ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  
กรุงเทพธุรกิจ  วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550


ตามทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) เมื่อประเทศต่างๆ ทำการค้าระหว่างประเทศ จะทำให้ประเทศเหล่านั้นมั่งคั่งมากขึ้น แต่คำถามคือ เหตุใดหลายประเทศในโลก แม้ส่วนใหญ่ได้เปิดประเทศ เพื่อทำการค้าระหว่างประเทศแล้ว แต่ประชาชนยังคงยากจนอยู่ (ทั้งนี้ไม่รวมถึงผลกระทบของการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการผูกขาดภายในประเทศ) คำถามดังกล่าวมีความน่าสนใจอย่างยิ่งในเชิงการกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และความยากจน โดยเฉพาะในยุคที่โลก ถูกผลักไปในทิศทางของการเปิดเสรีทางการค้า และสังคมไทยกำลังถกเถียงกันว่า ทิศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศควรเป็นอย่างไร

ผมได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รู้จักศาสตราจารย์ ริคาร์โด เฮาส์แมนน์ (Ricardo Hausmann) ซึ่งสอนวิชาที่ชื่อว่า "ทำไมหลายประเทศยังยากจน" ใน Kennedy School of Government ศาสตราจารย์ท่านนี้ เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีการคลังของประเทศเวเนซุเอลา และได้คิดทฤษฎีที่มีชื่อว่า "ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้"

ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ เชื่อว่า การพัฒนาประเทศในระยะยาว เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ (Structural Transformation) แต่คำถามอยู่ที่ว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแต่ละประเทศจึงต่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้บางประเทศร่ำรวย แต่อีกหลายประเทศยังยากจนอยู่

จากการศึกษาด้วยการสังเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ และพยายามหาหลักฐานจากประเทศทั่วโลก ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ ได้ข้อสรุปในเชิงทฤษฎีว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแต่เดิมของประเทศนั้นว่าอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ชนิดใด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนั้น เป็นไปได้ยากหรือง่าย

หากเปรียบเทียบบริษัทต่างๆ เหมือนกับลิงที่กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ในขณะที่ป่า หมายถึงทางเลือกของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และต้นไม้แต่ละต้นคือ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด โดยที่แต่ละต้น มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่มีผลิตภาพ (Productivity) แตกต่างกัน

ลิงแต่ละตัวต้องพยายามกระโดดไปยังต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีข้อจำกัดคือมันไม่สามารถกระโดดไปต้นที่อยู่ไกลเกินไปได้ เนื่องจากการผลิต ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดคือ ต้องการสินทรัพย์ (Assets) และความสามารถ (Capability) ในการผลิตที่ต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เร็ว เกิดจากการที่ประเทศนั้นเริ่มต้นพัฒนาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ในผลิตภัณฑ์ที่สามารถ "กระโดด" ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงได้ง่าย เช่น อุตสาหกรรมเบา อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าทุน ขณะที่บางประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในผลิตภัณฑ์ที่กระโดดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงได้ยาก เช่น น้ำมันดิบ สินค้าเขตร้อน และวัตถุดิบต่างๆ

จากทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วประเทศไทยควรกำหนดทิศทางอย่างเจาะจงหรือไม่ว่า ควรปรับโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทใด

ทั้งนี้เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วโลกแบ่งได้เป็นสองแนวทาง คือ การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ดังตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และฮ่องกง อีกแนวทางหนึ่งคือ การแทรกแซงโดยรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ดังที่ปรากฏในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ทั้งสองแนวทางมีประเทศที่ประสบความสำเร็จ และมีทั้งข้อดี และข้อเสีย กล่าวคือ แนวทางที่ยึดกลไกตลาด อาจจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่การปรับโครงสร้างจะล่าช้า และมีต้นทุนการปรับโครงสร้างสูงมาก

ขณะที่การแทรกแซงโดยรัฐบาลจะทำให้การปรับโครงสร้างรวดเร็ว แต่จะเป็นการบิดเบือนกลไกทางเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงว่ารัฐบาลอาจจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผิดประเภท ซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้จริง

ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ ได้ตอบคำถามนี้โดยอธิบายว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม (Open Forest) เป็นการพัฒนาความสามารถที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลล้น (Spill Over) ของความสามารถดังกล่าวไปสู่อุตสาหกรรมเดียวกันและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ความสามารถคล้าย ๆ กันด้วย และเมื่อมีการพัฒนาความสามารถแบบที่ต้องการได้แล้ว ประเทศจึงสามารถเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศต้องการ จะไม่เกิดขึ้นด้วยกลไกตลาด เพราะการไหลล้นของเทคโนโลยี หรือความสามารถใหม่ๆ นั้นเป็นผลประโยชน์ที่สังคมได้รับ แต่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีหรือความสามารถใหม่ๆ กลับต้องแบกรับต้นทุนไว้ทั้งหมด (Positive Externality) ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้าไปมีบทบาท ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมบางชนิด เพื่อจะสามารถ "กระโดด" ไปสู่อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้

ประการสำคัญ รัฐบาลต้องช่วยผลักลิงให้กระโดดไปยังต้นไม้ที่คนทั้งประเทศได้ประโยชน์ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงทำให้คนในรัฐบาลได้ประโยชน์ เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

2550 : ปีแห่งความท้าทายสำหรับประเทศไทย
คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้  โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ  
ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3861 (3061)


ผมคิดว่าปี 2550 จะเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของคนไทยทุกคน โดยส่วนตัวจึงจะพักผ่อนให้มากๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในปีหน้า

เรื่องเงินบาทนั้น แข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนตัว ซึ่งจะมีแนวโน้มเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปี กล่าวคือ เงินบาทมีโอกาสที่จะค่อยๆ แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วเกินหน้าเงินสกุลอื่นๆ นั้น เป็นเพราะขณะนี้เราเกินดุลบัญชีการค้า บัญชีบริการ และบัญชีเงินทุน จึงไม่แปลกใจที่เงินบาทจะต้องแข็งค่า เพราะความต้องการซื้อเงินบาทมีมากเกินอุปทานในทุกระดับ ทางออกมีทั้งแบบดีและแบบไม่ดี แบบไม่ดีคือ เงินแข็งจนส่งออกไม่ได้ ทำให้ขาดดุลการค้าไปทดแทนการเกินดุลในบัญชีอื่นๆ หรือการใช้มาตรการกีดกันเงินทุนไหลเข้า โดยการเก็บภาษี เงินทุนก็จะไม่ไหลเข้าและอาจไหลออกตามวัตถุประสงค์ แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ไม่มีเงินไหลเข้าประเทศไทย ไปอีกหลายปี เช่น กรณีมาเลเซียที่ใช้มาตรการเก็บภาษีเมื่อปี 1998 เพื่อกันเงินไหลออกและส่งผลให้เงินทุนหยุดไหลเข้า และแม้ว่าจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่านักลงทุนจะกล้านำเงินทุนมาลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความสนใจที่จะนำเงินเข้าเพิ่งจะกระเตื้องขึ้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนแนวทางที่ดี (ในความเห็นของผม) คือ การเร่งลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยระดับปัจจุบันนั้นเหมาะสม หาก เชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นสัก 10-20% และประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า แต่ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ธนาคารประเทศไทยจึงน่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้ 1.0-2.0% ทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง คือ การเร่งการนำเข้าสินค้าทุน เช่นเครื่องบิน แต่ หากความมั่นใจในการลงทุนไม่ฟื้นตัวก็ยากที่จะผลักดันการนำเข้าสินค้าทุนให้เพิ่มขึ้นได้อย่างเป็น กอบเป็นกำ

ในส่วนนี้ หากประเมินได้อย่างแน่ชัดว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อพัฒนากองทัพ ก็ควรเพิ่มการนำเข้าตรงนี้ได้ดีกว่าการปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งตัว จนการส่งออกชะลอตัวลงไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่การส่งออกคงจะต้องลดบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลง โดยให้การลงทุนเข้ามาแทนที่ การเร่งการลงทุนของภาคเอกชนให้ฟื้นตัว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในเชิงของเศรษฐกิจของประเทศในปี 2550 หากเราทำตรงนี้ไม่สำเร็จ มีโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศไทยอาจซึมอีกยาวนาน เพราะกำลังการผลิตในอนาคต จะขยายตัวไม่ได้มาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ขยายการลงทุนมาโดยตลอด ในกรณีของจีนนั้น ก็ยังขยายตัว 20-25% แม้จะชะลอตัวลงมาแล้ว ส่วนอินเดียนั้น ก็ยังลงทุนอย่างเร่งรีบ และยังมีเวียดนามที่จะเข้าเป็นภาคีขององค์กรการค้าโลก (WTO) อย่างเต็มภาคภูมิในปี 2550 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงกว่า ประเทศเวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 1/3 ของไทยจะรับเงินทุนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า ที่สูงกว่าประเทศไทย

ทำไมการลงทุนของไทยจึงจะไม่ฟื้นตัว หรือฟื้นตัวไม่ทันท่วงที ? ประเทศไทยมีปัญหาอยู่มาก ทั้งที่กำลังสร้างกันเอง และที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ส่วนที่อันตรายและน่ากลัวมากกว่า คือ ส่วนที่เรากำลังสร้างปัญหากันเอง ดังนั้น หากอีก 2-3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยฟื้นตัวและเริ่มล้าหลังประเทศอื่นๆ (เช่น ฟิลิปปินส์เมื่อ 2-3 ปีก่อน) เราก็คงต้องตำหนิตัวเราเองมากกว่าคนอื่น โดยปัจจัยต่างๆ ที่จะปิดกั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้แก่

1.การแข็งค่าของเงินบาท ที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์ต้องอ่อนตัวพร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การพึ่งพาการส่งออกจะทำได้ยากขึ้น เราพอจะลดผลกระทบตรงนี้ได้บ้าง หากเรารีบลดดอกเบี้ยอย่างทันท่วงที แต่เราก็ยังเฉยๆ อยู่

2.สัญญาณต่างๆ จากประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่า เราไม่ต้อนรับเงินทุนจากต่างชาติ เช่น ความสับสนในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคม การเสนอแก้กฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าจะส่งผลในการจำกัดการลงทุนจากต่างชาติมิได้เปิดให้เสรียิ่งขึ้น การดำเนินนโยบายควบคุมการไหลเข้า-ออก ของเงินทุน เช่น การเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น (คำถาม คือ สั้นหรือยาวมากน้อยเพียงใด ? จะต้องบังคับให้เปิดเผยข้อมูลและขออนุมัติทำธุรกรรม มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นอีกเพียงใด ? จะมีการเพิ่มมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่ ?) ทำไมผมจึงคิดว่าเงินทุนต่างชาติสำคัญ คำตอบ คือ เงินทุนต่างชาติมีประสิทธิภาพสูงกว่าเงินทุนไทย เห็นได้จากความสามารถในการทำกำไรต่อทุนสูงกว่า คนไทยบางคนดูถูกตลาดหุ้น ว่าเป็นที่ทำประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม (หรือแม้กระทั่ง แหล่งเลี่ยงภาษีของนักการเมือง) แต่ตลาดหุ้นไทย ซึ่งราคาหุ้น (ต้นทุน) ต่อกำไร หรือ P/E นั้น อยู่ที่ระดับต่ำแค่ 7.5 เท่า ในขณะที่ P/E ในตลาดหุ้นสหรัฐ อยู่ที่ 16-17 เท่า แปลว่าตลาดส่งสัญญาณว่า หุ้นในสหรัฐราคาแพงกว่าหุ้นไทย เพราะบริษัทสหรัฐมีศักยภาพทำกำไรในอนาคตได้สูงกว่า บริษัทในประเทศไทยอยู่มาก แต่ก็ยังมีข้อเสนอให้เก็บภาษีกำไร จากการซื้อ-ขายหุ้นอีก เพื่อให้ P/E ของเราต่ำลงไปอีก หมายความว่า ในสหรัฐนั้นมีความเชื่อมั่น ดังนั้น บริษัทที่ทำกำไร 1 เหรียญ สามารถขายหุ้นได้ในราคา 16-17 เหรียญ แต่บริษัทไทยทำกำไร 1 บาท ขายหุ้นได้ในราคา 8-9 บาท ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่จะต้องระดมทุนเพื่อเพิ่มทุนบริษัทไทยจะเสียเปรียบบริษัทสหรัฐอย่างมาก ประเด็นนี้ ไทยด้อยกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทั้งหมด ซึ่ง P/E เฉลี่ยที่ 12 เท่า อินเดียกับจีนนั้น พีอีสูงกว่าไทยหลายเท่าตัว

3.การลงทุนของคนไทยเองก็คงฟื้นตัวได้ยาก เพราะความไม่แน่นอนต่างๆ ที่กระทบนักลงทุนต่างชาติ ก็กระทบนักลงทุนไทยเช่นกัน ผมเห็นว่าคนไทยน่าสงสาร เพราะเมื่อมีผู้นำที่รู้เรื่องกลไกตลาดเสรี ก็มีการบิดเบือนให้ผลประโยชน์ไหลเข้าสู่ตัวเอง และพวกพ้อง ทั้งในเชิงของคอร์รัปชั่นในทางตรง และทางอ้อม ทำให้มีแรงกดดันจนเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ฝ่ายที่ยึดอำนาจจึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพก็ต้องถูกจำกัด ที่สำคัญคือ การแสวงหาความผิดของรัฐบาลก่อน ส่งผลให้เกิดการต่อต้านระบบตลาดเสรีและทุนนิยมอย่างรุนแรง จนกระทั่ง คำว่าระบบทุนนิยม ตลาดเสรี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกือบจะเป็นคำที่ไม่ดีในภาษาไทยไปแล้ว (ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่โลกาภิวัตน์ การส่งเสริมตลาดเสรี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเร่งรีบ) ประเทศใกล้เคียงที่จะเป็นคู่แข่งของไทย คือ เวียดนาม มีนโยบายอันแน่วแน่ที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (ธนาคาร โรงกลั่น น้ำมัน โรงไฟฟ้า และโรงพยาบาล ฯลฯ) ประมาณ 15-20 แห่ง ภายใน 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศไทยส่งสัญญาณว่า มีความต้องการแปรรูปบริษัทที่แปรรูปแล้วกลับไปเป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานหรือสื่อสารมวลชน กรณีของไอทีวีนั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสารคนไทยกันเองอย่างมาก เพราะธุรกิจเดิมนั้น ประมูลสูงไป จึงควรลดเงินที่นำส่งรัฐ แต่กระบวนการลดเงินที่นำส่งรัฐดังกล่าว ทำกันอย่างไม่บริสุทธิ์เป็นธรรม จึงเกิดปฏิกิริยาที่ต้องการ "กำราบ" ความผิดดังกล่าว ผลคือธุรกิจที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดีโดยทีมงานที่มีฝีมือต้องกลายเป็นธุรกิจล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการที่เสนอให้นำเอาธุรกิจที่เอกชนเขาทำได้ดีมากอยู่แล้ว (เพียงแต่อย่าเก็บเงินจากเขามากเกินไป) กลับมาเป็นของรัฐ แต่ก็รู้ว่ารัฐคงทำไม่ได้ไม่ดีพอจะต้องขาดทุน จึงเสนอให้รัฐต้องเอาภาษีมาเติมให้อีก 2 พันล้านบาท เงินซึ่งควรไปใช้ในกิจกรรมที่ตลาดทำไม่ได้ แทนที่จะเข้ามาทำในสิ่งที่ตลาดทำได้ดี และมีกำไรอยู่แล้ว เรามีโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐอยู่แล้ว คือ ช่อง 11 การจะอ้างว่าต้องการให้เป็นอิสระจากรัฐ (เป็นกลาง) แค่ต้องพึ่งพาเงินจากรัฐปีละ 2 พันล้านบาทนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจอย่างยิ่งว่าทำไม่ได้

4.ผมเชื่อว่าเอกชนไทยนั้น มองเห็นถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่จะยังมีอยู่ต่อเนื่องในปี 2550 การที่ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 41 จังหวัด ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่อีก 35 จังหวัด ยังต้องมีการใช้กฎอัยการศึก/รวมทั้ง 16 จังหวัด ที่ประกาศกฎอัยการศึกเต็มพื้นที่) ย่อมแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่ได้กลับสู่สภาวะปกติ ที่สำคัญคือ การร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นจุดเด่นของปี 2550 และผมเชื่อว่านักลงทุนจะยังไม่อยากขยับตัวจนกว่ารัฐธรรมนูญจะใกล้คลอด และมีความชัดเจนว่า ประเทศไทย มีพรรคการเมืองเหลืออยู่กี่พรรค เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่านโยบายเศรษฐกิจ และการเมืองของไทย จะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับปี 2550 คือ การเมือง โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ปี 2549 คือ ปีที่นักการเมือง ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนถูกยึดอำนาจ แต่ปี 2550 จะเป็นปีที่ผู้ยึดอำนาจจะต้องคืนอำนาจที่ยึดมา กลับไปให้ประชาชนเลือกตั้งนักการเมืองกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง แต่นักการเมืองได้ใช้อำนาจที่มาจากประชาชน ไปในทางที่ผิด จึงจะถูกทำโทษ โดยรัฐธรรมนูญที่จะต้องจำกัดอำนาจของนักการเมืองในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญ คือ จะต้องถูกคานอำนาจหรือต้องแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ ที่มองตัวเองว่ามีคุณธรรมสูงกว่านักการเมือง เช่น การจำกัดว่า นักการเมืองจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 2 สมัย และ "คนนอก" ก็อาจได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือวุฒิสภาควรจะมาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้ง (แต่คำถามหลัก คือ หากไม่ให้ประชาชนเป็นผู้แต่งตั้งแล้ว จะให้ใครเป็นคน แต่งตั้งและสมาชิกวุฒิสภาควรมีอำนาจมากน้อยเพียงใด)

แนวคิดที่จะจำกัดอำนาจของนักการเมือง ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนนั้น ย่อมเป็นการจำกัดอำนาจของประชาชน จึงได้มีการขยายความว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น ก็เพราะคนไทยส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะคนชนบท) ขาดข้อมูล ขาดการศึกษายอมขายเสียงหรือถูกซื้อเสียงได้ง่าย เพราะระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่โดยแพร่หลายในต่างจังหวัด ดังนั้น จึงต้องกล่าวถึงการต้องมีระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือแบบเอเชีย) กล่าวคือ ต้องไม่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยทั่วไปของตะวันตก โดยแก่นสาร คือสมมติฐานว่าประชาชนคนไทย ยังขาดความเท่าเทียมกันในเชิงของข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล หรือปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาคือ นักลงทุนและนักธุรกิจย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ว่า แนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ ได้ และเกิดความไม่แน่นอนว่าจะสามารถหาจุดที่มีการประนีประนอมกันได้อย่างทันท่วงที ตามคำมั่นสัญญาว่า การเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2550 เพราะรัฐบาลเองก็จะไม่ยอมอยู่ในอำนาจ เกินกว่า 1 ปี ดังนั้น การเมืองของไทยในปี 2550 นั้น จึงจะท้าทายความสามารถของคนไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ในเชิงของธุรกิจนั้น ต้องมองว่า การเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในลำดับต้นๆ ในปี 2550 ครับ

หน้า 46
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เพิ่งเข้ามาห้องนี้

ขอบคุณ bsk (ผมเรียกในใจเองว่า basket  )อีกคร้ง
javoel
Verified User
โพสต์: 383
ผู้ติดตาม: 0

ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์