หน้าแรก
เว็บบอร์ด
หลักสูตรออนไลน์
Marketplace
สินค้าสมาคม
ทดลองใช้ฟรี 30 วัน
เข้าสู่ระบบ
เมนูลัด
แสดงกระทู้ที่ยังไม่มีการตอบ
แสดงกระทู้ที่เปิดดูแล้ว
ค้นหา
รายชื่อสมาชิก
ทีมงาน
FAQ
ไอเดียหุ้นเด้ง
โพสต์ยอดนิยม
หุ้นที่ติดตาม
ผู้เขียนที่ติดตาม
sombat_21
Joined: ศุกร์ ก.ค. 16, 2010 8:25 am
3
โพสต์
|
0
กำลังติดตาม
|
0
ผู้ติดตาม
ส่งข้อความ
ดูประวัติส่วนตัว - sombat_21
กระทู้ที่ตั้ง
โพสต์ที่ตอบ
โพสต์ที่ตอบ
คอมเมนต์
ไลค์
Re: กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เด็กจบปริญญาตรีใหม่ ๆ หรือเพิ่งเริ่มทำงานมาได้สักพักหนึ่งบางคนนั้น บางทีก็ “ฝัน” ที่จะร่ำรวยด้วยการลงทุนในหุ้น พวกเขารู้สึกว่าหุ้นนั้นสามารถทำให้คนรวยได้เร็วและเหนื่อยน้อยที่สุด ว่าที่จริงพวกเขาอาจจะคิดว่าการทำงานกินเงินเดือนนั้น “ไม่มีทางรวย” เพราะเขาอาจจะลองนับดูเงินเดือนที่จะได้รับหรือได้รับแต่ละเดือนแล้วก็พบว่ามันแค่พอกินพอใช้หรือบางทีก็ไม่ใคร่พอด้วยซ้ำ โอกาสที่จะรวยนั้นไม่มีแน่นอน แต่ถ้า “เล่นหุ้น” และประสบความสำเร็จอย่าง “เซียน” หลาย ๆ คนที่อ้างว่าเริ่มลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิดหลักหมื่นหรือแสนบาทแล้วกลายเป็นเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี โอกาสรวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เป็นไปได้ ดังนั้น คนหวังรวยเร็ว ๆ ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้นและทุ่มเทให้กับการลงทุนหรือเล่นหุ้นจนอาจจะ “ลืม” คิดถึงความเป็นจริงที่อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ตนเองรับรู้มา หรือความเป็นจริงของตนเองที่อาจจะไม่เหมาะกับการยึดถือการลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ ผมคิดว่าคนที่หวังจะร่ำรวยเร็ว ๆ จากเงิน “เริ่มต้น” ที่น้อยหรือไม่มีเลยนั้น จำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์ใหญ่หรือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับตนเองเสียก่อน ประการแรกก็คือ ดูว่าตนเองมีจุดแข็งหรือความสามารถโดดเด่นทางด้านไหน ถ้าเป็นคนเรียนเก่งและจบมาทางสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรมหรือแพทย์ หรือไม่ก็จบทางด้านที่เกี่ยวกับการเงินหรือธุรกิจในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ ในกรณีแบบนี้ เราก็มี “แต้มต่อ” ในเรื่องของการทำงานในองค์กรธุรกิจ และถ้าเราขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี โอกาสที่เราจะทำเงินได้มากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงก็จะมีมาก และนี่เป็นหนทางที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ ว่าที่จริงในสังคมไทยยุคใหม่นี้ พนักงานที่ทำงานจนร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่งนั้น มีไม่น้อยเลยและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว ดังนั้น ถ้าใครมีคุณสมบัติดังกล่าว ผมคิดว่าเราต้องใช้มันเต็มที่ นั่นก็คือ มุ่งหน้าสู่การทำงานในธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็ว ในบริษัทที่เปิดโอกาสให้เราเติบโตได้จนสามารถกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง และเมื่อถึงจุดนั้น เราก็จะมีความมั่งคั่งโดยที่มีความเสี่ยงน้อย และในกรณีอย่างนี้ การทุ่มเทให้กับการทำงานคือสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างเต็มที่ ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้น “บูม” มานานนับสิบปีอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้และทำให้มีนักลงทุนที่รวยจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อายุเพิ่งจะสามสิบบวกลบ คนจำนวนมากจึงคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนคือสิ่งที่สามารถทำให้เรารวยได้เร็วและง่าย ดังนั้น เส้นทางการลงทุนจึงเป็นเส้นทางที่หลายคนเลือกตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ หรือเพิ่งทำงานมาไม่นาน หลายคนทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาหุ้นลงทุนโดยที่ให้ความสำคัญกับงานประจำน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเขาอาจจะคิดว่างานนั้นเป็นแค่ “ส่วนเสริม” ของการมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง พวกเขาอาจจะคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งในอีกไม่นาน เขาจะลาออกจากงานและมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ส่วนบางคนนั้น พวกเขาปฏิเสธการทำงานหรือเลิกทำไปแล้วทั้ง ๆ ที่เงินลงทุนยังไม่มากพอที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” แต่พวกเขาคิดว่าเขาสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและมีส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคนที่ร่ำรวยได้ เขาเชื่ออย่างนั้นเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาหลายปีนั้นสูงขนาดปีละอาจจะ 50% หรือ เกิน 100% และเขามั่นใจว่าการทำผลตอบแทนปีละ20%-30% ขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ง่ายมากไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งผมคิดว่า พวกเขาคิดผิด! ผมคิดว่าการที่จะพิสูจน์ได้ว่านักลงทุนคนไหนมี “ความสามารถสูงเป็นพิเศษ” ได้จริงนั้น เขาจะต้องผ่านการลงทุนที่ยาวนานระดับอย่างน้อย 15-20 ปีขึ้นไป และสร้างผลตอบแทนที่ผมอยากเรียกว่า “Total Return” อย่างน้อย 20% ต่อปีแบบทบต้น โดยที่เงินเริ่มต้นที่จะเริ่มบันทึกจะต้องมีนัยสำคัญสำหรับเขานั่นก็คือ ไม่ใช่เงินเล็กน้อยที่เขาอาจจะเสียไปครึ่งหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ตัวอย่างเช่น เงินเริ่มต้นที่จดบันทึกผลตอบแทนนั้น อาจจะเท่ากับรายได้จากการทำงาน 4-5 ปี ของเขา และเขาก็ไม่มีแหล่ง “เงินสำรอง” อื่น เช่น เงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะและพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเกิดความจำเป็น และด้วยการวัดแบบนี้ ผมเชื่อว่า เราอาจจะพบว่าจำนวน “เซียนหุ้น” ในตลาดหุ้นไทยอาจจะลดลงไปมาก เหตุผลที่ผมต้องกำหนดระยะเวลาการวัดผลงานที่ยาวนานนั้นเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงบูมจัดที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนจะสูงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมากนัก ส่วนเรื่องผลตอบแทนทบต้นปีละ 20% นั้นผมตั้งไว้เพราะพอร์ตเริ่มต้นของคนหนุ่มสาวอาจจะไม่ใหญ่นักซึ่งทำให้อาจจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าปกติได้ ในกรณีที่เริ่มลงทุนด้วยพอร์ตขนาดใหญ่เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น ผมคิดว่าผลตอบแทนถ้าได้ถึง 15% ต่อปีขึ้นไปก็ต้องถือว่ามีฝีมือในการลงทุนเป็นพิเศษแล้ว ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือคำว่า Total Return หรือ “ผลตอบแทนรวม” ของการลงทุน เพราะนี่เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจเวลาวัดผลหรือวัดความสามารถในการลงทุนของตนเอง ก่อนอื่นต้องกำหนดเสียก่อนว่าเม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนรวมของตนเองคือเท่าไรเสียก่อน บางคนอาจจะคิดว่าเงินที่ตนเองเอามาลงทุนใน “หุ้น” คือพอร์ตรวมของตนเอง ดังนั้น เวลาวัดผลก็จะดูว่าในแต่ละปีได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่าไรแล้วก็บวกด้วยปันผล ในกรณีแบบนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะ เพราะถ้าส่วนที่เรานำมาลงทุนในหุ้นนั้นมีเพียงนิดเดียว ต่อให้ผลตอบแทนในหุ้นจะสูงมาก มันก็ไม่ทำให้เรารวยหรือทำให้ผลตอบแทนเม็ดเงินของเราทั้งหมดสูงขึ้นมาได้มาก วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ กำหนดว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราไม่ได้ใช้เองและสามารถนำไปหารายได้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนหมด ตัวอย่างเช่น เงินฝากธนาคารและหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีรายได้จากดอกเบี้ย คอนโดที่เราซื้อมาไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยแต่นำไปปล่อยเช่าซึ่งค่าเช่าก็เป็นผลตอบแทน แบบนี้ถือเป็นเงินที่ต้องนับรวมในพอร์ตการลงทุน ส่วนบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้นไม่นับเป็นเงินลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่เราใช้ ส่วนเครื่องเพชรและทองรูปพรรณที่เราใช้ในการแต่งตัวนั้นไม่ถือเป็นเงินลงทุนในขณะที่ทองแท่งนั้น แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มัน “พร้อมขาย” และเราตั้งใจซื้อเพื่อลงทุนก็ต้องนับรวมในพอร์ตของเรา เมื่อเรากำหนดได้ทั้งหมดแล้วว่าอะไรเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน เราก็จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทุกรายการตาม “ราคาตลาด” ในตอนต้นปีของแต่ละปี กรณีที่ไม่มีราคาตลาดที่เราสามารถขายได้ชัดเจนเช่น คอนโด เราก็ควรกำหนดราคาที่ “อนุรักษ์นิยม” เช่น ใช้ราคาที่ซื้อมาแม้ว่าเราจะคิดว่าราคามันน่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นต้น ส่วนกรณีของทองแท่งนั้น เราสามารถใช้ราคาตลาดได้เนื่องจากมันสามารถถูกนำไปขายได้จริง หลังจากนั้นเราก็รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวและกำหนดว่านี่คือทุนทั้งหมดที่เรามีในการลงทุน ผลตอบแทนรวมหรือ Total Return นั้นก็คือมูลค่าของทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมดตอนปลายปี ลบตอนต้นปีแล้วหารด้วยมูลค่าพอร์ตทั้งหมดตอนต้นปีคูณด้วย 100 ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปี และเราทำแบบนี้ปีแล้วปีเล่า ถ้าตัวเลขเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึง 15%-20% ก็แสดงว่าเรามีความสามารถในการลงทุนสูงจริง แต่ความสามารถนี้ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนในหุ้นหรือเลือกหุ้นเก่งเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายความว่าเราสามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้องด้วย นั่นก็คือ เราจัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง นั่นก็คือหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม การจัดเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นด้วยนั้น มันสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้ และนั่นก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงบ้างโดยไม่ลงทุนในหุ้นทั้ง 100% และนี่ก็คือตัวเลขที่จะบอกว่าเรามีความสามารถในการลงทุนมากพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองหรือไม่ [/size]
โดย
sombat_21
อังคาร ม.ค. 20, 2015 10:59 am
0
1
Re: โรคระบาดในตลาดหุ้น/ประภาคาร ภราดรภิบาล
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังหวาดวิตกกับโรคระบาดจากเชื้ออีโบล่า คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าในตลาดหุ้นก็มีโรคระบาดที่น่ากลัวเช่นเดียวกัน ผู้ที่บอกว่าในตลาดหุ้นมีโรคระบาดนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นั่นเอง “บัฟเฟตต์” กล่าวว่า “ในแวดวงของการลงทุนมีโรคระบาดที่ร้ายแรง 2 ชนิด ได้แก่ โรคของความกลัว และโรคของความโลภ เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ช่วงเวลาในการระบาดของโรคดังกล่าวนั้นคาดเดาได้ยาก และความผันผวนของตลาดที่เกิดจากการระบาดของโรคดังกล่าวก็ไม่อาจคาดเดาได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาและระดับความรุนแรง” ที่เราได้เห็นตลาดหุ้นมีความผันผวนขึ้นลงอยู่ตลอดนั้น ล้วนมาจากแรงขับเคลื่อนของความโลภและความกลัวของนักลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อนักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นสดใส เข้ามาไล่ซื้อหุ้นกันอย่างคึกคัก มองไปทางไหนก็เห็นแต่ข่าวดี มีแต่คนได้กำไร ส่งผลทางจิตวิทยาให้นักลงทุนคนอื่นๆ ในตลาดหุ้นเกิดความโลภ อยากได้กำไรเหมือนเขาบ้าง จึงเข้ามาซื้อหุ้นตามๆ กันมากขึ้น แม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นก็ยังหันมาเปิดพอร์ตซื้อหุ้น ยิ่งแย่งกันซื้อ ก็ยิ่งผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก นี่คือโรคระบาดที่เกิดจากความโลภ แต่เมื่อนักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นแย่ เทขายหุ้นออกมาเรื่อยๆ ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลง ก็จะส่งผลให้นักลงทุนคนอื่นๆ ในตลาดหุ้นเกิดความหวาดวิตก กลัวว่าทุนจะหาย กำไรจะหด หรืออาจถึงขั้นขาดทุนหนัก จึงพากันเทขายหุ้นทิ้งตามๆ กันไป ก็ยิ่งเป็นการกดดันให้ราคาหุ้นตกต่ำลงไปอีก นี่คือโรคระบาดที่เกิดจากความกลัว วิธีการรับมือกับโรคระบาดในตลาดหุ้นของ “บัฟเฟตต์” ก็คือ “เราไม่พยายามคาดเดาถึงการมาหรือการไปของโรคระบาดชนิดใดชนิดหนึ่ง เป้าหมายของเราคือ เราพยายามที่จะกลัวในขณะที่คนอื่นกำลังโลภ และโลภในขณะที่คนอื่นกำลังกลัว” ยามที่ตลาดหุ้นพุ่งทะยานแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ผู้คนในตลาดหุ้นกำลังคึกคักด้วยความโลภ “บัฟเฟตต์” บอกว่า “ผมรู้สึกเหมือนกับคนที่มีพลังทางเพศสูงที่อยู่ในทะเลทราย ผมหาอะไรที่น่าซื้อไม่ได้เลย” แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาหรือตกต่ำ ผู้คนในตลาดหุ้นถูกความกลัวเข้าครอบงำ “บัฟเฟตต์” บอกว่า “ผมรู้สึกเหมือนกับคนที่มีพลังทางเพศสูงที่อยู่ในฮาเร็ม นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าลงทุน” “บัฟเฟตต์” ให้คำแนะนำในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบาดในตลาดหุ้นว่า “คุณควรจะมีความรอบรู้ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งภาษาของธุรกิจ (ซึ่งก็คือบัญชี) มีความกระตือรือร้นในการหาความรู้ และมีสภาวะทางอารมณ์ที่ดี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากกว่าระดับไอคิว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีความคิดที่เป็นอิสระ และสามารถหลีกห่างจากโรคทางอารมณ์นานาชนิดของผู้คนจำนวนมากซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนอยู่เสมอมา” [/size]
โดย
sombat_21
จันทร์ ต.ค. 13, 2014 4:13 pm
0
0
Re: ตรวจสอบตัวเองก่อนลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องการลงทุนนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการตรวจสอบหรือประเมินตัวเราเองว่าสถานะและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร จากนั้นเราถึงจะสามารถวางกลยุทธ์และแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้การลงทุนของเรามีความเหมาะสมที่สุด การวางแผนการเงินแบบ “มาตรฐาน” เช่น เราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยเงินลงทุนระยะสั้นที่เป็นเงินสดเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีตราสารหนี้ระยะยาว มีหุ้นและมีตราสารการเงินอื่น ๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงหรืออายุของเรา และสุดท้ายบางทีก็บอกว่าเราควรจะต้องมีประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เราตายก่อนกำหนด เป็นต้น นั้น ผมคิดว่าเป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ ที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ลองมาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่เราจะต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของเรา เรื่องแรกก็คือ เรามีทรัพย์สินสุทธิเท่าไร? บางคนมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติมากเป็นหลายร้อยหรือเป็นพัน ๆ ล้านบาท เหตุผลในการที่จะทำประกันชีวิตจึงแทบไม่มี เพราะถ้าเขาตาย เงินมรดกก็มากมายพอที่จะทำให้ลูกหลานสบายเต็มที่อยู่แล้ว เงินทุนประกันชีวิตสูงสุดที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10-20 ล้านบาทนั้นย่อมไม่มีความหมายอะไร เหตุผลที่จะซื้อประกันเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดี เช่น เฉลี่ยปีละอาจจะถึง 4% เมื่อรวมการได้รับลดหย่อนเรื่องภาษีเงินได้อาจจะถึง 5% ที่คนขายประกันมักพยายามนำมาชักชวนให้ซื้อประกันนั้น ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วไม่คุ้มค่าสำหรับคนที่มีเงินมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราไม่สามารถ“ลงทุน” ในการประกันชีวิตเป็นเงินมาก ๆ เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดของเราได้ “ความเสี่ยง” สำหรับคนที่มีเงินมากเหลือเฟือและไม่มีหนี้หรือภาระที่อาจจะต้องรับ กับความเสี่ยงของคนที่มีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิไม่มากนั้นผมคิดว่าแตกต่างกัน คนที่มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตลอดชีวิตทั้งของตนเองและลูกหลานอยู่แล้วนั้น ความเสี่ยงที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ความเสี่ยงในการลงทุนตามปกติที่เกิดจากตราสารการเงินเช่น หุ้นหรือพันธบัตร หรือเงินฝาก หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจหรือในอสังหาริมทรัพย์ เพราะการลงทุนเหล่านั้น แม้ว่าเขาจะขาดทุนไปครึ่งหนึ่งหรือขาดทุนไป 75% เงินที่เหลืออยู่ 25% ก็ยังเพียงพอที่เขาอาจจะอยู่ได้อย่างสบาย แต่ความเสี่ยงของเขาจริง ๆ นั้น อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจาก “ระบบ” หรือกฎเกณฑ์ของรัฐหรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำลายการลงทุนของเขาจนหมดสิ้นไป สิ่งเหล่านี้ในบ้านเราอาจจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศเช่น ในยุโรปตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ผมคิดว่าคนรวยหรือแม้แต่มหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยต้อง “สิ้นเนื้อประดาตัว” เพราะเมื่อเกิดสงคราม โรงงานหรือธุรกิจอาจถูกระเบิดทำลายไป เงินฝากที่มีอยู่ก็เฟ้อเนื่องจากประเทศแพ้สงครามหมดค่าลง บางคนมีที่ดินเหลือแต่หลังสงครามประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดินจึงถูกยึดเป็นของรัฐ ดังนั้น สำหรับคนเหล่านี้ การลงทุนที่สำคัญมากที่จะลดความเสี่ยงจริง ๆ จึงอาจจะอยู่ที่การกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ ประเทศซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ยังมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตที่สุขสบายได้ ข้อตรวจสอบตัวเองต่อมาก็คือเรื่องของรายได้จากการทำงาน ถ้างานของเรานั้นทำเงินได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เรามีอาชีพเป็นหมอศัลยกรรม และเราคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้เงินมากในอนาคตเช่น การส่งลูกเรียนต่างประเทศ เราก็น่าจะมีกำลังที่ทำได้ด้วยรายได้จากเงินเดือน ในกรณีแบบนี้ เราก็สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงเช่นหุ้นได้มากในขณะนี้ แต่ถ้างานในปัจจุบันนั้นถึงจะมีรายได้ดีแต่ไม่ได้มีความแน่นอนมาก การลงทุนของเราก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เช่น อาจจะต้องลงทุนในตราสารการเงินที่เสี่ยงน้อยกว่าเช่น การลงทุนในพันธบัตรมากกว่า เป็นต้น หรือในกรณีที่เรามีรายได้ไม่มากแต่มีความมั่นคงในการทำงาน แผนการเงินของเราอาจจะเป็นเรื่องของการพยายามอดออมและกันเงินไว้ลงทุนในหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีนี้ แม้ว่าเงินที่ลงทุนอาจจะน้อย แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปยาวนาน เราก็อาจจะมีทรัพย์สินที่มากพอและมีชีวิตที่สุขสบายได้ในยามที่เราแก่ตัวลง เรื่องของอายุก็เป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดแนวทางในการลงทุน ถ้าอายุเราน้อยและมีกำลังทำงานเต็มที่ การลงทุนที่ “เสี่ยง” ประเภทลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบางทีมากกว่านั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ “ไม่เสี่ยง” เพราะเราสามารถ “แก้ตัว” นั่นคือ หาเงินมาใช้เลี้ยงชีวิตตนเองตามอัตภาพได้เสมอ แต่เมื่อเรามีครอบครัวที่ต้องอุปการะหรืออายุมาก 40-50 ปีขึ้นไปแล้ว การลงทุนก็ควรจะ Balance หรือมีความสมดุลขึ้น เช่น ควรจะมีการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่มีการลงทุนทั้งด้านของหุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเงินสดและการประกันชีวิต ที่จะทำให้เรามีความสบายใจว่าเงินจะไม่หายไปมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการผลตอบแทนที่ดีพอสมควรที่จะทำให้ความมั่งคั่งของเราไม่ลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่กัดกินค่าของเงินอย่างช้า ๆ ตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่เราจะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้น น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งในการวางแผนการเงินและการลงทุน รายจ่ายที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ รายจ่ายทางด้านการศึกษาของลูกและรายจ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลของพ่อแม่ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายของตัวเราเองเวลาเจ็บไข้ เรื่องของลูกนั้น นอกจากจำนวนที่เรามีหรือต้องการที่จะมีแล้ว เราคงต้องวางแผนว่าจะให้เขาเรียนที่ไหนในระดับประถมถึงมัธยม และระดับปริญญาตรี-โท ในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันมาก ในเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น โชคดีที่ประเทศเรามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีมาก ดังนั้น ถ้าเราวางแผนที่ดีพอ เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโดยการสมัครในโปรแกรมต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม ที่จะทำให้เราได้รับความคุ้มครองด้วยรายจ่ายที่ไม่สูงเกินไป ส่วนในเรื่องของการศึกษานั้น รายจ่ายที่มากน้อยมักจะอยู่ที่เราเลือกว่าจะให้ลูกไปทางสาย “อินเตอร์” หรือสาย “ไทย” ความเห็นของผมก็คือ ในระดับกลาง ๆ ค่อนข้างสูงก็คือ เน้นอินเตอร์ในประเทศจนจบปริญญาตรี แล้วถ้ามีโอกาสก็ไปต่อโทต่างประเทศที่เป็นโปรแกรม 1 ปี นี่น่าจะเพียงพอสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้อง “ต่อสู้” ในโลกที่เป็น “สากล” สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน คนที่มีพื้นฐานทางด้านการคำนวณหรือทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น มักจะมีความได้เปรียบในการศึกษาเรื่องของการลงทุน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางสายการเงินหรือทางธุรกิจพวกเขาสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนได้ไม่ยากนัก แต่คนที่เป็น “หัวศิลป์” จำนวนไม่น้อยไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นได้ แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นว่าเราไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้ ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า “ถ้าเรารู้ว่าเราโง่เรื่องการเงิน เราก็หายโง่แล้ว” วิธีที่จะลงทุนในหุ้นแบบคนที่ไม่รู้เรื่องหรือวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นที่ดีที่สุดก็คือ การซื้อกองทุนอิงดัชนีเช่น SET 50 ไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเงินลงทุน ด้วยวิธีนี้ คนที่ไม่เก่งเรื่องหุ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีพอใช้ได้ และบ่อยครั้งก็ดีกว่า“มืออาชีพ” ด้วยซ้ำ การมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนที่ดีนั้น ผมคิดว่าทำให้แผนการเงินหรือการลงทุนของคน ๆ นั้นอาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกณฑ์มาตรฐาน การ “ถือหุ้น 100% ตลอดไป” นั้น ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ของ VI ผู้มุ่งมั่น จำนวนมากในทศวรรษนี้ ว่าที่จริง หลายคนที่ประสบความสำเร็จสูงนั้น ลงทุนในหุ้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องยาวนาน ผมเองคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและอาจจะดีเฉพาะในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม แผน แนวทาง หรือกลยุทธ์การลงทุน นั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน เขาอาจจะมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติที่จะสามารถ “รองรับขั้นสุดท้าย” เช่น มีพ่อแม่ที่มีเงินมากพอในกรณีที่เขา “หายนะ” เป็นต้น ดังนั้น เราจึงไม่สามารถจะบอกว่าผิดหรือถูก เราควรจะคิดว่าเรื่องการลงทุนนั้น “ตัวใครตัวมัน” [/size]
โดย
sombat_21
จันทร์ ส.ค. 04, 2014 5:35 pm
0
0
Re: ทำไมคนยิวฉลาด/วิบูลย์ พึงประเสริฐ
พูดถึงคนยิวหลายคนมองว่าเป็นคนที่ชอบเอาเปรียบคนอื่น ขี้โกง เอาแต่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรื่องเล่าสมัยก่อนที่กล่าวถึงชาวยิวมักพูดถึงพ่อค้าชาวยิวหน้าเลือด ในความเป็นจริงคนยิวมีอาชีพต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า อาจารย์ นักวิทยาศาตร์ ศิลปิน ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทั่วโลกต่างคิดเหมือนกันก็คือชาวยิวแทบจะเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกและมีคนเก่งจำนวนมากที่เป็นคนยิว เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักวิทยาศาตร์ระดับตำนานผู้คิดค้นสมการสร้างระเบิดปรมาณู สตีเฟน สปิลเบอร์กยอดผู้กำกับหนังฮอลลีวู้ดเจ้าของผลงานอย่างจอร์ส อีทีหรือจูราสิคพาร์ค ผู้ก่อตั้งกูเกิ้ลอย่างเซอร์เก้ บิงก็เป็นคนยิวที่อพยพมาจากรัสเซีย มาร์ค แซคเคอบอร์คเจ้าของเฟสบุ๊คเป็นคนยิว จอร์จ โซรอสพ่อมดทางการเงินก็เป็นยิว หรือพอล จอห์นสันผู้จัดการกองทุนเฮดฟันด์ที่ทำกำไรจากวิกฤติซัพไพร์มอย่างมหาศาลเป็นชาวยิว มีชาวยิวจำนวนมากที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือชาวยิวจะเก่งทางด้านการใช้ความคิดและไม่ถนัดในเรื่องของการใช้แรงงานมากนัก เราไม่ค่อยได้เห็นนักกีฬาเก่งๆระดับโลกที่เป็นชาวยิว นอกเหนือจากนั้นยังมีเศรษฐีที่ดินที่เป็นคนยิวจำนวนไม่มาก สาเหตุเนื่องมากจากชาวยิวในสมัยก่อนโดยเฉพาะในตะวันออกกลางและยุโรปนั้นถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ นับจากโมเสส ศาดาพยากรณ์ที่นำชาวยิวหนีจากความเป็นทาสจากอียิปต์เมื่อกว่าสามพันปีที่แล้วมาตั้งถิ่นฐานบริเวณปาเลสไตน์ในปัจจุบัน หลังจากนั้นชาวยิวถูกรุกรานโดยประเทศมหาอำนาจสมัยก่อนมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรโรมันและอิสลาม หลังจากสงครามครูเสดที่อิสลามชนะคริสเตียนและเข้ายึดดินแดนตะวันออกกลางได้ทั้งหมด ชาวยิวจึงอพยพเข้ามาอาศัยในยุโรปเป็นจำนวนมาก การเป็นชนกลุ่มน้อยทำให้ชาวยิวไม่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินเพราะถูกห้ามตามกฏหมาย ทำให้ชาวยิวไม่สามารถทำอาชีพเกษตรกรรมได้ในสมัยโบราณจึงถูกบังคับทางอ้อมให้ทำอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงานอย่างเช่น พ่อค้า แพทย์ ทนาย นักฏหมาย นักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดมากกว่าใช้แรงกาย หลังจากนั้นงานทางด้านวิทยาศาตร์เริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้นจะเห็นว่ามีชาวยิวได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวิทยาศาตร์จำนวนมากเช่นเดียวกัน การถูกกีดกันจากเจ้าของประเทศทำให้ชาวยิวต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อความอยู่รอด หลักศาสนายิวหรือยูดายน์ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากจนถึงกับมีบทบัญญัติไว้ว่าให้ชาวยิวทุกคนต้องได้รับการศึกษา คนที่มีการศึกษาสูงจะได้รับความนับหน้าถือตาและมีคนชื่นชมจากสังคมชาวยิวมากเสียกว่าคนที่มีเงินทองมากมายเสียอีก พ่อแม่ชาวยิวมักให้ลูกสาวของตนแต่งงานกับคนที่มีการศึกษาดี ดังนั้นคนยิวถึงจะยากดีมีจนแค่ไหนจะให้การศึกษากับบุตรหลานของตนและจะมีการให้ทุนเรียนดีจากชุมชนต่างๆของชาวยิวให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ไม่มีเงินมากพอที่จะเรียนต่อในขั้นสูง นอกเหนือจากนั้นในคัมภีร์ของชาวยิวจะกล่าวไว้ว่า”อย่าเชื่อถ้าไม่ได้คิดวิเคราะห์อย่างถ่องแท้” ความคิดเช่นนี้ทำให้ศานายิวต่างๆจากศานาอื่นๆที่เน้นให้เชื่อและศรัทธาอย่างการเชื่อในพระเจ้าหรือการเชื่อในการกลับชาติมาเกิดเป็นต้น แต่สำหรับคนยิวจะถูกสอนให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถึงแม้จะเป็นพระหรือพ่อแม่ก็จะสอนว่าห้ามเชื่อในสิ่งที่บอกจนกว่าจะได้คิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ในการเรียนการสอนของชาวยิวจะเน้นไปที่การถามตอบจนกว่าจะเข้าใจโดยเฉพาะในโรงเรียนสอนศานายิว ซึ่งหลักการดังกล่าวใกล้เคียงกับการเรียนการสอนในหลักสูตรสมัยใหม่มากและเป็นหลักของวิทยาศาตร์ในปัจจุบัน อย่างเรื่องอดัมกับอีฟที่แอบกินแอ๊ปเปิ้ลในสวนอีเดนจนถูกพระเจ้าขับไล่ออกมา นักศึกษายิวจะตั้งคำถามว่าอดัมกับอีฟกินแอปเปิ้ลจริงๆหรือไม่ ซึ่งถ้าดูเผินๆอาจจะจริงแต่ชาวยิวจะบอกว่าไม่ใช่ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีต้นแอปเปิ้ลในดินแดนปาเลสไตน์ และน่าจะเป็นผลมะเดื่อมากกว่าเพราะหลังจากกินผลไม้แล้วอดัมกับอีฟนำใบมะเดื่อมาปกปิดร่างกายเป็นต้น ดังนั้นนักลงทุนในตลาดหุ้นที่อยากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนอาจเรียนรู้ได้จากหลักการของชาวยิวนั่นคือศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่และอย่าเชื่ออะไรง่ายๆถ้าไม่ได้คิดอย่างรอบคอบ แล้วเราจะไม่ซื้อหุ้นตามคนอื่นได้ง่ายๆเพียงเพราะคนอื่นๆบอกมา นอกเหนือจากนั้นการศึกษาหุ้นที่จะลงทุนอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของตลาดหุ้นได้อย่างแน่นอน [/size]
โดย
sombat_21
อังคาร ก.ค. 29, 2014 5:21 pm
0
0
Re: คันไม้คันมือ/ประภาคาร ภราดรภิบาล
“คันไม้คันมือ” เป็นอาการที่มักจะเกิดกับนักลงทุนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนเป็นโรคผิวหนังนะครับ แต่เป็นอาการเนื่องมาจากการที่นักลงทุนเหล่านั้นเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างใกล้ชิด หรือเกาะติดกับความผันผวนของตลาดหุ้นมากเกินไป จนเกิดความรู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง การซื้อหรือขายหุ้นด้วยความ “คันไม้คันมือ” เนื่องจากทนต่ออิทธิพลจากอารมณ์หรือความผันผวนของตลาดหุ้นไม่ไหว อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจกระทำสิ่งที่ผิดพลาดไม่ประการใดก็ประการหนึ่ง ได้แก่ “ซื้อหุ้นที่ไม่น่าซื้อ” เช่น เห็นหุ้นบางตัวกำลังวิ่งด้วยความร้อนแรง มีการซื้อขายกันอย่างคึกคัก ทำให้นักลงทุนบางคนคิดว่ามันต้องมีดีอะไรแน่ๆ ถึงได้ขึ้นเอาขึ้นเอาอย่างนี้ จึงเข้าไปซื้อตามโดยไม่พิจารณาหุ้นตัวนั้นให้ดีเสียก่อน บ่อยครั้งที่หุ้นลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงหุ้นที่ถูกปั่นราคาเพื่อล่อแมงเม่า ไม่ได้เป็นกิจการที่มีความน่าสนใจลงทุนแต่อย่างใด “ซื้อในเวลาที่ไม่ควรซื้อ” เช่น เมื่อตลาดหุ้นคึกคักเป็นกระทิงเปลี่ยว ราคาหุ้นทะยานขึ้นไปสูงๆ เห็นใครต่อใครต่างก็ได้กำไรกันถ้วนหน้า จึงทนไม่ไหว เข้าไปร่วมขบวนด้วย เพราะกลัวว่าจะ “ตกรถ” แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นหุ้นเริ่มคลายความร้อนแรง นักลงทุนที่เข้าไปซื้อตามในช่วงท้ายๆ ที่ราคาขึ้นไปถึงจุดพีค จึง “ติดดอย” ไปในที่สุด “ซื้อในราคาที่ไม่เหมาะสม” การไล่ซื้อหุ้นในเวลาที่ตลาดหุ้นคึกคักมากๆ นักลงทุนมักจะได้หุ้นที่มีราคาแพง แม้หุ้นตัวนั้นจะเป็นหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมก็ตาม ถ้าราคาแพงเกินไปก็ทำให้ได้ผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร มิหนำซ้ำยังอาจขาดทุนได้ถ้าสภาวะตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาลง “ขายหุ้นที่ไม่น่าขาย” เช่น รีบขายหุ้นของกิจการคุณภาพดีที่ยังมีโอกาสเติบโตออกไป เพียงเพราะเห็นแก่กำไรระยะสั้น แต่กลับเก็บหุ้นคุณภาพแย่ๆ ในพอร์ตเอาไว้ เหมือนดังที่ “ปีเตอร์ ลินซ์” เปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนการ “เด็ดดอกไม้ และรดน้ำวัชพืช” “ขายในเวลาที่ไม่ควรขาย” บางครั้งที่ตลาดหุ้นตกหนัก ใครๆ ต่างพากันเทขายหุ้นทิ้ง นักลงทุนบางคนจึงพลอยขายหุ้นตามด้วยความตกใจกลัว (Panic Sell) ทั้งๆ ที่เวลานั้นอาจเป็นโอกาสดีที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำๆ มาเก็บไว้ ไม่ใช่เวลาที่ควรขายหุ้นทิ้ง ขายในราคาที่ไม่เหมาะสม หุ้นบางตัวเป็นหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพสูง มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต ถ้าถือเก็บไว้ในระยะยาวอาจสร้างกำไรก้อนโตให้กับนักลงทุนได้ แต่นักลงทุนบางคนพอเห็นว่าหุ้นที่ซื้อมานั้นพอจะมีกำไรเล็กๆ น้อยๆ ก็รีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว ต่อมาในภายหลังจึงพบว่าตัวเอง “ขายหมู” ไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อหุ้นตัวนั้นมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า “ปีเตอร์ ลินซ์” กล่าวว่า เราจะไม่มีวันมีหุ้นหลายเด้ง หรือหุ้นที่ทำกำไรได้หลายๆ เท่าได้เลย ถ้าเราคอยแต่จะขายมันออกไปเพื่อทำกำไรระยะสั้น แล้วจะมีวิธีบรรเทาอาการ “คันไม้คันมือ” ได้อย่างไรบ้าง บางคนให้คำแนะนำแบบกำปั้นทุบดินไว้ว่า ให้ “นั่งทับมือ” เอาไว้ จะได้ไม่มือซนไปซื้อหุ้นตัวนั้น ขายหุ้นตัวนี้บ่อยๆ ส่วนคำแนะนำของผม ก็คือ ต้องลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ลงทุนด้วยอารมณ์หรือความรู้สึก การลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจ หมายถึง นักลงทุนควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในหุ้นหรือกิจการที่ลงทุน ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานของกิจการดีพอ เราก็จะเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองมากขึ้น และให้ความสนใจกับความผันผวนของราคาหุ้นน้อยลง และเมื่อเป็นเช่นนั้น สภาวะอารมณ์ของตลาดหุ้นก็ไม่สามารถมาชี้นำการตัดสินใจของเราได้ง่ายๆ ให้จำคำพูดที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” กล่าวไว้ “ตลาดหุ้นแค่เสนอราคาซื้อขาย อย่าให้มันชี้นำ แต่ให้มันรับใช้เรา” นอกจากนี้การรักษาระยะห่างกับตลาดหุ้นให้พอเหมาะก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ไปจดจ่อหรือเกาะติดกับตลาดหุ้นมากเกินไปจนถูกครอบงำด้วยอิทธิพลจากอารมณ์ของตลาดหุ้นได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ไกลเกินไป หรือถึงกับหันหลังให้ตลาดหุ้นเสียทีเดียว เพราะบางจังหวะเวลา ตลาดหุ้นก็อาจมีโอกาสดีๆ มามอบให้เช่นกัน การอยู่ไกลเกินไปจึงอาจทำให้พลาดโอกาส แต่อยู่การใกล้เกินไปก็ไม่เป็นผลดี เพราะฉะนั้นการเดินทางสายกลางนั่นแหละครับเหมาะสมที่สุด “แอนโทนี่ โบลตัน” แนะนำไว้ว่า “การลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง และการเงี่ยหูฟังตลาด คุณไม่อาจประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง” [/size]
โดย
sombat_21
จันทร์ ก.ค. 07, 2014 10:47 am
0
0
Re: มั่งคั่งด้วยหุ้น/วิบูลย์ พึงประเสริฐ
นายแพทย์ประมุข วงศ์ธนะเกียรติหรือล๊อคอิน Paul VI ในเวปไซค์ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย) ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นในเมืองไทย แต่ก่อนนั้นเวปไซค์ของไทยวีไอเป็นแค่แหล่งรวมของนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเมื่อสิบปีก่อนโดยใช้ชื่อเวปไซค์ว่า Thaivalueinvestor.com ในช่วงแรกยังมีสมาชิกไม่เยอะและการลงทุนแบบวีไอนั้นไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด เพราะความเชื่อของนักลงทุนไทยสมัยก่อนนั้นชอบเล่นหุ้นปั่นและหุ้นตามขาใหญ่มากกว่าที่จะซื้อหุ้นแล้วถือลงทุนนานๆ คนที่ทำเงินได้มากๆในตลาดหุ้นไทยสมัยนั้นมักเป็นเจ้ามือหรือนักเก็งกำไรเป็นส่วนมาก นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจึงเป็นเพียงแค่กลุ่มเล็กๆในตลาดหุ้นไทยรวมถึงท่านดร.นิเวศน์ยังไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่นักด้วยว่าเพิ่งเริ่มต้นเผยแพร่หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้ไม่กี่ปีและพอร์ตของท่านยังไม่ใหญ่มากทำให้ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าวิธีการลงทุนแบบวีไอจะใช้ได้กับตลาดหุ้นไทย จากนั้นเวปไซค์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Thaivi.com และเริ่มมีสมาชิกมากขึ้นตามความนิยม รวมถึงดัชนีหุ้นที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่าในอดีตทำให้การเล่นหุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมากขึ้น เวปไซค์ไทยวีไอแต่ก่อนถือว่าเป็นเวปไซค์เปิดซึ่งใครก็สามารถเข้ามาถามตอบในกระทู้ของเวปได้อย่างอิสระ และมีผู้ดำเนินการเวปหรือแอดมินคอยห้ามปรามหรือลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมออกไป แต่ในระยะหลังการใช้เวปไซค์ไปในทางที่ไม่ถูกต้องนักอยู่หลายเรื่องรวมถึงการพยายามเชียร์หุ้นที่ตนเองถืออยู่บ่อยครั้ง ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อหุ้นตามเสียหายหรือขาดทุนไปจำนวนมาก รวมถึงชื่อของนักลงทุนแบบวีไอที่เริ่มมีชื่อเสียงและร่ำรวยขึ้นดึงดูดให้นักลงทุนคนอื่นๆเข้ามาสนใจในเวปไซค์ไทยวีไอจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เวปไซค์ต้องเสียชื่อเสียงรวมทั้งสามารถควบคุมคนแอบอ้างได้ ทางสมาชิกจึงตัดสินใจให้เปลี่ยนชมรมนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย) และเปลี่ยนชื่อเวปไซค์เป็น Thaivi.org ใครที่จะเข้าไปโพสจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้นเพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกแอบอ้างหาประโยชน์จากการเชียร์หุ้นได้ หลังจากการก่อตั้งสมาคมฯแล้ว นอกเหนือไปจากงานประจำที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์เฉพาะทางสูตินารีที่สำนักการแพทย์ของกรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประมุขหรือหมอมุขยังได้รับตำแหน่งเป็นอุปนายกของสมาคมฯอีกด้วย ในด้านการลงทุนนั้นหมอมุขถือได้ว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนท่านหนึ่ง ในช่วงแรกของการลงทุนหมอมุขยังเล่นหุ้นเหมือนรายย่อยทั่วๆไปที่ซื้อหุ้นตามข่าวสารหรือตามรายใหญ่แต่ผลลัพธ์ดูเหมือนจะไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะว่าซื้อมาขายไปสุดท้ายก็เท่าทุนหรือขาดทุนซะมากกว่า หลังจากปี 2550 หมอมุขเริ่มลงทุนแบบวีไอโดยอาศัยเวปไซค์และหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับวีไอจนเวลาผ่านไปไม่กี่ปี หมอมุขก็ทำพอร์ตได้เติบโตหลายเท่าจนสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ ถึงแม้จะมีเงินมากถึงขั้นเศรษฐีแต่หมอมุขยังคงปฏิบัติหน้าที่แพทย์อยู่ต่อไปเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆและใช้ชีวิตเรียบง่ายเหมือนก่อนที่จะประสบความสำเร็จ หนังสือ”มั่งคั่งด้วยหุ้น ลงทุนอย่างมีคุณภาพ”ถือได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนเล่มแรกในชีวิตของหมอมุข หนังสือเล่มนี้นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาเขียนคำนิยมให้ไม่ว่าจะเป็นท่านดร.นิเวศน์ เหมวชิรวราการ, ท่านดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา, คุณธันวา เลาหศิริวงศ์. หรือคุณอนุรักษ์ บุญแสวง ประธานสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า หนังสือเล่มนี้หมอมุขเขียนขึ้นเพื่อให้ใครก็ตามไม่ว่ามือเก่าหรือมือใหม่สามารถนำหลักคิดและวิธีการไปใช้ในการลงทุนได้อย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้ออย่างก้าวแรกกับการลงทุนอย่างถูกต้องเพื่อปรับทัศนคติที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของเคล็ดลับสำหรับมือใหม่ที่อยากลงทุนในหุ้น เช่น การเลือกหุ้นแบบเน้นคุณค่า การค้นหาหุ้นจากอัตราส่วนทางการเงิน รวมถึงจิตวิทยาการลงทุน หมอมุขยังอธิบายถึงงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินต่างๆที่จำเป็นในการลงทุน การวิเคราะห์บริษัทและการประเมินมูลค่าหุ้น จบด้วยการบริหารพอร์ตให้มั่นคงและมั่งคั่ง เรียกได้ว่าอ่านเล่มเดียวแทบจะครบหมดทุกมุมมองของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ถือได้ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนในหนังสือดีๆสักเล่มอย่างหนังสือเล่มนี้อย่างแท้จริง [/size]
โดย
sombat_21
อังคาร ก.ค. 01, 2014 2:42 pm
0
0
Re: นาทีทองของธุรกิจ/วีระพงษ์ ธัม
ในฐานะนักลงทุน ผมมักชอบสังเกตและค้นหาช่วงนาทีทองของธุรกิจ ซึ่งเป็น “ช่วงเวลาสำคัญที่สุด” ที่อาจจะยาวนานเป็นปี ๆ หรืออาจจะสั้นมากเพียงแค่นาที หากเปรียบเทียบ คงคล้ายกับกติกาฟุตบอลในอดีตเรื่อง Golden Goal หรือช่วงต่อเวลาพิเศษที่ทีมไหนยิงประตูได้ก่อน จะชนะเกมนั้นไปอย่างถาวร ผลการแข่งขันของช่วงนาทีทองก็ให้ผลแตกต่างกันมหาศาลในเชิงธุรกิจเช่นเดียวกัน ธุรกิจที่มีความพร้อมกว่าในนาทีทองจะสามารถชิงความได้เปรียบ และสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในทางกลับกันการดำเนินกลยุทธ์ที่ผิดพลาดในช่วงเวลานี้ จะส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ และทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งไปอย่างรวดเร็ว ช่วงนาทีทองจึงเป็นช่วงที่สำคัญเป็นพิเศษที่ผมชอบติดตาม และคิดว่าแบ่งประเด็นสำคัญออกได้ดังนี้ 1. นาทีทอง คือช่วงเวลาที่สถานการณ์ทุกอย่างเอื้ออำนวย ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาเติบโตของตลาด หรือเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้นอย่างมากในช่วง S-Curves ของธุรกิจเท่านั้น นาทีทองจะต้องมีเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ในต้นทุนที่เหมาะสม รวมไปถึงว่าภาพใหญ่อย่างเสถียรภาพทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจมหภาค ต้องสนับสนุนธุรกิจอย่างเต็มที่ 2. นาทีทองอาจจะมีหลายครั้งในธุรกิจหรือบางครั้งอาจจะมีเพียงแค่ครั้งเดียว ตัวอย่างธุรกิจที่มีนาทีทองหลาย ๆ ครั้ง คือธุรกิจที่เป็นวัฎจักร เช่นธุรกิจโภคภัณฑ์ ทุกครั้งที่มีนาทีทองกำไรบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่นธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงที่น้ำมันดีดตัวขึ้นสูงกว่า 140 เหรียญ ธุรกิจยานยนต์ในช่วงนโยบายรถคันแรก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อนยุคต้มยำกุ้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากนาทีทอง มักจะเป็นเวลาที่ยากลำบากเสมอ เพราะนำมาซึ่งสภาวะ “ฟองสบู่” หรือ “การแข่งขันที่รุนแรง” ดังนั้นสำหรับนักลงทุน เราจำเป็นต้องลงทุนก่อนเวลานั้น ซึ่งโดยปกติแล้วต้องการความรู้ความชำนาญในธุรกิจนั้นค่อนข้างมาก วิธีที่ง่ายกว่าคือหาผู้ที่แข็งแรงที่สามารถรับกับการแข่งขันได้ แต่ต้องจำไว้เสมอว่า นาทีทองลักษณะนี้ มาแล้วก็จะผ่านไป อย่างไรก็ดี นาทีทองของบางธุรกิจอาจมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าเฉพาะ หรือพวกเทคโนโลยี เช่นธุรกิจฟิล์มถ่ายรูป นาทีทองมีครั้งเดียว และดูเหมือนจะไม่กลับมาอีก หรือธุรกิจในประเทศไทยเมื่อสามสิบปีก่อน ก็มีธุรกิจสิ่งทอที่ขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่ถูกของไทย นาทีทองลักษณะนี้ความเสี่ยงอย่างสูงทั้งกับตัวธุรกิจและนักลงทุน เพราะหากผ่านนาทีทองไปแล้ว ยากที่จะทำกำไรได้ 3. กรอบระยะเวลาของนาทีทอง อาจจะสั้นมากเพียงแค่ “นาที” เช่นธุรกิจประเภทประมูลงาน แพ้ชนะตัดสินกันแค่นาทีนั้น ๆ หรืออาจนานขึ้นเป็นรอบวัน เช่นของธุรกิจอาหาร ก็จะมีนาทีทองที่แพงที่สุดคือเวลามื้อค่ำ รองลงมาคือเวลามื้อเที่ยง แต่ถ้าเป็นธุรกิจอาหารว่าง ก็จะเป็นเวลาระหว่างมื้อ หากยาวขึ้นเป็นระยะเดือน ช่วงต้นเดือนคือนาทีทองสำหรับการจับจ่ายใช้สอย เพราะนี่คือช่วงที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากที่สุดจากเงินเดือนที่เพิ่งได้รับ หรือสำหรับนาทีทองในรอบปี เช่นธุรกิจท่องเที่ยวคือฤดูหนาว เพราะอากาศเหมาะสม และมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาประเทศไทยจำนวนมาก สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มต้องเป็นฤดูร้อนเพราะคนบริโภคจำนวนมาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของเกษตรกร ก็ต้องผ่านช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต บางครั้งอาจจะยาวนับสิบปี เช่นรอบวัฎจักรของเศรษฐกิจเป็นต้น 4. ความสำคัญของนาทีทอง บางครั้งเวลาให้ผลสำคัญกว่าในบางธุรกิจ ธุรกิจที่ยังไม่อิ่มตัว นาทีทองคือ “เมื่อวาน” เพราะใครมาก่อนก็จะได้เปรียบคนมาทีหลังเป็นอย่างมาก เช่น ได้เลือกทำเลที่สำคัญก่อนคนอื่น หรือได้ให้ผู้บริโภคลองใช้สินค้าตัวเองก่อน ธุรกิจค้าปลีกในช่วงขยายสาขาในช่วงแรกคือนาทีทองที่สำคัญที่สุด เพราะหากใครพลาดพลั้งไปหรือ “ช้ากว่า” อาจจะเป็นผู้ตามตลอดไป ขณะเดียวกันหลายครั้งนาทีทอง คือ “พรุ่งนี้” ธุรกิจบางครั้งก็ต้องรอเพื่อให้เกิดความแน่ใจ หลายครั้งเราจะเห็นที่ดินบางทำเล คือทำเลของ “เมื่อวาน” เมื่อเมืองขยายตัวไปอีกด้านหนึ่ง หรือแม้กระทั่งธุรกิจเทคโนโลยีบางอย่าง บริษัทที่คิดสินค้าขึ้นมาคนแรก อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป 5. นาทีทองของบริษัทหนึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เลวร้ายของคนอื่น เช่นช่วงเวลาน้ำท่วม นี่คือนาทีทองของโรงงานหรือห้างร้านที่ไม่ถูกน้ำท่วม แต่คือช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับโรงงานที่จมอยู่ใต้น้ำ หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ นี่คือนาทีทองของผู้แข็งแรงและอยู่รอด แต่กลับเป็นเวลาที่โหดร้ายสำหรับผู้ที่อ่อนแอ ในทางกลับกัน ในยามเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้ประกอบการรายเล็กจะเติบโตได้ดีกว่าด้วยฐานบริษัทที่เล็กกว่า และภาวะการแข่งขันที่ต่ำ สำหรับนักลงทุน เราควรจะวิเคราะห์นาทีทองของแต่ละอุตสาหกรรม และพิจารณาการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทนั้น ๆ ว่า สามารถใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำกัด เช่น เงินทุน บุคคลากร ไปใช้ในจุดสำคัญได้มากน้อยแค่ไหน และหลายการตัดสินใจที่ดี ต้องตัดสินใจ “ก่อน” ที่นาทีทองจะมาถึง เพราะถ้ารอให้นาทีทองมาถึงก็อาจจะช้าไปแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการขยายตัวของ “ผู้ชนะ” ในธุรกิจค้าปลีก ที่ขยายตัวหนักก่อนนาทีทอง ที่การบริโภคในประเทศจะโตแบบก้าวกระโดดเป็นสิบปี สิ่งสำคัญคือ การมองนาทีทองของธุรกิจถัดไป และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ ต้องซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นตกต่ำ ทุกอย่างดูเลวร้าย นี่อาจจะเป็นนาทีที่โหดร้ายสำหรับนักลงทุนทั่วไป แต่มันคือนาทีทองของนักลงทุนที่จะเป็นผู้ชนะ [/size]
โดย
sombat_21
ศุกร์ มิ.ย. 20, 2014 10:35 am
0
0
Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
[quote="Thai VI Article"][size=150][code] คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น หุ้น และการลงทุนนั้นมีมากมาย แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มนั้นต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน พวกเขาอยากที่จะเห็นตลาด หุ้น และการลงทุนมีทิศทางที่สอดคล้องตรงกับผลประโยชน์ของตนเอง พวกเขาจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยกับสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น ซึ่งก็รวมถึงการพูดโน้มน้าวจิตใจคนอื่นและสาธารณชนให้เห็นคล้อยตามคำพูดของเขา ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่โบรกเกอร์ที่ผลประโยชน์หลักอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นนั้น สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือการซื้อขายหุ้นของลูกค้าบ่อย ๆ ดังนั้นพวกเขาก็มักจะออกบทวิเคราะห์หุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสูงและเป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาสูงเนื่องจากความไม่แน่นอนของตัวกิจการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การตลาดก็มักจะให้คำแนะนำให้ลูกค้าซื้อขายบ่อย ๆ เวลาหุ้นขึ้นและลงแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ และสำหรับลูกค้ารายใหญ่หรือไม่ใหญ่มากแต่ซื้อขายหุ้นแบบเทรดเดอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมากก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พวกเขาไม่ชอบและจะไม่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนถือหุ้นระยะยาวแม้ว่าหุ้นจะเป็นกิจการที่ดีมากและเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว และถ้าลูกค้าถือหุ้นดังกล่าวไว้บางครั้งเขาก็แนะนำว่าควร “ขายไปก่อนแล้วค่อยซื้อกลับทีหลัง” ในหลาย ๆ กรณี พวกเขาอ้างการวิเคราะห์ทาง “เทคนิค” ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายทันทีเมื่อราคาหุ้นถึงจุดเปลี่ยน ดังนั้น เวลาเราฟังโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ เราจะต้องระวังว่า วัตถุประสงค์ของเขาอาจจะไม่เหมือนของเรา เราต้องการกำไรหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนเขาต้องการค่าคอมมิชชั่น แรงจูงใจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำแนะนำหรือความเห็นของเขาจึงอาจจะ Bias หรือลำเอียงได้ เจ้าของและ/หรือผู้บริหารบริษัทนั้น ถ้ามองหยาบ ๆ ก็น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกับนักลงทุนเนื่องจากต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนกันหรือมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าของและ/หรือผู้บริหารนั้นมักมีผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีเงินเดือน โบนัส และผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างอื่นกับบริษัทด้วย ดังนั้น ถ้าผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากปันผลจากหุ้นมีมากอย่างมีนัยสำคัญ แรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารก็อาจจะแตกต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมง่าย ๆ ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการจ่ายเงินปันผลที่บางครั้งหรือบางบริษัทอาจจะจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเหตุเพราะว่าผู้บริหารอาจจะถือหุ้นน้อยหรือไม่มี ดังนั้น เขาก็อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทซึ่งเขาจะได้มีโอกาสใช้ได้มากกว่า หรืออาจจะทำให้เขามีการบริหารงานที่สบายกว่าปกติ ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นแบบนี้ก็เช่น บริษัทที่ผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติบางแห่งที่มีผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นและจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำทั้งที่มีฐานะการเงินดี เงินที่เหลืออยู่มากในที่สุดก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จและตรวจสอบได้ยาก ถ้าเราเจอบริษัทแบบนี้ก็พึงรู้ไว้ว่าแรงจูงใจของเขากับเราที่เป็นนักลงทุนนั้นไม่ไปด้วยกัน ดังนั้นแม้บริษัทอาจจะกำไรดีก็อาจจะไม่คุ้มที่จะลงทุน หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกนั้นเราก็จะต้องรู้ว่าเจ้าของน่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร ข้อแรกนั้นชัดเจนก็คือ เขาต้องการขายหุ้นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัทเพื่อเหตุผลในการขยายงานและทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง หรือในบางกรณี เจ้าของก็พ่วงหุ้นส่วนตัวเอามาขายด้วย ในทุกกรณี เขาต้องการขายได้ในราคาที่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้และที่สำคัญก็คือเขาต้องคิดว่านั่นเป็นราคาที่เขาพอใจเมื่อเทียบกับคุณค่าของหุ้นในสายตาของเขา แรงจูงใจนี้ทำให้เขาพยายามกำหนดราคาหุ้นให้สูงโดยอาจจะทำการแต่งตัวหรือใช้จังหวะที่เหมาะสมของบริษัทหรือภาวะตลาดหุ้นในการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป ผลก็คือ หุ้น IPO มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นและนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจให้เจ้าของเอาหุ้นเข้าตลาด อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เช่น เขาต้องการเอาหุ้นเข้าตลาดเพื่อให้บริษัทมีการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานและหุ้นมีสภาพคล่องและมีราคาตลาดที่ทำให้เขารู้มูลค่าความมั่งคั่งของตนเองและสามารถขายเพื่อกระจายความเสี่ยงรวมถึงสามารถที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทได้อย่างสะดวกในอนาคต ในกรณีแบบนี้ การตั้งราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้สูงกว่าพื้นฐานก็ได้ สรุปก็คือการวิเคราะห์หรือมองถึงแรงจูงใจของเจ้าของที่นำหุ้นเข้าตลาดจะช่วยให้เรารู้ว่าราคา IPO นั้นมีความสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหนได้ นักลงทุนแต่ละคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเองนั้นก็มีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนจนได้หุ้นครบจำนวนตามที่ต้องการแล้วนั้นต่างก็ต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป แรงจูงใจนี้ทำให้เขาอยากจะเชียร์หุ้นตัวนั้นถ้ามีโอกาสทำได้ คนที่ซื้อหุ้นตัวนั้นในปริมาณที่มากและเป็นการซื้อเพื่อ “เก็งกำไร” ก็จะมีแรงจูงใจที่จะเชียร์หุ้นมากเนื่องจากเขาอยากที่จะเห็นหุ้นขึ้นไปเร็วเพื่อที่ว่าเขาจะได้ขายทำกำไรและหันไป “เล่น” หุ้นตัวอื่น คนที่ลงทุนระยะยาวเองนั้น การเชียร์อาจจะไม่มากเท่าเนื่องจากเขาไม่คิดที่จะขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นหรือคนที่ขายหุ้นตัวนั้นไปแล้วก็อาจจะมีแรงจูงใจในทางตรงกันข้าม พวกเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้น ดังนั้นเขาไม่เชียร์ แถมอาจจะวิจารณ์ในด้านลบ ดังนั้น เวลาที่เราฟังการวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นแต่ละตัวจากนักลงทุนคนอื่น เราก็ควรจะรู้ว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกันและดังนั้นการวิเคราะห์หุ้นก็อาจจะมีความลำเอียงทั้งในด้านที่ดีและร้ายขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของแต่ละคน การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ต้องมีการแจ้งต่อ กลต. ทุกครั้งนั้นเราก็ต้องพยายามมองหาว่าแรงจูงใจของเขาเป็นอย่างไร โดยปกติ ถ้าเป็นการขายรายการใหญ่มาก เช่น ขายถึง 10% ของบริษัท ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงขายและขายให้ใคร ในราคาเท่าไร แรงจูงใจในการขายคืออะไร เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ซื้อ เป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมองเห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตของบริษัทเขาจึงขายไปในขณะที่หุ้นมีราคาที่ดี เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าคนซื้อมองเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไปอีกนานดังนั้นเขาจึงอยากซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุนและเขาคิดว่าราคาที่ซื้อนั้นคุ้มค่า ในหลาย ๆ กรณี การซื้อหุ้นล็อตใหญ่ก็เพื่อที่จะเข้ามาเป็น Strategic Partner หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นหลังจากการเข้ามาลงทุน ในกรณีแบบนี้ เราก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากช่วงก่อนการขาย เราควรจะทำอย่างไร การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ไม่ใช่รายการใหญ่และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเราต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป โดยปกติถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือเป็นระดับซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของบริษัทจริง ๆ นั้น มักจะไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก แรงจูงใจในการขายหุ้นของพวกเขานั้นอาจจะเกิดจากความต้องการใช้เงินธรรมดาหรืออาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าหุ้นมีราคาสูงเต็มมูลค่าหรือเกินพื้นฐานไปแล้ว เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่าหุ้นมีราคาถูก อย่างไรก็ตาม เขาอาจจะคาดผิดได้เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริง แต่ในกรณีที่ผู้บริหารคนสำคัญหรือเจ้าของเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นค่อนข้างบ่อยนั้นผมคิดว่าเราคงต้องวิเคราะห์แรงจูงใจของเขาว่าเพราะอะไร เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายาม “ส่งสัญญาณ” ซึ่งอาจจะ “ลวง” ให้นักลงทุนเข้าใจผิดในคุณค่าของหุ้นในเวลานั้น โดยมีแรงจูงใจที่จะทำให้ราคาหรือสภาพคล่องของหุ้นแตกต่างจากที่ควรจะเป็นเพื่อเหตุผลบางอย่าง เราในฐานะที่เป็น VI จะต้องติดตามและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอะไร ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะต้องคิดอย่างเป็นอิสระและไม่ถูกชักนำโดยข้อมูลที่ออกมาจากแรงจูงใจของคนอื่นที่ไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนกับเราหรือตรงข้ามกับเรา[/code][/size][/quote]
โดย
sombat_21
จันทร์ มิ.ย. 16, 2014 5:13 pm
0
2
Re: “อัจฉริยะ” กับการลงทุน/ประภาคาร ภราดรภิบาล
[quote="Thai VI Article"][size=150][code] “เซอร์ไอแซค นิวตัน” เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เป็นผู้ค้นพบ “กฎแห่งการเคลื่อนที่”, “กฎแห่งแรงโน้มถ่วง” และอื่นๆ อีกหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่คงมีคนไม่มากนักที่ทราบว่าอัจฉริยะบุคคลท่านนี้ก็เคยมี “ประสบการณ์ที่เจ็บแสบ” จากการลงทุนซื้อขายหุ้นด้วยเช่นกัน หนังสือ “The Intelligent Investor” ฉบับ “Revised Edition” ของบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งมี “เจสัน ซวีจ” เป็นผู้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้นำเรื่องราวการลงทุนของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” มาใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อหาคำตอบว่า การเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาดกับการเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่? อย่างไร? ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1720 “เซอร์ไอแซค นิวตัน” ได้ซื้อหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของตลาดหุ้นอังกฤษ นามว่า South Sea Company เขาถือหุ้นดังกล่าวจนกระทั่งรู้สึกว่าตลาดกำลังเข้าสู่สภาวะแห่งความบ้าคลั่งมากเกินไป ในเวลานั้น “นิวตัน” นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ถึงกับเอ่ยปากว่า ตัวเขาเองนั้น “สามารถคำนวณความเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้าได้ แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของผู้คนได้” จึงตัดสินใจเทขายหุ้น South Sea ของเขาออกไป ได้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 7,000 ปอนด์ แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา สภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงเกินห้ามใจก็ผลักดันให้ “นิวตัน” กระโจนกลับเข้าไปซื้อหุ้น South Sea อีกครั้งในราคาที่สูงกว่าเดิม ทว่าการซื้อครั้งนี้ไม่ได้สร้างผลกำไรงดงามให้กับเขาเหมือนดังคราวที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องขาดทุนยับเยินเป็นเงินถึง 20,000 ปอนด์ (หรือมากกว่า 3 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นเป็นต้นมา “นิวตัน” ถึงกับสั่งห้ามไม่ให้ใครพูดคำว่า South Sea ให้เขารู้สึกแสลงใจอีก ในมุมมองของ “เบนจามิน เกรแฮม” นั้น ระดับไอคิว และการศึกษาสูงๆ ไม่เพียงพอสำหรับการเป็น “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” หรือ “Intelligent Investor” คุณสมบัติสำคัญที่ควรจะมีก็คือ ความอดทน, ความมีวินัย, ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถควบคุมอารมณ์ และรู้จักคิดด้วยตัวเอง จากกรณีของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาดที่สุดคนหนึ่ง แต่จากมุมมองของ “เบนจามิน เกรแฮม” แล้ว ถือว่า “นิวตัน” ยังห่างไกลจากการเป็น “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” ด้วยการที่เขาปล่อยให้เสียงอึกทึกบ้าคลั่งของฝูงชนมาครอบงำการตัดสินใจของตัวเอง ถ้าคุณผู้อ่านอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ พร้อมทั้งข้อคิดดีๆ ด้านการลงทุนอีกมากมาย ผมขอแนะนำให้ไปหาหนังสือ “The Intelligent Investor” มาอ่านครับ (มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” แปลและเรียบเรียงโดย “คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข”) นอกจากนี้ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ศิษย์เอกของ “เบนจามิน เกรแฮม” ยังได้เคยหยิบยกบทเรียนการลงทุนของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” มากล่าวไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาว่า... นานมาแล้ว เซอร์ไอแซค นิวตัน ได้มอบกฎแห่งการเคลื่อนที่ ให้พวกเราไว้ 3 ข้อ ซึ่งเป็นผลงานที่บ่งบอกถึงอัจฉริยภาพ แต่ทว่าความสามารถพิเศษของเซอร์ไอแซค กลับไม่ได้ครอบคลุมมาถึงเรื่องของการลงทุนแต่อย่างใด เขาต้องขาดทุนอย่างหนักจากสภาวะฟองสบู่ของหุ้น South Sea... หากไม่เจ็บตัวจากการขาดทุนครั้งนั้น เซอร์ไอแซค นิวตัน อาจค้นพบกฎแห่งการเคลื่อนที่ ข้อที่ 4 เพิ่มขึ้นมาสำหรับนักลงทุนทั้งหลาย นั่นก็คือ “ยิ่งเคลื่อนที่มาก ผลตอบแทนยิ่งลดลง” [/code][/size][/quote]
โดย
sombat_21
พุธ มิ.ย. 11, 2014 11:20 am
0
1
Re: วิธีเพิ่มผลตอบแทน/ธันวา เลาหศิริวงศ์
[quote="Thai VI Article"][size=150][code] ประวัติศาสตร์การเมืองไทย “ซ้ำรอย” อีกครั้ง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกพร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประกาศรัฐประหาร ควบคุมอำนาจปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา หลังจากความพยายามประสานให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันล้มเหลว โลกทุนนิยมล้วนให้ความสำคัญต่อแนวทางประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ และตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิถึง 6,776.78 ล้านบาทของวันซื้อขายแรกหลังรัฐประหาร ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดต่ำสุด 29.80 จุด ที่ 1,375.41 จุดในช่วงเปิดตลาด ก่อนปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 1,396.84 จุด ลดลงเพียง 8.37 จุด นักลงทุนรายย่อยที่ยังเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจและการเมือง “แบบไทยๆ” มียอดซื้อสุทธิถึง 5,567.36 บาท โดยมีปริมาณการซื้อขายทั้งวันสูงถึง 53,516.32 ล้านบาท ชาวไทยทุกคนต้องติดตามสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงการบริหารจัดการประเทศภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อมา ในช่วงเวลานี้ นักลงทุนอาจพิจารณามองหาวิธีเพิ่มผลตอบแทนอย่างง่ายๆ ดังนี้ ข้อแรก ไม่ซื้อขายหุ้นบ่อย นี่คือพื้นฐานสำคัญของการเป็นนักลงทุนระยะยาว การตัดสินใจซื้อขายบ่อยครั้งเกินไปบ่งบอกถึงความสามารถในการวิเคราะห์ การเลือกหุ้น ความไม่มั่นใจในการตัดสินใจลงทุน การตัดสินใจซื้อขายแต่ละครั้งล้วนมีต้นทุนจากค่าคอมมิชชั่นหรือค่านายหน้าทั้งสิ้น ธุรกรรมที่ซื้อขายไม่เกินวันละ 5 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 0.25% ต่อการซื้อหรือการขาย กล่าวคือ ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นทั้งสิ้น 0.5% สำหรับธุรกรรมทั้งซื้อและขาย การซื้อและขายหุ้นเฉลี่ยหนึ่งครั้งต่อเดือนคิดเป็นค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 6% ต่อปีเลยทีเดียว อาจมีข้อโต้แย้งว่า การซื้อขายหุ้นบ่อยสามารถทำกำไรได้มากกว่าค่าคอมมิชชั่นที่จ่าย แม้เป็นความจริงแต่นั่นคือกรณีที่ตัดสินซื้อถูกขายแพงและได้กำไรโดยรวมสูงกว่าเท่านั้น กรณีการซื้อขายบ่อยครั้งยังเหมาะสำหรับกับนักลงทุนที่มีความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งต้องติดตามราคาอย่างใกล้ชิด ควบคุมสมาธิและอารมณ์ได้ดี ข้อสอง ซื้อขายหุ้นด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ต การซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตไม่เกินวันละ 5 ล้านบาท ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในอัตรา 0.20% เทียบกับ 0.25% เมื่อซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด การซื้อขายบัญชีแคชบาลานซ์ทางอินเตอร์เน็ตยังเสียค่าคอมมิชชั่นถูกกว่าในอัตรา 0.15% อีกด้วย แม้จะช่วยลดค่าคอมมิชชั่นได้ไม่มากนัก แต่ก็เหมาะกับผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี ต้องการตัดสินใจด้วยตนเองและไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อรับคำสั่งซื้อขาย ข้อเสียที่พบบ่อยของการซื้อขายด้วยตนเองคือ ความผิดพลาดสลับคำสั่งซื้อขาย นักลงทุนต้องเพิ่มความระวังเพราะอาจเกิดความเสียหายอย่างมากได้เช่นกัน ข้อสาม การบริหารจัดการเงินสดในมือ นักลงทุนอาจพิจารณาซื้อกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูงและเมื่อขายกองทุนก็ยังได้รับเงินสดในวันถัดมา ทันกำหนดเวลาชำระเงินหากตัดสินใจซื้อหุ้น ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวให้ผลตอบแทนประมาณ 2% ต่อปีโดยไม่ต้องเสียภาษี สำหรับนักลงทุนที่ใช้บัญชีประเภทแคชบาลานซ์โดยฝากเงินสดเพื่อซื้อขายไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ จะได้รับผลตอบแทนในอัตรา 1.9% ต่อปีก่อนหักภาษี นี่คือวิธีเพิ่มผลตอบแทนแบบหนึ่งที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ 0.5% ต่อปีก่อนภาษีอีกด้วย ข้อสี่ การให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อซื้อขาย (Stock Lending) นักลงทุนระยะยาวที่เลือกลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูงสามารถเพิ่มผลตอบแทนด้วยการให้ยืมหลักทรัพย์ของตนผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ที่มีบริการธุรกรรม (Securities Borrowing and Lending) โดยยังคงสิทธิ์การรับเงินปันผล ซื้อหุ้นเพิ่มทุนและอื่นๆ และสามารถเรียกคืนหุ้นเมื่อใดก็ได้ อัตราผลตอบแทนเมื่อหุ้นถูกยืมอยู่ที่ 3% หรือ 5% ต่อปี แม้หุ้นถูกยืมต่อครั้งมักมีระยะเวลาไม่นานนัก แต่หากถูกยืมบ่อยครั้งและในปริมาณมาก ก็เป็นการเพิ่มผลตอบแทนได้อีกช่องทางหนึ่งโดยไม่ต้องทำอะไร ดีกว่าการถือหุ้นไว้เฉยๆ ข้อสุดท้าย ขอเครดิตภาษีปันผลและการวางแผนภาษี นักลงทุนต้องไม่มองข้ามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากเครดิตภาษีปันผลโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีฐานภาษีเงินได้ต่ำกว่า 20% ส่วนนักลงทุนที่มีฐานรายได้สูงอาจพิจาณาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เช่นการประกันชีวิตและการซื้อกองทุน LTF/RMF ซึ่งเปรียบเสมือนการกระจายความเสี่ยงการลงทุน การบริจาคเงินผ่านองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ทั้งด้านศาสนา การศึกษา การแพทย์และผู้ด้อยโอกาส นอกจากเป็นการช่วยเหลือสังคมยังนำมาซึ่งความสุขทางใจเพิ่มขึ้น หากวางแผนลงทุนระยะยาว 20-30 ปีขึ้นไป นักลงทุนต้องเผชิญกับวัฎจักรความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งระดับประเทศและของโลก ส่งผลต่อผลตอบแทนการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะ Value Investor ที่คาดหวังผลตอบแทนทบต้น 12-15% ต่อปีตลอดระยะเวลาการลงทุน ควรพิจารณาหาวิธีเพิ่มผลตอบแทนที่เหมาะกับตน การมี “ตัวช่วย” เพิ่มผลตอบแทนโดยไม่เพิ่มความเสี่ยง 2-4% ต่อปี คือวิธีที่ดีเยี่ยมวิธีหนึ่งในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน [/code][/size][/quote]
โดย
sombat_21
ศุกร์ พ.ค. 30, 2014 3:45 pm
0
1
Re: กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ขอบคุณครับ
โดย
sombat_21
อังคาร มี.ค. 25, 2014 4:40 pm
0
1
หน้า
1
จากทั้งหมด
1
ชื่อล็อกอิน:
sombat_21
ระดับ:
Verified User
กลุ่ม:
สมาชิก
ติดต่อสมาชิก
PM:
ส่งข้อความส่วนตัว
สถิติสมาชิก
ลงทะเบียนเมื่อ:
ศุกร์ ก.ค. 16, 2010 8:25 am
ใช้งานล่าสุด:
อังคาร ม.ค. 20, 2015 10:59 am
โพสต์ทั้งหมด:
3 |
ค้นหาเจ้าของโพสต์
(0.00% จากโพสทั้งหมด / 0.00 ข้อความต่อวัน)
GO_TO_SEARCH_ADV
ไปที่
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า
↳ ห้องร้อยคนร้อยหุ้น
↳ ห้องร้อยคนร้อยหุ้นต่างประเทศ
↳ ไอเดียหุ้นเด้ง
↳ หลักสูตรการลงทุนออนไลน์
↳ ศาสตร์ของหุ้นเติบโต โดยอ.เบส ลงทุนศาสตร์ [กระทู้รับชมออนไลน์]
↳ ศาสตร์ของหุ้นเติบโต โดยอ.เบส ลงทุนศาสตร์
↳ ThaiVI GO Series
↳ คลังกระทู้คุณค่า
↳ Value Investing
↳ บทความ
↳ ความรู้งบการเงิน
↳ ร้อยคนร้อยเล่ม / Multimedia Forum
↳ mai Corner
↳ Alternative Investing
เรื่องทั่วไป
↳ นั่งเล่น / กีฬา / สุขภาพ
↳ Asking Staff
↳ CSR
×
บันทึกไม่สำเร็จ
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง
×
บันทึกสำเร็จแล้ว