การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
-
beammy
- Verified User
- โพสต์: 3345
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
หากนับอายุของบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งผ่านพ้นปีที่ 50 มาไม่กี่ปี แต่กลับเป็นบริษัทสื่อสารสัญชาติไทยเพียงรายเดียว ที่ดูจะก้าวไปได้อย่างมั่นคงในการขยายฐานสู่ตลาดต่างประเทศ และมีการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้ ระยะยาว เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์และธุรกิจ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม บริษัทขนาดกลาง
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขยายธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มสามารถ เริ่มต้นจากประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นบ้านที่ 2 ของบริษัท เพราะใช้เงินลงทุนไปเยอะรองจากประเทศไทย โดยจากการเข้าไปดำเนินธุรกิจมาร่วม 15 ปี มีการลงทุนไปแล้วรวมกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3,000 ล้านบาท
จนมาถึงวันนี้ การลงทุนที่ทำไว้ในกัมพูชา ก็สร้างรายได้คืนมาให้กลุ่มเป็นหลักพันล้านบาทเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ทางธุรกิจและพันธมิตร ที่กลุ่มสามารถได้รับจากการลงทุนที่นี่ ยังเปรียบเสมือนสะพานธุรกิจ ที่ทำให้บริการก้าวไปได้อย่าง สวยงาม ด้วยตัวเลขรายได้จากต่างประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของรายได้รวมทั้งกลุ่ม
โดยปัจจัยจากการขยายตัวของรายได้จากสายธุรกิจโมบาย-มัลติมีเดีย ที่มีบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหอกทำรายได้ตามที่มีประมาณการไว้ปีนี้ 27,000 ล้านบาท จากเป้ารวมทั้งกลุ่ม 30,000 ล้านบาท
และหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตก็คือ เทเลคอม มาเลเซีย ที่เคยเป็นผู้ร่วมทุนของสามารถ ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ประเทศกัมพูชา
วัฒน์ชัย เล่าว่า การบุกต่างประเทศครั้งแรกของสามารถ ก็คือ เข้าไปทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบเอ็นเอ็มที 900 เมื่อปี 2535 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือระบบดิจิทัล จีเอสเอ็ม ที่ให้บริการในชื่อบริษัท แคมโบเดีย สามารถ คอมมิวนิเคชั่นส์ หรือคาซาคอม ก่อนจะตัดสินใจขายหุ้นสัดส่วน 50% ให้กับบริษัท เทเลคอม มาเลเซีย หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในไทยเมื่อประมาณปี 2540-2541
หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่ม ฟื้นตัว เมื่อปี 2544 ก็เข้าไปลงทุนในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ CATS เพื่อให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา
ล่าสุดปีที่ผ่านมา บริษัทก็ได้ใช้เงินลงทุน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 23 เมกะวัตต์ ในชื่อบริษัท Kampot Power Plant จำกัด เพื่อทำการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ในประเทศกัมพูชา จำนวน 95 ล้านยูนิตต่อปี และยังกำลังรอฟังผลยื่นประมูลสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้งบลงทุนในหลักหมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างชิงดำกับคู่แข่งจากประเทศจีน, มาเลเซีย และสิงคโปร์
ขณะที่ เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการของสามารถ คอร์ป เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญๆ ของการลงทุนในตลาดต่างประเทศแห่งแรกอย่างกัมพูชาว่า เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว บริษัทเป็นผู้ที่เข้าไปขอใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นรายที่ 2 ต่อจากกลุ่มซีพี และหลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจก็ต้องตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนไป เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้กับแบงก์ ออฟ อเมริกา
แม้ปัจจุบันจะขายหุ้นในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือออกไปหมดแล้ว แต่ในส่วนของ CATS ทางสามารถก็ถือหุ้นอยู่ทั้ง 100% โดยการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชานั้น เติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
โดยนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีจำนวนเที่ยวบินที่เข้าไปใช้บริการของสนามบินในประเทศกัมพูชาเพิ่มจาก 31,000 ไฟลต์ เป็นกว่า 41,000 ไฟลต์เมื่อปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวร่วม 2 ล้านคน
ด้วยศักยภาพการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวในกัมพูชา และจุดขายของ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง นครวัด-นครธม ตลอดจนความผูกพันกับประเทศนี้ ทำให้ล่าสุดครอบครัว วิไลลักษณ์ ตัดสินใจขยายธุรกิจเข้าไปในโครงการลงทุนจัดสร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกอร์ (Angkor National Museum) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้เข้าชมประมาณเดือนเมษายนนี้ ที่เมืองเสียมเรียบ
เจริญรัฐ ถือเป็นคีย์แมนในการบุกเบิกโครงการนี้ ในฐานะของกรรมการบริหาร บริษัท วิไลลักษณ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ภายใต้อายุสัมปทานบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 30 ปี หลังจากนั้นบริษัทก็จะโอนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เป็นของรัฐบาลกัมพูชา
โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 16-17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในส่วนของเทคโนโลยีการนำเสนอนั้น มีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยว่าจ้างบริษัท ซีเอ็ม ออแกไนเซอร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
โดยทุกขั้นตอนของการทำงานในโครงการนี้ ทางรัฐบาลกัมพูชาจะให้คณะกรรมการหลายชุดที่เกี่ยวข้อง เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทโดยตลอด เพื่อให้คอนเทนท์ต่างๆ ที่จะนำเสนอออกไปมีความถูกต้องที่สุด
เจริญรัฐ บอกว่า สำหรับเขาแล้ว โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการ คืนกำไร ให้กับกัมพูชา ให้นักท่องเที่ยวและคนกัมพูชาสามารถเห็นภาพจำลองความรุ่งเรืองในอดีต และความยิ่งใหญ่ของนครวัด-นครธม ทั้งจากบรรดาโบราณวัตถุ และการนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรม สังคม ความเชื่อ และการปกครองของขอมโบราณ ผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ผมได้มีโอกาสไปเห็นแหล่งเก็บวัตถุโบราณ (Conservation Center) ของกัมพูชา จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะอยากทำพิพิธภัณฑ์เพื่อตอบแทนรัฐบาลกัมพูชา และยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของสามารถ ซึ่งจะไม่มีคู่แข่งเป็นเวลา 30 ปี
เขายังตั้งความหวังไว้ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 20,000 ตารางเมตร แสดงโบราณวัตถุจากยุคต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ชิ้น พร้อมส่วนของอาคารหอวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าของที่ระลึก โบราณวัตถุจากร้านค้าในเสียมเรียบ และบริการต่างๆ จะทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็น แลนด์มาร์ค อีกแห่งหนึ่งของเสียมเรียบ ไปอีกนานเท่านาน
ที่มา :
http://www.bangkokbizweek.com/