ที่มาhttp://www.bangkokbiznews.com/2008/12/16/news_320435.phpTSFCล้มละลายบอร์ดประเมินเพิ่มทุนเหลว
ทีเอสเอฟซี ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ หลังจากประเมินผู้ถือหุ้นไม่ใส่เงินเพิ่มทุน 26 ธ.ค.นี้ ด้าน ก.ล.ต. จี้ให้ส่งแผนฟื้นฟู พร้อมเปิดเผยฐานะสินทรัพย์-หนี้สินต่อผู้เกี่ยวข้อง
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (ทีเอสเอฟซี) ได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้มีการเพิ่มทุนภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเห็นว่า อาจมีแนวโน้มที่ผู้ถือหุ้นจะไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
จึงมีมติที่จะดำเนินการเพื่อนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยคณะกรรมการบริษัทเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่สามารถให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ของบริษัทและลดข้อจำกัดในการปรับโครงสร้างทุน ที่บริษัทจะเสนอแผนต่อผู้ถือหุ้นเพื่อลดทุนและเพิ่มทุนเพื่อสะสางผลขาดทุนซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท
ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนพิจารณาแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทแล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนได้เสียของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ ลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงมีมติให้เวลาแก่บริษัทเพื่อจัดทำเอกสารประกอบการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อสำนักงาน ก.ล.ต.โดยให้ส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของ สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่ 12 มกราคม 2552
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีคำสั่งให้ทีเอสเอฟซี เพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 279 ล้านบาท โดยให้จัดส่งหลักฐานเป็นหนังสือที่แสดงว่ามีผู้ถือหุ้นแสดงเจตนาแบบไม่มีเงื่อนไขที่จะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2551 พร้อมสั่งห้ามขยายกิจการและลงทุนเพิ่มเติมในตราสารที่มีความเสี่ยง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่าจากการที่ บอร์ดทีเอสเอฟซี ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทมีปัญหาด้านฐานะการเงินอย่างร้ายแรง ถึงขั้นมีมติให้ทีเอสเอฟซี ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก.ล.ต. เห็นว่าทีเอสเอฟซี ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลฐานะการเงินของบริษัทที่เป็นปัจจุบันที่แสดงถึงสินทรัพย์แต่ละประเภทตามราคาตลาดและหนี้สินให้เจ้าหนี้และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทันทีเพื่อที่บุคคลเหล่านี้จะสามารถตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
แหล่งข่าวโบรกเกอร์กล่าวว่า การที่ทีเอสเอฟซีตัดสินใจขอเข้ากระบวนการฟื้นฟู เพราะประเมินแล้วว่าคงเพิ่มทุนไม่สำเร็จ โบรกเกอร์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน ทีเอสเอฟซี หลายบริษัทไม่ต้องการที่จะใส่เงินเพิ่มทุน แต่มีข้อเสนอที่จะรับซื้อหนี้มาร์จินในส่วนที่ลูกค้าแต่ละโบรกเกอร์กลับไปบริหารเอง ขณะที่กระทรวงการคลังและกองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูสถาบันการเงิน เท่าที่ทราบทั้งสองหน่วยงานใส่เงินเพิ่มทุนเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นหลักของทีเอสเอฟซี คือ คลัง 10.734% ธนาคารทหารไทย 6.7% ธนาคารไทยธนาคาร 6.6 % ธนาคารกรุงไทย 6.1% ธนาคารออมสิน 5% ตลาดหลักทรัพย์ 5 % ธนาคารนครหลวงไทย 2.2% ธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น 9.3% กองทุนฟื้นฟู 28.69% และบล.-บง. 19.5 %
แต่ลูกหนี้คงไม่กระทบมากมั๊ง
ต่อไปคงต้องแก้หลักการปล่อยกู้ให้ยากขึ้น รัดกุมขึ้น
ปล.ผมไม่เคยใช้มาร์จิ้นเลยเพราะกลัว เลยไม่ค่อยรู้รายละเอียดการใช้วงเงิน