คัมภีร์หุ้นคุณค่า :ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
PERFECT LUCKY
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 795
ผู้ติดตาม: 0

คัมภีร์หุ้นคุณค่า :ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Value Way ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2552
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
คัมภีร์หุ้นคุณค่า

มีหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการลงทุนแปลโดยคุณเทพ รุ่งธนาภิรมย์ เจ้าของซีรี่หุ้นห่านทองคำ หนังสือเล่มนั้นชื่อคัมภีร์หุ้นคุณค่า (The Little Book of Value Investing) เขียนโดยคริสโตเฟอร์ บราวน์ (Christoper H. Browne) บราวน์เป็นทายาทของหุ้นส่วนบริษัทนายหน้าค้าหุ้น ทวีดดี้ บราวน์ (Tweedy Browne) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1920 บริษัทนี้เริ่มต้นจากการหาซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อยในบริษัทที่มียอดการซื้อขายน้อยและนำมาเสนอให้กับผู้ที่สนใจในหุ้นขนาดเล็ก ในช่วงทศวรรษ 1930 บริษัททวีดดี้ บราวน์มีลูกค้าคนสำคัญคือเบนจามิน เกรแฮม ปรมาจารย์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า บริษัทถึงกับย้ายสำนักงานมาอยู่ในตึกเดียวกับเกรแฮมเลยทีเดียวในช่วงนั้น

นอกเหนือจากเกรแฮมแล้ว บริษัททวีดดี้ บราวน์ยังได้ทำธุรกิจเป็นนายหน้าให้กับวอลเตอร์ ชลอส ลูกศิษย์ของเกรแฮมที่ออกมาตั้งบริษัทกองทุนของตนเอง ชลอสแนะนำวอร์เรน บัฟเฟตให้กับรู้จักกับหุ้นส่วนบริษัท จนบัฟเฟตเป็นลูกค้าของทวีดดี้ บราวน์มาโดยตลอด หลังจากปี 1960 บริษัทแห่งนี้จึงเริ่มแปรสภาพจากนายหน้าขายหุ้นมาทำธุกิจบริหารเงินลงทุนเป็นหลัก

คริสโตเฟอร์ บราวน์เป็นผู้จัดการกองทุนของบริษัท การลงทุนของเขายึดถือหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นั่นคือหาซื้อหุ้นคุณภาพดีในราคาถูก เขาเปรียบการซื้อหุ้นเหมือนการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงเยี่ยมในร้านขายของชำในราคาที่ต่ำที่สุด เขากล่าวว่าสิ่งที่น่าแปลกใจของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ทั้งๆที่ได้เห็นผลสำเร็จจากตัวอย่าง เช่น เกรแฮม บัฟเฟตและศิษย์อีกหลายคนรวมทั้งทิดดี้ บราวน์คือ ทำไมแนวทางนี้จึงมีคนนำมาใช้น้อย อะไรทำให้นักลงทุนไม่ยอมนำเอาวิธีการซึ่งให้ผลดีอย่างคงเส้นคงวามากว่า 70 ปีไปใช้ บราวน์ให้ข้อสังเกตว่ามันอาจจะเป็นเรื่องของอารมณ์ เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้นกว่าที่ผู้คนจะมองเห็นคุณค่าของหุ้นของบริษัทนั้นอาจต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปีหรือนานกว่านั้น ผู้คนเป็นจำนวนมากไม่มีความอดทนเพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วอยากเห็นผลที่รวดเร็วหรือมักจะฟังเสียงรอบข้างมากกว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังลังเลที่ใช้หลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจึงเป็นโอกาสสำหรับคนส่วนน้อยที่มีความอดทนและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่ง

บราวน์กล่าวว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย แต่ก็มีนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนจำนวนไม่มากนักให้ความสนใจ ประมาณว่ามีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพเพียง 5-10% เท่านั้นที่นำหลักการนี้ไปใช้ เหตุผลหนึ่งคือนักลงทุนมักเกรงว่าจะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เขารู้สึกสบายใจด้วยว่ายังมีคนอีกเยอะที่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวกัน เพราะถ้าผู้จัดการกองทุนมีหุ้นเหมือนกับคนอื่นๆ ถ้าหุ้นตกโอกาสที่เขาจะถูกไล่ออกก็น้อย เขาจะไม่ดูแย่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ทำให้ผู้จัดการกองทุนโดยทั่วไปเกิดความรู้สึกว่าการขาดทุนเป็นเรื่องไม่น่าห่วงตราบใดที่คนอื่นๆก็ขาดทุนเหมือนกัน

บราวน์แนะนำว่าจริงๆแล้วเวลาซื้อหุ้นที่ดีที่สุดคือช่วงที่มันลดราคาอยู่ ไม่ใช่ในช่วงที่ราคากำลังสูงเพราะคนอยากซื้อ เขาจะเน้นการซื้อหุ้นตอนกำลังลดราคา เขาบอกว่าการซื้อหุ้นตอนราคาถูกเป็นวิธีการที่ดีมากที่จะทำให้เงินงอกเงย หุ้นของบริษัทดีๆตอนราคาถูกจะให้ผลตอบแทนสูงสุด มันสามารถเอาชนะทั้งตลาดหุ้นและหุ้นร้อนที่คนกำลังพูดถึงกัน

          นักลงทุนมักชอบซื้อหุ้นที่เป็นหุ้นยอดนิยมที่กำลังเติบโตเร็วกว่าคู่แข่งและมีสินค้าที่กำลังร้อนแรงหรือมีท่าทีที่น่าสนใจกว่าบริษัทอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นบริษัทที่ดีที่สุดในกลุ่มและมีนวัตกรรมชั้นยอด บราวน์บอกว่าไม่มีอะไรผิดที่ได้เป็นเจ้าของบริษัทชั้นยอดเหล่านั้น แต่ข้อผิดพลาดอยู่ที่ราคาที่ต้องจ่าย ไม่มีอะไรที่เติบโตในอัตราสูงมากๆไปตลอดกาล นักลงทุนมักไล่ราคาหุ้นเหล่านี้ไปในระดับสูงจนยืนไม่ไหว สุดท้ายการเติบโตอย่างแรงต้องลดลง เมื่อนั้นราคาหุ้นจะสะท้อนการตกต่ำของการเติบโตอย่างรวดเร็ว

         ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มดังกล่าว นักลงทุนที่สนใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าน่าจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ไม่มากก็น้อย
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว" :)
โพสต์โพสต์