โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 12 มีนาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมได้มีโอกาสเห็นพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนรายหนึ่งที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นักลงทุนรายนี้เป็นสุภาพสตรีอายุประมาณ 50 ปีและไม่มีทายาท ทำงานเป็นพนักงานบริษัทมีเงินเดือนประมาณ 30,000 หมื่นบาทต่อเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายไม่มาก วัตถุประสงค์ที่เข้ามาลงทุนคือต้องการมีเงินใช้จ่ายประมาณ 20,000 หมื่นบาทต่อเดือนโดยไม่ต้องทำงานหลังเกษียณอายุที่ 55 ปี โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณล้านกว่าบาท กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ก็คือ Value Investing ผลลัพธ์การลงทุนสองปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่ได้กำไร เหตุคงเป็นเพราะว่า “ไม่สามารถเอาชนะความโลภได้” นั่นก็คือ ยังซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นเป็นประจำ ในพอร์ตมีหุ้น “ติดดอย” จำนวนมาก
การวิเคราะห์ของผมพบว่า ข้อแรก จำนวนเงินในพอร์ตประมาณล้านบาทต้น ๆ นั้น มีหุ้นอยู่ถึงเกือบ 20 ตัว เฉลี่ยถือหุ้นตัวละประมาณ 6-70,000 บาท ตัวที่สูงที่สุดประมาณสองแสนกว่าบาทหรือประมาณ 20% ของพอร์ต นอกจากนั้นแล้วก็ถือกระจายกันไปค่อนข้างมาก ในความเห็นของผม การถือหุ้นถึง 20 ตัวจากพอร์ตประมาณล้านบาทนั้น สำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนอาชีพนั้น ถือว่าถือหุ้นมากตัวเกินไป ผลตอบแทนที่ออกมาจะทำให้โดดเด่นได้ยาก เช่นเดียวกัน การติดตามดูแลก็จะทำได้ไม่ทั่วถึง ควรถือหุ้นไม่เกิน 10 ตัว หรือถ้าจะให้เหมาะสมจริง ๆ อาจจะถือเพียง 5-6 ตัวกระจายกันไปในหลายอุตสาหกรรมก็พอแล้ว
ประเด็นที่สองที่ผมเห็นจากพอร์ตก็คือ พอร์ตมีผลตอบแทนติดลบอยู่ประมาณ 6% เรื่องนี้ประกอบกับการที่เจ้าของบอกว่าผลการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้กำไรทำให้ผมรู้สึกว่าคงมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติเนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่ลงทุนแล้วผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมากขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการลงทุนคงมีความผิดพลาด ซึ่งความผิดพลาดที่ผมคิดข้อหนึ่งก็คือ การซื้อขายหุ้นบ่อยและการพยายามคาดเดาจังหวะการซื้อขายหุ้น ซึ่งก็สะท้อนจากการที่พอร์ตมีผลขาดทุนอยู่ทั้งที่ลงทุนมาสองปีแล้วในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส
เรื่องของพอร์ตที่ขาดทุนนั้น ในความเห็นของผมเป็นเรื่องสำคัญมาก นักลงทุนแบบ Value Investment ที่มุ่งมั่นและเดินทางในสายของการลงทุนจริง ๆ ไม่ควรมีพอร์ตที่ขาดทุนหลังจากที่เขาลงทุนมาแล้วหลายปีและในช่วงนั้นตลาดหุ้นไม่ได้มีภาวะผิดปกติรุนแรง เหตุผลก็เพราะว่า การลงทุนนั้นควรเป็นเรื่องระยะยาว การถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่ควรน้อยกว่า 3-4 ปีขึ้นไป หุ้นที่ถือลงทุนเองนั้นก็ควรให้ผลตอบแทนพอสมควร ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว หุ้นที่เราถือมานานควรจะมีราคาเพิ่มขึ้น และในเมื่อพอร์ตการลงทุนของเรานั้นถูกถือมานานพอควร พอร์ตจึงควรมีราคาและมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยลง
ประเด็นที่สามที่ผมเห็นก็คือ ในหุ้นจำนวน 19 ตัวในพอร์ตนั้น มีหุ้นที่ขาดทุนถึง 10 ตัวหรือประมาณครึ่งหนึ่ง นี่ก็เป็นสิ่งที่อาจจะชี้ให้เห็นว่าพอร์ตนี้เป็น “พอร์ตเก็งกำไร” ที่ทำให้หุ้นมีทั้งกำไรและขาดทุนพอ ๆ กัน โดยปกติพอร์ตที่ลงทุนจริง ๆ นั้น ไม่ควรมีหุ้นที่ขาดทุนหรือถ้าจะมีก็ต้องน้อยมาก หุ้น 20 ตัวน่าจะมีหุ้นขาดทุนไม่เกิน 5 ตัว และหุ้นที่ขาดทุนนั้น ส่วนใหญ่ควรเป็นหุ้นที่เพิ่งมีการซื้อเข้าพอร์ตมาไม่นาน หุ้นที่ซื้อมานานแล้วไม่ควรมีการขาดทุน เพราะหุ้นที่ซื้อมานานแล้วยังขาดทุนเราควรจะพิจารณาว่าเราซื้อหุ้นผิดหรือไม่ และถ้าผิดเราก็ควรจะขายทิ้งไปแล้วไม่ปล่อยให้ค้างอยู่ในพอร์ตอย่างนั้น
ความคิดเพิ่มเติมของผมเกี่ยวกับเรื่องจำนวนหุ้นขาดทุนและหุ้นกำไรในพอร์ตก็คือ ยิ่งเป็นพอร์ตเน้นการลงทุนมาก จำนวนหุ้นขาดทุนก็จะยิ่งน้อย เพราะพอร์ตลงทุนจริง ๆ นั้น ควรจะเป็นพอร์ตที่ถือหุ้นยาวและถือหุ้นคุณภาพดีที่ราคาค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนหุ้นจำนวนมากนั้นแทบไม่มีโอกาสขาดทุนเลยเนื่องจากต้นทุนของตัวหุ้นจะต่ำมาก ตรงกันข้าม ยิ่งพอร์ตหุ้นเน้นการเก็งกำไรมาก จำนวนหุ้นขาดทุนในพอร์ตก็จะสูง สาเหตุก็เพราะว่าพอร์ตหุ้นเก็งกำไรนั้น มักจะเป็นพอร์ตของหุ้นที่เราถือระยะสั้น ซึ่งในระยะสั้นแล้ว การที่หุ้นจะขึ้นหรือลงมักจะมีพอ ๆ กัน ทำให้เราเห็นหุ้นขาดทุนมีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเก็งกำไรบางคนโดยเฉพาะที่เป็นรายย่อยนั้น “ชอบเก็บหุ้นขาดทุนและขายหุ้นที่กำไร” ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ เราก็จะพบว่าในพอร์ตเต็มไปด้วยหุ้นที่ขาดทุน
ประเด็นที่สี่ที่ผมพบจากหุ้นในพอร์ตก็คือเรื่องของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งผมพบว่าสามารถแบ่งได้เป็นสี่กลุ่มกลุ่มละประมาณ 5 ตัว แต่สิ่งที่หุ้นเกือบทุกตัวมีร่วมกันก็คือ หุ้นเกือบทุกตัวเป็น “หุ้นร้อน” ความหมายก็คือ หุ้นเกือบทุกตัวนั้นเป็นหุ้นที่มีราคาขึ้นลงหวือหวาในช่วงเร็ว ๆ นี้ ปริมาณการซื้อขายสูงลิ่วเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน และมีการกล่าวขวัญกันในสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างมาก
หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นที่ร้อนแรงและเล่นกันในระดับสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นหุ้นพลังงานและแบ็งค์ขนาดใหญ่ หุ้นกลุ่มที่สองคือหุ้นขนาดใหญ่ที่ “ร้อนแรงมาก” และราคาอาจขึ้นไปแล้วหลายเท่า หุ้นกลุ่มนี้มักมีผลประกอบการที่ปรับขึ้นอย่างโดดเด่นและมี Story หรือเรื่องราวที่ดีมาก ๆ รองรับ หลายหุ้นอาจจะใหญ่ขึ้นมาเพราะการปรับขึ้นของราคาหุ้น หุ้นกลุ่มที่สามก็คือหุ้นขนาดกลางที่กำลังร้อนแรงในหมู่ “VI” นี่ก็คือหุ้นที่มีการพูดถึงกันในเวปไซ้ต์และสื่อสมัยใหม่อื่น ๆ ของการลงทุนในแนว Value Investment อย่างเข้มข้น หุ้นเหล่านี้มีการซื้อขายที่ร้อนแรงมากไม่ต่างจากหุ้นเก็งกำไรแต่มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการโดดเด่นพร้อม ๆ กับเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น สุดท้ายก็คือหุ้นตัวเล็กที่กำลังร้อนแรง หลาย ๆ ตัวเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และก็เช่นเดียวกัน มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่โดดเด่นและเรื่องราวดี ๆ
ประเด็นสุดท้ายที่ผมพยายามที่จะวิเคราะห์รวบยอดว่าพอร์ตของสุภาพสตรีท่านนี้บอกอะไรเกี่ยวกับการลงทุนของเธอบ้าง ก็คือ ผมคิดว่าข้อแรก เธอตั้งเป้าของการลงทุนสูงเกินไป การที่จะหวังให้ได้รายได้ประมาณเดือนละ 20,000 บาท หมายความว่าเธอจะต้องมีพอร์ตประมาณ 200 เท่าของรายรับประจำเดือนนั่นแปลว่าจะต้องมีพอร์ตถึงประมาณ 4-5 ล้านบาท ซึ่งภายในเวลาประมาณ 4-5 ปีนับจากนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำเงินล้านกว่าเป็น 4-5 ล้านบาท ประการที่สอง เธอมีความตั้งใจที่จะลงทุนแบบ VI และได้ติดตามหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลาและการศึกษาอาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การหาข้อมูลตัวหุ้นที่จะลงทุนจึงอาจจะเป็นการติดตามหุ้นจากสื่อที่ “ถูกป้อน” เข้ามามากกว่าจะเป็นการออกไปค้นหาเอง ดังนั้น เธอจึงมักลงทุนเฉพาะใน “หุ้นร้อน” ที่อาจจะมี “กลิ่นอายของ VI” มากกว่าที่จะเป็น VI จริง ๆ นั่นคือ เธออาจจะเข้าไปลงทุนหลังจากราคาหุ้นขึ้นไปถึง “ยอดดอย” ซึ่งทำให้หุ้นนั้นหมดสภาพการเป็นหุ้น VI ไปแล้ว สุดท้ายก็คือเรื่องของจิตใจ ซึ่งเธออาจจะยังไม่พร้อมซึ่งทำให้เธอตกอยู่ในอิทธิพลของเพื่อนและสื่อต่าง ๆ ในการซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น ผลก็คือ เธอยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะเป็นนักลงทุนแบบ VI ตามที่ต้องการ