สาเหตุของวิกฤตการณ์ของเม็กซิโก ปี 1994-1995: บทเรียนที่มีค่า

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

สาเหตุของวิกฤตการณ์ของเม็กซิโก ปี 1994-1995: บทเรียนที่มีค่า

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สาเหตุของวิกฤตการณ์ของเม็กซิโก ปี 1994-1995: บทเรียนที่มีค่า
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
โดย สมบูรณ์ ศิริประชัย
มติชน วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10917

ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อปี 1997 ที่ได้ลุกลามไปประเทศอื่นๆ นั้น วิกฤตการณ์ที่น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญคือวิกฤตการณ์ของเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1994-1995 แต่บทเรียนทางประวัติศาสตร์จำนวนมากมักมิได้มีการเรียนรู้ เพราะมีความเชื่อว่า ตนเองสามารถจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ และบทเรียนเหล่านั้นไม่ได้มีคุณค่าใดๆ อย่างไรก็ตาม ในบทสั้นๆ นี้จะชี้ให้เห็นว่าถ้าหากเจ้าหน้าที่ของไทยได้เรียนรู้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในสวีเดน และเม็กซิโกแล้ว วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ หรือความรุนแรงอาจลดน้อยลงก็เป็นได้ ผลของวิกฤตการณ์ในเม็กซิโกในเดือนธันวาคม 1994 ได้ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อวงการวิชาการในขณะนั้น ในแง่ที่ว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่มีขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศต้องเข้าช่วยเหลือ แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศน่าจะช่วยให้เร็วกว่านี้ การเข้าใจวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกจึงมีความสำคัญ เพราะถ้าเราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดต่างๆ เราก็น่าจะหาทางป้องกันมิให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แม้ว่าจะมีผู้กล่าวว่า วิกฤตการณ์ในเม็กซิโกมีลักษณะจำเพาะของประเทศ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาและการศึกษานี้จะชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการณ์เช่นนี้อาจเกิดซ้ำขึ้นได้ และบทเรียนนี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะวิกฤตการณ์ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเพียง 2 ปี ให้หลัง ชี้อย่างกระจ่างชัดว่าวิกฤตการณ์ของเม็กซิโกมิใช่ลักษณะจำเพาะ บทเรียนของเม็กซิโกน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ซึ่งกำลังเกิดวิกฤตการณ์ของสินเชื่อด้อยคุณภาพของที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกว่า "Hamberger effect"

สาเหตุของวิกฤตการณ์นี้มีการอธิบายด้วยหลายทฤษฎี ลักษณะทั่วไปของวิกฤตการณ์นี้มีส่วนที่น่าจะกล่าวถึงหลายประการ กล่าวคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนที่สูงมากเกือบ 8% ของ GDP ในปี 1993 และ 1994 ซึ่งความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากนี้ทำได้ก็เพราะมีเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้าไปในเม็กซิโก ซึ่งปัญหานี้ เห็นได้ชัดว่า เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ทางการเงินของเม็กซิโกต้องการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ไว้ ยิ่งกว่านั้น เราอาจไม่แปลกใจว่า การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เป็นความตั้งใจที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าเป็นการลดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีปัญหาข้างเคียง นั่นคือ อัตราแลกเปลี่ยนจะมีค่าที่สูงเกินจริงไป (Overvalued exchange rate) ยิ่งกว่านั้น วิกฤตการณ์ของเม็กซิโกมีที่มาจากการที่รัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในสัดส่วนที่สูงเกินไป หนี้ต่างประเทศระยะสั้นนี้อยู่ในมือของ Non-residents มากเกินไป หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐบาลกลับปล่อยให้หนี้ของรัฐบาลอยู่ในรูปของหนี้เป็นเงินเหรียญของสหรัฐมากเกินไป ซึ่งทำให้สถานการณ์ของเศรษฐกิจยิ่งทวีความเลวร้ายขึ้นไปอีก อย่างที่กล่าวมาแล้ว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดนี้ ยิ่งถูกกระทบกระเทือนมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างทันทีทันใด เพื่อให้เห็นภาพการก่อตัวของวิกฤตการณ์ในเม็กซิโก เราควรเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ตั้งแต่ ปี 1998 จนก่อนถึงวิกฤตการณ์ในปี 1994

ตามการวิเคราะห์ของ Jeffrey Sachs และสหาย มีความเห็นว่า วิกฤตการณ์ของเม็กซิโกนั้น มีลักษณะเป็น Self-fulfilling panic มากกว่าที่จะเกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็เพราะในเดือนธันวาคม 1994 เม็กซิโกตกอยู่ในภาวะวิกฤต เมื่อนักลงทุนต่างชาติต้องการนำเงินออกนอกประเทศ ทั้งทุนหลักทรัพย์ของเม็กซิโกยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ นอกจากนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังมีค่า Undervalue บวกกับตัวชี้ทางการเงินล้วน แต่สะท้อนว่าเม็กซิโกเกิดปัญหา Solvency ในระยะยาว เมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนต่างชาติต่างหวาดผวาจะเกิดภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ค่าเงินเปโซจะไม่มีทางรักษาค่าเหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดภาวะโกลาหลขึ้น (Panic) ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะเป็น Self-fulfilling panic ที่แฝงความจริงว่า รัฐบาลเม็กซิโกมีหนี้สินระยะสั้นจำนวนมากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ ปัญหาใหญ่ที่เผชิญหน้าเม็กซิโกในขณะนั้นก็คือ ในปี 1993 และต้นปี 1994 รัฐบาลได้กู้เงินธนาคารต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 6.8 ของ GDP ในปี 1993 และถึงระดับ 8% ในปี 1994 ในทางทฤษฎี การเกิดวิกฤตการณ์นี้อาจป้องกันได้ ถ้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากเพียงพอและรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐจำนวนน้อย การแก้ไขเศรษฐกิจอาจทำได้ง่ายขึ้น โดยการเข้มงวดผ่านนโยบายการคลังและการเงิน รวมถึงการแก้ไขอัตราแลกเปลี่ยน แต่เพราะเกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจขึ้น วิกฤตการณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ตามทรรศนะของ Sachs และสหาย วิกฤตการณ์ของเม็กซิโก ไม่เหมือนวิกฤตการณ์ในละตินอเมริกาประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะมิได้เกิดจากความไม่รับผิดชอบในนโยบายการคลังแต่ประการใด แท้ที่จริง รัฐบาลเม็กซิกันดำเนินนโยบายการคลังแบบสมดุล ทั้งยังมีงบประมาณเกินดุลในปี 1990-1994 ถ้ารัฐบาลเม็กซิกันได้ดำเนินนโยบายที่เข้มงวด ทั้งนโยบายการคลังและการเงิน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลก็คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเม็กซิโกมีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมากนี้ดำเนินการโดยภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นการขาดดุลแบบแอบแฝง (Hidden deficits) แม้ว่าจักมีขนาดไม่ใหญ่มากนักก็ตาม แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายขึ้น เมื่อภาครัฐบาลยอมจะ Sterilize ผลกระทบของการเงินจากเงินทุนไหลเข้า โดยการออกตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-term securities) ซึ่งในตอนแรกเป็นเงินเปโซ แต่ต่อมาก็เป็นเงินเหรียญสหรัฐ

ความจริงแล้ว การที่เม็กซิโกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตการณ์นั้นมีผลมาจากภาวะ Illiquidity เมื่อตอนสิ้นปี 1994 นั่นเอง ซึ่งผลที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ การเกิดอย่างไม่คาดคิดว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Calosio ถูกสังหารในเดือนมีนาคม 1994 ณ ตอนนั้น ค่าเงินของเม็กซิกันต้องมีค่าลดลงประมาณ 10% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นประมาณ 7 Percentage point เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเม็กซิกันยังคงเปิดให้มีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่รักษาอัตราดอกเบี้ยคงเดิม แต่แทนที่จะปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้ขยายสินเชื่อภายในประเทศ และแปลงหนี้สินของรัฐบาลที่เป็นเงินเปโซ (Cetes) ให้เป็นเงินเหรียญสหรัฐ อยู่ในรูปที่เป็นพันธบัตรของรัฐบาล (Tesobonos) ผลก็คือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดลง และมีหนี้สาธารณะระยะสั้นที่อยู่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่แปลกใจว่า รัฐบาลเม็กซิโกจึงต้องเผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก (Illiquidity) และต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า การเกิด Shock ในแง่ลบนั้น มิได้หมายความว่าจะนำไปสู่การเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะทางการของเม็กซิโกอาจแก้ไขปัญหานี้โดยการใช้นโยบายการเงินการคลังอย่างเข้มงวดขึ้น หรือปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น แต่ก็มีเหตุผลที่สามารถนำมาหักล้างได้ว่า ทางการเม็กซิโกเลือกที่จะไม่ใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเกรงว่า ธนาคารที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจะประสบภาวะล้มละลาย แต่เหตุผลหลักที่กดดันรัฐบาลเม็กซิกันในขณะนั้น มิให้ประกาศลดค่าเงินก็เพราะความหวั่นเกรงว่า จะสูญเสียความน่าเชื่อถือ (Credibility) และความกลัวที่ประชาชนจะไม่พอใจ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม 1994 แต่สถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 1994 รัฐบาลเม็กซิกันก็ไม่อาจทานแรงกดดันต่างๆ ได้ ต้องประกาศลดค่าเงินเปโซลง

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั้งหลาย วิกฤตการณ์ในเม็กซิโกนั้นมีสาเหตุมาจากหลายประการ แต่ที่มีการกล่าวถึงมากนั้นมีที่มาจากสองคำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ในเดือนธันวาคม 1994 จึงเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้น นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Sachs และสหายเชื่อว่า เหตุผลประการแรกมาจากการคาดการณ์ของนักเก็งกำไร เพราะมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลเม็กซิกันต้องประกาศลดค่าเงินอย่างแน่นอน (Devaluation) ไม่ช้าก็เร็ว ยิ่งกว่านั้น ยังมีความหวั่นวิตกอย่างรุนแรงจนกลายเป็นความระส่ำระสาย (Panic) ในแง่สถานะทางการเงินของหนี้สาธารณะของรัฐบาล แท้ที่จริงคำอธิบายนี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นการอธิบายในแนวทางของการโจมตีค่าเงินตราต่างประเทศของนักเก็งกำไร ทั้งนี้ ก็เพราะนักเก็งกำไรสามารถคาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลเม็กซิกันเริ่มสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ เพราะว่ามีการขยายสินเชื่อเกินขนาด จนทำให้ฐานะของเงินสำรองระหว่างประเทศมีน้อยลงอย่างมาก จนทำให้นักเก็งกำไรเข้าโจมตีค่าเงินเปโซ คำอธิบายแรกนี้ ให้ความสำคัญกับบทบาทของนักเก็งกำไรค่อนข้างมาก โดยมิได้พิจารณาบทบาทของธนาคารกลางเท่าที่ควร เหตุผลประการที่สอง นั้นเป็นคำอธิบายที่อยู่นอกกรอบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กล่าวคือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่มาจากปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) หากแต่เกิดจากสิ่งที่คาดไม่ถึง (Unexpected) เพราะเหตุการณ์ระหว่างการลดค่าเงินกับความระส่ำระสายทางการเงินไม่ใช่เหตุการณ์เดียวกัน เพราะถ้ามีการลดค่าเงินก่อนก็อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่นี้ รัฐบาลเม็กซิกันอาจยืมเงินจากต่างประเทศได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม แม้ว่าการกู้ยืมเงินนี้อาจมีต้นทุนที่สูงมากก็ตาม แต่ในที่สุด รัฐบาลเม็กซิกันก็ต้องจำยอมลดค่าเงิน แทนที่จะปกป้องค่าเงินเปโซอีกต่อไป เพราะเหตุว่าการกระทำเช่นนี้จะมีต้นทุนมหาศาล ในแง่ที่ว่าอัตราดอกเบี้ยต้องปรับให้สูงขึ้นอย่างมาก และอาจนำเศรษฐกิจไปสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น การลดค่าเงินจึงเป็นการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ทั้งหมด และทำให้เกิดปรากฏการณ์ Self-fulfilling panic ในตลาดหลักทรัพย์ของรัฐบาล ในแง่นี้นักลงทุนในขณะนั้นต่างก็ตระหนักว่า ถ้าตนเองหยุดปล่อยเงินให้แก่รัฐบาลเม็กซิกัน รัฐบาลก็ไม่สามารถจะใช้หนี้สาธารณะได้ โดยเฉพาะพันธบัตรที่คิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐ (Tesobonos) ตามการวิเคราะห์ของ Sachs และสหายจึงสรุปว่า เมื่อนักลงทุนไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้ ทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือการถอนเงินคืน เมื่อมีนักลงทุนเริ่มถอนเงินออกจากเม็กซิโก นักลงทุนรายอื่นๆ ก็เริ่มถอนเงินคืนตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความระส่ำระสายทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะรัฐบาลเม็กซิกันไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ เมื่อสิ้นปี 1994 นักเศรษฐศาสตร์จาก Harvard กลุ่มนี้เชื่อว่า คำอธิบายที่สองมีน้ำหนักมากกว่าคำอธิบายแรก เพราะสามารถอธิบายวิกฤตการณ์ของเม็กซิโกได้ดีกว่า ในแง่ที่ว่า แม้ว่าเม็กซิโกจักมีปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราสูง และต่างชาติเริ่มลดการให้กู้ยืมลงก็ตาม จนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลง แต่สถานการณ์เช่นนี้ อาจไม่จำเป็นต้องนำไปสู่วิกฤตการณ์ ถ้ารัฐบาลเม็กซิโกสามารถได้รับเงินกู้ยืมจากต่างประเทศได้ทันเวลา แต่การที่เงินเปโซของเม็กซิกันต้องประสบกับ Panic นั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่เกิดความระส่ำระสายเอง จนทำให้เกิดภาวะล้มละลาย แม้ว่า รัฐบาลอเมริกันและกองทุนการเงินระหว่างประเทศจักให้เงินกู้จำนวน 52 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤต และสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา แต่เงินช่วยเหลือนี้ก็มาไม่ทันกาล จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นแล้ว

บทเรียนที่ได้รับก็คือ โครงการความช่วยเหลือในรูปของ Bail out นี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เพราะเท่ากับเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลเม็กซิโกให้ทำผิดพลาดไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาของวิกฤตการณ์ในเม็กซิโกน่าจะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การหลีกเลี่ยงมิให้เกิดวิกฤตการณ์นี้ จึงควรพิจารณาที่สาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตการณ์มากกว่าพยายามจะช่วยเหลือโดยมิได้แก้ปัญหาที่แก่นของปัญหา อย่างไรก็ตามเราควรเข้าใจด้วยว่า วิกฤตการณ์ของเม็กซิโกทำให้เศรษฐกิจเม็กซิโกต้องเผชิญกับต้นทุนจำนวนมหาศาล ความเจริญเติบโตลดลงประมาณ 7% ในปี 1995 การบริโภคลดลงมากกว่า 17% ในขณะที่การลงทุนลดลง 30% สิ่งที่เป็นบทเรียนในกรณีของเม็กซิโกก็คือ เราควรเข้าใจถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้ถ่องแท้และหลีกเลี่ยงการเปิดตลาดการเงินเสรี โดยไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจภายในให้พร้อมก่อนเปิดตลาดการเงินเสรี นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Griftish-Jones กล่าวไว้ชัดเจนว่า มีข้อสรุปที่ควรระมัดระวังไว้ 4 ข้อใหญ่ คือ

ประการแรก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรังนั้น ควรเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 1 ปีหรือ 2 ปี แต่ก็มีปัญหาว่าระดับการขาดดุลที่ยั่งยืนควรจะเป็นกี่ปี แต่อย่างน้อยรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรปล่อยให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากติดต่อกัน ข้อสรุปง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 5% ต่อปี ระดับของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ควรเกิน 3-4% ของ GDP ยกเว้นในกรณีที่ประเทศที่มีระดับความเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดขึ้นเพราะนำมาลงทุนมิใช่ใช้เพื่อการบริโภค ยิ่งกว่านั้นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดควรเป็นการ finance โดยเงินทุนระยะยาวที่ไหลเข้ามามิใช่เงินทุนระยะสั้น อย่างที่เกิดในเม็กซิโกหรือสวีเดน

ประการที่สอง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อาจไม่เหมาะสม เพราะแม้ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อาจใช้เพื่อการแก้ไขอัตราเงินเฟ้อได้ผล แต่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มีความเปราะบางที่จะถูกโจมตีจากนักเก็งกำไร เพราะอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มักถูกกำหนดให้มีค่าสูงกว่าความเป็นจริง (Overvaluation) เหมือนที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกในช่วงปี 1992-1994 ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะได้รับการควบคุม แต่ก็อาจเป็นตัวปัญหาให้เกิดวิกฤตการณ์ได้ เมื่อมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อาจไม่เหมาะสมในการจัดการกับปรากฏการณ์ใหม่นี้

ประการที่สาม การจัดการกับภาระหนี้สาธารณะ ในกรณีของเม็กซิโกเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในการจัดการกับสต๊อคของหนี้สาธารณะ เพราะมีการโอนหนี้ที่เป็นเงินเปโซให้กลายเป็นหนี้ที่ถือในสกุลเหรียญสหรัฐ (Tesobonos) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่

ประการที่สี่ ในแง่หลักเกณฑ์ของเศรษฐกิจมหภาค ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดอาจจำเป็นต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากกว่าในอดีต อันเนื่องมาจากความอ่อนไหวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็วก็อาจก่อให้เกิดการโจมตีค่าเงินของตนเอง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีเม็กซิโกและประเทศไทย ปัญหาใหญ่ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องคำนึงถึงมากในขณะนี้ก็คือ ตลาดการเงินระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะภาคการเงินระหว่างประเทศที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งก็คือการนำเงินทุนระยะสั้นเข้าประเทศ เพราะมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น

กล่าวโดยสรุป การเปิดการเงินเสรีอย่างรวดเร็วตามแนวทางนโยบายเสรีนิยมแบบใหม่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง แต่ควรกระทำอย่างมีขั้นมีตอน และมีการสร้างสถาบันที่เข้มแข็งไว้คอยรองรับการเปิดการเงินเสรีเสมอ เพราะเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ไหลท่วมท้นเข้ามาสามารถก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ได้โดยง่าย ถ้าระบบการตรวจสอบและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและสถาบันการเงินมิได้มีระบบที่มั่นคงและน่าเชื่อถือพอ (Prudential regulation) ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก เพราะตลาดการเงินมิใช่เหมือนตลาดสินค้าทั่วไป ปัญหาความไม่สมมาตรของสารสนเทศสามารถนำไปสู่ Adverse Selection และ Moral Hazard และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ของสถาบันการเงินได้โดยไม่ยาก การปล่อยกู้อย่างขาดความระมัดระวังนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก และเมื่อหนี้เสียนั้นใช้เงินทุนจากต่างประเทศในการปล่อยกู้ ซึ่งกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคาร และวิกฤตการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนในที่สุด

หน้า 6
+++++++++++++++++++++++++++++++

อาจจะอ่านหนังสือ "ห้องยุทธการ"เสริม
แนะนำไว้ในห้อง ร้อยคนร้อยเล่ม
เป็นนิยายอิงเหตุการณ์ก่อนประกาศลดค่าเงินบาท
มีย้อนเวลาไปถึงเหตุวิกฤติการเงินในเม็กซิโก
โพสต์โพสต์