จับกระแส : ดอลลาร์อันตราย กดดันดอกเบี้ยขาขึ้น
เศรษฐกิจโลก กำลังจะถอยหลัง ไปอีกครั้งหรือไม่ หากว่าอัตราดอกเบี้ย ในสหรัฐอเมริกา จะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ยังเป็นข้อสงสัย สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ที่จับตามองอย่างใกล้ชิด ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันอังคารที่ 28 ตุลาคม หลังจากที่ได้มีการใช้ นโยบายการเงิน แบบผ่อนคลาย มากที่สุดในรอบ 41 ปี ที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ย อ้างอิงสำคัญ (เฟด ฟันด์ เรท) ยังคงยืนอยู่ที่อัตราเพียง 1% ในปัจจุบันนี้
โดยวันจันทร์เมื่อสัปดาห์ก่อน นายจอห์น สโนว์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ "เดอะ ไทม์ ออฟ ลอนดอน" ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว และผลกำไรของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น พร้อมกับเน้นว่าทางวอชิงตันจะขานรับต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากจะเป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ปีหน้าน่าจะขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่อีก 2 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม นายสโนว์ยังปฏิเสธมุมมองที่ว่า เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยที่เฟดจะนำเอามาตรการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) มาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการกำหนดนโยบายการเงินและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ดังนั้น ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จึงเริ่มคาดการณ์ถึงการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของสหรัฐ หลังจากการให้ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 คน ของเฟดที่ทำให้มีการพุ่งเป้าไปยังภาวะที่เป็นช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น แต่นายธนาคารชั้นนำหลายคนยังคงคาดว่า จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2548 เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 นั้น จะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐรอบใหม่
ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเป็นประวัติการณ์ ทำสถิติต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร โดยตลาดไม่สนใจการออกมาให้สัมภาษณ์ เดอะ ไทม์ ของ รมว.คลังสหรัฐดังกล่าว ขณะที่เทรดเดอร์ค้าเงินกลับให้น้ำหนักกับท่าทีของประธานาธิบดี หู จิ่น เทา ของจีน ที่ปฏิเสธความต้องการและแรงกดดันของสหรัฐในเรื่องการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น
ส่วนนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกัน ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์จูน ฉบับล่าสุดว่า เขาได้เข้าไปลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะกังวลถึงการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ในอนาคต "ผมมีชีวิตมาเกือบ 72 ปีแล้วในปีนี้ โดยไม่เคยซื้ออัตราแลกเปลี่ยนแม้แต่ครั้งเดียว" แต่ "ปราชญ์แห่งโอมาฮา" ซึ่งเป็นฉายาของนายบัฟเฟตต์ เจ้าของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาร์ธอะเวย์ ซึ่งเป็นกลุ่มการลงทุนของเขา ที่มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองนี้ ได้เปิดเผยอีกว่า การเข้าไปลงทุนในเงินหลายสกุล ก็เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการอ่อนตัวลงของเงินดอลลาร์ เพราะเชื่อว่าดอลลาร์จะอ่อนตัวลงในอนาคต
โดยเฉพาะปัญหาขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐ ได้จุดพลุให้มีการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนสำหรับบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น "อาจพูดได้ว่ามูลค่าสุทธิของสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ได้ถูกผ่องถ่ายไปยังต่างประเทศในอัตราที่น่าตกใจมาก" นายบัฟเฟตต์ให้ความเห็นเพิ่มเติม
จึงเป็นไปได้ว่า การที่นายสโนว์ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการปรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐดังกล่าว เพื่อต้องการหยุดยั้งการตกต่ำของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ตกไปแล้วกว่า 25% นับจากต้นปีมานี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และเป็นตัวบ่งชี้การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระยะเฉพาะหน้านี้ ถึงแม้ว่า ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวได้ยินยอมให้ดอลลาร์ตกต่ำลงมาก็ตามที
ดอลลาร์สหรัฐจึงกลายเป็นสกุลเงินอันตราย ที่จะกำหนดทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐนับจากนี้ไปค่อนข้างแน่นอน โดยเพิ่มแรงกดดันไปที่เฟดที่เดินมาถึงทางสองแพร่งของการดำเนินนโยบายการเงินเช่นเดียวกัน ว่า จะยังคงผ่อนคลายต่อไปหรือเข้มงวดมากขึ้นในเร็ววันนี้
และหากเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของโลก จะยังคงต้องเผชิญหน้ากับภาวะความผันผวนกันต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้ออัตราแลกเปลี่ยน
-
- Verified User
- โพสต์: 54
- ผู้ติดตาม: 0
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้ออัตราแลกเปลี่ยน
โพสต์ที่ 2
ผมว่า อเมริกา รุก รับ แต่ถอย ครับ เพราะ ผมว่าเมื่อ จีน ยืนราคา อเมริกาต้องทำให้ราคาเงินของตัวเองลดลงครับ
แต่ถ้าไม่แสดงอาการต้านการลงบ้าง จะเสียเหลี่ยม และเสียหลัก เลยต้องทำเสียงแข็ง
ผมอาจเห็นผิดนะครับ แต่บังเอิญ เหมือน ท่าน WB
ภูมิใจมากครับ
แต่ถ้าไม่แสดงอาการต้านการลงบ้าง จะเสียเหลี่ยม และเสียหลัก เลยต้องทำเสียงแข็ง
ผมอาจเห็นผิดนะครับ แต่บังเอิญ เหมือน ท่าน WB
ภูมิใจมากครับ
อยากเป็น VI