การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
-
beammy
- Verified User
- โพสต์: 3345
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
"สมชาย"เสนอ 6 มาตรการเป็นทางเลือกให้"คลัง-ธปท." ตัดสินใจดูแลค่าเงินบาท หลังยกเลิกมาตการกันสำรอง 30% คาดค่าเงินอาจทะลุ 31 บาทดอลลาร์สหรัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกควรมีมาตรการรองรับการแข็งค่าของเงินบาท เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยอาจจะเห็นเงินบาทที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างรุนแรง เพราะการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้พบสัญญาณการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ จากการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย เพื่อรอเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมั่นใจว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก
ทั้งนี้ ดร.สมชาย ได้เสนอมาตรการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยสามารถทำได้ 6 แนวทาง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ว่า จะให้น้ำหนักกับเรื่องใด มาตรการแรก คือ การลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลง อย่างน้อยร้อยละ 0.5 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งจะลดแรงจูงใจสำหรับการไหลเข้าของเงินทุน แต่ก็จะมีผลต่อนโยบายดอกเบี้ยควบคุมเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง
มาตรการที่ 2 คือ การเข้าแทรกแซงของ ธปท. ด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจน ธปท. ต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง มาตรการที่ 3 คือ การส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้เงินไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท มาตรการที่ 4 คือ การเก็บภาษีขาออกสำหรับกำไรของเงินทุนระยะสั้นของต่างชาติ ซึ่งเห็นว่า หากจะใช้มาตรการนี้ ควรใช้มาตั้งแต่แรก
มาตรการที่ 5 คือ การหันกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน แบบตะกร้าเงิน แต่ขยายช่วงการเคลื่อนไหวของเงินบาทให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างแน่นอน และมาตรการที่ 6 คือ การกำหนดให้เงินทุนต่างชาติที่เข้าไทย ต้องซื้อประกันความเสี่ยงเต็มจำนวน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำธุรกิจและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
ดร.สมชาย กล่าวว่า การจะใช้มาตรการใดจะต้องถูกต้องตามจังหวะเวลา โดย ธปท.อาจจะต้องยอมให้เงินบาทแข็งค่าตามกลไกตลาดในระยะแรก และหลังจากนั้นจึงออกมาตรการเสริม เพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะยาว
ทุกมาตรการที่เสนอ มีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับว่า ธปท.และกระทรวงการคลัง จะให้น้ำหนักกับเรื่องใดมากกว่า รวมทั้งต้องเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย นายสมชายกล่าว