เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
นี่ก็ใกล้จบปีการศึกษาแล้ว ผมจึงขอถือโอกาสนี้เขียนบทความนี้ให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่กำลังจะจบการศึกษา ให้รู้จักตระหนักรู้ถึงภารกิจการรับใช้ประชาชน นอกเหนือจากการมุ่งสนใจกับตนเองที่ใบหน้า เสื้อผ้าหรือที่ศักดิ์ศรีที่ไร้สาระจนแสดงความเถื่อนด้วยการยกพวกตีกัน (ของนักเรียนช่างกล) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่หน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง
สมัยผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 ก็มีคำพูดเท่ๆ ว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ตอนนั้นผมยังงงอยู่เหมือนกันว่า แล้วทำไมที่อื่นไม่สอนให้รักประชาชนบ้างหรือ อย่างไรก็ตามตอนผมเรียน ผมก็ไม่เคยได้ยินอาจารย์คนไหนสอนอย่างนี้ และเดี๋ยวนี้มีสอนหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ
แต่ที่ผมอยากให้ทุกคนได้ทราบก็คือ จากข้อเท็จจริงแท้แน่นอน (Hard Facts) นั้น การเรียนเพื่อไปรับใช้ประชาชน เป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษาอย่างแท้จริง แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ก็แทบไม่เคยสำนึกในข้อนี้ แต่อาจกลับทำตัวเป็นอภิสิทธิชน ผู้รับประโยชน์จากภาษีของประชาชน โดยไม่ได้ ให้ อะไรเป็นการตอบแทนบุญคุญของประชาชนเลย แถมเมื่อเป็นใหญ่เป็นโต ยังอาจกลับมาปล้นชิงผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการทุจริตและประพฤติมิชอบเสียอีก
เรามาดูกันให้ชัด ๆ ว่า ทำไมเราจึงต้องศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชน ท่านทราบหรือไม่ว่า
1. งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2551 = 301,085 ล้านบาท
งบประมาณจำนวนนี้มีสัดส่วนถึงประมาณ 18% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งประเทศ ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยที่รัฐจัดหามาเพื่อการศึกษาของประชาชน
2. จำนวนนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ณ ปี 2549 = 14,443,776 คน
ประเทศไทยมีประชากรอยู่ราว 65 ล้านคน นักเรียนนักศึกษาที่ส่วนมากยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตใด ๆ แก่สังคม มีจำนวนถึงประมาณ 22% ของประชากรทั้งหมด นี่คืออนาคตของชาติที่ต้องดูแล
3. ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียน นักศึกษา 1 คนต่อปีที่รัฐออกให้ = 20,845 บาท
ตัวเลขในข้อนี้เป็นผลจากการเอาข้อ 1 หารด้วยข้อ 2 นั้นเอง เงินจำนวนนี้มาจากภาษีอากรของประชาชนทั่วประเทศ ที่ออกให้กับประชากรที่เป็นเยาวชนที่ยังไม่เคยเสียภาษีสักบาท โดยหวังว่าเด็กและเยาวชนทั้งหลายจะเติบโต รู้สึกนึกที่จะ คืนกำไร โดยทำตัวเป็นกำลังสำคัญในการรับใช้ประชาชนและประเทศชาติในวันหน้า
4. งบประมาณของ สนง.คณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี 2551 = 69,542 ล้านบาท
นี่เป็นข้อมูลเพื่อที่จะพิจารณาถึงการจัดการศึกษาเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเงินจำนวนนี้สูงถึงประมาณ 23% ของงบประมาณการจัดการศึกษาทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ
5. จำนวนนักศึกษา = 1,950,892 คน
นิสิต นักศึกษาที่เรียนในระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีถึงเกือบ 2 ล้านคน หรือราว 14% ของนักเรียน นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ แต่ใช้เงินถึง 23% ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมดในข้อ 4 การนี้แสดงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้าง ปัญญาชน
6. ค่าใช้จ่ายต่อนักศึกษา 1 คนต่อปีที่รัฐออกให้ = 35,646 บาท
เมื่อนำตัวเลขในข้อ 4 มาหารด้วยข้อ 5 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อคนเป็นเงิน 35,646 บาท มากกว่าของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาโดยรวม
7. ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียน 1 คนต่อปีที่รัฐออกให้ = 18,534 บาท
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น เราจึงสามารถคำนวณได้ว่า เฉพาะส่วนที่เป็นนักเรียนต่ำกว่าปริญญาตรี รัฐบาลออกเงินให้เป็นเงินปีละ 18,534 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายของนักศึกษาระดับปริญญาตรี (35,646 บาท ตามข้อ 6) ขึ้นไปถึงเกือบเท่าตัว
8. ค่าใช้จ่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ 30 กันยายน 2551 = 8,895 ล้านบาท
ในที่นี้ใช้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่ง ณ ปีงบประมาณ 2551 มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 8,895 ล้านบาท
9. จำนวนนิสิตจุฬาฯ ทุกระดับชั้นทั้งหมด ณ ปีการศึกษา 2551 = 33,821 คน
ข้อมูลในส่วนของนักศึกษาพบว่ามีจำนวนนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ณ ปีการศึกษา 2551 จำนวน 33,821 คน ซึ่งถือว่าสูงมากเพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่
10. ค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อนิสิต 1 คน = 262,993 บาท
ในกรณีนี้จึงอาจอนุมานได้ว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อนิสิต 1 คนเป็นเงินสูงถึง 262,993 บาท อย่างไรก็ตามเงินทั้งหมดไม่ได้เป็นเงินที่จัดการศึกษาโดยตรง แต่อาจเป็นค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างอาคาร การพัฒนาอาจารย์หรืออื่น ๆ แต่ในที่นี้อนุโลมใช้ตัวเลขจำนวนนักศึกษามาหารเพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายและชัดเจน เพราะในระบบการศึกษา ถือว่านักศึกษาหรือผู้ใช้บริการคือศูนย์กลาง
11. งบประมาณจากรัฐให้กับจุฬาฯ ณ ปีงบประมาณ 2551 = 3,545 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้จ่ายเงินเฉพาะจากงบประมาณแผ่นดินเพียง 3,545 ล้านบาท แสดงว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากเงินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ซึ่งคงเป็นดอกผลจากค่าบริการวิชาการ ค่าเช่าที่ดิน-อาคาร เช่น มาบุญครอง สยามสแควร์ ฯลฯ เพื่อนำมาสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาในรูปการต่าง ๆ
12. ค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อนิสิต 1 คนที่รัฐออกให้ = 104,828 บาท
จากตัวเลขในข้อ 11 เมื่อนำมาหารด้วยจำนวนนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็แสดงว่าค่าใช้จ่ายของนิสิตจุฬาฯ ในส่วนที่รัฐบาลออกให้โดยตรง เป็นเงินประมาณ 104,828 บาทต่อปี
13. รายได้ของจุฬาฯ จากการจัดการเรียนการสอน ปี 2551 = 2,045 ล้านบาท
จากข้อมูลของจุฬาฯ ระบุว่า รายได้ที่ได้จากการจัดเก็บค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียม ค่าฝึกอบรมและอื่น ๆ จากนักศึกษานั้น เป็นรายได้ส่วนน้อยเพียง 16% ของแหล่งรายได้อื่น ๆ ซึ่งคำนวณได้เป็นเงินประมาณ 2,045 ล้านบาท
14. รายจ่ายที่นิสิตแต่ละคนจ่ายเองต่อปี = 60,451 บาท
จากตัวเลขในข้อ 13 เมื่อถูกหารด้วยจำนวนนิสิตทั้งหมดในจุฬาฯ ตามข้อ 9 ก็จะพบว่า นิสิตเสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเป็นเงิน 60,451 บาทต่อคนต่อปี และนี่เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ย บางสาขาวิชาและบางสถาบันอาจสูงหรือต่ำกว่านี้
จากตัวเลขทั้งหมดข้างต้น จึงอาจสรุปได้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ทางการศึกษานั้นมาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเราจึงควรมุ่งไปที่การรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนนั้น แทบไม่เคยมีใครสอนในสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ นี่แสดงว่าเราขาดการทดแทนคุณต่อประชาชนและประเทศชาติ
แต่บางท่านก็อาจมีข้อสงสัยว่า แล้วพวกที่เรียนสถาบันการศึกษาเอกชน จะถือตนว่าไม่ได้ รับ ประโยชน์จากภาษีของประชาชนจึงไม่ต้องแทนคุณประชาชนหรือไม่ ผมอยากเรียนว่าสถาบันเอกชนก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐในหลาย ๆ กรณี เช่น การอัดฉีดเพื่อพัฒนาอาจารย์ การให้เงินประจำตำแหน่งวิชาการ งบประมาณการวิจัย การกำกับดูแล ฯลฯ เชื่อว่าปีหนึ่ง ๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนก็ได้รับอานิสงส์จากภาษีอากรของประชาชน เป็นเงินไม่น้อยเช่นกัน
เยาวชนไทยจึงควรมาร่วมกันสร้างอุดมการณ์เพื่อชาติด้วยการมุ่งรับใช้ประชาชนเมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด
คงต้องปิดท้ายด้วยเพลง เป้าหมายการศึกษา {ก} ซึ่งแต่งโดยคุณนเรศ นโรปกรณ์ เมื่อราว 35 ปีก่อน ความว่า:
เพียงหวังจะเฟื้องฟุ้ง หรือจะมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา
แท้ควรสหายคิด และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน
หมายเหตุ:
ข้อมูลอ้างอิงตามข้อข้างต้น แสดงเป็นข้อ ๆ ในท้ายนี้:
1. งบประมาณ http://www.bb.go.th/FILEROOM/CABBBIWEBF ... 000038.PDF หน้า 98
2. http://www.moe.go.th/data_stat/Download ... ex2549.xls
4. รายงานประจำปี สนง.คณะกรรมการอุดมศึกษา ปี 2551 www.mua.go.th/data_main/51.pdf หน้า 159
5. http://www.moe.go.th/data_stat/Download ... ex2549.xls
8. รายงานประจำปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chula.ac.th/chula/resources/ ... on/RE8.pdf
9. โปรดดู http://www.chula.ac.th/chula/resources/ ... on/RE4.pdf
11. งบประมาณจากรัฐให้จุฬาฯ http://www.bb.go.th/FILEROOM/CABBBIWEBF ... 000038.PDF หน้า 89
13. รายได้จากการจัดการเรียน = 16% ของรายได้ทั้งหมดของจุฬาฯ http://www.chula.ac.th/chula/resources/ ... on/RE6.pdf
{ก} ครั้งแรกที่เผยแพร่บทความนี้ในประชาไท (http://www.prachatai.com/05web/th/home/15535) ผมเขียนชื่อผู้แต่งผิด ดร.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุลได้แสดงความเห็นทักท้วง จึงโปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/ ... ilightNews และโปรดดูเนื้อเพลงและฟังเพลง เป้าหมายการศึกษา ได้ที่ http://www.purelovenet.com/HTML/Songs/Edu_Life.html
เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
- kornjackrit
- Verified User
- โพสต์: 1524
- ผู้ติดตาม: 0
เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
โพสต์ที่ 2
ขอบคุณสำหรับบทความที่ให้ข้อคิดครับ
เรื่องนี้จริงอย่างยิ่งครับการเรียนเพื่อไปรับใช้ประชาชน เป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษาอย่างแท้จริง แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ก็แทบไม่เคยสำนึกในข้อนี้ แต่อาจกลับทำตัวเป็นอภิสิทธิชน ผู้“รับ”ประโยชน์จากภาษีของประชาชน โดยไม่ได้ “ให้” อะไรเป็นการตอบแทนบุญคุญของประชาชนเลย แถมเมื่อเป็นใหญ่เป็นโต ยังอาจกลับมาปล้นชิงผลประโยชน์ของประชาชน
ด้วยการทุจริตและประพฤติมิชอบเสียอีก
จะว่าไปแล้วผมคิดว่าการเรียนเพื่อรับใช้ประชาชนที่ง่ายที่สุด
และเหมาะสมที่สุดสำหรับนักศึกษา
ก็คือการตั้งใจเรียน และใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาประกอบอาชีพที่สุจริต
และทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
When you become famous, the first thing you should have to remember is not your success story but those who help you along the way.
- PrasertsakK
- Verified User
- โพสต์: 286
- ผู้ติดตาม: 0
Re: เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
โพสต์ที่ 3
ขอบคุณครับสำหรับบทความดี ๆ ที่คัดมาให้
[quote="pornchokchai"]เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
[quote="pornchokchai"]เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
- kornjackrit
- Verified User
- โพสต์: 1524
- ผู้ติดตาม: 0
เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน
โพสต์ที่ 4
ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ที่ระบบการศึกษาเต็มๆเลยครับPrasertsakK เขียน:ผมสงสัยจังว่า จริง ๆ แล้ว การศึกษาของเรานั้นกำลังมุ่งสู่ทางที่ผิดหรือเปล่าครับ
ในมุมมองของผมแล้ว(อย่างน้อยในสมัยผม) มหาลัยก็ไม่ได้สอนให้เราสำนึกถึุงประชาชน หรือ มีคำพูดเท่ ๆ อย่างธรรมศาสตร์ในสมัยก่อน อย่างนี้แล้วเยาวชนรุ่นใหม่จะสามารถตระหนึก
ถึงภาระที่เขาต้องมีต่อประชาชนได้หรือครับ
หรือ จริง ๆ แล้ว เราได้ตั้งความหวังไว้กับระบบการศึกษาของเรามากเกินไปครับ
ถ้าจะบอกว่า ดี หรือ ชั่ว ขึ้นอยู่กับตัวเรา
ผมเห็นด้วยนะครับ เพียงแต่จะมสักกี่คนที่จะรู้จักแยกแยะ
สิ่งที่ดีและสิ่งที่ชั่วได้่ด้วยตัวเอง
เรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว จากสังคม จากประสบการณ์
และที่สำคัญจากการเรียนรู้ ถ้าเราไม่มีการเรียนรู้
เราก็จะแยกไม่ได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี
แน่นอนครับ ถ้าเราให้การศึกษา ให้ความรู้ ความเข้าใจ
ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี แต่เด็กยังไม่สามารถตระหนัก
และรับรู้ได้ อันนั้นก็คงจะต้องแก้ที่ตัวเด็ก
แต่ผมเชื่อว่า เป็นเพราะการระบบการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพมากกกว่า
ที่ทำให้เด็กไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากเข้าเรียน เด็กจึงไม่สามารถแยกได้ว่า
อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
When you become famous, the first thing you should have to remember is not your success story but those who help you along the way.