สหรัฐอเมริกา-จีน-น้ำมัน กับแรงดีดสะท้อนกรณี"ซีนูค"

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

สหรัฐอเมริกา-จีน-น้ำมัน กับแรงดีดสะท้อนกรณี"ซีนูค"

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ข่าวใหญ่เมื่อประมาณกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงพลังงานระหว่างประเทศนั้นคงหนีไม่พ้นกรณี "ซีนูค" บริษัทพลังงานอันดับ 3 ของจีนประกาศล้มแผนซื้อกิจการ "ยูโนแคล" บริษัทน้ำมันอเมริกัน เปิดทางให้ "เชฟรอน เท็กซาโก" เข้าควบรวมกิจการของบริษัทอเมริกันด้วยกันสมใจอยาก

ว่ากันว่าในนาทีสุดท้าย คณะกรรมการบริหารของซีนูคก็ยังอนุมัติให้เพิ่มราคาสู้กับเชฟรอน แต่คนที่ตัดสินใจคือ ฝู่ เฉิง หยู ล้มดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วยสาเหตุของเงินเพียง 500 ล้านดอลลาร์

เงิน 500 ล้านดอลลาร์ที่ว่านี้ เป็นเงินที่เกิดจากข้อตกลงระหว่าง เชฟรอน กับ ยูโนแคล เมื่อครั้งที่คณะกรรมการบริหารของยูโนแคลยอมรับข้อเสนอของเชฟรอน ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ยูโนแคลจะชดเชยค่าเสียเวลาหากข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นผลในทางปฏิบัติให้เชฟรอน

ยูโนแคล ผลักภาระเงินก้อนนั้นให้กับซีนูค ซึ่งปฏิเสธ และประกาศยกเลิกความพยายามครั้งนี้ในที่สุด

แต่นักวิเคราะห์ทั่ววงการเล็งเห็นตรงกันว่านั่นเป็นเรื่องของฟางเส้นสุดท้ายมากกว่า สาเหตุที่แท้จริงของการล้มดีลครั้งนี้น่าเป็นเพราะซีนูคเอือมระอากับมิติในทางด้านการเมืองของกรณีนี้ที่ส่งผลให้ "ราคา" ของการซื้อกิจการครั้งนี้ถือว่า "แพงกว่าที่ควรจะเป็น" ไปมหาศาล

ทั้งๆ ที่ซีนูคพยายามแก้ปมการเมืองด้วยการประกาศชัดเจนว่า ถ้าได้เป็นเจ้าของยูโนแคลจริงก็จะขายกิจการของบริษัทในส่วนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด แต่ความพยายามครั้งนี้ของซีนูคก็ไม่วายถูกมองว่าไปกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา

คำถามที่ถามกันทั้งวงการต่อมาก็คือ จีนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไปจากนี้ นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายของการไล่ล่าเพื่อครอบครองแหล่งน้ำมันและพลังงานของจีนหรือไม่ ?

ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านพลังงานของทางการจีนมาตลอดจะเห็นว่า จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปครอบครองหรือไม่ก็มีอิทธิพลเหนือแหล่งน้ำมันดิบสำคัญของโลก

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ขัดขวางความพยายามครั้งสำคัญๆ ของจีนมาตลอดรวมทั้งครั้งนี้ด้วย

ก่อนหน้านี้จีนพุ่งเป้าไปใช้อิรักเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองในอนาคต ไม่เพียงพยายามไปลงทุนมากมายเท่านั้นแต่ยังดำเนินการถึงกับเป็นตัวตั้งตัวตีให้สหประชาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิรักอีกต่างหาก

สงครามโค่นล้มซัดดัมของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทำลายแผนการทุกอย่างของจีนไปในพริบตา ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีแหล่งน้ำมันสำรองอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก อย่างซาอุดีอาระเบียและอิรัก เป็นพันธมิตรลึกซึ้งขนาดแนะนำไปในทิศทางไหนก็ได้นั้น จีนกลับจำเป็นต้องไล่ล่าหาความมั่นคงด้านพลังงานของตนต่อไป

ข้อเท็จจริงสำคัญเบื้องหลังความพยายามดังกล่าวนี้ก็คือการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องในระดับ 8-10 เปอร์เซ็นต์ยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ ในห้วงเวลาดังกล่าว จีนเปลี่ยนจากประเทศที่ผลิตน้ำมันได้พอเพียงกับความต้องการภายในประเทศ มาเป็นผู้บริโภคน้ำมันสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง

ถ้าจะคิดเป็นรายวัน จีนต้องการใช้น้ำมันสูงถึง 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และที่สำคัญก็คือ 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการบริโภคน้ำมันดังกล่าวนั้นจีนจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ความต้องการน้ำมันจากต่างประเทศของจีนในขณะนี้จึงเท่ากับประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่ากับปริมาณน้ำมันดิบที่คูเวตผลิตได้พอดิบพอดี

ความล้มเหลวจากกรณีของอิรัก ต่อด้วยการไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามซื้อทรัพย์สินที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในไทย และรัสเซีย กับล่าสุดกรณีความล้มเหลวของยูโนแคลนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไม่มีทางที่จะทำให้จีนเลิกล้มความพยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตัวเองในอนาคต

ด้วยเหตุผลที่เป็นความจำเป็นดังกล่าวแล้ว จีนมีทางออกอยู่ 2 ทางเลือกในตอนนี้ ทางแรกก็คือพยายามเข้าไปซื้อกิจการด้านพลังงานของประเทศตะวันตกอย่างกรณีของยูโนแคลต่อไป แต่อาจเปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นเป้าหมายอื่น

นักวิเคราะห์และนักการธนาคารบางคนเชื่อว่า หุ้นของบริษัท รอยัล ดัตช์ เชลล์ ในวู้ดไซด์ ปิโตรเลียม อาจตกเป็นเป้าหมายของจีนต่อจากยูโนแคล

ว่ากันว่า ในตอนนี้ เปโตรไชน่า ยักษ์ใหญ่ที่สุดของวงการพลังงานของจีนได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนหลายพันล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าที่จะเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทต่างๆ ในต่างประเทศมากถึง 10 บริษัท

ถึงตอนนี้ บริษัทร่วมทุนที่ว่านี้เป็นเจ้าของลานน้ำมันเป็นของตัวเองอยู่แล้ว 1 แห่งมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในเอกวาดอร์ โดยประมูลได้มาจากการขายทอดตลาด เอ็นคาน่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบอิสระใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ

ในขณะที่ เปโตรไชน่า เองก็จับตาไปที่ เปโตรคาซักสถาน บริษัทน้ำมันสัญชาติแคนาดาที่มีทรัพย์สินอยู่ในเอเชียกลาง โดยอาจจะเข้าไปประมูลด้วยมูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

ทางเลือกอีกทางนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่สหรัฐอเมริกาพยายามสกัดไม่ให้จีนซื้อยูโนแคล จะส่งผลให้การไล่ล่าหาพลังงานของจีนกลายเป็นการ "แยกขั้ว" มากขึ้นกว่าเดิม โดยจะทำให้จีนหันเข้าหาพลังงานที่มีอยู่ในประเทศอย่าง อิหร่าน หรือ ซูดาน ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ "อยู่ในแถว" ของสหรัฐอเมริกา

เชื่อกันว่า จีนเคยขายจรวดให้กับอิหร่านเป็นจำนวนหลายร้อยหัวรบ ส่วนใหญ่เป็นจรวดที่ใช้เพื่อการโจมตีเรือรบ นั่นอาจเป็นการถางทางสำหรับการทำความตกลงเรื่องพลังงานกับอิหร่านในอนาคต

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จีนถึงกับใช้สิทธิวีโต้ข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาให้ดำเนินการต่อประเทศซูดาน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนี้ก็คือ ซูดานเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันราวๆ 7 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในขณะนี้

เจอรี่ เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรธรรมชาติศึกษาในวอชิงตันถามเอาไว้ว่า

ถ้าหากเงินที่จะซื้อน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาลของจีนไหลไปกองรวมกันอยู่ที่ประเทศซึ่งสหรัฐอเมริกาเห็นว่าเป็นประเทศ "ชั่วร้าย" อะไรจะเกิดขึ้น ?

และสหรัฐอเมริกาจะตำหนิใครได้ นอกจากตำหนิตัวเอง !
ล็อคหัวข้อ