พฤหัสฯ. ม.ค. 03, 2013 10:01 am | 0 คอมเมนต์
อ่วมขึ้นค่าไฟอีก4สตางค์ กกพ.อ้างภาระล้างหนี้6พันล.
แหล่งข่าว : บ้านเมือง , วันที่ : 03/01/2013
ประเดิมปีใหม่ คนจนอ่วมอรทัย กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟอีก 4 สตางค์ อ้างต้องเคลียร์หนี้คืน กฟผ. ให้หมดปีนี้ เริ่มมีผลใช้บิล ม.ค.-เม.ย. ขณะที่ค่าไฟบ้านจ่ายจริง 3.76 บาท/หน่วย พร้อมลั่นไม่ปรับขึ้นค่าเอฟทีถึงสิ้นปี
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติเห็นชอบการประกาศค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2556 ขึ้นอีก 4.04 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับเอฟทีเดิมเอฟทีงวดนี้ จึงเท่ากับ 52.04 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประชาชนเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3.72 บาทต่อหน่วย เป็นประมาณ 3.76 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ทาง กกพ.ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาวะเศรษฐกิจ และไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าว จากเดิมที่หน่วยงานผลิตไฟฟ้าเสนอปรับขึ้นมาในอัตราประมาณ 13.57 สตางค์ต่อหน่วย โดยต้นทุนที่มีภาระในส่วนนี้ ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมรับภาระแทนประชาชนเป็นการชั่วคราวไปก่อน วงเงิน ประมาณ 5,131 ล้านบาท
นายดิเรก กล่าวว่า สำหรับต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีที่ปรับขึ้นงวดนี้ ต้นทุนสำคัญเกิดจากต้นทุนค้างจ่ายของประชาชนที่ กฟผ.แบกรับภาระไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การลดค่าไฟฟ้าช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 โดยช่วงนั้น กฟผ.แบกรับภาระกว่า 10,000 ล้านบาท และทาง กกพ.พิจารณาเกลี่ยต้นทุนภาระดังกล่าวคืนแก่ กฟผ. จนทำให้งวดนี้เหลือเพียงประมาณ 5,131 ล้านบาท และจะมีการเกลี่ยอย่างต่อเนื่อง โดยงวดหน้าเหลือบาท และจะมีการเกลี่ยอย่างต่อเนื่อง โดยงวดหน้าเหลืออีกประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้างวดต่อไปยังปรับเพิ่มขึ้น
"การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดปัจจุบันจึงเป็นการปรับเพื่อใช้หนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ที่ช่วยตรึงค่าเอฟทีมาโดยตลอด ปัจจุบันเป็นหนี้ กฟผ.โดยรวมอยู่ที่กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งความจริงต้องปรับขึ้นค่าเอฟทีอีก 13.57 สตางค์ต่อหน่วย หรือทำให้ค่าเอฟทีโดยรวมอยู่ที่ 61.57 สตางค์ต่อหน่วย จึงจะสามารถใช้หนี้ได้หมด แต่เรกูเลเตอร์ไม่ต้องการให้เป็นภาระของประชาชนมากเกินไป จึงพิจารณาให้ใช้วิธีทยอยคืนหนี้งวดละ 4 สตางค์ต่อหน่วยแทน โดยเริ่มตั้งแต่งวดแรกของปี 2556 นี้ และจะทำให้หนี้เริ่มลดลงจาก 6,000 ล้านบาท เหลือ 5,131 ล้านบาท ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวจะทำให้ใช้หนี้ กฟผ.ได้หมดภายในปี 2556 ขณะที่ค่าเอฟทีของประชาชนจะไม่ปรับขึ้นตลอดปี 2556 โดยคงไว้ที่ระดับ 52.04 สตางค์ต่อหน่วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ปัจจัยด้านราคาก๊าซฯ และค่าเงินบาท ไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปจากปัจจุบันมากนักด้วย"
นอกจากนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังเกิดจากประเทศพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซชั่วคราวประมาณช่วงเดือน กุมภาพันธ์ และเดือนเมษายน2555 จึงทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุน จึงขยับสูงขึ้น ท่ามกลางการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ทรงตัวระดับสูง แต่ต้นทุนงวดนี้ต่ำกว่างวดที่แล้ว โดยต้นทุนก๊าซอยู่ที่ประมาณ 307-317 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงจากงวดที่แล้วที่อยู่ประมาณ 308-324 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันย้อนหลังที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณงวดนี้เท่ากับ 30.82 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 4.1%
อย่างไรก็ตาม สำหรับมติดังกล่าว สำนักงาน กกพ.จะนำรายละเอียดทั้งหมดเผยแพร่ผ่าน
www.erc.or.th เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียวันที่ 2-8 มกราคมนี้ ก่อนนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาและประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตั้งแต่ งวดนี้เป็นต้นไป