Dollar Carry Trade ฝันร้ายภาคสองของคนอเมริกัน ข่าวเก่า

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14783
ผู้ติดตาม: 0

Dollar Carry Trade ฝันร้ายภาคสองของคนอเมริกัน ข่าวเก่า

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บรรยง วิทยวีรศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

หลังจากที่ชาวญี่ปุ่นต้องทนกล้ำกลืนกับธุรกรรม Yen Carry Trade มานานเกือบ 2 ทศวรรษ มาวันนี้ การทำ Dollar Carry Trade กำลังจะตามมาหลอกหลอนคนอเมริกัน ที่ยังไม่ตื่นดีจากฝันร้ายทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา

Dollar Carry Trade หมายถึง การกู้ยืมเงินดอลลาร์ราคาถูก แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย ลงมาจนใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% ไปอีกนานพอสมควรนั้น

นักลงทุนรายใหญ่ได้ใช้โอกาสนี้ กู้ยืมเงินดอลลาร์ด้วยต้นทุนต่ำ แล้วนำไปแลกเป็นเงินต่างประเทศเพื่อฝากกินดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศอื่นๆ เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว กล่าวคือ หนึ่ง ได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่า สอง คือ สกุลเงินที่ลงทุนมีโอกาสแข็งค่ามากขึ้นในอนาคต

นอกจากการลงทุนง่ายๆ แบบเสือนอนกินแล้ว ยังมีคนที่กู้เงินดอลลาร์ แล้วนำไปซื้อทองคำ น้ำมันหรือหุ้นในต่างประเทศ เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า และได้ประโยชน์ 2 ต่อเช่นเดียวกัน คือ กำไรจากราคาหุ้น และค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่มีโอกาสขยับสูงขึ้น

ตอนนี้ คนอเมริกันเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า การที่รัฐบาลของตนทุ่มเงินออกไปมากมาย เพื่อให้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สุดท้ายแล้วเม็ดเงินที่ทุ่มออกไป มันไปกระตุ้นเศรษฐกิจของใครกันแน่ ดูเหมือนเงินมันจะไหลออกไปต่างประเทศมากกว่า

นอกจากนี้ การที่นักลงทุนรายใหญ่จะกู้เงินแล้วแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ไปเป็นเงินสกุลอื่นนั้น ต้องมีการเทขายเงินดอลลาร์เพื่อไปซื้อเงินสกุลอื่น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ถูกบิดเบือนจากกลไกปกติให้อ่อนค่าไปมากขึ้น ซ้ำร้ายเมื่อเงินไหลไปประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจประเทศปลายทางดีขึ้น มันก็ย้อนกลับมาทำให้ค่าเงินดอลลาร์ด้อยลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูกว่า

มันเหมือนกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "กับดักสภาพคล่อง" คือ รัฐบาลทุ่มเงินดอลลาร์เข้าไปในระบบ แต่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจหรือสินเชื่อบุคคล ธนาคารจึงนำไปปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินขนาดยักษ์หรือสถาบันการเงินข้ามชาติ ที่เมื่อได้เงินแล้ว ก็ขายดอลลาร์ออก นำไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ปล่อยให้สหรัฐจมอยู่ในภาวะถดถอย ซึมเซาต่อไปเรื่อยๆ

และเมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้น ธนาคารกลางก็ต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หนุนให้เกิดวงจรอุบาทว์ ดิ้นไม่หลุด เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในวังวนนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐจะชิงประกาศว่า เศรษฐกิจของตนฟื้นจากจุดต่ำสุดแล้ว นัยว่าเป็นการพูดให้ประชาชนมั่นใจ จะได้เริ่มจับจ่ายใช้สอยเงินกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นบ้างบางส่วน จะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญหลายคนของสหรัฐ ต่างออกมาตอกย้ำว่า ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นแล้ว สินเชื่อบุคคล (เครดิตการ์ด) ในเดือนกรกฎาคมลดลง 10.5% สินเชื่อธนาคารในไตรมาสที่ 2 ลดลง 342,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงถึง 9.7% ในเดือนสิงหาคม นับว่าสูงสุดในรอบ 26 ปี และข่าวล่าสุดแจ้งว่า ยอดขายบ้านที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 4 เดือน ได้กลับมาติดลบ 2.7% อีกครั้งในเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเปราะบางมาก

มันจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมค่าเงินดอลลาร์จึงยังอ่อนตัวต่อเนื่อง และกลับเพิ่มอัตราเร่ง เมื่อเริ่มมีธุรกรรม Dollar Carry Trade มาถึงวันนี้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าไปแล้ว 14% นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยดูจาก Dollar index ที่เทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักๆ 7 สกุล

เรื่องทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐ นายเบน เบอร์นันเก้จะไม่ทราบ แต่ท่านคงไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เพราะถ้าไม่กระตุ้นตลาดด้วยวิธีตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะยิ่งถดถอยไปกว่านี้ การว่างงานอาจจะพุ่งถึง 20% ก็ได้

ตอนนี้ เริ่มมีข่าวออกมาในทำนองที่ว่า เงินกองทุนของสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) กำลังร่อยหรอ หลังจากที่ชดใช้เงินให้ผู้ฝากเงินจากการที่มีธนาคารล้มทุกสัปดาห์ โดยในปีนี้ มีธนาคารล้มแล้ว 94 แห่ง หรือประมาณ 10 แห่งต่อสัปดาห์ โดย FDIC ออกมายอมรับว่ามีเงินกองทุนเหลือเพียง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่มีธนาคารอีก 412 แห่ง ที่อยู่ในข่ายมีปัญหา (ส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป)

ดูเหมือนสหรัฐยังต้องมีเรื่องยุ่งๆ ให้สะสางอีกมาก เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครมาพูด ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นแล้ว ก็ขออย่าได้วางใจ ยิ่งมีการทำธุรกรรม Dollar Carry Trade แล้วด้วย มันจะยิ่งกดไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐโงหัวขึ้นมาได้ง่ายๆ

หากว่าเป้าประสงค์ของการลงทุน คือ กำไรสูงสุด ตอนนี้นักลงทุนสถาบันรวมถึงกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มีสัญชาติอเมริกัน ต่างกำลังมุ่งทำกำไรสูงสุด โดยไม่สนใจว่า นั่นกำลังทำร้ายเศรษฐกิจประเทศตนเอง

สะท้อนสัจธรรมที่ว่า "เงิน" มันไม่รู้จักคำว่า "คุณธรรม" หรอกครับ

......................

เพื่อนๆมีข่าวใหม่หรือไม่ครับ เกี่ยวกับ Dollar Carry Trade
navapon
Verified User
โพสต์: 760
ผู้ติดตาม: 0

Re: Dollar Carry Trade ฝันร้ายภาคสองของคนอเมริกัน ข่าวเก่า

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ ขอนำไปเผยแพร่ต่อนะครับ
- จุดแข็งทางธุรกิจที่เลียนแบบได้ยาก มักต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการสร้างและเพาะบ่มเสมอ ไม่สามารถเนรมิตได้ด้วยเงิน (สุมาอี้)
- จะเก่ง จะรวยหุ้น ก็ต้องใช้เวลาเพาะบ่มเช่นกัน เป็นวีไอ ต้องมี ศรัทธา ขยัน ประหยัด และ อดทน ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ย่อมไม่ได้มาง่ายๆ
monkey money
Verified User
โพสต์: 61
ผู้ติดตาม: 0

Re: Dollar Carry Trade ฝันร้ายภาคสองของคนอเมริกัน ข่าวเก่า

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอถามเพื่อเป็นความรู้ นะครับ จะเกิด การcarry trade แบบ นี้ กับเงิน สกุล euro ด้วย ไหมครับ ถ้าเกิด เงินไหลเข้ามาบ้านเราอีกรอบไหม ครับ และ ถ้าเข้ามากินดอกเบี้ย บ้านเรา แล้ว bank บ้านเราก็ไปปล่อยกู่ แบบ มีวินัยไม่มีวินัยบ้าง จาก นั้นเกิดวันดีคืนดี ฝากตะวันตกขึ้ดอกเบี้ยขึ้นมา บ้านเราจะเหมือน ปี 40 ไหมครับ ตอนนี้จะมีบัตรเครดิดเกษตรกรด้วย เจอซ้อนแผน ฝากตะวันออกจะรอดไหมครับ เขาพิมbank ได้ด้วยดิ
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14783
ผู้ติดตาม: 0

Re: Dollar Carry Trade ฝันร้ายภาคสองของคนอเมริกัน ข่าวเก่า

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ตอบไม่ได้ครับ

ความรู้น้อย

ตอนนี้กำลังอ่าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

after shock

วิกฤติการเงินสะท้านโลก
โพสต์โพสต์