ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วน 6.03 พันล้าน ระบุอดีตผู้ว่าฯ กทพ.ลงนามในสัญญาสัมปทานกับกิจการร่วมค้าบีบีซีดีโดยมิชอบ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นสิทธิการซื้อหุ้นราคาถูกจากเอกชนผู้ฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ กทพ.จะต้องชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาสัมปทาน
วันนี้ (15 ก.พ.) ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของ กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ผู้ร้องที่ได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ กทพ.ต้องชำระเงินแก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีเป็นเงินจำนวน 6,039 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีกล่าวหาว่า กทพ.ผิดสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับ บางนา บางพลี บางปะกง
คำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่านายศิวะ เจริญพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทพ.ในขณะนั้นได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโดยไม่ชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อ บีบีซีดี และก่อความเสียหายให้แก่รัฐ ดังนั้น รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีเหตุที่ กทพ. จะต้องชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาสัมปทานในการส่งพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า จึงมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องที่กิจการร่ามค้าบีบีซีดีขอให้มีการบังคับคดีดังกล่าว
ศาลฎีกาเห็นว่า กทพ. ผู้ถูกฟ้อง เป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายมหาชน สัญญาจ้างเหมาออกแบบร่วมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายดังกล่าว ที่ บ.กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ฟ้อง กับ กทพ. ผู้ถูกฟ้อง ทำโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานปกครอง การใช้อำนาจของนายศิวะ เจริญพงษ์ ผู้ว่าการ กทพ.ในขณะนั้น ทำในนาม กทพ. จะเป็นผลผูกพันกับ กทพ. ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบธรรมด้วยกฏหมาย และการใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องมิใช่การใช้อำนาจโดยมิชอบ
การที่ กทพ.อุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบของประชาชน ผู้ถูกฟ้องย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้
และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ก่อนลงนามในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว นายศิวะ ผู้ว่าการ กทพ.ในขณะนั้น ได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายผู้ฟ้อง ในรูปสิทธิ์ซื้อหุ้นของฝ่ายผู้ฟ้อง จำนวน 10,000 หุ้น ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และสิทธิ์ซื้อหุ้นของ บ.ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 70,000 หุ้น ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และนายศิวะยังได้ลงนามในสัญญา โดยรู้ว่ามีปัญหาความไม่พร้อมหลายประการ เป็นเหตุให้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการขยายระยะเวลาและเรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ทั้งยังได้ยืนยันการส่งมอบพื้นที่และให้ผู้ฟ้องเริ่มงานได้ อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องมีสิทธิ์ได้รับเงินเพื่อใช้เริ่มงานก่อสร้าง จำนวนกว่า 1,900 ล้านบาท และเป็นการเริ่มนับของกำหนดเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ยังไม่พร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้ฟ้อง ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงว่า ผู้ถูกฟ้องหรือรัฐจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
เมื่อพิจารณาประกอบกับประโยชน์ที่รับจากการจองหุ้นดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่า นายศิวะต้องการจะช่วยเหลือผู้ฟ้อง โดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ฝ่ายผู้ฟ้องจัดให้ จึงถือว่าใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการ กทพ.ในขณะนั้น ลงนามในสัญญาดังกล่าว เป็นการปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกัน บริษัท ช.การช่าง จำกัด ฝ่ายผู้ฟ้อง เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้นายศิวะ จนท.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จนท.ของรัฐระดับสูง ได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการคุณ โดยให้โควตาตามลำดับตำแหน่ง รวมทั้งการจัดสรรหุ้นบริษัทในเครือให้มีสิทธิ์ซื้อ ก่อนทำสัญญาจ้างเหมา ถือว่าผู้ฟ้องได้ให้ประโยชน์แก่นายศิวะ และ จนท.ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาดังกล่าว โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ฟ้อง
กรณีนี้จึงต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ฟ้อง ผู้ฟ้องใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตอีกด้วย สัญญาจ้างเหมาออกแบบร่วมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประเชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้ถูกฟ้อง หากศาลบังคับให้ทำตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงพิพากษากลับให้ยกคำฟ้อง
รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลฎีกาได้เลื่อนนัดฟังคำตัดสินคดีดังกล่าวเร็วขึ้นมาเป็นวันนี้จากเดิมที่นัดไว้วันที่ 27 ก.พ.50 ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นฟ้องเพื่อให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้ กทพ.ชำระเงินจำนวน 6,039 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดี กรณีผิดสัญญาสัมปทานก่อสร้างโดยส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เป็นเหตุให้การก่อสร้างไม่ตรงตามกำหนด
คดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2546 ให้ กทพ.ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กิจการร่วมค้า BBCD นับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.42 เป็นต้นไป แต่ทาง กทพ.ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ในประเด็นเรื่องความไม่เป็นกลางและขาดความเป็นอิสระในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
กิจการร่วมค้า BBCD ประกอบด้วย บริษัท ฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี บริษัท ช.การช่าง และบริษัท วัลเทอร์ เบา เอจี โดย CK ถือหุ้นอยู่ 30%
คดีนี้ครั้งแรก ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เคยนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วในวันที่ 1 ธ.ค.49 แต่ ในวันดังกล่าว บริษัทฟิงเกอร์เบอร์เกอร์ เอจี, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท วัลเทอร์ เบา เอจี ในนามกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ร้องที่ 1-3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากผู้ร้องทั้ง 3 ยื่นคำร้องขอให้มีการสืบพยานเพิ่มเติมก่อนอ่านคำพิพากษา
โดยอัยการ ผู้แทนฝ่าย กทพ.ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานเพิ่มเติมด้วย ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เห็นว่า กรณีมีเหตุจำเป็นที่ยังไม่อาจอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ จึงให้ส่งคำร้องและคำคัดค้านการสืบพยานเพิ่มเติมของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ร้องและ กทพ.ผู้คัดค้านพร้อมสำนวนกลับไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นอำนาจของศาลฎีกาโดยเฉพาะ ซึ่งศาลชั้นต้นจะออก คำสั่งแทนไม่ได้ คดีจึงได้มีคำสั่งงดการอ่านคำพิพากษาไว้ก่อนจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งว่าอนุญาตให้สืบพยานเพิ่มเติมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 46 เห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กระทำโดยชอบและถูกต้องแล้ว จึงพิพากษาบังคับให้ กทพ. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ เลขแดงที่ 36/2544 ลงวันที่ 20 ก.ย. 44 ให้ชำระเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 3 จำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 2 พ.ย.42 เป็นต้นไป และชำระเงินจำนวน 2,668,447,140 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 15 ม.ค.43 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมเป็นเงินต้นทั้งสิ้น 6,039,893,254 บาท และให้ กทพ.ชำระค่าทนายความแทนผู้ร้องทั้ง 3 จำนวน 500,000 บาทด้วย ซึ่งต่อมา กทพ.ได้ยื่นอุทธรณ์
http://www.manager.co.th/Politics/ViewN ... 0000018680
CK ร่วงระนาว :?