เจาะแผนสร้างอาณาจักรธุรกิจไชน่า อิงค์

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
worapong
Verified User
โพสต์: 929
ผู้ติดตาม: 0

เจาะแผนสร้างอาณาจักรธุรกิจไชน่า อิงค์

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เจาะแผนสร้างอาณาจักรธุรกิจไชน่า อิงค์

โรนัลด์ ฟรีแมน วาณิชธนากรผู้คร่ำหวอดในวงการ ยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ ที่บริษัทจากจีนจะสามารถซื้อหุ้นจำนวนมากของวอล-มาร์ท และหากเปรียบยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของสหรัฐเป็นประเทศ ก็คงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดอันดับ 8 ของจีน

ฟรีแมน ชี้ว่า แม้ในช่วงเวลาที่สหรัฐกำลังปกป้องการค้ามากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครอยากคัดค้านการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในกลุ่มผู้ค้าปลีก โดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคง

ความเห็นข้างต้นของวาณิชธนากรรายนี้ไปไกลกว่าบรรดานักวิชาการ แม้ว่าจะไม่ได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความสามารถของจีนในการทำข้อตกลง ที่อาจหาญมากกว่าเดิมมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการปกป้องทางการค้าจากฝั่งตะวันตกที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ แต่สิ่งที่อาจเปลี่ยนไปก็คือ เวลา และกลยุทธ์ของจีน

วิคเตอร์ ฉู่ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เฟิร์สต์ อีสเทิร์น อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป บริษัทด้านการลงทุนโดยตรงที่มีขนาดใหญ่สุดของจีน ให้ความเห็นว่า ความพยายามที่จะเข้าถือครองกิจการแบบไม่เป็นมิตรทุกรูปแบบ จะต้องมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเขาได้แนะนำให้ลูกค้าท้องถิ่นกระเป๋าหนัก เลือกที่จะซื้อหุ้นมาเก็บไว้ แทนการซื้อเพื่อนำออกขาย เพื่อให้ได้เป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย และพันธมิตร แทนการเข้าถือครองกิจการ ที่หมายถึงการนำทุ่นระเบิดการเมืองสหรัฐ เข้ามาสู่การลงทุนโดยตรง

ฉู่ คาดการณ์ว่า การเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์ และร่วมลงทุน จะกลายเป็นเครื่องปรุงแต่งแบบใหม่ในอีก 12 -18 เดือนข้างหน้า เพราะรูปแบบนี้ เหมาะกับสภาพการเมืองสหรัฐ และการพัฒนาของบริษัทจีนในปัจจุบัน

ซีอีโอเฟิร์สต์ อีสเทิร์น กล่าวด้วยว่า หลังคร่ำหวอดกับการปฏิรูปเศรษฐกิจมานาน 25 ปี บรรดานักธุรกิจจีน ได้เกิดการเรียนรู้กฎกติกาของเกมนี้ โดยสิ่งที่พวกเขามองหาจากการเข้าซื้อธุรกิจต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประกันด้านทรัพยากร เทคโนโลยีก้าวหน้า ตราผลิตภัณฑ์ระดับโลก และช่องทางการจัดจำหน่าย ล้วนแล้วแต่กระทำผ่านการเป็นพันธมิตร และหากความร่วมมือดำเนินไปได้ดี ก็จะเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมระหว่างกันได้

แนวความคิดดังกล่าวของ ฉู่ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างแดนมังกร และแดนอินทรี อยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ บ่งชี้ถึงความคิดในการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นของสหรัฐ โดยเฉพาะกรณีซีนุก บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของจีน ที่ต้องถอนตัวออกจากความพยายามที่จะเข้าถือครองกิจการยูโนแคล ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะรับมือกับพายุการเมืองไม่ไหว

สิ่งที่น่าขบขัน สำหรับการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือความรู้สึกอยากปกป้องการลงทุน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐต้องการเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด และยังอยู่ในเวลาเดียวกับที่บริษัทจีน ออกไปลงทุนนอกประเทศมากเป็นประวัติการณ์

แต่ไม่ว่าสภาวะการเมืองในสหรัฐจะเป็นอย่างไร บรรดาบริษัทจีน ยังคงแสวงหาช่องทางการลงทุน ที่ทำให้พวกเขาได้ผลตอบแทนก้อนใหญ่กลับคืนมา และบริษัทเหล่านี้ กำลังเป็นผู้เล่นขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในด้านการเข้าควบคุมบริษัทในตลาดโลก และมีบ่อยครั้งที่มักจะยื่นซื้อกิจการ และแย่งซื้อสินทรัพย์กับบริษัทสหรัฐ

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว บริษัทจีนที่ลงทุนนอกภาคการเงินในต่างประเทศ มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ 6,920 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีการขยายตัวด้านนี้ถึง 90% ขณะที่ดีลอจิค ระบุว่า มูลค่าข้อตกลงทั้งหมดในปี 2548 อยู่ที่ 8,840 ล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์มองด้วยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ผลักดันให้เกิดการก้าวกระโดดด้านปริมาณ และความโดดเด่นในการทำข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้จากบริษัทจีน

ปัจจัยดังกล่าว รวมถึง การที่รัฐบาลจีนยกเลิกข้อการกำหนดเพดานเงินตราต่างประเทศที่บริษัทท้องถิ่นสามารถซื้อได้ในแต่ละปี เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งคณะกรรมการดูแลสินทรัพย์แห่งชาติ ยังกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจ 169 แห่ง ออกไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ก่อนที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ท้องถิ่น เพื่อให้บริษัทเหล่านี้นำมาตรฐานการรายงานผลการเงินแบบสากล ที่มีใช้อยู่ในราว 100 ประเทศทั่วโลก เข้ามาใช้ อันจะทำให้มีบริษัทจีนจำนวนมากขึ้น ที่จะเข้าหาเงินทุน และหุ้นในตลาดต่างประเทศ เพื่อมีฐานการเงินสำหรับการเข้าถือครองกิจการ
margin of safety
circle of competence
waiting for the perfect pitch
โพสต์โพสต์