หน้าแรก
เว็บบอร์ด
หลักสูตรออนไลน์
Marketplace
สินค้าสมาคม
ทดลองใช้ฟรี 30 วัน
เข้าสู่ระบบ
เมนูลัด
แสดงกระทู้ที่ยังไม่มีการตอบ
แสดงกระทู้ที่เปิดดูแล้ว
ค้นหา
รายชื่อสมาชิก
ทีมงาน
FAQ
ไอเดียหุ้นเด้ง
โพสต์ยอดนิยม
หุ้นที่ติดตาม
ผู้เขียนที่ติดตาม
pinguwing
Joined: จันทร์ ก.ค. 29, 2013 9:15 am
193
โพสต์
|
0
กำลังติดตาม
|
0
ผู้ติดตาม
ส่งข้อความ
ดูประวัติส่วนตัว - pinguwing
กระทู้ที่ตั้ง
โพสต์ที่ตอบ
โพสต์ที่ตอบ
คอมเมนต์
ไลค์
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
สำหรับท่านที่อ่านบทความใน Forum นี้เป็นประจำ อันนี้เป็นหนังสือเล่มที่ "เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง" ที่ผมรวบรวมเอาบทความต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เผื่อบางท่านสนใจครับ
โดย
pinguwing
อาทิตย์ พ.ย. 06, 2016 5:46 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
หนังสือที่รวบรวมบทความต่าง ๆ ที่ผม Post ไว้ในกระทู้นี้ทั้ง 2 เล่มครับ มีวางจำหน่ายที่ซีเอ็ดทั้ง 2 เล่ม หรือหากท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดมาได้ที่นี่นะครับ http://m.me/DataAnalysisforDecisionMaking
โดย
pinguwing
อังคาร ต.ค. 25, 2016 9:18 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน ติดตามได้ใน Page Data Analysis for Decision Making นะครับ https://www.facebook.com/DataAnalysisforDecisionMaking
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. ต.ค. 20, 2016 4:45 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
การบรรยายเรื่อง Why Investors Fail ที่ SiamQuant Conference 2015 ครับ https://www.youtube.com/watch?v=u_2Gk_dz8ls
โดย
pinguwing
ศุกร์ ต.ค. 07, 2016 5:34 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
รายการ Money Talk เกี่ยวกับความลำเอียงในการตัดสินใจในการลงทุนในตลาดหุ้นครับ https://www.youtube.com/watch?v=ZEetMxfUwww
โดย
pinguwing
เสาร์ ก.ย. 24, 2016 5:40 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ถ้าฉันได้ เธอต้องเสีย (Zero-sum heuristic) เคยได้ยินคำว่า Zero-sum game ไหมครับ คำ ๆ นี้มีความหมายว่า ถ้าเราได้ คนอื่นต้องเสีย ในขณะเดียวกันถ้าเราเสีย คนอื่นต้องได้ ในปริมาณที่เท่ากัน เช่น สมมุติว่าในการทำธุรกิจ ถ้าเราคิดว่าจำนวนลูกค้าคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ดังนั้นถ้าเราได้ลูกค้ามา 1 หมื่นคน ก็เท่ากับคู่แข่งก็ต้องเสียลูกค้า 1 หมื่นคนเช่นกัน ดังนั้น ผลรวมของเรากับคู่แข่งก็จะเป็น +10,000 – 10,000 = 0 อย่างนี้เรียกว่า Zero-sum game แต่ Zero-sum game มันไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกรณี เพราะบางอย่างมันไม่ได้เป็นค่าคงที่เสมอไป ในธุรกิจมันมีโอกาสที่ตลาดจะโตขึ้น และลูกค้าของเราและคู่แข่งก็จะเพิ่มขึ้นได้พร้อม ๆ กัน หรือเราสามารถทำกำไรได้ โดยคู่แข่งเราก็ไม่จำเป็นต้องขาดทุน พูดง่าย ๆ คือเขาก็อาจจะกำไรไปพร้อม ๆ กับเราได้ ถ้าตลาดมันโตขึ้นไปพร้อม ๆ กัน หรือเรียกว่า win-win นั่นแหละครับ แต่คราวนี้ หลายคนยังคงติดภาพของ Zero-sum game อยู่ ถึงแม้ว่าสถานการณ์นั้น ๆ มันไม่จำเป็นต้องมีคนได้หรือเสีย เราเรียกอาการแบบนี้ว่า Zero-sum heuristic ครับ ในปี 2010 Daniel Meegan นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Guelph ในประเทศแคนาดา ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเขาได้ทำการทดลอง โดยบอกให้นักศึกษาทราบว่าเขาจะให้คะแนนตามคุณภาพของงานและไม่ได้ขึ้นอยู่กับคะแนนของคนอื่น ๆ ในการทดลองนั้น เขาให้นักศึกษามานำเสนองาน และก็ให้คะแนน เมื่อทำการนำเสนองานสักระยะหนึ่ง เขาก็เอาการกระจายตัวของคะแนนมาให้นักศึกษาดู และให้นักศึกษาทำนายคะแนน ของคนที่จะ present คนต่อไป ผลปรากฏว่า ถ้าในช่วงแรกนั้น คะแนนของนักศึกษาที่นำเสนอมีคะแนนที่สูง นักศึกษาที่ทำการทำนาย จะทำนายว่าการนำเสนอของนักศึกษาคนต่อไปน่าจะได้คะแนนต่ำ ทั้ง ๆ ที่ก็บอกแล้วว่า คะแนนที่ให้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการนำเสนอ ไม่ใช่ขึ้นกับคะแนนของคน อื่น ๆ !!! ทำไม ถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทราบไหมครับ เพราะนักศึกษายังคงติดกับภาพของ Zero-sum Game อยู่ คือเขาคิดว่าเมื่อคนอื่น ๆ ได้คะแนนดีกันไปเยอะแล้ว คนที่เหลืออยู่ก็น่าจะได้คะแนนไม่ดีไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ในกรณีนี้ มันไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรทำนองนี้อยู่เลย !!! ในตลาดหุ้นก็เช่นกันครับ หลายคนบอกว่ามันเป็น Zero-sum game คนหนึ่งได้กำไร แปลความหมายว่าอีกคนต้องขาดทุน แต่ในบางกรณีมันก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปนะครับ เช่นหากพวกเราลงทุนในบริษัทที่แข็งแกร่งและเติบโต มีปันผลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจะทำกำไรไปได้พร้อม ๆ กันจากปันผลที่ได้มาก็ได้ครับ มีคนกล่าวว่า คนส่วนใหญ่จะขาดทุนในตลาดหุ้น และหากคำกล่าวนี้เป็นจริง มันก็ต้องเป็นไปได้เช่นกันที่คนส่วนใหญ่ก็จะสามารถได้กำไรจากตลาดหุ้น ถ้าเรามีวิธีการคิดที่ถูกต้อง จริงไหมครับ สุดท้ายผมว่า Mindset คือสิ่งที่สำคัญที่สุดจริง ๆ นะครับ
โดย
pinguwing
พุธ ก.ย. 14, 2016 5:53 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เราชอบหุ้นที่ไม่มีวันขาดทุน (Zero-risk bias) พอเห็นหัวข้อแล้วทุกคนก็อาจจะสงสัย อ้าว ก็แน่ล่ะ ใครจะไม่ชอบหุ้นที่ไม่มีวันขาดทุนล่ะ งั้น ผมลองถามแบบนี้นะครับ สมมุติว่าตอนนี้เราถือหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีมูลค่า 1 ล้านบาท แต่มีโอกาสขาดทุนหมดตัวเลย 20% และมีโอกาสได้กำไรเท่าตัวอีก 80% นะครับ และสมมุติต่อว่าเราสามารถจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง ที่สามารถลดโอกาสในการขาดทุนหมดตัวลงได้ 15% (คือเหลือโอกาสขาดทุนหมดตัวอยู่แค่ 5% มีโอกาสกำไรเท่าตัว 95%) เราจะยินดีจ่ายเงินจำนวนนั้นกี่บาทครับ ไม่ว่าท่านจะตอบว่าเงินจำนวนนั้นจะเป็นเท่าไร จำไว้ก่อนนะครับ แล้วถ้าผมบอกว่า ท่านสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าว มาลดโอกาสที่จะขาดทุนหมดตัว ที่ยังเหลืออีก 5% ให้มันเหลือ 0% เลย เรียกว่าได้กำไรเท่าหนึ่งแน่ ๆ 100% ท่านจะยอมไหมครับ ถ้าท่านตอบว่า เอาสิ !!! ท่านก็เป็นเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่มีสิ่งที่เรียกว่า Zero-risk bias ครับ อาการแบบนี้ คือความชอบของคนที่ต้องการลดความเสี่ยงให้เหลือ 0 มากกว่าการลดความเสี่ยงในปริมาณที่มากกว่าแต่ก็ยังเหลือความเสี่ยงอยู่ จากตัวอย่างข้างบน ถ้าท่านตอบว่ายอมจ่ายเงินจำนวนเท่ากันกับที่จ่ายครั้งแรก ท่านจะเห็นว่าตอนแรกท่านจ่ายเงินจำนวนนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนจาก 20% เหลือ 5% คือลดได้ตั้ง 15% นะครับ แต่พอมาตอนหลังทำไม ท่านถึงยอมจ่ายเงินจำนวนเท่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงจาก 5% เหลือ 0% คือลดได้เพียง 5% เท่านั้นล่ะครับ คำตอบคือ เพราะคราวนี้มันสามารถลดความเสี่ยงในการขาดทุนให้เหลือ 0% เลยไงล่ะครับ คือพูดง่าย ๆ คือเราชอบมาก ๆ ที่จะไม่ให้มีความเสี่ยงเลย!!! จริง ๆ ในการลงทุนในตลาดหุ้นมันก็มีความเสี่ยงนี่แหละครับ และอยากลดความเสี่ยงลง บางคนก็อาจจะคิดว่างั้นก็เอาเงินไปฝากธนาคารดีกว่า อย่าลืมนะครับ เอาเงินฝากธนาคารก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะนับวันเงินเฟ้อมันก็จะทำให้ค่าของเงินเรามันลดลงเรื่อย ๆ ผมว่าวิธีลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการสร้างความรู้ความเข้าใจในการลงทุนให้ถูกต้องนี่แหละครับ ขอเอาใจช่วยทุกท่านครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ ก.ย. 12, 2016 5:45 am
0
6
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เลือกทางใหม่ ยังไงก็นาน (Well travelled road effect) เคยรู้สึกอย่างนี้กันไหมครับ เวลาเราเดินทาง แล้วเราตัดสินใจเลือกทางที่ไม่คุ้นเคย สิ่งที่เรามักจะรู้สึกคือ มันใช้เวลานานกว่าทางที่เราคุ้นเคย ถ้าเคยรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าเราเหมือนคนส่วนใหญ่ครับ คือเราโดน Effect ที่เรียกกันว่า Well travelled road effect ผลกระทบลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับการขับรถนะครับ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการเดินด้วยเท้าหรือการขึ้นรถสาธารณะ ก็เกิด Effect แบบนี้ได้เช่นกัน ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้น่ะเหรอครับ จริง ๆ แล้วระยะทางที่เรา “รู้สึก” นั้น มันไม่ใช่ระยะทาง จริง ๆ ครับ แต่มันเกิดขึ้นจาก “ความคิด” ของเราเอง !!! พูดง่าย ๆ คือเวลาเดินทางในเส้นทางที่เราคุ้นเคยนั้น ระยะทางมันไม่ได้สั้นลงหรอกครับ เพียงแต่เราใช้ความคิดน้อยลงในการเดินทาง ปรากฏการณ์แบบนี้ ได้ถูกค้นพบมานานแล้ว แต่ได้รับการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกจาก Daniel Kahneman และ Amos Tversky 2 กูรูชื่อดังที่ทำวิจัยทางด้านการตัดสินใจมามากมาย แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหุ้นเหรอครับ 555 คือกำลังจะบอกว่า เราทำอะไรที่มันคุ้นเคย เดี๋ยวมันก็ดูง่ายครับ แต่ถ้าทำอะไรใหม่ ๆ ครั้งแรก ๆ มันจะรู้สึกยากเสมอ เวลาเราไปเรียนเทคนิคการ Trade หุ้นอะไรมา ในช่วงแรก ๆ มันจะรู้สึกว่ามันยากเสมอ ก็อย่าเพิ่งท้อใจและล้มเลิกไปซะก่อนนะครับ อะไรที่เราทำซ้ำเรื่อย ๆ ต่อไปมันจะกลายเป็นนิสัย และผมเชื่ออย่างยิ่งว่านิสัยการลงทุนที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ความสำเร็จเสมอ เอาเป็นว่า ผมเอาใจช่วยนะครับ :)
โดย
pinguwing
เสาร์ ก.ย. 10, 2016 9:09 pm
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ทำไมเราจึงมักจะซื้อหุ้นจนไม่มีเงินสดเหลือทุกที (Unit Bias) เคยมีอาการแบบนี้ไหมครับ ไม่ว่าใครจะตักข้าวให้เรามากเท่าไรในจาน 1 จาน เรามักจะกินหมดเสมอ ไม่ว่าน้ำอัดลมจะอยู่ในขวดขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เราก็กินหมดขวดเสมอ อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Unit Bias ครับ ในปี 2006 Geier Rozin และ Doros 3 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเรื่อง Unit Bias A New Heuristic That Helps Explain the Effect of Portion Size on Food Intake โดยได้นำเสนอผลการศึกษาที่พบว่า ... คนจะกินขนมมากกว่าหากใช้ช้อนที่ใหญ่ และกินน้อยลงหากใช้ช้อนเล็ก ทั้ง ๆ ที่แต่ละคนสามารถจะตักขนมกินเท่าไรก็ได้ !!! ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้เหรอครับ คือคนเราส่วนใหญ่จะรู้สึกดี เมื่อเราทำอะไรเสร็จสิ้น แบบว่าขนมไม่ว่าจะชิ้นใหญ่หรือเล็กเราก็จะกินจนหมดจนได้ เพราะเราชอบความรู้สึกของการกินให้หมด ไม่เชื่อลองไปเปิดขนมสักถุงสิครับ ถ้าถุงเล็ก เราก็กินจนหมด แล้วก็หยุด แต่ถ้าเป็นถุงใหญ่ เราก็กินไปเรื่อย ๆ จนหมดเหมือนกัน !!! ด้วยความรู้ในเรื่องนี้ เลยมีข้อแนะนำให้คนอยากลดความอ้วนใช้กินข้าวที่ใส่จานขนาดเล็ก ๆ มีข้าวน้อย ๆ ไงครับ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหุ้นเนี่ย !!! จริง ๆ ก็ยังไม่มีการศึกษาเรื่องอคติแบบนี้ที่เกี่ยวกับหุ้นนะครับ แต่พอผมอ่านเรื่องนี้แล้ว บางทีนึกถึงตัวเอง ในบางครั้งที่เวลาซื้อหุ้น จากเงินสดที่มีอยู่ คือบางทียิ่งมีเงินสดเยอะ เราก็มักจะมือซนซื้อไปเรื่อย ๆ จะหยุดก็ต่อเมื่อเงินหมด คือถ้าเงินน้อย ก็ซื้อน้อย แล้วก็รู้สึกโอเค แต่ถ้าเงินมาก ก็ซื้อมาก (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ จะซื้อน้อย แล้วเก็บเงินไว้ก็ได้) ฟังดูแล้วมันคล้าย ๆ อาการแบบนี้เลย !!! บางทีมันอาจจะเป็นเพราะว่าหากเรายังเหลือเงินสดอยู่ความรู้สึกมันเหมือนยังทำงานไม่เสร็จยังไงก็ไม่รู้ ก็เอาไว้เตือนตัวเองกันบ้างนะครับ 5555
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. ก.ย. 08, 2016 4:30 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เรา save เวลาไปได้เท่าไร (Time-saving bias) มีคำถามมาถามครับ สมมุติว่าท่านกำลังต้องการปรับปรุงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ท่านสร้างขึ้นสามารถขับได้เร็วมากขึ้น เพื่อจะสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลงโดยมีนวัตกรรมใหม่ 2 อย่างให้เลือก ท่านจะเลือกนวัตกรรมอันไหนครับ 1. นวัตกรรมที่ช่วยให้ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นจาก 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2. นวัตกรรมที่ช่วยให้ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นจาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเป้าหมายคือนวัตกรรมที่จะช่วยให้ save เวลาการเดินทางของท่าน ท่านคิดว่าข้อไหนน่าสนใจกว่ากันครับ ลองตอบกันดูนะครับ ให้เวลาครับ ... ถ้าท่านเป็นเหมือนคนอื่น ๆ คำตอบของท่านจะเป็นข้อที่ 2 แต่เชื่อไหมครับ จริง ๆ แล้ว นวัตกรรมข้อที่ 1 ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางลงมากกว่า หาเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อข้อแรกเพิ่มอัตราเร็วแค่ 10 เอง จาก 30 เป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่อันหลังเพิ่มตั้ง 20 นะคือ จาก 80 เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง !!! เป็นไปแล้วครับ เอ้า มาลองดูกันนะครับ สมมุติว่าระยะทางในการเดินทางทั้งหมดคือ 120 กิโลเมตร นวัตกรรมอันแรก ในตอนแรกจะใช้เวลาในการเดินทางในอัตรา 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช่ไหมครับ ดังนั้น จะใข้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 120/30 = 4 ชั่วโมง แต่พอใช้นวัตกรรมนี้อัตราความเร็วเพิ่มเป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเวลาในการเดินทางจะเหลือ 120/40 = 3 ชั่วโมง คือลดลงไปได้ 1 ชั่วโมง นวัตกรรมอันที่สอง ในตอนแรกจะใช้เวลาในการเดินทางในอัตราความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจะใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 120/80 = 1.5 ชั่วโมง แต่พอตอนหลังอัตราความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจะเหลือ 120/100 = 1.2 ชั่วโมง หรือลดลงไป 0.3 ชั่วโมง คราวนี้เชื่อแล้วหรือยังครับว่ามันเป็นแบบนี้จริง ๆ ถ้าท่านตอบผิด ท่านเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีอคติที่เรียกว่า Time-saving bias คนส่วนใหญ่มักจะ Underestimate เวลาที่ลดลงไปได้ หากเริ่มจากความเร็วต่ำ ๆ และ Overestimate เวลาที่เพิ่มขึ้นจากความเร็วสูง ๆ ครับ Fuller จากมหาวิทยาลัย Dublin และคณะได้ตีพิมพ์ผลการศกึษาในเรื่องนี้ในปี 2009 โดยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมักจะ Underestimate เวลาที่ลดลง หากเขาเริ่มจากความเร็วของการขับรถระดับต่ำ แต่ Overestimate เวลาที่ลดลงเวลาเขาเริ่มจากความเร็วของการชับรถระดับสูง !!! คำถามคือแล้วเกี่ยวอะไรกับการเล่นหุ้น สิ่งที่กำลังจะบอกคือเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะเรื่องของอัตราความเร็วในการขับรถเท่านั้นนะครับ มันเกิดขึ้นได้กับอัตราการให้บริการ productivity ในการทำงาน อะไรก็ตามที่มีหน่วยของ Unit ต่อระยะเวลา เวลาเราไปอ่านบทวิเคราะห์ต่าง ๆ แล้วพบว่าบริษัทมีอัตราเหล่านี้ดีขึ้น ให้ระวังเรื่องนี้ไว้นะครับ เพราะการเพิ่มขึ้นจากจุดที่ต่ำนั้น มันจะมี Improvement ที่ดีกว่า การเพิ่มขึ้นจากจุดที่สูง ซึ่งมันจะขัดกับความรู้สึกเราในตอนแรกเนื่องจาก Time-saving bias นี่แหละครับ ดังนั้นหากเห็นตัวเลขว่าบริษัทสามารถเพิ่มอัตราการผลิตจาก 30 ชิ้นต่อชั่วโมงเป็น 40 ชิ้นต่อชั่วโมง นวัตกรรมนี้จะระยะเวลาในการผลิตได้มากกว่า (หมายถึงเวลาที่ลดลงได้นะครับ) การเพิ่มอัตราการผลิตจาก 80 ชิ้นต่อชั่วโมงเป็น 100 ชิ้นต่อชั่วโมงนะครับ เอ้า ถ้ายังไม่เชื่อ ลองคำนวณกันอีกทีนะครับ 555
โดย
pinguwing
อังคาร ก.ย. 06, 2016 6:11 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ผลวิจัย ยังไงมันก็ดี (Survivorship bias) เวลาเล่นหุ้นเคยอ่านพวกผลวิจัยไหมครับ เช่น “ผลตอบแทนตลาดหุ้นในระยะยาว เป็นผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงที่สุด” หรือ “กำไรเฉลี่ยของบริษัทที่อยู่ใน SET50 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง” อ่านแล้วรู้สึกฮึกเหิมไหมครับ อ่านแล้วอาจจะคิดในใจว่า ลงทุนในหุ้น ยังไงก็ไม่ขาดทุน เพราะค่าเฉลี่ยเหล่านี้มันก็บอกแบบนี้หนิ ระวังนะครับ เพราะท่านอาจจะกำลังเจอสิ่งที่เรียกว่า.... Survivorship bias ครับ!!! เอ้า แล้วมันคืออะไรเหรอครับ ตามชื่อเลยครับ Survivor แปลว่าผู้รอดชีวิต ความลำเอียงประเภทนี้หมายถึงการที่เราทำการศึกษาเฉพาะกลุ่มที่รอดและประสบผลสำเร็จ แต่ละเลยที่จะศึกษากลุ่มที่ล้มเหลว มันจึงทำให้ผลลัพธ์มันดีกว่าความเป็นจริงเสมอไงครับ!!! อย่างเช่นตัวอย่างข้างบน บางทีตอนเราคำนวณ “ค่าเฉลี่ย” ของผลตอบแทนของการลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้น เราคำนวณเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันใช่ไหมครับ แต่เราไม่ได้รวมเอาบริษัทที่เจ๊งไประหว่างทางที่มันก็มีจำนวนไม่น้อย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “คนตายไม่ได้พูด” นั่นเอง ค่ามันจึงดูดีเกินจริงไปไงครับ หรือเวลาเราคำนวณกำไรเฉลี่ยของบริษัทที่อยู่ใน SET50 มันก็จะรวมมาเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีมูลค่าสูง จะสังเกตเห็นว่าหากบริษัทขาดทุนมาก ๆ ราคาหุ้นลด มูลค่าบริษัทลดลง บริษัทนั้นก็ถูกถอดออกจาก SET50 ดังนั้นพอคำนวณอัตราการทำกำไรของบริษัทใน SET50 มันก็เลยดูดีตลอดไงครับ เวลาอ่านวิจัยทางด้านการเงิน บางทีก็ต้องระวังเรื่องนี้ไว้เหมือนกันนะครับ วิธีไหนที่บอกว่าใช้แล้วสำเร็จ เราต้องไปดูด้วยว่า มันเป็นเพราะเราไป survey เฉพาะคนที่สำเร็จแล้วหรือเปล่า คนที่ล้มเหลวด้วยการใช้วิธีแบบนั้นก็อาจมีไม่น้อย เพียงแต่ว่า ... เขาไม่ได้มีโอกาสมาพูดเท่านั้นเองครับ!!!
โดย
pinguwing
ศุกร์ ก.ย. 02, 2016 5:06 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ซื้อหุ้นไปแล้ว อะไร ๆ ก็เป็นลางดีไปซะหมด (Subjective validation) หลายคนเวลาลงทุน เขาก็มักจะเชื่อถือสิ่งที่อาจจะเหนือธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคลนะครับ แต่สิ่งที่อยากบอกคือ บางที ความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นการสร้างความเชื่อขึ้นมาเอง เนื่องจากเราจะพยายามเอาไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราอยากให้เกิด เช่น สมมุติว่าเราซื้อหุ้นตัวหนึ่ง พอซื้อปุ๊บ เราอาจจะบังเอิญเจอของที่ตกบนพื้นถนน พอหยิบขึ้นมา ดันเป็นสินค้าของบริษัทที่เราเพิ่งซื้อหุ้น นี่มันพรหมลิขิตชัด ๆ หุ้นนี้น่าจะเป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิตเรา !!! ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันอาจจะเป็นเพียงแค่เหตุการณ์บังเอิญเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น แต่เราก็พยายามโยงให้เป็นเหตุเป็นผลกันให้ได้ เพียงเพราะว่าเราอยากให้มันเกิดสิ่งนั้น (เป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิต) เท่านั้นเอง !!! เราเรียกอาการแบบนี้ว่า Subjective validation ครับ สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เวลาเราไปดูหมอครับ พอหมอพูดอะไรออกมา ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิด เราก็มักที่พร้อมจะเชื่อ แล้วก็บอกว่าหมอดูคนนี้แม่นมาก ๆ เอาเป็นว่าระวังกันไว้หน่อยก็ดีครับ เวลาคิดว่ามันน่าจะใช่ มันเป็นลางดี หลายครั้งมันอาจจะเป็นเพราะเราคิดไปเองก็ได้ครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. ก.ย. 01, 2016 5:40 am
0
3
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เรามีโอกาสจะเจ๊งหุ้นกี่เปอร์เซ็น (Subadditivity effect) เคยถามคำถามนี้กับตัวเองไหมครับ เรามีความน่าจะเป็นที่จะขาดทุนจากการเล่นหุ้นเท่าไร ในระยะเวลา 1 ปีหลังจากลงทุนหุ้น ผมไม่ได้หมายความว่าขาดทุนกี่ % นะครับ ผมหมายถึงว่าโอกาสที่จะเกิดการขาดทุนในการลงทุนของเรา หลังจากที่เราลงทุน จะเป็นเท่าไร เช่นถ้าท่านตอบ 20% ท่านก็หมายถึงว่า โอกาสที่จะขาดทุน คือ 20% โอกาสที่จะกำไรคือ 80% อะไรประมาณนี้ครับ หลายคนตอบตัวเองว่าโอกาสขาดทุนเป็น 0% 5555 แบบมั่นใจเต็มที่ว่างั้นเถอะ เอ้าลองคิดคำตอบดู แล้วจดไว้นะครับ งั้นลองถามคำถามใหม่ครับ ท่านคิดว่าท่านจะขาดทุนจากการลงทุนหุ้นด้วยเหตุผลเหล่านี้กี่ % ครับ (ในระยะเวลา 1 ปีเหมือนกัน) ลองใส่ตัวเลขความเป็นไปได้ของแต่ละข้อดูนะครับ 1) ซื้อหุ้นบริษัทที่มีพื้นฐานดี แต่ผู้บริหารดันไม่มีความสามารถและบริหารบริษัทไม่ดีจนหุ้นที่เราถือราคาลด จนเราขาดทุน 2) ซื้อหุ้นที่เป็นหุ้นปั่น ไม่มีพื้นฐานใด ๆ เพราะความโลภจนเราขาดทุน 3) ซื้อหุ้นที่ดันโชคร้าย ไปเจอเหตุการณ์แย่ ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ จนทำให้เราขาดทุน 4) ขาดทุนหุ้นด้วยเหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา 3 ข้อข้างต้น ตอบค่าความน่าจะเป็นโดยประมาณครบแล้วหรือยังครับ ถ้าท่านเป็นเหมือนคนหลาย ๆ คน ท่านลองเอาคำตอบข้อที่ 1-4 มารวมกันสิครับ แล้วลองไปเทียบคำตอบตอนแรกที่ผมถามว่าท่านมีโอกาสในการขาดทุนเท่าไร ท่านจะพบว่า ... ผลรวมของคำตอบข้อที่ 1-4 มันจะมากกว่าค่าประมาณการของคำตอบอันแรก (ที่บอกว่าโอกาสขาดทุนเป็นเท่าไร) !!! เราเรียกสิ่งนี้ว่า Subadditivity effect ครับ ในปี 1994 Tversky และ Koehler 2 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ได้ทำการทดลองอันหนึ่งที่ถามผู้เข้าร่วมการทดลองให้ประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่า โอกาสที่คนอเมริกันจะตายจากโรคมะเร็งมี 18% ตายจากโรคหัวใจ 22% และด้วยเหตุผลอื่น ๆ ตามธรรมชาติ 33% แต่พอถามอีกคำถามหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประมาณโอกาสที่คนอเมริกันจะตายด้วยเหตุผลตามธรรมชาติ คำตอบอยู่ที่ 58% ทั้ง ๆ ที่ โรคมะเร็ง และ โรคหัวใจ ก็ถือเป็นการตามด้วยเหตุผลตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเอาคำตอบแรก 3 อันมาบวกกัน มันต้องได้เท่ากับ 73% ไม่ใช่ 58% !!! อันนี้แหละครับ เป็นเครื่องยืนยันว่า Subadditivity effect เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นถ้าเราอยากทราบว่าโอกาสที่เราจะขาดทุนจากหุ้นเป็นเท่าไร อย่าถามด้วยคำถามแบบนี้อย่างเดียวนะครับ ลองแบ่งถามเป็นหลาย ๆ คำถามย่อย ๆ ตามเหตุผลแต่ละอันดูด้วยครับ บางทีเราอาจจะพบว่า โอกาสที่เราอาจจะขาดทุนมีมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้ครับ !!!
โดย
pinguwing
อาทิตย์ ส.ค. 28, 2016 4:30 pm
0
0
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ท่าทางอย่างนี้ เซียนหุ้นแน่ ๆ (Stereotyping) เวลาเราพูดถึงคนจีน เรานึกถึงอะไรครับ หลายคนอาจจะพาลไปนึกถึงความไม่เป็นระเบียบ เสียงดัง ๆ ชอบจับกลุ่ม แต่พอพูดถึงคนยิว คิดถึงอะไรกันครับ หลายคนก็บอกว่า เป็นคนฉลาด แต่ค่อนข้างขี้เหนียว คราวนี้ พอเราเจอคนจีน หรือ คนยิว ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่รู้จักนิสัยใจคอ บางทีเราพาลเหมาว่าเขาเหล่านั้น “น่าจะ” มีนิสัยดังกล่าว หรือพูดง่าย ๆ เรากำลังตกหลุมพรางที่เรียกว่า Stereotyping ครับ!!! Stereotyping คือความพยายามมนุษย์ในการจัดกลุ่มคนที่น่าจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันเข้าไว้ด้วยกัน เช่นที่กล่าวมาข้างต้น เช่น คนจีนน่าจะเสียงดัง ๆ ไม่ค่อยมีระเบียบ หรือคนยิวจะต้องฉลาดและขี้เหนียว โดยไปเหมารวมทั้งหมดว่าจะเป็นแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ที่จริงแล้ว มีคนจีนหลายคน อาจจะเป็นคนเงียบ ๆ หรือคนยิวหลายคนอาจจะเป็นคนที่ไม่ขี้เหนียวก็ได้ ในปี 2012 Jason Nier นักวิจัยจาก Connecticut College ร่วมกับคณะได้ทำการวิจัยพบว่า คนเรามีความรู้สึกเชื่อถือคนที่อยู่ในสถานะสูง (เช่นคนรวย) มากกว่าคนที่อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า (เช่นคนจน) ทั้ง ๆ ที่ความรวยหรือจน อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือในเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม เล่นหุ้นก็เหมือนกันครับ หลายคน พอเห็นท่าทางว่าคนนี้ใส่สูท ผูกไทค์ นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หลาย ๆ จอ มีกราฟขึ้นมาหลาย ๆ เส้น ก็อาจจะเหมารวมไปว่า เขาเหล่านี้เป็น “เซียนหุ้น” และเผลอ ๆ ก็หลงใหลไปกับคำแนะนำของเขาเหล่านั้น จนลืมดูความจริงไปว่า การแต่งกาย หรือกราฟในจอคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เขาเหล่านั้นเป็นเซียนหุ้นที่น่าเชื่อถือเสมอไป รู้อย่างนี้แล้วระวังกันไว้หน่อยก็ดีเหมือนกันนะครับ
โดย
pinguwing
เสาร์ ส.ค. 27, 2016 6:58 am
0
0
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
สิ่งที่เราเป็นอยู่ ดีที่สุดเสมอ (Status quo bias) ผมขอเริ่มต้นด้วยคำถามก่อนเลยนะครับ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ถ้าท่านมีเงินอยู่ล้านบาท ท่านจะเลือกลงทุนในตลาดหุ้น หรือ ลงทุนในพันธบัตรที่ได้อัตราดอกเบี้ย 5% ดีครับ จำคำตอบไว้ก่อนนะครับ ไม่มีคำตอบถูกหรือผิดหรอกครับ คราวนี้ถามใหม่ครับ ถ้าสมมุติว่าตอนนี้ในพอร์ตท่านมีหุ้นอยู่ ท่านจะขายหุ้นเพื่อไปลงทุนในพันธบัตรที่ได้อัตราดอกเบี้ย 5% ไหมครับ คำตอบเป็นอย่างไรครับ ถ้าตอนแรกท่านตอบว่า ท่านจะลงทุนในพันธบัตรดีกว่า เพราะได้แน่ ๆ 5% แต่ในสถานการณ์ที่สองท่านบอกว่า ไม่ขายหรอก ลงทุนในหุ้นต่อไปดีกว่า ท่านกำลังโดนสิ่งที่เรียกว่า Status quo bias เล่นงานอยู่ครับ Status quo bias คือความลำเอียงในการตัดสินใจของคนเราที่เรามักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในสถานะของตัวเราเอง จากตัวอย่างข้างต้น คำถามแรก เราไม่ได้กำหนดว่า Status quo คืออะไร คือเรามีเงิน แล้วก็เลือกได้ว่าอยากลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตร อันนี้เราก็เลือกได้เลยว่าอยากลงทุนแบบใด ซึ่งก็อาจจะเป็นหุ้นหรือพันธบัตรก็ได้แล้วแต่ความชอบ แต่พอคำถามที่สอง เราเริ่มจาก Status quo ที่เรามีหุ้นอยู่แล้ว แล้วถามว่าอยากจะเปลี่ยนมาเป็นพันธบัตรไหม กรณีนี้ คนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าไม่เปลี่ยน คือพูดง่าย ๆ คนไม่ชอบเปลี่ยนสถานะของตัวเอง ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าใครมีหุ้นอยู่ ก็ไม่อยากขายหุ้น หรือถ้าผมเริ่มจากว่า ถ้าคุณมีพันธบัตรอยู่ จะขายพันธบัตรแล้วมาซื้อหุ้นหรือไม่ เชื่อไหมครับ คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ขายพันธบัตรอีกเช่นกัน !!! Samuelson นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Boston และ Zeckhauser นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปี 1988 ซึ่งยืนยันปรากฏการณ์ของ Status quo bias นี้เช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราเห็นนักลงทุนบางคน ซื้อหุ้นแล้วก็ไม่ขายทิ้ง ทั้ง ๆ ที่พื้นฐานหุ้นมันอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว หรือถ้าไม่มีหุ้น ก็นั่งนิ่ง ๆ ไม่ยอมซื้อหุ้น ทั้ง ๆ ที่มองเห็นโอกาส มันเป็นเพียงเพราะว่าเราไม่อยากเปลี่ยนสถานะของเรานั่นเองครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. ส.ค. 25, 2016 5:39 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
อ๋อ พอร์ตผมเหรอครับ กำไรตลอดครับ (Social desirability bias) เคยคุยเรื่องหุ้นกับเพื่อน ๆ ไหมครับ บางที คุยไป คุยมา เราจิตตกเอาได้ง่าย ๆ ทำไมเหรอครับ ก็เพราะว่า คุยกับใคร เห็นมีแต่คนกำไรหุ้น เฮ้ยที่มีแต่เราเหรอเนี่ย ที่เล่นหุ้นแล้วขาดทุน งั้นไปเปิด Facebook อ่านอะไรเล่น ๆ ดีกว่า อ้าว เจออีกแล้ว Post โชว์พอร์ตเขียว ๆ โชว์กำไรกันมากมาย แย่แล้ว แย่แน่ ๆ เราน่าจะเป็นคนส่วนน้อยที่ขาดทุนจากตลาดหุ้น 555 ถ้าท่านเริ่มคิดแบบนี้ ผมอยากจะบอกว่าไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะถ้าท่านขาดทุนจากหุ้นอยู่ ท่านยังเป็นคนส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นครับ อ้าว แล้วทำไมถึงเห็นแต่คนได้กำไรล่ะครับ เพื่อน ๆ รอบตัวเขาก็กำไรกันทั้งนั้นเลย ไม่หรอกครับ จริง ๆ แล้วสิ่งนี้เขาเรียกว่า Social desirability bias ครับ Social desirability bias คืออาการที่เรามักจะตอบสิ่งที่เราคิดว่ามันดี มันถูกต้อง หรือง่าย ๆ คือทำให้เราดูดี ใครเป็นนักวิจัยน่าจะเห็นภาพตรงนี้ชัดขึ้นครับ โดยเฉพาะการถามคำถามในแบบสอบถาม ถ้าถามว่า “ท่านแปรงฟันทุกวันหรือไม่” ถึงแม้คนตอบอาจจะเป็นคนที่ไม่แปรงฟันทุกวัน แต่เขาอาจจะรู้สึกว่าตอบแบบนั้นมันดูไม่ดี เขาก็มักจะบอกว่าเขาแปรงฟันทุกวัน เพียงเพราะว่าเขาคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่น่าสนใจคืออะไรไหมครับ คนที่มีพอร์ตมูลค่าไม่เยอะนัก มักจะพยายามบอกคนอื่นว่าเขามีมากกว่าความเป็นจริง กลับกัน คนที่มีพอร์ตใหญ่มาก ๆ มีกำไรเยอะแยะ กลับพยายามที่จะบอกคนอื่นว่าเขามีน้อยซะงั้น !! ทั้งหมดทั้งปวงมันก็เกิดจากความคิดที่ว่า เขาต้องการให้มัน “ดูดี” ในสายตาของคนอื่นในสังคมนั่นเอง คนพอร์ตเล็ก มักอยากบอกว่าพอร์ตใหญ่ เพราะเขาคิดว่าการมีพอร์ตใหญ่มันจะดูดี ในขณะที่คนพอร์ตใหญ่มาก ๆ พยายามจะบอกคนอื่นว่าเขาไม่ได้รวยมากมายอะไร เพราะก็ไม่อยากให้สังคมคิดว่าเขาขี้โม้ ขี้อวด เวลาฟังอะไรทำนองนี้ ก็อย่าลืมนึกถึง Bias ประเภทนี้แล้วกันครับ
โดย
pinguwing
พุธ ส.ค. 24, 2016 5:51 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ขอบคุณมากครับ สนใจเรื่องนี้ ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ :)
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. ส.ค. 18, 2016 4:53 pm
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เกลียดกูรูจัง (Social comparison bias) เคยเห็นกูรูหุ้น มาบอกให้ซื้อโน่น ซื้อนี่แล้วรู้สึกหมั่นไส้ไหมครับ (แต่ผมไม่ได้เป็นกูรูหุ้นนะครับ 555) หรือเวลาดูพระเอกหรือนางเอก แล้วเคยวิจารณ์ว่า ไม่เห็นจะหล่อหรือสวยตรงไหนเลย เป็นดาราได้ไง แบบนี้ไหมครับ ถ้าท่านเคยเป็นแบบนี้ ท่านอาจจะตกอยู่ในอารมณ์ที่เรียกว่า Social comparison bias ครับ มนุษย์เราบางครั้งจะมีความรู้สึกไม่ชอบใจหรืออยากแข่งขันกับคนที่เขาดูดีกว่าหรือเก่งกว่าเรา ยิ่งในยุคปัจจุบัน การที่เรามีโอกาสไปเห็นชีวิตหรือกิจกรรมกับคนหลาย ๆ คนผ่าน Social Media เช่น Facebook บางทีมันอาจจะทำให้เราหดหู่โดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเราครับ หลายบริษัทที่พยายามเลือกคนสวยคนหล่อมาโฆษณา เพราะเขาก็ต้องการให้เราเปรียบเทียบนั่นแหละครับ พอเปรียบเทียบแล้ว เราก็อาจจะอยากแข่งขัน เพื่อให้สวยหรือหล่อเหมือนกับเขาบ้าง ในที่สุดก็ต้องซื้อสินค้าจากบริษัท หรือแม้กระทั่งการเรียนการสอน ระบบการให้เกรด ก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เพื่อเด็กพัฒนาให้ดีขึ้น จริง ๆ การเปรียบเทียบมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเวลาเราเปรียบเทียบแล้ว เราทำอะไร ถ้าเราเอาผลมาปรับปรุงตัวเองอันนี้ก็ดีครับ แต่ถ้าเราเอาแต่นั่งอิจฉาเขา หรือไปไม่ชอบหน้าเขา อันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไร ฟังกูรูวิเคราะห์หุ้นแล้ว อย่าเพิ่งไปเกลียดเขานะครับ ลองฟังดี ๆ บางประเด็นก็มีประโยชน์เหมือนกันนะครับ
โดย
pinguwing
อังคาร ส.ค. 16, 2016 5:06 pm
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ไม่นะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก (Semmelweis reflex) เคยมีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ๆ ไหมครับ บางทียึดถือเป็น Paradigm หรือ Model อย่างชัดเจนเลย เช่นเชื่อว่าหุ้นที่มี Price to Book Ratio (P/B) ต่ำ ๆ คือหุ้นที่ราคาถูกน่าซื้อมาก ๆ เลย หรือหุ้นที่มี Return on Equity (ROE) สูง ๆ คือหุ้นที่ดี มีกำไรมาก แล้ว ถ้าสมมุติว่า มีคนมาบอกว่า หุ้นที่ P/B ต่ำ ๆ หรือ ROE สูง ๆ อาจจะเป็นหุ้นที่ไม่ดี ไม่น่าซื้อล่ะครับ ท่านจะเชื่อไหม ถ้าท่านเริ่มคิดว่า ไม่หรอก มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย ท่านอาจจะกำลังตกอยู่ในอาการที่เรียกว่า Semmelweis reflex ก็เป็นไปได้ครับ Semmelweis reflex คือการที่เรามักจะปฏิเสธความรู้หรือความคิดใหม่ ๆ เพียงเพราะว่ามันขัดแย้งกับความเชื่อเดิมครับ ชื่อนี้มาจาก ดร. Ignaz Semmelweis ซึ่งเป็นคุณหมอชาวฮังการี ในปี 1847 ท่านได้ค้นพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากอาการไข้ของผู้ป่วยจะลดลงถึง 10 เท่า ถ้าคุณหมอที่รักษาผู้ป่วยนั้นได้ล้างมือด้วยคลอรีน เพราะจะได้ไม่เป็นการแพร่เชื้อ แต่เชื่อหรือไม่ครับ คำแนะนำนี้กลับได้รับการต่อต้านในวงการแพทย์ ณ ขณะนั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีคนไม่เชื่อถือ โดยเฉพาะคุณหมอท่านอื่น ๆ ที่ท่านเชื่อว่า มือของคุณหมอนั้น มันไม่มีทางที่จะแพร่เชื้อโรคได้เลย !!! แนวคิดนี้กว่าจะได้รับการยอมรับ ก็หลายปีหลังจากนั้น ก็เลยมีคนตั้งชื่อความรู้สึกแบบนี้ว่า Semmelweis reflex ครับ กลับมาที่หุ้นที่ท่านสงสัย เอ แล้ว P/B ต่ำ ๆ ROE สูง ๆ มันไม่ดีตรงไหน อย่างแรกคือ ประเด็นสิ่งที่ต้องการนำเสนอคือ ถ้ามีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา เราอาจจะต้องลองพิจารณาดูก่อนที่จะปฏิเสธทันทีเพียงเพราะมันค้านความเชื่อเราน่ะครับ บางทีข้อมูลอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าเราปิดหูปิดตาเลย บางทีเราก็อาจจะมองข้ามอะไรไปหลาย ๆ อย่าง หุ้นที่ P/B ต่ำ อาจจะเป็นหุ้นที่ถูก หรือหุ้นที่กำลังจะเจ๊งและไม่มีอนาคตก็ได้นะครับ หรือหุ้นที่ ROE สูง ๆ อาจจะเกิดจากบริษัทไปกู้หนี้มาจนเกินตัว รวมทั้งมีส่วนของทุน (Equity) เหลือนิดเดียว ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันครับ ยังไง ลองพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจแล้วกันครับ
โดย
pinguwing
เสาร์ ส.ค. 13, 2016 7:35 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
บริษัทที่เราถือหุ้น มีข่าวดีเต็มไปหมดเลย (Selective perception) อยากให้ทุกท่านลองอ่านข่าวนี้ดูนะครับ “มีข่าวออกมาว่าบริษัทกำลังมีแผนที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะผลิตได้มากขึ้น และอาจทำให้ต้นทุนของสินค้าลดต่ำลงมหาศาล ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามผู้บริหารของบริษัทได้มาแถลงว่าข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด” คำถามผมคือ พออ่านแล้ว รู้สึกว่าอย่างไรครับ เป็นข่าวดีหรือเปล่าครับ ผมว่าถ้าถามเช่นนี้ คนส่วนใหญ่คงตอบว่า ไม่เห็นจะเป็นข่าวดีตรงไหนเลย ก็ท้ายข่าว เขาก็บอกมาแล้วว่า ผู้บริหารบอกว่ามันไม่เป็นความจริงไง ใช่ครับ ถ้าเราเป็นคนทั่ว ๆ ไปเราจะรู้สึกประมาณนี้ แต่ถ้าท่านถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ และหลงรักบริษัทนี้มาก ๆ เชื่อไหมครับ หลาย ๆ ครั้ง เราอ่านข่าวนี้ เราแทบจะไม่เห็น ประโยคสุดท้ายเลย !!! เรียกง่าย ๆ ว่าเรา “เลือก” ที่จะรับเฉพาะข้อมูลที่เราอยากให้เป็นเท่านั้น สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า Selective perception ครับ Hastorf และ Cantril ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 1954 โดยเป็นผลการศึกษาเกมอเมริกันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัย Princeton กับ Dartmouth ที่แข่งกันในปี 1951 ซึ่งเป็นเกมที่ค่อนข้างมีความรุนแรง และมีการกระทบกระทั่งกันตลอดทั้งเกม หลังจากเกมเสร็จสิ้นประมาณ 1 สัปดาห์ นักวิจัยทั้งสองได้ไปถามนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย และพบว่า... นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Princeton มีความเห็นว่าทีมฟุตบอลของ Dartmouth ทำผิดกฎ มากกว่าที่นักศึกษาจาก Dartmouth เห็น ถึงเกือบ 2 เท่า !!! อย่างว่าแหละครับ ที่เราเจอ ๆ กันอยู่บ่อย ๆ คือ ความผิดคนอื่นเห็นง่ายกว่าความผิดเราเอง เพราะเรา “เลือก” ที่จะรับบางสิ่งที่มันตรงใจกับเราเท่านั้น เวลาซื้อขายหุ้นก็เช่นกันนะครับ ระวังเรื่องนี้กันบ้างก็ดีนะครับ
โดย
pinguwing
อาทิตย์ ส.ค. 07, 2016 5:28 pm
0
3
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เล่นหุ้นด้วยเงินเย็น ไม่เสี่ยงจริงหรือ (Risk compensation) หลายคนที่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับหุ้น อาจจะเคยเห็นคำแนะนำทำนองนี้มาก่อน เช่น “อย่ากู้เงินมาเล่นหุ้น” “เอาเงินเย็น ที่ไม่ต้องการใช้มาเล่นหุ้น” จริง ๆ ผมก็เห็นด้วยนะครับ เพราะการเล่นหุ้นโดยใช้เงินกู้ หรือ เงินร้อนนั้น มันพาจิตใจเราร้อนรุ่ม และอาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด หรือบางที จังหวะยังไม่ได้ เราก็ต้องรีบขายไป เพราะต้องนำเงินไปใช้หนี้ หรือใช้ในภาระอื่น ๆ ที่เรามี แต่สิ่งที่อยากบอกตอนนี้คือ ถึงเป็นเงินเย็น ก็ไม่ใช่จะไม่เสี่ยงนะครับ หา อะไรนะ ก็เงินเย็น มันก็เป็นเงินที่ถึงเสียไป ก็ไม่เป็นไรไม่ใช่เหรอ แล้วมันจะเสี่ยงอะไร ก็เพราะความคิดที่ว่า “เสียไปก็ไม่เป็นไร” นี่แหละครับ ที่นำมาซึ่งความเสี่ยง !!! สิ่งนี้เราเรียกว่า Risk compensation หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Peltzman effect ครับ ในปี 1975 Sam Peltzman ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่บอกว่ากฎความปลอดภัยในการขับขี่ที่ออกมานั้น ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการขับขี่เลย เหตุผลสำคัญคือ พอคนเราเห็นว่าระดับความปลอดภัยมีมากขึ้น ก็เลยกล้าขับรถที่เสี่ยงมากขึ้น มันก็เลยทำให้ระดับของอุบัติเหตุไม่ได้ลดลง อารมณ์มันเหมือนกับว่า เวลาให้คนขับใส่ Seat Belt ก็น่าจะทำให้การขับรถปลอดภัยมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็น่าจะลดลงใช่ไหมครับ แต่ผลกลับกลายเป็นว่า พอคนขับใส่ Seat Belt เขาก็เลยรู้สึกว่าเขาปลอดภัยขึ้น จนทำให้เขา “กล้า” ที่จะขับรถเร็วขึ้น ซึ่งมันก็เลยทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น หรือในทางกลับกัน ถ้าเราสร้างถนนที่มีเลนวิ่งสวนกัน ไม่แยกออกจากกัน ตามหลักมันน่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นใช่ไหมครับ แต่กลับกลายเป็นว่าอุบัติเหตุก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะคนขับรับรู้ที่ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงทำให้เขาขับรถช้าลงโดยอัตโนมัติ กลับมาที่หุ้น การใช้เงินเย็นนั้น มองเผิน ๆ อาจจะดูว่ามันปลอดภัยกว่า แต่ถ้าคิดดี ๆ พอเรารู้สึกว่าปลอดภัย มันอาจจะทำให้เราไปซื้อหุ้นมั่วซั่ว ไม่สนใจพื้นฐาน เพราะความคิดว่าเงินอันนี้มันเสียไปได้นั่นแหละครับ ในทางกลับกัน เงินที่เรากู้มา แล้วมีความรู้สึกว่า “เสียไม่ได้” นั้น อาจจะทำให้เราระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนให้กู้มาเล่นนะครับ ผมอยากแค่เตือนเท่านั้นว่า อะไรที่เราคิดว่า “ปลอดภัย” มันอาจจะนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้นะครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ ก.ค. 29, 2016 5:22 am
0
3
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ยิ่งคล้องจอง ยิ่งมองว่าถูก (Rhyme-as-reason effect) “ซื้อหุ้นพื้นฐานดี ไม่มีผิดหวัง” “ขายหุ้นทั้งที ต้องมีกำไร” “เลือกหุ้นผิด รับรองติดดอย” ข้อความข้างบนนี้ ท่านเชื่อมากน้อยแค่ไหนครับ ถ้าท่านบอกว่า “เชื่อ” สิ ก็ระวังให้ดีนะครับ หาอะไรนะ ทำไมล่ะ ก็ข้อความมันน่าเชื่อหนิ !!! ข้อความเหล่านี้ น่าเชื่อถือ เป็นเพราะว่าเนื้อหามันน่าเชื่อถือ หรือจริง ๆ แล้ว ... มันน่าเชื่อถือเพราะว่า “มันคล้องจอง” กันเท่านั้นเองครับ อะไรนะ (รอบที่สอง) มันเกี่ยวอะไรกับการคล้องจองด้วย เกี่ยวครับ อาการแบบนี้เราเรียกว่า Rhyme-as-reason effect ครับ จากการศึกษาของ McGlone และ Tofighbakhsh จากมหาวิทยาลัย Lafayette College ในปี 2000 พบว่า คำพูดที่คล้องจองนั้น ได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าคำพูดที่ไม่คล้องจองกัน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหามันเหมือนกัน ฟังดูตลกดีนะครับ แต่นี่แหละครับ มนุษย์ ลองสังเกตดูดี ๆ เราจะเห็นชื่อหนังสือ Best Seller หลาย ๆ ชื่อ ที่ก็คล้องจองกันแบบตั้งใจเลยทีเดียว เช่น ตัวอย่างหนังสือขายดีของคุณบอย วิสูตรก็ได้ครับ “งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า” “หนังยาง ล้างใจ” “ฉันเปลี่ยน เพราะเขียนเป้า” ผมว่าส่วนหนึ่งคือคำคล้องจองเหล่านี้มันดึงดูด และแถมผลงานวิจัยข้างบนก็ยืนยันว่าคำคล้องจองเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย เอ ถ้าผู้บริหารบริษัทในตลาดอาจจะเอาไปตั้งหัวข้อข่าวต่าง ๆ ให้มีความคล้องจอง ก็อาจจะเพิ่มความน่าเชื่อถือบ้างก็ได้นะครับ อย่างว่าแหละนะครับ มนุษย์ก็งี้แหละ “แค่คิด ก็ผิดแล้ว” เนอะ
โดย
pinguwing
พุธ ก.ค. 27, 2016 5:54 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เราไม่มีวันเล่นหุ้นปั่นหรอก (Restraint bias) หลายคนอาจจะมีความคิดแบบนี้ตอนที่เข้ามาเล่นหุ้นว่าจริง ๆ เล่นหุ้นไม่เห็นจะยากเลย ลองเลือกหุ้นพื้นฐานดี ๆ ปันผลสูง ๆ และพอราคาต่ำ ๆ ก็เข้าไปซื้อ หลังจากนั้นก็รอเวลาให้ราคามันขึ้นเป็นหลาย ๆ เท่า มันก็เท่านี้เอง อีกอย่างที่ดูเหมือนทุกคนจะรู้ดีคือ อย่าไปซื้อหุ้นปั่น หรือหุ้นที่ไม่มีพื้นฐานใด ๆ แต่มีเจ้ามือคอยปั่นราคาล่อแมลงเม่าให้เข้าไปซื้อ เพราะหุ้นพวกนี้อันตราย มีหวังหมดตัวเอาง่าย ๆ ตอนที่คิดมันง่าย แต่พอเข้ามาในตลาดจริง ๆ สิ่งที่เจอคือ.. ซื้อหุ้นพื้นฐานดีมาตั้งนานแล้ว ราคาก็ไม่ไปไหน แต่เพื่อนเราซื้อหุ้นปั่นตามข่าว ราคาวิ่งเป็น 2-3 เท่าตัว ในเวลาไม่กี่วัน... นี่เราคิดผิดใช่ไหม เสร็จแล้วก็ลงเอย โดยการเข้าไปซื้อหุ้นปั่นตามชาวบ้านเขา และก็ลงเอย อย่างที่เราคาดเดาได้คือ ... หมดตัว อาการแบบนี้เขาเรียกว่า Restraint bias ครับ มันคือความคิดว่าเราจะสามารถทนทานต่อแรงยั่วได้มากกว่าปกติ มันเป็นอาการของคนที่คิดว่าน่าจะลองยาเสพติดสักครั้งนึง คงไม่เป็นอะไรหรอก เราก็รู้ว่ามันไม่ดี เราเลิกมันได้สบายมาก แต่ก็เหมือนทุกท่านคาดเดา สุดท้ายมันมักจะลงเอยด้วยการติดยางอมแงม !! เพราะเราไม่มีความสามารถในการทนทานได้ในระดับที่เราคิดไว้ เล่นหุ้นแบบไม่มีหลักการพื้นฐานใด ๆ จะว่าไปแล้ว มันก็เหมือนการเสพติดอย่างหนึ่งนะครับ ที่เราคิดว่าไม่หรอก เราไม่มีวันทำแบบนั้นแบบนี้น่ะ บางทีสุดท้ายเราก็ทำ เข้าข่ายเหมือนคำที่ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้” เลยน่ะครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ ก.ค. 25, 2016 5:13 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
นวัตกรรมนี้ มันเพิ่งเกิดขึ้นนี่นา (Recency illusion) หลาย ๆ ครั้ง เราอ่านบทวิเคราะห์ต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจ และก็พบว่ามีผู้บริหารบางท่านก็ได้นำเสนอ “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ ที่บริษัทคิดค้นขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือ เราก็มักจะตื่นเต้นและคาดเดาว่า สิ่งเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร จะสำเร็จจริงหรือไม่จริง ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ แต่เรื่องที่อยากจะพูดถึงคือ “ความใหม่” ที่ว่านั้น หลาย ๆ ครั้ง มันไม่ได้ใหม่จริงน่ะสิครับ เชื่อไหมครับ หลายครั้ง เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าสิ่งที่เราเห็น หรือได้ยินนั้น เป็นสิ่ง “ใหม่” ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้วก็ได้ เราเรียกภาพลวงตาแบบนี้ว่า Recency illusion จริง ๆ คำนี้คิดค้นขึ้นโดย Arnold Zwicky นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stanford ตัวอย่างเช่นมีคนเชื่อว่าคำภาษาอังกฤษที่หลัง ๆ มีคนใช้ว่า “You and I” แทนที่คำว่า “You and me” นั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วนั้น คำนี้มีคนใช้ (ผิด ๆ ) มาเนิ่นนานแล้ว ดังนั้น อะไรที่ผู้บริหาร “คิด” ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น มันก็อาจจะเข้าข่ายแบบนี้เช่นเดียวกัน คือมันไม่ได้ใหม่ และมีการผลิตภัณฑ์หรือวิธีการแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าเราเพิ่งรู้จักมัน ก็เท่านั้นเองครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ ก.ค. 22, 2016 7:29 pm
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ฉันไม่เชื่อเธอหรอก เพราะฉันไม่ชอบเธอ (Reactive devaluation) ตอนนี้ตลาดกำลังจะแย่นะ รีบขายล้างพอร์ตก่อนดีกว่า หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำทำนองนี้ แต่ถามว่าท่านทำตามไหมครับ บางครั้งเราก็ทำตาม บางครั้งเราก็ไม่ทำตาม แต่เหตุผลล่ะครับ อะไรที่ทำให้ท่านทำตามหรือไม่ทำตามคำแนะนำเหล่านั้น หลายท่านก็อาจจะตอบว่า... ผมก็ดูว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า หรือผมก็ดูคนพูดว่าน่าเชื่อถือหรือเปล่า อันนั้นก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งนะครับ แต่สิ่งที่อยากจะมาเตือนให้ระวังคือ บางครั้งการที่เราจะไม่เชื่อคำแนะนำเหล่านั้น บางทีมันเป็นเพียงเพราะว่า เราไม่ชอบขี้หน้าคนพูดเท่านั้นเอง !!! เราเรียกอารมณ์แบบนี้ว่า Reactive devaluation ครับ ในปี 1991 Lee Ross แห่งมหาวิทยาลัย Stanford และ Constance Stillinger แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน โดยได้ทำการทดลองสอบถามว่าเห็นด้วยกับนโยบายการลดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ผลปรากฏว่า... ถ้าบอกว่านโยบายนี้ มาจากประธานาธิบดี Ronald Reagan แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา คน 90% จะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่ถ้าไม่บอกว่านโยบายนี้มาจากไหน จะมีคน 80% ที่จะเห็นด้วย ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ถ้าบอกว่านโยบายนี้ มาจากประธานาธิบดี Mikhail Gorbachev แห่งรัสเซีย กลายเป็นว่ามีคนเพียง 40% เท่านั้นที่เห็นด้วย !!! ทั้ง ๆ ที่นโยบายก็เหมือนกัน ต่างกันว่ามาจากใครเท่านั้น ดังนั้น เวลาจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องอะไร บางทีต้องดูด้วยนะครับว่า ที่ไม่เชื่อไม่ทำตามนั้น เป็นเพราะว่าเรื่องนั้นมันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นเพียงแค่ว่าคนที่บอกเรื่องนั้น เป็นเพียงแค่คนที่เราไม่ชอบเท่านั้น เพราะถ้าเป็นแบบหลังนั้น บางทีเราอาจจะพลาดโอกาสดี ๆ ในตลาดหุ้นหรืออาจจะไปสู่สถานการณ์แย่ ๆ เลยก็ได้นะครับ
โดย
pinguwing
พุธ ก.ค. 20, 2016 6:24 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
แนะนำให้ซื้อ ฉันจะขาย (Reactance) เคยได้ยินคำกล่าว ที่ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวเล่น ๆ แต่หลายครั้งเป็นจริง ทำนองนี้ไหมครับว่า “ถ้ามีข่าวแนะนำให้ซื้อหุ้น ให้ขายซะ” “ข่าวดีให้ขาย ข่าวร้ายให้ซื้อ” บางคน ก็ทำตามคำแนะนำนี้ และหลายครั้งก็ได้กำไรซะด้วยสิ ถ้าได้กำไร ก็ดีใจด้วยนะครับ แต่ก็ต้องระวังตัวไว้เหมือนกันนะครับ เพราะบางทีการทำทุกอย่างที่สวนทางกับคำแนะนำ มันก็อาจจะเกิดหายนะได้เช่นเดียวกัน !!! เราเรียกอารมณ์ที่อยากทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับคำแนะนำต่าง ๆ ว่า Reactance ครับ Reactance เป็นอารมณ์คล้าย ๆ กับเวลาเราเลี้ยงลูกแหละครับ (ใครมีลูกอาจจะเห็นภาพชัดเลย 555) คือพอบอกให้ลูกทำอย่าง เขาก็ทำอีกอย่าง แบบไม่มีเหตุผล บอกให้อาบน้ำ ก็จะทำการบ้าน แต่พอบอกให้ทำการบ้าน เขาก็จะอาบน้ำ คือสิ่งนี้เกิดจากความคิดในเชิงจิตวิทยาที่ทุกคนอยากจะมีอิสรภาพทางความคิด แบบว่า ฉันคิดเองได้นะ อะไรประมาณนี้ ที่สำคัญยิ่งเรากดดันให้เขาทำอะไรมากเท่าไร เขายิ่งมีโอกาสทำในทิศทางตรงกันข้ามมากเท่านั้น กลับมาที่การซื้อขายหุ้นครับ การที่เราจะมีความคิดของเราเอง วิเคราะห์หุ้นเราเองนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด ดีซะด้วยซ้ำ แต่ให้แน่ใจว่า เราคิดอย่างรอบคอบแล้วนะครับ ไม่ใช่เราทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะว่ามีคนอยากให้เราทำอะไรอีกอย่างเท่านั้น แบบนั้น อันตรายแน่ ๆ ครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ ก.ค. 18, 2016 9:31 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
อย่างนี้กำไรแน่ ๆ (Pseudocertainty effect) ขอเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ครับ ถ้าท่านมีโอกาสเลือก 1 ใน 2 ทางเลือกนี้ ท่านจะเลือกทางเลือกใดครับ ทางเลือกที่ 1 มีโอกาส 25% ที่จะได้เงิน $30 และ 75% ที่จะไม่ได้อะไรเลย ทางเลือกที่ 2 มีโอกาส 20% ที่จะได้เงิน $45 และ 80% ที่จะไม่ได้อะไรเลย อ้าว ลองเลือกกันดูก่อนครับ ถ้าท่านเลือกทางเลือกที่ 2 ท่านก็จะเหมือนกับคนส่วนใหญ่ครับ (จากผลการศึกษา 58% เลือกทางเลือกที่ 2 มี 48% เลือกทางเลือกที่ 1) งั้นถามใหม่อีกนะครับ แล้วถ้าตอนนี้สมมุติว่าการตัดสินใจเปลี่ยนเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกนั้น จะมีโอกาส 75% ที่เราจะไม่ได้อะไรเลย และอีก 25% ที่เราจะผ่านไปในขั้นตอนถัดไป หากเราผ่านมาขั้นตอนถัดไปแล้ว เรามีทางเลือก 2 ทางคือ ทางเลือกที่ 3 คือได้เงิน $30 แน่ ๆ กับ ทางเลือกที่ 4 มีโอกาส 80% ที่จะได้เงิน $45 และ 20% ที่จะไม่ได้อะไรเลย ถ้าท่านต้องเลือกว่าจะเลือกทางเลือกใดระหว่าง 3 กับ 4 ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย (คือยังไม่รู้ว่าจะผ่านมาขั้นตอนที่ 2 หรือไม่) คราวนี้ท่านจะเลือกทางเลือกใดครับ ถ้าท่านเลือกทางเลือกที่ 3 ท่านก็จะเป็นเหมือนกันส่วนใหญ่ (74%) และมีเพียงแค่ 26% เท่านั้นที่เลือกทางเลือกที่ 4 และคราวนี้คนที่ตอนคำถามแรก เลือกทางเลือกที่ 2 แต่พอตอนหลังท่านกลับมาเลือกทางเลือกที่ 3 ก็ขอต้อนรับเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Pseudocertainty effect ครับ ทำไมน่ะเหรอครับ เพราะทางเลือกที่ 1 นั้น จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนทางเลือกที่ 3 ในขณะที่ทางเลือกที่ 2 นั้น จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนทางเลือกที่ 4 น่ะสิครับ ทางเลือกที่ 1 นั้น เรามีโอกาส 25% ที่จะได้เงิน $30 และ 75% ที่จะไม่ได้อะไรเลย ใช่ไหมครับ ทางเลือกที่ 3 ก็เช่นกัน เพราะเรามีโอกาส 25% (ความน่าจะเป็นที่จะผ่านมาในขั้นตอนที่ 2) x 100% ที่จะได้ $30 หรือก็คือ 25% ที่จะได้เงิน $30 และอีก 75% (ที่เราไม่ผ่านขั้นตอนที่ 1) ที่เราจะไม่ได้อะไรเลย Logic แบบเดียวกัน สำหรับทางเลือกที่ 2 และ 4 เช่นกันครับ ทางเลือกที่ 2 เรามีโอกาส 20% ที่จะได้เงิน $45 และ 80% ที่จะไม่ได้อะไรเลย ใช่ไหมครับ ทางเลือกที่ 4 เราก็มีโอกาสที่จะผ่านมาขั้นตอนที่ 2 อยู่ 25% และก็มีโอกาสอีก 80% ที่จะได้ $45 ใช่ไหมครับ หรือพูดง่าย ๆ คือเรามีโอกาส 25% x 80% = 20% ที่จะได้เงิน $45 และ โอกาสที่เราจะไม่ได้อะไรเลยคือ 75% (ตกตั้งแต่รอบแรก) + 25% x 20% (ผ่านรอบแรกแต่มาอดในรอบ 2) = 80% ที่จะไม่ได้อะไรเลย แต่คราวนี้ที่เราเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะเราคิดเองว่าทางเลือกที่ 3 ดูเหมือนมันไม่มีความเสี่ยง มันได้แน่ ๆ เป็นเพราะเราไม่สนใจขั้นตอนแรกไงล่ะครับ การทดลองข้างต้นนี้ ผมไม่ได้ทำเองนะครับ แต่เป็น 2 กูรูทางด้านนี้คือ Kahneman และ Tversky (อีกแล้วครับท่าน) ทำไว้ตั้งแต่ปี 1986 ครับ แล้วประโยชน์ของการศึกษานี้คืออะไร... อย่างนี้ครับ อะไรก็ตามที่มันมีการตัดสินใจหลายขั้นตอน เราต้องพิจารณาให้ดีนะครับ เช่นถ้าเราได้ข่าวบริษัทว่ากำลังเลือกประมูลโครงการใด โครงการหนึ่ง ที่อาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ และหากได้แล้ว ก็ยังต้องดูว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอีกนั้น เวลาคิดความน่าจะเป็นต่าง ๆ ต้องคิดให้ครบทุกขั้นตอนนะครับ อย่างไป assume ง่าย ๆ ว่า พอได้เข้าประมูล แล้วบริษัทต้องชนะ และพอชนะแล้ว ก็ต้องได้กำไรแน่ ๆ ไม่รู้สินะครับ ความเห็นผมคือไม่มีอะไรแน่นอนในตลาดหุ้นเลยครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ ก.ค. 15, 2016 5:49 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
บริษัทได้คิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ กำไรแน่ ๆ (Pro-innovation bias) เชื่อว่าหลายท่านที่ทำการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็มักจะติดตามข่าวสารต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะข่าวของบริษัทที่เราซื้อหุ้นหรือกำลังสนใจจะซื้อหุ้นอยู่จริงไหมครับ ถ้างั้นผมถามคำถามนึงแล้วกันครับ สมมุติว่าวันนี้ เราอ่านหนังสือพิมพ์และพบข่าวว่าบริษัทที่เราสนใจนั้น ประกาศออกมาว่าได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ สำเร็จ ท่านคิดว่าเป็นข่าวดีไหมครับ อ้าว หลายคนคงตอบ มันก็ต้องเป็นข่าวดีสิ คิดอะไรได้ใหม่ ๆ ก็แสดงว่าลูกค้าก็ต้องชอบและใช้นวัตกรรมนั้น และเมื่อลูกค้าจำนวนมากใช้ บริษัทก็กำไรแน่ ๆ งั้นเราก็ต้องรีบไปซื้อหุ้นบริษัทนี้กันดีกว่า !!! ถ้าท่านเริ่มมีความคิดแบบนี้ ระวังสิ่งที่เรียกว่า Pro-innovation bias ให้ดีครับ !!! Pro-Innovation bias คือความเชื่อที่ว่านวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นจะสามารถนำไปใช้ได้ทันทีกับคนจำนวนมากโดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนใด ๆ และเรามักจะมองข้ามข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของนวัตกรรมเหล่านั้นไป จริง ๆ ความเชื่อนี้ก็ไม่ได้เพิ่งมีในปัจจุบันนะครับ ตั้งแต่ยุคปี 1950s หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้โลกรู้จักระเบิดนิวเคลียร์ ก็มีความเชื่อกันว่าพลังงานนิวเคลียร์จะเข้ามาทดแทนพลังงานอย่างอื่นได้หมด หรือในปี 1986 Roger Smith ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานบริษั General Motors ถึงกับพูดว่า ก่อนที่จะเปลี่ยนศตวรรษ สังคมเราจะไม่มีการใช้กระดาษอีกต่อไป ซึ่งเป็นความคิดที่หลาย ๆ คนสนับสนุน ไม่ใช่ว่าพลังงานนิวเคลียร์เหล่านี้จะไม่ได้ใช้ หรือระบบ paperless จะไม่เกิดขึ้นนะครับ แต่ความเชื่อว่ามันจะเข้ามาทดแทนสิ่งอื่น ๆ ได้หมด เพราะมันคือนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นเป็นความเชื่อที่เราเข้าข้างนวัตกรรมเหล่านั้นจนเกินไป เพราะฉะนั้นเวลาได้ข่าวว่าบริษัทสร้างนวัตกรรมสำเร็จ ถึงแม้จะเป็นข่าวดี แต่อย่าเพิ่งคิดไปถึงกับว่านวัตกรรมเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับกันทั่วประเทศหรือทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้นนะครับ ไม่งั้น เดี่ยวซื้อหุ้นแล้วจะมาเสียใจภายหลังนะครับ
โดย
pinguwing
พุธ ก.ค. 13, 2016 5:14 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เหตุผลมาหลังการซื้อเสมอ (Post-purchase rationalization) ว่าไปแล้ว สมองมนุษย์เรานี่น่าทึ่งนะครับ มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เราสบายใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ... หลังจากที่เราตัดสินใจทำอะไรไปแล้ว เรามักจะพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจนั้นเสมอ เพียงแต่เราจะรู้ตัวหรือไม่เท่านั้นเองครับ เราลองนั่งมองดูตัวเองกันสักหน่อยดีไหมครับว่ามีกี่ครั้งที่เวลาเราซื้อหุ้นเสร็จแล้ว เรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าที่เราซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะมันดีอย่างนั้น มันดีอย่างนี้ ถ้าเราเป็นแบบนี้บ่อย ๆ แสดงว่าเราเริ่มมีอาการที่เรียกว่า Post-purchase rationalization แล้วล่ะครับ ในปี 1970 Joel Cohen อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Illinois และ Marvin Goldberg จากมหาวิทยาลัย McGill ได้ทำการศึกษาร่วมกัน และพบว่า เมื่อผู้บริโภคต้องตัดสินใจเลือกสินค้า ซึ่งในที่นี้คือเครื่องเล่น VDO Game นั้น ผู้บริโภคมีทางเลือก 2 ทางที่เป็นเครื่องเล่น VDO Game ที่ได้รับความนิยมทั้งคู่ แต่เมื่อผู้บริโภคเลือกอันหนึ่งมาแล้ว เขากลับพบว่ามีเกมที่เขาชอบให้เลือกเล่นน้อยกว่าอีกทางเลือกหนึ่ง แต่แทนที่จะยอมรับว่าเขาตัดสินใจผิดพลาด เขากลับพยายามหาเหตุผลมา สนับสนุนการตัดสินใจนั้น เพื่อยืนยันว่าการตัดสินใจที่เขาทำไปนั้นไม่ผิด เข้าข่ายสิ่งที่เราเรียกกันว่า “องุ่นเปรี้ยว” นั่นแหละครับ หุ้นก็เหมือนกันครับ คงไม่มีใครที่จะเลือกหุ้นได้ถูก 100% หรอกครับ แต่ที่สำคัญคือเวลาเราเลือกผิด เรากลับมาแก้ไข พัฒนาปรับปรุง หรือ เราพยายามหาเหตุผลจะทำให้มันถูกให้ได้ ถ้าเป็นแบบหลัง ก็ต้องระวังให้ดีนะครับ กว่าจะรู้ตัว ก็อาจจะหมดตัวแล้วก็ได้ครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ ก.ค. 11, 2016 5:54 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
บริษัทมีแผนว่า ... (Planning fallacy) เวลาจะซื้อหุ้น บางทีเราก็อ่านข่าว เจอข่าวจริงบ้าง ข่าวหลอกบ้าง บางคนบอกไม่จริง เจอแต่ข่าวหลอกประจำ 555 ข่าวหลอก ยังไงมันก็ไม่มีประโยชน์กับเราแน่ ๆ จริงไหมครับ แต่ตอนนี้ขอกล่าวถึงข่าวจริงบ้าง ว่าบางทีถึงแม้มันจะจริง เราก็ยังต้องระวัง อะไรนะ ข่าวจริง ก็มีสิ่งที่ต้องระวังเหรอ !!! สมมุติว่าเราไปอ่านข้อมูลจากรายงานประจำปีของบริษัท หรือเข้าไปฟังการประชุมผู้ถือหุ้น แล้วได้รับทราบข่าวประเภทที่ว่า บริษัทมีแผนว่า ... “จะขยายโรงงาน” “จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่” “จะทำการควบรวมกิจการ” อาจจะบอก time frame ว่าภายใน 1 ปี 2 ปี อะไรประมาณนี้ และผมสมมุติว่าเป็นข่าวจริงนะครับ (คือถ้าเป็นข่าวลวงก็จบตั้งแต่ตรงนี้แล้ว คือเชื่อไม่ได้) สมมุติว่าเจ้าของบริษัท หรือ CEO บริษัทก็มีความตั้งใจจะทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็ยังมีประเด็นที่เรายังต้องระวังอยู่ครับ !!! สังเกตไหมครับ โครงการโดยเฉพาะโครงการใหญ่ ๆ นั้น มักจะเสร็จล่าช้ากว่าที่คาดซะเป็นส่วนใหญ่ !!! และยิ่งช้า มันก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเยอะจริงไหมครับ จริง ๆ บริษัทระดับนี้ไม่น่าจะพลาดนะครับ คนเก่ง ๆ ก็มีตั้งเยอะ ประสบการณ์ก็มาก ทำไมถึงประมาณเวลาได้ผิดพลาดขนาดนี้ ไม่แปลกหรอกครับ เพราะสิ่งที่บริษัทเหล่านี้เจอ (และถ้าเป็นเราทำ เราก็ต้องเจอ) ก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Planning fallacy ครับ ในปี 1979 สองนักวิจัยชื่อดังทางด้านความลำเอียงในการตัดสินใจคือ Daniel Kahneman และ Amos Tversky ได้ค้นพบปรากฏการณ์ดังกล่าว เขาพบว่าคนส่วนใหญ่มักประมาณเวลาในการทำกิจกรรมต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเราก็เคยมีประสบการณ์ทำกิจกรรมนั้นมาก่อนซะด้วยซ้ำ แต่ที่น่าแปลกคือปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อเราทำการประมาณการเวลาในการทำงานของเราเองเท่านั้น แต่ถ้าให้เราประมาณเวลาการทำงานของคนอื่น เรากลับประมาณเวลามากไปเสมอ !!! รู้อย่างนี้แล้ว เวลาไปฟังผู้บริหารบอกโครงการจะเสร็จภายใน 1 ปี อาจจะต้องเผื่อใจนะครับ เพราะท่านอาจจะโดน Planning fallacy เล่นงานได้เช่นกัน เราคงต้องคิดคำนวณไปเผื่อด้วยเช่นกันว่า ถ้าไม่เสร็จภายใน 1 ปี จะส่งผลเสียอย่างไรกับบริษัท หรือไม่ก็ลองถามท่านผู้บริหารตรง ๆ เลยก็ได้ครับ ลองนำไปสังเกตและปรับใช้ดูนะครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ ก.ค. 08, 2016 4:51 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ตลาดหุ้นมันแย่จริง ๆ (Pessimism bias) แย่ ๆ ซื้อหุ้นทีไร ตกทุกที กะแล้วเชียวว่าพอขายหุ้นแล้ว หุ้นมันต้องขึ้น เคยมีอารมณ์แบบนี้ไหมครับ ผมว่าส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้น ก็มักจะมีอารมณ์แบบนี้กันทั้งนั้น ที่น่าสังเกตคือ บางทีเรามีความรู้สึกแบบนี้ ก่อนที่จะซื้อหรือขายหุ้นด้วยซ้ำไป !!! ประมาณว่า คอยดูสิ เดี๋ยวถ้าเราซื้อ หุ้นมันจะต้องตก หรือคอยดูสิ เดี่ยวพอเราขาย หุ้นมันจะต้องขึ้น และหลายครั้ง เราก็สังเกตเห็นว่า มันเป็นจริง !!! จริง ๆ สิ่งที่เราเจอ อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่เรียกว่าความลำเอียงในการมองในแง่ร้าย หรือ Pessimism bias ครับ Pessimism bias คือความรู้สึกที่เรามักจะคาดคิดสิ่งที่ร้าย ๆ ว่าจะเกิดขึ้น มากกว่าความเป็นจริง หุ้นมันก็มีทั้งขึ้นและลง แต่คนที่มองโลกในแง่ร้าย มักจะมองว่าราคาหุ้นจะต้องขยับไปในทิศทางที่ส่งผลลบกับเขาเสมอ หลายคนอาจจะบอกว่า ก็มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่นา... บางทีที่บอกว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันอาจจะเป็นเพราะเราไปสนใจ เฉพาะผลที่ตรงกับที่เราตั้งข้อสังเกตไว้ เอาอย่างนี้ดีกว่าครับ ลองเก็บสถิติเลยว่า มันแย่ อย่างที่เราคิดสักกี่ % บางทีมันอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายของเรา แต่ถ้ามันเกิดเป็นประจำใน % ที่สูงมาก อันนี้ตัวใคร ตัวมัน เอ้ย อันนี้ เราต้องกลับมาปรับปรุงการลงทุนของเราแล้วล่ะครับ
โดย
pinguwing
พุธ ก.ค. 06, 2016 5:49 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เห็นกระต่ายบนท้องฟ้าไหม (Pareidolia) ถ้าตอนนี้ท่านกำลังอยู่ในที่ที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้าได้ ลองใช้เวลาสัก 10 วินาที มองขึ้นไปบนท้องฟ้าสิครับ เอ้า เริ่มเลยครับ 1 2 3 ..... ...... 7 8 9 10 ท่านเห็นอะไรไหมครับ หลายท่านบอกว่า ไม่เห็นอะไรเลย บางท่านก็อาจจะบอกว่าเห็นแต่เมฆ งั้นเอาใหม่ครับ ลองมองขึ้นไปใหม่ มองที่เมฆนะครับ แล้วบอกผมใหม่ได้ไหมครับ ว่าเจอเมฆที่มีรูปร่างเหมือนหรือคล้าย ๆ กับสัตว์อะไรบ้างไหมครับ ให้เวลา 10 วินาที เหมือนเดิมครับ เอ้าเริ่มอีกทีนะครับ 1 2 3 ..... .... 7 8 9 10 คราวนี้เจอเมฆรูปร่างคล้ายสัตว์อะไรบ้างครับ บางคนอาจจะเริ่มตอบได้ว่า เจอกระต่าย เจอเต่า เจอจระเข้ เจอสุนัข ฯลฯ เอ แล้วประเด็นคืออะไร อย่างนี้ครับ พอเรามีความตั้งใจค้นหาอะไร บางทีเราจะเจอสิ่งที่จะเรียกว่า “ภาพลวงตา” ก็ได้ครับ แบบเมื่อกี้แหละครับ ตอนแรกไม่ได้กะว่าจะมองอะไร เราก็ไม่เห็นอะไร แต่พอโจทย์บอกว่าให้มองหาเมฆรูปร่างคล้ายสัตว์ เราก็เจอจนได้เห็นไหมครับ ทั้ง ๆ ที่ก้อนเมฆก็ก้อนเดียวกันนั่นแหละ อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Pareidolia ครับ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเล่นหุ้นครับ หลายท่านเวลาเล่นหุ้น ท่านอาจจะชอบดูกราฟใช่ไหมครับ สิ่งที่อยากเตือนคือบางที เราไปเรียนรูปแบบของกราฟบางอย่างมา มันก็อาจจะส่งผลทำให้เราพยายามมองกราฟให้มันมีรูปแบบแบบนั้นให้ได้ แบบนี้อาจจะต้องระวังนะครับ เพราะบางทีกราฟมันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันอาจจะมีรูปร่างแบบ Random แต่เราซึ่งเป็นคนดู มักจะจินตนาการ จนกระทั่งมันดูคล้ายจะเป็นแบบนั้น ลองให้เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ดูด้วยก็ดีเหมือนกันนะครับ ไม่งั้นอาจจะกลายเป็นว่าเราคิดไปเองก็ได้ครับ
โดย
pinguwing
อังคาร ก.ค. 05, 2016 5:29 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ในตลาดหุ้น ไม่มีใครเก่งเท่าเราอีกแล้ว (Overconfidence effect) ตอนเราซื้อหุ้น มีใครบ้างครับที่ไม่เชื่อว่าหุ้นจะขึ้น ตอนเราขายหุ้น มีใครบ้างครับที่ไม่เชื่อว่าหุ้นจะลง (ยกเว้นจำเป็นต้องขายเพื่อนำเงินไปใช้อย่างอื่น) ผมว่าทุกคนก็ต้องมีความเชื่อ อันนี้ไม่แปลกครับ เราเอาความรู้ที่เรามี หรือแม้กระทั่งไปปรึกษาผู้รู้ต่าง ๆ จนกระทั่งนำมาซึ่งความเชื่อว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง แล้วก็ลงเอย ด้วยการซื้อ ขาย หรือถือต่อ หลาย ๆ ครั้งที่เราตัดสินใจผิด นำมาซึ่งความเสียหาย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เราตัดสินใจถูก และนำมาซึ่งผลประโยชน์จำนวนมาก ประเด็นสำคัญคือ เรามักจะหลงเชื่อว่าเราเก่งกว่าความเป็นจริงเสมอ หรือพูดง่าย ๆ คือเราโดน Overconfidence effect เล่นงานเป็นประจำ จากการศึกษาของ Ola Svenson จาก University of Stockholm ประเทศสวีเดน ในปี 1981 พบว่า 93% ของคนขับรถชาวอเมริกันคิดว่าตัวเองขับรถได้ดีกว่าค่า Median ของการขับรถของคนอเมริกันทั้งหมด !!! พูดง่าย ๆ ว่าทุกคนคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ว่างั้นเถอะ (เผื่อหลายท่านไม่คุ้นเคย ค่า Median หรือค่ามัธยฐาน คือค่ากลางที่จะมีข้อมูลครึ่งหนึ่งมากกว่าค่านั้น อีกครึ่งหนึ่งน้อยกว่าค่านั้น ดังนั้นมันควรจะมีแค่ 50% ที่ขับรถได้ดีกว่าค่า Median และ อีก 50% ที่ขับรถได้แย่กว่าค่า Median) ผมเชื่อว่าถ้าไปถามนักเล่นหุ้น เราก็อาจจะได้คำตอบคล้าย ๆ กัน แต่ละท่านก็อาจจะคิดว่าเราเล่นหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ๆ แต่ผลที่เราทราบกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ คนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นกลับขาดทุน !!! เอาเป็นว่าเมื่อไรที่เราเริ่มคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ๆ แล้ว ให้ระวังให้ดีก็แล้วกันครับ เพราะเราอาจกำลังจะติดกับดักของ Overconfidence effect เข้าให้แล้วนะครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. มิ.ย. 30, 2016 7:37 pm
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ถ้าใช้วิธีนี้แล้วได้กำไร แสดงว่าวิธีนี้ดีแน่ ๆ (Outcome bias) สมมุติว่าตอนนี้เราไปเรียนเทคนิคการ Trade หุ้นวิธีหนึ่งนะครับ พอกลับมา เราก็เริ่มใช้วิธีนี้ Trade หุ้นมาได้ 1 สัปดาห์ ผลลัพธ์ปรากฏว่า เราได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการ trade หุ้นโดยใช้วิธีนี้ เราจะคิดว่าอย่างไรครับ ... อ้าว หลายคนคงตอบในใจว่าวิธีนี้มัน work ไงล่ะ!!! งั้นขออนุญาตถามว่าวิธีนี้มัน work เพราะวิธีมันถูกต้อง หรือเพียงเพราะว่าผลคือเราได้กำไร!!! หลายคนก็บอกว่าก็เพราะวิธีมันถูกต้อง เราจึงได้กำไรไง เป็นอะไรเนี่ย ไม่เข้าใจเหรอ งั้นถามอีกครับว่า จริง ๆ มันเป็นเพราะว่า วิธีมันถูกต้อง เราจึงได้กำไร หรือ จริง ๆ เป็นเพราะได้กำไร เราจึงคิดว่าวิธีมันถูกต้องกันแน่ครับ เอาล่ะ ยิ่งอ่านยิ่งงง มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันเหรอ คืองี้ครับ ถ้าสมมุติว่าเราใช้วิธีแบบเดิม ในสัปดาห์ถัดมา เรา trade แล้วขาดทุนล่ะครับ คราวนี้ แปลว่าวิธีนี้มันยังดีอยู่ไหมครับ หลายท่านอาจจะเริ่มตอบว่า ก็อาจจะไม่ค่อยดีแล้วมั้ง ทำไมล่ะครับ ก็วิธีมันก็เป็นแบบเดิมที่เราเคยบอกว่าดีนะครับ ไม่ได้เปลี่ยนเลย ที่เปลี่ยนคือผลของมันเท่านั้นเอง ถ้าวิธีมันดี มันต้องดีตลอดสิครับ ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนรายละเอียดอะไรเลย แสดงว่า เวลาเราบอกว่าวิธีนี้ดีหรือไม่ดี เราดูจากผลอย่างเดียวจริงไหมครับ มันไม่ใช่ว่าวิธีดี ผลจึงดี มันเป็น ผลดี วิธีจึงดี มากกว่า !!! แล้วมันผิดตรงไหน ถ้าเราจะวัดความถูกต้องของวิธีจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถามหน่อยเหอะ (555 เริ่มหงุดหงิดละ) ก็สุดท้ายสิ่งที่เราต้องการคือผลไม่ใช่เหรอ ถ้าผลมันได้ วิธีนั้นก็น่าจะถูกไง นี่แหละครับ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีการ trade อาจจะเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เช่นถ้าตลาดมันขึ้น trade วิธีไหน มันก็กำไร ต่อให้วิธีมันไม่ดีก็เหอะ แต่คราวนี้ ถ้าเราเอาผลมาตัดสินอย่างเดียว เราก็จะสรุปว่าวิธีนี้มัน work ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ ใครที่มีความรู้สึกลักษณะนี้บ่อย ๆ เราเรียกว่ามีอาการของ Outcome bias ครับ ในปี 1988 Baron และ Hershey จาก University of Pennsylvania ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง Outcome bias in decision evaluation โดยเขาได้ทำการศึกษาเหตุการณ์จำลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมการศึกษา ตัดสินใจว่าจะผ่าตัดคนไข้ดีหรือไม่ดี จากข้อมูลที่ให้มา โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาก็รู้ว่าความน่าจะเป็นในการผ่าตัดสำเร็จเป็นเท่าไร หลังจากนั้น เขาก็ส่งผลการตัดสินใจ (การจำลองนะครับ ไม่ใช่ของจริง) ว่าผลลัพธ์ของการผ่าตัดเป็นอย่างไร คือมี 2 เหตุการณ์คือ หาย กับ ตาย แล้วเขาก็ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษา ให้คะแนนการตัดสินใจนั้น ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร ผลปรากฏว่า คนที่ได้ผลว่าการผ่าตัดทำให้คนไข้หาย ให้คะแนนการตัดสินใจว่าถูกต้อง มากกว่าคนที่ได้ผลว่าการผ่าตัดทำให้คนไข้ตาย ทั้ง ๆ ที่ตอนตัดสินใจนั้น ข้อมูลก็เป็นชุดเดียวกัน ทุกอย่างเหมือนกัน และหายหรือตาย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ จำนวนมาก บางทีกลายเป็นว่า ผลลัพธ์เป็นตัวตัดสินวิธีการ ไม่ใช่วิธีการตัดสินผลลัพธ์นะครับ เวลาซื้อขายหุ้น ก็ระวังเรื่องนี้ไว้บ้างก็ดีนะครับ กำไร อาจจะไม่ได้หมายความว่าเราใช้วิธีการถูกเสมอไปนะครับ
โดย
pinguwing
พุธ มิ.ย. 29, 2016 5:37 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ข่าวร้ายเยอะจัง เลิกดูพอร์ตดีกว่า (Ostrich effect) ปกติเราชอบเปิดพอร์ตดูไหมครับ คำตอบของคำถามนี้คงขึ้นอยู่กับว่า ถามตอนไหน ถ้าเป็นตอนที่ตลาดกระทิง คือขึ้นทุกวัน หลายคนอาจจะตอบว่า ดูวันละหลาย ๆ รอบเลยครับ สีเขียว (เวลาหุ้นขึ้นมันจะมีสีเขียวครับ) สบายตาดี แต่ถ้าถามตอนตลาดหมี หรือตอนวิกฤติที่หุ้นตกทุกวัน หลายคนอาจจะบอกว่าดูบ้าง แต่เชื่อไหมครับ หลายคนปิดพอร์ตไปเลย ปิด หมายความว่าเลิกดูเลย จริง ๆ จะดูหรือไม่ดูมันก็ไม่ได้ทำให้หุ้นหยุดตกหรอกนะครับ เด็ก ๆ เคยเป็นกันไหมครับ เวลาเรากลัวอะไร เราจะวิ่งไปเอาผ้าห่มมาคุมโปง จริง ๆ ผ้าห่มมันไม่ได้ช่วยอะไรหรอกนะครับ แต่เราคิดว่ามันช่วย อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Ostrich effect ครับ Ostrich คือนกกระจอกเทศ ซึ่งมีความเชื่อว่าเวลานกกระจอกเทศมันกลัวอะไร มันจะเอาหัวมุดลงที่ดิน (ที่จริง มันเป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ มันไม่ได้เป็นเพราะเหตุผลนั้น) เขาก็เลยเอามาเปรียบเทียบกับคนที่เวลากลัวอะไร แล้วก็ซ่อนตัว ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะหายไปเอง จากการศึกษาของ Professor George Loewenstein และ Duane Seppi จาก Carnegie Mellon University พบว่า นักลงทุนชาว Scandinavia ดูพอร์ตการลงทุนของตัวเองน้อยลงถึง 50 – 80% ในช่วงเวลาที่ตลาดไม่ดี !!! ถ้ามาทำวิจัยนี้ในไทยอาจจะเห็นตัวเลขมากกว่านี้ก็ได้นะครับ ระวังกันนะครับ แค่หลับตา มันไม่ได้ทำให้อันตรายหายไปครับ
โดย
pinguwing
อังคาร มิ.ย. 28, 2016 6:05 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
วันนี้ไม่ได้มีบทความเพิ่มเติมนะครับ แต่มีคนถามว่ามี Page ไหม จะได้ติดตามใน Page อาจจะสะดวกกว่า เลยขออนุญาตประชาสัมพันธ์ให้ทุกท่านทราบพร้อมกันเลยแล้วกันนะครับ ถ้าใครสนใจเข้าไปใน Page นี้ได้ครับ https://www.facebook.com/DataAnalysisforDecisionMaking/ ส่วนบทความ เดี๋ยวสัปดาห์หน้า กลับมาประจำเหมือนเดิมครับ
โดย
pinguwing
อาทิตย์ มิ.ย. 26, 2016 7:00 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เรามันคนโชคดีชัด ๆ (Optimism bias) หลายคนอาจจะเคยผ่านช่วงอารมณ์แบบนี้มาก่อน ที่ไม่ว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน ตัวนั้นขึ้นตลอด อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิง คือขึ้นไม่หยุด หลายคนกะว่าจะออกจากงานมาเทรดหุ้นเลยด้วยซ้ำ !!! จริง ๆ มองโลกในแง่ดีมันก็ดีอยู่หรอกนะครับ เพียงแต่มันก็ต้องอยู่ในพื้นฐานความเป็นจริงด้วย หุ้นมันไม่ได้มีแต่ขึ้นนะครับ ใครอยู่ในตลาดมานานน่าจะรู้ดี พอบทมันจะตก มันตกไม่ลืมหูลืมตาเหมือนกัน จะเร็วกว่าตอนหุ้นขึ้นซะด้วยซ้ำ !!! (ขอแอบไปเช็ดน้ำตาแป๊บนะครับ) ใครที่มองโลกในแง่ดีมาก ๆ และคิดว่าเราเป็นคนมีดวงในการเล่นหุ้น ท่านกำลังจะอยู่ในอาการที่มีชื่อเรียกว่า Optimism bias ครับ Alexander Elder ผู้แต่งหนังสือชื่อ Trading for a Living: Psychology, Trading Tactics, Money Management ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาคงไม่ขาดทุนในการเล่นหุ้นหรอก !!! คงไม่ต้องบอกนะครับว่า คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่กลับขาดทุนจากการเล่นหุ้น มันก็คงคล้าย ๆ กับคนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาคงไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่เช่นกัน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ บางทีมันทำให้เขาสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเล่นหุ้นแล้วคิดแต่ว่าเราจะต้องได้แน่ ๆ เราโชคดี สุดท้ายมันก็มักจะลงเอยด้วยการหลับหูหลับตาทุ่มเงินเข้าไป และส่วนใหญ่ก็ลงเอยด้วยน้ำตา มองโลกในแง่ดี ไม่ใช่สิ่งผิดหรอกครับ แต่อย่าหลับหูหลับตามองก็แล้วกันครับ สิ่งสำคัญคือการเพิ่มความรู้ และนำเอามาใช้ให้ถูกวิธี น่าจะดีกว่าเชื่อเฉย ๆ ว่า เราเป็นคนโชคดีในตลาดหุ้นนะครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ มิ.ย. 24, 2016 5:10 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ไม่ทำอะไรดีที่สุดจริงหรือ (Omission bias) เริ่มต้นด้วยคำถามก่อนครับ อะไรที่เรารู้สึกเจ็บใจกว่ากันครับระหว่าง 1) กะจะซื้อหุ้นตัวหนึ่ง แต่สุดท้ายไม่ได้ซื้อ และราคาหุ้นที่มองไว้มันเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้เสียโอกาสได้กำไรไป 1 แสนบาท (ตามศัพท์เรียกว่าตกรถ) กับ 2) มีหุ้นอยู่แล้ว และตัดสินใจขายไป แต่ราคาหุ้นมันดันขึ้นไปอีก ทำให้เสียโอกาสได้กำไรเพิ่มอีก 1 แสนบาท (ตามศัพท์เรียกว่าขายหมู) ถ้าท่านตอบข้อที่ 2 คือขายหมูน่าเจ็บใจกว่าตกรถ ท่านมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการที่เรียกว่า Omission bias ครับ อาการของ Omission bias คือความรู้สึกว่าการไม่ทำอะไรเลยดีกว่า การที่ทำแล้วอาจจะเกิดผลเสีย ทั้ง ๆ ที่การไม่ทำอะไรนั้นมันก็เกิดผลเสียเท่ากัน หรือบางครั้งมากกว่าการตัดสินใจทำซะด้วยซ้ำไป !!! ตามหลักจิตวิทยาทั่วไปคือเรามักจะรู้สึกผิดน้อยกว่าหากเราไม่ทำอะไร แต่จะรู้สึกผิดมากกว่าหากเราทำแล้ว มันพลาด มีผู้ปกครองหลายคนไม่ให้ลูกหลานไปฉีดวัคซีน เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะเกิดอันตราย ทั้ง ๆ ที่อันตรายที่อาจจะเกิดจากวัคซีนนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าการไม่ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้เด็กติดโรคร้ายแรงซะอีก !!! ในหนังสือชื่อ Scorecasting ที่เขียนโดย Tobias Moskowitz และ L. Jon Wertheim เขาพบว่ากรรมการที่ตัดสินในเกม Basketball NBA นั้น กรรมการมักจะเป่าฟาวล์น้อยลงถึง 40% ในช่วงต่อเวลา (ซึ่งแสดงว่าเกมคู่คี่กันมาก) เมื่อเทียบกับเวลาปกติ เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะว่ากรรมการไม่อยากที่จะ Take action แล้วผิด (เป่าฟาวล์ให้ทีม ทั้งที่จริง ๆ ไม่ควรให้) มากกว่าไม่ Take action แล้วผิด (คือจริง ๆ ควรฟาวล์ แต่ไม่เป่าฟาวล์ให้) ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Omission bias เช่นกัน เวลาเล่นหุ้น ระวังเรื่องนี้ไว้ด้วยก็ดีนะครับ อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกเสมอไปนะครับ
โดย
pinguwing
พุธ มิ.ย. 22, 2016 4:55 am
0
3
Re: ขอสอบถาม ทำยังไงถึงจะซื้อหุ้น disney , google ให้ลูก
ของ ASP ก็มีครับ ผมใช้อยู่ครับ เงินปันผลก็โอนเข้า Port ครับ ถ้ากะถือยาว ก็ทิ้งไว้ใน Port ยาวเลยก็ได้ครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ มิ.ย. 20, 2016 5:37 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เราจะได้เห็นสิ่งที่เราอยากเห็นเสมอ (Observer-expectancy effect) หลายคนที่เล่นหุ้น โดยดูกราฟ เคยสังเกตอะไรไหมครับ บางทีพอเราเรียนเทคนิคการอ่านกราฟแบบไหน เรามักจะเริ่มเจอกราฟแบบนั้น อยู่เรื่อย ๆ เสร็จแล้ว เราก็มักจะตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตามกราฟที่เราเห็น ซึ่งบางครั้งก็ได้กำไร แต่หลายครั้งก็ขาดทุน จริง ๆ ผมก็ไม่ได้บอกว่าการดูกราฟเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะครับ แต่อยากให้ทุกคนระวังเรื่องหนึ่งครับ คือคนเรานั้นบางทีถ้าเรามีความคาดหวังว่าจะเห็นอะไรแล้ว เรามักจะเห็นสิ่งนั้นอยู่เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ เราเรียกอาการแบบนี้ว่า Observer-expectancy effect ครับ ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าผมให้ท่านฟังเพลงเพลงหนึ่ง ท่านก็อาจจะฟังจนจบ แล้วผมว่าท่านรู้สึกอะไร อย่างไรหรือไม่ในบทเพลง คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่าก็ไม่เห็นมีอะไร แต่ถ้าผมบอกว่าท่านลองฟังใหม่ บทเพลงนี้มี code ลับอะไรซ่อนอยู่ คราวนี้เชื่อไหมครับว่า หลายคนจะเริ่มคาดหวังและสังเกต และในที่สุดอาจจะบอกว่าเจอแล้ว มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ใช่ไหม คือเรียกง่าย ๆ ว่าถ้าคาดว่าจะมี code ลับ เดี๋ยวเราจะสังเกตเห็นว่ามีจนได้แหละ ทั้ง ๆ ที่ความจริง มันก็ไม่ได้มีอะไร!!! หุ้นก็เหมือนกันครับ บางคนเรียนนับคลื่นในกราฟหุ้นมา คราวนี้กลับมา เห็นอะไร ก็อาจจะเป็นคลื่นได้หมดเหมือนกัน ระวังกันให้ดีนะครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ มิ.ย. 20, 2016 5:34 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ไม่ใช่พวกเรา เขาต้องผิดแน่ ๆ (Not invented here) ปกติเวลาเล่นหุ้นเรามักจะมีกลุ่มเพื่อนที่คอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าหุ้นตัวนี้ดีไหม ซื้อหรือขายหุ้นดี จริง ๆ กลุ่มเพื่อนก็ดีครับ ช่วยกับ update ความคิดต่าง ๆ ทำให้เราเห็นมุมมองที่หลากหลาย แต่ในบางครั้งกลุ่มเพื่อนนี่แหละครับที่จำกัดความคิดเรา คือเราจะเลือกเชื่อเฉพาะความคิดที่เกิดจากกลุ่มเราจนละเลยความคิดที่มาจากที่อื่น เราเรียกอาการแบบนี้ว่า Not invented here ครับ อารมณ์คล้าย ๆ ว่า เราเชื่อคนไทยด้วยกันมากกว่าชาติอื่น เพียงเพราะว่าเขาเกิดที่ประเทศเดียวกันกับเรา ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วโลกครับ ยกตัวอย่างนะครับ เทคโนโลยีการผลิตยางที่เรียกว่า Radial Tire นั้นถูกคิดค้นโดยบริษัทมิชิลิน จากประเทศฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1946 แต่บริษัทในประเทศอเมริกากลับไม่ได้สนใจเทคโนโลยีนี้ แถมเยาะเย้ยเทคโนโลยีนี้ว่าเป็นสิ่งที่แปลก และไม่น่าจะรอด !!! ผ่านมาจนถึงปี 1968 เริ่มมีรายงานว่าเทคโนโลยีนี้เป็นการผลิตยางที่สุดยอด แต่เชื่อไหมครับว่า ต้องรอจนกว่ายุค 1980s ถึงได้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ผลิตยาง 100% กล่าว ๆ ง่าย ๆ คือเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตยางแบบนี้ มันถูกคิดค้นโดยบริษัทฝรั่งเศส ไม่ใช่อเมริกัน อารมณ์ของการไม่สนใจ ไม่ยอมรับ มันก็เลยเกิดขึ้น นี่ถ้าคิดโดยบริษัทอเมริกัน ป่านนี้ใช้ไปนานแล้วว่าไหมครับ กลับมาที่หุ้นครับ เวลาเราได้ยินความคิดเห็นจากใคร ถึงแม้เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผิดนะครับ คนที่เป็น VI เวลาได้ยินคนที่เล่นเทคนิคอลเขาคุยกัน มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด บางที หลายอย่างก็เป็นประโยชน์กับเราเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับคนที่เล่นเทคนิคอล พื้นฐานต่าง ๆ ของบริษัทก็อาจจะมีความสำคัญเช่นกัน อย่าเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของคนอื่น เพียงเพราะว่า “เขาไม่ใช่พวกเรา” นะครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. มิ.ย. 16, 2016 5:27 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ตลาดหุ้นจะพังเหรอ ไม่มีวันหรอก (Normalcy bias) เคยอ่านใน Webboard ต่าง ๆ ไหมครับ บางทีเราจะเห็นมีกระทู้ประมาณว่าอยากลาออกมาเล่นหุ้นอย่างเดียว เพราะไม่ต้องทำอะไรมาก ตื่นเช้ามา ก็หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน แล้วก็นั่งจิบกาแฟในร้านกาแฟ พอตลาดหุ้นเปิด ก็กดซื้อ ๆ ขาย ๆ แล้วก็ทำเงินเป็นพันเป็นหมื่นต่อวัน สบาย ๆ กระทู้พวกนี้จะพบค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้น และส่วนใหญ่คนมาตั้งกระทู้ก็เป็นคนที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้น ถ้าเราเริ่มมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตลาดหุ้นคือที่ทำเงิน อย่างที่เล่าให้ฟังข้างบนนี้ ต้องเริ่มเตือนตัวเองแล้วนะครับ เพราะเรากำลังอยู่ในอาการที่เรียกว่า Normalcy bias !!! Normalcy bias คืออาการของคนที่มองโลกสวยงามและประมาณการว่าสิ่งเลวร้ายคงไม่เกิดขึ้นหรอก คนที่มี Normalcy bias เยอะ ๆ มักจะเป็นคนที่ไม่เตรียมการรองรับเหตุการณ์วิกฤติต่าง ๆ เช่น ไม่คิดว่าแผ่นดินจะไหว ไม่คิดว่าสึนามิจะมา ฯลฯ และเมื่อไม่ได้เตรียมการ เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เขาก็จะเป็นคนแรก ๆ ที่ประสบปัญหาอย่างหนัก ก็เหมือนตลาดหุ้นแหละครับ ถ้าคิดข้างเดียวว่าหุ้นจะขึ้นตลอดไป วันหนึ่งที่ตลาดมันตกลงมา (แล้วเวลามันตก มันก็มักจะตก เร็วกว่าขึ้นซะด้วย) คนเหล่านี้แหละครับที่จะเจ็บหนักที่สุด !!! ระวัง Bias ประเภทนี้ให้ดีนะครับ
โดย
pinguwing
พุธ มิ.ย. 15, 2016 5:51 am
0
4
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เราซื้อหุ้นตัวนี้ทำไม ... ไม่รู้ (Neglect of probability) ตลาดหุ้นเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คำว่า “ความน่าจะเป็น” น่าจะต้องถูกนำมาใช้มากที่สุด ทำไมถึงพูดแบบนั้นล่ะครับ เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนั้น แทบจะไม่แน่นอนเอาซะเลย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นตัวไหน เราจะวิเคราะห์ไว้ดีอย่างไร อนาคตที่เกิดขึ้นก็ยังคาดเดาไม่ได้ แต่ที่น่าแปลกคือ มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย กลับซื้อหุ้นบางตัว โดยที่แทบจะไม่ได้พิจารณาถึง “ความน่าจะเป็น” เหล่านี้เลย เคยถามคนที่ซื้อพวกหุ้นปั่น หุ้นซิ่ง ทั้งหลาย ร้อยทั้งร้อย ซื้อก็เพราะคิดว่ามันจะขึ้นไปหลายเด้ง แต่ไม่เคยกลับมาลองคิดว่า “ความน่าจะเป็น” ที่มันจะขึ้นกับมันจะตกมีเท่าไร !!! อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Neglect of probability หรือการละเลยความน่าจะเป็นครับ จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Jonathan Baron จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania พบว่าหลายคนไม่ยอมใส่Seat Belt ในการนั่งรถยนต์ ด้วยเหตุผลว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วรถตกน้ำ หรือรถไฟไหม้ แล้วจะออกมาไม่ทัน โดยไม่ทันได้คิดว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น มันน้อยมากขนาดไหน!!! ใครที่เป็นแบบนี้บ่อย ๆ ต้องระวังนะครับ ลองคิดถึงความน่าจะเป็นก่อน ลองประมาณดูก็ยังดี ก่อนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ มิ.ย. 10, 2016 5:13 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ข่าวร้ายมักจะใหญ่กว่าข่าวดี (Negativity bias) เวลาเล่นหุ้น เคยเจอภาวะที่เรียกว่า Panic Sell ไหมครับ Panic Sell คือเหตุการณ์ที่เราขายแบบตื่นตระหนกตกใจ ประมาณว่ามีข่าวร้ายเกิดขึ้น จริงหรือไม่จริงยังไม่รู้ แต่ทุกคนก็ตกใจ แล้วเทขายหุ้นออกมา ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น Trader ประเภทซื้อขายรายวัน หรือนักลงทุนบางท่านที่มีความตั้งใจจะลงทุนระยะยาว เรียกตัวเองว่าเป็น VI (Value Investor) กลับตระหนกตกใจเทขายหุ้นออกมา แบบไม่ลืมหูลืมตา!!! แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือดัชนีตลาดหุ้นตกลงอย่างมาก จนบางครั้งถึงจุดที่เรียกว่า Circuit Breaker หรือสถานการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์หยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว ซึ่งในตลาดไทยนั้น จะมีสองระดับคือระดับแรก เมื่อ SET Index ลดลง 10% ของค่าดัชนีวันก่อนหน้า ก็จะทำการหยุดซื้อขาย 30 นาที และระดับที่สองคือ เมื่อ SET Index ลดลง 20% ของ ดัชนีวันก่อนหน้า ก็จะทำการหยุดซื้อขายอีก 1 ชั่วโมง มาตรการนี้เรียกง่าย ๆ คือเรียกสตินักลงทุนกลับมานั่นแหละครับ !!! เอ แต่เคยสงสัยไหมครับ เมื่อมันมี Panic Sell ทำไม มันไม่มี Panic Buy บ้าง แบบซื้อหุ้นไม่ลืมหูลืมตา ทำไม ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีมาตรการหยุดยั้งว่า เฮ้ย นักลงทุนซื้อกันมากไปแล้ว มีสถิติกันหน่อย ทำไมเราไม่มี Circuit Breaker แบบนี้บ้าง เหตุผลง่าย ๆ คือ เพราะมันไม่เคยเกิดอะไรแบบนี้น่ะสิครับ คำถามคือทำไมเราเห็นแต่ Panic Sell แต่ไม่เห็น Panic Buy เหตุผลคือสิ่งที่เรียกว่า Negativity Bias ครับ คนเราส่วนใหญ่แล้ว จะให้น้ำหนักกับสิ่งที่เป็นลบ มากกว่าสิ่งที่เป็นบวก Daniel Kahneman และ Amos Tversky 2 กูรูชื่อดัง ก็ยืนยันว่าคนส่วนใหญ่เป็นพวก Loss Aversion คือ เป็นพวกที่กลัวเสียเงิน มากกว่าเสียโอกาส พอหุ้นขึ้นเยอะ ๆ ก็เลยไม่ต้องมี Circuit Breaker ไงครับ เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะขายหุ้นกันเอง เพราะเขาไม่ค่อยกลัวเสียโอกาสไงครับ ขึ้นได้ไม่เท่าไร เดี๋ยวก็หยุดครับ ไม่เหมือนหุ้นตก ทุกคนหลับหูหลับตาขายหมด เพราะเขากลัวเสียเงินมาก ๆ ไงครับ นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า เราให้น้ำหนักกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เพราะฉะนั้นรู้อย่างนี้แล้ว ตอนที่เขา Panic Sell กัน มันอาจจะเป็นโอกาสของเราก็ได้นะครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. มิ.ย. 09, 2016 8:14 am
0
3
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
หุ้นที่ไม่ใช่ อะไร ๆ ก็ไม่ถูก (Negativity effect) เราอาจจะเคยมีปัญหากับการซื้อหรือขายหุ้นบางตัวที่ทำให้เราขาดทุนอย่างมาก หรือเราอาจจะมีความรู้สึกแย่ ๆ กับบางบริษัท เช่นเคยไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วได้รับบริการที่ไม่น่าประทับใจ จนในที่สุดเราก็เกลียดบริษัทนั้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาคือ... เวลาเราศึกษาข้อมูลการลงทุนในตลาดหุ้นแล้วไปเจอหุ้นของบริษัทนี้ เรามักจะให้น้ำหนักกับด้านลบมากกว่าด้านบวกเสมอ !!! และมักจะพยายามบอกตัวเองว่า สิ่งลบ ๆ เหล่านั้น เกิดจากตัวบริษัทเอง ส่วนสิ่งที่เป็นบวกนั้น เกิดจากสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อย่างนี้เรียกว่าเรากำลังโดน Negativity effect เล่นงานอยู่ !!! เช่น ถ้าบริษัทยอดขายลดลง เราก็จะบอกว่าเป็นเพราะพนักงานบริษัทนี้ไม่ได้เรื่อง ผู้บริหารไม่เก่ง แต่ถ้ายอดขายเพิ่มขึ้น เรากลับมองว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น หรือได้รับประโยชน์จากภาครัฐ เป็นต้น ระวังกันไว้ก็ดีนะครับ เพราะหากเรามองเป็นลบแบบนี้บ่อย ๆ หลายครั้งก็จะทำให้พลาดโอกาส งาม ๆ ไปได้เหมือนกันนะครับ
โดย
pinguwing
พุธ มิ.ย. 08, 2016 5:43 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
เราเคยทำถูก ดังนั้นเราจึงทำผิดได้ (Moral credential effect) เราเคยมีความรู้สึกแบบนี้กันบ้างไหมครับ พอเราออกกำลังกายเสร็จเหนื่อย ๆ เราก็รู้สึกอยากกินไอติมสักถ้วยหนึ่ง และก็รู้สึกว่า ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราออกกำลังกายมาแล้ว หรือเวลาเราเก็บเงินมาได้สักระยะหนึ่ง แต่ไปเจอของที่ถูกใจ เราก็ควักเงินจ่าย เพราะเรารู้สึกว่า ไม่เป็นไรหรอก เราอุตส่าห์เก็บเงินมาตั้งนาน ใช้นิดใช้หน่อยจะเป็นไรไป มันคล้าย ๆ กับว่า การออกกำลังกาย เป็นใบอนุญาตให้เราสามารถกินไอติมได้โดยไม่รู้สึกผิด หรือการเก็บเงินมาตลอด เป็นใบอนุญาตที่ทำให้เราซื้อของได้โดยไม่รู้สึกผิด ถ้าเราเคยมีความรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าขณะนั้นเรากำลังตกอยู่ในความลำเอียงในการตัดสินใจที่เรียกว่า Moral credential effect แล้วล่ะครับ ในปี 2001 Benoît Monin และ Dale Miller แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “Moral credentials and the expression of prejudice” ใน Journal of Personality and Social Psychology โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางเพศ กลับเป็นคนที่มักจะให้คะแนนผู้สมัครผู้ชายด้วยกันสูงกว่าผู้สมัครผู้หญิง หรือคนผิวขาวที่เคยจ้างพนักงานที่เป็นคนผิวดำมาก่อนในอดีต มักจะมีแนวโน้มที่จะชอบคนผิวขาวด้วยกันมากกว่าในการจ้างงานครั้งต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีแรกคือ เมื่อเราได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ควรทำ คือการต่อต้านการกีดกันทางเพศแล้วเรามักจะรู้สึกว่าเรามี “สิทธิ” ที่จะทำบางสิ่งที่โดยปกติแล้วไม่ควรทำ หรือในกรณีที่สองคือ เมื่อเราได้เลือกคนผิวดำเข้าทำงานมาแล้ว เราก็มี “สิทธิ” ที่จะมีความลำเอียงในเรื่องผิวสีในการตัดสินใจในครั้งต่อไป อาการแบบนี้ บางครั้งก็อาจจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจในการลงทุนของเราเช่นกันนะครับ เช่น เราอาจจะมีแนวทางการลงทุนที่ดีและได้อดทนปฏิบัติตามแนวทางนั้นมาตลอด ก็ไม่ได้หมายความว่า ในการลงทุนครั้งต่อไป เราจะสามารถละเมิดกฎการลงทุนของเราได้นะครับ อย่างว่าครับ การที่เราเคยทำถูกมาในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราสามารถทำผิดได้ในอนาคตนะครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ มิ.ย. 06, 2016 5:30 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ราคากับมูลค่าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (Money illusion) สมมุติว่าเราเอาเงิน 50 บาทซื้อปากกาด้ามหนึ่ง คำถามคือ ปากกาด้ามนี้มีราคาเท่าไร ง่ายมากที่จะตอบใช่ไหมครับ ก็ 50 บาทไงล่ะ งั้นถามอีกคำถามหนึ่งคือ แล้วปากกาด้ามนี้มีมูลค่าเท่าไร ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังตอบ 50 บาทอยู่ดี เพราะอะไร ก็เพราะเขาเอาเงิน 50 บาทมาแลกปากกาด้ามนี้ มูลค่าของปากกาก็น่าจะมีมูลค่า 50 บาทจริงไหมครับ ไม่ใช่เลยครับ มันคนละเรื่องกันเลย!!! ราคากับมูลค่ามันอาจจะเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ครับ อย่างปากกาถ้าเราซื้อมันมา แล้วปากกาด้ามนี้มันสามารถสร้างประโยชน์ให้เราได้มหาศาล เช่น เอาไปวาดรูป และรูปนี้เป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก เราขายรูปได้ 1,000 บาท อย่างนี้ก็เท่ากับว่ามูลค่าของปากกาด้ามนี้ก็มาก แต่ในขณะเดียวกัน หากเราซื้อปากกาด้ามนี้มาแล้ว แต่เราเอามันมาวางไว้เฉย ๆ จนกระทั่งหมึกมันระเหยหมด แบบนี้มูลค่าของปากกาด้ามนี้ก็น้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลย เห็นไหมครับว่า 50 บาทที่ซื้อมา มันเป็นเพียงแค่ราคาแต่มันอาจจะไม่ใช่มูลค่าของปากกาด้ามนี้เลย ในปี 1928 Irving Fisher นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือชื่อ The Money Illusion โดยอธิบายให้เห็นว่า Money illusion นั้นคือความรู้สึกของคนทั่วไปว่าเงินที่เรามีอยู่มันมีมูลค่าเท่ากับสิ่งที่เขียนไว้ในหน้าธนบัตรหรือในเหรียญ เช่นสมมุติว่าเราถือแบงก์พันอยู่ เราก็มักจะคิดว่าแบงก์พันนั้นมีมูลค่าหนึ่งพันบาท ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่ใช่ !!! อะไรนะ แบงก์พัน มีมูลค่าไม่เท่ากับหนึ่งพัน เป็นไปได้ยังไง ? แบงก์ปลอมเหรอ ? ไม่ใช่แบงก์ปลอมครับ แต่ 1,000 บาทที่เขียนบนแบงก์นั้น มูลค่าของมันควรจะถูกวัดจาก “ความสามารถในการซื้อสินค้าหรือบริการ” มากกว่า อย่างนี้ครับ สมมุติว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0% เงิน 1,000 บาท อาจจะนำไปซื้อสินค้าได้ 1,000 ชิ้น (คือชิ้นละบาท) แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อมันเพิ่มขึ้น 100% (ราคาเพิ่มขึ้นเป็นชิ้นละ 2 บาท) เงิน 1,000 บาทนั้น มันซื้อสินค้าได้แค่ 500 ชิ้นเท่านั้น เห็นไหมครับ แบงก์หนึ่งพัน ทั้งสองกรณี นำไปแลกสินค้าได้ไม่เท่ากัน ก็แปลว่ามูลค่าของมันต่างกันไงครับ!!! ในปี 1995 ทีมวิจัยที่นำโดย Professor Benartzi แห่ง UCLA ได้ทำงานวิจัยพบว่าถ้าเราถูกลดรายได้ลง 2% เราจะรู้สึกไม่พอใจ ไม่ยุติธรรม แต่ถ้าเราได้รับเงินเดือนขึ้น 2% ในขณะที่เงินเฟ้อขณะนั้น อยู่ที่ 4% เรากลับรู้สึกพอใจ ทั้ง ๆ ที่สองสถานการณ์นี้ มันเหมือนหรือใกล้เคียงกันมาก!!! เห็นไหมครับว่า บางทีสิ่งที่เราเห็นชัด ๆ มันไม่ได้วัดมูลค่านะครับ ราคาหุ้นที่เราซื้อมา มันเป็นแค่ “ราคา” แต่มันไม่ใช่ “มูลค่า” ของหุ้นตัวนั้น นักลงทุนสาย VI คงเข้าใจความหมายนี้ดีเพราะหลักการของการลงทุนที่เน้นมูลค่าก็คือ ซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ามาก ๆ เรียกว่าได้กำไรตั้งแต่ซื้อนั่นแหละครับ อย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์ในสาย VI กล่าวไว้แหละครับว่า “Price is what you pay. Value is what you get” “ราคาคือสิ่งที่เราจ่ายไป ส่วนมูลค่าคือสิ่งที่เราได้มา” ชัดเจนมาก ๆ เลยครับ
โดย
pinguwing
ศุกร์ มิ.ย. 03, 2016 5:10 am
0
3
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ระวังจะหลงรักหุ้น โดยไม่รู้ตัว (Mere-exposure effect) ออกตัวก่อนนะครับ ว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ “กูรู” หลายท่านแนะนำว่าเวลาจะจีบผู้หญิง สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือไปให้เขาเห็นหน้าบ่อย ๆ ถึงเขาจะไล่ ด่า ว่า ยังไง ก็ไปให้เขาเห็นเถอะ เพราะเห็นบ่อย ๆ ต่อไปก็คิดถึงเราเอง คิดถึงบ่อย ๆ ต่อไปก็หลงรัก โดยไม่รู้ตัว คำแนะนำข้างบนนี้ มีหลักวิชาการนะครับ เขาเรียกว่า Mere-exposure effect ย้อนไปตั้งแต่ในช่วงปี 1960s Robert Zajonc นักจิตวิทยาสังคม ชาวอเมริกัน เชื้อสายโปแลนด์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ University of Michigan ได้ทำการศึกษาถึงปรากฏการณ์นี้ และพบว่า ... อะไรก็ตามที่เราพบเห็นบ่อย ๆ มันจะทำให้เราชอบโดยไม่รู้ตัว !!! ปรากฏการณ์นี้เองเป็นที่มีของหลักการโฆษณาที่พยายามเน้นให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เห็นสินค้าบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนั้น ชื่นขอบสินค้าในที่สุด กลับมาที่หุ้นเหมือนกันครับ บางที ที่เราซื้อหุ้นบางตัว หรือรู้สึกดี ๆ กับบริษัทบางบริษัท มันอาจจะไม่ใช่เพราะงบการเงินที่ดี ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ก็ได้ แต่มันอาจจะเป็นเพียงเพราะว่ามันเป็นบริษัทที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 หรือรถไฟฟ้า BTS ที่เราใช้เดินทางทุกวัน (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าหุ้นทั้งสองบริษัทไม่ดีนะครับ) เรียกง่าย ๆ ว่าเราหลงรักไปโดยไม่รู้ตัวก็ว่าได้นะครับ
โดย
pinguwing
พฤหัสฯ. มิ.ย. 02, 2016 5:40 am
0
2
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
“เสีย” มันเจ็บปวดมากกว่า “ได้” (Loss aversion) เชื่อไหมครับว่าในจำนวนเงินเท่า ๆ กัน สมมุติว่า 10,000 บาท เวลาเราเสียมันไป มันจะมีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าความดีใจที่ได้มันมา !!! เราเรียกสิ่งนี้ว่า Loss aversion ครับ มีงานวิจัยหลายงานได้ประมาณว่าความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้น มีขนาดถึงประมาณ 2 เท่ากับ ความสุขจากการได้มาในจำนวนเงินที่เท่ากัน แปลว่าถ้าเสียเงินไป 10,000 บาท จะเอาความสุขมาชดเชยได้ ก็ต้องได้เงินมา 20,000 บาท ทีเดียว !!! คำว่า Loss aversion มีที่มาจาก 2 กูรู คนสำคัญ ในเรื่องความลำเอียงในการตัดสินใจ ได้แก่ Amos Tversky และ Daniel Kahneman คนทั่วไปมีลักษณะของการกลัวความสูญเสียนี่แหละครับ ที่เป็นที่มา ที่คนทั่วไปไม่กล้าเสี่ยง เพราะถ้าไม่เสี่ยง ก็จะไม่มีทางเสีย แต่ถ้าเสี่ยง มันมีโอกาสเสียขึ้น ถ้าสมมุติว่าโอกาสได้พอ ๆ กับโอกาสเสีย คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้า เพราะเวลาเสียมันเจ็บปวดกว่านี่เอง ! สังเกตไหมครับเวลาเล่นหุ้น เมื่อเสียเงินไป เรามักจะเจ็บใจและมักจะพยายามเอาคืน ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนนั้นเมื่อวันก่อนเราก็ได้มาเหมือนกัน เราก็ไม่เห็นจะดีใจอะไรมากมาย ก่อนที่เราจะหน้ามืดตามัว ลองไตร่ตรองดูสักนิดนะครับว่า เรามีลักษณะนี้อยู่หรือเปล่าครับ
โดย
pinguwing
อังคาร พ.ค. 31, 2016 5:34 am
0
1
Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน
ยิ่งน้อย ยิ่งดี (Less-is-better effect) มีคำถามมาถาม (อีกแล้ว) ครับ ถ้าให้เลือกอันใดอันหนึ่งระหว่าง 2 อย่างนี้ เราจะเลือกอันไหนดีครับ ก. ชุดจานชามที่มี 24 ใบ ที่ทุกชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ข. ชุดจานชามเหมือนกัน แต่มี 31 ใบ โดยมีจานที่แตกเป็นรอยอยู่ 2-3 ใบ เอาใหม่นะครับ แล้วระหว่าง 2 คนนี้ คิดว่าคนไหนใจกว้างกว่ากันครับ ก. คนที่บริจาคผ้าพันคอที่มีมูลค่าแพงถึง 1,300 บาทโดยประมาณ ข. คนที่บริจาคเสื้อสูทถูก ๆ ที่มีมูลค่าประมาณ 1,600 บาท จริง ๆ ถ้าเขียนออกมาแบบนี้ จะดูเหมือนคำตอบมันน่าจะชัดเจนนะครับ แต่จากผลการศึกษา ในปี 1998 โดย Christopher Hsee อาจารย์จาก University of Chicago เชื่อไหมครับว่า คนส่วนใหญ่เลือกข้อ ก. มากกว่าข้อ ข. !!! นี่แหละครับที่เราเรียกว่า Less-is-better effect คือคนทั่วไปกลับให้คุณค่ากับสิ่งที่มีมูลค่าน้อยกว่า !!! เหตุผลที่ใช้อธิบายผลการศึกษานี้ ก็คือว่า คนเรามักจะเปรียบเทียบโดยใช้ค่าเฉลี่ยมากกว่าผลรวม เช่นในคำถามแรก ชุดจานชาม 24 ใบที่ไม่แตกเลย มันมี “ค่าเฉลี่ย” ของคุณภาพ ที่สูงกว่า ชุดจานชาม 31 ใบ ที่มี 2-3 ใบแตกหัก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ถึงมี 2-3 ใบที่แตกหัก เราก็ยังมีจานชามที่ไม่แตกหักมากกว่า 24 ใบอยู่ตั้งหลายใบ จริงไหมครับ อย่างคำถามข้อที่ 2 ของการทดลองนี้ ผลปรากฎว่าคนที่บริจาคผ้าพันคอที่มีมูลค่าถึง 1,300 บาท จะได้รับการยกย่องว่าใจกว้างมากกว่าคนบริจาคเสื้อสูทที่มีมูลค่า 1,600 บาท ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่า 1,600 บาทมันมากกว่า 1,300 บาท ทำไมน่ะเหรอครับ คืออย่างนี้ครับ เป็นเพราะว่าผู้ตอบคำถามคิดเปรียบเทียบว่าผ้าพันคอทั่วไปราคามันถูกกว่า 1,300 บาทตั้งเยอะ แสดงว่าผู้บริจาคต้องเอาของคุณภาพดี ๆ มาบริจาคแน่ ในขณะที่สูททั่วไปราคาสูงกว่า 1,600 บาทตั้งเยอะ ทำให้เขาคิดว่าสูทที่เอามาบริจาคอาจเป็นสูทที่คุณภาพไม่ค่อยดีนักก็ได้ไงครับ !!! อีกตัวอย่างหนึ่งของ Less-is-better effect ก็คือ ว่ากันว่าในการแข่งขันกีฬาใด ๆ ก็ตามคนที่ได้เหรียญเงินมักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้เหรียญทองแดง เพราะว่า... คนที่ได้เหรียญเงินมักจะเอาตัวเองไปเปรียบกับคนที่ได้เหรียญทอง ในขณะที่คนที่ได้เหรียญทองแดง จะเอาตัวเองไปเปรียบกับคนที่ไม่ได้เหรียญอะไรเลย !!! คราวนี้กลับมาที่การลงทุนนะครับ เวลาเราจะเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัท ระวังเรื่องแบบนี้ไว้ด้วยนะครับ เช่นถ้าบริษัท A มีการลงทุน 5 โครงการ มี “ค่าเฉลี่ย” ของกำไรต่อเงินลงทุนอยู่ที่ 10% บริษัท B มีการลงทุน 6 โครงการ มี “ค่าเฉลี่ย” ของกำไรต่อเงินลงทุนที่ 8% ก็ไม่ได้หมายความว่า A จะดีกว่า B เสมอไปนะครับ เพราะการลงทุน 6 โครงการ ของบริษัท B ถึงมีกำไรต่อเงินลงทุนเฉลี่ยต่ำกว่าการลงทุน 5 โครงการของบริษัท A ก็จริง แต่ “เม็ดเงิน” กำไร ของ B อาจจะมากกว่า A และกำไรต่อหุ้นอาจจะสูงกว่า A ก็ได้นะครับ ระวังหลุมพรางในเรื่องนี้กันด้วยครับ
โดย
pinguwing
จันทร์ พ.ค. 30, 2016 10:19 am
0
3
112 โพสต์
of 3
ต่อไป
ชื่อล็อกอิน:
pinguwing
ระดับ:
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กลุ่ม:
สมาชิก
ติดต่อสมาชิก
PM:
ส่งข้อความส่วนตัว
เว็บไซต์:
เข้าชมเว็บไซต์
สถิติสมาชิก
ลงทะเบียนเมื่อ:
จันทร์ ก.ค. 29, 2013 9:15 am
ใช้งานล่าสุด:
อังคาร พ.ค. 11, 2021 11:57 am
โพสต์ทั้งหมด:
193 |
ค้นหาเจ้าของโพสต์
(0.01% จากโพสทั้งหมด / 0.05 ข้อความต่อวัน)
GO_TO_SEARCH_ADV
ไปที่
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า
↳ ห้องร้อยคนร้อยหุ้น
↳ ห้องร้อยคนร้อยหุ้นต่างประเทศ
↳ ไอเดียหุ้นเด้ง
↳ หลักสูตรการลงทุนออนไลน์
↳ ศาสตร์ของหุ้นเติบโต โดยอ.เบส ลงทุนศาสตร์ [กระทู้รับชมออนไลน์]
↳ ศาสตร์ของหุ้นเติบโต โดยอ.เบส ลงทุนศาสตร์
↳ ThaiVI GO Series
↳ คลังกระทู้คุณค่า
↳ Value Investing
↳ บทความ
↳ ความรู้งบการเงิน
↳ ร้อยคนร้อยเล่ม / Multimedia Forum
↳ mai Corner
↳ Alternative Investing
เรื่องทั่วไป
↳ นั่งเล่น / กีฬา / สุขภาพ
↳ Asking Staff
↳ CSR
×
บันทึกไม่สำเร็จ
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง
×
บันทึกสำเร็จแล้ว