Value Way ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2553
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
นักลงทุนในดวงใจ
สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) บุคคลที่เป็นนักลงทุนต้นแบบอีกคนคือ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Phillips Fisher) แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟต (Warren Buffett) นักลงทุนเอกของโลกยังเคยพูดอยู่เสมอว่าวิธีการลงทุนของเขานั้น 70% มาจากเบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) อีก 30%มาจากฟิลลิป ฟิชเชอร์ เขาผู้นี้เป็นใคร ทำไมนักลงทุนระดับบัฟเฟต ถึงได้กล่าวไว้เช่นนั้น เราลองมามาดูประวัติ และแนวทางการลงทุนของเขากัน
เมื่อปี 1931 หลังจากผ่านการอบรมนักวิเคราะห์ที่ธนาคารซานฟานซิสโก ฟิชเชอร์เริ่มอาชีพการลงทุนด้วยการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนในบริษัทของเขาเอง เขาเชี่ยวชาญในการลงทุนในธุรกิจที่เขารู้จักดี ซึ่งมักเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้มาจากการวิจัยและพัฒนา เขาเริ่มใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ก่อนการเกิดของซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ถึง 40 ปี.
ในช่วงแรกบริษัทที่เขามักแนะนำให้ลูกค้าซื้อมักเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยี่ไม่สูงนัก (Low-tech) เช่นบริษัทเคมีภัณฑ์ใหญ่ๆ หรือบริษัทผลิตเครื่องจักรอาหาร หลังจากนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนที่เห็นถึงคุณค่าของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี่ขั้นสูง (Hi-tech) อย่างโมโตโรล่า (Motorola) หรือเท็กซัส อินสทรูเมนท์ (Texas Instruments)
ฟิชเชอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทเท็กซัส อินสทรูเม้นต์ ในปี 1956 นานมากก่อนที่บริษัทนี้จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี1970 เมื่อเริ่มแรกราคาหุ้นซื้อขายที่ 2.7 เหรียญ และหลังจากนั้นราคาก็ขึ้นไปถึง 200 เหรียล เพิ่มขึ้น 7400% โดยที่ไม่เคยจ่ายปันผลเลย เขาได้รับผลตอบแทนที่สูงมากจากการลงทุนในบริษัทนี้ เขาถือหุ้นไว้ไม่ได้ขายตลอดเวลากว่า 20 ปี
ขณะที่เขามีอายุได้ 90ปี เขายังคงทำงานในลักษณะเดิมอย่างที่เคยทำ โดยนั่งรถไฟไปทำงาน เขาเป็นคนที่ใช้เหตุผล และยึดหลักปฎิบัติอย่างเข้มงวด เขาจะเลือกลงทุนในบริษัทที่เขาได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดรอบ ครอบ โดยศึกษาจากแหล่งความรู้ต่างๆ การสัมภาษณ์ผู้บริหารและคู่แข่งของบริษัท และสิ่งนี้ทำให้เขาเข้าถึงมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้ก่อนใคร เขาเรียกวิธีการนี้ว่าการเข้าหาข้อมูลจนถึงแก่น (Scuttlebutt)
ฟิชเชอร์เขียนไว้ในหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits ที่ตีพิพม์ในปี 1958 ว่านักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นบริษัทใหม่ที่มีการเติบโต (Young growth stock) ควรดำเนินการดังนี้
อ่านข้อมูลทุกอย่างที่หาได้ ทั้งจากวารสารและรายงานของบริษัทหลักทรัพย์
สนทนากับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจการ เช่นผู้จัดการ พนักงาน โดยเฉพาะกับผู้ป้อนวัตถุดิบ ลูกค้า คู่แข่ง
เยี่ยมชม สถานที่ทำงานในจุดต่างๆของบริษัทเช่นโรงงาน สาขา ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรไปแค่สำนักงานใหญ่
ก่อนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆ จะต้องแน่ใจว่าสามารถตอบคำถามทางด้านปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆได้ทั้งหมด เช่น บริษัทนี้มีสินค้า หรือบริการที่มีศักยภาพทางการตลาด ที่สามารถทำยอดขายให้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอีกหลายๆปีข้างหน้าได้หรือไม่ หรือ ผู้บริหารของบริษัทมีแนวทางในการพัฒนาสินค้าใหม่ หรือขบวนการใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้า ในขณะที่สินค้าชนิดเดิมก็ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตที่สูง เป็นต้น
ฟิชเชอร์ถือหุ้นเพียงสองหรือสามบริษัทและถือไว้นานมากเป็นเวลากว่าสิบปี เขามีเหตุผลเพียงสามประการที่จะตัดสินใจขายหุ้นออกไปจากพอร์ต
เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการวิเคราะห์หุ้นที่ซื้อมาแล้ว
บริษัทนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ต่างๆได้เหมือนที่เคยเป็น
สามารที่จะนำเงินลงทุนในบริษัทเดิมไปลงทุนในบริษัทอื่นที่สามารถสร้างผลตอบ แทนได้สูงกว่ามากๆ และก่อนจะตัดสินใจลงไปต้องแน่ใจว่ามีเหตุผลที่หนักแน่นพอ
ที่มา: www.Thaivi.com
นักลงทุนในดวงใจ2:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 795
- ผู้ติดตาม: 0
นักลงทุนในดวงใจ2:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โพสต์ที่ 1
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว"
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว"