ผมได้อ่านบทความ เห็นว่าอาจจะน่าสนใจสำหรับคนที่สนใจการลงทุนแบบเน้นคุณค่านะครับ
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า
คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่าจะลงทุนอย่างไรในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแสนต่ำ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลก็ต่ำ ภาวะตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง หลายคนที่ยังไม่เคยลงทุนในรูปแบบอื่นนอกจากฝากเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินด้วยมีเหตุผลจากความไม่รู้ หรือไม่กล้าเสี่ยงก็เริ่มที่จะมองหาช่องทางการลงทุนรูปแบบอื่นๆ กันบ้างแล้ว บางคนที่ไม่ค่อยชอบที่จะเสี่ยงก็อยากจะลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่มีออกขายแต่ก็ไม่รู้จะซื้อที่ใหน แถมยังต้องซื้อในจำนวนที่มากๆ หลายคนเริ่มสนใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แต่ก็กังวลต่อความเสี่ยงและก็ไม่อยากศึกษาข้อมูลที่มีมากมายจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีหลากหลายให้เลือกตามความชอบของนักลงทุนแต่ละคนนับเป็นทางออกที่ดีสำหรับนักลงทุนทุกๆ คน ไม่ว่าคุณอยากที่จะเสี่ยงมากหรืออยากจะเสี่ยงน้อยหรือมีเงินมาก เงินน้อยก็ตาม
การจัดสัดส่วนการลงทุน
ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่เราต้องพิจารณาตัดสินใจก่อนก็คือ
การจัดสรรเงินลงทุน ซึ่งโดยปกติจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกก็คือ เงินฝากธนาคาร เงินส่วนนี้มีความจำเป็นที่จะต้องดำรงเอาไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเผื่อไว้ในยามฉุกเฉินซึ่งแต่ละคนมีความต้องการใช้ที่แตกต่างกัน แต่อยากจะให้แนวทางเอาไว้ก็คือเราต้องคิดเอาไว้ก่อนว่าในแต่ละเดือนนั้นเรามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเป็นเงินเท่าไหร่ และต้องเผื่อเอาไว้เท่าไหร่ ซี่งโดยประมาณก็น่าจะอยู่ประมาณ 3-5 เดือน
ในส่วนที่สองคือการลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้นั้น วันนี้แม้ว่าจะไม่น่าดึงดูดใจเหมือนแต่ก่อนแต่ก็มิได้หมายความว่าไม่ควรจะเข้าไปลงทุนเลย เนื่องจากผลตอบแทนก็ยังคงสูงกว่าการฝากเงินอยู่ดีแม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แถมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและมีข้อมูลและเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ก็ทำการปรับพอร์ตการลงทุนให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย สัดส่วนการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของความกลัวความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคน
ส่วนที่สามคือการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่นั้นจะมีความเสี่ยงหรือความผันผวนที่สูงกว่า นักลงทุนไม่ควรผลีผลามเข้าไปลงทุนตามภาวะของตลาดที่ร้อนแรงหรือจากการฟังจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่บอกให้ลงทุนในหุ้นตัวนั้นหรือตัวนี้ และที่สำคัญก็คือ ก่อนการลงทุนแต่ละครั้งเราควรศึกษาข้อมูลของบริษัทที่เราสนใจจะเข้าไปซื้อให้ละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดีจริงๆ เมื่อเจอบริษัทที่ดีแล้วก็ควรศึกษาราคาการเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนั้นๆ เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบว่าราคาที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้นสูงเกินไปแล้วหรือยัง สัดส่วนการลงทุนก็ขึ้นอยู่กับความกล้าในการรับความเสี่ยงของเรา แต่มีคนเคยให้แนวคิดเอาไว้ว่าให้ใช้หลัก 110 เหมือนน้ำหนักและส่วนสูง แต่คราวนี้เราเอาอายุของเราลบออกจาก 110 ตัวเลขที่ได้ก็จะเป็นสัดส่วนที่เราควรลงทุนให้หุ้นหรือกองทุนหุ้นนั่นเอง เช่น ถ้าตอนนี้เราอายุ 35 สัดส่วนก็จะเท่ากับ ร้อยละ 75 ซึ่งค่อนข้างสูง แต่ถ้าเราอายุ 45 สัดส่วนก็จะเท่ากับร้อยละ 65
การวิเคราะห์หุ้นที่จะลงทุน
ปัจจุบันมีหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 400 หุ้นทำให้ยากที่นักลงทุนจะพิจารณาศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ในส่วนนี้จะเสนอแนวทางในการคัดเลือกหุ้นเพื่อให้เราวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น ก่อนอื่นเราต้องกำหนดนโยบายของการลงทุนก่อนว่าเราจะเน้นการลงทุนหุ้นที่มีลักษณะใด ซึ่งพอจะแบ่งคร่าวๆเป็น 3 ประเภทคือ
Value Stock หรือหุ้นที่มีราคาต่ำเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นหรือเรียกว่าหุ้นดีราคาถูกก็ได้ โดยปกติ เราจะพิจารณาว่าหุ้นใดเป็น Value Stock ได้จากการดูจากอัตราส่วนของราคาของหุ้นนั้นเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่แสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท เช่น ราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E ratio) ราคาต่อยอดขาย (P/S ratio) ราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/B) หรือผลตอบแทนจากการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) เป็นต้น โดยหุ้นที่มีราคาต่ำเมื่อเทียบกับผลกำไร หรือยอดขาย หรือมูลค่าหุ้นทางบัญชี ก็จะถูกจัดเป็นหุ้นประเภท Value Stock ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างมากเนื่องจากมีหลักการที่ชัดเจนและมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ
Growth Stock หรือหุ้นที่มีการเติบโตสูง ซึ่งอาจพิจารณาได้จากอัตราการเติบโตของกำไร หรือของยอดขาย ซึ่งโดยปกตินักลงทุนมักจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นประเภทนี้ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับกำไรหรือยอดขายหรือมูลค่าหุ้นทางบัญชี เนื่องจากคาดว่าบริษัทเหล่านี้จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในอนาคต หุ้นกลุ่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในยุคที่กลุ่มธุรกิจดอดคอม หรือพวกไฮเทค กำลังอยู่ในความนิยม แต่โดยปกติหุ้นกลุ่มนี้มักจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่าเพราะอนาคตอาจไม่เป็นไปตามที่เราคาดก็ได้
กลุ่มผสม หรือ Blend เป็นหุ้นกลุ่มกลางๆ ที่ไม่ถูกจัดอยู่ในหุ้นทั้งสองกลุ่ม
เมื่อเราเลือกรูปแบบที่เราชอบได้แล้วก็เท่ากับเราสามารถจำกัดขอบเขตของการลงทุนลงไปได้ถึง 1 ใน 3 หรือเราอาจจำกัดลงไปอีก เช่น เราอาจแบ่งหุ้นลงไปอีกตามขนาดของหุ้นนั้นๆ เช่น หุ้นที่มีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งทำให้เราสามารถโฟกัสหุ้นที่เราสนใจเพียงไม่กี่หุ้น
หลังจากนั้นเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆของบริษัทนั้นๆให้ละเอียดทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น สถานะและความแข็งแกร่งทางการเงินตลอดจนราคาเป้าหมายของหุ้นนั้น รวมถึงข้อมูลการเคลื่อนไหวของราคาเชิงเทคนิคเพื่อดูถึงจังหวะและความน่าสนใจของหุ้นนั้นๆ ตลอดจนข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ภาวะอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ประวัติและความสามารถของผู้บริหาร ตลอดจนกลยุทธ์และนโยบายในอนาคต เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถลดจำนวนหุ้นที่จะลงทุนและให้มั่นใจว่าหุ้นที่เราจะลงทุนนั้นเป็นหุ้นที่ใช่จริงๆ นอกจากนั้นเราควรลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง ซี่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนลงได้ ท้ายสุดเราอาจกำหนดเงื่อนไขในการออกจากการลงทุนเอาไว้เช่นอาจตั้งเป้าไว้ว่าจะขายเมื่อราคาสูงหุ้นปรับตัวสูงกว่าราคาเป้าหมาย หรืออาจตั้งเงื่อนไขในการจำกัดการขาดทุนไว้เช่นที่ 8% ของราคาซื้อเพื่อจำกัดความเสี่ยงในกรณีที่ภาวะตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางที่เราคาดการณ์ก็ได้ซึ่งจะช่วยให้เราถอยออกมาเพื่อศึกษาข้อมูลให้ละเอียดอีกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนใหม่
ดร. ศุภกร สุนทรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)