ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Credit
http://www.nitipoom.com/th/article1.asp ... ipagenum=1

ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม
วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554

ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

จันทร์วันนี้ เวลา 10.30-12.30 น. ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “การเพิ่มศักยภาพบุคลากรในเครือข่าย” ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 250 คน ที่โรงแรมบิ๊กเจียง จ.หนองคาย

ผู้อ่านท่านที่เคารพ ผมมีความรู้สึกว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในอนาคตอันใกล้ และผลกระทบในทางลบจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ที่มีต่อโลก จะรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำครั้งใหญ่ ในระหว่าง พ.ศ. 2471-2472 ที่เราเรียกกันว่า The Great Depression

ทวีปยุโรปที่ผมใช้พำนักพักอาศัยอยู่ในขณะนี้ เริ่มมีปัญหารุนแรงและกระทบอย่างเห็นได้ชัดสัมผัสได้

ที่ว่าสัมผัสได้ ก็เพราะความโกลาหลอลหม่านได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป สัปดาห์ที่แล้วนี่เองครับ เมืองในราชอาณาจักรสเปนหลายเมืองเริ่มโดนตัดไฟฟ้า เพราะรัฐบาลไม่มีเงินไปจ่ายค่าไฟ วิกฤติการเงินในระดับประเทศส่งผลลงมาถึงระดับเมืองอย่างเร็วและแรง อย่างเมืองคอสตา เดล โซล ของสเปนนี่ ตอนนี้เป็นหนี้เป็นสิน 30 ล้านยูโร ไม่ได้จ่ายค่าไฟฟ้ามานาน หน่วยงานราชการและสถานที่สาธารณะโดนตัดไฟฟ้าหมดแล้ว แต่ก่อนง่อนชะไร เราเคยเจอแต่บุคคลธรรมดา หรือบริษัทถูกฟ้องล้มละลาย ตั้งแต่เกิดมา เราก็เพิ่งได้ยิน ว่าเมืองทั้งเมืองถูกฟ้องล้มละลาย

สภาวะโกลาหลอลหม่านในยุโรปแย่กว่าเมื่อคราวโซเวียตล่มเมื่อปลาย พ.ศ. 2534 ตอนนั้น โรงงานไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนนานถึง 6 เดือน แต่พนักงานก็ยังไปทำงาน และได้รับค่าตอบแทนเป็นสิ่งของ บางแห่งรับเงินเดือนเป็นสบู่ เป็นยกทรง เป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงงานผลิตได้ แม้ว่าจะเจอปัญหาหนักอย่างนี้ แต่ผู้คนก็ยังไม่หยุดงาน ไม่ออกมาเดินขบวนประท้วง

สมัยที่พวกเราเจอกับวิกฤติเอเชีย หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2540 ก็ยังไม่ถึงขนาดมีเมืองล้มละลายหายไป ข้าราชการก็ยังมาทำงาน หรือแม้แต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่เจอสภาวะเมืองล้มละลาย

ทว่า วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อุบัติอยู่ในตอนนี้ เมืองล้มละลายยังไม่พอ ผู้คนที่นี่ ยังไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประเทศ ข้าราชการเริ่มพากันทิ้งงานเพราะราชการไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว ที่เมืองคอสตา เดล โซล ของสเปน ข้าราชการหยุดทำงาน เมืองวัลเวอร์เด เดล คามิโน ข้าราชการที่นั่นบอกว่า ไม่ได้เงินเดือนมานานถึง 4 เดือนแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ต่อไปในอนาคตอีกนาน พวกเราขอทิ้งงาน เพราะไม่มีทุนในการดำเนินชีวิต

ผมได้ข่าวมาว่า แม้แต่ตำรวจสเปนในหลายเมืองก็ไม่มีปัญญาหาเงินมาซื้อน้ำมันมาใช้เติมรถยนต์ของทางราชการ ตำรวจต้องใช้วิธีเดินเท้าแทน แต่จะเดินกันไปได้สักกี่น้ำ

ทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าที่ไปจากจีนและอินเดีย เมื่อยุโรปมีปัญหา ผู้คนไม่มีปัญญาหาเงินมาซื้อของ วิกฤตินี้กระทบไปถึงจีนและอินเดียแน่นอนครับ ที่อเมริกาเองตอนนี้ สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับแล้วครับว่า คนยากจนในสหรัฐฯมีมากขึ้น ตัวเลขคนยากจนตอนนี้พุ่งไปที่ 46 ล้านแล้ว อเมริกากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราคนยากจนสูงที่สุด ปัญหาครั้งนี้ อาจจะเลวร้ายกว่าปัญหาครั้งก่อนๆ เยอะ

ที่ผมว่าจะเลวร้ายกว่าเก่า ก็เพราะถึงตอนนี้ เรายังไม่ค่อยเห็นแผนกู้วิกฤติอะไรที่เป็นรูปธรรมจากประเทศในทวีปยุโรปเลย ที่อเมริการอดเมื่อครั้งก่อนก็เพราะว่า รัฐบาลอเมริกันรีบเข็นโครงการกู้วิกฤติออกมาสู้

ผู้อ่านท่านยังจำปลายสมัยของประธานาธิบดีบุชได้ไหมครับ ตอนนั้นเรายังได้เห็นสภาคองเกรสผ่านโครงการ TARP (Troubled Assets Relief Program) ที่ใช้เงินตั้ง 700 พันล้านดอลลาร์ เอาไปใช้ซื้อหุ้นธนาคารที่ขาดทุน เอาไปช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ เอาไปช่วยผู้กู้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึด เอาไปช่วยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้มีสภาพคล่อง ฯลฯ มาตรการพวกนี้ ยังทำให้คนมีความหวัง ยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

หรืออย่างในยุคของโอบามา เรายังได้เห็นสภาคองเกรสผ่านร่าง พ.ร.บ. The American Recovery and Reinvestment Act พ.ศ. 2552 เพื่อลดภาษีบุคคลธรรมดาและสาธารณะ กฎหมายใหม่ช่วยให้เงินเข้าไปหมุนในเรื่องวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน พัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนน้ำมัน ปรับปรุงโรงเรียน ก่อสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภค กฎหมายทำให้รัฐบาลโอบามาสามารถสร้างงานให้คนตกงานที่ตอนนั้นมีเยอะจริงๆ ได้มีงานทำไปพลางก่อน ฯลฯ

ยังมีมาตรการของรัฐบาลอะไรอีกหลายอย่าง ที่ออกมาทำให้คนพอมีความหวัง ว่าเอาเถอะน่า ช่วยกันร่วมสู้กับวิกฤติ

วิกฤติที่เกิดในยุโรปนี่ อ่านข่าวแล้ว ยิ่งทำให้เราใจเหี่ยวครับ รัฐบาลฝรั่งมังค่าพวกนี้มีสติปัญญาแค่ออกมาตะโกนก้องร้องขอความช่วยเหลือจากจีน อะไรก็จีน ขอให้จีนช่วย

พ้นจากจีนแล้ว พวกนี้ก็ไปตะโกนก้องเรียกร้องความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศบริกส์ BRICS ที่มีทั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ให้ช่วย

แต่มาตรการหลักๆ ที่จะออกมาเป็นผลทางจิตวิทยา เพื่อให้คนเชื่อว่า ถ้าร่วมมือกันสู้วิกฤติ ก็จะไปรอด ยังไม่มี

รัฐบาลไทยต้องรีบสร้างมาตรการรองรับการล่มสลายของยุโรปไว้ด้วยครับ.

[19/9/2554]
ลงทุนเพื่อชีวิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

กรีซอาจจะไปไม่รอด
วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554

กรีซอาจจะไปไม่รอด

เฮลินิคี ดีโมคราเทีย เห็นจะไม่รอดเป็นแน่แท้ครับ ผู้อ่านท่านที่เคารพ เพราะดูอาการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศนี้แย่เหลือเกิน หลายท่านอาจจะงุนงงสงสัย ว่าประเทศอะไรของเอ็ง เฮลินิคี ดีโมคราเทีย อ้อ ถ้าจะเรียกชื่อประเทศนี้อย่างเป็นทางการตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศราชบัณฑิตยสถาน ก็คือ สาธารณรัฐเฮลเลนิก

ส่วนชื่อที่ไอ้ปื๊ด อีเปี๊ยก ลูกเจ้น้องก้นซอยสองเรียกกันก็คือ กรีซ นั้นเอง

กรีซเป็น 1 ใน 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพยุโรป และเป็น 1 ในบรรดาประเทศยูโรโซน หมายความว่าใช้เงินสกุลยูโรของสหภาพยุโรปนั่นเอง กลุ่มประเทศพวกนี้ใช้คติของช่างตัดผม ผมหมายถึง มีความเชื่อที่ว่า หลายหัว ดีกว่าหัวเดียว ไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม่ได้ ร้านเพียงร้านเดียวเป็นตลาดไม่ได้ เมื่อมาอยู่ชุมนุมสุมหัวด้วยกันแล้ว ก็มีลูกพี่ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ก็คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หลายประเทศเครดิตส่วนตนไม่ดี แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ให้ความเชื่อถือ เพราะเครดิตของลูกพี่อย่างเยอรมนีนั้นดีมาก

ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่อีนุงตุงนังอยู่หน้าประตูของยุโรปกินเวลานานกว่า 2 ปี ก็มีเพียงเยอรมนีเท่านั้นนะครับ ที่คอยพยุงและคอยให้คำแนะนำ บางทีก็ถึงขนาดให้เงินไปช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อใช้ไปแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะกรีซ โปรตุเกส หรือไอร์แลนด์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี่ ถ้าเป็นคนก็มีก้อนบวมขึ้นเต็มร่างกาย ดูไปตรงไหนเจอก้อนบวมทั้งนั้น ทั้งที่คอ รักแร้ ขาหนีบ ส่วนกรีซเองนั้น ยังมีตับโต และม้ามโต อีกด้วย คนกรีกทั้งประเทศตอนนี้ต่างมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน หนาวสั่น คันตามผิวหนัง มีจ้ำเขียวๆ ตามตัวเต็มไปหมด ไม่ต้องใช้หมอใหญ่ที่ไหนมาวินิจฉัยอาการดอกหรอกครับ คนธรรมดาใช้หางตาซ้ายชำเลืองก็รู้ว่า ทั้ง 3 ประเทศนี่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รอดยาก ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไปไวที่สุดก็คือ กรีซ

สุภาพสตรีที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกอย่างนางแองเกลา แมร์เกิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเอาเยอรมนีเข้าไปหนุนกรีซ ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนมีวินัยทางการเงินที่เคร่งครัด ผสมกับความมุ่งมั่นกัดติดปัญหา ทำให้ผู้คนชนทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และยังไว้เนื้อเชื่อใจในเงินสกลุยูโร

ช่วยมากๆ เข้าก็เบื่อหน่ายในปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศไร้วินัยทางการเงิน แต่บังเอิญมาเป็นปลาอยู่ในข้องเดียวกัน คนเยอรมันไม่ว่าจะในรัฐแซกโซนี-อันฮัลท์ รัฐเทือริงเงิน รัฐนอร์ดไรน์-เวสฟาเลิน ฯลฯ และในอีกมากมายหลายรัฐ หลายเมือง เบื่อที่จะต้องลงสตางค์เข้าไปช่วยเหลือเต็มที เสียภาษีให้รัฐบาล นางแมร์เกิลก็เอาไปช่วยเพื่อนหมด การเลือกตั้งครั้งหลังๆ ภายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้อ่านท่านจะพบว่า พรรคของนางแมร์เกิลแพ้โลด

วันนี้ ผมว่า เยอรมนีไม่น่าเอาตัวเข้าไปอุ้มเพื่อนบ้านในยูโรโซนแล้วครับ ผมดูจากสัญญาณที่เจอร์เกน สตาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรปประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายสตาร์กคนนี้นี่แหละครับ ที่เป็นผู้แทนคนสำคัญซึ่งเยอรมนีส่งไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารของธนาคารกลางยุโรป แกลาออกเพราะแกไม่เห็นด้วยกับแนวทางของธนาคารกลางยุโรปที่ใช้เงินเข้าไปทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาหนี้สินอีนุงตุงนังอย่างกรีซ

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนดอกหรอกครับว่า นายสตาร์กจะลาออก เพราะแกยังมีเวลาเหลือที่นั่งทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้อีกนานถึง 3 ปีกว่า อันนี้เป็นสัญญาณที่พอจะอธิบายขยายความว่า เยอรมนีเริ่มที่จะทิ้งประเทศขยะทั้งหลายแล้ว ความฝันอันบรรเจิดที่จะนำทำให้สหภาพยุโรปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเริ่มมีลดน้อยถอยลงไปแล้ว สัญญาณที่สื่ออกมาคราวนี้ทำให้ผู้คนชนทั้งโลกเริ่มหมดศรัทธาต่อสกุลเงินยูโร

ผู้อ่านท่านที่ตามข่าวของเยอรมนีและกรีซ ท่านอย่างุนงงสงสัยนะครับ ถ้าขณะนี้มีข่าวว่า ธนาคารกลางของเยอรมนีปรับมาตรการในตลาดสินเชื่อให้มีเงื่อนไขสูงมากขึ้น ใครจะใช้บริการจะต้องมีค่าประกันความเสี่ยงสินเชื่อของธนาคารมากขึ้น และที่น่าตระหนกตกใจมากกว่าใครก็คือ ธนาคารขนาดใหญ่ของเยอรมนีหลายแห่งเริ่มลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีก อย่างดอยช์แบงก์ เอจี ก่อนนี้เคยมีอยู่มากถึง 1.6 พันล้านยูโร ตอนนี้มีเหลือเพียง 1.15 พันล้านยูโร

เมื่อสิงหาคม 2554 ก็ปีนี้นี่แหละครับ ที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายมีความกังวลใจว่าสหรัฐอเมริกาจะผิดนัดชำระหนี้ ทุกสายตาของผู้คนชนทั้งโลกให้ความสนใจว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ จะตกลงเรื่องร่าง พ.ร.บ.เพิ่มระดับเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกายังไง ทว่า บั้นปลายท้ายที่สุด ก็แฮปปี้เอ็นดิ้ง จบลงได้ดีไม่มีปัญหา แม้ว่าจะโดนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาลงไปจาก AAA มาเป็นระดับ AA+ แต่บั้นปลายท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไร รัฐบาลอเมริกันยังพานาวาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล่นฝ่าคลื่นลมได้

แต่กรีซไม่ใช่ประเทศอย่างนั้น ประชาชนคนของประเทศนี้มีปัญหาเยอะ กรีซไปขอเงินช่วยเหลือจากกลุ่มอียูเป็นแสนล้านยูโร และต้องขอรับเป็นงวดๆ แต่ละงวดก็ต้องแสดงแถลงว่า ตนเองจะเอาเงินไปทำอะไร และมีมาตรการที่เข้มงวดกวดขัน มีวินัยทางการใช้สตางค์อย่างไร ตัดงบประมาณด้านที่ไม่จำเป็นในการใช้จ่ายอย่างไร ถึงจะเบิกสตางค์มาใช้ได้ กรีซเบิกไปแล้ว 5 รอบ

แต่พอจะถึงรอบที่ 6 ซึ่งคราวนี้จะเป็นเงินที่ระดมมาจากภาคเอกชนและประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน กรีซกลับขอเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาภายในของตน

ผู้อ่านท่านครับ ในอนาคตอันใกล้นี้...

กรีซอาจจะเป็นประเทศที่ไปไม่รอด.

[15/9/2554]
ลงทุนเพื่อชีวิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 3

โพสต์

วิกฤติเศรษฐกิจเปรียบเทียบ (1)
วันอังคารที่ 20 กันยายน 2554

วิกฤติเศรษฐกิจเปรียบเทียบ (1)

เรื่องที่ผู้คนบนอินเตอร์เน็ตสนทนากันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบันทุกวันนี้ก็คือ สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression พ.ศ. 2471 และตกต่ำไปจนตลอดทศวรรษ และวิกฤติเศรษฐกิจโลกในแต่ละครั้ง

จึงมีความเห็นว่า ผมน่าจะมารับใช้เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจเปรียบเทียบ เพราะอย่างน้อยๆ ในห้วงช่วงเวลานี้ ผู้อ่านท่านที่เคารพจะต้องได้ยินข่าวของวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปต่อไปอีกหลายวัน เอาละครับ กลับไปที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อ พ.ศ. 2471 กันต่อ ซึ่งประเทศที่โดนหนักในตอนนั้นก็คือ สหรัฐอเมริกา ปัญหาของสหรัฐอเมริกาตอนที่มีวิกฤติก็คือ ธนาคารแข่งขันกันมากไป สถาบันทางการเงินให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผู้คนกู้สตางค์เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย สุดท้ายไม่มีเงินมาคืนสถาบันการเงิน โน่นเลยครับ กระทบไปตั้งแต่ธนาคารยันการซื้อขายในภาคอุตสาหกรรม การค้าขาย การส่งออกนำเข้ามีปัญหาหมด วิกฤติที่เกิดขึ้นในอเมริกาในครั้งนั้น ส่งผลไปทั่วโลก คนว่างงานเยอะมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาผู้คนอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นแสนสาหัส

ประธานาธิบดีรูสเวลท์ แก้ด้วยการให้รัฐบาลอเมริกันลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดจ้างงานอย่างด่วน ผลที่ตามมาในมาตรการในครั้งนั้นก็คือ คนที่ตกงาน กลับมามีงานทำ มีงานทำแล้ว ก็มีเงินไปจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าข้าวปลาอาหาร มีการสร้างอาชีพ มีการจ้างงาน สร้างงาน

ผู้อ่านท่านคงทราบอยู่แล้วนะครับ ว่าสหรัฐอเมริกายึดหลักเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่ให้กิจการงานทุกอย่างเป็นของเอกชน จะยากดีมีจน จะกำไร ขาดทุน รัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยว เพราะถ้าแทรกแซงก็กลายเป็นประเทศสังคมนิยม เป็นคนคอมมิวนิสต์ ซึ่งพวกคอมมิวนิสต์นี่แทรกแซงทุกเรื่อง การที่รัฐบาลอเมริกันเข้าไปแทรกแซงมากก่อให้เกิดสภาวะ Big Government หลายฝ่ายโดยเฉพาะพวกเสรีนิยมนี่โจมตีรัฐบาลของรูสเวลท์กันน่าดู แต่ก็ได้ผลครับ การสร้างงานทำให้คนมีงาน ทำโครงการได้ไม่ถึง 10 ปี อเมริกาก็ลืมตาอ้าปาก รอดพ้นวิกฤติมาได้

เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป วิกฤติใหญ่ๆ ไปเกิดในโซเวียตตอนที่สหภาพล่มสลาย คนดีๆ กลายเป็นโสเภณีกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนอดยากล้มตาย รัฐบาลของนายเยลต์ซิน แก้ไขปัญหาอยู่ 7 ปี ในห้วงช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2542 ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ก็โยนไม้ต่อไปให้นายปูติน

รัฐบาลของ “ปู” ติน เริ่มต้นเหมือนกับรัฐบาลของ “ปู” ยิ่งลักษณ์ของไทยสมัยนี้นี่ละครับ คือหัวหน้ารัฐบาลสงบเสงี่ยมเจียมคำ ไม่พูดมาก ไม่ให้สัมภาษณ์เลอะเทอะเปรอะเปื้อนรายวันเหมือนสมัยของนายเยลต์ซิน เร่งสร้างความเชื่อมั่น เอาทรัพยากรธรรมชาติ ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน และป่าไม้ มาขายทำรายได้ให้ประเทศ ภายในห้วงช่วง 8 ปีที่ปูตินบริหารสหพันธรัฐรัสเซีย รัสเซียก็ผงาดกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ เชิดหน้าอ้าปากพูดได้ อย่างไม่ต้องอายใคร

มาถึงเรา ซึ่งผู้อ่านท่านที่เคารพทุกท่านได้สัมผัสกับวิกฤติครั้งนี้ด้วยตัวเอง The Asian Crisis วิกฤติเอเชีย หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติบ้านี่เกิดขึ้นเพราะตอนนั้นหลายประเทศในทวีปเอเชียมีนโยบายเปิดเสรีตลาดเงินตราต่างประเทศ ของไทยเองก็ โอ้โฮ รัฐมนตรีคลังสมัยนั้นภูมิใจกันนักหนากับ BIBF ยังจำกันได้ดีนะครับ The Bangkok International Banking Facilities

เรายอมปล่อยให้เงินต่างประเทศเข้ามาในไทยได้เสรี สมัยนั้น ใครที่มีมือยาว ก็ไปกู้เงินธนาคารต่างประเทศ ธนาคารต่างชาติมีบทบาทในการให้บริการฝากถอนเงินสกุลต่างประเทศในประเทศเรา ธนาคารนอกเข้ามาปล่อยเงินกู้ในไทยในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกว่าธนาคารของไทยปล่อย

เงินนอกพวกนี้เป็นเงินกู้ระยะสั้นทั้งนั้น กู้มาใช้จ่ายยังไม่ทันให้ดอกออกผลอะไร ธนาคารต่างชาติก็เรียกเงินต้นคืนแล้ว นักธุรกิจบ้านเราจะเอาสตางค์ที่ไหนไปคืนล่ะครับ ก็ต้องผิดนัดชำระหนี้กันเป็นแถว แถมในตอนนั้น พวกกองทุนเก็งกำไรของต่างชาติก็กวาดซื้อเงินบาทเอาไว้เก็งกำไร ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาสู้เพื่อกว้านซื้อเงินบาท ไม่ให้หายไปจากตลาด

รัฐบาลไทยเอาเงินบาทออกไปสู้จนหมดคลัง บั้นปลายท้ายที่สุด 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลจึงต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ค่าเงินบาทลดลงอย่างรวดเร็ว พวกที่กู้เงินนอกมาใช้ จึงไม่มีปัญญาเอาเงินไปคืนธนาคารต่างชาติ

วิกฤติที่เกิดจากบ้านเราลามปามออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง ไหม้ไปทั้งป่าเอเชีย และกระจายขยายผลไปทั้งโลก

พ.ศ. 2551 อ้าว คราวนี้ วิกฤติเศรษฐกิจไปกำเนิดเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่รู้ว่าหลักทรัพย์จำนวนไม่น้อยที่มาใช้ค้ำธนาคาร เป็นทรัพย์สินเน่าๆ แต่ธนาคารอเมริกันก็ยังรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นทำการซื้อขายเก็งกำไรด้วยการปั่นหุ้นเน่าๆ พวกนี้นี่แหละครับ ตอนแรกก็กระดี๊กระด๊ากับกำไรกันน่าดู แต่พอตัวเลขของผลประกอบการของจริงออกมาโชว์ย้ำๆ ซ้ำๆ บ่อยเข้า ผู้คนก็เริ่มตระหนัก เริ่มกลัว ทั้งคนกู้ ธนาคารที่ให้กู้ และผู้คนในตลาดหุ้น ตระหนกตกใจไปกันทั้งประเทศ

ที่สร้างความตระหนกตกใจมากที่สุดก็คือ กลุ่มธุรกิจประกันภัยขนาดใหญ่ของอเมริกา ที่มีชื่อว่า American International Group ที่คนไทยรู้จักในชื่อย่อ AIG ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์ยกให้เป็นบริษัทยิ่งใหญ่มั่นคงลำดับที่ 18 ของโลก ล้มครืน ความตระหนกตกใจโกลาหลอลหม่านก็อุบัติในแผ่นดินอเมริกัน หุ้น AIG ดิ่งจาก 70.13 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1.25 ดอลลาร์ ภายในเวลาพรึ่บเดียว

ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาที่เราเรียกว่า FED : Federal Reserve Bank ก็รีบเข้าไปอุ้มบริษัทประกันแห่งนี้ทันที ด้วยการให้กู้เงินไปมากถึง 85 พันล้านดอลลาร์ โดย AIG ยอมให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าไปถือหุ้นมากถึง 85%

วิกฤติเศรษฐกิจเปรียบเทียบจะเป็นยังไง กรุณาติดตามต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.

[20/9/2554]
ลงทุนเพื่อชีวิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 4

โพสต์

จีน เทพเจ้าของฝรั่งมังค่า
วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554

จีน เทพเจ้าของฝรั่งมังค่า

ฝนตกหนักบนเขาสระบาป น้ำจึงท่วมกระจายขยายไปใน 5 อำเภอของจันทบุรี ในฐานะคนเมืองจันท์ ผมขอขอบคุณคุณธนภณ กิจกาญจน์ นายก อบจ.จันทบุรี ซึ่งขณะนี้เป็นนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ที่ออกลุยแก้ไขปัญหาเองทั้งกลางวันยันกลางคืน ทำงานสมราคา ทำให้จันทบุรีไม่มีปัญหาหนักเหมือนในหลายจังหวัด ขอบคุณแทนคนเมืองจันท์ครับ

ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย “สภาพปัญหาด้านคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยและแนวทางแก้ไข” ของศูนย์วิจัยนโยบายและการบริหาร วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ ม.บูรพา ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ จะนำเสนอผลการวิจัยเวลา 10.30-12.30 น. ของศุกร์วันนี้ ที่สำนักคุ้มครองแรงงานชั้น 10 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

พอถึงวันเสาร์ เวลา 9.00-12.00 น. ที่ห้องประชุม วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “ไทยกับ AEC” และ “ภาคอีสานกับ AEC”

ผู้อ่านท่านครับ พัฒนาการกลุ่มประเทศยุโรปมีมากมายหลายขั้นตอน เริ่มจากรวมตัวกันเป็นประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ต่อมา ก็พัฒนามาเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป บั้นปลายท้ายที่สุด ก็เป็นสหภาพยุโรปอย่างเช่นในปัจจุบัน

สหภาพยุโรปเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อ พ.ศ.2518 อีก 3 ปี ต่อมา คือใน พ.ศ.2521 ก็มีการลงนามความตกลงทางการค้าและความร่วมมือระหว่างประชาคมยุโรป-จีน ซึ่งเป็นกรอบความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราวว่าจะคบกันยังไงบ้าง สหภาพยุโรปจะไปเปิดสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงปักกิ่ง มีการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป-จีน ทุกปี จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างบ่อยครั้ง ฯลฯ

สหภาพยุโรปมีคู่ค้าอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ อันดับ 2 คือ จีน สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) กับทั้งโลก 178 ประเทศ แต่เลือกให้ผลประโยชน์แก่จีนมากเป็นอันดับ 2 มูลค่าการค้าระหว่างอียูกับจีนแต่ละปีมีหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนได้เปรียบดุลการค้า

ระยะหลัง ก็อย่างที่ท่านทราบนะครับ หลายประเทศในสหภาพยุโรปประสบปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะจนเอาตัวไม่รอด ฝรั่งมังค่ายุโรปพวกนี้มีความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงหลายชาติ เช่น เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น

เยอรมนีช่วยประเทศพวกนี้ผ่านธนาคารกลางหลายครั้ง ผมขอย้อนหลังกลับไปเล่าเรื่องในอดีตสักหน่อยนะครับ ว่าความพยายามในการสร้างสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของยุโรปประสบพบความสำเร็จเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์เมื่อ พ.ศ. 2535 ในสนธิสัญญานี้กำหนดให้มีธนาคารกลางแห่งยุโรป European Central Bank หรือ ECB ให้เป็นสถาบันร่วมทางการเงินของประชาคม ทำหน้าที่ดูแลการเงินและการธนาคาร

ชาติสหภาพยุโรปส่วนหนึ่งใช้เงินสกุลยูโรเมื่อ พ.ศ. 2545 เพราะในสนธิสัญญามาสตริกต์กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีนโยบายทางการเงินร่วมกัน รวมถึงการมีเงินตราสกุลเดียวกัน

การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศยุโรปก็เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศสมาชิก ก่อนหน้านี้ ใครๆ ก็เกรงใจสหภาพยุโรป ประเทศที่เคยวางตัวเป็นกลาง ก็ยังเข้ามาขอร่วมเป็นสมาชิกด้วย อย่างอังกฤษนี่ เป็นประเทศที่ไม่มีส่วนร่วมอะไรในการก่อตั้งประชาคมยุโรปมาตั้งแต่แรกเลยนะครับ ใครจะมาชวนอังกฤษเข้าร่วมด้วยยังไง อังกฤษไม่เอา แถมอังกฤษไปยังตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA ขึ้นมาประชันขันแข่งประชาคมยุโรปเสียอีก

พวกที่ร่วมกับอังกฤษตั้ง EFTA ขึ้นมาแข่งกับประชาคมยุโรปในอดีตก็มีออสเตรีย เดนมาร์ก นอร์เว โปรตุเกส สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

แต่เมื่อประชาคมยุโรปมีความมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ อังกฤษและเพื่อนสมาชิก EFTA อีกหลายประเทศก็กลับลำ เปลี่ยนใจไปสมัครเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปในบั้นปลายท้ายที่สุด

ตอนนี้ หลายประเทศในประชาคมยุโรป ซึ่งแปลงแผลงสภาพมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบันกำลังย่ำแย่ ก็ไม่รู้ว่า อังกฤษและคณะนึกเสียดายหรือเปล่าที่ดันมาเข้ากลุ่มนี้ เพราะประเทศในกลุ่มช่วยตัวเองกันไม่ค่อยได้ บางประเทศขนาดจะไปขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นและจีน

ที่ออกมาบอกประชาชนคนทั่วไปเมื่อวันก่อน ว่าประเทศของตนไปขอความช่วยเหลือจากจีนแล้ว ก็คือ โฆษกกระทรวงการคลังของอิตาลี โดย รมว.คลังอิตาลีพบกับคณะเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีทั้งนายโหลว จี้เหว่ย ประธานไชนา อินเวสต์เมนต์ คอร์ป อันนี้เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน และอีกมากมายหลายคน เพื่อขอให้จีนช่วยซื้อตราสารหนี้ของอิตาลี

ก่อนหน้านี้ พวกอิตาลีบินไปปักกิ่ง ไปขอพบเพื่ออธิบายขยายความกับผู้คนในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และหน่วยงานบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน

อะไรในโลกนี้ล้วนไม่แน่นอนนะครับ อดีต คนเอเชียต้องพึ่งพาอาศัยเครดิตจากพวกฝรั่งมังค่า มาวันนี้ พวกฝรั่งมังค่ากลับต้องรอความเมตตาจากคนเอเชีย พอข่าวว่าจีนจะแหย่เท้าเข้าไปช่วยอิตาลี ตลาดการเงินของอิตาลีก็คึกคักงักงึกขึ้นมาทันที

แต่พอมีข่าวที่ 2 ว่า จีนเคยช่วยซื้อพันธบัตรโปรตุเกส แต่ขาดทุนบักโกรก

ตลาดอิตาลีก็เงียบเหงาเศร้าสร้อยขึ้นมาอีก

อิตาลีอีกประเทศหนึ่ง จะไปรอดไหมเนี่ยะ?
ลงทุนเพื่อชีวิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 5

โพสต์

Want to save this for later? Add it to your Queue!
China Warns Asia Not to Hide Behind U.S. Military
QBy Bloomberg News - Sep 28, 2011 12:45 PM GMT+0700 .
inShare.2
More
Business ExchangeBuzz up!DiggPrint Email ...Asian countries should be on guard against the “danger” of feeling they can “do whatever they want” because of the U.S. military presence in the region, the Chinese Communist Party’s People’s Daily said in a commentary.

The opinion piece said it was understandable that some Asian countries may be uncomfortable with China’s rise and emphasized that the government in Beijing was working for “peaceful solutions” to conflicts such as territorial disputes in the South China Sea. The commentary comes as countries such as the Philippines and Vietnam are increasingly voicing concerns over China’s claims to the waters.

“Asia remains a fertile ground for a Cold War mentality,” the commentary said. “Asia is advancing, will never return to the Cold War, and China must have an important role in the future of Asian security.”

Competing claims to the South China Sea threaten to sour ties between China and the Association of Southeast Asian Nations members Vietnam, the Philippines and Malaysia as the countries compete over oil, gas and fisheries resources. China, citing historical evidence such as pottery shards, claims a tongue-shaped swath of the sea demarked by nine dashes that extends hundreds of miles south from Hainan Island to the equatorial waters off the coast of Borneo.

China’s Ire
The U.S. set off China’s ire in 2010 when Secretary of State Hillary Clinton, speaking at a regional summit in Hanoi, called resolving the competing claims to the sea “a leading diplomatic priority.” That drew a rebuke from Chinese Foreign Minister Yang Jiechi, who said internationalizing the incident with U.S. involvement “can only make matters worse and more difficult to solve.”

Huang Jing, a professor at the Lee Kuan Yew School of Public Policy at the National University of Singapore, said the commentary may offer a hint that China is actually willing to compromise with southeast Asian nations on the South China Sea in a bid to stave off deeper U.S. involvement.

One compromise could be giving up a claim to the entire sea demarcated by the nine-dash line, Huang said. Instead, China would focus its claims on the waters surrounding the reefs and shoals, which may placate Malaysia and the Philippines, he said.

“China knows it doesn’t have any ground to claim the nine- dash line,” Huang said. “If China doesn’t clarify its position it gives America more of an excuse or more justification to intervene.”

Today’s commentary was attributed to Zhong Sheng, a play on words that sounds like “voice of China.” Commentaries on topics that take a nationalist line, including one on Sept. 23 criticizing the U.S. decision to sell arms to Taiwan, often carry the same name. Zhong Sheng likely represents a group of “hardliners,” Huang said.

To contact the editor responsible for this story: Peter Hirschberg at [email protected]
ลงทุนเพื่อชีวิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยต้องมีมาตรการรองรับ หากยุโรปล่ม

โพสต์ที่ 6

โพสต์

Countrywide Bankruptcy Possibility, Bank of America
http://www.bloomberg.com/video/75766120/
ลงทุนเพื่อชีวิต
โพสต์โพสต์