เรื่อง การผ่อนคลายมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม ดังนี้
ตามที่ ธปท. ได้ประกาศมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อควบคุมการนำเข้าของเงินทุนระยะสั้น และป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทและดูแลเงินบาทมิให้ผันผวนเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 นั้น ในช่วงที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ภาคการผลิตและการส่งออกได้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ดีขึ้นทั้งการกระจายตลาด และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ดี ธปท. ตระหนักถึงผลกระทบของมาตรการนี้ต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของเอกชนในประเทศและผู้ลงทุนต่างประเทศ จึงได้ทำการปรับปรุงมาตรการมาเป็นระยะเพื่อเพิ่มความคล่องตัวแก่ภาคธุรกิจ ได้แก่ การอนุญาตให้ทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Fully Hedge) แทนการกันสำรองสำหรับเงินกู้ เงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน รวมทั้ง ยกเว้นการกันสำรองสำหรับเงินลงทุนในตราสารทุนที่มีลักษณะเหมือนหุ้น ได้แก่ Warrant และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ นอกจากนี้ ยังได้ผ่อนคลายระเบียบการโอนเงินออกนอกประเทศและการถือครองเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีช่องทางลงทุนในต่างประเทศและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้นในระยะยาวด้วย
ปัจจุบันปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Subprime) ในสหรัฐฯ และภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและตลาดการเงินต่างประเทศที่สำคัญ ส่งผลกดดันต่อทั้งค่าเงินสกุลหลักและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้ ธปท. จึงเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เพื่อช่วยบรรเทาภาระต่อภาคธุรกิจ จึงเห็นควรผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองสำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้น รวมทั้ง ผ่อนคลายระเบียบควบคุมเงินทุนออกนอกประเทศเพิ่มเติม ดังนี้
1. ผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในส่วนของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจ และเงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ดังนี้
1.1 ยกเว้นการกันเงินสำรองและการทำ Fully Hedge กรณีนิติบุคคลในประเทศนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินกู้ยืมมาขายรับบาทในจำนวนตามสัญญาเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีกำหนดระยะเวลาการกู้ที่ชัดเจนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
1.2 กรณีนิติบุคคลในประเทศที่มีเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ โดยมีแหล่งเงินได้ค่าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศในอนาคตเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวได้เต็มจำนวน (Natural Hedge) ให้สามารถยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. เป็นรายกรณีพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด
1.3 ยกเว้นการกันเงินสำรองและการทำ Fully Hedge กรณีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิม นำเงินตราต่างประเทศมาขายรับบาทเพื่อชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันปิดสมุดทะเบียนก่อนการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
2. ผ่อนคลายระเบียบการฝากและโอนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้ธุรกิจไทยบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแนวทางการผ่อนคลาย ดังนี้
2.1 ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศได้ในวงเงินที่เพิ่มขึ้น และยกเว้นให้ผู้ที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศฝากเงินในบัญชีโดยไม่ต้องยื่นเอกสารแสดงภาระผูกพัน ดังนี้
ก. บัญชีที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ ฝากได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องแสดงภาระผูกพัน
ข. บัญชีที่มีแหล่งเงินจากในประเทศ - กรณีไม่มีภาระผูกพัน ฝากได้ไม่เกิน 1 แสนดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 3 แสนดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล - กรณีลูกค้ามีภาระผูกพัน (ไม่กำหนดเวลา) ให้ฝากได้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับบุคคลธรรมดา และ 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล ทั้งนี้ หากบุคคลในประเทศต้องการฝากเงินตราต่างประเทศเกินกว่าวงเงินที่กำหนดดังกล่าว จะฝากได้อีกไม่เกินยอดรวมของภาระผูกพันภายใน 12 เดือน
2.2 ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเพิ่มวงเงินและขยายขอบเขตการลงทุนหรือให้กู้ยืมให้ครอบคลุมถึงกิจการในต่างประเทศที่อยู่ในเครือเดียวกันแต่ไม่มีการถือหุ้นกันโดยตรงด้วย ดังนี้
ก. บริษัทแม่ในไทยลงทุน หรือให้กู้แก่บริษัทลูก และบริษัทในเครือในต่างประเทศรวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
ข. บริษัทลูกในไทยลงทุน หรือให้กู้แก่บริษัทแม่ และบริษัทในเครือในต่างประเทศที่มีบริษัทแม่เดียวกันรวมกันไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
ค. บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงทุนตาม ก และ ข ได้ไม่จำกัดจำนวน และให้กู้ยืมตาม ก และ ข ได้ไม่เกินกรณีละ 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
2.3 เพิ่มวงเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นตามข้อ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ส่วนการผ่อนคลายระเบียบการโอนและฝากเงินตราต่างประเทศตามข้อ 2 จะมีผลหลังจากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้ว
ธปท. จะประเมินภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นระยะ และจะพิจารณายกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นเมื่อสถานการณ์เหมาะสม โดยขึ้นกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก และภาวะตลาดการเงินโลก รวมทั้ง ความสมดุลของการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศจากการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้าย
สำหรับประกาศเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นข้างต้นสามารถเรียกดูได้จาก www.bot.or.th ภายใต้ เรื่องเด่น และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากศูนย์ Hotline ธปท. ที่หมายเลข 0-2283-6011
/////////////
จะช่วยให้บรรยากาศพรุ่งนี้ดีขึ้นบ้างไหมนี่
ธปท.ผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง30%เพิ่ม มีผล18ธ.ค.
-
- Verified User
- โพสต์: 7514
- ผู้ติดตาม: 0