้ เป็นยอดขายที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินแก่ผู้ขายตามมาในภายหลัง ในกรณีเช่นนี้ ยอดขายและกำไรทางบัญชีจะเพิ่มขึ้น แต่กระแสเงินสดจะลดลง

5.การขยายตัวของบัญชีเจ้าหนี้การค้าที่แตกต่างไปจากยอดที่กิจการประสบอยู่ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เกินไปกว่าระยะเวลาการชำระหนี้ โดยปกติอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากิจการต้องการที่จะทำให้ยอดดุลของบัญชีเจ้าหนี้คล้ายกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ณ วันที่จัดทำงบดุล หรือการที่บริษัทขาดสภาพคล่องจนกระทั่งต้องขอให้เจ้าหนี้การค้าต้องยืดหนี้ให้

6.การเพิ่มขึ้นในยอดคงเหลือในบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอย่างผิดปกติ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากิจการอาจกำลังตั้งรายจ่ายในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นค่าใช้จ่ายรอการตัดบัญชี เนื่องจากรายได้ที่กิจการทำได้ไม่เพียงพอต่อการที่จะชดเชยรายจ่ายดังกล่าวหากมีการตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดขึ้นเป็นการบริหารกำไรในแต่ละไตรมาส เพื่อผลที่ต้องการ

7.มีรายได้มาจากรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ เช่น กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ (เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ เป็นต้น) การจำหน่ายสินทรัพย์ออกไปในราคาที่ทำกำไรเช่นนี้ อาจทำขึ้นเพียงเพื่อทำให้กำไรที่เกิดขึ้นจริงไม่ต่างไปจากกำไรที่ได้ประมาณการไว้

8.การลดลงในสำรองต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นการตัดจ่ายโดยตรงจากสำรอง หรือการโอนกลับรายการสำรองต่างๆ การตัดจ่ายโดยตรงจากสำรองเป็นตัวบ่งบอกว่ารายการอันอาจเกิดขึ้น ซึ่งได้มีการตั้งสำรองเผื่อสำหรับจำนวนนี้ไว้แล้วได้เกิดขึ้นตามนั้นจริง ในขณะที่การโอนกลับรายการที่ตั้งสำรองไว้เป็นตัวบ่งบอกว่ากิจการทำขึ้นเพื่อสร้างภาพกำไร

9.การเพิ่มขึ้นในเงินกู้ยืม เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากิจการกำลังประสบกับปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จากแหล่งเงินทุนภายในกิจการ

10.การเพิ่มขึ้นในบัญชีภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากิจการกำลังใช้หลักการบัญชีที่หละหลวมในการจัดทำตัวเลขกำไร เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำไรก่อนหักภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นตัววัดผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการกำลังปรับตัวไปในทางลดลง

11.ยอดเงินกู้ยืมระยะสั้นสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ณ วันสิ้นปี หรือ ณ ช่วงเวลาที่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากิจการอาจะทำการกู้ยืมเงินมาเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าเป็นเงินสินเชื่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขายตอนปลายงวดให้สูงขึ้น หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ารูปแบบของการดำเนินธุรกิจอาจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่ก้าวร้าวมาก ในภาษาการเงิน เรียกว่า Leverage to finance customer

12.อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือที่ต่ำลง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าปัญหาทางด้านการขาย ปัญหาทางด้านสินค้าคงเหลือ หรือปัญหาทางด้านการผลิตอาจกำลังก่อตัวขึ้น                 

                

13.มีผู้บริหารระดับสูงเพียงไม่กี่ท่านที่สามารถควบคุมบริษัทได้ทั้งหมด หรือการที่ผู้บริหารระดับสูงเป็นบุคคลเดียวกับเจ้าของบริษัท โดยที่ผลตอบแทนของผู้บริหารเหล่านี้มีส่วนอ้างอิงกับกำไรของบริษัท

14.การที่ผู้บริหารบริษัทมีรายงานซื้อหุ้น หรือโอนหุ้นเข้าออกอยู่เสมอ

 สัญญาณต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสัญญาณที่เตือนว่า อาจจะมีความผิดปกติของงบการเงินซ่อนอยู่...



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  http://www.bangkokbizweek.com/
ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า ขายเมื่อมูลค่าต่ำกว่าราคา
ภาพประจำตัวสมาชิก
thalucoz
Verified User
โพสต์: 658
ผู้ติดตาม: 0

Re: สัญญาณเตือนภัยในงบการเงิน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ สำหรับบทความดี ๆ ครับ :D
FREEDOM ---------- HOLD MY HAND
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pathfinder
Verified User
โพสต์: 89
ผู้ติดตาม: 0

Re: สัญญาณเตือนภัยในงบการเงิน

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ziannoom เขียน: เนื่องจากการที่การค้นพบการทุจริตด้านการเงิน หรือด้านบริหาร มักจะทำได้ยากและอาจไม่ทันการ กว่าจะค้นพบราคาหุ้นได้ตกลงไปมากแล้ว เนื่องจากนักลงทุนจะรู้ตัวเลขหรืองบการเงินช้ากว่าผู้บริหาร เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ และค้นหาสัญญาณเตือนภัย ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกิจการที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีการสะท้อนเข้าไปในราคาหลักทรัพย์ของกิจการนั้น หรืออาจจะไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากตัววัดผลการดำเนินงาน หรือตัววัดฐานะการเงินที่สำคัญๆ
ขอบคุณครับ ผมกำลังต้องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณต่างๆในงบการเงิน เพื่อมาทำ checklist ในการวิเคราะห์กรองหุ้นอยู่พอดี
ผมจึงคิดว่่าความสามารถในการตรวจจับสัญญาณต่างๆในงบการเงิน ทั้งสัญญานบวกและสัญญาณลบมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
จะทำให้เราเห็นโอกาสและความเสี่ยงก่อนคนทั่วไป ถือเป็น success factor ตัวสำคัญของนักลงทุน
Focusing on quality and cheapness simultaneously helps investors beat the market!
โพสต์โพสต์