ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อเสรีเหล็ก สมคิดมั่นใจพบทางออกFTA

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
woody
Verified User
โพสต์: 3763
ผู้ติดตาม: 0

ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อเสรีเหล็ก สมคิดมั่นใจพบทางออกFTA

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อเสรีเหล็ก สมคิดมั่นใจพบทางออกFTA

โดย ผู้จัดการรายวัน 7 พฤษภาคม 2548 01:22 น.


ญี่ปุ่นลดท่าทีแข็งกร้าวกดดันไทยเปิดเสรีเหล็กทันที ยื่นข้อเสนอใหม่เปลี่ยนแปลงยืดกรอบเวลาออกไป หวังลดกระแสต้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมไทย หร้อมหนุนไทยสู่ดีทรอยต์แห่งเอเชีย แต่มีขู่ถ้าตัดสินใจช้าอาจเสียเปรียบชาติอื่น สมคิด รับผ่าทางตันเจรจาเอฟทีเอ โยนทีมเจรจานำไปพิจารณาหาจุดลงให้ได้ ตั้งเป้าเซ็นสัญญาภายในเดือน ก.ค.นี้ ทักษิณ ชมคณะเจรจาทำหน้าที่สุดยอดแล้ว แต่โวยกลุ่มธุรกิจเห็นแก่ส่วนตัว เจอผลกระทบก็ร้องลั่นไม่ยอมปรับตัว ด้านเอกชนจี้ให้พิจารณาดุลการค้าถ้าเปิดแล้วขาดดุลก็ไม่ต้องเซ็น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม(เมติ) ของญี่ปุ่น ว่าบรรยากาศดีการหารือในครั้งนี้ ถือว่าดีมาก เนื่องจากเป็นการพูดคุยที่เข้าใจซึ่งกันและกัน และทั้งสองฝ่ายต่างตอกย้ำความหมายของ คำว่า หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partner Ship : EPA) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือทุกด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และการยกระดับทรัพยากรมนุษย์

เรื่องเอฟทีเอเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆ ของ EPA เท่านั้น ซึ่งรัฐมนตรีเขาเอง ต้องการให้ย้ำคำว่า EPA ว่า จะมีทาง อะไรบ้าง ที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศไทยได้นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ในเรื่องของเหล็กที่ยังเป็นปัญหาหาข้อสรุปไม่ได้นั้น ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้เสนอทางออกมาให้ ซึ่งตนเองได้มอบให้ทางคณะเจรจาของไทยไปแล้ว ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ก็ได้ย้ำกับทางญี่ปุ่นว่า อะไรที่ต้องใช้ระยะเวลา จำเป็นต้องขอเวลาให้กับฝ่ายไทยได้ปรับตัวเพื่อพัฒนาเสียก่อน รวมทั้งขอให้ทางญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศไทยพัฒนาด้วย

ส่วนในที่สุดแล้วจะต้องเปิดเสรีเหล็กหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ประเด็นคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้สามารถตกลงกันได้ในอนาคตข้างหน้า ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุป เพียงแต่รับข้อเสนอทางออกของญี่ปุ่นมาพิจารณาเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นเรื่องของทีมเจรจาของ 2 ฝ่าย ที่จะต้องไปตกลงในรายละเอียดกันต่อไป

เรื่องเหล็ก คงไม่ใช่เรื่องที่พูดกันในตอนนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายเจรจาต้องไปนำไปเจรจากัน ถ้าเป็นทางออกที่รับไม่ได้ ก็ไม่ตกลง เขาพียงแต่เสนอมาให้เราพิจารณาเท่านั้น ส่วนสินค้าเกษตรก็ต้องอยู่ในแพ็คเกจเดียวกัน ยังไม่จบอะไรสักอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ เขาเองก็จะพยายามไปบอกกับทีมเจรจาฝ่ายญี่ปุ่น ส่วนเราเองก็บอกทีมเจรจาฝ่ายไทยให้หันหน้าเข้าหากัน โดยยึดเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดทั้ง 2 ฝ่ายเป็นหลัก นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายเจรจา จะต้องหาลู่ทางในการหาจุดสรุปร่วมกัน เพื่อว่า นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย จะได้สามารถเซ็นข้อตกลงร่วมกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้ ภายในเดือนช่วง กรกฎาคม 2548 นี้ ส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชนนั้น ขอย้ำว่า ไม่ต้องกังวล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลผู้ประกอบการฝ่ายไทยอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลจะมองประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงมองแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ผมมองว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สำคัญมาก ในเชิงอุตสาหกรรม ถ้าเรากับเขาเป็นหุ้นส่วนกันได้ และมีความใกล้ชิดมากกว่าคนอื่น อันนี้เป็นประโยชน์แน่นอน ประเทศอื่นก็พยายามดูลู่ทางนี้อยู่ เพียงแต่เขามองว่า เมืองไทย มีความสำคัญมากๆ เขาถึงอยากเร่งกรณีเมืองไทยก่อนนายสมคิด กล่าว

**ญี่ปุ่นลดท่าทีแข็งกร้าวยื่นข้อเสนอใหม่

ด้าน นายเคตะ นิชิยามา ผู้อำนวยการกองเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(เมติ) เปิดเผยถึงผลการเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของ นายโชอิชิ นาคากาวา รัฐมนตรีเมติของญี่ปุ่น ว่า ทั้ง2 ฝ่าย มีความเห็นร่วมกันว่า กรอบการเจรจาจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทางญี่ปุ่นเห็นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของการเติบโตด้านอุตสาหกรรมของภูมิภาคในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความกังวลใจของรัฐบาลไทย ทางญี่ปุ่นจึงได้เสนอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเรื่องการเปิดเสรีเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ จากเดิมที่จะให้ลดอัตราภาษีเหลือ 0% ทันที หลังเซ็นข้อตกลงระหว่างกัน เป็นผ่อนปรนกรอบระยะเวลาออกไปก่อน เพื่อให้รัฐบาลไทยได้คำนึงถึงผู้ประกอบการไทย แต่ยังบอกในรายละเอียดไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาของคณะทำงานไปตกลงในรายละเอียดร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย โดยทางญี่ปุ่นมีโครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์กับไทย ซึ่งญี่ปุ่นจะช่วยทำให้เทคโนโลยีพื้นฐานอุตสาหกรรมเหล็กในไทยแข็งแกร่งขึ้นช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมทางด้านเทคโนโลยีดีขึ้น

นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย (ดีทรอยซ์ ออฟ เอเชีย) โดยจะสนับสนุนอุตสาหรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นของคนไทยและจะช่วยฝึกอบรมแรงงานไทยให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นอย่างน้อย5,000คนรวมทั้งจะจับคู่ธุรกิจชิ้นส่วนระหว่างผู้ประกอบไทยและผู้ประกอบการรถยนต์ของญี่ปุ่นด้วย

นายเคตะ กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลาเซ็นข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ในเดือน กรกฎาคม 2548 นี้ เป็นข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยเอง สาเหตุน่าจะเป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังเจรจาทำเอฟทีเอกับ อาเซียน ดังนั้น ทางไทยจึงต้องการให้การทำเอฟทีเอไทยกับญี่ปุ่นเรียบร้อยก่อน

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงว่า การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่น ของประเทศไทย ไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้า เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และการเปิดเสรีระหว่างกันจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ เพราะในปี ค.ศ.2010 ญี่ปุ่นจะทำข้อเอฟทีเอกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีผลทำให้ภาษีในการนำเข้าชิ้นส่วนมาผลิตในประเทศเหล่านั้นเป็น 0% หมายความว่า ต้นทุนในการผลิตจะต่ำ ดังนั้น หากภายในปี 2010 ไทยยังมีกำแพงภาษีสินค้าเหล่านี้อยู่ ก็จะทำให้เกิดการเสียเปรียบประเทศอื่นได้

ข้อเสนอใหม่ของญี่ปุ่น จะช่วยลดความกังวลใจของผู้ประกอบการไทย แต่ระยะเวลายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นเมื่อใด ซึ่งญี่ปุ่นเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ประกอบการไทยที่อาจมีการกำหนดโควตาเพื่อลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในอุตสาหกรรมเหล็กบางชนิดที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเห็นว่าเราควรมีการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนระหว่างกัน ภายในปี 2553 เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังจะมีข้อตกลงเปิดเสรีกับอาเซียนประเทศอื่น ๆ หากไทยเปิดเสรีด้านนี้ล่าช้า ก็จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยแข่งขันได้ลำบาก นายเคตะ กล่าว

**เผยข้อเสนอใหม่ของญี่ปุ่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือกันเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (6 พ.ค.) นายโชอิจิ นาคากาวะ ได้แจ้งกับนายสมคิดว่าญี่ปุ่นได้เสนอทางออกในการเปิดเสรีเหล็ก ว่า กรณีที่เป็นเหล็กที่ไทยผลิตได้ หากในแต่ละปีมีความต้องการใช้มากกว่าที่ไทยผลิตได้ ก็ขอให้ไทยเปิดเสรีในส่วนนี้ ส่วนจะมีอัตราภาษีเท่าใด และจะจำกัดโควตายังไง ให้เป็นหน้าที่ของคณะเจรจา

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้นายสมคิดระบุว่าโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นทางออกที่ดี และให้เป็นหน้าที่ของคณะเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะไปตกลงและหาทางออกกันต่อไป และจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ค.นี้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในส่วนของรถยนต์ซีซีสูงที่ทางญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเปิดเสรีนั้น นายสมคิดกล่าวในที่ประชุมว่าเรื่องรถยนต์เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และดูแลทั้งระบบ โดยที่ผ่านมา ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไปแล้ว และทำให้ทุกค่ายรถยนต์ได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ดังนั้น ในการเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นก็จะใช้หลักการเดียวกันนี้ คือ จะทำในภาพรวม และเมื่อทำอะไรไปแล้ว ต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด

ส่วนการเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์ นายสมคิดย้ำว่าเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมเข้มแข็ง และจะทำทุกวิถีทางที่จะให้อุตสาหกรรมของไทยเติบโต หากจะมีการเปิดเสรีก็ต้องมีการศึกษาให้ถี่ถ้วน และเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจากันต่อไป ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเจรจาในเฟส 2 หลังจากที่เฟส 1 ได้ข้อยุติแล้ว

วันเดียวกันนี้ เวลา 14.00 น. นายโชอิจิ นาคากาวะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษกทำเนียบรัฐบาล ได้เปิดเผยรายละเอียดในการหารือว่านายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีเมติ และแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเจรจาเอฟทีเอ

ขณะที่รมว.เมติได้แสดงความกังวลต่อความห่วงใยของฝ่ายไทยจากที่ได้มีการหารือร่วมกันในการเจรจาหลายรอบที่ผ่านมา พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นมีความกังวลค่อนข้างมากในเรื่องการลดภาษีในหมวดสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเหล็กแผ่นรีดร้อน และระบุว่าไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น เพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ การพัฒนาของฐานการผลิตสินค้าญี่ปุ่นในไทยจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง การจ้างงาน และการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไทย อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ที่สำคัญของญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นพ้องร่วมกันว่าการจัดทำเอฟทีเอร่วมกันนั้น จะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศในลักษณะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ด้านพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไทยหวังว่าแม้การเจรจาจะขลุกขลักไปบ้าง แต่ด้วยพื้นฐานในประเด็นห่วงกังวลที่คล้ายคลึงกันจะช่วยให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้อย่างดี และเชื่อมั่นในคณะเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายที่จะคำนึงถึงประเด็นอ่อนไหวอย่างละเอียดถี่ถ้วนและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน และหวังอีกว่าการทำเอฟทีเอจะทำให้ไทยกลายเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศอาเซียน

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้เข้าร่วมในการหารือในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า การพบปะหารือกันครั้งนี้เป็นไปแบบฉันท์มิตร และมีการเสนอว่าอะไรที่ทำให้การเจรจาติดขัดก็อย่าให้ติดขัด เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะให้การทำเอฟทีเอจบลงได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็พูดชัดว่าการทำเอฟทีเอควรจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกระชับมากขึ้น ส่วนเรื่องที่ยังเป็นปัญหา ไม่ขอพูด เพราะเป็นเรื่องที่หัวหน้าคณะเจรจาจะไปเจรจากันต่อ แต่ยอมรับว่าในการเจรจาต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน โดยหมูไปไก่ต้องมา

ขณะที่ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การเจรจารอบที่ 8 ต้องมีขึ้น และตนจะเป็นผู้ไปเจรจา โดยเชื่อว่าจะจบได้ในเดือนก.ค.นี้แน่นอน ส่วนเรื่องเหล็กที่ยังเป็นปัญหา ตอนนี้มีข้อเสนอของภาคเอกชนแล้ว ซึ่งตนจะนำไปเจรจาต่อรองกับทางญี่ปุ่นต่อไป

**ทักษิณจวกท่าทีกลุ่มอุตสาหกรรมไทย

ก่อนหน้าการเข้าพบรมว.เมติ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการไทยซึ่งแสดงท่าทีกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูภาพรวม โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งบางธุรกิจไม่ยอมปรับตัวเลยทั้งชีวิตอยู่แบบสบาย ๆ พอจะมีการแข่งขันกันขึ้นมาก็ร้องลั่น แต่ถ้าการแข่งขันเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ทำให้ธุรกิจส่วนนั้นอาจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง ก็ต้องยอม แค่นั้นยังไม่พอเราต้องดูปัจจัยอื่นด้วย ว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นจะให้โอกาสเราดีกว่านั้นหรือไม่ เช่นให้โอกาสเกษตรขายสินค้าได้มากขึ้น ตลาดดีขึ้น ประชาชนผู้บริโภคได้ประโยชน์เราก็ต้องยอม

แต่แน่นอนอุตสาหกรรมรายสาขาเขาก็ต้องโวย แต่รัฐบาลไม่ใช่ว่ายอมแล้วจะไม่ดูแลเขา เราจะช่วยดูแลโดยเขาจะต้องปรับตัวเอง ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ตนเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2544 ได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนปรับตัว จะอยู่เฉยไม่ได้เพราะโลกมันแข่งขัน อย่างน้อยเราเป็นสมาชิก WTO ในปี 2006 จะเห็นการเปิดเสรีเยอะโดยไม่ต้องมีเอฟทีเอ ฉะนั้นถ้าไม่ปรับตัวก็จะลำบาก จะอยู่ไปเรื่อยๆ วันๆ แบบสบายๆ พอล้มมารัฐบาลก็เข้าไปแบกอุ้มแบงค์ที่เป็นเอ็นพีแอลอย่างนี้มันไม่ได้นายกรัฐมนตรีกล่าว

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะสนใจผู้ผลิตแล้วทิ้งผู้บริโภคมันไม่ได้ ต้องดูหลายๆ อย่าง ซึ่งวันนี้ยอมรับว่าสินค้าบางตัวเราสู้เขาไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องรีบปรับตัวถ้าจะนอนรอเฉยๆ คงต้องรอรุ่นเหลนถึงจะสู้เขาได้ ซึ่งวันนี้เราสนใจการเปิดตลาดสินค้าเกษตรในตลาดญี่ปุ่น เพราะตลาดญี่ปุ่นอาหารแพงมาก อย่างเช่นมังคุด 3 ลูก 500 บาท ถ้าเราเข้าตลาดญี่ปุ่นได้

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะเจรจาของไทยว่า ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วโดยเฉพาะนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย ญี่ปุ่น เป็นคนที่พร้อมที่สุด

ที่ผ่านมาคณะเจรจาของญี่ปุ่นก็ร้องลั่นเลยเมื่อเจอคุณพิศาล ซึ่งเราคิดว่าคุณพิศาลเขาทำหน้าที่ของเขาได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร การเจรจาก็อย่างนี้แหละมีดึงมีผ่อน การเจรจาจบเมื่อไรก็เซ็นสัญญาเมื่อนั้น ไม่จบก็ไม่เซ็นจะไปกำหนดระยะเวลาไม่ได้ ต้องให้จบและเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายนายกฯกล่าว

ส่วนหลังการเจรจาโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 48 จะสามารถสามารถเซ็นสัญญาร่วมกันได้เลยหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตั้งเป้าได้ แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะเราต้องดูให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

**ขาดดุลเพิ่มก็ไม่ต้องเซ็น

นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลักการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA คือการที่คู่ตกลงต้องการขยายการค้าร่วมกันและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ซึ่งหากทำได้ตามหลักการจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก ดังนั้นทั้งหมดจึงอยู่ที่คณะเจรจาและรัฐบาลที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนเอกชนมีหน้าที่ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้น

" รัฐจะต้องพิจารณาหลักการว่าถ้าทำแล้วไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ คือมองภาพรวมอย่างนี้จะดีกว่า ซึ่งก็น่าจะประเมินได้คร่าวๆ อยู่แล้ว ดังนั้นหากเห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์ในภาพรวมก็ไม่ต้องไปเซ็นข้อตกลงก็เท่านั้น"นายเกียรติพงษ์กล่าว

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มเหล็กส.อ.ท.กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวนั้นเห็นว่าที่ผ่านรัฐให้เวลาปรับตัวก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่หมายถึงการให้ปรับตัวบนพื้นฐานของการทำข้อตกลงที่ไทยเสียเปรียบตรงนั้นรัฐบาลไม่ได้ระบุไว้ และเข้าใจว่าการเสียเปรียบ ได้เปรียบต้องผสมกันไป แต่รัฐเองก็ควรจะตอบให้ได้ว่าแล้วที่ไทยได้เปรียบคืออะไรบ้าง เสียเปรียบมีอะไรบ้าง

" ต้องมองว่า Free Trade กับ Fair Trade มันต่างกัน ขอย้ำว่าทุกอย่างต้องมีเหตุและผล และเอกชนก็ไม่ได้คัดค้านการทำ FTA แต่อย่างใดเพราะหากคัดค้านการลงนามกับประเทศต่างๆ ก่อนหน้านั้นคงไม่เกิดขึ้นหรอก แต่เห็นกรณีของญี่ปุ่นจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว"นายกรกฎกล่าว

**FTAได้หรือเสียอยู่ที่เจรจา

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ FTA ส.อ.ท. กล่าวว่า การประชุมครบรอบ 10 ปีที่เจนีวาเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งไทยเข้าร่วมประชุมด้วยนั้นมีการถกเถียงกันเรื่องประเด็น FTA ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาไปเร่งทำ FTA กับประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องระมัดระวังการเจรจาเป็นพิเศษเพราะมีโอกาสจะเสียเปรียบมากกว่าได้เปรียบ เพราะประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อุตสาหกรรมจะเข้มแข็งขณะที่ภาคเกษตรที่ประเทศกำลังพัฒนาหวังจะเข้าไปทำตลาดเพิ่มจะมีการปกป้องสูง

นอกจากนี้ในเวทีขององค์การการค้าโลกหรือ WTO นั้นประเทศที่พัฒนาแล้วภาษีจะลดเป็น 0-5% อยู่แล้วในปี 2553 และบางรายการก็อยู่ในระดับดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีภาษีปกป้องสินค้าตัวเองสูงอยู่และจะใช้เวลาลดในเวที WTO หลังประเทศพัฒนาแล้ว 10 ปี เท่ากับเป็นการลดแต้มต่อในเวที WTO ไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
CEO
Verified User
โพสต์: 1243
ผู้ติดตาม: 0

ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อเสรีเหล็ก สมคิดมั่นใจพบทางออกFTA

โพสต์ที่ 2

โพสต์

อย่าไปยอมมัน ไอ้ยุ่นเจ้าเล่

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ผ่าทางตันเอฟทีเอญี่ปุ่น งัดโควตาคุมนำเข้าเหล็ก

"สมคิด" แจงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ฉลุย ลงนาม ก.ค.นี้ หลังผ่าทางตันเหล็ก-รถยนต์ สำเร็จแล้วโดยญี่ปุ่นยอมถอย หันมาใช้ระบบโควตานำเข้าเหล็ก ในส่วนที่ลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้มีเวลาปรับตัว และถอนข้อเสนอภาษีชิ้นส่วนรถยนต์และนำเข้ารถยนต์เกิน 3 พันซีซี ออกไปครั้งหน้า พร้อมคลอดโครงการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก (Japan-Thailand Steel Industry Cooperation Program )

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับนายโชอิจิ นาคากาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เมติ) ถึงแนวทางการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสองประเทศ หรือเอฟทีเอ เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) ว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำถึงความหมายของคำว่าการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ โดยเรื่องเอฟทีเอเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในความร่วมมือดังกล่าวเท่านั้น และยังไม่ข้อสรุปเรื่องการเจรจาดังกล่าว โดยญี่ปุ่นได้เสนอทางออกในประเด็นปัญหาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กมาให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งตนได้มอบหมายให้หัวหน้าคณะเจรจาไปพิจารณาเพื่อหาจุดสรุปร่วมกัน

"รมว.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ต้องการให้ย้ำถึงความร่วมมือของคำว่า "EPA "หรือ ECONOMIC PARTNERSHIP ซึ่งจะเป็นในลักษณะที่ว่าทางญี่ปุ่นมาอะไรบ้างก็จะมาช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังการหารือแล้วหัวหน้าเจรจาทั้งสองฝ่ายก็จะไปดูร่วมกัน เพื่อหาจุดสรุปร่วมกันเพื่อให้นายกรัฐมนตรีของสองฝ่ายร่วมลงนามข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในเดือน ก.ค.นี้"

เขาย้ำว่า ข้อสรุปที่จะตกลงกันนั้นจะต้องเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเขาก็เข้าใจดี ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ขณะนี้ เขาเสนอแนวทางออกมาให้ ซึ่งตนก็ได้มอบให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยไปแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี โดยอะไรที่เราต้องใช้เวลาก็ต้องมีเวลาให้ฝ่ายไทย ซึ่งเราได้บอกไปว่าบางเรื่องของเราต้องมีเวลาในการพัฒนา และอยากให้เขามีส่วนช่วยเราพัฒนาด้วย

ญี่ปุ่นยอมถอดภาษีชิ้นส่วนรถยนต์

ดร.สมคิด กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าวญี่ปุ่นยอมที่จะถอดขอเสนอการลดภาษีในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากไทยต้องการยกระดับคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีญี่ปุ่นเข้ามาช่วย แต่อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยเกี่ยวข้องจำนวนมาก ต้องใช้เวลาหารือในรายละเอียดทำให้ไม่สามารถตกลงได้ในรอบนี้

ส่วนข้อเสนอการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ (CBU) ขนาด 3,000 ซีซีขึ้นไป โดยไทยแจ้งว่าได้ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ขนาดเล็กไปแล้ว ซึ่งทุกค่ายทั้งญี่ปุ่นและยุโรปพอใจ เพราะการปรับภาษีต้องดูทั้งระบบ เพื่อให้ทุกค่ายได้รับประโยชน์ และรอบหน้าจะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ขนาดใหญ่

ดร.สมคิด กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอญี่ปุ่นให้ไทยลดภาษีกลุ่มเหล็กนั้น หลังหารือตกลงกันว่า จะหันมาใช้ระบบโควตาในส่วนที่ลดภาษี (Tariff Quota) แทนการลดอัตราภาษีทันที อย่างเดียวตามข้อเสนอเดิม โดยเราได้ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมเหล็กอยู่ในระหว่างการพัฒนา ขณะเดียวกัน เราต้องการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย

ส่วนญี่ปุ่นเองต้องการใช้สินค้าเหล็กที่ดี ดังนั้น จุดสมดุลที่ตกลงกันได้ และเราเตรียมความพร้อมด้วย ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนให้โดยเสนอให้ใช้ระบบโควตาแทน ซึ่งหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาซึ่งทีมเจรจาจะมีการหารือกันต่อไป

"บางเรื่องที่ไม่ทันก็ให้ไปเจรจารอบหน้า เพื่อให้ข้อตกลง เพราะฉะนั้น เรื่องการเจรจาจะเป็นการเจรจาเพื่อให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความเสียหาย และยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่คงพูดไม่ได้ และยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องเหล็ก เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องไปดูรายละเอียด ทางออกของเรื่องนี้จะต้องเป็นทางออกที่รับได้"

ด้าน นายโชอิจิ กล่าวหลังหารือ ดร.สมคิด ว่า การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีและคาดว่า ก.ค.จะสามารถลงนามร่วมกันได้

ญี่ปุ่นเสนอโครงการใหม่พัฒนาเหล็ก-อาหารไทย

ขณะเดียวกัน ในช่วงเย็น นายเคตะ นิชิยามะ ผู้อำนวยการกองกิจการเอเชีย-แปซิฟิก แห่งเมติ เปิดเผยผลการหารือระหว่างนายโชอิจิ นาคากาวา รมว.เมติ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า นายนาคากาวา โดยได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการเจรจาเปิดเสรีเหล็ก ตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการไทย โดยจากข้อเสนอเดิมที่ญี่ปุ่นเสนอให้เปิดเสรีตลาดเหล็กไทย 1 ใน 3 ส่วนทันทีด้วยการยกเว้นภาษีเหลือ 0%

นายนิชิยามะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเสนอให้มีทั้งระบบโควตาและระบบกำหนดระยะเวลา โดยในส่วนของการกำหนดระยะเวลานั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยมีเวลาปรับตัวในระหว่างช่วงดังกล่าว จะมีการคิดภาษีนำเข้า ขณะเดียวกัน จะมีการใช้ระบบโควตากับเหล็กบางส่วน ก็จะไม่มีการคิดภาษี อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการหารือระดับรัฐมนตรี ขณะที่ยังต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดในระดับคณะทำงานต่อไป

นอกจากนั้น กระทรวงเมติได้เสนอโครงการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กญี่ปุ่น-ไทย (Japan-Thailand Steel Industry Cooperation Program) เพื่อให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคัลและเทคโนโลยีต่างๆ แก่อุตสาหกรรมเหล็กไทย พร้อมกันนั้น ได้เสนอที่จะสนับสนุนโครงการครัวโลกของไทยด้วย เพื่อขยายการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นและตลาดต่างประเทศของสินค้าไทย

"พิศาล"ยันญี่ปุ่นต้องเปิดเกษตรเพิ่ม

นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การเจรจารอบที่ 8 ที่ญี่ปุ่น ในเดือน ก.ค.นี้ต้องเกิดขึ้น โดยข้อเสนอของญี่ปุ่นในการเปิดเสรีเหล็กนั้น ตนจะต้องไปดูรายละเอียดกำลังการผลิต ความต้องการเหล็กแต่ละประเภทของไทย และดูว่าเหล็กประเภทใดผลิตได้หรือไม่ได้ ก่อนที่จะไปเจรจากับญี่ปุ่น ซึ่งได้ขอข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้ว

นายพิศาล กล่าวว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อญี่ปุ่น ต้องมีการตอบสนองต่อการเจรจาสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งถ้าญี่ปุ่นไม่ตอบสนอง ไทยก็จะไม่เจรจาต่อ โดยหลังจากนี้ก่อนถึงเดือน ก.ค.นี้ จะรอคำตอบจากฝ่ายญี่ปุ่น ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นผู้ติดต่อกับกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น ว่า จะเจรจาสินค้าเกษตรกับไทยหรือไม่

นายกฯจี้ญี่ปุ่นเปิดเกษตรไทยเพิ่ม

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ไทยส่งสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะถ้าส่งออกได้มากประชาชนไทย ก็จะมีรายได้ซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น เช่น โทรทัศน์ รถจักรยานยนต์ โดยไทยส่งสินค้าเกษตรออกถึง 80% ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด จึงต้องการให้มีตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่าต้องการมาลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ นายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่า ผลประโยชน์ที่ได้จากเอฟทีเอไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยผลประโยชน์ต้องตกอยู่ที่ผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะเอฟทีเอต้องมองเป็นภาพรวม และสุดท้ายต้องไม่มีประเทศใด เสียเปรียบจากการทำเอฟทีเอ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้การเจรจามีความเป็นธรรม ทั้งสองฝ่ายเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและการจ้างงาน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ส่งผลต่อการไหลเวียนและการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ โดยรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเข้าใจความกังวลของฝ่ายไทย ในการเจรจาที่ผ่านมา ประเด็นที่ญี่ปุ่นมีความกังวลค่อนข้างมาก คือ การลดภาษีสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น เพื่อส่งออกไปประเทศต่างๆ

จี้เอกชนปรับตัวรับการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเจรจากับ รมว.เมติญี่ปุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การที่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กังวลการเปิดตลาด นั้น รัฐบาลมีหน้าที่ดูภาพรวม โดยยึดประชาชนเป็นหลัก หากมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก ได้รับผลกระทบบ้าง ก็ต้องยอมรับ ทั้งนี้ ทางภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวรับกับการแข่งขัน

"บางครั้งมีบางธุรกิจไม่ยอมปรับตัวเลยทั้งชีวิต อยู่ไปอย่างนี้ สบายๆ พอจะแข่งขันขึ้นมาร้องลั่นเลย การแข่งขันถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชนมากว่า แล้วธุรกิจส่วนนั้นต้องกระเทือน หรือปรับตัวอย่างแรง แล้วประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ก็อาจจะต้องยอม แค่นั้นยังไม่พอ แต่ต้องดูว่าทางญี่ปุ่นจะให้โอกาสดีกว่านั้นไหม เปิดตลาดมากขึ้นหรือไม่หากตลาดเกษตรดีขึ้น อุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบอาจต้องยอม" นายกฯกล่าว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจะเข้าดูแลอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่เปิดเสรีทันที แต่กำหนดช่วงเวลาในการเปิดเสรี หรือ "เฟสซิ่ง" แต่ขอให้เอกชนช่วยปรับตัวกันบ้าง ซึ่งตนเรียกร้องเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว ไม่ปรับตัวก็ลำบาก

"อยู่กันเป็น cartail bussiness อย่างนี้ไม่ได้หรอก ทุกคนต้องปรับตัว อยู่ไปวันๆ พอล้มก็ให้รัฐบาลเข้าไปแบก ซื้อหนี้เสีย อย่างนี้ไม่ได้หรอก เราจะมาสนใจผู้ผลิต แล้วทิ้งผู้บริโภคไม่ได้ ต้องดูหลายอย่าง ภาคอุตสาหกรรมของไทย หลายกลุ่มแข่งขันกับทางญี่ปุ่นไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรีบปรับตัว จะนอนรอและเปิดให้มีการแข่งขัน จนกว่าภาคเอกชนจะสู้ได้ ซึ่งถ้ารอแบบนั้นคงต้องใช้เวลาถึงรุ่นเหลน ที่ผ่านมาเหล็กก็อุ้มเยอะ แต่ก็มีหนี้เสียจำนวนมาก" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เตรียมติวเข้มเอกชนรับค้าเสรี 12 พ.ค.

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า สำหรับเวลาในการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นนั้น การเจรจาบรรลุในเวลาใด ก็สามารถลงนามได้ แต่หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จะไปกำหนดเส้นตายไม่ได้ และการที่มีการตั้งเป้าว่า จะจบในเดือน ก.ค.นี้ สามารถตั้งเป้าได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสิ้นสุด โดยต้องพิจารณาประโยชน์ภาพรวม

ในการพบกับภาคเอกชนในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ตนจะพยายามเน้นให้ภาคเอกชนปรับตัวเป็นพิเศษ การที่รัฐบาลต้องตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องนักธุรกิจ คงไม่สามารถทำได้ "ยืนยันว่าไม่มีประเทศใดเปิดเสรีแล้วเจ๊งเลย แต่เป็นประเทศพัฒนาหมดแล้ว ส่วนประเทศที่มีนโยบายปิดเวลานี้ก็ลำบากกันอยู่ ซึ่งการเปิดประเทศก็ต้องเปิดให้เป็น ไม่ใช่เปิดแบบอ้าซ่า" นายกรัฐมนตรีย้ำ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการรถยนต์ขนาด 3,000 ซีซี ได้รับผลกระทบนั้น นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันก่อนผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรปมาพบ ตนก็บอกไปว่าในเมื่อญี่ปุ่นและไทยจะเจรจากันแล้ว ก็ให้ยุโรปเข้ามาเจรจากับไทยได้ อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นการเจรจาเอฟทีเอ หรือการเจรจาทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ถ้าทางยุโรปเห็นว่าเสียประโยชน์ก็เข้ามาถ้าช้าก็ช่วยไม่ได้

ผู้ผลิตเหล็กจำใจรับข้อตกลง

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ให้มีการเปิดโควตาเหล็ก ที่ไทยผลิตไม่ได้ โดยยอมถอนข้อเรียกร้องลดภาษี 0% ออกไปนั้น เอกชนจำต้องยองรับข้อเสนอนี้ เพื่อผ่าทางตันให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ไม่มีเหตุผลที่ไทยจะเปิดตลาดเหล็กให้ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นพื้นฐานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดโควตาภาษีให้กับเหล็กบางรายการนั้น จะต้องมีการเจรจาและจัดทำข้อมูลอย่างละเอียด ว่า รายการใดที่ผลิตไม่ได้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดจับกดและชุบน้ำมัน ซึ่งญี่ปุ่นระบุว่าไทยไม่สามารถผลิตได้ แต่ตนมีหลักฐานว่าไทยสามารถผลิตและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จึงต้องให้มีสถาบันที่เป็นกลางขึ้นมากำหนดเรื่องโควตา โดยมีผู้แทนแต่ละฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนร่วมหารือ ซึ่งไทยยอมรับสถาบันเอกชนในด้านเหล้กของญี่ปุ่นที่เป็นกลางเข้ามาร่วม

ชิ้นส่วนเตรียมเพิ่มการประสานงานภาครัฐ

นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถดัดแปลงและชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหากมีการถอนเรื่องของยานยนต์ออกจากกรอบการเจรจา แม้จะเป็นเพียงการถอนชั่วคราวเพื่อรอเวลาการเจรจารอบใหม่ก็ตาม เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาในการเตรียมตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลเรื่องผลดีผลเสียให้กับภาครัฐ

นอกจากนั้น การมีข้อสรุปที่แน่นอนออกมา ก็จะเป็นผลดีกับภาคเอกชน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าผลการเจรจาจะเป็นไปในแนวทางใด ได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายเนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อชิ้นส่วนก็ต้องการรอดูผลสรุปเพื่อดูว่าการสั่งซื้อรอบใหม่จะซื้อจากแหล่งใด
การซื้อกิจการอาจไม่ใช่การเทคโอเวอร์ และการเทคโอเวอร์ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อหุ้น..
โป้ง
Verified User
โพสต์: 2326
ผู้ติดตาม: 0

ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อเสรีเหล็ก สมคิดมั่นใจพบทางออกFTA

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขนาดยังไม่เปิด เรายังขาดดุลเขาทุกๆปี อันนี้ไม่เข้าข้างใคร

คือถ้าเปิดแล้วสามารถได้ดุลเขา เปิดเลย


ตอนนี้ที่เปิด FTA มี จีน , อินเดีย , ออสเตรเลีย (คิดเฉพาะภายใต้กรอบ FTA นะครับ)

จีน เราได้ดุล (เฉพาะภายใต้กรอบ FTA คือ กลุ่มผลผลิตทางการเกษตร ไม่รวมสินค้า elec. นะ)

อินเดีย เราได้ดุล

ออสเตรเลีย เราขาดดุล และ ขาดดุลมากเทียบไม่ได้กับ 2 ประเทศข้างบน
งด เลิก เสพ สุรา บุหรี่ วันนี้ เพื่อชีวิตที่ดีของท่าน
ล็อคหัวข้อ