8 กลวิธี 'ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน'

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
vichit
Verified User
โพสต์: 15833
ผู้ติดตาม: 0

8 กลวิธี 'ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน'

โพสต์ที่ 1

โพสต์

8 กลวิธี 'ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน'

สัจธรรมการลงทุน คือ ความเสี่ยงและผลตอบแทนมักเป็นของคู่กัน
เมื่อใดที่ผลตอบแทนสูงขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้น
แต่วิธีหนึ่งที่จะทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ โดยสกัดความเสี่ยงให้คงอยู่เท่าเดิม นั่นคือ การรู้จักบริหารภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด



"สาธิต บวรสันติสุทธิ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดการลงทุน บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า การบริหารภาษีจัดเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตลงทุนได้ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถบริหารภาษีด้วยการใช้เทคนิค "ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน" ด้วยกลวิธี 8 แนวทาง

กลวิธีแรก..ใช้สิทธิ์ "หัก" ค่าใช้จ่ายและ "ค่าลดหย่อน" ให้ครบถ้วน

ไล่กันตั้งแต่ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกองทุน "อาร์เอ็มเอฟ" (RMF) และกองทุน "แอลทีเอฟ"(LTF) ดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนการลดหย่อน "เงินบริจาค"

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 รัฐบาลได้ออกมาตรการใหม่เพิ่มสิทธิ์ลดหย่อน "ค่าเบี้ยประกันชีวิต" หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

ขณะเดียวกันได้เพิ่มสิทธิ์ภาษีเงินค่าซื้อ "กองทุนอาร์เอ็มเอฟ" หักได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกบข.ในปีภาษีนั้นแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนเงินค่าซื้อกองทุนแอลทีเอฟ หักได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท จากกฎหมายเดิมให้ไม่เกิน 300,000 บาท

สาธิตบอกว่า เทคนิคในการลดหย่อนภาษีค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ประโยชน์ เช่น ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ ก็ทำให้คู่สมรสมีเงินได้ด้วยการนำเงินฝากไว้ในบัญชีของคู่สมรสเพื่อให้ได้รับรายได้จากดอกเบี้ย จากนั้นก็นำไปซื้อประกันชีวิต เพื่อให้ได้ค่าลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งหากมีฐานภาษีสูง เช่น 30% ก็จะได้รับเงินคืนถึง 3 หมื่นบาททีเดียว

นอกจากนี้ ตามมาตรการใหม่ของรัฐบาล ยังกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำสุดไม่เกิน 150,000 บาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษี จากเดิมที่มีรายได้ต่ำสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

การบริจาคเงินการกุศล ก็เป็นอีกกลวิธีช่วยลดภาษีได้ดีอีกทางหนึ่ง

สาธิต กล่าวว่า ในส่วนของเงินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ยังสามารถหักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคได้ โดยแยกเงินบริจาคได้ 3 ประเภท กล่าวคือ หนึ่ง.เงินบริจาคด้านการศึกษา ที่เรียกว่า "จ่าย 1 ได้ 2 " เพราะสามารถหักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

สอง.. เงินบริจาคด้านกีฬา หักได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และสาม..เงินบริจาคทั่วไป หักได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคการศึกษาและเงินบริจาคเกี่ยวกับกีฬา

"ถ้ามีรายได้มากที่ฐานภาษี 37% แนะนำให้บริจาคเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดจะคุ้มค่าที่สุด เช่น บริจาคเงินที่ 100 บาท จะลดหย่อนได้ 200 บาท หักภาษี 37% จะได้คืนเงิน 74 บาท หรือเงินทุก 100 บาทที่บริจาคจะได้รับผลตอบแทนกลับคืน 11% มากกว่าการไม่บริจาค"

การบริจาคเงิน..นอกจากจะได้บุญแล้ว ยังได้กำไรอีกต่อหนึ่งด้วย

กลวิธีสอง..ย้ายรายได้ไปยังบุคคลที่มีฐานรายได้ต่ำกว่า เช่น จาก ก. ไป ข. ,ชิงโชคในชื่อลูก,ฝากเงินในชื่อลูก หรือขายประกันโดยใช้ชื่อลูก เป็นต้น

สาธิต บอกว่า กรณีที่เมื่อใดควรจะฝากเงินและใช้สิทธิ์ยื่นภาษีเงินได้ในชื่อลูกนั้น ภาษีที่ได้คืนจากการใช้สิทธิ์ลดหย่อนลูกต้องน้อยกว่า หรือเท่ากับภาษีที่ได้คืนจากการนำดอกเบี้ยเงินฝากลูกไปยื่นภาษี

วิธีการก็คือ หากดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท แนะนำให้นำมารวมเป็นฐานเงินได้ เพราะอัตราภาษีของเงินได้ที่ไม่เกิน 5 แสนบาท สูงสุดอยู่ที่อัตรา 10% ซึ่งต่ำกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยที่ 15%

แต่หากกรณีที่ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ให้ลองคำนวณภาษีดูก่อน

และดอกเบี้ยต่ำสุดที่ควรฝากในชื่อลูก ให้คิดจากภาษีที่ได้คืนจากการใช้สิทธิ์ลดหย่อนลูกที่ศึกษา หารด้วย 15%(ภาษีดอกเบี้ย) เปรียบเทียบ

ทั้งนี้ในการฝากเงินในชื่อลูกนั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า กรณีพ่อและแม่ฝากเงินร่วมกับลูกผู้เยาว์ ดอกเบี้ยให้ถือเป็นเงินได้ของพ่อหรือแม่

แต่หากพ่อหรือแม่ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ดอกเบี้ยที่ได้รับให้ถือเป็นเงินได้ของลูก

และดอกเบี้ยเกิน 1.5 หมื่นบาท พ่อแม่จะไม่สามารถนำมาเป็นเงินได้ของพ่อแม่

แยกหน่วยภาษี.. เป็นกลวิธีที่สาม

สาธิต กล่าวว่า การแยกหน่วยภาษีและย้ายเงินได้เพื่อกระจายฐานภาษี เช่น การจัดตั้งคณะบุคคล จะทำให้ได้ประโยชน์จ่ายภาษีในอัตราต่ำ และได้ค่าลดหย่อนซ้ำโดยคณะบุคคลละ 6 หมื่นบาท

"เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นวิธีการก็คือ ควรจะแยกรายได้ไปให้ลูกเพื่อเริ่มฐานภาษีใหม่ เพื่อทำให้จ่ายภาษีในอัตราต่ำ หรือใช้วิธีการจัดตั้งคณะบุคคลประกอบกิจการอะไรก็ได้ร่วมกันตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป เช่น ตั้งคณะบุคคลฝากเงินธนาคารกินดอกเบี้ย ซึ่งการจัดตั้งสามารถจดทะเบียนซ้ำ และยื่นภาษีแยกกันได้"

ต่อมากลวิธีที่สี่..ยืดระยะเวลาในการเสียภาษี

วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ การรับรู้รายได้คนละปีภาษี เช่น การคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีที่มีอายุงานต่ำกว่า 5 ปี ก็จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่ "ต่ำกว่า" การถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงก่อนครบอายุสมาชิก 5 ปี

"การที่สมาชิกใช้วิธีพักเงินไว้กับกองทุนในกรณีลาออกจากงานแล้วยังไม่งานใหม่ จะทำให้เสียภาษีในฐานต่ำกว่า หรือหากได้งานใหม่ก็สามารถโยกเงินกองทุนไปบริษัทใหม่ จะทำให้นับอายุกองทุนต่อเนื่อง แต่ถ้าลาออกจากสมาชิกกองทุน แล้วนำเงินมารวมเป็นรายได้ปลายปี จะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า"

กลวิธีที่ห้า..เลือกออมเงินแบบ "ยกเว้นภาษี"

สำหรับผู้ที่มีเงินออมโดยที่ไม่ได้นำไปลงทุน จะด้วยกลัวความเสี่ยง หรือมีเหตุผลใด ๆ ก็ตาม และหลีกเลี่ยงไม่ต้องการจ่ายภาษีเงินฝากในอัตราที่สูง

สาธิตแนะนำว่า ผู้ออมเงินควรจะเลือกออมเงินในกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกหลากหลาย เช่น การซื้อสลากออมสิน ฝากเงินออมสินเผื่อเรียกของรัฐบาล ฝากเงินออมทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท เงินฝากประจำแบบผูกพันหรือมีระยะเวลา เงินฝากประจำสำหรับผู้สูงอายุ

แม้แต่การลงทุนในหุ้นหรือกองทุน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน เป็นต้น

กลวิธีที่หก.. เลือกเสียภาษีในรูปแบบที่ได้ประโยชน์ "สูงสุด" ทางเลือกนี้เหมาะสำหรับคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งสามารถเลือกระหว่างการขายหุ้นเอากำไร หรือรับเงินปันผลแล้วใช้สิทธิประโยชน์ภาษี

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดการลงทุน บอกว่า หากผู้ลงทุนเลือกที่จะรับเงินปันผล ก็จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากที่บริษัทหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยสามารถเลือกนำมาคำนวณปลายปีหรือไม่ก็ได้ แต่กรณีที่เสียภาษีในอัตรา 30% เขาแนะนำให้ควรนำมารวมคำนวณภาษีปลายปีจะคุ้มค่ากว่า

" คนเล่นหุ้นสามารถเลือกที่จะเอากำไร ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี หรือจะรอรับปันผล ก็สามารถขอเครดิตภาษีคืนทีหลังได้ แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องตรวจสอบก่อนว่าหุ้นหรือบริษัทที่จ่ายปันผลนั้นมีอัตราภาษีอยู่ที่เท่าไร

หากมีอัตราภาษี 30% การรวมภาษีปลายปีและขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนจะคุ้มค่ามากสุด แต่หากบริษัทได้รับยกเว้นภาษีบีโอไอ ก็ไม่ควรรวมรายได้ปลายปีเพื่อขอเครดิตภาษีคืน"

ส่วนกลวิธีที่เจ็ด..ทางเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี ได้แก่ การซื้อเบี้ยประกันชีวิต ซื้อกองทุน RMF หรือ LTF ตลอดจนลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข. จะทำให้ได้ประโยชน์ทางภาษีมากกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ

สุดท้าย กลวิธีที่แปด..ใช้สิทธิ์เรียก "คืนภาษี" ให้เร็วที่สุด

สาธิตบอกว่า กรณีการลงทุนใน RMF หรือ LTF ระหว่างปี จะทำให้ได้ประโยชน์สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ภายในปี เท่ากับจะทำให้มีรายได้ในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังสามารถนำมาซื้ออาร์เอ็มเอฟ หรือ แอลทีเอฟ ตลอดจนลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้อีก

นอกจากนั้น ในกรณีที่เป็นการลงทุนในหุ้น หรืออาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ การซื้อระหว่างปียังช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีกว่าซื้อครั้งเดียวในช่วงปลายปี

"หลายคนมักจะมาซื้อ RMF และ LTF ในช่วงปลายปี นอกจากจะซื้อหุ้นที่ราคาแพงแล้ว (หุ้นมักขึ้นในช่วงปลายปี ) และหมดสิทธิ์ในการเลือกซื้อหุ้นที่ราคาต่ำ ๆ แล้ว ยังเสียประโยชน์การลดหย่อนภาษีอีกด้วย

การซื้อระหว่างปีผู้ลงทุนจะสามารถหักลดหย่อนได้ทันที (โดยไม่ต้องยื่นภาษีในช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป) ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นนำกลับไปซื้อกองทุนได้อีกต่อหนึ่ง และโดยปกติผลตอบแทนของกองทุนอาร์เอ็มเอฟ และแอลทีเอฟ จะได้มากกว่าเงินฝากอยู่แล้ว" สาธิต กล่าว

กลยุทธ์การบริหารภาษี จึงเป็น "ตัวช่วย" เพิ่มเงินในกระเป๋าแบบไม่มีความเสี่ยงใดๆ



 http://www.bangkokbizweek.com/
tanavut
Verified User
โพสต์: 87
ผู้ติดตาม: 0

8 กลวิธี 'ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน'

โพสต์ที่ 2

โพสต์

สาธิตบอกว่า เทคนิคในการลดหย่อนภาษีค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ประโยชน์ เช่น ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ ก็ทำให้คู่สมรสมีเงินได้ด้วยการนำเงินฝากไว้ในบัญชีของคู่สมรสเพื่อให้ได้รับรายได้จากดอกเบี้ย จากนั้นก็นำไปซื้อประกันชีวิต เพื่อให้ได้ค่าลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งหากมีฐานภาษีสูง เช่น 30% ก็จะได้รับเงินคืนถึง 3 หมื่นบาททีเดียว
ปกติเงินได้ดอกเบี้ยของคู่สมรสต้องรวมกันยื่นนี่ครับ

สมมุติว่าทำได้ คู่สมรสต้องมีรายได้จากดอกเบี้ยเป็นเงินถึง 1.1 ล้านบาท เพื่อประหยัด 3 หมื่นจากประกันชีวิต
ต้องฝากเงินเท่าไร คิดเอาเอง[/code]
theerab
Verified User
โพสต์: 64
ผู้ติดตาม: 0

Re: 8 กลวิธี 'ลดภาษี เพิ่มผลตอบแทน'

โพสต์ที่ 3

โพสต์

vichit เขียน: การซื้อระหว่างปีผู้ลงทุนจะสามารถหักลดหย่อนได้ทันที (โดยไม่ต้องยื่นภาษีในช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป) ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นนำกลับไปซื้อกองทุนได้อีกต่อหนึ่ง และโดยปกติผลตอบแทนของกองทุนอาร์เอ็มเอฟ และแอลทีเอฟ จะได้มากกว่าเงินฝากอยู่แล้ว" สาธิต กล่าว
ทำได้ด้วยเหรอ แล้วมันจะยื่นยังไงเหรอครับ มีใครเคยทำมั้งอยากรู้วิธีครับ
โพสต์โพสต์