ธปท.: รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2551
Posted on Friday, August 29, 2008
ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูง สำหรับเครื่องชี้ด้านอุปทาน ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวขึ้น ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวดีใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง
เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.9 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ทั้งนี้ การผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ หมวดอาหารและผลิตภัณฑ์ สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 71.9 ลดลงจากร้อยละ 73.1 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับฤดูกาลแล้วใกล้เคียงกับเดือนก่อน
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเร่งตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ เป็นสำคัญ
3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 124.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.6 โดยเพิ่มขึ้นจากรายได้ภาษีเป็นสำคัญ โดยรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ตามการขยายตัวของเกือบทุกฐานภาษี โดยเฉพาะภาษีฐานการบริโภค เพิ่มขึ้นตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามการนำเข้าและราคาสินค้าในประเทศที่สูงขึ้น ส่วนภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากภาษีสุราเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้ผลิตคาดว่าจะมีการปรับขึ้นเพดานอัตราภาษีสุราจึงเร่งผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะลดลงต่อเนื่องจากผลของมาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีธุรกรรมของสถาบันการเงินที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง สำหรับดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุล 31.2 พันล้านบาท โดยมีการชำระคืนเงินกู้สุทธิ 30.5 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนลดลง 61.7 พันล้านบาท อยู่ที่ 127.2 พันล้านบาท
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า ขาดดุล 762 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาก แม้ว่าการส่งออกจะยังขยายตัวในเกณฑ์สูง การส่งออกมีมูลค่า 16,787 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 43.9 จากด้านปริมาณเป็นสำคัญ โดยหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกข้าวและยางพารา สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่วนหนึ่งมีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 17,550 ดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 53.4 เร่งตัวขึ้นตามปริมารการนำเข้า ขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยปริมาณขยายตัวเร่งขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าทุน สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันที่ปิดซ่อมบำรุงกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งมีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียม (LPG) เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการนำไปใช้ในรถยนต์
จากดุลการค้าที่ขาดดุล เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล 208 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 555 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ จากข้อมูลเร็วเบื้องต้น เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ1/ เดือนกรกฎาคม 2551 ขาดดุลสุทธิ 1,799 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่จากการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งของต่างชาติและคนไทย ทำให้โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล 680 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 104.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 16.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ตามราคาในหมวดอาหารสดและพลังงาน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงปลายเดือนตามราคาในตลาดโลกและนโยบายลดภาษีสรรพสามิตของรัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาในหมวดที่ไม่ใช่พลังงานและอาหารสด โดยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารบริโภคใน-นอกบ้าน ค่าที่พักอาศัย และค่าโดยสารสาธารณะ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 21.2 จากการปรับสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน2/ (Depository Corporations) ลดลงร้อยละ 1.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินจะขยายตัวร้อยละ 1.8 สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.3 เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ
ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) หดตัวร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมการออกตั๋วแลกเงินโดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากรวมการออกตั๋วแลกเงินจะขยายตัวร้อยละ 2.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.38 และ 3.35 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551
ในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.50 และ 3.49 ต่อปีตามลำดับ
7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนกรกฎาคม 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 33.50 ต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากความต้องการซื้อดอลลาร์ สรอ. ของผู้นำเข้าโดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง และจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ สรอ. และยูโร ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนตัวลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 76.76 มาอยู่ที่ระดับ 75.68
ในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2551 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยมาเฉลี่ยอยู่ที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้ายังซื้อดอลลาร์ สรอ. ต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 สิงหาคม 2551
ข้อมูลเพิ่มเติม : พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639
e-mail: [email protected]
1/ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้นซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป
2/ สถาบันรับฝากเงิน หมายถึง สถาบันรับฝากเงินทุกประเภท ยกเว้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันยังไม่นับรวมสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds)
Posted on Friday, August 29, 2008 (Archive on Friday, September 05, 2008)
Posted by suchitra Contributed by suchitra
ธปท.: รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2551
-
- Verified User
- โพสต์: 1808
- ผู้ติดตาม: 0
ธปท.: รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2551
โพสต์ที่ 1
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/
- กล้วยไม้ขาว
- Verified User
- โพสต์: 1074
- ผู้ติดตาม: 0
ธปท.: รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2551
โพสต์ที่ 2
ขอบคุณครับ :D