ศุกร์ พ.ย. 05, 2004 12:26 pm | 0 คอมเมนต์
เห็นว่าเกี่ยวข้องครับ และมีประโยชน์แก่คนทั่วไปมาก
คนทั่วไปที่มีหุ้น SAICO แต่เข้า ไปดูข้อมูลของอีไฟแนนซ์ ไม่ได้จะได้ทราบโดยทั่วกัน
เลยขออนุญาต คุณชวนชม แห่ง อีไฟแนนซ์
COPY รายงานพิเศษเพื่อเผยแพร่ครับ
รายงานพิเศษ
อนาคต SAICO อยู่ที่ไหน
อนาคตผู้ถือหุ้น SAICO อยู่อย่างไร
ทันทีที่ Del Monte Fresh Produce (Thailand) Inc. หรือ ประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการของ บมจ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตร สัปปะรดและอื่นๆ (มหาชน) (SAICO) ก็ช็อคความรู้สึกของผู้ถือหุ้น SAICO ในทันที ด้วยราคาเสนอซื้อเพียง 50 สตางค์ต่อหุ้น ขณะที่ราคาในกระดานปิดครั้งก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 5.60 บาท/หุ้น และวานนี้ ปิดที่ระดับ 4.28 บาท ลดลง 1.62 บาท หรือ -27.46% มีมูลค่าการซื้อขายรวม 0.022 ล้านบาท
ไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยในประเทศไทย จะยินดีที่จะตอบรับกับคำเสนอซื้อหุ้นในราคาแสนถูกครั้งนี้หรือไม่ แต่คำถามที่ติดตามมาคือ
1.ยุติธรรมแล้วหรือกับการตั้งราคาเสนอซื้อที่ 50 สตางค์ เมื่อเทียบกับราคาในกระดานซึ่งสูงกว่ามาก ถึงแม้ว่าฐานะกิจการที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการ โดยส้นไตรมาส 2/47 ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ 603.94 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวม 554.95 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,158.89 ล้านบาท
แต่เมื่อดูจากการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา ซึ่ง SAICO รายงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าในอนาคตฐานะกิจการของ SAICO จะดีขึ้นและกลับมาสร้างรายได้และกำไร ได้เป็นปกติอีกครั้ง
2.ผู้ถือหุ้นรายย่อยควรจะทำอย่างไร ควรจะตอบรับหรือไม่ จากข้อมูลผู้ถือหุ้นของ SAICO ณ วันที่ 8 เดือน 4 ปีนี้ มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 1,044 ราย เป็นนักลงทุนรายย่อย 1,019 ราย คิดเป็นสัดส่วน 18.78% โดยมีรายใหญ่ 10 อันดับแรกคือ
1 CIRIO DEL MONTE N.V. 13,322,852 44.41
2 UNION WESTERN LIMITED 1,677,149 5.59
3 ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 1,500,000 5.00
4 น.ส. ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ 1,175,234 3.92
5 น.ส. ศิริพรรณ กัลยาณรุจ 1,132,715 3.78
6 นาง ศิริพร พงษ์สุรพิพัฒน์ 697,677 2.33
7 นาย สมจิตต์ ติวัฒนเจริญผล 560,400 1.87
8 นาง ศศิธร กัลยาณรุจ 463,772 1.55
9 นาย กิตติชัย ไกรก่อกิจ 415,500 1.39
10 นาง อุษา อยู่ถาวร 298,673 1.00
หากรายย่อยที่มีมากกว่า 1,000 คน ตอบรับคำเสนอซื้อ ก็เท่ารับยอมรับในชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น แต่หากรวมตัวกันไม่ยอมขายหุ้นออกมา เพราะเห็นว่าราคาดังกล่าวไม่เป็นธรรม บทสรุปเท่ากับว่าการทำคำเสนอซื้อของ Fresh Del Monte Produce N.V. หรือ FDM (บริษัทใหญ่ของ Del Monte Fresh Produce (Thailand) Inc,) ครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว และไม่สามารถที่ถอน SAICO ออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย
ทั้งนี้ต้องดูเจตนาการทำคำเสนอซื้อของ FDM ครั้งนี้ว่าต้องการที่จะซื้อหุ้น SAICO อย่างจริงจังหรือไม่ หากอยากได้หุ้นจริงก็น่าจะเพิ่มราคาเสนอซื้อขึ้นอีก หรือแท้ที่จริงการทำคำเสนอซื้อครั้งนี้ หวังเพื่อจะใช้กฎของตลาดหลักทรัพย์ ฉวยโอกาสซื้อหุ้นในราคาสุดถูก
3. ที่สำคัญการเข้ามาเสียบของผู้ถือหุ้นรายใหม่ ยังไม่แสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าจะเข้ามาเพื่อฟื้นฟูกิจการของ SAICO อย่างแท้จริงหรือไม่ จึงน่าเป็นห่วงว่าในยุคที่มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ชุดใหม่ จะมีผลกระทบต่อการบริหารงานของกิจการให้เดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และสำคัญที่สุดคือมีความประสงค์ที่จะพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยสิ่งที่ได้รับรู้จาก FDM มีเพียงว่าจะสนับสนุนให้บริษัทมีความสามารถให้การทำกำไรมากขึ้น และส่งเสริมธุรกิจของบริษัท โดยขณะนี้ FDM คาดว่า บริษัทจะดำเนินธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ต่อไปอย่างน้อย 1 ปี นับจากการซื้อหลักทรัพย์ในบริษัท ดังนั้นต้องวิงวอนหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองรายย่อย อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ ยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือและดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วย
สาเหตุที่ Del Monte Fresh Produce (Thailand) Inc. ให้ราคาต่ำมากเพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ SAICO คือ Cirio Del Monte N.V. ล้มละลาย และสินทรัพย์ถูกขายทอดตลาด ซึ่ง Fresh Del Monte Produce N.V. (FDM), บริษัทใหญ่ของ Del Monte Fresh Produce (Thailand) Inc, ได้ซื้อหลักทรัพย์ที่กิจการมีทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีการลงทุนมีหุ้น SAICO รวมอยู่ด้วย โดยซื้อในราคาเพียง 1 ยูโร
ทรัพย์สินที่ FDM ได้มาคือ 1.หุ้น SAICO จำนวน 13,322,852 หุ้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 44.41 ของทุนจดทะเบียนของบริษัท และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นจำนวน 26,645,704 หุ้นของบริษัทซึ่งถือโดย Cirio Del Monte N.V. พร้อมให้คำมั่นในการซื้อหุ้นร้อยละ 5.6 ของทุนจดทะเบียนของบริษัทซึ่งถือโดย Union Western Limited ราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ FDM จะเสนอซื้อหุ้น SAICO ส่วนที่เหลือ คือหุ้นสามัญจำนวน 14,999,999 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน โดยมี บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็น ผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และคาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้ออย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547
SAICO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 หุ้นสามัญของบริษัทถูกทางตลาดหลักทรัพย์ ฯ ห้ามทำการซื้อขายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540 และถูกโอนย้ายไปอยู่ในหมวด REHABCO สืบเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทขาดทุนสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ และได้มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการอย่างมาก ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ ฯ อนุญาตให้หุ้นสามัญของบริษัททำ
การซื้อขายได้ในหมวด REHABCO ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา
บริษัท เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ซึ่งได้แก่ สับปะรดและผลไม้อื่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าหลักของบริษัทได้มาจากการแปรรูปผลสับปะรดสด ประกอบด้วย สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด
รายละเอียดความคืบหน้าของบริษัท ตั้งแต่ปี 2540 สรุปได้ ดังนี้
1. เงินร่วมลงทุน
เมื่อเดือนเมษายน 2542 กลุ่ม Del Monte ("Del Monte") ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Del Monte Group ที่มีฐานธุรกิจอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของโลก ภายใต้เครื่องหมายการค้า "Del
Monte" ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโดยลงทุนซื้อหุ้นจำนวน 13.32 ล้านหุ้น เป็นเงินจำนวน 133.23 ล้านบาท ปัจจุบันกลุ่ม Del Monte มีการถือหุ้นรวมทั้งหมด 15,000,001 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของทุนที่เรียกชำระแล้ว
2. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.1 ตามที่ที่ประชุมผู้ถือเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2542 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้บริษัททำการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทจึงได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ("ธนาคาร") เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 ซึ่งก่อนการปรับโครงสร้างหนี้มีมูลหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้ง
สิ้น 1,348.71 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 89.9 ของมูลหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงินทั้งหมดในขณะนั้น สำหรับหลักใหญ่ ๆ ของการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร สรุปได้ดังนี้
(ก) ดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดของบริษัท จำนวน 333.26 ล้านบาท จนถึงวันที่ลงนามในสัญญาปรับโครง สร้างหนี้ ธนาคารได้ยกเว้นให้โดยไม่ต้องชำระให้แก่ธนาคาร
(ข) มูลหนี้จำนวน 483.78 ล้านบาท ให้หักหนี้โดยบริษัทได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ธนาคาร และธนาคารตกลงให้บริษัทเช่ากลับเป็นเวลา 5 ปี และให้สิทธิบริษัทในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าวคืนตลอดเวลาภายใน 5 ปี ในราคาเท่ามูลค่าที่หักหนี้บวกด้วยอัตราดอกเบี้ย (ไม่ทบต้น) ร้อยละ 6 ต่อปี
(ค) มูลหนี้จำนวน 200.00 ล้านบาท แปลงเป็นหุ้นกู้โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และหุ้นกู้ดังกล่าวจะทยอยไถ่ถอนในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 ( ปี 2553 - 2557 ) ปีละ 40.00 ล้านบาท
(ง) มูลหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 331.67 ล้านบาท ถูกจัดให้เป็นหนี้สินระยะยาวอายุ 10 ปี มีระยะผ่อนผันการชำระคืนเงินต้น (Grace Period) เป็นเวลา 5 ปี โดยดอกเบี้ยจ่ายเป็นรายเดือนในอัตรา ดอกเบี้ย MLR ลบ ร้อยละ 0.5 และบริษัทต้องเริ่มทยอยจ่ายคืนเงินต้นในปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 คือปี 2548 - 2552 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลหนี้ และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปีจนถึงปี 2552
(จ) ธนาคารได้อนุมัติวงเงินอีก 200 ล้านบาทให้กับบริษัทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา MOR โดย Del Monte เป็นผู้ค้ำประกันวงเงิน 100.00 ล้านบาทจากวงเงินดัง กล่าว
(ฉ) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 เป็นต้นมา บริษัทได้ชำระหนี้ให้กับธนาคารตามกำหนดมาโดยตลอด
2.2 ในช่วงปี 2542 และ 2543 บริษัทได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ กับ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทิสโก้จำกัด (มหาชน), ธนาคารแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ นครธน จำกัด (มหาชน), คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ (บมจ.เกียรตินาคิน ประมูลจาก ปรส) และวชิรธนทุน (ปัจจุบันรวมอยู่กับธนาคารไทยธนาคาร) คิดเป็นมูลหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมทั้งหมด
124.48 ล้านบาท หนี้ดังกล่าวทั้งหมดยกเว้นของธนาคารไทยธนาคารได้รับการชำระคืนทั้งหมดแล้ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545 หนี้คงค้างกับธนาคารไทยธนาคาร ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 มียอดคงเหลือ 8.495 ล้านบาท
3. เจ้าหนี้การค้าที่เป็นชาวไร่และสหกรณ์
ในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2542 บริษัทได้ดำเนินการชำระหนี้จำนวนประมาณ 41.00 ล้านบาทให้แก่ชาวไร่ในท้องถิ่นและสหกรณ์การเกษตรนิคมฯระยอง จำกัด ซึ่งบริษัทเป็นลูกหนี้มาตั้งแต่ปี 2540
4. เจ้าหนี้การค้า
บริษัทเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้การค้าหลายรายอยู่ ณ เดือนเมษายน 2542 ประมาณ 147.88 ล้านบาท และเจ้าหนี้การค้าบางส่วนในจำนวนนี้ได้มีคดีฟ้องร้องอยู่ จากคำตัดสินของศาลหรือการเจรจาสองฝ่าย ทำให้สามารถตกลงแผนการชำหนี้กันได้ และ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 มียอดหนี้ดังกล่าวคงเหลืออยู่กับเจ้าหนี้การค้าเพียงแค่ 1 ราย จำนวน 26.99 ล้านบาท ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นทั้งหมดได้รับการชำระแล้วทั้งสิ้น
5. การพิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทได้นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติแผนดังกล่าวแล้ว และบริษัทได้นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไปเรียบร้อยแล้ว
6. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน จากปี 2540 ถึง ปี 2546
หลังจากที่ Del Monte ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัทเมื่อเดือนเมษายน 2542 บริษัทเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในการดำเนินธุรกิจโดยเพิ่มการผลิตได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นไป (ดูตารางแนบ)
(ก) บริษัทได้เพิ่มจำนวนตันสับปะรดในการผลิตจากประมาณ 21,000 ตัน ในปี 2540 เป็นประมาณ 144,000 ตัน ในปี 2543 แต่ลดลงเป็นประมาณ 113,000 ตัน ในปี 2546 เนื่องจากธรรมชาติของฤดูกาลของปริมาณสับปะรดในประเทศไทย
(ข) ในช่วงเวลาดังกล่าว รายได้จากการขายของบริษัทได้เติบโตจาก 262.60 ล้านบาทในปี 2540 เป็น 966.31 ล้านบาท ในปี 2546 หลังจากที่มีจำนวน 1,015.40 ล้านบาทในปี 2543 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของฤดูกาลของอุตสาหกรรมสับปะรด และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากฤดูกาลของสับปะรดดังกล่าว บริษัทจึงได้เพิ่มกลยุทธ์ในการพัฒนาและขยายธุรกิจด้านผลไม้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งรายได้จากการขายของผลิตภัณฑ์ผลไม้และผลิตภัณฑ์อื่นๆจำนวน 28 ล้านบาท ในปี 2542 เพิ่มขึ้น เป็น 208.76 ล้านบาทในปี 2546 บริษัทได้เริ่มการผลิตและจำหน่ายซอสมะเขือเทศในปี 2546
(ค) กำไรขั้นต้นได้เพิ่มขึ้นจาก 2.34 ล้านบาท ในปี 2540 เป็น 104.67 ล้านบาทในปี 2546 และขณะเดียวกัน อัตรากำไรขั้นต้น ดีขึ้นจาก ร้อยละ 0.89 ในปี 2540 เป็นร้อยละ 10.83 ในปี 2546 ผลกำไรตั้งแต่ปี 2544 ลดลงเนื่องจากต้นทุนสับปะรดสดที่เพิ่มขึ้นเนื่องสับปะรดสดมีปริมาณน้อย ประกอบ กับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐและต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆก็เพิ่มขึ้น
(ง) อย่างไรก็ดี บริษัทได้กลับมาสามารถทำกำไรในธุรกิจได้และมีผลกำไรสุทธิ ซึ่งผลกำไรสุทธิในปี 2542 มีจำนวน 29.70 ล้านบาท และ 10.60 ล้านบาทในปี 2546 หลังจากที่มีกำไร 100.51 ล้านบาท, 57.63 ล้านบาท และ 23.73 ล้านบาท ในปี 2543, 2544, และ 2545 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากฤดูกาลของสับปะรด
(จ) นับจากปี 2542 แม้ว่าบริษัทจะมีเงินทุนอยู่อย่างจำกัด แต่บริษัทก็ได้ดำเนินการลงทุนในทรัพย์สินถาวร เพื่อคงไว้และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างความพอใจให้กับลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ความปลอดภัยและการรักษาสภาพแวดล้อม และให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของนานาประเทศ เงินลงทุนในทรัพย์ สินในปี 2542 ประมาณ 16.36 ล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นเป็น 31.49 ล้านบาทในปี 2543 สืบเนื่องจาก การลงทุนในโครงการผลิตสับปะรดสับในถุงปลอดเชื้อและระบบคั้นน้ำสับปะรดด้วยระบบสาย พานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำสับปะรด
(ฉ) จากการที่ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารกสิกรไทย เมื่อเดือนเมษายน 2542 บริษัทได้ลดภาระหนี้เงินกู้ยืมจาก 813.45 ล้านบาท ณ 31 ธันวาคม 2542 เป็น 723.84 ล้านบาท ณ 31 ธันวาคม 2546 โดยที่เงินกู้ยืมทั้งหมดที่มีอยู่กับธนาคารทุกรายและสถาบันการเงินได้รับการชำระตาม กำหนดตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับความคืบหน้าสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2547
สถานการณ์การขาดแคลนผลไม้สดตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบต่อการผลิตและผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งที่เห็นชัดเป็นดังนี้คือ
(ก) ตามที่ได้กล่าวข้างต้น วงจรธรรมชาติของสับปะรดยังคงมีผลต่อการผลิตผลิตภัณฑ์หลัก ของบริษัทในทางลบ และยิ่งกว่านั้นการขาดแคลนของผลไม้อื่นส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงกว่าปีที่ผ่านมา
(ข) ในขณะที่ความต้องการสินค้าสำเร็จรูปในปัจจุบันยังคงดีอยู่ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ผลสับปะรดและผลไม้อื่นมีปริมาณน้อย จึงทำให้บริษัทต้องจัดหาผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อที่จะผลิตและให้มีการขายมากขึ้นในช่วงเวลาที่ราคาขายปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการขาดแคลนผลไม้ ประกอบกับผลกระทบจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
(ค) อย่างไรก็ตามกำไรขั้นต้นก็ได้รับผลกระทบในทางลบเนื่องจากราคาผลไม้ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนของผลไม้รวม ทั้งการปรับตัวขึ้นของต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์และด้านพลังงาน
(ง) ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา แม้ว่าด้วยเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม บริษัท ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงและเลือกลงทุนในทรัพย์สินถาวรอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะปรับปรุงคุณภาพสินค้า รวมทั้งสาธารณูปโภค และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และในขณะเดียวกันก็เพื่อให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ ของทางส่วนราชการ ด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และ มาตรฐานสากลทางด้านคุณภาพของหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นอิสระ
(จ) ในเดือนเมษายน ปี 2542 ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่คือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งหนี้สินเดิมจำนวนเงิน 483.78 ล้านบาท ถูกนำมาหักลดลงกับราคาของที่ดินและอาคารที่ได้ขายให้กับธนาคารเพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งทางบริษัทได้ขายทรัพย์สินให้กับทางธนาคารกสิกรไทย ทรัพย์สินดังกล่าวที่ได้ขายให้กับธนาคารกสิกรไทยประกอบด้วย ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกผลไม้ โรงงาน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอื่น และอาคาร ธนาคารกสิกรไทยได้ให้ทางบริษัททำการเช่าสินทรัพย์ทั้งหมดดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี และทางบริษัทมีสิทธิที่จะซื้อคืนทั้งหมดหรือบางส่วนในช่วงเวลาใดก็ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ระยะเวลาในการเช่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2542 สิ้นสุดวันที่ 29 เมษายน 2547 ณ วันที่ 30 เมษายน 2547 บริษัทได้รับการขยายระยะเวลาของสิทธิในการซื้อคืนอาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างอื่นเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2547 และการเช่าอาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างอื่นเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2548 ส่วนที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูก และอาคารนั้น บริษัทได้แสดงความประสงค์ที่จะใช้สิทธิในการซื้อคืน ซึ่งขณะนี้บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(ฉ) จากการที่บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารกสิกรไทย เมื่อเดือนเมษายน 2542 บริษัทได้ดำเนินการควบคุมเงินทุนหมุนเวียนและการกู้ยืมต่างๆ จากทางธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยที่เงินกู้ยืมทั้งหมดที่มีอยู่กับธนาคารทุกราย และ สถาบันการเงินได้รับการชำระตามกำหนดตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
(ช) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 Fresh Del Monte N.V. ได้เข้าทำสัญญา Preliminary purchase agreement กับ Cirio Del Monte N.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ภายใต้การดูแลจัดการทรัพย์สินซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยศาลในอิตาลี
โดยสรุป แม้ว่ามีเหตุการณ์ที่ท้าทายเกิดขึ้นในปีนี้ก็ตาม และ ฐานะการเงินไม่ดีนัก จะเห็นได้ว่าบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นฤดูกาลก็ตาม ก็ได้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2542 เป็นต้นมา ในขณะที่บริษัทยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูกิจการและทำให้ธุรกิจมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
*FDM เป็นบริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมาย Netherlands Antilles โดยมีสำนักงานจดทะเบียนตั้งอยู่ที่ De Ruyterkade 62, Cura?ao, Netherlands Antilles และไม่มีความสัมพันธ์ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมกับกลุ่มบริษัทของ CDM NV
FDM ดำเนินธุรกิจทั่วโลกผ่านบริษัทย่อยของตน โดยธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ การผลิต ขนส่งและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผลไม้สด ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ FDM (อาทิ กล้วย สับปะรด แตงโม มะเขือเทศมันฝรั่ง หัวหอมใหญ่ สตรอเบอร์รี่ องุ่น ผลไม้จำพวกส้มและมะนาว แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ลูกพีช ลูกพลัม ลูกกีวีลูกวิดาเลีย) ส่วนใหญ่จะมาจากทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และประเทศฟิลิปปินส์ โดย FDMยังมีแหล่งผลิตภัณฑ์ในทวีปอเมริกาเหนือ บราซิล อัฟริกา และยุโรป ทั้งนี้ FDM จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน โดยระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายไปยังร้านค้าของชำ ศูนย์อาหาร ศูนย์ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้บริการด้านอาหารในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
โดย..ชวนชม
Efinancethai.com
ผมรู้น้อย แต่จะค่อยๆ ทำความเข้าใจครับ