จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
humdrum
Verified User
โพสต์: 1961
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 1

โพสต์

รูปภาพ


ไฟแนนเชียลไทมส์ จอร์จ โซรอส พ่อมดทางการเงินที่เคยป่วนค่าเงินบาทจนเศรษฐกิจไทยพังยับ และนำไปสู่วิกฤตทางการเงินทั่วเอเชียในปี 1996 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวานนี้(23) ระบุว่า วิกฤตในตลาดการเงินโลกเวลานี้ เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุด ในรอบ 60 ปี
     
      บทความที่ใช้ชื่อว่า The Worst Market Crisis in 60 Years ของโซรอส มีเนื้อหาดังต่อไปนี้:
     
      วิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ถูกเร่งให้บังเกิดขึ้นโดยฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในบางแง่มุมแล้วมันก็คล้ายคลึงกับวิกฤตครั้งอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่มีช่วงเวลาเว้นวรรคอยู่ระหว่าง 4 ถึง 10 ปี
     
      อย่างไรก็ตาม มันก็มีความแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งด้วย กล่าวคือ วิกฤตในปัจจุบันเป็นหลักหมายแสดงถึงการสิ้นสุดของยุคแห่งการขยายตัวทางสินเชื่อที่อิงอาศัยเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินตราสำรองระหว่างประเทศ วิกฤตซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอันมีภาวะเฟื่องฟู-ฟุบแฟบวนเวียนไป ขณะที่วิกฤตในปัจจุบันคือการสั่งสมของภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษ ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 60 ปีแล้ว
     
      กระบวนการอันมีภาวะเฟื่องฟู-ฟุบแฟบวนเวียนไป ปกติแล้วจะเกิดขึ้นรอบๆ ภาวะสินเชื่อ และมักจะเกี่ยวข้องกับความโน้มเอียงหรือการมองปัญหาอย่างผิดพลาดทางใดทางหนึ่ง โดยมักจะเป็นความล้มเหลวไม่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันแบบสะท้อนกลับไปกลับมาและหมุนเวียนกัน ระหว่างความประสงค์ที่จะให้กู้ และมูลค่าของหลักประกัน การผ่อนคลายสินเชื่อคือการก่อให้เกิดความต้องการที่จะผลักดันให้มูลค่าของทรัพย์สินสูงขึ้น ซึ่งในทางกลับกันก็เป็นการเพิ่มปริมาณสินเชื่อที่จะสามารถหากู้ได้ไปด้วย ฟองสบู่นั้นเริ่มต้นเมื่อผู้คนไปซื้อบ้านด้วยความคาดหมายว่าพวกเขาสามารถที่จะรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของพวกเขาได้โดยที่จะยังมีกำไรด้วย ภาวะเฟื่องฟูของภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯในช่วงไม่นานมานี้คือกรณีตัวอย่างของสิ่งที่กล่าวมานี้ สำหรับภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษที่ดำเนินมา 60 ปีนั้น เป็นกรณีที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่า
     
      ทุกๆ ครั้งที่การขยายสินเชื่อบังเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมา พวกผู้มีอำนาจทางการเงินก็จะเข้าไปแทรกแซง มีการอัดฉีดสภาพคล่องและหาวิถีทางอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระทำเช่นนั้นเป็นการสร้างระบบแห่งแรงจูงใจอันไม่สมมาตร หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า moral hazard (แนวโน้มที่หากมั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้พ้นภัย ผู้คนก็มักประมาทไม่ใส่ใจในภัยนั้นๆ เช่น ถ้าแน่ใจว่าหากประสบปัญหา อย่างไรเสียแบงก์ชาติต้องเข้ามาช่วย ธนาคารพาณิชย์ก็อาจปล่อยกู้แบบไม่ตรวจสอบฐานะลูกค้าให้รอบคอบ ผู้แปล) ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้มีการขยายสินเชื่อกันออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ระบบดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนกระทั่งผู้คนถึงกับเกิดความเชื่อขึ้นมา ในสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯเรีกว่า มนตร์มหัศจรรย์ของตลาด และผมขอเรียกว่า ลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาด (market fundamentalism) พวกนักลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาดนั้นเชื่อว่า ตลาดมีความโน้มเอียงที่จะไปสู่ความสมดุล และวิธีดีที่สุดในการก่อให้เกิดผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็คือการปล่อยให้ผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง มันเป็นการมองปัญหาอย่างผิดพลาดที่ชัดเจนมากทีเดียว เนื่องจากเป็นเพราะการเข้าแทรกแซงของทางการผู้มีอำนาจต่างหาก ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตลาดการเงินพังทลาย หาใช่เป็นเพราะตัวตลาดเองไม่ กระนั้นก็ตามที ลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาด ก็ปรากฏตัวกลายเป็นอุดมการณ์ที่มีฐานะครอบงำในช่วงทศวรรษ 1980 อันเป็นเวลาที่ตลาดการเงินต่างๆ เริ่มเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ และสหรัฐฯก็เริ่มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
     
      โลกาภิวัตน์เปิดทางให้สหรัฐฯสามารถดูดกลืนเงินออมที่มีอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลก และบริโภคมากกว่าที่ตัวเองผลิตได้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯสูงถึงระดับ 6.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแล้วในปี 2006 ทางด้านตลาดการเงินก็ส่งเสริมผู้บริโภคให้กู้ยืม ด้วยการออกเครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะสลับซับซ้อนมากขึ้น และด้วยการเสนอเงื่อนไขแบบเอื้อเฟื้อยิ่งขึ้น ทางการผู้มีอำนาจก็ไปช่วยเหลือและสนับสนุนกระบวนการเช่นนี้ ด้วยการเข้าไปแทรกแซงเมื่อใดก็ตามที่ระบบการเงินทั่วโลกบังเกิดภยันตราย นับตั้งแต่ปี 1980 ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหายไปหมดแล้วในทางปฏิบัติ
     
      ภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษไปไกลถึงขั้นควบคุมไม่ได้ เมื่อพวกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีความซับซ้อนเสียจนกระทั่งทางการผู้มีอำนาจไม่สามารถคำนวณความเสี่ยงได้อีกต่อไป และเริ่มหันไปพึ่งพาอาศัยวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงของพวกธนาคารผู้ออกผลิตภัณฑ์เอง ทำนองเดียวกัน พวกบริษัทเครดิตเรตติ้งก็ไปพึ่งพาอาศัยข้อมูลซึ่งจัดส่งให้โดยพวกที่เป็นต้นแหล่งของผลิตภัณฑ์แปลงรูปเหล่านี้ มันเป็นการสละละทิ้งความรับผิดชอบที่น่าตระหนกตกใจยิ่ง
     
      ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถผิดพลาดได้ต่างก็เกิดความผิดพลาดไปเสียทั้งนั้น สิ่งที่ตอนเริ่มต้นเป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์ ก็กระจายตัวกลายเป็นพวกตราสารหนี้collateralized debt obligation (CDOs) ทั้งหลาย, ก่อให้เกิดอันตรายแก่เหล่าบริษัทที่รับประกันและรับประกันต่อ พวกตราสารหนี้เทศบาลและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์, ตลอดจนคุกคามที่จะทำลายตลาดตราสารอนุพันธ์ เครดิต ดีฟอลต์ สว็อป มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ คำมั่นสัญญาของพวกวาณิชธนกิจที่จะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ต้องการซื้อกิจการ ได้กลับกลายเป็นภาระหนี้สินของวาณิชธนกิจเหล่านั้น พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มุ่งออกแบบให้สามารถทำกำไรได้สม่ำเสมอไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถทำกำไรสม่ำเสมอดังกล่าวได้ และต้องล้มเลิกกองทุนไป ตลาดตราสารทางการเงินระยะสั้นที่อิงกับสินทรัพย์ ตกอยู่ในสภาพชะงักงัน และเครื่องมือเพื่อการลงทุนพิเศษ (SIVs) ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารต่างๆ เพื่อเอาสินเชื่ออันอิงกับอสังหาริมทรัพย์ ออกไปจากงบดุลของพวกเขา ก็ไม่สามารถกันให้ออกไนอกพันธะของพวกเขาได้อีกต่อไป แล้วแรงตีกระหน่ำครั้งสุดท้ายก็มาถึง เมื่อการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องหัวใจของระบบการเงิน เกิดความระส่ำระสาย เพราะบรรดาธนาคารต้องควบคุมดูแลทรัพยากรของพวกเขา และไม่สามารถไว้วางใจคู่สัญญาที่มาติดต่อทำสัญญากับพวกเขาได้ บรรดาธนาคารกลางจึงต้องอัดฉีดเงินในปริมาณสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งต้องขยายสินเชื่อให้แก่สถาบันต่างๆ อย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยรับหลักประกันเป็นหลักทรัพย์อันกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นทำให้วิกฤตคราวนี้มีความร้ายแรงยิ่งกว่าครั้งใดๆ นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
     
      การขยายสินเชื่อเมื่อถึงเวลานี้ ก็จะต้องติดตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งการหดตัวเสียแล้ว เนื่องจากเครื่องมือและวิธีปฏิบัติทางด้านสินเชื่อใหม่ๆ บางเครื่องมือและบางวิธี ไม่ได้แข็งแรงหนักแน่น และก็ไม่มีความยั่งยืน ความสามารถของทางการผู้มีอำนาจด้านการเงิน ที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกจำกัดตึงตัวจากการที่ส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ปรารถนาที่จะสั่งสมเพิ่มเติมดอลลาร์เข้าไปในทุนสำรองอีกแล้ว จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง พวกนักลงทุนยังคงหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะนั่นคือสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เคยกระทำมาในครั้งก่อนๆ แต่มาถึงเวลานี้ พวกเขาจะต้องตระหนักขึ้นมาว่า เฟดอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นอีกแล้ว จากการที่น้ำมัน, อาหาร, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้น และเงินสกุลเหรินหมินปี้ก็กำลังแข็งค่าในระดับเร็วขึ้นอยู่บ้าง นอกจากนั้นเฟดยังต้องวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย หากอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ถูกปล่อยให้ลงไปจนต่ำกว่าขีดใดขีดหนึ่ง เงินดอลลาร์ก็จะตกอยู่ใต้แรงกดดันครั้งใหม่อีก และพันธบัตรระยะยาวก็จะให้ผลตอบแทน(ยีลด์)สูงขึ้นในทางเป็นจริง ขีดดังกล่าวนั้นอยู่ที่ตรงไหน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่เมื่อไปถึงขีดดังกล่าว ความสามารถของเฟดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมาถึงจุดจบ
     
      ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกพัฒนาแล้ว เวลานี้อย่างไรเสียก็คงเป็นสิ่งหลีกหนีไม่พ้น แต่สำหรับจีน, อินเดีย, และบางประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลับกำลังอยู่ในฐานะที่สามารถสวนกระแสได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น วิกฤตทางการเงินในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่น่าจะทำให้เกิดการปรับตัวกันอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจระดับโลกมากกว่า โดยที่สหรัฐฯจะเสื่อมถอยลงโดยเปรียบเทียบ และจีนกับประเทศอื่นๆ ในโลกกำลังพัฒนาจะผงาดพุ่งขึ้น
     
      อันตรายนั้นอยู่ตรงที่ความตึงเครียดทางการเมืองต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลตามมา รวมทั้งลัทธิกีดกันการค้าในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะก่อกวนเศรษฐกิจของโลก และทำให้โลกจมดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย หรือกระทั่งเลวร้ายกว่านั้นอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
Saran
Verified User
โพสต์: 2377
ผู้ติดตาม: 0

Re: จอร์จ โซรอส’ ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

.^O-O^ เขียน: เฟดอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นอีกแล้ว จากการที่น้ำมัน, อาหาร, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้น และเงินสกุลเหรินหมินปี้ก็กำลังแข็งค่าในระดับเร็วขึ้นอยู่บ้าง
ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูล

แต่ไม่เข้าใจว่า เงินสกุลไหนครับเนี่ย
humdrum
Verified User
โพสต์: 1961
ผู้ติดตาม: 0

Re: จอร์จ โซรอส’ ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

Saran เขียน: ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูล

แต่ไม่เข้าใจว่า เงินสกุลไหนครับเนี่ย
เงินจีนครับ คนจีนเขาเรียกเงินอย่างนั้น
ความหมาย เหรินคือคน
เหมินปี้ คือ เงิน

:oops:
กาละมัง
Verified User
โพสต์: 1230
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 4

โพสต์

วิกฤติ subprime  ยังเลวร้ายสู้วิกฤติต้มยำกุ้ง ของเราไม่ได้
คร้งนั้น set index ตกจาก 1700 จุด เหลือประมาณ 300 จุด
ใช้เวลา 10 ปี  เพื่อฟื้นเป็นประมาณ 800 จุด

ด้วยเงื่อนไขที่เป็นUSA  เชื่อว่ารัฐบาล USA  จะแก้วิกฤติ subprime ง่ายกว่า และ ใช้เวลาน้อยกว่าเรา มาก
Ent'
Verified User
โพสต์: 715
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 5

โพสต์

การขยายสินเชื่อเมื่อถึงเวลานี้ ก็จะต้องติดตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งการหดตัวเสียแล้ว เนื่องจากเครื่องมือและวิธีปฏิบัติทางด้านสินเชื่อใหม่ๆ บางเครื่องมือและบางวิธี ไม่ได้แข็งแรงหนักแน่น และก็ไม่มีความยั่งยืน ความสามารถของทางการผู้มีอำนาจด้านการเงิน ที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกจำกัดตึงตัวจากการที่ส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ปรารถนาที่จะสั่งสมเพิ่มเติมดอลลาร์เข้าไปในทุนสำรองอีกแล้ว จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง พวกนักลงทุนยังคงหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะนั่นคือสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เคยกระทำมาในครั้งก่อนๆ แต่มาถึงเวลานี้ พวกเขาจะต้องตระหนักขึ้นมาว่า เฟดอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นอีกแล้ว จากการที่น้ำมัน, อาหาร, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้น และเงินสกุลเหรินหมินปี้ก็กำลังแข็งค่าในระดับเร็วขึ้นอยู่บ้าง นอกจากนั้นเฟดยังต้องวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย หากอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ถูกปล่อยให้ลงไปจนต่ำกว่าขีดใดขีดหนึ่ง เงินดอลลาร์ก็จะตกอยู่ใต้แรงกดดันครั้งใหม่อีก และพันธบัตรระยะยาวก็จะให้ผลตอบแทน(ยีลด์)สูงขึ้นในทางเป็นจริง ขีดดังกล่าวนั้นอยู่ที่ตรงไหน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่เมื่อไปถึงขีดดังกล่าว ความสามารถของเฟดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมาถึงจุดจบ
ถ้าแก้ปัญหาโดยการ Cut อัตราดอกเบี้ย ถึงจุดนึง ประเทศอื่นๆ ไม่ยอมลดตาม สุดท้าย ถ้า ดอกเบี้ย Usa น้อยกว่าประเทศอื่นๆ  ค่าเงิน USD ก็ต้องลดค่าลงแน่ๆ เงินก็น่าจะไหลออกจาก USA  แ้ล้วดุลเงินเดินสะพัดก็จะยิ่งขาดดุล  นี่หรือเปล่าครับที่ โซรอส ต้องการจะสื่อ
beammy
Verified User
โพสต์: 3345
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ร้ายแรงนี่จะทำให้เกิดตลาดหมี ใช่ไหมครับ  8)  ...
hot
Verified User
โพสต์: 6853
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 7

โพสต์

บังเอิญหรือเปล่าที่จีน
ตั้งตลาดค้าทองขึ้นในจีนเอง
nanchan
Verified User
โพสต์: 2938
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ผมตัดจากหนังสือกรุงเทพธุรกิจฉบับเมื่อวาน แปะไว้ที่หน้าโต๊ะทำงานแล้ว
เฝ้าดูไป โดยใจที่เป็นกลาง
yoko
Verified User
โพสต์: 4337
ผู้ติดตาม: 0

จอร์จ โซรอส ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 9

โพสต์

"smile and buy more"
ชอบคำนี้จัง
ภาพประจำตัวสมาชิก
Saran
Verified User
โพสต์: 2377
ผู้ติดตาม: 0

Re: จอร์จ โซรอส’ ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ร้ายแรงที่สุ

โพสต์ที่ 10

โพสต์

.^O-O^ เขียน: เงินจีนครับ คนจีนเขาเรียกเงินอย่างนั้น
ความหมาย เหรินคือคน
เหมินปี้ คือ เงิน

:oops:
แหะๆ ขอบคุณครับ ไม่รู้จิงๆ
โพสต์โพสต์