Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
-
- Verified User
- โพสต์: 23
- ผู้ติดตาม: 0
Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 1
อยากทราบว่าในการวิเคราะห์พื้นฐาน
Market Cap สามารถนำไปพิจารณาอะไรได้บ้างไหมครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
Market Cap สามารถนำไปพิจารณาอะไรได้บ้างไหมครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
[มือใหม่หัดลงทุน]
Survive First
You have to lose many battles to win the war.
Survive First
You have to lose many battles to win the war.
-
- Verified User
- โพสต์: 1837
- ผู้ติดตาม: 0
Re: Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 2
ไม่แน่ใจในเชิงวิเคราะห์ แต่กองทุนส่วนใหญ่ มักจัดสรรการลงทุนตามขนาดของบริษัท
โดยการวัดจาก market cap โดยแบ่งแยกกองทุนเป็น large cap, mid cap, small cap, กับ micro cap
หุ้นในSET50 ปรกติจะถูกนับเป็น large cap ในไทย
แต่สำหรับกองทุนใหญ่ๆในต่างประเทศ market cap ต่ำกว่าUSD 3,000ล้าน มักจะถูกนับเป็น micro cap
ซึ่งแปลว่าจะมีความสนใจในระดับต่ำที่สุด เพราะเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของเงินกองทุน
ส่วนใหญ่จะมองที่ระดับ small cap ขึ้นไปเท่านั้น
ถ้าสังเกตุดู จะเห็นว่าหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในSET50 มักจะไม่มีการทำRoadshow
หรือการไปพบนักลงทุนในต่างประเทศมากนัก
ส่วนพวกที่ไปยุโรปหรืออเมริกา ก็จะเป็นบริษัทที่เป็น Top30 เสียส่วนใหญ่
โดยการวัดจาก market cap โดยแบ่งแยกกองทุนเป็น large cap, mid cap, small cap, กับ micro cap
หุ้นในSET50 ปรกติจะถูกนับเป็น large cap ในไทย
แต่สำหรับกองทุนใหญ่ๆในต่างประเทศ market cap ต่ำกว่าUSD 3,000ล้าน มักจะถูกนับเป็น micro cap
ซึ่งแปลว่าจะมีความสนใจในระดับต่ำที่สุด เพราะเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของเงินกองทุน
ส่วนใหญ่จะมองที่ระดับ small cap ขึ้นไปเท่านั้น
ถ้าสังเกตุดู จะเห็นว่าหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในSET50 มักจะไม่มีการทำRoadshow
หรือการไปพบนักลงทุนในต่างประเทศมากนัก
ส่วนพวกที่ไปยุโรปหรืออเมริกา ก็จะเป็นบริษัทที่เป็น Top30 เสียส่วนใหญ่
- kongkiti
- Verified User
- โพสต์: 5830
- ผู้ติดตาม: 2
Re: Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 3
หุ้นที่(จะ)ใหญ่ที่สุดในตลาด
Monday, 29 April 2013
งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมก็คือ ดูว่าบริษัทไหนในตลาดหุ้นของแต่ละประเทศมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุด และหลาย ๆ ครั้งก็ดูบริษัทที่ใหญ่รอง ๆ ลงมา นอกจากนั้น ผมก็ชอบที่จะดูว่าในอดีตนั้น บริษัทไหนเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มาก ๆ และเดี๋ยวนี้พวกเขายังใหญ่อยู่ไหม เพราะข้อมูลนี้จะช่วยบอกถึง “วิวัฒนาการ” ทางเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นว่าจะไปทางไหน ถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นก็คือ ในอนาคตบริษัทไหนจะมีโอกาสเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มากในตลาดหลักทรัพย์ และถ้าเรารู้ เราก็สามารถลงทุนซื้อและถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาวได้ ลองเริ่มต้นจากตลาดสหรัฐซึ่งมีข้อมูลยาวนานและหาได้ง่ายดู
ในปัจจุบันหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐนั้นก็คือ หุ้นของแอปเปิลคอมพิวเตอร์และหุ้นของบริษัทเอ็กซอนที่ผลิตน้ำมันที่สลับกันเป็นหมายเลขหนึ่ง เอ็กซอนนั้นจริง ๆ แล้วก็เคยเป็นหมายเลขหนึ่งมานานแล้ว น่าจะหลายสิบปีมาแล้วและก็คงจะเป็นบริษัทหมายเลขหนึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปสูงหรือมีวิกฤติน้ำมันที่ทำให้บริษัทมีกำไรสูงมากและทำให้มูลค่าหุ้นสูงลิ่ว ประเด็นก็คือ พลังงานนั้นเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องบริโภคและมีการใช้จ่ายค่อนข้างมากมาตลอดน่าจะตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนที่เริ่มมีการใช้รถยนต์ ดังนั้น ยอดขายของบริษัทน้ำมันจึงมีมูลค่าสูงมากตลอดมา นอกจากนั้น บริษัทที่จะผลิตน้ำมันเองก็ต้องมีขนาดใหญ่มากส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทน้ำมันมีขนาดสูงลิ่วมาตลอด ผลก็คือ บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างเอ็กซอนจึงติดอันดับหนึ่งมาบ่อยครั้งและผมเชื่อว่ามากกว่าทุกบริษัท
เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนอเมริกันร่ำรวยขึ้นมาก พวกเขาเริ่มใช้จ่ายกับสินค้าไฮเท็คมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ได้อย่างไอโฟนและไอแพด หุ้นของแอปเปิลที่เป็นหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรมจึงกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกันและโลกได้ในช่วงเร็ว ๆ นี้แม้ว่าเมื่อประมาณซักสิบกว่าปีที่ผ่านมามันยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ บริษัทหนึ่งในตลาดหุ้น
ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ของหุ้นหมายเลขหนึ่งย้อนหลังไปไกล ๆ เราก็จะพบว่าหุ้นที่เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นอเมริกานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยของเศรษฐกิจ เมื่อสมัยที่คนอเมริกันเริ่ม “ขับรถยนต์” กันทั้งประเทศ หุ้นของเจนเนอรัลมอเตอร์หรือ GM ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของอเมริกาน่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด แต่หลังจาก “ยุคทอง” ของรถยนต์ผ่านไปเนื่องจากการแข่งขันจากรถยนต์ต่างประเทศ หุ้น GM ก็ไม่เคยกลับมายิ่งใหญ่อีกเลย
ยุคที่คนอเมริกันหันมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในบ้านกันทุกบ้าน หุ้นเจนเนอรัลอีเล็กทริกหรือ GE ก็น่าที่จะเคยเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด การใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นอิ่มตัวไปนานแล้ว GE เองก็ตกอันดับไปนานแล้วแต่ปัจจุบันก็ยังคงใหญ่มาก แต่นี่เป็นเพราะ GE ได้หันไปทำกิจการอย่างอื่นที่ยังทำรายได้มากและยังมีคนจ่ายเงินซื้อบริการมากพอสมควรเช่น การทำเครื่องยนต์ของเครื่องบินและการทำธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ทีเดียว อย่างไรก็ตาม โอกาสกลับมาเป็นที่หนึ่งนั้นน่าจะหมดไปแล้ว
เมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ แน่นอน IBM ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งนั้นก็น่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด เพราะแทบทุกธุรกิจก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนต้องใช้ และการใช้นั้นต้องอาศัยซอฟท์แวร์ หุ้นของไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งที่โดดเด่นครอบงำธุรกิจนี้จึงกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่มากที่สุดในตลาดและในโลกทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีบริษัทยังทำงานกันใน “โรงรถ”
ย้อนหลังไปซัก 15-20 ปีที่ผ่านมา วอลมาร์ทซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เหนือกว่าในด้านของการค้าปลีกสมัยใหม่และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยอาศัยกลยุทธการ “ขายถูกทุกวัน” จนสามารถสร้างเครือข่ายที่มียอดขายมโหฬารสูงที่สุดในโลกและมากกว่าบริษัทน้ำมันที่มียอดขายสูงมากตลอดมา ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด แม้ว่าปัจจุบันมันตกอันดับไปแล้ว แต่มูลค่าตลาดของวอลมาร์ทก็น่าจะยังสูงต่อไปเนื่องจากมูลค่าธุรกิจของโมเดิร์นเทรดเองนั้นก็จะยังสูงต่อไปตราบที่เศรษฐกิจยังขยายตัวเพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้ทุกวันและรูปแบบธุรกิจอื่นก็ยังไม่สามารถมาทดแทนได้
สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์นั้น ถ้ามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ามันเป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่มากและมีมูลค่าตลาดสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นครั้งเป็นคราวแม้ว่าในระยะหลังโอกาสที่จะเป็นอันดับหนึ่งอีกคงจะน้อยลงไปมากแล้ว เหตุผลก็ชัดเจนว่าคนมีเงินและต้องฝากธนาคารรวมถึงต้องมาใช้บริการของธนาคารพาณิชย์นั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเจริญทางเศรษฐกิจที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินนั้นเป็นกิจการที่อันดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะรักษาอันดับของตนเองไว้ได้โดยเฉพาะเวลาที่เกิดวิกฤติขึ้น ดังนั้น เราก็จะเห็นว่าช่วงเวลาหนึ่งซิตี้แบงค์อาจจะเป็น “ราชันย์” ต่อมาเราอาจจะเห็นแบงค์ออฟอเมริกาที่ยิ่งใหญ่
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ผมลองนึกดูอย่างคร่าว ๆ แล้วก็คิดว่าในช่วงแรก ๆ ของการเปิดตลาดหลักทรัพย์ กิจการที่น่าจะมีมูลค่าตลาดสูงสุดน่าจะเป็นแบงค์อันดับหนึ่งของประเทศซึ่งก็คือธนาคารกรุงเทพในยุคนั้น หุ้นแบงค์ยังน่าจะเคยใหญ่ที่สุดในตลาดมาเป็นครั้งเป็นคราวจนมาถึงยุคหลังที่ประเทศเจริญขึ้นและคนหันมาบริโภคสิ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะพลังงานมากขึ้นทำให้หุ้นของแบงค์ตกอันดับไปและอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาใหญ่ที่สุดอีก อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงค์ก็น่าจะเป็นกิจการที่ใหญ่มากไปอีกนานเหมือนอย่างในตลาดหุ้นสหรัฐ
เมื่อประเทศเข้าสูโหมดการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการสร้างสาธารณูปโภคและการสร้างที่อยู่อาศัยมากมาย หุ้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างก็ย่อมมีโอกาสที่จะกลายเป็นหุ้นอันดับหนึ่ง ดังนั้น หุ้นของปูนใหญ่ซึ่งมีขนาดใหญ่ครอบงำอุตสาหกรรม จึงน่าจะเคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งของประเทศในช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจไทยก้าวมาสู่ระดับที่ใกล้จะเป็นเศรษฐกิจที่ “พัฒนาแล้ว” การใช้จ่ายทางด้านของการก่อสร้างก็น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายอย่างอื่น ดังนั้น โอกาสที่ธุรกิจในกลุ่มก่อสร้างจะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอีกก็น่าจะยาก
ธุรกิจพลังงานของไทยนั้น เริ่มกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้วโดยบริษัทปตท. ซึ่งครอบงำธุรกิจนี้สามารถรักษามูลค่าหุ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างที่ไม่มีใครแซงได้มานานหลายปี อย่างไรก็ตาม พลังของ “เศรษฐกิจใหม่” กำลังเข้ามาแทนที่ หุ้นที่อาจจะมีโอกาสกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในเวลาไม่นานก็คือธุรกิจสื่อสารที่เป็นโมไบล์หรือมือถือและแน่นอนหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมก็คือหุ้นของ ADVANC ที่มีมูลค่าหุ้นใกล้เข้ามาทุกที
มองไกลออกไปในอนาคต การหาหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหรือหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่มาก ๆ นั้นคือ “รางวัลอันสูงสุด” สำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะถ้าเรารู้หรือคาดการณ์ถูก การลงทุนถือหุ้นตัวนั้นไว้จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ซื้อแล้วถือเก็บไว้ รอเวลาให้มันเติบโตไปเรื่อย ๆ
Posted by nivate at 9:43 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
- kongkiti
- Verified User
- โพสต์: 5830
- ผู้ติดตาม: 2
Re: Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 4
วิเคราะห์หุ้นจากตัวเลข
โดย : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การวิเคราะห์หุ้น เราต้องวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน
นั่นคือ เขาจะดูตัวเลขผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูไม่ดีโดยเฉพาะปีล่าสุด เขาอาจเลิกสนใจไปเลย ถ้าดูดี หรือดีมาก เขาจะศึกษาต่อทางด้านคุณภาพ นั่นก็คือ ดูว่าบริษัทขายอะไร สินค้าโดดเด่นไหม แนวโน้มราคาสินค้า หรือบริการเป็นอย่างไร บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่สำหรับผม ผมมักจะเริ่มต้นวิเคราะห์เชิงคุณภาพก่อน เริ่มจากการมองด้านการตลาดและต่อเนื่องไปด้านต่างๆ โดยเฉพาะความได้เปรียบเชิงแข่งขันของกิจการเทียบกับคู่แข่ง เมื่อสนใจแล้ว ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ด้านปริมาณ และตัวเลขทางการเงินที่ผมจะดูก่อนเลย ก็คือ ตัวเลขสรุปข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ 4-5 ปี ย้อนหลัง ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ set.or.th ของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท และต่อไปนี้ คือ การแนวการวิเคราะห์ของผม
ตัวเลขตัวแรกที่ผมสนใจมาก ก็คือ กำไรสุทธิ สิ่งที่ผมมอง ก็คือ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา กำไรของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ากำไรของบริษัทนั้น "ลุ่มๆ ดอนๆ" นั่นคือ บางปีก็กำไร บางปีก็ขาดทุน แบบนี้อาจบอกได้ว่า กำไรของบริษัท "คาดการณ์ได้ยาก" ดังนั้น อนาคตกำไรของบริษัทคงไม่แน่นอน อาจจะกำไร หรือขาดทุนได้ ลักษณะแบบนี้ผมจะรู้ว่า การหามูลค่าที่แท้จริงทำได้ยากมาก บ่อยครั้งผมมักจะปล่อย "ผ่าน" ไป ถ้ากำไรบริษัทมีความผันผวนพอสมควรทีเดียว แต่ก็ยังกำไรอยู่ทุกปี แบบนี้ผมจะดูว่าปีที่แย่ที่สุดเป็นอย่างไร ถ้าพบว่าปีที่แย่ก็ยังได้กำไรคิดแล้วเท่ากับ 10% ของ Market Cap. หรือของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในปัจจุบัน แบบนี้ ผมคิดว่าหุ้นของบริษัทอาจยังน่าสนใจ เพราะถ้าในอนาคตกำไรไม่ต่ำกว่านั้น การลงทุนซื้อหุ้นของผมในวันนี้ยังทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี ซึ่งไม่เลวนัก
ถ้ากำไร 4-5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีความ "สม่ำเสมอ" คือ ขึ้นลงในระดับ 10-20% แบบนี้ ผมจะสรุปว่ากำไรของบริษัทในอนาคต น่าจะพอ "คาดการณ์ได้" ผมก็จะศึกษาต่อไปว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้น น่าจะเป็นเท่าไร โดยอาจเทียบกับกำไรล่าสุดที่ผมเห็น ถ้ากำไรสม่ำเสมอนั้น เป็นกำไรที่ไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีแรกสุดจนถึงปีสุดท้าย ที่แสดงในตาราง ผมมักจะสรุปว่าเป็นหุ้นของกิจการที่อาจจะ "โตช้าหรือไม่โต" แบบนี้มูลค่าพื้นฐานที่ผมจะให้ก็จะต่ำ เช่น อาจให้มูลค่าพื้นฐานไม่เกิน 10 เท่าของกำไรของปีล่าสุดที่ผมเห็น แต่ ถ้ากำไร 5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ เช่น เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20% แบบนี้ผมอาจจะบอกตัวเองว่า อาจจะเป็นบริษัทที่ กำลังโตเร็ว ถ้าเป็นแบบนี้ ผมจะให้มูลค่ากับหุ้นสูงกว่าหุ้นที่ไม่โตมาก อาจจะให้มูลค่าเท่ากับ 15-20 เท่าของกำไรของปีล่าสุดก็ได้
ตัวเลขตัวสำคัญต่อมาที่ผมจะดู ก็คือ ค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้าตัวเลขนี้ในทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10% ต่อปี ผมจะบอกตัวเองว่า บริษัทนี้กำไรไม่ดี เป็นบริษัทที่มีคุณค่าค่อนข้างน้อยในเชิงธุรกิจ บริษัทไม่ควรลงทุนขยายงานเพิ่ม เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ถ้ามีเงินสดเหลือ ควรจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า แต่ถ้าค่า ROE ของบริษัทสูงเกิน 15% ทุกปี หรืออาจจะสูงเกิน 20% ทุกปี แบบนี้แสดงว่า เป็นธุรกิจที่ดีมาก เพราะทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่าการลงทุนอื่นของผู้ถือหุ้นเอง และสูงกว่าต้นทุนการเงินของบริษัท ผมจะต้องดูเพิ่มว่า ROE ที่สูงนี้ ไม่ได้เป็นเพราะบริษัทมีหนี้เงินกู้จากธนาคารสูงเกินไปด้วย
ตัวเลขสำคัญตัวที่สาม ก็คือ อัตรากำไรสุทธิคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ตัวเลขนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นผู้ค้าปลีก ตัวเลขอาจจะอยู่ที่เพียง 3-5% แต่ธุรกิจเช่น โรงแรม อาจจะสูงถึง 20% เหตุผลสำคัญ คือ ผู้ค้าปลีกมักมียอดขายสูง ดังนั้น กำไรเพียง 3% ก็ได้กำไรมากแล้ว ขณะที่โรงแรม ยอดขายมักจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงแรม Profit Margin ก็ต้องสูงจึงจะคุ้ม ประเด็นสำคัญของตัวเลขนี้ ก็คือ ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว บริษัทที่มี Margin สูงกว่าก็มักจะแสดงว่าเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่สูงกว่า พูดง่ายๆ มี Value สูงกว่า นอกจากตัวเลขรายปีแล้ว แนวโน้มของตัวเลขนี้ มีความสำคัญมาก ถ้า Profit Margin ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปีแรกเป็น 4% ต่อมาเป็น 4.2% และถึงปีสุดท้ายหรือปีล่าสุดกลายเป็น 5% แบบนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณภาพของบริษัทดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ Value หรือมูลค่าของบริษัทสูงขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขที่สี่ที่ผมสนใจ ก็คือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap. นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่าอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดให้มูลค่าบริษัทเท่าไร และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าเท่าไร ประเด็นที่ต้องระวัง ก็คือ บริษัทมีวอร์แรนท์หรือสิทธิที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นอยู่หรือไม่และมีมากเท่าไร เพราะถ้ามีมากและจะออกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ตัวเลข Market Cap. ที่เห็นล่าสุดก็อาจจะไม่จริง เราอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าสิ่งที่เห็น ข้อมูลมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนี้เป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าเราจะเป็นเจ้าของบริษัททั้งหมด ลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขหลายๆ ตัวเราก็จะพอมีไอเดียว่ามันถูกหรือแพง
ตัวเลขที่ห้าที่สำคัญมาก ก็คือ ค่า PE ซึ่งบอกถึงความถูกหรือแพงของหุ้นในกรณีที่บริษัท "มีกำไรที่สม่ำเสมอ" ค่า PE ที่ปานกลาง ก็คือค่า PE ที่เท่าๆ กับค่า PE ของตลาดโดยรวมซึ่งในช่วงนี้มีค่าประมาณ 12-13 เท่า ถ้าหุ้นที่เราดูอยู่มีค่า PE ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าถูกและถ้าสูงกว่านี้ก็ถือว่าแพง แต่หุ้นจะน่าซื้อหรือไม่นั้นต้องดูราคาเปรียบเทียบกับคุณภาพด้วย ถ้ากิจการดี ค่า PE จะสูงบ้างก็อาจจะคุ้ม ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทไม่ดีเลย ค่า PE แม้ว่าจะต่ำก็อาจจะไม่คุ้มค่า
ตัวเลขที่หก ก็คือ ค่า PB ซึ่งบอกถึงราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิของบริษัท ค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงนี้ก็ประมาณเท่ากับ 2 เท่าเศษๆ ดังนั้น หุ้นที่มีค่า PB สูงกว่า 2 เท่าก็ถือว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ค่า PB นั้นก็มักจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์มีราคาตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชีอย่างเช่นในกรณีของสถาบันการเงิน ส่วนบริษัทอีกจำนวนมากนั้น ค่า PB ก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก
และสุดท้าย ก็คือ อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่ามันเป็น “หุ้นปันผล” หรือเปล่า ถ้าตัวเลขนี้อยู่ในขั้น 5-6% เกือบทุกปี นี่ก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะเป็นแนวหุ้นปันผลดี ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำหน่อยและก็อาจจะเหมาะสำหรับบางคนหรือเหมาะสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
- kongkiti
- Verified User
- โพสต์: 5830
- ผู้ติดตาม: 2
Re: Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 5
ศักดิ์ศรีของหุ้น
เวลาที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะคิดถึงอยู่เสมอก็คือ ความโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของบริษัท ต่อลูกค้า และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีบริษัทนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคำตอบก็คือ บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนจำนวนมาก หรือสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของคนมากมายในขณะที่หาสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันจากบริษัทอื่นไม่ได้หรือได้ยาก ในกรณีอย่างนี้ ผมก็จะสนใจและอาจจะให้คุณค่าสูง และคำว่าคุณค่าสูงของผมนั้น ผมจะวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท
ตัวอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์นั้น สำคัญหรือยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรมนี้มิฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์จะต้องสูง “มโหฬาร” เหตุเพราะว่าคนจำนวนเป็นพันล้านทั่วโลกต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน ข้อเท็จจริงก็คือ ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หุ้นไมโครซอฟท์เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลก แนวคิดที่ว่ามูลค่าหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำคัญของบริษัท ผมขอใช้คำว่า “ศักดิ์ศรี” ของหุ้น นั่นคือ ศักดิ์ศรีของการที่เป็นโปรแกรมที่คนทั่วโลกต้องใช้
ลองมาดูอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ของ สตีป จอบส์ นี่คือบริษัทที่คนทั่วโลกคอยติดตามหาซื้อผลิตภัณฑ์ไฮเท็ครุ่นใหม่ล่าสุด ทั้ง ๆ ที่สินค้าของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่มันเป็นสิ่งที่คน “คลั่งใคล้” ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่โดดเด่นโดนใจสุด ๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้หุ้นของแอปเปิลมีมูลค่าสูงขึ้นมโหฬารและแซงไมโครซอฟท์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เรายังเห็นศักดิ์ศรีของหุ้นกูเกิล เวปไซ้ต์ที่คนทั่วโลกต่างก็เข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายไม่จำกัด หรือเฟซบุ๊คที่คนนับหลายร้อยล้านและกำลังเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ เข้ามาใช้บริการ เหล่านี้ผมคิดว่าจะต้องมีมูลค่าหุ้นมหาศาล ซึ่งเราไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จากตัวเลขกำไรในปัจจุบัน เหตุก็เพราะว่ามันยังขยายตัวไปเรื่อย ๆ และยังเป็นช่วงที่บริษัทอาจต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากเพื่อรองรับกับการขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์หรือคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะต้องมองไปข้างหน้าที่ยาวไกล ดูว่าในที่สุดแล้วจะมีคนกี่คนที่จะเป็นลูกค้าและบริษัทจะมีกำไรเท่าไรซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเราก็อาจจะพบว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันนั้น ยังน่าจะห่างจากมูลค่าที่น่าจะเป็นในอนาคตอีกมาก พูดง่าย ๆ ราคามัน “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในฐานะที่เป็น …. และถ้าเราพบหุ้นแบบนี้ การซื้อลงทุนก็อาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาล
ธุรกิจจำนวนมากนั้นผลิตสินค้าที่สำคัญมากและเป็นสินค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้ามองในแง่บริษัทแล้ว ความสำคัญก็อาจจะมีไม่มาก เพราะถ้าบริษัทเป็นอะไรไป บริษัทหรือโรงกลั่นอื่นก็ยังผลิตอยู่สามารถทดแทนได้ และแม้ว่าจะทดแทนได้ไม่หมด เราก็ยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ดังนั้น ศักดิ์ศรีของการเป็นโรงกลั่นในแง่ของหุ้นก็มีไม่มากนัก
กิจการบางอย่าง เช่น สาธารณูปโภค นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้คนทั้งประเทศและไม่มีบริษัทอื่นมาแทนได้ถ้าบริษัทเป็นอะไรไป แต่กิจการเหล่านั้นก็มักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้ตั้งราคาสูง บางกิจการถูกบังคับให้ตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ แบบนี้ ศักดิ์ศรีก็มีแต่แปลงให้เป็นราคาหุ้นไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างของกิจการในเมืองไทยที่ผมเห็นว่าสามารถนำเรื่องของศักดิ์ศรีมาพูดได้และก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คือ หุ้นการบินไทย ย้อนหลังไปเพียงไม่เกิน 2-3 ปีในช่วงที่หุ้นการบินไทยตกต่ำลงเหลือเพียง7-8 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงนั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทของการบินไทยอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาเครื่องบินโบอิง 747 เพียง 2-3 ลำ แต่ถ้าดูจริง ๆ แล้ว ศักดิ์ศรีของการบินไทยคือการเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนเกือบครึ่งหนึ่งที่ต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยเครื่องบินต้องใช้บริการ นอกจากนั้นการบินไทยยังถือหุ้นใหญ่โดยรัฐที่มี “ศักดิ์ศรี” ที่จะต้องรักษาบริษัทไว้ ดังนั้น ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นการบินไทยในช่วงนั้นจึงดู “ไม่สมศักดิ์ศรี” ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุนหรือฐานะการเงินอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น หุ้นการบินไทยปรับตัวขึ้นมหาศาลสมกับฐานะหรือศักดิ์ศรีของบริษัทคือกว่าแสนล้านบาท
ลองมาดูบริษัทเอกชนธรรมดาที่สถานะหรือตำแหน่งในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจ “ยิ่งใหญ่” แต่ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวแรกก็คือ หุ้น CPF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ฐานะของบริษัทในสังคมการค้าและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารนั้นเป็นที่ประจักษ์มานาน ยอดขายของบริษัทก็สูงเป็นแสนล้านบาทและยังเติบโตไปเรื่อย ๆ แต่ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปี มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพียงแค่ 2-3 หมื่นล้านถ้าผมจำไม่ผิด และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมารับกับศักด์ศรีของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาจจะเติบโตยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาท
หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งบังเอิญอยู่ในกลุ่มของ CP เช่นเดียวกันก็คือ หุ้น CPALL ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปีเช่นเดียวกัน ศักดิ์ศรีของบริษัทก็คือ เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาดสะดวกซื้อที่คนไทยนับวันจะใช้บริการมากขึ้นและในที่สุดก็น่าจะทั้งประเทศ สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การขาดร้าน 7-11 นั้นก็จะเป็นการ “ยุ่งยาก” หรือ “ไม่สะดวก” เอามาก ๆ แต่ในขณะนั้น หุ้นของ CPALL ซึ่งโดยศักยภาพนั้นน่าจะมียอดขายเป็นแสนล้านบาทขึ้นไปกลับมี Market Cap. เพียง 3-4 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีหนี้เงินกู้เลย เป็นไปได้อย่างไรที่กิจการที่คนทั้งประเทศต้องใช้บริการเกือบทุกวันโดยที่หาคู่แข่งแทบไม่ได้จะมีมูลค่าเพียงเท่านั้น และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาทสมกับศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็น
การดูว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้นสมกับศักดิ์ศรีของกิจการหรือไม่เป็นศิลปะอยู่มากทีเดียวเนื่องจากตัวเลขผลการดำเนินงานในขณะที่วิเคราะห์นั้นใช้ไม่ได้ หลายครั้งต้องใช้จินตนาการว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปี 10 ปีหรือยาวกว่านั้น การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าทำถูก ผลตอบแทนก็มหาศาล
ที่มา: Settrade Blog ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee
FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
-
- Verified User
- โพสต์: 23
- ผู้ติดตาม: 0
Re: Market Cap ใช้บอกอะไรได้บ้างครับ?
โพสต์ที่ 6
ขอบคุณครับ (^/\^) กระจ่างขึ้นมากมาย
[มือใหม่หัดลงทุน]
Survive First
You have to lose many battles to win the war.
Survive First
You have to lose many battles to win the war.