P/E และ D/E คืออะไร
- suthepj
- Verified User
- โพสต์: 125
- ผู้ติดตาม: 0
P/E และ D/E คืออะไร
โพสต์ที่ 1
P/E และ D/E คืออะไร
โดย คุณ พชรอร วงษ์วานิช
อย่างที่รู้กันนะคะว่า การลงทุนควรทำอย่างมีหลักการ การจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก็ควรจะศึกษาให้แน่ใจก่อนว่าธุรกิจเค้าทำอะไร เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีจริงหรือไม่ ถ้าเราไม่รู้จักหุ้นนั้นจริงๆ ขืนลงทุนไปก็คงเหมือนเอาเงินไปฝากไว้กับใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักใช่มั้ยคะ ดังนั้นนักลงทุนที่ดีจึงควรทำการบ้าน หาข้อมูลเกี่ยวกับตัวบริษัทก่อนที่จะลงทุน อาจจะค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง พร้อมทั้งอ่านบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ก่อนการตัดสินใจลงทุน
การค้นคว้าอ่านข้อมูลเกี่ยวกับตัวบริษัทนั้น ส่วนที่เป็นเนื้อหาว่าธุรกิจทำอะไร มีแนวโน้มอย่างไรก็คงทำความเข้าใจกันได้ไม่ยาก ส่วนที่ยากแต่น่าทำความเข้าใจก็คืออัตราส่วนต่างๆมากมายที่เค้าอุตส่าห์คำนวณมาให้เรียงกันเป็นตับดูแล้วเวียนหัวนั่นแหละค่ะ ตัวที่สำคัญก็มีอยู่หลายตัว วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันสัก 2 ตัวดีกว่า เอาเป็น P/E กับ D/E ratio แล้วกันนะคะ ดูเผินเผินแล้วเจ้าสองตัวนี้คล้ายกันมาก แต่จริงๆแล้วไม่ใกล้เคียงกันเลยค่ะ ตัว E ที่เหมือนกันก็ไม่ได้ย่อมาจากคำๆเดียวกันซะด้วยสิ วันนี้ลองมาทำความเข้าใจกันดูนะคะ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ช่วยในการวิเคราะห์ได้ดีขึ้นค่ะ
อัตราส่วนแรกที่เราพูดถึงก็คือ P/E ratio ซึ่งย่อมาจาก Price to Earning ratio ตัว P ก็ย่อมาจาก Price หรือราคาต่อหุ้น ส่วน E ในที่นี้ก็คือ Earning Per Share (EPS) หรือกำไรสุทธิต่อหุ้นนั่นเอง สรุปแล้วแปลเป็นไทยได้ว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นนั่นเอง แต่แหม..พอแปลเป็นไทยแล้วก็ยังเข้าใจยากอยู่ดีใช่มั้ยคะ จริงๆแล้วความหมายของมันก็ง่ายๆคือดูว่าราคาปัจจุบันของหุ้นนั้นๆเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิที่บริษัททำได้ต่อหุ้น จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะดูว่าราคาดังกล่าวแพงหรือถูกเกินไปหรือไม่ เอ..แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ากี่เท่าถึงจะแพงหรือถูก ใช่แล้วค่ะ การที่เราจะรู้ว่าแพงหรือถูกก็ต้องมีการเปรียบเทียบ ดังนั้น ถ้าเราทราบอัตราส่วนดังกล่าวนี้ของบริษัทเพียงบริษัทเดียวก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย พูดง่ายๆอีกก็คือ อัตราส่วนดังกล่าวเอาไว้ใช้ดูว่าหุ้นนั้นๆถูกหรือแพงไปโดยเปรียบเทียบกับหุ้นอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมก็ได้ค่ะ
สมมุติว่าเรามีหุ้นที่เราสนใจอยู่ 2 ตัว คือหุ้น A และหุ้น B โดยทั้ง 2 ตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันมีแนวโน้มของกำไรคล้ายๆกัน แต่ต่างกันที่หุ้น A ในปัจจุบันมี P/E ratio ที่ 10 เท่า ในขณะที่หุ้น B มี P/E ratio เพียงแค่ 5 เท่า ลองทายดูซิคะว่าหุ้นตัวไหนมีราคาถูกกว่ากัน จะเฉลยแล้วนะคะ ใช่แล้วค่ะ เนื่องจากหุ้น A มีราคาสูงถึง 10 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่ตัวบริษัทสร้างได้ ในขณะที่หุ้น B มีราคาเพียง 5 เท่าของกำไรที่สร้างได้ ดังนั้นราคาหุ้น B จึงถูกกว่าหุ้น A ไงคะ ง่ายๆและสามารถนำไปเปรียบเทียบเพื่อการตัดสินใจลงทุนที่ดีขึ้นของคุณได้ แต่ขอย้ำนะคะว่าควรใช้เปรียบเทียบกันระหว่างหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากว่าแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีอัตราการเติบโตของกำไรที่แตกต่างกันค่ะ
สรุปอีกครั้งก็คือนักลงทุนส่วนมากมักจะลงทุนในหุ้นที่มีอัตราส่วน P/E ที่ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากราคาถูก น่าลงทุนกว่าโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตามค่า P/E ratio ที่ต่ำก็อาจจะหมายถึงหุ้นตัวนั้นไม่เป็นที่นิยม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาเลยก็ได้ นอกจากนี้หุ้นที่มี P/E ratio สูงๆ ก็อาจแสดงว่าหุ้นดังกล่าวเป็นที่นิยม นักลงทุนยินดีจะจ่ายเงินซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาสูง เนื่องจากคาดว่าผลกำไรของบริษัทดังกล่าวจะขยายตัวในอัตราที่สูงก็เป็นได้ ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนก็ไม่ควรพิจารณาเพียงแค่ P/E ratio ตัวเดียวเท่านั้นค่ะ
อัตราส่วนต่อไปที่จะพูดถึงก็คือ D/E ratio ค่ะ ตัว D ตัวนี้ย่อมาจาก Debt หรือหนี้สิน ส่วนตัว E ตัวนี้ไม่ได้ย่อมาจาก Earning Per Share แล้วนะคะแต่ E ตัวนี้ย่อมาจาก Equity หรือส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง แปลเป็นไทยๆก็คืออัตราส่วนของหนี้สินต่อทุนค่ะ อัตราส่วนตัวนี้ถือว่าเป็นตัวสำคัญที่นักลงทุนควรสนใจทีเดียวเนื่องจากอัตราส่วนนี้จะแสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของธุรกิจว่าประกอบไปด้วยหนี้สินและส่วนของเจ้าของทุนเท่าไหร่
ถ้าหากอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับสูงก็จะแสดงว่าบริษัทมีการก่อหนี้มากจนทำให้มีความเสี่ยงสูงในการดำเนินธุรกิจ เมื่อมีหนี้มาก ก็คงจะยากที่จะกู้ยืมเงินใหม่เพื่อรักษาสภาพคล่อง เพราะคงไม่มีเจ้าหนี้ที่ไหนอยากจะปล่อยกู้ให้กับคนที่มีหนี้เดิมมากอยู่แล้วใช่มั้ยคะ มากไปกว่านั้นถ้าอัตราส่วนดังกล่าวสูงกันแบบสุดๆ ก็อาจหมายความว่าบริษัทมีหนี้ท่วมหัว (อาจจะ) เอาตัวไม่รอด ภาระดอกเบี้ยจ่ายก็สูงจนอาจทำให้ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายคืนหนี้ได้ในอนาคต และอาจถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลายได้ ว่ากันไปนั่นเลยทีเดียว เห็นมั้ยคะว่าอัตราส่วนเดียวก็อาจจะบอกอะไรได้มากมายแล้ว ส่วนคำถามที่ว่าเท่าไหร่ที่จะเรียกว่าสูงเกินไป อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจอีกแล้วค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ควรเกิน 2 เท่าค่ะ
อัตราส่วนทางการเงินจะมีความหมายได้ก็ต้องมีการเปรียบเทียบค่ะ อาจจะเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตก็ได้ค่ะ และหลังจากที่เราทำความเข้าใจความหมายของอัตราส่วนเหล่านั้นได้แล้ว นักลงทุนก็คงจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อหาหุ้นในดวงใจที่ทั้งถูกและดีได้อย่างมีหลักการแล้วนะคะ อย่าลืมนะคะว่า นักลงทุนที่ดีควรศึกษาหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบริษัทก่อนลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนของเราจะปลอดภัยเหมือนฝากเงินไว้กับคนใกล้ตัวที่เราวางใจไงคะ
--------------------------------------------------------------------------------
คุณ พชรอร วงษ์วานิช
นักศึกษาปริญญาโท/นักลงทุนรุ่นใหม่