คนเดินตรอก-เศรษฐกิจจีนเป็นฟองสบู่หรือยัง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
Joraka
Verified User
โพสต์: 61
ผู้ติดตาม: 0

คนเดินตรอก-เศรษฐกิจจีนเป็นฟองสบู่หรือยัง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จาก
http://www.nidambe11.net/ekonomiz.htm

เศรษฐกิจจีนเป็นฟองสบู่หรือยัง
คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร ประชาชาติธุรกิจ หน้า 2 วันที่ 03 พฤษภาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3580 (2780)

เดี๋ยวนี้จีนกลายเป็นประเทศที่สำคัญทางเศรษฐกิจของโลกไปเสียแล้ว เพราะถนนทุกสายมุ่งไปที่ประเทศจีน เศรษฐกิจของประเทศจีนยังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่านายกรัฐมนตรีจีนจะประกาศชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลงให้เหลือในอัตราที่ต่ำลงเหลือร้อยละ 7 ต่อปี แต่เมื่อสิ้นไตรมาสแรกก็ปรากฏว่าเศรษฐกิจของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 9.2

การขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งประเทศ แต่ถ้าคิดเฉพาะมณฑลที่อยู่ในชายฝั่งทะเล เช่น เซี่ยงไฮ้ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง รวมถึงปักกิ่งแล้ว อัตราการขยายตัวคงจะสูงกว่านี้เป็นอันมาก

สื่อมวลชนทางตะวันตกต่างวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังเป็นฟองสบู่ เพราะเงินทุนจากทั่วโลกได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงและในการเก็งกำไรว่าทางการจีนจะต้องขึ้นค่าเงินหยวนในที่สุด

สัญญาณที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ของสื่อตะวันตกก็คือ อัตราเงินเฟ้อเริ่มจะก่อตัวขึ้น เมื่อเงินเฟ้อก่อตัวขึ้น ก็จะเป็นแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยก็พลอยสูงขึ้นไปด้วย และจะมีผลไปทั้งภูมิภาค และอาจจะของโลกด้วย

ที่แปลกก็คือ เมื่อปีกลายนี้เอง ทางตะวันตกได้สร้างกระแสข่าวว่าจีนจะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะ "เงินฝืด" หรือ "deflation" ขึ้นได้ เพราะจีนทุ่มสินค้าราคาถูกออกมาสู่ตลาดโลก ทำให้สิ่งของในตลาดโลกราคาถูก อัตราเงินเฟ้อของโลกจะติดลบ เกิดภาวะเงินฝืด และเป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก

แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ทางตะวันตกสร้างกระแสข่าว เพราะปรากฏว่าจีนกลับเป็นตลาดที่ประเทศต่างๆ ส่งสินค้าและบริการเข้าไปขายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สำหรับสินค้าสำคัญๆ หลายอย่างของโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก ยางพารา ชิ้นส่วนรถยนต์ จนเป็นเหตุให้สินค้าหลักสำคัญๆ ของโลกมีราคาแพงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เรือเดินสมุทรก็ขนสินค้ามุ่งไปสู่ประเทศจีนหมด จนทำให้ราคาค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือมีราคาแพงขึ้นไปด้วย

ปีนี้กระแสก็เปลี่ยนไป ไม่พูดถึงเรื่องจีนทำให้เกิด "ภาวะเงินฝืด" อีกแล้ว แต่เป็นกระแสที่ว่าจีนกำลังจะก่อให้เกิดภาวะ "เงินเฟ้อ" ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก ภาวะเศรษฐกิจของจีนกำลังจะเป็นฟองสบู่ เพราะมีอัตราการขยายตัวมากจนเกินไป จนเกิดการขาดแคลนสินค้าไปเกือบหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เหล็กก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และสินค้าเกษตรหลายอย่าง ที่สำคัญจีนเกิดภาวะการขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรงทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ จีนจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าหลายอย่างมีราคาแพงขึ้น ที่สำคัญจีนผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้ ต้องเวียนดับไฟฟ้าเป็นเขตๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบๆ เมืองใหญ่ๆ ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม

ประการที่สอง การที่จีนตรึงค่าเงินหยวนเอาไว้ ทำให้จีนต้องนำเงินหยวนออกมาซื้อเงินดอลลาร์เอาไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทุนสำรองของจีนมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับกว่าสี่แสนล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว การที่จีนนำเงินหยวนออกมาซื้อเงินดอลลาร์ไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเงินหยวนในระบบเศรษฐกิจของจีนสูงขึ้น เป็นการทำให้เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงร้อนแรงขึ้นไปอีก จนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นแล้ว

ถ้าหากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ตั้งแต่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งอาเซียนที่ฟื้นตัวขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยการส่งสินค้าและบริการเข้าไปขายในประเทศจีน รวมทั้งได้รายได้จากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศของตนมากยิ่งขึ้น

แต่ถ้าหากจะพิจารณาให้ละเอียดลึกลงไปบ้าง ความรู้สึกที่น่ากลัวว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังเป็นฟองสบู่ที่ใกล้จะแตก เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ปี 1990 หรือที่เกิดกับประเทศไทยและประเทศในอาเซียนรวมไปถึงประเทศเกาหลีใต้ในปี 1997 แล้ว สถานการณ์ยังค่อนข้างจะห่างไกลกันมาก

ประการแรก เศรษฐกิจของจีนแม้ว่าจะมีอัตราขยายตัวที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณมณฑลที่อยู่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออก แต่ลึกเข้าไปในประเทศ ยังมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่ยังว่างงาน แม้แรงงานที่มีการศึกษาที่จบออกมา ก็ยังมีอยู่มากมาย ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจของจีนยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่มีแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงถีบตัวสูงขึ้น เหมือนอย่างกับญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1980 การเพิ่มอำนาจซื้อในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่อีก 800-900 ล้านคน ยังคงทำได้ต่อไป โดยการเพิ่มการจ้างงานในอัตราค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงยังไม่ต้องเพิ่ม

ประการที่สอง จีนยังมีโครงการต่างๆ ที่เป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศที่จะนำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ โครงการต่างๆ ก็ยังต้องใช้ของที่ผลิตในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และยังสามารถจ้างแรงงานในจีนเพิ่มขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ โดยยังไม่ขาดแคลนแรงงาน

ประการที่สาม จีนยังหาโครงการลงทุนที่ยังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากโครงการของรัฐบาล ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นถนนหนทาง ทางด่วน ทางรถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เขื่อนและระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการต้องการของตลาด

ประการที่สี่ จีนยังมีโครงการก่อสร้างเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 และหลังจากนั้นก็ยังเป็นเจ้าภาพของกิจกรรมสำคัญๆ ของโลกอีกหลายงาน จนถึงปี 2010 โครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวที่สร้างความต้องการรวมของจีนให้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ความต้องการรวมสะดุดหยุดลงและทำให้เกิดภาวะความต้องการรวมของตลาดมีน้อยกว่าความสามารถในการผลิต การขาดแคลนของหลายอย่างที่จีนก็ผลิตได้ ยังเป็นสัญญาณว่า ความสามารถในการผลิต หรืออุปทาน ยังไม่มีเกินความต้องการของตลาดโดยส่วนรวม

ประการที่ห้า ฟองสบู่ญี่ปุ่นแตกก็เพราะนโยบายที่ผิดพลาดของญี่ปุ่น 2 ข้อแรก ญี่ปุ่นเชื่อไอเอ็มเอฟมากเกินไป โดยปล่อยให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 150 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์เป็นประมาณ 75-80 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมๆ กับขึ้นภาษีที่ดิน และภาษีการโอนที่ดินอย่างมากในเวลาอันสั้น เป็นเหตุให้ราคาที่ดินในญี่ปุ่นตกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์และฐานะทางบัญชีของบริษัทห้างร้านต่างๆ หนี้เสียของธนาคารในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เท่ากับรัฐบาลญี่ปุ่นเอาเข็มแทงฟองสบู่ให้แตก

แต่ในกรณีของจีน จีนไม่ใช้นโยบายดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่า จีนจะยังไม่ปล่อยให้ค่าเงินของตนแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว คงไม่ใช้ภาษีที่ดินกดราคาที่ดินลงทันทีแบบญี่ปุ่น และตัดงบประมาณแผ่นดินลงอย่างฮวบฮาบ แต่พยายามกระตุ้นความต้องการภายในประเทศให้เข้มแข็งต่อไป หากฟองสบู่จะแฟบลงก็คงค่อยๆ แฟบลง คงไม่เป็นลักษณะฟองสบู่แตก

ประการที่หก ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนยังคงเป็นบวกอยู่ แม้ว่าบวกน้อยลง แต่ยังไม่ถึงกับขาดดุล ซึ่งต่างกับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อตอนจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศไทย ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปี และทางการไม่ยอมดำเนินการใดๆ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการฝืนความเป็นจริงอย่างมาก จึงถูกโจมตีจากกองทุนต่างๆ ทางการก็ยังต่อสู้จนทุนสำรองที่มีอยู่ร่อยหรอ เกิดการตื่นตระหนก เจ้าหนี้เรียกหนี้คืนและนำเงินออกนอกประเทศจนต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นกับจีน ฐานะทางการเงินและทุนสำรองของจีนยังเข้มแข็งอยู่ ยังไม่มีสัญญาณว่าค่าเงินแข็งเกินไป ตรงกันข้ามมีการคาดการณ์กันอยู่ว่าค่าเงินของจีนอ่อนเกินไป เงินยังไหลเข้าไปในประเทศจีนอยู่

ยังไม่เคยเห็นวิกฤตการณ์ทางการเงินเกิดกับประเทศที่ตลาดคิดว่ามีเงินตราที่ค่าอ่อนเกินไป มีแต่จะเกิดกับประเทศที่ตลาดคิดว่าค่าเงินของตนแข็งเกินไปเท่านั้น

ประการที่เจ็ด จีนยังไม่เปิดเสรีทางด้านตลาดเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายเงินทุนยังไม่ได้เปิดเสรี ทางการจีนยังคงควบคุมการไหลเข้าออกของเงินอย่างเข้มแข็ง เงินหยวนยังไม่ใช่เงินที่จะแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้เสรี หรือยังไม่ใช่ "convertible currency" ดังนั้นการโจมตีค่าเงินจีนเพื่อให้แข็งขึ้นจึงยังเป็นไปไม่ได้

การตื่นตระหนกว่าค่าเงินหยวนจะลดลงแล้วเงินตราต่างประเทศไหลออกอย่างรวดเร็ว ยังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ฟองสบู่แตกแบบญี่ปุ่นหรือแบบไทย จึงยังไม่มีทางเกิดขึ้นได้

มีอีกปัญหาหนึ่งที่นักวิเคราะห์พูดกันมากก็คือฐานะของธนาคารของจีนยังอ่อนแอ มีหนี้เสียมาก ซึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฟองสบู่แตกได้ แต่ถ้าดูให้ดีธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ของจีนเป็นของรัฐบาล หนี้เสียส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่หนี้ของเอกชน ที่น่าแปลกก็คือหากรัฐบาลจะตั้งงบประมาณล้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจเสียเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จีนก็ไม่ทำ สินเชื่อรัฐวิสาหกิจน่าจะทำเพื่อเหตุผลทางด้านการจ้างงานอันเป็นเหตุผลทางสังคมและการเมือง และเป็นเหตุผลที่สำคัญที่จีนยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายสำหรับประเทศกำลังพัฒนาดังที่เห็นมาแล้วในกรณีของประเทศไทย

ประเทศจีนจึงยังจะคงขยายตัวในอัตราที่สูงต่อไปได้อีกอย่างน้อยก็ 5-6 ปี โดยที่ยังไม่ถึงกับอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายมหภาคทั้งภาคการผลิตและภาคการเงินของจีนเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนน่าสนใจที่จะติดตาม

ประชาชาติธุรกิจ หน้า 2
ล็อคหัวข้อ